[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => นิทาน - ชาดก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2563 19:41:08



หัวข้อ: สุวัณณหํสชาดก - พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงษ์ทอง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2563 19:41:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/50237902171081_575d24a111069a1ec1736b2b68b406.jpg)
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ i.pinimg.com

• สุวัณณหํสชาดก  

ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต ถุลฺลนนฺทํ ภิกฺขุนึ อารพฺภ กเถสิ ฯ
--------------------

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุณี ชื่อถุลลนันทา ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ ดังนี้ ฯ

เรื่องพิสดารมีว่า อุบาสกคนใดคนหนึ่งในพระนครสาวัตถี ปวารณากระเทียมกับภิกษุณีสงฆ์ไว้ และสั่งกำชับคนเฝ้าไร่ไว้ด้วยว่า ถ้าภิกษุณีทั้งหลายพากันมาละก็ จงให้ไปรูปละสองสามกำเถิด ตั้งแต่นั้นพวกภิกษุณีต้องการกระเทียมก็พากันไปที่บ้านของเขาบ้าง ที่ไร่ของเขาบ้าง ครั้นถึงวันมหรสพวันหนึ่ง กระเทียมในเรือนของเขาหมดไป ภิกษุณีถุลลนันทาพร้อมด้วยบริวาร พากันไปที่เรือนแล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุ ฉันต้องการกระเทียม เขากล่าวว่า พระแม่เจ้า ไม่มี กระเทียมที่เก็บตุนไว้หมดเสียแล้ว นิมนต์ไปที่ไร่เถิดขอรับ ก็พากันไปไร่ ขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้ประมาณ คนเฝ้าไร่จึงยกโทษว่าเป็นไปได้เทียวนะที่ภิกษุณีขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้จักประมาณ ฟังคำของเขาแล้ว พวกภิกษุณีที่มีความปรารถนาน้อยก็พากันยกโทษ พวกภิกษุเล่า ครั้นได้ยินจากภิกษุณีเหล่านั้นก็พากันยกโทษ ครั้นแล้วก็กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้ทรงพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสติเตียนภิกษุณีถุลลนันทา แล้วทรงแสดงธรรมที่เหมาะกับเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลายโดยนัยมีอาทิว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อบุคคลผู้มีความปรารถนาใหญ่ มิได้เป็นที่รักเจริญใจ แม้แก่มารดาบังเกิดเกล้า ไม่อาจจะยังผู้ที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ไม่อาจยังผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ไม่อาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดให้บังเกิดหรือลาภที่เกิดแล้วก็ไม่อาจกระทำให้ยั่งยืนได้ ตรงกันข้าม ผู้มีความปรารถนาน้อย ย่อมอาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิด ที่เกิดแล้วก็ทำให้ยั่งยืนได้ แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุณีถุลลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็เคยมีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้

อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ กาเรนฺเต ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์สกุลใดสกุลหนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้วบิดามารดาได้ตบแต่งให้มีภรรยามีชาติเชื้อสมควรกัน ได้มีธิดาสามคนชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา ครั้นธิดาเหล่านั้นได้สามีไปแล้วทุกคน พระโพธิสัตว์ก็กระทำกาละไปเกิดในกำเนิดหงษ์ทอง และมีญาณระลึกชาติได้ด้วย หงษ์ทองนั้นเติบโตแล้วเห็นอัตตภาพอันเติบใหญ่งดงามเต็มไปด้วยขนที่เป็นทอง ก็นึกว่า เราจุติจากไหนเล่า จึงมาเกิดในที่นี้ ทราบว่า จากมนุษย์โลก พิจารณาอีกว่า พราหมณีและพวกธิดาของเรายังมีชีวิตอยู่หรืออย่างไร ก็ได้ทราบว่า ต้องพากันไปรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพโดยความแร้นแค้น จึงคิดว่า ขนทั้งหลายในสรีระของเราเป็นทองทั้งนั้น ทนต่อการตีและการเคาะ (ทำรูปพรรณต่างๆ ได้ดี) เราจักให้ขนจากสรีระนั้นแก่นางเหล่านั้นครั้งละหนึ่งขน ด้วยเหตุนั้นภรรยาและธิดาทั้งสามของเรา จักพากันเป็นอยู่อย่างสบาย หงส์ทองนั้นจึงบินไป ณ ที่นั้น เกาะที่ท้ายกระเดื่อง พราหมณีกับพวกธิดาเห็นพระโพธิสัตว์ก็พากันถามว่า พ่อเจ้าประคุณมาจากไหนเล่า ตอบว่า ข้าเป็นบิดาของพวกเจ้า ตายไปเกิดเป็นหงษ์ทอง มาเพื่อจะพบเห็นพวกเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไปพวกเจ้าไม่ต้องไปรับจ้างคนอื่นเขาเลี้ยงชีวิตอย่างลำบากอีกละ เราจักให้ขนแก่พวกเจ้าครั้งละหนึ่งขน จงเอาไปขายเลี้ยงชีวิตตามสบายเถิด แล้วก็สลัดขนให้บินไป หงษ์ทองนั้นมาเป็นระยะๆ สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขน  โดยทำนองนี้ พราหมณีและลูกๆ ค่อยมั่งคั่งขึ้นมีความสุขไปตามๆ กัน อยู่มาวันหนึ่งพราหมณีปฤกษาลูกๆ ว่า หนูทั้งหลาย ขึ้นชื่อพวกดิรัจฉานรู้จิตต์ใจได้ยาก ในบางครั้งบิดาของเจ้าไม่มาที่นี่ พวกเราจักทำอย่างไรกัน คราวนี้เวลาเขามาพวกเราช่วยกันจับถอนขนเสียให้หมดเถอะนะ พวกลูกพากันพูดว่า ทำอย่างนั้นบิดาของพวกฉันลำบากแย่ ต่างไม่ยอมรับรอง แต่พราหมณีเพราะมีความปรารถนาใหญ่ ครั้นวันหนึ่งเวลาพญาหงษ์ทองมา ก็พูดว่า มานี่ก่อนเถิดนายจ๋า พอพญาหงษ์ทองนั้นเข้าไปใกล้ ตนก็รวบไว้ด้วยมือทั้งสอง ถอนขนเสียหมด แต่เพราะจับถอนเอาด้วยพลการ พระโพธิสัตว์มิได้ปลงใจให้ ขนเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนขนนกยางไปเสียหมด พระโพธิสัตว์ไม่สามารถจะกางปีกบินไปได้ พราหมณีจึงเอาใส่ตุ่มใหญ่เลี้ยงไว้ ขนที่งอกขึ้นใหม่ของพระโพธิสัตว์นั้น กลายเป็นขาวไปหมด พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นขนเต็มที่แล้ว ก็โดดขึ้นบินไปที่อยู่ขงตนทันที แล้วก็ไม่ได้มาอีกเลย ฯ

พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ถุลลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็มีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน และก็เพราะมีความปรารถนาใหญ่จึงต้องเสื่อมจากทอง บัดนี้เล่า เพราะตนมีความปรารถนาใหญ่นั่นแหละจักต้องเสื่อมแม้จากกระเทียม เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้ จักไม่ได้เพื่อจะฉันกระเทียม และถุลลนันทาเป็นอย่างใด แม้ภิกษุณีที่เหลือเล่า ก็เป็นอย่างนั้น เพราะอาศัยถุลลนันทานั้น เหตุนั้นแม้จะได้มากก็ต้องรู้จักประมาณทีเดียว ได้น้อยก็ต้องพอใจตามที่ได้เท่านั้น ไม่ควรปรารถนายิ่งขึ้นไป แล้วตรัสคาถานี้นี้ว่า

ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ     . อติโลโภ หิ ปาปโก
หํสราชํ คเหตฺวาน     สุวณฺณา ปริหายติ

แปลว่า ได้สิ่งใด พึงพอใจสิ่งนั้น เพราะความละโมบจัดชั่วนัก พราหมณีจับพญาหงษ์เสียแล้ว จึงชวดได้ทอง ฯ

ตรัสเรื่องนี้แล้ว ทรงติเตียนด้วยปริยายเป็นอันมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า อนึ่ง ภิกษุณีใด ฉันกระเทียม ภิกษุณีนั้นต้องปาจิตตีย์ แล้วทรงประชุมชาดกว่า พราหมณีในครั้งนั้นได้มาเป็นถุลลนันทานี้ ธิดาทั้งหลาย ได้มาเป็นหญิงสามพี่น้องในบัดนี้ ส่วนพญาหงษ์ทองได้มาเป็นเราแล.  


จบ สุวัณณหํสชาดก


หัวข้อ: Re: สุวัณณหํสชาดก - พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงษ์ทอง
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 01 เมษายน 2563 21:05:57


(https://img.wongnai.com/p/1920x0/2020/02/02/5e4d5946f6f84a219d584171baeb2d55.jpg)


หงส์ทองในปัจจุบัน