[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 30 ตุลาคม 2565 19:47:44



หัวข้อ: วิหารวัดบวกครกหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ - ควรแก่การอนุรักษ์ให้สถิตในบวรพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 ตุลาคม 2565 19:47:44
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67138718275560_1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28604837631185_2_Copy_.jpg)
ราวบันใดด้านหน้าวิหารหลวงทำเป็นรูปมกรคายนาค
ที่มีปากเหมือนจะงอยปากพญาครุฑ (หรือ ปากนกแก้ว) ดังนั้น ราวบันไดที่วัดบวกครกหลวงจึงได้ชื่อว่าแตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ
ซึ่งงดงามแปลกตามากและมีอยู่แห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นของดั้งเดิมมาแต่โบราณ เป็นการใช้ศิลปะสื่อคุณธรรมสามัคคี
แม้แต่นาคและครุฑที่เป็นปรปักษ์กัน เมื่อถึงคราวปฏิบัติศาสนกิจที่ตนปวารณาตนไว้แล้ว ก็ต้องละทิฏฐิเดิมเพื่อความสำเร็จในการ
ประกอบกิจกับพระศาสนา


วัดบวกครกหลวง - Wat Buak Krok Luang
ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดบวกครกหลวง เป็นวัดเก่าแก่ขนาดเล็ก ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ บ้านบวกครกหลวง หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๔๙๗ วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏการก่อสร้างในเอกสารตำนานและพงศาวดารใดๆ แต่จากการสืบประวัติภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏพอจะประมาณได้ว่าอายุของวิหารนี้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี และมีประวัติการปฏิสังขรณ์วิหาร ว่า มีการบูรณะหลายครั้งในช่วงสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๙  โดยเฉพาะในคราวที่เจ้าราชภาคิไนย (เจ้าน้อยสุริยฆาฏ) บิดาของเจ้าจามรีราชเทวี ชายาของเจ้าแก้วนวรัฐ ทำการบูรณะวิหารครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฏหลักฐานที่หน้าบัน ระบุปี พ.ศ.๒๔๖๘ และมีการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๙๘ มีการทำพื้นวิหารและซ่อมแซมโครงสร้างภายใน โดยซ่อมเสาวิหารซึ่งเป็นเสาไม้ขนาดคนโอบไม่รอบ ซึ่งผุและมีปลวกมากัดกิน จึงได้ตัดเสาที่ติดกับพื้นซีเมนต์แล้วเทปูนทับเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ และได้เจาะผนังเพื่อทำเป็นช่องลมและหน้าต่าง ทำให้ภาพจิตรกรรมขาดหายไปบางส่วน

จากตำนานประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงลักษณะที่ตั้งของชุมชนบวกครกหลวงว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชียงใหม่ ระหว่างแอ่งที่ลุ่มลำน้ำปิงกับลำน้ำแม่คาว จนกลายเป็นที่มาของชื่อชุมชนและชื่อวัดในเวลาต่อมา แม้จะปรากฏหลักฐานจากคำบอกเล่าว่า เดิมชื่อของวัดแห่งนี้คือ “วัดม่วงคำ” แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มักนิยมเรียกชื่อของวัดว่า “วัดบวกครกหลวง”  

ส่วนชื่อที่ว่า บวกครกหลวง นี้เป็นภาษาพื้นเมือง คำว่า “บวกครก” แปลว่า หลุม  คำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ จึงอาจแปลได้ว่า วัดหลุมใหญ่  การตั้งชื่อวัดนั้นอาจจะตั้งตามชื่อหมู่บ้าน และชื่อหมู่บ้านก็อาจมีที่มาจากสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนที่มีลักษณะเป็นแอ่งอยู่ริมน้ำปิงและน้ำแม่คาวนั่นเอง  หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อน พ.ศ.๒๔๙๗ พระภิกษุที่จำพรรษาอยู่และพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญวัดแห่งนี้ จะใช้พระอุโบสถหลังเก่าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ตั้งของวัดในการทำสังฆกรรมของสงฆ์ หรือแม้แต่การอุปสมบทพระภิกษุก็ตาม กระทั่งการพัฒนาทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวล้านนาสมัยนั้นเริ่มใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางมากขึ้น เจ้านายผู้ปกครองบ้านเมืองจึงได้สร้างถนนสายเชียงใหม่สันกำแพง จึงทำให้ผืนแผ่นดินที่บรรจบกันระหว่างบริเวณฝั่งที่ตั้งของวัดและบริเวณฝั่งที่ตั้งของอุโบสถแบ่งจากกันอยู่อีกฝั่งของถนนที่ตัดผ่าน เป็นเหตุให้พระภิกษุที่อยู่ฝั่งที่ตั้งของวัดและพุทธศาสนิกชนที่สูงอายุที่อยู่ฝั่งที่ตั้งของอุโบสถมีความลำบากในการเดินทางไปทำสังฆกรรมของสงฆ์และการบำเพ็ญบุญที่วัด  จึงทำให้ต้องถอนพัทธสีมาที่อุโบสถแห่งนั้นมาสร้างในอาณาบริเวณของวัด และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกครั้ง โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๔๙๗

ส่วนพุทธศาสนิกชนอีกฝั่งหนึ่งนั้น ก็ร่วมกันคิดสร้างวัดขึ้นมาอีก ๑ วัด เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงขนานนาม ครั้นจะตั้งชื่ออื่นก็ไม่เหมาะสมเท่าไรนัก จึงอิงชื่อนามของวัดบวกครก วัดเดิมที่เคยร่วมทำนุบำรุงเมื่อกาลก่อน มาเป็นชื่ออารามใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยให้วัดบวกครกเดิมนั้นเป็น “วัดบวกครกหลวง” และอารามใหม่ที่สร้างเป็น “วัดบวกครกน้อย” ดังที่เรียกขานกันในกาลปัจจุบัน

ความโดดเด่นของวัดบวกครกหลวงอยู่ที่วิหารทรงล้านนา ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้ และภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร


วิหาร มีลักษณะเป็นอาคารทึบแบบพื้นเมืองล้านนา ตกแต่งหลังคาด้วยช่อฟ้าและนาคสะดุ้งในรูปแบบมกรคายนาคด้วยกระจกสีอย่างสวยงาม ส่วนหน้าบันหน้าแหนบ โก่งคิ้ว และปีกนก แกะสลักรูปเทพพนมนั่งเหนือเมฆ เสาเขียนลายคำ ลูกกรงแต่งเป็นรูปเจดีย์ นาคทัณฑ์ที่ตกแต่งด้านหน้าทั้งสองข้างทำเป็นรูปหนุมานเหยียบเมฆ ส่วนอื่นๆ ตกแต่งเป็นลายเมฆไหล บันไดด้านหน้าประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปมกรคายนาค  นาคนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ปากงุ้มเหมือนจะงอยปากนกแก้วหรือจะงอยปากครุฑ

ภายในวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง (หรือ ฮูปแต้ม ในภาษาพื้นเมืองเหนือ) ที่งดงามและยังคงสภาพดี เขียนโดยฝีมือช่างไต ชาวล้านนา เขียนเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาต จำนวน ๑๔ ห้องภาพ และมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จิตรกรรมฝาผนังในวัดบวกครกหลวง ไม่พบการเขียนทศชาติครบทั้งสิบพระชาติ แต่จะมีการเลือกมาเฉพาะตอนที่นิยมจำนวน ๖ พระชาติ คือ เตมิยชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิฑูรชาดก และเวสสันดรชาดก ความสวยงามของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงได้รับการยกย่องจาก น. ณ ปากน้ำว่าเป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดใสจัดจ้าน ท่าทีการใช้แปรงเหมือนกับภาพเขียนของอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างแวนโก๊ะ จิตรกรแนวอิมเพรสชั่น ชาวดัตซ์



สันนิษฐานว่าวัดและเสนาสนะวัดบวกครกหลวง อันได้แก่ วิหาร เป็นต้น น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาลงไป  ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓ และหลังจากนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์มาเรื่อยๆ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากช่างได้วาดภาพเล่าถึงเรื่องราวของความเป็นอยู่ของชาวบ้านในสมัยนั้น ดังเช่น ภาพผนังที่ ๑๔ ในวิหารจะเห็นลักษณะการแต่งกาย การนุ่งห่มที่ถ่ายทอดมาเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง  จะอยู่ในช่วงสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ระหว่างรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23525366559624_6_Copy_.jpg)
ธรรมาสน์ทรงปราสาท แม่เจ้าจามรีราชเทวี ชายาในพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙
เป็นผู้สร้างถวายจากเงินที่แม่เจ้าให้นางคนใช้นำดอกไม้ในสวนหลวงมาร้อยเป็นมาลัย

ภายในวิหารมีธรรมมาสน์เทศน์ที่มีอายุเก่าแก่และสวยงามมาก ลักษณะเป็นรูปทรงปราสาทวิมานทองชาดก ธรรมาสน์หลังนี้แม่เจ้าจามรีราชเทวี ชายาในพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ เป็นผู้สร้างถวายจากเงินที่แม่เจ้าให้นางคนใช้นำดอกไม้ในสวนหลวงมาร้อยเป็นมาลัย แล้วนำไปขาย พอได้เงินมาแม่เจ้าก็เก็บสะสมไว้จนพอที่จะให้ช่างไม้สร้างธรรมาสน์ได้ ธรรมมาสน์หลังนี้เป็นเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์ขึ้นเทศนาธรรมแก่ญาติโยม มีลักษณะที่ปกปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้โยมเห็นอากัปกิริยาต่างๆ ของพระสงฆ์ขณะเทศน์ เพราะการเทศน์แบบล้านนาใช้พลังเสียงในการเทศน์สูงมาก จึงต้องมีเทคนิคในการเรียกพลังเสียงเฉพาะตนของพระ บางครั้งเป็นอาการที่ไม่สำรวมจึงมีการสร้างธรรมาสน์เทศน์แบบปกปิดมิดชิด หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อป้องกันอาการอันไม่สำรวมของพระภิกษุ เพราะธรรมมาสน์อยู่ในระดับสูงมาก หากไม่มีฝาปิดกั้นอาจทำให้เห็นอาการของผู้ฟังเทศน์หรืออุบาสิกาที่ไม่สำรวมบางอย่าง ปัจจุบัน พระสงฆ์สามเณรภายในวัดยังใช้ธรรมาสน์หลังนี้เทศในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77974868317445_7_Copy_.jpg)
ความงดงามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ของวิหารวัดบวกครกหลวง ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้สถิตในบวรพระพุทธศาสนายิ่ง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60851056252916_5_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85827158432867_8_Copy_.jpg)
มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืนบนไหล่เทวดา

องค์ประกอบของวิหาร
ปั้นลมเป็นนาคลำยอง หางหงส์ทำเป็นหัวนาค หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นลายก้านขดปิดทองแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน  
มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืน เครื่องบนของเพดานเปิดให้เป็นโครงสร้างไม้และเสารับน้ำหนักของหลังคา ผนังก่ออิฐถือปูน
สูงถึงคอสอง วิหารนี้มีประตูด้านข้างทำเป็นมุขยื่นออกมา ด้านหน้าวิหารทำประตูไม้แกะสลักปิดทอง  



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39965520012709_22_Copy_.jpg)
บันได นาคปากครุฑ
บันไดนาค ลักษณะราวบันใดที่ด้านหน้าวิหารหลวง โบราณสำคัญภายในวัด ทำเป็นรูปมกรคายนาค ที่มีปากเหมือนจะงอยปากพญาครุฑ (บ้างเรียกว่า ปากนกแก้ว) ดังนั้น ราวบันไดที่วัดบวกครกหลวงจึงได้ชื่อว่าแตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ ซึ่งงดงามแปลกตามาก
และมีอยู่แห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นของดั้งเดิมแต่โบราณมา

คำอธิบายเพิ่มเติม
มกร หมายถึง งูใหญ่, สัตว์ในเทพนิยายของชาวจีน
พญานาค หมายถึง พญางูใหญ่ลักษณะลำตัวเป็นเกล็ดและมีหงอน บางตำรากล่าวว่าเป็นพวกกายทิพย์ สามารถกลับเพศเป็นมนุษย์ได้
พญาครุฑ หมายถึง พญานกใหญ่ บางตำนานกล่าวว่าเป็นพวกกายทิพย์ สามารถกลับเพศเป็นมนุษย์ได้ มักกินสัตว์เลื้อยคลานเป็นอาหาร  

การสร้างนาคที่ราวบันใดวัดบวกครกหลวงนี้ เป็นการใช้ศิลปะสื่อคุณธรรมสามัคคี แม้แต่นาคและครุฑที่เป็นปรปักษ์กัน เมื่อถึงคราวปฏิบัติศาสนกิจที่ตนปวารณาตนไว้แล้ว ก็ต้องละทิฏฐิเดิมเพื่อความสำเร็จในการประกอบกิจกับพระศาสนาดังที่เห็นรูปนาคปากครุฑ (ปากนกแก้ว) ราวบันไดในปัจจุบัน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84227480739355_21_Copy_.jpg)
หอไตร
ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหาร ลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารไม้ รูปแบบเป็นทรงสถาปัตยกรรมล้านนา
บูรณะครั้งล่าสุด พ.ศ.๒๕๔๕ ใช้เป็นสถานที่จัดเก็บ รวบรวมคัมภีร์ใบลาน ปกิณะธรรม พระสูตรและชาดกต่างๆ ที่อรรถกถาจารย์ในอดีตได้รจนาไว้
อีกส่วนหนึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานจารึกเรื่องราวต่างๆ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76225361973047_9_Copy_.jpg)
อุโบสถ
ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวิหาร รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นก่อน พ.ศ.๒๔๙๓ หลังจากถอนพัทธสีมาอุโบสถหลังเก่าที่อยู่อีกฝั่งตรงข้ามถนน
เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีอุปสมบทพระภิกษุให้แก่กุลบุตรผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาและใช้สำหรับทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ภายในวัด เช่น
สวดปาฏิโมกข์ในช่วงฤดูเข้าพรรษา และกรานกฐิน (สวดให้ผ้ากฐินหลังจากรับกฐินแล้ว)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64998936984274_15_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96665059361192_3_Copy_.jpg)
ผนังเต็มห้อง พุทธประวัติ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้งสี่ ตอนการสละอันยิ่งใหญ่ และตอนออกมหาภิเนษกรมณ์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31022455791632_14_Copy_.jpg)
เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบข่าวว่า พระนางยโสธราพิมพาประสูติพระราชโอรส คือพระราหุล
พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นในคืนนั้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33677083502213_11_Copy_.jpg)
ความวิจิตรบรรจงของศิลปินผู้วาดภาพ มีการใช้สีทองแต่งแต้มลวดลาย ทำให้ภาพทรงค่ายื่ง
ภาพแสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ไทใหญ่หรือไต จีน ที่อยู่ในล้านนาในขณะนั้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47829900392227_12_Copy_.jpg)
ภาพแสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ไทใหญ่หรือไต จีน ที่อยู่ในล้านนาในขณะนั้น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30043976588381_13_Copy_.jpg)
ภาพแสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ไทใหญ่หรือไต จีน ที่อยู่ในล้านนาในขณะนั้น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83001711343725_4_Copy_.jpg)
การซ่อมแซมเสาวิหารซึ่งเป็นเสาไม้ขนาดคนโอบไม่รอบ ต่อมาได้ผุและมีปลวกมากัดกิน
จึงได้ตัดเสาที่ติดกับพื้นซีเมนต์แล้วเทปูนทับเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23431357989708_10_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48988884687423_19_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/25263923241032_20_Copy_.jpg)

ที่มาข้อมูล :-
     - ประวัติและตำนานวัดบวกครกหลวง วัดบวกครกหลวงจัดพิมพ์เผยแพร่ เนื่องในโอกาสฉลองสมโภชอุโบสถวัดบวกครกหลวง ๑-๔ มีนาคม ๒๕๕๐
     - วัดบวกครกหลวง โดย กรมศิลปากร
     - วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี