[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 30 เมษายน 2555 18:07:25



หัวข้อ: รู้ไว้ใช่ว่า : พาลจันทร์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 เมษายน 2555 18:07:25


(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSSgXuenjCFAvfVyiy5CNcAzWuXM3tP3NNeqsywo-WBM4MER-K6yg)
รู้ไว้ใช่ว่า... พาลจันทร์
ภาพ : http://www.settrade.com (http://www.settrade.com)



พาลจันทร์   หมายถึง พระจันทร์ข้างขึ้นอ่อน ๆ หรือพระจันทร์เสี้ยว  ตามที่เราท่านเห็นกันว่ามีลักษณะโค้งบาง เรียวงาม เรื่อง พาลจันทร์   นี้ นายศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา  ได้เขียนเล่าไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๑ มีความโดยย่อว่า คัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของพระจันทร์ จากสภาพพระจันทร์เต็มดวง หรือสมบูรณ์จันทร์  ซึ่งค่อย ๆ ลดลงเป็นอรรธจันทร์ (พระจันทร์ครึ่งซีก)  และกลายเป็นพาลจันทร์อันเป็นเสี้ยวโค้งเรียวว่า เกิดจากคำสาปของพระทักษะประชาบดีผู้เป็นพ่อตาของพระจันทร์ และเป็นโอรสของพระพรหม  เรื่องก็คือ พระทักษะได้ยกลูกสาวซึ่งเป็นดาวรวม ๒๗ ดวง  ให้เป็นชายาของพระจันทร์  แต่พระจันทร์ให้ความโปรดปรานเป็นพิเศษแก่นางโรหิณี  ผู้เป็นดาวดวงที่ ๔ ทำให้นางอื่น ๆ ที่เป็นดวงดาวอีก ๒๖ ดวงมีความอิจฉา  จึงไปฟ้องพระทักษะผู้เป็นบิดาให้ลงโทษพระจันทร์  พระทักษะจึงสาปให้พระจันทร์เป็นฝีในท้องตลอดไปทุก ๑๕ วัน  เพราะเหตุนี้พระจันทร์จึงเปลี่ยนรูปร่างอยู่ตลอดเวลาเป็นข้างขึ้น ๑๕ วัน  ข้างแรม ๑๕ วัน  และตอนที่พระจันทร์เพิ่งฟื้นจากอาการป่วย  อันเป็นตอนเริ่มระยะเวลาข้างขึ้น  พระจันทร์จะมีรูปร่างเรียวโค้งเป็นเส้นบาง ๆ เรียกกันว่า พาลจันทร์  และจากนี้จะเพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสมบูรณ์จันทร์หรือพระจันทร์เต็มดวงในที่สุด

พาลจันทร์หรือพระจันทร์เสี้ยว    เป็นภาพที่พบเห็นได้เสมอ ๆ ในภาพวาดหรือประติมากรรมแห่งพระศิวะ  เพราะพระศิวะมีพระจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่นปักพระโมลี  ลักษณะเช่นนี้ทำให้พระศิวะได้ฉายานามว่า “จันทรเศขร”  แปลว่า “ผู้มี่ปิ่นปักผมคือพระจันทร์”   แต่บางครั้งรูปพาลจันทร์ดังกล่าวก็อาจเป็นเครื่องประดับอยู่ที่พระนลาฎ (หน้าผาก)  ของพระศิวะได้เหมือนกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้องค์พระจันทร์เอง ก็มีรูปพาลจันทร์เป็นเครื่องประดับบนพระเศียรเช่นเดียวกัน แต่เป็นจันทร์เสี้ยวขนาดใหญ่  โค้งเรียวไปตามพระเศียร  มักปรากฏในภาพพระจันทร์ประทับบนรถที่เทียมลากด้วยเลียงผาหรือบางครั้งก็เทียมด้วยม้าขาวจำนวน ๑๐ ตัว.





คัดลอกจาก  คอลัมภ์ “องค์ความรู้ภาษาไทย”   โดย ราชบัณฑิตยสถาน หน้า ๒๓  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕




















.