[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 19:09:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (โล้ชิงช้า) : บทความภาพเก่าเล่าอดีต  (อ่าน 11102 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 ตุลาคม 2556 18:15:31 »

.


พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย
(พิธีโล้ชิงช้า)

พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ถือเป็นวันปีใหม่ของพราหมณ์ เป็นพิธี ๒ พิธี ต่อกัน คือ
• พิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีฝ่ายพระอิศวร
• พิธีตรีปวาย เป็นพิธีฝ่ายพระนารายณ์ แบ่งการพระราชพิธีออกเป็น ๓ ขั้นตอน

ตอนแรก เป็นพิธี “เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” อัญเชิญเทพเจ้าลงสู่โลกมนุษย์ เพื่อทรงประทานพร จากนั้นเป็นพิธีโล้งชิงช้าของนาลิวัน (ผู้ทำหน้าที่โล้ชิงช้า) เพื่อหยั่งความมั่นคงของโลก ว่าจะมีความแข็งแรงทนทานดีอยู่หรือไม่

ตอนที่สอง  เป็นพิธีกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า ถวายข้าวตอกดอกไม้ เครื่องกระยาบวช โภชนาหารแด่เทพเจ้า เมื่อถวายแด่องค์เทพเจ้าแล้ว จะได้นำไปแจกแก่มวลมนุษย์ เพื่อความสวัสดิมงคลแก่ผู้บริโภค เรียกว่า “ประสาท”

ตอนที่สาม เป็นพิธีสรงน้ำเทพเจ้า เสร็จแล้วอัญเชิญเทพเจ้าขึ้นสู่หงส์ ซึ่งเป็นพาหนะที่นำองค์เทพเจ้ากลับสู่วิมาน เรียกว่า “กล่อมหงส์” หรือ “ช้าหงส์”



พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) พระยายืนชิงช้า พุทธศักราช ๒๔๖๙
ในรัชกาลที่ ๗ กำลังออกเดินทางไปประกอบพิธีตรียัมปวาย ณ บริเวณโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า

คำว่า ตรียัมปวาย หรือบางแห่งเขียนว่า ตรียัมพวาย และตรียำพวาย เป็นคำมาจากภาษาทมิฬว่า ติรุเวมปาไว (Tiruvempavai) ส่วนคำว่า ตรีปวาย มาจากภาษาทมิฬว่า ติรุปปาไว (Tiruppavai) เป็นชื่อพิธีของพราหมณ์ฝ่ายใต้ในประเทศอินเดีย เพื่อรับพระอิศวร เรียกสามัญว่า พิธีโล้ชิงช้า  ตามประวัติกล่าวกันว่า แต่เดิมมาในประเทศอินเดียมีพราหมณ์อยู่ด้วยกันหลายคณะ แยกเป็น พราหมณ์ฝ่ายเหนือ คือ ปัญจโคทะ และพราหมณ์ฝ่ายใต้ คือ ปัญจทราวิท จากข้อมูลปรากฏในหนังสือตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าแก่เกี่ยวกับพราหมณ์ในเมืองไทยระบุว่า ต้นกำเนิดของพวกพราหมณ์ในเมืองไทยนั้น เป็นฝ่ายใต้หรือพราหมณ์ทมิฬที่เดินทางเข้ามาทางเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของไทยในอดีต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ให้กว้างขวางออกไป พราหมณ์ทมิฬพวกนี้นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าใหญ่กว่าพระนารายณ์และเป็นผู้นำพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก

พิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย จัดเป็นพิธีสำคัญของศาสนาพราหมณ์ สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า ในระหว่างขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์เป็นเวลา ๑๐ วัน ในระหว่างนี้พราหมณ์ทมิฬซึ่งนับถือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด ได้จัดให้มีการบูชาพระอิศวร เรียกว่า พิธีตรียัมปวาย และเมื่อพระอิศวรเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์แล้วก็ถึงช่วงเวลาที่พระนารายณ์เสด็จมาบนโลกมนุษย์ และจัดให้มีพิธีบูชาที่เรียกว่า พิธีตรีปวาย ด้วยเหตุนี้พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย จึงจัดเป็นพิธีต่อเนื่องกัน ๒ พิธี รวมเรียกว่า พิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย



พระยาอิศรพัลลภ (สนิท จารุจินดา)
พระยายืนชิงช้า พุทธศักราช ๒๔๗๐

พระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวายนี้ สันนิษฐานกันว่า มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศว่า “ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย การกำหนดพระราชพิธีตรียำปวาย และตรีปวาย เป็นการนักขัตฤกษ์ ประชุมหมู่ประชาชายหญิงหน้าพระเทวสถานหลวง บรรดาชะแม่นางในทั้งหลาย ก็ตกแต่งรัชกายไปตามเสด็จ สมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำ รำเสนงและทัศนาชี พ่อพราหมณ์ แห่พระอิศวร พระนารายณ์ ในเพลาราตรี ณ พระที่นั่งชัยชุมพล เกษมศานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เป็นธรรมเนียมพระนคร”  แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตรงกันกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เมื่อพิจารณาจากสำนวนโวหารแล้ว หนังสือนี้น่าจะเพิ่งเขียนขึ้นเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง  แต่กระนั้นก็ได้ทรงมีกระแสพระราชวิจารณ์ว่า “หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเป็นตำราพิธีจริง และเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งก่อนศรีอยุธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ ของเดิมจะมาในพวกหนังสือตำราพราหมณ์ ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เป็นภาษาไทย” หากเป็นเช่นนี้แล้วก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวายน่าจะมีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว

สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องราวปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ความว่า “เดือน ๑ ไล่เรือ เถลิงพิทธี ตรียำพวาย” นอกจากนี้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏมีพิธีโล้ชิงช้าอยู่ด้วย ดังนี้ “เดือน ๓ พระราชพิธีขันด่อ (ต่อ) (น่าจะหมายถึงธานยะเฑาะห์ คือ พิธีเผาข้าวก็เป็นได้)  แต่รายการพิธีที่กล่าวในหนังสือ เป็น “พระราชพิธีตรียำพวาย คือ ตั้งเสาสูง ๔๐ ศอก ๒ เสา กว้าง ๘ ศอก มีขื่อ เอาเชือกผูกแขวนแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งยาว ๔ ศอก กว้าง ๒ ศอก พราหมณ์ ๔ คน ขึ้นนั่งเหนือกระดานนี้โล้ชิงช้า ข้างหน้าชิงช้ามีเสาสูง ๔๐ ศอก ปักอีกเสาหนึ่ง เอาเงิน ๔๐ บาท ใส่ถุงห้อยไว้ที่เสานี้ให้พราหมณ์โล้ชิงช้าไปคาบเงินที่ห้อยไว้ ถ้าคาบได้ก็ได้เงินนั้น ถ้าและคาบมิได้ พราหมณ์ก็ต้องถูกฝังเอวเพียงบั้นเอว และไม้กระดานชิงช้านั้น เมื่อเสร็จจากการพิธีแล้ว เอาลงฝังไว้ในแผ่นดิน พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้ (ออกญา) พลเทพเสนาบดี กรมนา ต่างพระองค์ แห่ไปยังที่พราหมณ์โหนชิงช้านั่งในมณฑป แต่เอาเท้าลงดินได้แต่ข้างเดียว ถ้าเมื่อยเผลอเอาเท้าลงดินทั้งสองข้างแล้วถูกปรับของที่ได้รับพระราชทาน คือ ส่วยและอากร ซึ่งมาแต่หัวเมืองต่างๆ ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการที่เข้ามาในระหว่างพิธีนี้ ต้องตกเป็นของพราหมณ์ ทั้งสิ้น”



พระยายืนชิงช้า ขณะอยู่ภายในโรงชมรมพิธี
นั่งบนราวยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสอบสองเดือน และได้อธิบายพระราชพิธีตรียัมปวายไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่มีข้อความบางข้อความที่ผิดแผกไปจากหนังสือนางนพมาศและกฎมณเฑียรบาลบางประการ คือ “พิธีตรียำปวาย ทำในเดือนอ้าย” แต่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “ทำในเดือนยี่” ที่เปลี่ยนจากเดือนอ้ายมาทำในเดือนยี่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “เปลี่ยนมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุที่ว่า เดือนอ้ายเป็นเวลาที่น้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนโดยทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง”

การประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวายนั้น พราหมณ์จะกระทำต่อเนื่องกันไปทั้ง ๒ พิธี เริ่มต้นด้วยพิธีอัญเชิญเทพเจ้าเสด็จลงมาบนโลกมนุษย์ที่เรียกว่า พิธีเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสจากนั้นพราหมณ์นาลิวันจะแสดงพิธีโล้ชิงช้าถวายแด่พระอิศวร โดยระหว่างนั้นจะมีการอ่านโศลกสรรเสริญ พร้อมทั้งมีการถวายข้าวตอกดอกไม้ผลไม้ต่างๆ การถวายข้าวตอกดอกไม้แต่เทพเจ้านี้สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า พระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย มีความเกี่ยวเนื่องกันกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กล่าวคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่กระทำกันในเดือน ๖ อันเป็นฤดูกาลเพาะปลูก พิธีนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นการสวดอ้อนวอนเทพเจ้า ขอให้การเพาะปลูกได้ผลดี ส่วนการพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวายนั้น จัดขึ้นในเดือนยี่  ซึ่งผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวมาแล้ว พิธีนี้จึงจัดขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าที่บันดาลให้การเพาะปลูกได้ผลดี

การพระราชพิธีแห่พระนารายณ์นี้ เนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ถือว่า พระอิศวรเป็นเจ้าย่อมเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง เมื่อพระอิศวรเสด็จกลับแล้ว พระนารายณ์ก็เสด็จลงในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ และเสด็จกลับในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนเดียวกัน  การพระราชพิธีตรีปวายนี้ทำกันอย่างเงียบๆ เนื่องจากพระนารายณ์ไม่โปรดการสมาคมที่เป็นการอึกทึกครึกโครม



ในการพระราชพิธีตรียัมปวายนี้ จะต้องมีข้าราชการผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งรับ “ที่สมมต” ว่าเป็นพระอิศวรเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก ตำแหน่งผู้ซึ่งได้รับ “ที่สมมต” แต่ก่อน คือ เจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งเป็นเกษตราธิบดี แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมแต่ครั้งกรุงเก่า ตลอดเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ถึงแก่อสัญธรรม ไม่ได้แต่งตั้งพระยาพลเทพคนต่อไป โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งยังเป็นพระยาสภาวดี ยืนชิงช้าแทนปีหนึ่ง ในปีถัดไป  โปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมธิกรณ์ (เสือ) ซึ่งยังเป็นพระราชนิกูล เป็นผู้ยืน

ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นผู้ที่ได้รับยศ ประโคมกลองชนะ มีแห่ ควรจะให้แห่ได้เต็มยศเสียคนละครั้ง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเปลี่ยนกันยืนชิงช้าปีละคน และเป็นธรรมเนียมอีกแบบหนึ่ง คือ พระยายืนชิงช้ารับราชการอยู่กรมใด ก็ทำธงเป็นรูปตราประจำตำแหน่งของกรมนั้น เย็บลงในผืนผ้าสตูแดงไปนำหน้ากระบวน ตัวพระยายืนชิงช้านุ่งผ้าแบบบ่าวขุนมีชายห้อยอยู่เบื้องหน้า นุ่งผ้าเยียรบับ สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุย สวมลอมพอก (เครื่องสวมศีรษะรูปยาวแหลมคล้ายชฎา) เกี้ยว ตามบรรดาศักดิ์

พิธีเริ่มขึ้นในเวลาเช้า ในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้า พราหมณ์นำกระดานชิงช้าซึ่งสมมุติว่าจะไปแขวนไว้มารับพระยายืนชิงช้า เมื่อพระยามาถึงโรงมานพหรือมาฬกแล้ว ก็นำกระดานกลับคืนสู่เทวสถาน แล้วปล่อยกระดานซึ่งแขวนไว้ที่เสาชิงช้า เสร็จแล้ว สมมุติว่าเอากระดานแผ่นที่เอาไปเก็บไว้ที่เทวสถานขึ้นแขวนแล้ว จึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิม เสร็จแล้ว นำพระยาไปที่ชมรม  โรงชมรมทำเป็นปะรำไว้ไผ่ คาดผ้าขาวเป็นเพดาน มีม่านสามด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว สำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราว ยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น มีพราหมณ์ยืนข้างขวา ๔ คน ข้างซ้ายเกณฑ์ทหารหลวงในกรมมหาดไทย ๒ คน

ในส่วนการประกอบพิธีโล้ชิงช้าซึ่งนับเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย กล่าวกันว่าทำขึ้นเพื่อหยั่งความมั่นคงของโลก  พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าเรียกว่า นาลิวัน  คำว่า นาลิวัน นี้เข้าใจว่าเป็นคำในภาษาทมิฬแปลว่า ชาย ๔ คน  นาลิวันขึ้นโล้ชิงช้ากระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน มีเสาไม้ไผ่หลายปลูกถุงเงินปักไว้ กระดานแรก ๓ ตำลึง กระดานที่สอง ๑๐ บาท กระดานที่สาม ๒ ตำลึง  นาลิวันซึ่งโล้ชิงช้านั้น ขั้นแรกขึ้นไปนั่งต้องถวายบังคมก่อนและนั่งโล้ไปจนชิงช้าโยนสุดแรงที่สุดจึงลุกขึ้นยืน คนหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้ปลายไม้ คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน ครั้นโล้ชิงช้าเสร็จสามกระดานแล้ว ตั้งกระบวนแห่กลับ เมื่อมาถึงท้ายพระที่นั่งพุทไธสวรรย์  พระยาลงจากเสลี่ยงเดินมาจนถึงหน้าพระที่นั่ง ที่ปูเสื่ออ่อนไว้ แล้วถวายบังคม พระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล ถวายบังคมอีกครั้ง แล้วเดินไปจนสุดท้ายพระที่นั่ง ขึ้นเสลี่ยงกลับชมรม  วันขึ้น ๘ ค่ำ เป็นวันเว้น  วันขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเย็น ตั้งกระบวนแห่ไปพักที่โรงชมรมที่หนึ่งข้างตะวันออกเหมือนวันขึ้น ๗ ค่ำ แต่ไม่ต้องพักโรงมานพ และไม่ต้องมีกระดานมารับ ด้วยแขวนอยู่เสร็จแล้ว  นาลิวันโล้ชิงช้า ๓ กระดาน เงินที่ผูกปลายไม้ก็เท่ากันกับวันแรก เมื่อโล้ชิงช้าแล้ว นาลิวันทั้ง ๑๒ คนยกขันสาครมีน้ำเต็มในขันมาตั้งหน้าชมรม รำเสนง สาดน้ำกันครบสามเสนง แล้วพระยาย้ายไปนั่งชมรมที่ ๒ ที่ ๓  นาลิวันก็ยกขันตามไปรำเสนงที่หน้าชมรม สาดน้ำแห่งละสามเสนงเป็นเสร็จการแห่กลับ



นาลิวัน (ผู้ทำหน้าที่โล้ชิงช้า) กระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน
ผู้ที่ขึ้นไปโล้ชิงช้านี้ เรียกว่า นาลิวัน หมายถึง พญานาค
และผู้แสดงก็สวมหัวนาคด้วย (ลูกศรชี้)

รวมความว่า “พิธีตรียัมปวาย” หรือ “พิธีโล้ชิงช้า” นั้น เป็นการแสดงตำนานของพระอิศวรตอนหนึ่ง กล่าวคือเมื่อพระพรหมสร้างโลกแล้ว ขอให้พระอิศวรไปรักษา แต่พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกนี้ดูไม่แข็งแรง จึงเสด็จลงมายังโลกด้วยพระบาทเพียงข้างเดียว เกรงว่าถ้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก แล้วให้พญานาคอันทรงฤทธิ์มาโล้ยื้อยุดระหว่างขุนเขาทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ก็ปรากฏว่า แผ่นดินของโลกยังแข็งแรงดีอยู่ พญานาคทั้งหลายก็โสมนัสยินดี ลงสู่สาครใหญ่เล่นน้ำ พ่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน และเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่

เสาชิงช้าทั้งคู่ หมายถึงขุนเขาทั้ง ๒ ฝั่งของมหาสมุทร และขันสาคร หมายถึง มหาสาครอันกว้างใหญ่ ซึ่งพญานาคพากันเล่นน้ำ รำเสนงราดน้ำกันในตอนท้าย ผู้ที่ขึ้นไปโล้ชิงช้านี้ เรียกว่า นาลิวัน หมายถึง พญานาค และผู้แสดงก็สวมหัวนาคด้วย (ไม่ใช่พราหมณ์ขึ้นไปโล้) มีความหมายเป็นการแสดงให้รู้ตำนาน และอีกนัยหนึ่งมีความหมายเป็นกุศโลบายทางการเมืองว่า แผ่นดินที่ได้กระทำพิธีแล้วนั้น จะมีความเจริญรุ่งเรืองแข็งแรง มีความสามัคคี ไม่มีวันจะแตกสลาย

อนึ่ง การโล้ชิงช้านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เข้าใจว่าเป็นการแก้บน เช่นเดียวกับพวกทมิฬแทงลิ้นแทงแก้ม คือ เจ็บไข้บนบวงไว้แต่เมื่อใด ถึงพิธีตรียัมปวาย เวลาที่พระเป็นเจ้าเสด็จเยี่ยมโลกก็ไปโล้ชิงช้าแก้บนหน้าพระที่นั่ง


พระราชพิธียืนชิงช้านี้ มายกเลิกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย คือ พระยาชลมารควิจารณ์ (ม.ล.พงศ์  สนิธวงศ์) ถึงแม้การพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย จะเลิกไปแล้ว แต่พราหมณ์ก็ยังทำพิธีกรรมอยู่เป็นการภายใน ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ตามลำดับขั้นตอนและในวันสุดท้ายของพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย พราหมณ์จะจัดให้มีการสมโภชเทวรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาร่วมประกอบพิธีภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ด้วย หลังจากนั้นจะมีการประกอบพิธีโกนจุกให้แก่เด็กทั่วๆ ไป เป็นอันเสร็จพิธี


บทความ : พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (พิธีโล้ชิงช้า) โดย ประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. (ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร)




พิธีตรียัมปวาย Thiruppavai โล้ชิงช้า เป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กระทำในเทวสถานสำหรับพระนคร ๓ แห่ง ได้แก่ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่

จากข้อมูลวิกิพีเดีย พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ สื่อถึงการรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เป็นเวลา ๑๐ วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร

มีตำนานหนึ่งว่า เมื่อพระพรหมสร้างโลกแล้ว จึงเชิญให้พระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก พระอิศวรใช้วิธีการให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ ขณะที่พระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง

การทดสอบดังกล่าวเป็นคติสอนเรื่องการไม่ประมาท

ส่วนในคัมภีร์เฉลิมไตรภพเล่าถึงพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ จึงทรงพนันกับพระอิศวร ให้ทดสอบว่าโลกยังมั่นคงแข็งแรง พิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็นต้นพุทรา ช่วงระหว่างเสาคือแม่น้ำ นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือพญานาค โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงประเพณีการโล้ชิงช้าไว้ในคอลัมน์สยามประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๐ อ้างถึงงานวิจัยของอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง "โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม" ว่า ประเพณีของพราหมณ์ในอินเดียไม่มีพิธีโล้ชิงช้า มีแต่เพียงการเชิญมหาเทพทรงหงส์ลงพระอู่ หรือเปลจำลองขนาดเล็ก แล้วสวดหรือเห่กล่อม เรียกกล่อมหงส์หรือช้าหงส์ ภายในเทวสถานหรือในโบสถ์พราหมณ์เท่านั้น

การโล้ชิงช้าในพิธีพราหมณ์ เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ขยายของศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณจุดศูนย์กลางของผืนแผ่นดินอุษาคเนย์ โดยดัดแปลงนำพิธีการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณแผ่นดินสุวรรณภูมิ (กินพื้นที่ตลอดสองฝั่งโขง ถึงเจ้าพระยา และสาละวิน อาจกว้างขวางถึงลุ่มน้ำพรหมบุตรในอินเดียและลุ่มน้ำแยงซีเกียงในจีน) รวมเข้ากับพิธีตรียัมปวายของพราหมณ์ จัดพิธีดังกล่าวในต้นเดือนแรกของฤดูกาลใหม่ หรือเทศกาลปีใหม่ ตรงกับเดือนอ้าย หรือเดือนที่ ๑ ของปีปฏิทิน ซึ่งคำนวณตามหลักจันทรคติ ปฏิทินปัจจุบันตรงกับช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม จะจัดพิธีตรียัมปวายในวันใหม่หลังเทศกาลลอยกระทง

คำว่า ชิงช้า เป็นคำร่วมของชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ มีเค้าภาษาเดิมอยู่ในภาษากะเหรี่ยง ชนชาติที่อาศัยอยู่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้ประกอบกับคำว่า ลา ซึ่งแปลว่า เดือน เรียกรวมกันว่า ลาชิงช้า แปลว่าเดือนอ้าย

ลัทธิพราหมณ์ที่เข้ามาในสุวรรณภูมิสมัยแรก จัดพิธีตรียัมปวายตรงกับเดือนอ้าย สืบเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยในกฎมณเฑียรบาลและโคลงทวาทศมาสระบุว่า พราหมณ์อยุธยามีการแขวนขดาน เพื่อโล้ชิงช้าในเดือนอ้ายของทุกปี

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฝ่ายพราหมณ์และราชสำนักให้เปลี่ยนเป็นโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ วัดสุทัศน์ ในเดือนยี่ หรือประมาณเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม

ในพิธีดังกล่าวมีการทำพิธีกล่อมหงส์ด้วยทำนองช้าหงส์ ตามประเพณีดั้งเดิมจากอินเดีย แต่นำเอาทำนองเห่กล่อมของพื้นเมืองตระกูลไทย-ลาว เข้าไปด้วยแล้ว โดยเห่กล่อมพื้นเมืองมีรากเหง้าดั้งเดิมอยู่ในเพลงดนตรีประเภทขับไม้และบรรเลงพิณ

ต่อมาใช้ในพิธีดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง และเห่กล่อมพระบรรทม ซึ่งกรมศิลปากรยังสืบทอดประเพณีนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป
...นสพ.ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 14:47:56 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.095 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 02 พฤษภาคม 2567 06:03:43