[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 06 พฤศจิกายน 2566 15:14:23



หัวข้อ: จิตตคหบดี - พระอสีติมหาสาวก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤศจิกายน 2566 15:14:23
(https://warakan097.files.wordpress.com/2014/02/1922594_686238948086627_29702880_n.jpg)

ประวัติพระอสีติมหาสาวก
จิตตคหบดี

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล : จิตตคหบดี เป็นมหาอุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล ถือกำเนิดในตระกูลของเศรษฐีชาวเมืองมัจฉิกาสณฑ์ แคว้นมคธ โดยท่านมีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า จิตตกุมาร ที่แปลว่า กุมารผู้น่าพิศวง หรือ กุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม เพราะวันที่ท่านเกิดได้มีเหตุอัศจรรย์คือมีฝนดอกไม้ทิพย์โปรยปรายจากท้องฟ้าตกลงมาทั่วเมือง

จิตตคหบดี สืบทอดทายาทเศรษฐีจากบิดา ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า “จิตตคหบดี” ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธศาสนามีโอกาสพบพระมหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕)  เห็นสงบสำรวมน่าเลื่อมใสศรัทธา  จิตตคหบดีจึงนิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และสร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม หรือสวนมะกอก ถวายเป็นพระอารามและนิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ ระหว่างนั้นพระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ   วันหนึ่ง พระมหานามะได้แสดงธรรมเรื่อง อายตนะ ๖ (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคหบดีได้บรรลุอนาคามิผล

จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เป็นนิจ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจได้ง่าย เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันถึงครึ่งเดือน  ครั้งหนึ่งได้พาบริวาร ๒,๐๐๐ คน บรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ๕๐๐ เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

วาระสุดท้ายของจิตตคหบดี ขณะป่วยหนักได้มีเทวดาปรากฏให้เห็น กล่าวกับท่านว่าผู้มีบุญอย่างท่านนี้ แม้ปรารถนาทรัพย์สมบัติหลังตายไปแล้วก็ย่อมได้   จิตตคหบดีตอบเทวดากลับว่า “ถึงสมบัติก็ไม่จีรังเราไม่ต้องการ”  บรรดาลูกหลานที่นั่งเฝ้าไข้นึกว่าท่านเพ้อจึงกล่าวเตือนสติ  ท่านบอกบุตรหลานว่า “เรามิได้เพ้อ เทวดามาบอกเราว่า หากปรารถนาทรัพย์สมบัติหลังความตายก็ย่อมทำได้ แต่เราปฏิเสธ เพราะยังมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าน่าปรารถนากว่าทรัพย์สมบัติ”  ลูกหลานพากันถามว่าสิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า คืออะไร   จิตตคหบดีตอบว่า “สิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า คือ ศรัทธาอันแน่วแน่ มั่นคงในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์”

อัมพาฏการาม เป็นวัดที่ท่านสร้างและนิมนต์ให้พระมหานามะอยู่ประจำ แต่พระมหานามะพักอยู่ชั่วเวลาหนึ่งก็จาริกต่อไปที่อื่น ต่อมามีพระรูปหนึ่งนามว่า สุธรรมเถระ มาพำนักอยู่เป็นเวลานาน จนนึกว่าตัวเป็นสมภารวัด พระสุธรรมเป็นปุถุชน จิตตคหบดีเป็นอริยบุคคลระดับอนาคามี ถือเพศฆราวาสก็ยังแสดงความเคารพกราบไหว้พระภิกษุปุถุชน เพราะท่านถือว่าเพศบรรพชิตเป็น “ธงชัยแห่งพระอรหันต์”
.
วันหนึ่งพระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เดินทางผ่านมา จิตตคหบดีนิมนต์ให้พระอัครสาวกทั้งสองพำนักอยู่ที่อัมพาฏการาม พร้อมนิมนต์ฉันอาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น แล้วก็นิมนต์พระสุธรรมไปฉันด้วย  ฝ่ายพระสุธรรมถือตัวว่าเป็นเจ้าอาวาสเห็นจิตตคหบดีให้ความสำคัญแก่พระอัครสาวกมากกว่าตนถึงกับนิมนต์ไปฉันทีหลัง จึงไม่รับนิมนต์ ไม่ว่าจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม

ตกเย็นท่านจิตตคหบดีสั่งให้บริวารเตรียมภัตตาหาร พระสุธรรมได้เดินเข้าไปในคฤหาสน์อย่างคนคุ้นเคย มองดูเหล่าภัตตาหารที่เตรียมไว้ แล้วเปรยว่า "อาหารที่ท่านเตรียมถวายพระพรุ่งนี้ดีทุกอย่าง ขาดอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เตรียมถวาย"

จิตตคหบดีถามขึ้นว่า "ขาดอะไรขอรับ พระคุณเจ้า"

พระสุธรรมตอบว่า  "ขนมแดกงา"  

คำตอบของพระสุธรรมทำให้จิตตคหบดีโกรธอย่างมาก  ด้วยคำว่า “ขนมแดกงา” นั้นเป็นคำที่มีนัยสำคัญถึงต้นตระกูลของท่านเมื่อครั้งยังยากจน  ท่านจึงต่อว่าพระสุธรรมอย่างหนักเพื่อให้สำนึก แต่พระสุธรรมไม่สำนึกแถมโกรธตอบ ไปเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้า  แต่เมื่อพระพุทธองค์ทราบความโดยตลอดแล้วได้ตำหนิพระสุธรรม และมีพุทธบัญชาให้กลับไปขอขมาจิตตคหบดี ในครั้งแรกจิตตคหบดีไม่ยกโทษให้ พระสุธรรมจึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้ง พระองค์ทรงแสดงธรรมให้พระสุธรรมฟังกระทั่งบรรลุพระอรหันต์ และให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นอนุทูตพาพระสุธรรมไปขอขมาจิตตคหบดีเป็นครั้งที่สอง คราวนี้จึงได้รับการให้อภัย แม้ว่าจิตตคหบดีมีปฏิภาณเฉียบแหลมและมีความสามารถในการแสดงธรรม ถึงกับได้รับการยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เป็นเลิศทางธรรมกถิกะ หรือนักบรรยายธรรม  ขณะที่พระสงฆ์บางรูปก็ยังมิได้หลุดพ้นและรู้ธรรมทัดเทียม แต่ถึงกระนั้นจิตตคหบดีก็ยังคงมีปมเขื่องแต่หนหลังที่แม้ธรรมขั้นสูงก็ไม่อาจข่มความโกรธได้

ชาดกเรื่องจิตตคหบดีนี้จึงสะท้อนจริตของมนุษย์อย่างยากที่จะเข้าใจ และแก่นของเรื่องนี้อย่างหนึ่งที่สะท้อนคตินิยมในสมัยนั้นคือ “ข้าวเหนียวแดกงา” ซึ่งเป็นอาหารในหมู่กระยาจกยากจนเข็ญใจหรือชนชั้นล่าง และคงจะเป็นที่เดียดฉันท์ แม้ชั้นลูกชั้นหลานที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ซึมซับเพียงเรื่องราวที่มิได้ประสบมาด้วยตนเองก็ยังมองภาพขนมชนิดนี้เป็นของแสลง

ขนมแดกงา หรือข้าวเหนียวแดกงา มีความเป็นมายาวนาน อย่างน้อยก็ถูกบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก ในทำนองว่าเป็นอาหารของคนชั้นต่ำ ซึ่งก็น่าจะหมายถึงชนชั้นแรงงาน ที่มักกินเป็นอาหารว่างแต่ก็ใช้แทนมื้อหลัก   ขนมชนิดนี้ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก แล้วนำไปโขลกปนงาดำคั่วและน้ำเกลือ (ข้าวตำงา) เวลากินปั้นเป็นแผ่นเล็กๆไปจิ้มกับน้ำตาล  กินแล้วรู้สึกอยู่ท้อง แถมมีราคาถูก



เรียบเรียงจาก :
       - "จิตตคหบดี" วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
       - "ข้าวเหนียวแดกงา" หนังสือ ข้างสำรับมอญ โดย องค์ บรรจุน, สำนักพิมพ์มติชน  ๒๕๕๗
       - "ประวัติพระอสีติมหาสาวก จิตตคหบดีฯ" เพจ  ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.)