“เมื่อคุณพระเศวตฯ ยังเป็นลูกช้างเล็กๆ อยู่ที่บ้านกำนันในจังหวัดยะลา และยังไม่ได้ถวายตัวขึ้นระวางนั้น ปรากฏว่านางเบี้ยว (สุนัข) เป็นโรคอย่างหนักขนาดชักกระตุกไปทั้งตัว แทบจะเอาชีวิตไม่รอดอยู่แล้ว แต่ก็สู้อุตส่าห์กระเสือกกระสนคลานมาถึงที่คุณพระเศวตฯ อยู่ และเลียกินน้ำอาบของคุณพระเศวตฯ เข้าไป อาการป่วยทั้งปวงก็หายเป็นปกติ เดินเหินได้ตามเดิม รอดชีวิตมาได้
นางเบี้ยวก็กตัญญูรู้คุณ ติดตามคุณพระเศวตฯ เรื่อยมา ไม่ยอมห่าง คุณพระก็เมตตาเอ็นดูนางเบี้ยวถือว่านางเบี้ยวเป็นหมาของคุณพระ
เมื่อถึงคราวที่คุณพระเศวตฯจะต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯเพราะเป็นช้างต้นขึ้นระวางแล้ว ทั้งคุณพระเศวตฯและนางเบี้ยวก็ทุรนทุรายเดือดร้อนมาก นางเบี้ยวร้องทั้งกลางวันและกลางคืนจะตามคุณพระมาด้วย
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชกระแส ว่า ช้างทั้งตัวยังเอาไปได้ ทำไมหมาอีกตัวเดียวจะเอาไปไม่ได้ ให้เอาหมาไปด้วยเถิด สงสารมัน อย่าไปพรากมันเลย
นางเบี้ยวติดตามเข้ามาอยู่กับคุณพระเศวตฯ เล็กในสวนจิตรลดาด้วย และเป็นที่รักชอบของคนในวัง เมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วในวังก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นแม่เบี้ยว บางคนเรียกคุณเบี้ยวด้วยซ้ำไป และได้ออกลูกออกหลานไว้ที่โรงช้างนั้นเป็นจำนวนมาก
แม่เบี้ยวตายไปหลายปีแล้ว แต่คุณพระเศวตฯ ก็ยังเลี้ยงลูกหลานแม่เบี้ยวสืบมา เวลาคุณพระเศวตฯ ออกเดินในสวนจิตรลดาหมาคุณพระทั้งปวงก็วิ่งตามเป็นฝูงและเชื่อฟังคุณพระทุกอย่าง
เมื่อครั้งพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งกรุงอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินที่พระตำหนักจิตรลดา คุณพระเศวตฯ ก็มายืนคอยรับเสด็จ หมาทั้งปวงของคุณพระก็มาวิ่งเล่นกันอยู่เต็มสนาม
ผมบังเอิญไปเห็นเข้าก็เข้าไปกระซิบคุณพระว่า หมา กระจัดกระจายเต็มทีแล้ว คุณพระได้ยินดังนั้น ก็ร้องเหมือนเสียงแตร หมาทั้งปวงก็วิ่งกลับมารวมกันอยู่บริเวณต้นไม้ใกล้ๆ คุณพระ ไม่ซุกซนต่อไป มีอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งคุณพระออกจะรักมาก วิ่งเข้ามาอยู่ใต้ท้องคุณพระ อาศัยคุณพระเป็นเงาบังร่ม
ควาญเล่าว่า เวลากลางคืนหมาหลายสิบตัวเหล่านี้ จะนอนแวดล้อมคุณพระ ใครเดินเข้าไปในเวลากลางคืนก็จะเห่าขึ้น
พร้อมกัน และถ้าใครขืนเดินตรงไปถึงตัวคุณพระ ก็คงโดนหมารุมกัดแน่ๆ
คุณพระเศวตฯ เล็กมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวอย่างน่าอัศจรรย์ แลเห็นพระองค์ต้องยกงวงขึ้นจบถวายบังคมทุกครั้งโดยไม่ต้องมีใครบอก และถ้าเสด็จพระราชดำเนินลงไปเยี่ยมที่โรงช้าง คุณพระก็จะเฝ้าฯ ไป และถวายบังคมไปเป็นระยะไม่มีขาด
จนพระกรุณาตรัสว่า ไม่ต้องถวายบังคมบ่อยถึงเพียงนั้น คุณพระจึงจะหยุดถวายบังคม”... เรื่องเล่าจาก “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช