[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 ตุลาคม 2557 15:58:37



หัวข้อ: "เขตอภัยทาน" มีที่มาอย่างไร?
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 ตุลาคม 2557 15:58:37
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/09/you02160957p1.jpg&width=360&height=360)
เขตอภัยทาน ห้ามฆ่าสัตว์

เขตอภัยทาน

เขตอภัยทาน ที่ติดตามวัด มีที่มาอย่างไร
ตอบ ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ความหมายศัพท์ "อภัยทาน" ไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ซึ่งรจนาไว้เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎกว่า "ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย" ขณะที่พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความของคำว่า "เขตอภัยทาน" เอาไว้ว่า คำว่า อภัยทาน (Abhayadana) ตามรูปศัพท์แปลว่าการให้อภัย หมายถึงการให้ความไม่มีภัย ความไม่น่ากลัว ซึ่งก็ได้แก่การให้ความเมตตา ความปรารถนาดี ขอให้ผู้อื่นเป็นสุข หลีกเว้นการทำลายล้างซึ่งกันและกัน ในทางตรงกันข้ามกลับให้การดูแลคุ้มครองอันมีพื้นฐานจากเมตตาและกรุณา

เรื่องราวของอภัยทานมีปรากฏมากในอรรถกถาชาดกเรื่องต่างๆ ซึ่งอธิบายความเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีในชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์ ส่วนมากเป็นเรื่องการให้อภัยแก่สัตว์ประเภทเนื้อ เช่น เก้ง กวาง โดยอรรถกถาชาดกบางเรื่องเล่าว่า พระโพธิสัตว์เคยเสวยชาติเป็นกวางและอยู่ในวาระจะถูกพระราชาล่า แต่พระโพธิสัตว์ก็หาวิธีกล่าวให้พระราชาได้สติ และเลิกละการทรงกีฬาล่าสัตว์ สุดท้ายพระราชทานป่าล่าสัตว์นั้นให้เป็นเขตอภัยทาน กล่าวคือ สัตว์ทุกตัวหากเข้ามาในป่านั้นจะได้รับการไว้ชีวิตและได้รับการคุ้มครอง ใครจะล่าหรือฆ่าหรือทำร้ายมิได้

ในสังคมไทย เรื่องอภัยทานเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายกำหนดให้มีการอภัยโทษได้ในกรณีที่ผู้ทำผิดต้องโทษประหารชีวิต แต่ผู้ที่จะให้อภัยโทษขั้นนี้ได้ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะถือว่าทรงเป็นเจ้าชีวิต ฉะนั้นจึงเรียกการอภัยโทษนี้ว่าพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนด้านศาสนสถาน วัดพุทธศาสนาก็ถือเป็นเขตอภัยทานที่สำคัญ ในยุคโบราณใครที่อยู่ในวัดจะได้รับการคุ้มครอง และปัจจุบันการทำร้ายชีวิตสัตว์ในวัดก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ บางวัด มีสัตว์อาศัยอยู่มากชนิดทั้งปลาและนก จึงมีผู้ลอบทำร้ายสัตว์เหล่านี้อยู่มาก จึงต้องปักป้าย "เขตอภัยทาน" เพื่อเป็นการเตือนสติ

ยังมีข้อปฏิบัติของวัดตามคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องกำหนดเขตอภัยทานในที่วัด พ.ศ.๒๕๓๘ สรุปความว่า การกำหนดเขตอภัยทานขึ้นไว้ โดยความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บก สัตว์น้ำ ตลอดถึงปักษีทวิชาติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ได้อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากการถูกเบียดเบียน หรือรบกวนด้วยประการใดๆ โดยการกำหนดเขตอภัยทาน ให้กำหนดในเขตสังฆาวาสและพุทธาวาส หรือในเขตที่อยู่จำพรรษาที่ทางวัดประกาศกำหนดไว้เป็นเขตรับอรุณในเวลาเข้าพรรษา และให้เป็นหน้าที่ของวัดหรือเจ้าอาวาสจะจัดทำป้ายบอกเขตอภัยทานซึ่งมีขนาดกว้าง-ยาวไม่ต่ำกว่า ๓๐ และ ๗๐ เซนติเมตร ที่แผ่นป้ายนั้นให้มีหนังสือถาวรบอกให้ชัดเจนว่า เขตอภัยทาน

ให้ติดแผ่นป้ายไว้ที่เสา ต้นไม้ หรือที่อื่นใดอันมั่นคง มีความสูงต่ำพอที่ประชาชนจะเห็นได้โดยสะดวก ทั้งนี้ เขตอภัยทานบนฝั่งแม่น้ำลำคลอง เป็นเครื่องหมายบอกบ่งให้รู้ว่าภายในแม่น้ำลำคลองตลอดเขตอภัยทานนั้น นับจากตลิ่งหรือฝั่งออกไปไม่เกิน ๓ วา (อุทกเขป) จะเป็นที่อยู่อย่างปลอดภัยของ ฝูงปลามัจฉาชาตินานาพันธุ์ จะไม่ถูกเบียดเบียนรบกวนด้วยประการใดๆ ทั้งยังอาจได้อาศัยอาหารหากินจากผู้มีเมตตากรุณา คือภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ใจบุญทั้งหลายตามสมควร และให้เป็นหน้าที่ของวัดนั้นๆ แนะนำชักชวนขอร้องประชาชนให้เห็นความสำคัญของเขตอภัยทานแล้วให้ความสนับสนุนโดยไม่รบกวนเบียดเบียนสัตว์บกสัตว์น้ำหรือหมู่นกที่อาศัยอยู่ในเขตอภัยทาน
 ที่มา ... นสพ.ข่าวสด


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQZtJr5LTsOTkrJP9bTKLoXjswqyH_5-BVLMBr5nMVoSZ6VowFrLw)