[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2555 16:43:50



หัวข้อ: โบราณบัณฑิตย่อมระงับเวรระงับภัยให้สงบสงัดเสียได้ ด้วยความไม่ก่อเวรก่อกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2555 16:43:50
.

(http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-chan_sirichanto/pra-ubali-chan09.jpg)
เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท-จันทร์)  

น หิ เวเรนะ  เวรานิ  สัมมันตีธะ  กุทาจะนัง  จะ  สัมมันติ  เอสะ  ธัมโม  สะนันตะโน

ขึ้นชื่อว่า “เวรกรรม” แล้ว  บุคคลจะมาทำให้ระงับเสียด้วยก่อเวรก่อกรรมนั้น เป็นอันไม่ได้โดยแท้



ในกาลไหน ๆ โบราณบัณฑิตย่อมระงับเวรระงับภัยให้สงบสงัดเสียได้  ด้วยความไม่ก่อเวรก่อกรรมแก่กันและกันต่อไป

พระธรรมเทศนา นางยักษินีวัตถุ   กล่าวด้วยเรื่อง ขันติ   เอา ขันติ  ความอดทน  ความอดกลั้น มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  ให้เอาขันติ  เป็นน้ำรดล้างดับเสียซึ่งเวรกรรมนั้น
 

ขันติ ๓ ประเภทนั้น ได้แก่
๑. ขันติเกินตัว     ได้แก่ความอดทนอดกลั้น ทนทานต่อท่านผู้มีบุญญาภินิหาร  วาสนาบารมี  กำลังกาย  กำลังทรัพย์  สูงกว่าเรา  ถ้าท่านผู้นั้นมาก้ำเกิน  หมิ่นประมาทในตัวเรา  ดุด่าว่าร้ายให้แก่เรา  เราก็อดเอา  ไม่ต้องคิดสู้รบตบเถียง  ด้วยคิดว่าท่านมีกำลัง  มีบุญมีทรัพย์ยิ่งกว่าเรา  แม้เราจะโต้ตอบด้วยประการใด  ก็คงสู้ท่านไม่ได้  ไม่ควรที่เราจะก่อเวรก่อกรรมให้ติดเนื่องกันไป  ปล่อยให้ท่านเหนื่อยข้างเดียวดีกว่า  เราทำดีไว้อย่างเดียวเป็นพอ

๒. ขันติเสมอตัว ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคนเสมอ ๆ กัน  เป็นต้นว่า  ผู้มีบรรดาศักดิ์ลาภยศกำลังทรัพย์กำลังกายก็เสมอ ๆ กัน  ผู้เช่นนั้นมาก้ำเกินหมิ่นประมาทในตัวเรา  คือทุบตีดุด่าว่าร้ายให้โทษแก่เรา   เราก็อดเสียไม่ต้องคิดสู้รบตบเถียง

ด้วยคิดว่าท่านผู้นี้ไม่ยิ่งหย่อนอะไรกับด้วยเรา ถึงยศศักดิ์บริวารกำลังกายกำลังทรัพย์ ก็พอเพียงที่จะสู้กันได้  แต่ผู้มักก่อการวิวาทนี้ นักปราชญ์ท่านติเตียนว่าเป็นคนพาล   เรารู้อยู่ว่าเขาเป็นคนพาลเรายังโต้ตอบเขาไป  เรามิเป็นคนพาลยิ่งกว่าเขาไปอีกหรือ  เราไม่ควรจะก่อกรรมก่อเวรให้ติดต่อไปเลย  รักกันไว้ดีกว่าชังกัน   คิดได้อย่างนี้แล้วก็อดเสีย นี้ชื่อว่าขันติเสมอตัว


๓. ขันติต่ำกว่านั้น  ได้แก่ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ กำลังกาย กำลังทรัพย์ต่ำต้อยน้อยกว่าตน  ผู้เช่นนั้นมาล่วงเกินหมิ่นประมาทด้วยประการใด ประการหนึ่ง  เป็นต้นว่า ด่าตี ยกโทษนินทาว่าร้ายต่าง ๆ ด้วยกายประโยค  วจีประโยค  ซึ่งเป็นอาการอันไม่สมควร  ก็สู้อดทนไม่โต้ตอบด้วยประการใด ด้วยคิดว่าคนเหล่านี้สู้เราไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง  ถ้าแม้เราจะโต้ตอบ ณ บัดนี้ ก็จะถึงซึ่งความพินาศยับเยินไป  ก็แต่ว่าเราจะไปเอาเปรียบเอารัดอะไรกับคนเช่นนี้

คิดได้อย่างนี้ก็อดเสีย  คิดอย่างนี้ตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานตัวใหญ่ตัวน้อย ที่สุดจนเรือดยุง ก็ให้คิดว่าสัตว์เหล่านี้สู้เราไม่ได้  ถ้าเราประหารลงเมื่อไรก็จักถึงซึ่งความฉิบหายโดยแท้  เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็อดเสีย  ไม่ต้องประหัตประหารตอบแทน  ชื่อว่าขันติต่ำกว่าตัว


(http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;topic=38565.0;attach=3498;image)


สรุปจาก : เรื่องเล่าท่านมหาจันทร์   เรื่อง "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ว่าด้วย ขันติ ๓ ประเภท" , มติชนรายสัปดาห์  หน้า ๖๔  ฉบับประจำวันที่ ๑๗ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕