[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 09 พฤศจิกายน 2566 14:17:01



หัวข้อ: ผัวขายเมีย ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่?
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 09 พฤศจิกายน 2566 14:17:01

(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2023/11/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2-696x364.jpg)
ทาสชาวสยาม มีสภาพชีวิตแทบไม่ต่างจากไพร่สามัญในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)



ผัวขายเมีย ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2566



ผัวขายเมีย ในชนชั้น “ไพร่” ครอบครัวขายผู้หญิงในไทยสมัยโบราณ ขายได้เงินเท่าไหร่?

ผู้คนในไทยสมัยโบราณนอกเหนือจากชนชั้นระดับเจ้านายและขุนนางแล้ว ส่วนใหญ่ถูกนิยามว่า “ไพร่” และ “ทาส” ในบรรดาชนชั้นไพร่ที่ทำการเกษตร เมื่อประสบปัญหาด้านผลผลิตสืบเนื่องมาจากภัยต่างๆ สถานะการเงินของชาวนาย่อมยากลำบากจน บางครั้งมักพบเห็นชนชั้นไพร่ขายวัวควาย แม้กระทั่งขายลูกขายเมียก็มี


การขายลูกขายเมียในอดีตปรากฏในบันทึกหลากหลายฉบับ ตัวอย่างหนึ่งคือบันทึกของอ็องรี มูโอต์ เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเดินทางมาสำรวจพื้นที่อุษาคเนย์ บันทึกของเขาเอ่ยถึงสัญญาซื้อขายทาส โดยยกหลักฐานมาจากบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัว เนื้อหาในสัญญามีว่า

“วันพุธที่ 25 เดือน 6 ทางจันทรคติ จุลศักราช 1211 ข้าพเจ้า ผู้เป็นผัว พร้อมนางกล ผู้เป็นเมีย นำลูกสาวชื่อ ‘มา’ มาขายให้กับคุณหลวงศรี เป็นเงิน 80 ติกัล (240 ฟรังก์) เพื่อให้ทำงานรับใช้นายท่านแทนดอกเบี้ย ถ้านานมาลูกสาวของเราหลบหนี ให้นายท่านกุมตัวข้าพเจ้า และบังคับให้ตามตัวนางมาส่งคืน”

มูโอต์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า คนที่มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวขายเมียเป็นทาส “เป็นเรื่องทั่วไปในหมู่คนชั้นล่าง” และเป็นเรื่องที่ “เกิดขึ้นบ่อยและชวนสลดใจไม่มากก็น้อย”

ผู้ศึกษาค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกท่านที่พบหลักฐานเกี่ยวกับ ผัวขายเมีย คือ ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ.2352-2453 ด้านสังคม” ชัย เรืองศิลป์ อธิบายไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ไม่สามารถหาตัวเลขราคาขายลูกขายเมียอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 2-3

แต่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพิมพ์ในกรุงเทพฯ โดย “หมอสมิท” ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ไซแอมรีโพซิตอรี” เขียนเล่าไว้ว่า เขาได้รับฟังชาวบางปลาสร้อยปรับทุกข์ว่า ทำหนังสือกรมธรรม์ขายเมียของเขาต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นเงิน 9 ตำลึง

เขานำเงินจำนวนนี้มาซื้อที่นาแปลงหนึ่ง จากนั้นก็ลงมือปลูกบ้าน ภายหลังมีญาติของเจ้าของที่ดินมารื้อบ้าน และฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน ผู้ว่าราชการเมืองบางปลาสร้อยไม่สามารถตัดสินคดีลงได้ ต้องส่งเรื่องมาให้ในหลวงพิจารณา ซึ่งกรณีนี้หมอสมิทแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ผู้ว่าราชการเมืองบางปลาสร้อยว่าไร้สมรรถภาพ จากที่ต้องส่งเรื่องคดีแบบนี้มาให้ในหลวงพิจารณาตัดสิน

สำหรับค่าตัว ทาสสินไถ่ (หมายถึงทาสที่เป็นชนต่างด้าว, ผู้ที่ถูกพ่อ-แม่หรือผัวขาย, ผู้สมัครใจเป็นทาสเอง, ผู้ถูกศาลตัดสินให้เป็นทาสเพราะไม่มีเงินชำระหนี้) ชัย เรืองศิลป์ ค้นคว้าแล้วไม่พบว่ามีระบุพิกัดค่าตัวทาสสินไถ่ไว้ในกฎหมาย ซื้อขายกันเท่าไหร่ก็ได้ คาดว่าอาจถือพิกัดลูกทาสเป็นเกณฑ์ตั้งราคาก็เป็นได้

ส่วนในแง่ตัวเลขราคาการขายในอดีตนั้น พิกัดค่าลูกทาส/ลูกครอก(ลูกที่เกิดจากมารดาซึ่งขายตัวเป็นทาส)เพศหญิงที่รัฐบาลตั้งไว้มีดังนี้

อายุ 16-20 ค่า 10 ตำลึง

อายุ 21-30 ค่าสูงสุด 12 ตำลึง

อายุ 31-35 ค่า 11 ตำลึง

อายุ 36-40 ค่า 10 ตำลึง

อายุ 41-45 ค่า 9 ตำลึง

กฎหมายมีระบุค่าตัวไปจนถึงอายุ 100 ปี

ทั้งนี้ ชนชั้นในไทยแตกต่างจากของอินเดีย ชนชั้นของไทยไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิดเหมือนระบบวรรณะ ของไทยสามารถเลื่อนชั้นได้ แต่จากการศึกษาเรื่องทาสในสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดย ชาติชาย พณานานนท์ ซึ่งศึกษาจากหลักฐานศิลาจารึกสมัยอยุธยา, บันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติ และประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 (ส่วนใหญ่แล้วประมวลกฎหมายของรัชกาลที่ 1 ยังคงใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5) พบว่า การเลื่อนชั้นมีให้เห็นน้อยมาก โดยทาสจะเป็นอิสระได้ต่อเมื่อมีสงครามแล้วอาสาไปรบ เมื่อรอดตายจะได้เป็นอิสระ หรืออีกกรณีคือหาเงินไถ่ตัวได้

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่รัชสมัยพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2310-2394)” โดย สุวิทย์ ธีรศาสวัต ให้ข้อมูลไว้เพิ่มเติมว่า ทาสว่ายากแล้ว สำหรับไพร่ ขุนนาง และข้าราชการ เลื่อนชั้นยากกว่าอีก ช่วงต้นรัตนโกสินทร์พบหลักฐานเกิดขึ้นครั้งเดียวคือการรัฐประหารล้มอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พวกที่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นมากกว่าพวกอื่นคือ ไพร่ ได้เป็นขุนนางและข้าราชการ ไพร่ในช่วง พ.ศ.2374-2392 มี 675 คน จาก 4,355 คน ได้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการและขุนนาง