[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 พฤษภาคม 2567 23:03:14 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยเรียนหนังสือกับพระสงฆ์ในวัดสมัยก่อน  (อ่าน 5732 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5495


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 16 มกราคม 2558 15:55:52 »

.



ไทยเรียนหนังสือขอม (เขมร) กับพระสงฆ์ในวัดสมัยก่อน

อักษรไทย พัฒนาจากอักษรเขมร แต่ไทยเรียกอักษรขอม ยกย่องเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ใช้เขียนข้อความทางศาสนา หรือลงคาถาอาคมเลขยันต์ของขลัง
 
พระเณรยุคก่อนๆ เรียนอักษรไทย แล้วต้องเรียนอักษรขอม เพราะหนังสือเทศน์ ใบลานเขียนภาษาไทยด้วยอักษรขอม เรียกขอมไทย ถ้าไม่เรียนอ่านหนังสือขอมไทยก็อ่านหนังสือเทศน์ไม่ได้
 
เรื่องเหล่านี้มีเล่าประสบการณ์ตรงโดย นายสำเภา วงษ์เทศ ผู้บวชเรียนหนังสือขอมไทยที่วัดชุมแสง (วัดโคกมอน) อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี
 
อยู่ในหนังสือที่ลูกหลานพิมพ์แจกในงานศพ (พ.ศ. ๒๕๒๙) นายสำเภา วงษ์เทศ (เกิด พ.ศ. ๒๔๕๓ ปลาย ร.๕ ต้น ร.๖) เขียนประวัติตัวเองไว้ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗)
 
จะคัดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนหนังสือไทยและขอม (เขมร) โดยทำแยกหัวข้อย่อยตัวหนาขึ้นใหม่เป็นประเด็นๆ ไปให้อ่านสะดวก
 
ส่วนเนื้อเรื่องเป็นตัวเอน ดังต่อไปนี้


 
http://www.dara.ac.th/pta/UserFiles/Image/samakom/image003(1).png
ไทยเรียนหนังสือกับพระสงฆ์ในวัดสมัยก่อน

ภาพจาก : www.dara.ac.th

คำบอกเล่าจากหนังสืองานศพ นายสำเภา
แม่เห็นว่า ผมสมควรจะเข้าวัดเพื่อเรียนหนังสือได้แล้ว จึงได้พาผมไปฝากวัดชุมแสง

ครั้งนั้นอาจารย์นันทาคนพื้นบ้านชุมแสงเป็นสมภารอยู่ ท่านรับไว้ให้เป็นเด็กวัดเพื่อเรียนหนังสือต่อไป เพราะสมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลยังไม่มี ถ้าใครอยากเรียนหนังสือก็ต้องไปเข้าวัดเพื่อขอเรียนหนังสือกับพระ

คล้ายกับว่าเด็กไปขออยู่รับใช้พระ พระก็ต้องตอบแทนด้วยการสอนหนังสือให้ ถ้าใครไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องไปอยู่วัด เพราะ พ.ร.บ. ประถมศึกษายังไม่มี
 
การไปเข้าวัดเพื่อเรียนหนังสือสมัยนั้นต้องมีผู้ปกครอง คือพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่นำไปฝากกับสมภารวัด  ต้องมีขันธ์ ๕ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปด้วย

เมื่อสมภารรับไว้เป็นศิษย์วัดแล้ว ก็ต้องมีพิธีนิดหน่อย คือเอาดอกไม้ ธูป เทียนไปผูกติดเข้ากับหัวกระดานที่เขียนหนังสือ



กระดานเขียนหนังสือ
กระดานเขียนหนังสือครั้งนั้นเป็นแผ่นยาวประมาณ ๑ เมตร ๕๐ เซนต์ กว้างประมาณ ๘ หรือ ๑๐ นิ้ว ทาสีดำ

ดินสอที่เขียน ใช้ดินสอพอง คือ (ดินดาน ที่เรียกกันว่าดินสอลพบุรี) ทำเป็นแท่งสำหรับเขียนหนังสือ ลักษณะยาวประมาณ ๑ นิ้วมือเศษๆ ข้างหัวท้ายเรียวค่อนข้างแหลม ตรงกลางป่องหน่อย
 
ทางหัวกระดานควั่นเป็นรูปใบโพธิ์ สำหรับมือจับแล้วกราบ ๓ หน แสดงความเคารพ อธิษฐานใจมีคนนำให้ว่า “ขอให้เรียนหนังสือเก่งๆ” เป็นเสร็จพิธี
 
กรรมวิธีที่ทำกระดานเขียนหนังสือให้ดำนั้น ใช้ถ่านหุงข้าวตำให้ละเอียด เอาข้าวสุกตำใส่ถ้วยเพื่อให้เหนียวติดกระดาน เมื่อตำเข้ากันดีแล้ว เอาผ้าห่อทำเหมือนลูกประคบ ขนาดเท่าลูกประคบ ชุบน้ำให้เปียกแล้วทาบนกระดานด้านหน้าให้ติดดำสนิท แล้วเอาไปตากแดดให้แห้งเสร็จแล้วเป็นใช้ได้ และต้องใช้ผ้าชุบน้ำลบหนังสือที่เขียนแล้วทุกครั้งไป

ฉะนั้น กระดานจึงต้องทาลูกประคบบ่อยๆ เมื่อเห็นว่าสีดำที่ติดอยู่กับกระดานหลุดออกมากแล้ว

 
  
พระสอนหนังสือ ตอนเช้า, ตอนบ่าย
การเรียนหนังสือวัดสมัยนั้น ต้องเรียนเขียนอ่าน ก.ข. จนจำได้แม่นยำ ต่อท้ายด้วยเลข ๑ ถึง ๐ ด้วย

เมื่อจำและเขียน ก.ข. ได้จนแม่นยำแล้ว จึงต่อ ก.กา. กน กง ฯลฯ  จนถึงเกย แจกลูกตามอักษรสูง  ต่ำ กลาง แล้วจึงอ่านประถม ก.กา. หรือมูลบทต่อไป————-

พระท่านสอนหนังสือให้เด็กมีอยู่สองเวลา คือตอนเช้าเมื่อเสร็จจากการฉันเช้าและสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ท่านจะออกมานั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเรียกเด็กให้มาต่อหนังสือพร้อมๆ กัน นั่งเข้าแถวเป็นวงรอบ ส่วนพระผู้สอนนั่งอยู่ตรงกลาง

ก่อนเปิดหนังสือเรียนต้องนั่งคุกเข่าประนมมือกราบพร้อมกัน ๓ หน แล้วให้อ่านหนังสือของใครของมันไปพร้อมกัน แล้วแต่เด็กคนไหนเรียนหนังสืออะไร เมื่อคนไหนอ่านต่อไปไม่ได้นั่งจี้หนังสือเฉยอยู่ พระผู้สอนจะชะโงกดูแล้วบอกไป ถ้าคนไหนอ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่ติด ท่านก็จะให้อ่านต่อไป จนกว่าจะอ่านเก่งโดยไม่ติด

เมื่อเด็กต่อหนังสือได้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงก็บอกให้เลิก เมื่อก่อนจะลุกออกไปก็ต้องพร้อมกันนั่งคุกเข่ากราบ ๓ หน จึงลุกถอยออกไป หาที่นั่ง ใครเคยนั่งตรงไหน ต้นเสาไหนก็เข้าประจำที่แล้วอ่านซ้ำที่เรียนมาจนคล่อง

พอถึงเวลา ๑๑ โมง พระตีกลองเพลเด็กเลิกอ่านหนังสือ ไปจัดแจงที่และหาน้ำท่าที่พระฉันเพล

เมื่อพระฉันเพลเสร็จ เด็กวัดกินข้าวอิ่มเก็บที่ทางเรียบร้อยแล้ว พระผู้ทำการสอนหนังสือก็ออกมานั่งที่ตามเคย เด็กก็มาพร้อมกัน ทำการต่อหนังสือเหมือนเมื่อทำในตอนเช้า

เมื่อเสร็จจากการต่อหนังสือช่วงเพลนี้แล้ว ก็เข้าประจำที่อ่านไปจนถึงเวลา ๕ โมงเย็น พระท่านจะบอกให้เลิกเมื่อได้เวลา ๕ โมงเย็นแล้ว เมื่อพระยังไม่บอกให้เลิกก็ยังเลิกไม่ได้

เมื่อเลิกอ่านหนังสือตอนเย็นนี้แล้ว ก็ต้องช่วยกันเก็บกวาดศาลาวัดและกุฏิพระตลอดจนเทกระโถน จัดแจงน้ำเย็นไว้ในห้องที่ตนปฏิบัติอยู่ให้เรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปบ้านเพื่อกินข้าวเย็น

 


ภาพจาก : kanchanapisek.or.th

ท่องสวดมนต์ นอนวัด
เมื่อเสร็จจากกินข้าวเย็นเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องกลับมานอนที่วัด เพราะต้องท่องหนังสือสวดมนต์ เริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่ม จนถึง ๓ ทุ่ม จึงเลิกท่องเข้านอน

หนังสือสวดมนต์ที่พระท่านสอนให้ท่องมี นะโม พุทธัง ปฏิสังขาโย และอวิชชา ต่อไปถึงบทถวายพรพระด้วย ยังมีท่องสูตรเลขพร้อมกันไปกับหนังสือสวดมนต์

แล้วพระท่านก็สอนให้หัดทำเลขเหมือนกัน แต่พระท่านสอนได้ก็แค่ บวก ลบ คูณ หาร เท่านั้น

การท่องหนังสือสวดมนต์นั้น พอได้เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม พระท่านว่างจากการไหว้พระสวดมนต์แล้ว ท่านจะเรียกเข้าไปหา ให้นั่งคุกเข่ากราบ ๓ หน แล้วพระท่านจะบอกนำก่อนแล้วให้ว่าตามซ้ำๆ หลายหนจนจำได้ เห็นว่าจำได้แม่นแล้ว พระท่านบอกให้เลิก

ก่อนเลิกก็กราบอีก ๓ หน แล้วออกไปหาที่สงัดท่องจนจำได้ขึ้นใจแม่นยำดี วันต่อไปก็ทำอย่างนี้อีกในเวลาเดียวกันทุกวัน
 
เด็กวัดทุกคนจะต้องทำความสะอาดบนศาลาที่เรียนหนังสือและกุฏิพระเป็นกิจประจำวันทุกวันตลอดไป จนกว่าจะออกจากวัดไปหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น

 
 
เรียนหนังสือขอม
ผมเป็นเด็กวัด เรียนหนังสืออยู่วัดชุมแสง ตำบลโคกปีบนี้ได้ปีหนึ่ง พอเรียนมูลบทบรรพกิจจบ ก็ออกจากวัดชุมแสง แม่พาไปฝากเรียนต่อที่วัดหัวซา ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี——————–
 
ผมเรียนหนังสืออยู่ที่วัดหัวซาประมาณ ๒ ปี อ่านเขียนหนังสือได้คล่องมาก พูดอย่างภาษาโบราณว่าแตกหนังสือคืออ่านหนังสือออก แล้วก็ออกจากวัดหัวซา กลับมาบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดชุมแสงอีก

คราวนี้เรียนหนังสือขอม มีทั้งขอมไทยและขอมลาว เพราะตามคัมภีร์หนังสือเทศน์ใบลาน เป็นหนังสือขอมไทยและขอมลาวทั้งนั้น

พระเณรที่บวชแล้วอ่านหนังสือขอมไม่ออก ก็เลยอ่านหนังสือเทศน์ใบลานไม่ได้

 
 
ขอมไทย
ยุคก่อนอยุธยา ยังไม่มีอักษรไทย คนไทยใช้อักษรขอม (เขมร) เขียนภาษาไทย เรียกหนังสือขอมไทย
 
เมื่อมีอักษรไทย โดยได้แบบจากอักษรเขมร ไทยยังยกย่องอักษรขอมเป็นครู แล้วเรียนหนังสืออักษรขอมไทยสืบมาจนถึงหลัง ร.๕




กระดานชนวน อุปกรณ์การเรียน (แบบประหยัด) ของนักเรียนสมัยก่อน
ใช้แทนสมุดซึ่งหายาก มี "ดินสอหิน" แท่งเล็กยาวสำหรับขีดเขียนแทนดินสอปากกา
เมื่อทำงานส่งครูเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เศษผ้าชุบน้ำพอหมาดๆ ลบออก แล้วใช้ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ดังนี้
เพื่อนบางคนใช้ใบไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ใบต้นคว่ำตายหงายเป็น ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะใบอุ้มน้ำไว้มาก
ขยี้บนกระดานชนวน ตัวหนังสือที่ขีดเขียนไว้จะลบออกอย่างง่ายดาย และสวยเป็นมันเงา

"กระดานชนวน" มีประโยชน์มากสมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมต้น
...ใช้สำหรับวาดการ์ตูนแทนกระดาษ ยามครูเผลอ


เรื่อง : "ไทยเรียนหนังสือขอม (เขมร) กับพระสงฆ์ในวัดสมัยก่อน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ  บทความตีพิมพ์ในหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ลงฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2558 17:24:22 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.354 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 29 กรกฎาคม 2566 03:56:16