[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2566 19:46:05



หัวข้อ: กฎพระสงฆ์ ๑๐ ฉบับ (สาระสำคัญโดยสรุป)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2566 19:46:05

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95257209158606_pinantol_Copy_.JPG)
เว็บไซต์ boritbwon1979.blogspot.com/ : ที่มาภาพประกอบ

กฎพระสงฆ์

กฎพระสงฆ์ คือ พระราชกำหนดหรือกฎหมายคณะสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๔ รวม ๑๐ ฉบับ ดังปรากฏใน “กฎหมายตราสามดวง” และนับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ชุดแรกที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ในการตรากฎพระสงฆ์แต่ละฉบับ แม้จะทรงพระราชปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีๆ ไป แต่มีพระราชประสงค์สำคัญอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย และให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ และเจ้าหน้าที่สังฆการี กำกับ ดูแล และลงโทษผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยตามโทษานุโทษที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้และที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ กฎพระสงฆ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๓๑๐ พระภิกษุสามเณรจำนวนไม่น้อยปฏิบัติย่อหย่อนพระธรรมวินัย พระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ การคณะสงฆ์จึงตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนเช่นที่เคยมีมาในสมัยก่อน  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของพระศาสนาพร้อมๆ กับที่ทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ หลังจากที่ทรงจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฝ่ายบ้านเมืองจนเข้ารูปเข้ารอยพอสมควรแล้ว ก็ได้ทรงเริ่มตราระเบียบคณะสงฆ์หรือที่เรียกว่า กฎพระสงฆ์ ขึ้น เพื่อแก้ไขความวิปริตในสังฆมณฑล และเร่งรัดให้คณะสงฆ์ปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยเหมือนในสมัยพุทธกาล  กฎพระสงฆ์ที่ทรงตราขึ้นมี ๑๐ ฉบับ แต่ละฉบับไม่มีบทหรือตอน ไม่มีมาตราหรือข้อ เริ่มต้นด้วยทรงพระราชปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่องว่า ผิดพระธรรมวินัยข้อไหน ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างไร แล้วมีพระบรมราชโองการห้ามมิให้ทำเช่นนั้นต่อไป โดยทรงกำหนดโทษทางบ้านเมืองเพิ่มเติมโทษทางพระธรรมวินัยอีกส่วนหนึ่งด้วย  สาระสำคัญของกฎพระสงฆ์แต่ละฉบับสรุปได้ดังนี้

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๑  ทรงตราไว้ ณ วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๒๕ (หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ ๕ เดือน ๑๖ วัน) โดยทรงพระราชปรารภว่า ขณะนั้นอาณาประชาราษฎร์บางพวกนิยมจัดให้มีเทศน์มหาชาติเพื่อความบันเทิง จึงนิมนต์แต่พระนักเทศน์ที่เทศน์ตลกคะนอง เป็นการเล่นหัวซึ่งผิดพระธรรมวินัย ผู้ฟังก็หาได้รับอานิสงส์อะไรจากการฟังเทศน์นั้นไม่ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งห้ามมิให้เทศน์และฟังเทศน์เป็นกาพย์กลอน และกล่าวถ้อยคำตลกคะนอง  ภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนให้นำตัวมาลงโทษ พร้อมกับญาติโยมของภิกษุสามเณรรูปนั้นด้วย

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๒ ทรงตราไว้ ณ วันจันทร์ที่  ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๖  โดยทรงพระราชปรารภว่า ขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ไม่ได้รักษาพระปาติโมกข์ตามเยี่ยงอย่างพระอริยสาวก เที่ยวคบหาสมาคมกับฆราวาสด้วยหวังกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) มิได้เห็นแก่พระศาสนา อย่างเช่น สมีรัก วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ที่รับฝากเงินทองของนางเพงไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมา นางเพงเป็นกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิตไปแล้ว ทั้งๆ ที่สมีรักก็รู้เรื่องนี้ดีว่า สมบัติทั้งหมดของนางเพงตกเป็นของหลวง แต่หาได้แจ้งให้พระราชาคณะรู้ไม่ กลับเก็บไว้เป็นของตน เป็นการผิดพระวินัยบัญญัติ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งห้ามมิให้ภิกษุสามเณรรับฝากสิ่งของเงินทองฆราวาส  ถ้าผู้ฝากพยายามจะฝากให้ได้ ต้องมีเพื่อนภิกษุสามเณรหลายรูปรับรู้เป็นพยานด้วย ถ้าผู้ฝากตายไป ให้มอบสิ่งของเงินทองเหล่านั้นแก่ผู้ที่สมควรรับไว้ ผู้ใดเก็บไว้ให้ลงโทษดุจโทษอทินนาทานปาราชิก ให้ “ศึกออก ขับเฆี่ยนจงษาหัด” และห้ามมิให้ฆราวาสนำเงินทองไปฝากพระ ผู้ฝ่าฝืนให้ “ริบราชบาทขับเฆี่ยนจงหนักโดยโทษาณุโทษ”  

อนึ่ง ทรงพระราชปรารภว่า “ไอ้เมือง ไอ้เกิด ไอ้เหลือ ไอ้มา” พวกผู้ประทุษร้ายแผ่นดินตั้งแต่ยังเป็นสามเณร แต่มีอายุมากแล้ว จึงทรงกำชับให้พระราชาคณะสอดส่องดูแล ถ้าพบว่าสามเณรรูปใดมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วก็อุปสมบทเป็นพระ และให้ศึกษาคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปเรียนวิชาอิทธิฤทธิ์อันไม่ใช่ธุระทั้งสองนั้น ซึ่งจะทำให้กำเริบเสิบสานสมคบกันกระทำประทุษร้ายต่อแผ่นดินดุจผู้มีชื่อข้างต้น  สามเณรรูปใดฝ่าฝืนให้นำตัวมาลงโทษจงหนัก พร้อมด้วยอุปัชฌาย์อาจารย์และญาติโยม

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๓ ทรงตราไว้ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๖ โดยทรงพระราชปรารภว่า พระภิกษุสงฆ์ในขณะนั้นละเมิดพระวินัยบัญญัติ คือ ให้อุปสมบทแก่ศิษย์แล้ว ปล่อยปละละเลยไม่ให้ศิษย์ถือนิสัยอยู่ในหมู่คณะของตนก่อน กลับปล่อยให้เที่ยวไปตามอำเภอใจ จนมีภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งไปตั้งซ่อมสุมทำมารยารักษาศีลภาวนาให้คนเสื่อมศรัทธา สำแดงวิชาความรู้อวดอิทธิฤทธิ์เป็นอุตริมนุสธรรมโกหกหลอกลวง ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ เมื่อได้สมัครพรรคพวกมากก็คิดจะชิงราชสมบัติ เช่น “ไอ้ดา ไอ้รอด ไอ้เมือง ไอ้เกิด ไอ้ภัก” ตั้งแต่อยู่ในสมณเพศ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไปให้พระราชาคณะแต่งตั้งพระภิกษุทั้งในกรุงและหัวเมืองเป็นเจ้าอธิการครองอารามละรูป ให้มีตราประจำตำแหน่งเป็นอักษาขอม เขียนชื่ออารามที่ครอง ถ้าแขวงใดเมืองใดมีพระภิกษุมาก ให้แต่ละอารามมีพระอันดับได้ ๙-๑๐ รูป ถ้ามีพระภิกษุน้อย ให้แต่ละอารามมีพระอันดับได้ ๔-๕ รูปขึ้นไป ถ้าภิกษุสามเณรรูปใดประสงค์จะย้ายจากหัวเมืองเข้ามาศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ หรือมาปฏิบัติศาสนกิจในกรุงหรือจะย้ายออกไปหัวเมือง ก็ให้เจ้าอธิการออกหนังสือสำคัญให้นำติดตัวไป โดยเขียนชื่อตัว ฉายา อายุพรรษา และชื่ออุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วประทับตราประจำตำแหน่งกำกับไว้ในหนังสือสำคัญนั้น ผู้ใดไม่มีหนังสือสำคัญ ห้ามมิให้เจ้าอธิการทุกอารามรับเข้ามาอยู่ในอารามของตน ให้พระราชาคณะ เจ้าหมู่ เจ้าคณะ และเจ้าอธิการ ตลอดจนกรมการเมืองตรวจตราดูแลอย่าให้พวกหลอกลวงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดินเช่นครั้งนี้ หากพระราชาคณะ เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เจ้าอธิการ และกรมการเมืองละเลยหน้าที่ ถือว่ามีโทษเป็นกบฏ ร่วมกับพวกโกหกหลอกลวงนั้นด้วย

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๔ ทรงตราไว้ ณ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๒๖ โดยทรงพระราชปรารภว่า มีพระภิกษุสามเณรบางรูป เป็นพวกโลเล ไม่ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไปให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ให้ศิษย์อยู่ในสำนัก และแนะนำตักเตือนให้ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ แล้วทำบัญชีแสดงจำนวนภิกษุสามเณรผู้ศึกษาคันถธุระและผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ ส่งให้กรมสังฆการีนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศล หากภิกษุสามเณรรูปใดกักขฬะ หยาบช้า สอนยาก อุปัชฌาย์อาจารย์ว่ากล่าวไม่ฟัง สั่งสอนหลายครั้งแล้วก็ไม่ปฏิบัติตาม ให้จับสึกเสีย อย่าให้อยู่ในหมู่คณะ ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎพระสงฆ์นี้ให้เอาญาติโยมมาลงโทษตามโทษานุโทษ

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๕ ทรงตราไว้ ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๒๖ โดยทรงพระราชปรารภว่า ภิกษุบางรูปต้องอาบัติปาราชิกขาดจากพระแล้ว ยังถือตนว่าเป็นภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมกับภิกษุผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายอยู่ เช่น “ไอ้มา” ต้องอาบัติปาราชิกข้อเสพเมถุน  “ไอ้ชู” ต้องอาบัติปาราชิกข้ออทินนาทาน  “ไอ้แก้ว” ต้องอาบัติปาราชิกข้ออทินนาทาน  จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไปให้ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง แจ้งให้สงฆ์ทราบภายใน ๑๕ วัน ถ้าปกปิดไว้และยังถือตนว่าเป็นภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมด้วยสงฆ์ทั้งปวง ดุจผู้มีชื่อข้างต้น เมื่อสงฆ์พิจารณาตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิกจริง ให้นำตัวมาลงโทษถึงประหารชีวิต และให้ริบราชบาตร ขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมของภิกษุนั้นด้วย

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๖ ทรงตราไว้ ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๒๖ โดยทรงพระราชปรารภว่า ภิกษุสามเณรในขณะนั้นไม่ปฏิบัติตามพระวินัย หาเลี้ยงชีพโดยการทำงานรับใช้ตามความพอใจของฆราวาส เพื่อหวังลาภสักการะ  ฆราวาสก็ปราศจากปัญญา จึงให้ทานแก่ “ภิกษุสามเณรลามกในพระศาสนา” ไม่รู้ว่าการให้ทานเช่นนั้นมีผลน้อย จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไป ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะห์ฆราวาสด้วยการให้ผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เป็นต้น แล้วทำการเรี่ยไรบอกบุญผู้มิใช่ญาติ ห้ามมิให้เป็นหมอนวด หมอยา หมอดู ห้ามมิให้เป็นทูตนำข่าวสารของฆราวาส และห้ามทำการทั้งปวงที่ผิดพระวินัยบัญญัติ ผู้ใดต้องอธิกรณ์ร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก ให้จับสึกเสีย

อนึ่ง ห้าฆราวาสทั้งปวงถวายเงิน ทอง นาก แก้ว แหวาน และสิ่งอันไม่สมควรแก่สมณะ ห้ามใช้สอยภิกษุสามเณรให้ทำการเพื่อตน เช่น ทำเบญจา ทำงานศพ นวด ปรุงยา ดูหมอ เป็นทูตนำสาร ผู้ใดฝ่าฝืนให้ลงโทษเฆี่ยนตี ตามโทษานุโทษ

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๗ ทรงตราไว้ ณ วันจันทร์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๒๖ โดยทรงพระราชปรารภกรณีที่พระราชาคณะพวกหนึ่งให้นำความกราบบังคมทูลว่า การทอดกฐินที่วัดนาค (วัดพระยาทำ) ทำไม่ได้ ผิดพระวินัย เพราะมีกำแพงวัดใกล้กับวัดกลาง (วัดนาคกลาง) แต่ที่จริงแล้วไม่ผิด ผู้คัดค้านไม่รู้พระวินัยดี แต่ถือตัวว่ารู้ดี ทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันในหมู่สงฆ์อันเป็นเหตุให้แตกสามัคคี จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า ต่อไป ห้ามมิให้ภิกษุรูปใดนำเรื่องทะเลาะวิวาทของสงฆ์ขึ้นกราบบังคมทูล หากเป็นเรื่องสำคัญที่จะกราบบังคมทูลให้ทรงวินิจฉัย ก็ให้เสนอสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงปรึกษาในคณะพระราชาคณะเสียก่อน

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๘ ทรงตราไว้ ณ วันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๓๒ โดยทรงพระราชปรารภว่า พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลตักเตือนภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย จึงเกิดมีภิกษุสามเณรลามกเป็นโจรทำลายพระศาสนา เช่น ชวนกันเข้าร้านตลาดดูสีกา นุ่งห่มเดินเหินอย่างคฤหัสถ์ ดูโขนหนังละครฟ้อนรำขับร้อง เล่นหมากรุกสกาการพนันทั้งปวง ตลอดจนเสพเมถุนกับสีกา  จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ อุปัชฌาย์อาจารย์เอาใจใส่ดูแลมิให้ภิกษุสามเณรประพฤติอย่างนั้นต่อไป

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๙ ทรงตราไว้ ณ วันศุกร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๓๗ โดยทรงพระราชปรารภกรณีพระมหาสินซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นพระครูอยู่วัดนาคกลาง ได้เสพเมถุนกับข้าหลวงในกรมสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ จนข้าหลวงมีท้อง แต่ยังถือตนว่าเป็นภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมอุโบสถตลอดมา เป็นคู่สวดบวชพระสงฆ์ถึง ๑๓ รูป ทำให้สังฆมณฑลมัวหมอง จึงมีพระบรมราชโองการให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ เอาใจใส่ตรวจตรา กวดขันความประพฤติของพระอันดับทั้งปวงมิให้ติดพันด้วยหญิงในทางชู้สาว ผู้ใดทำผิดพระวินัยถึงขั้นปาราชิก ให้แนะนำให้สึกเสีย ถ้าผู้ใดต้องอาบัติปาราชิกแล้วปกปิดไว้ ให้ลงโทษถึง ๗ ชั่วโคตร

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๑๐ ทรงตราไว้ ณ วันอังคารที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๔๔ โดยทรงพระราชปรารภว่า พระสงฆ์บางพวกไม่มีหิริโอตตัปปะ เป็นอลัชชี เช่น คบหากันเสพสุรายาเมา ฉันอาหารในเวลาวิกาล เอาบาตรจีวรขายแลกเหล้าเล่นเบี้ย สวดพระมาลัยตลกคะนองเป็นลำนำ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ชำระภิกษุสงฆ์พวกอลัชชีทั้งหลายให้สึกเสีย และห้ามมิให้ภิกษุสวดพระมาลัยในงานศพอีกต่อไป

กฎพระสงฆ์ทั้ง ๑๐ ฉบับข้างต้น มิได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑” ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๕ เพื่อใช้ปกครองคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก.


ที่มา กฎพระสงฆ์ โดย อดิศักดิ์ ทองบุญ
สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน