[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 06:29:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การมหรสพหน้าพระเมรุมาศ  (อ่าน 149 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 30 ตุลาคม 2566 18:59:07 »



ภาพการตั้งโรงมหรสพระหว่างช่องระทา
ที่มา : ธำมรงค์ บุญราช


ภาพการแสดงมหรสพ


ภาพการแสดงโขนสมโภชงานออกพระเมรุ
ที่มา : หนังสือสมุดภาพจดหมายเหตุงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


การมหรสพหน้าพระเมรุมาศ

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงเป็นดั่งสมมติเทพตามความเชื่อของคติพราหมณ์ เมื่อประสูติถือเป็นเทพอวตารลงมาจุติยังโลกมนุษย์ ครั้นเมื่อสวรรคตก็เท่ากับว่าเป็นการเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้นการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ จึงได้จัดให้มีการมหรสพและดนตรีในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากจะเป็นการแสดงความอาลัยแล้ว ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุด และถือได้ว่าเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ที่มีธรรมเนียมแบบแผนปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณจัดเป็นงานใหญ่ มีกำหนดการจัดงานหลายวัน มีการสร้างพระเมรุมาศอย่างยิ่งใหญ่ จุดดอกไม้เพลิงและตั้งระทารายรอบพระเมรุมาศ และมีการแสดงมหรสพสมโภชระหว่างช่องระทา ซึ่งการจัดสมโภชงานพระเมรุมีปรากฏหลักฐานในพงศาวดารครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่กล่าวถึงการมหรสพบางอย่างในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดา ดังที่ สมภพ  ภิรมย์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือพระเมรุมาศ พระเมรุ เมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า

“แล้วอัญเชิญพระศพเสด็จลีลาศคลาเคลื่อนเครื่องแห่แหนโดยขบวนเสด็จ โดยรถยาราชวัติไปยังพระเมรุมาศ และให้บำเรอด้วยดุริยดนตรี แตรสังข์ ฆ้องกลอง โขน หนัง ระบำบรรพ์ฟ้อนมโหฬารมหรสพทั้งปวง”

ภายหลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้มีการกล่าวถึงการแสดงประเภทต่างๆ ในการมหรสพสมโภชงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ โขน หนัง ละคร หุ่น ระบำ เทพทอง มอญรำ โมงครุ่ม และกุลาตีไม้

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพยังคงดำเนินตามแบบแผนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ และมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น การแสดงญวนรำกระถาง หรือรำโคมญวน การละเล่นในพระราชพิธี งิ้ว สิงโต การละเล่นที่มีลักษณะเป็นกีฬา เป็นต้น

งานพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการยกเลิกการฉลองต่างๆ คือดอกไม้เพลิงและมหรสพ แต่ยังคงมีการประโคมดนตรีตามจารีตแบบแผนเดิม เนื่องด้วยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงได้รับฟังคำปรารภจากพระราชบิดาว่า พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบแผนที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นงานใหญ่ที่สิ้นเปลืองทั้งกำลังทรัพย์และกำลังพล นอกจากนี้ในที่ประชุมสภาเสนาบดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเห็นชอบกับความคิดเห็นในการแก้ไขจารีตแบบแผนเกี่ยวกับงานพระเมรุมาศให้ตรงตามแนวคิดสมัยสากลนิยมที่ว่า “งานศพเป็นงานเศร้าโศก” ดังนั้นการมหรสพสมโภชจึงได้มีการยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นธรรมเนียมที่ได้ปฏิบัติสืบมา

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติตามขัตติยะราชประเพณีการมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่จัดสมโภชเพียงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๑ คืนเท่านั้น และไม่ได้มีการตั้งระทารายรอบพระเมรุมาศเหมือนสมัยอยุธยา ต่อมางานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีการจัดแสดงมหรสพสมโภชทั้งโขน ละคร หนังใหญ่ หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก และการบรรเลงวงดุริยางค์สากล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการแสดงมหรสพในงานพระเมรุให้มีการแสดงแบบสากลเข้ามาผสมด้วยครั้งแรก ด้วยพระองค์ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมและอุปถัมภ์กิจกรรมดุริยางค์สากลต่างๆ

นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีการจัดแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศในช่วงพระราชทานเพลิงพระศพ หรือที่เรียกว่า โขนหน้าไฟ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จากการสัมภาษณ์นายจรัญ  พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการพิเศษ สำนักงานสังคีต กรมศิลปากร ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กล่าวว่า หลังงานพระราชทานเพลิงพระศพจริง  ในเวลา ๒๒.๐๐ น. แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้สำนักการสังคีต กรมศิลปากร พร้อมด้วยหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ นำโขนมาจัดแสดงบริเวณหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (บริเวณหน้าพระเมรุมาศ) เนื่องด้วยการแสดงจัดขึ้นอย่างกระทันหัน และไม่ได้มีการเตรียมการที่จะแสดงในบริเวณนั้นมาก่อน จึงต้องไปขอให้หน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันจัดไฟ เพื่อส่องมายังบริเวณการแสดง โดยมีบันทึกการแสดงไว้ในจดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนี้

“การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ทั้งหมดมี ๕ ชุด ชุดที่ ๑ กรมศิลปากรแสดงชุด ระบำวานรพงศ์ แสดงจบเวลา ๒๒ นาฬิกา ๓๐ นาที  ชุดที่ ๒ หุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ แสดงตอน รวมพลคนละครเล็ก จบเวลา ๒๒ นาฬิกา ๓๕ นาที  ชุดที่ ๓ กรมศิลปากรแสดงชุด ขับพิเภก จบเวลา ๒๓ นาฬิกา ๒๐ นาที ชุดที่ ๔ หุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ แสดงตอน หนุมานจับนางเบญจกาย จบเวลา ๒๓ นาฬิกา ๒๗ นาที  ชุดที่ ๕ กรมศิลปากรแสดงชุด กุมภกรรณ (สุครีพถอนต้นรัง) จบการแสดงเวลา ๒๔ นาฬิกา ๒๙ นาที”  (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ๒๕๕๓ : ๗๔๘)

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็มีการจัดแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศ เรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย นับแต่นั้นมาจึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการแสดงโขนบริเวณพระเมรุมาศ หน้าพระที่นั่งทรงธรรม ในวันพระราชทานเพลิงพระศพ  ครั้นเมื่อถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดแสดงสหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุตามพระราชประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการแสดงโขน หนังใหญ่ ละคร หุ่นหลวง หุ่นกระบอก การบรรเลงวงดุริยางค์สากล และการแสดงบัลเล่ต์ และจัดให้มีการแสดงหน้าพระเมรุมาศในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร – ยกรบ ซึ่งอัมไพวรรณ  เดชะชาติ ได้อธิบายไว้ในหนังสือเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องมหรสพในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ความว่า

“...เป็นการแสดงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงเนื่องในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะอยู่เสมอ รวมทั้งมีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการแสดงให้มีความสวยงาม พร้อมเพรียงมาก
ยิ่งขึ้น นับเป็นขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จึงได้จัดการแสดงตอนนี้เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อีกทั้งยังเป็นการแสดงโขนตอนหนึ่งที่นิยมจัดแสดง เพราะเป็นตอนสำคัญที่มีความอลังการของไพร่พลของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายยักษ์ และฝ่ายมนุษย์ กระบวนท่ารำ ท่าเต้น โดยเฉพาะกระบวนท่ารบ ที่มีความงดงาม และสื่อความหมายให้เห็นว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม เปรียบดั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงฟันฝ่าอุปสรรค อันหมายถึงความยากจนของพสกนิกรชาวไทย ด้วยพระบารมี และพระวิริยะอุตสาหะ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน”

นับได้ว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานอยู่หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาที่มีการจัดมหรสพสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยการตั้งระทา จุดดอกไม้เพลิง และการแสดงหลากหลายรูปแบบ ทั้งโขน ละคร หุ่น การละเล่น และกีฬา และดำเนินงานเช่นนี้เรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดมหรสพสมโภชพระเมรุมาศในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยยกเลิกการจัดมหรสพและจุดดอกไม้เพลิง ด้วยเห็นว่าสิ้นเปลืองกำลังทรัพย์และกำลังพล อีกทั้งยังมีแนวคิดว่างานศพคืองานเศร้าโศกตามสากลนิยม ต่อมาการแสดงมหรสพสมโภชได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ โดยมีรูปแบบการจัดงานเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา เว้นแต่ไม่ได้มีการตั้งระทา มีการนำการบรรเลงดนตรีสากลและการแสดงบัลเล่ต์เข้ามาผสมผสาน รวมถึงมีการจัดแสดงโขนหน้าไฟ บริเวณหน้าพระเมรุมาศ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน


ขอขอบคุณ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร (ที่มาเรื่อง/ภาพประกอบ)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.633 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 09:58:56