[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 14 ตุลาคม 2557 18:32:50



หัวข้อ: สัตว์โลก ยอดนักสถาปนิก
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 14 ตุลาคม 2557 18:32:50
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41963333553737_1.jpg)
ยอดสถาปนิก แห่งอาณาจักรสัตว์
โดย : ประลองพล เพี้ยงบางยาง ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน

มนุษย์เราสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้เจริญรุดหน้าทันสมัยแปลกตาขึ้นทุกยุคสมัย ซึ่งเราก็เห็นกันจนชินตา วันนี้ทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศนำท่านผู้อ่านไปชมสถาปัตยกรรมอันวิจิตรพิสดารและยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสัตว์กันบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่านักออกแบบ สถาปนิก และศิลปินมากมายในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา คงจะได้แรงบันดาลใจจากสัตว์ตัวน้อยเหล่านี้มาพัฒนาผลงานของตนเองกันไม่น้อยเลย

มดตัวน้อยตัวนิด เป็นหนึ่งในยอดสถาปนิกแห่งอาณาจักรสัตว์ มันจัดการโครงสร้างของรังอย่างประณีต มดชนิดที่อาศัยอยู่ใต้ดินสร้างห้องต่างๆ และทางเดินขึ้นภายใต้ผืนดินตามรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ การออกแบบโครงสร้างใต้ดินและกระบวนการอันซับซ้อนในการสร้างรังของบรรดามดยังคงเต็มไปด้วยปริศนาที่มนุษย์เรายังเข้าใจได้ไม่มากนัก

วอลเตอร์ ชิงเกล (Walter Tschinkel) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา บอกว่า “พวกมันทำได้โดยไม่ต้องใช้พิมพ์เขียว ไม่ต้องมีผู้นำ แล้วก็ยังทำงานทั้งหมดอยู่ในความมืด” เพื่อที่จะได้เห็นโครงสร้างของรังมดใต้ดิน เขาใช้การหล่อแบบโดยเทปูนปลาสเตอร์, ขี้ผึ้งพาราฟิน หรืออะลูมิเนียมเหลว ลงไปในรังมดที่พากันอพยพย้ายออก

ไปแล้ว และทิ้งไว้จนแข็งตัวจากนั้นก็ขุดเอาแบบที่หล่อไว้ขึ้นมา “คุณจะเห็นว่าโครงสร้างของรังมดมีความสัมพันธ์กับความลึก” วอลเตอร์อธิบายว่าจะมีห้องมากที่สุดอยู่ตรงบริเวณที่ใกล้ผิวดินที่สุด และจะมีห้องห่างออกไปเรื่อยๆตามระยะความลึกที่เพิ่มขึ้น เขาตั้งสมมติฐานว่ามดสามารถวัดความลึกโดยการตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบริเวณที่ยิ่งลึกลงไปจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/14996235486533_2.jpg)
ชุมชนรังนกกระจาบ.

สัตว์ที่สร้างรังอยู่อาศัยร่วมกันแบบมดปลวกหรือผึ้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันเกิดจากนางพญาหรือแม่ตัวเดียวกัน แต่สัตว์ที่จะเล่าถึงต่อไปนี้ เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็จริง แต่ต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง หากินกันเอง เพียงแค่มาอาศัยอยู่ด้วยกันเท่านั้นผลงานสถาปัตยกรรมที่จะนำเสนอต่อไปก็คือ “คอนโดนก” โดยฝูงนกที่มีชื่อว่า Sociable weaver หรือ นกกระจาบสังคม นกกระจาบที่รูปร่างหน้าตาคล้ายนก กระจอกชนิดนี้อาศัยอยู่แถบแอฟริกาใต้, นามิเบีย และบอสวาน่า กระจาบสังคม จะสร้างรังรวมกันอยู่อย่างน้อยก็ 12 ครอบครัวขึ้นไป รังขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีนกอยู่รวมกันถึง 400 ตัวเลยทีเดียว และประมาณกันว่ารังขนาดยักษ์นั้นอาจมีน้ำหนักถึง 1 ตัน และอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปี!


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42129719795452_3.jpg)
รังนกมอนเตซูมา โอโรเพนโดรา บนยอดไม้.

รังของพวกมันออกแบบมาอย่างสมบูรณ์พร้อม ด้านบนมีความลาดเอียงกรุหญ้าฟางที่สามารถป้องกันฝนและความร้อนได้ดี ทางเข้ารังจะอยู่ด้านล่างทำให้สัตว์ผู้ล่าเข้าไปได้ยาก โครงสร้างภายในประกอบไปด้วยกิ่งไม้และหญ้าแข็งช่วยค้ำยัน โดยแบ่งเป็นห้องๆ กรุไว้ด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม ปากทางเข้ารังจะเป็นหญ้าแข็งรวมทั้งหนามแหลมเพื่อป้องกันศัตรูรุกราน ที่ล้ำกว่านั้นคืออุณหภูมิภายในรังด้านในสุดจะสูง เพื่อปกป้องความหนาวเย็นในทะเลทรายยามรัตติกาล ส่วนนอกที่ถัดออกมาจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า ใช้เป็นที่พักอาศัยในเวลากลางวัน

ลูกนกที่โตขึ้นมาบางส่วนก็จะไม่ย้ายไปไหน แต่จะสร้างห้องเพิ่มอยู่ในอาณานิคมรังเดิมของมัน ทำให้รังของพวกมันขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และบางรังอาจมีนกชนิดอื่นมาอาศัยอยู่ด้วย เช่น เหยี่ยวแคระแอฟริกัน, นกฟินซ์, นกเลิฟเบิร์ด จะเรียกว่าเป็นคอนโดเอื้ออาทรก็คงไม่ผิดนัก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76978530900345_4.jpg)
นกมอนเตซูมา โอโรเพนโดรา.

ขอเล่าต่อถึงนกอีกชนิดหนึ่ง คราวนี้บินข้ามทวีปไปสู่อเมริกากลาง ไปดูรังของนกที่ชื่อเท่เก๋ไก๋ว่า มอนเตซูมา โอโรเพนโดรา (Montezuma Oropendora) ซึ่งชื่อนี้ก็มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรแอซเท็กโบราณนั่นเอง นกชนิดนี้ใช้เถาวัลย์และเส้นใยอื่นๆ สานเป็นตะกร้าห้อยย้อยยาวเหยียด 60-120 ซม. โดยห้อยรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 30 รัง แต่กลุ่มรังจำนวนมากสุดที่เคยบันทึกไว้นั้นมีถึง 172 รัง โดยมันจะเลือกอยู่บนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สูงชะลูดโดดเดี่ยวไม่มีกิ่งก้านตามลำต้นเพื่อยากแก่การปีนป่ายของสัตว์อื่น และพยายามสร้างรังไว้บริเวณปลายสุดของกิ่งก้านอันอ่อนไหวของต้นไม้ เพื่อป้องกันการบุกรุกไปขโมยไข่โดยนักปีนป่ายชั้นยอดซึ่งก็คือลิง และเจ้านกแสนฉลาดพวกนี้ยังมักจะสรรหาต้นไม้ที่มีพวกต่อ, แตนอาศัยอยู่เป็นที่สร้างรัง เพื่ออาศัยความน่าสะพรึงของพิษเหล็กในช่วยป้องกันภัยให้พวกมันอีกด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74016443681385_5.jpg)
การสร้างรังของนกรูฟัส ฮอเนโร

แถมเรื่องนกอีกสักชนิดละกัน นกชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่ว่ามันสร้างรังจากดิน แต่พวกมันไม่ได้ขุดดินเป็นโพรงเพื่อเข้าไปอาศัยอยู่แบบนกกระเต็น, นกจาบคา เพราะมันคาบดินขึ้นไปก่อสร้างทำรังไว้บนต้นไม้ซะอย่างนั้น นก รูฟัส ฮอเนโร (Rufous hornero) มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตะวันออกของอเมริกาใต้ มันได้รับเกียรติให้เป็นถึงนกประจำชาติของอาร์เจนตินาและอุรุกวัย ทั้งๆ ที่สีสันหน้าตามันก็แสนจะธรรมดา ดูแล้วไม่ ต่างอะไรกับนกปรอดสวนบ้านเราเลย รังของเจ้ารูฟัสทำจากดินโคลนผสมด้วยเส้นใยพืช เช่น หญ้า, ฟาง เมื่อแห้งแล้วจะแข็งแกร่งมาก รังโดยทั่วไปจะมีขนาด 20-30 เซนติเมตร หนักราวๆ 3-5 กิโลกรัม รูปร่างรังของ มันนั้นเขาว่าคล้ายเตาอบ ทำเลการสร้างมักจะวางผังให้หันหน้าไปในทิศทางที่ไม่ปะทะกับลมและฝน ซึ่งเชื่อกันว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มันสร้างรังที่แข็งแรงเช่นนี้ รังจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 8 เมตร บางรังก็ทำทางเข้าไว้ 2 ทาง แต่ส่วนใหญ่จะมีทางเดียว แม้จะสร้างไว้แข็งแรงมั่นคงก็ตาม แต่จะใช้แค่วางไข่เลี้ยงลูกครั้งเดียวแล้วทิ้งไป รังที่ทิ้งร้างแล้วมักจะมีนกชนิดอื่นมาเซ้งต่อเอาไปเป็นรังของตัวเอง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88262294522590_6.jpg)
แผนผังโพรงแพรรี่ด๊อก โพรงจริงซับซ้อนกว่านี้มาก.

ว่าด้วยเรื่องขุดๆกันอีก แพรรี่ด๊อก (Prairie Dog) สัตว์ 4 เท้าเลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายกระรอกแต่หางสั้นกว่า ตัวยาวราวๆ ฟุตเศษๆ จ้ำม่ำน่ารัก หนัก 7 ขีดถึงโลครึ่ง แพรรี่ด๊อกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ราบอันไพศาลของทวีปอเมริกาเหนือ ที่ในแต่ละฤดูมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างมาก บ้านของเหล่าแพรรี่ด๊อกที่อยู่ใต้ดินจึงต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงที่สุด ต่ำที่สุด ทนน้ำท่วมและไฟไหม้ลามทุ่ง ห้องต่างๆ ใต้ดินจะอยู่ในระดับความลึกต่างระดับกัน เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น ห้องเลี้ยงลูกอ่อน จะอยู่ในระดับที่มีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ยังมีห้องใกล้กับพื้นผิวดินที่สามารถใช้หลบพวกนักล่าจากด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และยังมีห้องสำหรับการจัดเก็บเสบียงอาหาร ห้องที่สามารถใช้ฟัง เสียงพวกนักล่าซึ่งอาจมาป้วนเปี้ยนอยู่นอกโพรง โพรงแพรรี่ด๊อกยังมีการขยายอาณาเขตออกเป็น“เมือง” ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายเอเคอร์ โดยมีแพรรี่ด๊อกประมาณ 5-35 ตัวต่อเอเคอร์ ในยุคสมัยก่อนที่มนุษย์จะแห่กันเข้ามาอาศัยอยู่ในท้องทุ่ง เคยมีแพรรี่ด๊อกครอบครองดินแดนอยู่ก่อนอย่างมากมายมหาศาล หนึ่งในเมืองของเหล่าแพรรี่ด๊อกที่พบในเท็กซัสเมื่อปี ค.ศ. 1900 ก่อนที่มนุษย์จะทำลายให้ย่อยยับไปนั้น ครอบคลุมพื้นที่ถึง 64,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นบ้านของแพรรี่ด๊อกประมาณ 400 ล้านชีวิต


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15235108716620_7.jpg)
เขื่อนของบีเวอร์.

และสุดท้าย ถ้ากล่าวถึงยอดสถาปนิกในหมู่สัตว์ เราจะกล่าวข้ามเจ้า บีเวอร์ (Beaver) ไปคงไม่ได้ เพราะมันไม่ได้แค่สร้างบ้าน แต่มันสร้างทั้งบ้านและเขื่อนไปในขณะเดียวกัน เขื่อนของบีเวอร์นั้นภายในจะเป็นที่อยู่อาศัย การกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนช่วยสร้างความปลอดภัยให้มันรอดพ้นจากสัตว์นักล่า เช่น หมาป่า และหมี รวมทั้งมันสามารถว่ายเวียนสัญจร ไปมาได้สะดวกในผืนน้ำ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30719731168614_8.jpg)
บีเวอร์.

บีเวอร์มีฟันหน้าแบบหนูที่ทรงประสิทธิภาพ มันสามารถใช้ฟันแทะโค่นต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 15 เซนติเมตรได้ภายใน 20 นาที แต่ละตัวโค่นต้นไม้โดยเฉลี่ย 6 ต้นใน 10 วัน สถิติการโค่นไม้ใหญ่ที่สุดของบีเวอร์ที่มีการบันทึกไว้คือ ต้นไม้เส้นผ่าศูนย์กลาง 115 ซม. สูง 45 เมตร แต่เป็นการโค่นเพื่อกินเปลือกไม้ ไม่ได้ใช้ในการสร้างเขื่อน สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่สุดที่มีบันทึกว่ามันนำมาสร้างเขื่อนนั้นเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 90 ซม. แต่ปกติแล้วมันจะใช้ขนาด 10-30 ซม.เป็นหลัก และมันยังมีกำลังลากต้นไม้หนักๆได้แบบที่มนุษย์เราไม่สามารถทำได้ด้วย มันจะโค่นต้นไม้และลากลงไปไว้ในลำธาร โดยให้ปลายยอดต้นไม้ชี้ไปทางท้ายน้ำใช้หิน โคลน ใบไม้ และหญ้า เสริมทับลงไปเพิ่มความแข็งแรง และมีการทำช่องทางระบาย (spillways) ให้น้ำไหลผ่านได้ด้วย ในลำน้ำที่กระแสน้ำไหลช้าบีเวอร์มักจะสร้างเขื่อนแนวตรง แต่ถ้าน้ำไหลแรงมันจะสร้างเขื่อนแนวโค้ง เขื่อนจากฝีมือตัวบีเวอร์ นั้นมีตั้งแต่ยาวไม่กี่เมตรไปจนถึงเป็นร้อยเมตร เขื่อนบีเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกไว้ มีความยาวถึง 853 เมตร อยู่ในอุทยานแห่งชาติ วู้ด บัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ที่อัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เป็นการสร้างต่อจากเขื่อนเดิมไปเรื่อยๆ เขื่อนที่ยาวรองลงมามีความยาว 652เมตร อยู่ในมอนตานา สหรัฐอเมริกา

บรรดาสัตว์ที่เป็นยอดสถาปนิกและวิศวกรยังมีอยู่อีกมากมาย พวกมันล้วนเชี่ยวชาญในการสร้างงานอันงดงามและเปี่ยมประโยชน์ใช้สอยตามรูปแบบและวิถีของเผ่าพันธุ์ เราคงได้เห็นความน่าทึ่งเหล่านี้ตลอดไปหากสัตว์โลกผู้น่ารักเหล่านี้ไม่โดนมนุษย์เราเข่นฆ่าและแย่งชิงถิ่นที่อยู่จนสูญพันธุ์หมดสิ้นไปเสียก่อน แฟนานุแฟนอ่านแล้วก็อย่าลืมแบ่งปันความรักความเมตตาให้เพื่อนร่วมโลกของเราบ้างนะครับ