การปฏิบัติตนต่อการถูกติชม พระรัตนตรัย จาก
พรหมชาลสูตร สุปิยปริพาชกผู้เป็นอาจารย์
กล่าวติเตียน พระรัตนตรัย ในขณะเดียวกัน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์
กล่าวชมพระรัตนตรัย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปสนทนากัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่อง จึงได้ตรัสว่า
คนพวกอื่น
จะพึงกล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่สมควรอาฆาต โทมนัสน้อยใจ แค้นใจคนเหล่านั้น ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคืองหรือโทมนัสน้อยใจ
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงติเตียนเรา พระธรรม พระสงฆ์
ในคำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ไขให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั้นไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีในเราทั้งหลาย คนพวกอื่น
จะพึงกล่าวชมเรา พระธรรม พระสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ดีใจ กระเหิมใจในคำชมนั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือพระสงฆ์
ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั้นจริง นั้นแท้ มีในเราทั้งหลาย หาได้ในเราทั้งหลาย
จุลศีล
เมื่อปุถุชนกล่าวคำชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั้น มีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก
เป็นเพียงศีล เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต
พึงกล่าวเช่นนี้ว่า 1. พระสมณโคดม ละการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย เอ็นดู กรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
2. ละการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่
3. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
4. ละการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
5. ละคำส่อเสียดเพื่อให้คนแตกร้าวกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน 6. ละคำหยาบ กล่าวแต่คำไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ
7. ละคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
8. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูติคาม
9. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล
10. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
11. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ และตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐาน แห่งการแต่งตัว
12. เว้นขาดการนั่ง นอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
13. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
14. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
15. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ 16. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
17. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาษ
18. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
19. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
20. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า ลา
21. เว้นขาดจากการรับไร่มาและที่ดิน
22. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
23. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
24. เว้นขาดจากการโกงด้วย ตาชั่ง ของปลอม เครื่องตวงวัด
25. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
26. เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชกมัชฌิมศีล อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
1. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพีชคาม และภูติคาม คือพีชเกิดแต่เง่า เกิดแต่ลำต้น เกิดแต่ผล เกิดแต่ยอด เกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า
2. เว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน เครื่องประเทืองผิว ของหอม อามิษ
3. เว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ
4. เว้นขาดจากการเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ เล่นหมากรุก เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ
5. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาด (ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย ที่ทำด้วยขนแกะสีขาว ที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ ที่ยัดนุ่น ขนแกะมีขนตั้ง ขนแกะมีขนข้างเดียว ทองและเงินแกมไหม ไหมขลิบทองและเงิน ขนแกะจุนางฟ้อน 16 คน หลังช้าง หลังม้า ในรถ ที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่อ อชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม ทำด้วยหนังชะมดมีเพดาน มีหมอนข้าง)
6. เว้นขาดจากการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย
7. เว้นขาดจากดิรัจฉานกถา คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข่าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ
8. เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมนี้ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านปฏิบัติผิดข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อนท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสียมิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย
9. เว้นขาดจาการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ คือรับเป็นทูตของพระราชา ราชอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมาร
10. เว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและพูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ
มหาศีล อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
1. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาด ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ซัดรำบูชาไฟ ซัดข้าวสารบูชาไฟ เติมเนยบูชาไฟ เติมน้ำมันบูชาไฟ เสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอทายเสียงนก เสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์
2. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือทายลักษณะแก้วมณี ไม้พลอง ผ้า ศาสตรา ดาบ ศร ธนู อาวุธ สตรี บุรุษ กุมารี ทาส ทาสี ช้าง ม้า กระบือ โคอสุภะ โค แพะ แกะ ไก่ นกกระทา เหี้ย ตุ่น เต่า มฤค
3. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพ
4. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา คือพยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส สุริยคราส นักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง เดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง เดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต ดาวหาง แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก จักขึ้น จักมัวหมอง จักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกมัวหมอง กระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้
5 เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี ฝนแล้ง มีภักษาหารได้ง่าย ภักษาหาได้ยาก ความเกษม ภัย เกิดโรค ความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์โลกายตศาสตร์
6. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือให้ฤกษ์ อาวาหมงคล วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง เก็บทรัพย์ จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ให้คางแข็ง ให้มือสั่น ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก ทรงหญิงสาว ทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ ท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ
7. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือ ทำพิธีบนบาน แก้บน ร่ายมนต์ขับผี สวดมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน บวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยา (สำรอก ถ่ายโทษเบื้องบน ถ่ายโทษเบื้องล่าง แก้ปวดศีรษะ) หุงน้ำมันหยอดหู ปรุง (ยาตา ยานัตถ์ ยาทากัด ยาทาสมาน) ป้ายตา ทำการผ่าตัดรักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล