[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 18 พฤษภาคม 2559 07:41:09



หัวข้อ: ปฐมบทพระชุดเบญจภาคี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 พฤษภาคม 2559 07:41:09

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96232490696840_1.jpg)

ปฐมบทพระชุดเบญจภาคี (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องการเริ่มต้นการจัดพระชุดเบญจภาคีที่ท่านผู้ใหญ่ของสังคมพระเครื่องได้จัดชุดไว้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร (มะพร้าวห้าวขายสวน) ผมมีโอกาสดีที่ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นได้เล่าให้ฟังและได้จดจำไว้ ปัจจุบันท่านผู้ใหญ่หลายท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผมให้ความเคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์และท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ คือ อาจารย์วิโรจน์ ใบประเสริฐ (เธ้า ท่าพระจันทร์) ก็กรุณาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ผมได้รับรู้ จึงเห็นว่าควรจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเรื่องราวบางประการจะได้ไม่สูญหายไป อย่างเช่นชื่อของท่านผู้กองสันทัด เป็นต้น

พระชุดเบญจภาคีเริ่มมีการจัดชุดขึ้นในประมาณปี พ.ศ.2490 ซึ่งในขณะนั้นสนามพระหรือแหล่งที่พบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องอยู่ในบริเวณของศาลแพ่ง (ใกล้ท้องสนามหลวงในสมัยนั้น) โดยมีร้านขายกาแฟของมหาผัน ซึ่งนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายมักเรียกกันว่า "บาร์มหาผัน" เป็นจุดนัดพบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องพระบูชา ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย หรือ พ.อ. ผจญ กิตติประวัติ น.ท.สันทัด แห่งกองทัพอากาศ ซึ่งคนในสมัยนั้นมักเรียกท่านว่า ผู้กองสันทัด (ผู้กองสันทัดผู้นี้เป็นผู้จัดพระชุดมังกรดำ) และเพื่อนๆ อีกสองสามคน มักจะมาพบปะกันอยู่เสมอ

มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการคิดจัดชุดห้อยพระกัน ซึ่งผู้นิยมสะสมพระเครื่องทั่วๆ ไปก็มักจะจัดชุดพระห้อยคอกันตามอัธยาศัย ท่านอาจารย์ตรีฯ คิดจะจัดชุดพระที่มีความสำคัญๆ ซึ่งเป็นพระยอดนิยม โดยมีพระสมเด็จฯ เป็นประธาน ก็สนทนาปรึกษากันว่าจะห้อยพระอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมสวยงาม โดยเลือกพระสมเด็จฯ เป็นองค์แรกเนื่องจากมีผู้เคารพศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก อีกทั้งพุทธคุณนั้นก็ครอบจักรวาลด้วยพระคาถาที่ปลุกเสก คือชินบัญชรคาถา พระสมเด็จฯ นั้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีขนาดพอสมควรน่าจะนำมาไว้เป็นพระองค์กลาง

ทีนี้ก็หาว่าจะนำพระอะไรมาห้อยเป็นองค์ต่อไปซ้าย-ขวา จุดประสงค์หลักคือต้องเป็นพระที่เก่าที่มีความนิยมและมีประสบการณ์สูง ต่างปรึกษากันจนได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นพระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์เข่าโค้ง ซึ่งมีความนิยมมากเช่นกัน สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อีกทั้งวัดนางพญาแห่งนี้ยังเป็นวัดที่พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นผู้ที่สร้างวัดนี้ขึ้นอีกด้วย จึงนำพระนางพญามาสถิตอยู่เบื้องขวาของสร้อย องค์ต่อมาก็มีความเห็นในครั้งแรกว่าควรจะเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน ลำพูน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่มาแต่โบราณ ตามตำนานว่าเป็นพระที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองเมืององค์แรกของนครหริภุญชัย พุทธคุณนั้นก็เปี่ยมล้นไปด้วยนิรันตรายแคล้วคลาดปลอดภัย สถิตอยู่เบื้องซ้ายของสร้อย

ในครั้งแรกนั้นก็จัดชุดได้ 3 องค์ จึงเรียกกันว่า พระชุดไตรภาคี โดยมีพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ พิมพ์พระประธาน (พิมพ์ใหญ่) อยู่ตรงกลางเป็นประธาน พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าโค้งอยู่เบื้องขวา เป็นองค์ต่อมา และ พระรอด พิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน อยู่เบื้องซ้ายตามลำดับ โดยท่านอาจารย์ตรียัมปวายได้ยกย่องให้พระสมเด็จฯ เป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง และได้แต่งโคลงไว้ว่า
     เอกองค์สมเด็จสร้อย พุฒา-จารย์เนอ
     สารพัดกิตติคุณปรา-กฏถ้วน
     มหาอุตม์, เวช, เมตตา คลาคลาด คงเฮย
     เรืองเดชภิญโญล้วน เลิศชั้นเอกศิขร

และจากนั้นก็ยกย่องให้พระนางพญาเป็นราชินีแห่งพระเครื่อง โดยได้แต่งโคลงไว้เช่นกันว่า
     บวรพิษณุโลกอ้า องค์นาง พญาเนอ
     ลักษณะตรีโกณสะอาง สะอาดสะอ้าน
     มหานิยมอีกเสน่ห์จาง เจือนจืด มีฤๅ
     คงกระพันชาตรีต้าน ต่อลี้ภัยพิสัย

ส่วนพระรอดนั้นท่านก็ได้แต่งโคลงไว้เช่นกันว่า
     มาลัยเมืองเลื่องล้ำ ลำภูญ-ชัยเฮย
     พุทธภาคอัครไอศูรย์ โศลกอ้าง
     ปกป้องอีกอนุกูล กายาต-ราพ่อ
     นามรอด, ปรอดวินาศร้าง รอดแคล้ว คืนสถาน

ครับก็พูดกันได้ถึงไตรภาคีก็หมดเนื้อที่ลงพอดี เอาไว้เล่าต่อกันในวันพรุ่งนี้นะครับ จะได้พูดกันจนจบเป็นเบญจภาคี และในวันนี้ผมขอนำรูปพระในชุดไตรภาคี คือพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง และพระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน มาให้ชมกันก่อนนะครับ

แทน ท่าพระจันทร์


หัวข้อ: Re: ปฐมบทพระชุดเบญจภาคี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 พฤษภาคม 2559 07:41:48

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17976551337374_view_resizing_images_1_.jpg)

ปฐมบทพระชุดเบญจภาคี (ตอนที่ 2)

สวัสดีครับ เรามาคุยกันต่อถึงเรื่องการจัดชุดพระเบญจภาคี ที่ท่านผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่องได้จัดขึ้นในครั้งแรกต่อจากที่ได้พูดคุยกันมาเมื่อวันก่อน

ครับหลังจากนั้นต่อมาสักระยะหนึ่ง ก็มาคิดกันว่าขนาดพระของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งกับพระรอดที่ห้อยคู่กันนั้น ขนาดไม่เท่ากันขนาดค่อนข้างต่างกันและไม่ค่อยสมดุลเท่าไรนัก และถ้าจะจัดชุดให้เป็น 5 องค์และจะได้เป็นพระชุดใหญ่เต็มสร้อยพอดี (ส่วนมากสายสร้อยที่เขาห้อยคอนั้น มักจะมีห่วงห้อยพระได้ 5 องค์) จึงมานั่งคิดกันต่อว่าจะหาพระอะไรดีหนอจึงจะเหมาะสมกับพระทั้ง 3 องค์ที่จัดไว้แล้ว ก็มานึกถึงพระกรุทุ่งเศรษฐี พระกำแพงเม็ดขนุน ซึ่งเป็นพระที่อุดมด้วยโภคทรัพย์ และเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดมาห้อยคู่กับพระนางพญาแทนตำแหน่งพระรอด แต่ต่อมาผู้กองสันทัดท่านก็ให้ความเห็นว่า พระเม็ดขนุนเป็นพระปางลีลา พระที่จัดชุดไว้แล้วเป็นพระปางประทับนั่งทั้งสิ้น มองดูคงจะไม่เข้ากันนัก อีกด้วยรูปทรงของพระเม็ดขนุน ซึ่งเป็นรูปทรงรีๆ ยาวๆ น่าจะหาพระปางประทับนั่งเช่นเดียวกัน จึงเปลี่ยนอีกทีโดยนำพระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งเป็นพระของกรุทุ่งเศรษฐีเช่นกัน ยุคสมัยเดียวกันมาจัดห้อยคู่กับพระนางพญา ก็ได้เป็นข้อยุติ ได้สมดุลทั้งขนาดรูปทรงและความเหมาะสม ทีนี้ก็เป็นภาระในองค์สุดท้ายที่ต้องหาให้เหมาะสมและสมดุลมีขนาดใกล้เคียงกับพระรอด ซึ่งมีขนาดย่อม และอยู่ถัดขึ้นไปด้านบนของสร้อยจากพระทั้งสามองค์ ก็นึกกันขึ้นมาได้และเป็นข้อยุติคือ ใช้พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ซึ่งพบที่กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี ซึ่งตามจารึกลานทองระบุว่า พระมหาปิยะทัตสะสี ศรีสาริบุตรเป็นประธานในการสร้างบรรจุไว้ ซึ่งเพียบพร้อมทั้งด้านพุทธคุณตามที่ในลานทองระบุไว้ และเป็นที่นิยมกันมาก ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ท่านสนทนากันในสมัยนั้น ก็เห็นว่าเหมาะสมและสมดุลกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว จึงได้เป็นพระชุดเบญจภาคีขึ้นในครั้งแรกขึ้น และผู้นิยมสะสมพระเครื่องต่างก็ยอมรับและชื่นชมในความสามารถที่จัดชุดพระยอดนิยมได้อย่างลงตัวที่สุด

พระผงสุพรรณนั้นท่านอาจารย์ตรียัมปวายท่านก็ได้แต่งโคลงยกย่องไว้เช่นกันคือ
     รูจีเหมรัตน์พร้อม โภไคย
     คงมั่นเฉกเหล็กไหล หล่อเนื้อ
     มหาอุตม์เมตตาไกล เกินกล่าว นักพ่อ
     พระเครื่องฯ นามก่องเกื้อ เกริกนั้นสุพรรณผง

ในส่วนโคลงของพระกำแพงซุ้มกอนั้น ท่านอาจารย์ตรียัมปวายท่านได้แต่งไว้หรือไม่ ผมเองยังสืบค้นไม่พบจึงยังมิได้นำมาแสดงไว้ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ สืบต่อไปถ้าผมค้นพบก็จะนำมาแสดงไว้เพื่อให้ครบถ้วนทั้ง 5 องค์เบญจภาคีครับ

เราลองมาดูพระเครื่องที่ท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้นจัดเข้าชุดกันทีละองค์ จะเห็นว่าพระประธานในสร้อยนั้นเป็นพระสมเด็จฯ ซึ่งพุทธคุณสุดยอดครอบจักรวาลตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ พระนางพญา พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยมอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา พระกำแพงซุ้มกอ พุทธคุณเด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ เป็นองค์แทนพระที่สร้างในสมัยสุโขทัย พระรอด พุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยทวารวดีตอนปลาย (หริภุญชัย) พระผงสุพรรณนั้นพุทธคุณเด่นทางด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่คง เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง ครับเราจะเห็นว่าเป็นอัจฉริยภาพของการจัดชุดเบญจภาคีอย่างลงตัวและมีความหมายทั้งทางด้านพุทธคุณ ยุคสมัย ความสมดุล และมีคุณค่า จึงเป็นความนิยมสืบต่อมาจนทุกวันนี้

ในระยะหลังต่อมา พระดังกล่าวตามที่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ได้จัดไว้นั้น เริ่มหายากขึ้นทุกขณะ อีกทั้งสนนราคาก็สูงขึ้นมาก จึงมีการอนุโลมในการใช้พระวัดเดียวกัน กรุเดียวกัน ในพิมพ์รองๆ ลงมาอื่นๆ มาใช้ทดแทนกันได้ครับ

ภาคผนวก
ท่านอาจารย์ตรียัมปวายท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระเครื่องในชุดเบญจภาคี ที่ได้พิมพ์แล้ว 3 เล่ม คือ หนังสือ "ปริอรรถา ธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่ม 1 พระสมเด็จฯ" "ปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 2 พระนางพญา และพระเครื่องฯสำคัญ พิษณุโลก" และ "ปริอรรถา ธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 3 พระรอด และพระเครื่องสกุลลำพูน" ส่วนพระกำแพงซุ้มกอและพระผงสุพรรณนั้น ท่านก็ได้เขียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มไว้ ท่านก็มาเสียชีวิตลงเสียก่อนครับ

กระผมต้องขอกราบคารวะท่านอาจารย์ และผู้อาวุโสในสังคมพระเครื่องฯ พระบูชาทุกๆ ท่านตั้งแต่ในอดีต ที่ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในด้านนี้ ให้บุคคลรุ่นต่อๆ มาได้ศึกษาและสืบทอดกันต่อๆ ไปครับ

ด้วยความเคารพและคารวะจากใจ

ในวันนี้ผมขอนำรูปพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกระหนก และพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ มาให้ชมกันครับ

แทน ท่าพระจันทร์