[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 เมษายน 2566 11:21:44



หัวข้อ: กบฏไทรบุรี (พ.ศ.๒๓๗๓-๒๓๗๕, ๒๓๘๑)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 เมษายน 2566 11:21:44
(https://www.hatyaifocus.com/ckeditor/upload/userfilesfile/NAN/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%96/E7780641-2.jpg)
เว็บไซท์ hatyaifocus.com (ที่มาภาพประกอบ)

กบฏไทรบุรี (พ.ศ.๒๓๗๓-๒๓๗๕, ๒๓๘๑)

กบฏไทรบุรี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราชของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลไทยก็สามารถปราบปรามลงได้ หลังจากนั้น ไทยได้แบ่งแยกเมืองไทรบุรีออกเป็น ๓ เมือง และแต่งตั้งบุคคลในท้องถิ่นที่เหมาะสมเป็นผู้ปกครอง เหตุการณ์ต่างๆ ในดินแดนไทรบุรีจึงสงบลง

ไทรบุรีเป็นหัวเมืองมลายูตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศราชของไทยเช่นเดียวกับปัตตานี (ต่อมาถูกแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ สายบุรี หนองจิก และรามันห์) กลันตัน และตรังกานู  ประชาชนของหัวเมืองเหล่านี้นับถือศาสนาอิสลาม การปกครองหัวเมืองมลายูนี้ ไทยจะแต่งตั้งเจ้าเมืองในกรณีที่เจ้าเมืองเดิมถึงแก่กรรม พร้อมทั้งพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ ตลอดจนให้ความคุ้มครองในกรณีที่หัวเมืองเหล่านี้ถูกคุกคาม ส่วนหัวเมืองมลายูก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรุงเทพฯ และต้องให้ความร่วมมือเมื่อกรุงเทพฯ ต้องการ เช่น เมื่อเกิดสงครามหรือกบฏจะต้องช่วยส่งกำลังพล เสบียงอาหารมาช่วย ตลอดจนจัดส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาเป็นเครื่องราชบรรณาการทุกๆ ๓ ปี หัวเมืองเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของหัวเมืองชั้นเอกทางภาคใต้ เช่น เมืองนครศรีธรรมราชดูแลไทรบุรีและกลันตัน เมืองสงขลาดูแลบริเวณ ๗ หัวเมืองตรังและตรังกานู อยู่ใต้การบังคับบัญชาของกรมพระกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้

ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตนกูปะแงรันขึ้นเป็นพระยาไทรบุรี และตั้งตนกูปัศนูเป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มีพฤติการณ์ที่จะแยกออกเป็นอิสระจากไทย ใน พ.ศ.๒๓๕๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชนำตัวพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มาเข้าเฝ้า แต่พระยาไทรบุรีไม่ยอมมาเข้าเฝ้าตามท้องตรา ในปีต่อมา พระยาไทรบุรีได้ส่งบุตรชายมาเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ แทน  อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ทำความดีความชอบโดยตีเมืองเประมาเป็นเมืองประเทศราชของไทยได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาไทรบุรี แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้คบคิดกับพม่าจะเข้ามาตีไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพไปปราบเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ.๒๓๖๔ เกิดการสู้รบกันทำให้เสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ใน พ.ศ.๒๓๖๕ เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้หนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะหมาก (ปีนัง)

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยส่งคนไทยไปเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทนคนพื้นเมือง โดยโปรดเกล้าฯ ให้บุตรของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ๒ คน คือ พระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นเจ้าเมืองไทรบุรี (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์) และตั้งนายนุชเป็นปลัดเมือง (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเสนานุชิต) แต่วิธีการดังกล่าวนี้ทำให้เกิดกบฏขึ้นในเมืองไทรบุรีถึง ๒ ครั้ง คือ ใน พ.ศ.๒๓๗๓-๒๓๗๕ และ พ.ศ.๒๓๘๑

ในปลาย พ.ศ.๒๓๗๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตนกูเด่นซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้รวบรวมผู้คนยกเข้าตีเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลมายังกรุงเทพฯ และเกณฑ์หัวเมืองมลายูอื่นๆ มาช่วย แต่หัวเมืองเหล่านั้นไม่ยอมมา และขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในบริเวณ ๗ หัวเมืองด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่ทัพเรือยกทัพไปช่วย เจ้าพระยาพระคลังยกทัพไปถึงเมืองสงขลาใน พ.ศ.๒๓๗๕ แต่ทัพของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสามารถยกเข้าไปตีเมืองไทรบุรีคืนได้แล้ว ตนกูเด่นและศรีตะวันกรมการเมืองได้ฆ่าตัวตาย เมื่อจัดการเมืองไทรบุรีเรียบร้อยแล้ว ทัพของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงไปสมทบกับทัพของเจ้าพระยาพระคลังตีหัวเมืองทั้ง ๗ ได้ ไทยได้เปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองใหม่โดยตั้งคนไทยและคนมลายูที่สวามิภักดิ์ต่อไทยเป็นเจ้าเมืองแทน

ใน พ.ศ.๒๓๘๑ ได้เกิดกบฏขึ้นในเมืองไทรบุรีอีกครั้งหนึ่ง โดยตนกูมหะหมัดสหัสซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) และตนกูมหะหมัดอาเก็บได้รวบรวมกำลังยกเข้าตีเมืองตรังได้ แล้วให้หวันมาลีอยู่รักษาเมือง จากนั้นก็ยกทัพมาตีเมืองไทรบุรี เจ้าเมืองไทรบุรีคือพระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตปลัดเมืองเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงล่าถอยมาอยู่ที่เมืองพัทลุง

ขณะนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเดินทางมาราชการที่กรุงเพทฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชรีบเดินทางกลับไปจัดการเรื่องเมืองไทรบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์เมืองพัทลุงร่วมกับทัพเมืองนครศรีธรรมราชไปตีเมืองไทรบุรีคืน  นอกจากนี้ มีพระราชดำริว่าเมื่อใดที่เมืองไทรบุรีเกิดกบฏขึ้น เมืองมลายูอื่นๆ ที่อยู่ใต้การดูแลของเมืองสงขลาก็จะพลอยเกิดกบฏขึ้นด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) จางวางกรมพระคลังสินค้าเป็นแม่ทัพ และเจ้าพระยายมราชเป็นทัพหน้ายกไปช่วยตีเมืองไทรบุรีแต่เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองสงขลาในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๘๒ ก็ทราบว่าทัพเมืองนครศรีธรรมราชตีเมืองไทรบุรีคืนมาได้แล้ว

หลังจากนั้น ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเมืองไทรบุรีใหม่ เนื่องจากเห็นว่า หากให้คนไทยเป็นผู้ปกครองเมืองไทรบุรีอีกต่อไป บุตรหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ก็จะคิดกบฏอยู่ตลอดเวลา เพราะมิได้ให้คนพื้นเมืองปกครองกันเอง จึงแบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็นเมืองย่อย ๓ เมือง คือเมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองสตูล  โดยให้เจ้าเมืองแต่ละเมืองเป็นอิสระต่อกันและมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช แล้วแต่งตั้งคนพื้นเมืองที่มีความจงรักภักดีต่อไทยและเป็นที่เคารพของพลเมืองขึ้นเป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ.๒๓๘๕ เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยโทษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปปกครองบเมืองไทรบุรีตามเดิม แต่ให้แบ่งเมืองไทรบุรีอีก โดยแยกเมืองกปังปาสูออกไปเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นการยุติปัญหาเมืองไทรบุรีลงได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๒ พระองค์ได้ทรงพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทรบุรีกับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเมืองกปังปาสูให้แก่พระยาไทรบุรี (ตนกูอะหมัด) เมื่อเจ้าเมืองกปังปาสูถึงแก่กรรม ทำให้พระยาไทรบุรีมีความภักดีต่อไทยยิ่งขึ้น ใน พ.ศ.๒๔๐๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองสงขลากับหัวเมืองมลายูตะวันตก ทำให้มีการติดต่อกันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ใน พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เมืองไทรบุรีขึ้นตรงต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราชอีกต่อไป  และ ใน พ.ศ.๒๔๓๘ ก็โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองไทรบุรีเป็นเจ้าพระยา  ใน พ.ศ.๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองมลายูตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยไทรบุรี ปะลิส และสตูลเป็นมณฑลไทรบุรี โดยให้เจ้าพระยาไทรบุรีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

ปัจจุบัน ดินแดนมณฑลไทรบุรีบางส่วนอยู่ในประเทศไทยและส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยยอมตกลงยกดินแดนไทรบุรีและปะลิส รวมทั้งหัวเมืองมลายู คือ กลันตัน และตรังกานู ให้แก่อังกฤษเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๑ เพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตบางส่วนกับอังกฤษ ดินแดนที่ยังคงอยู่ในความปกครองของไทยคือ จังหวัดสตูล และดินแดนส่วนใหญ่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนเมืองไทรบุรีและปะลิส ปัจจุบันคือ รัฐเกดะห์ และรัฐปะลิส ของประเทศมาเลเซีย.



ที่มา - กบฏไทรบุรี (พ.ศ.๒๓๗๓-๒๓๗๕, ๒๓๘๑) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่