[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 11:18:47



หัวข้อ: วัสการพราหมณ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 11:18:47

(http://tonkla.tht.in/data/srakaew.tht.in/images/29553_7.jpg)

วัสการพราหมณ์

ความสามัคคีเป็นกำลังที่สำคัญมากของประเทศ เมื่อใดที่คนในชาติแตกความสามัคคีกัน ก็อาจนำมาซึ่งความสูญเสียอันใหญ่หลวงเหมือนแคว้นวัชชีในสมัยพุทธกาลได้

โดยในครั้งนั้น วัสการพราหมณ์ คือพราหมณ์ผู้นำความแตกแยกมาสู่แคว้นวัชชี จนทำให้ต้องสูญเสียเอกราชในที่สุด สาเหตุก็เนื่องมาจากการแตกความสามัคคีของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า วัสการพราหมณ์เป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ พระเจ้าอชาตศัตรูมีความประสงค์ที่จะแผ่เดชานุภาพ โดยการรุกรานแคว้นวัชชีของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย

จึงให้สร้างหมู่บ้านปาฏลิคามใกล้แม่น้ำคงคา เป็นเมืองหน้าด่านสำหรับเป็นที่รวบรวมพลเพื่อยกทัพไปตีเมืองเวสาลี แต่ยังกริ่งเกรงอำนาจของกษัตริย์ลิจฉวีอยู่ จึงส่งวัสการพราหมณ์ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า แคว้นวัชชีมีอำนาจเพราะอะไร

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ที่แคว้นวัชชีมีความเจริญและมีอำนาจมาก ก็เพราะกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย มีความสมัครสมานสามัคคีกันอย่างดีเลิศ และปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ หรือธรรมะอันยังผู้ประพฤติปฏิบัติ มิให้ถึงความเสื่อมอย่างสม่ำเสมอ

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่กษัตริย์ลิจฉวีทั้งปวง มีใจความว่า

ข้อ ๑) ชาววัชชีจักประชุมกันเนืองนิตย์
ข้อ ๒) ชาววัชชีจักพร้อมเพรียงกันในการประชุม เลิกประชุม และกระทำกิจที่ควรกระทำ
ข้อ ๓) ชาววัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว และยอมรับศึกษาในธรรมะของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว
ข้อ ๔) ชาววัชชีจักเคารพนับถือชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า
ข้อ ๕) ชาววัชชีจักไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้วและสตรีสาว
ข้อ ๖) ชาววัชชีจัก สักการะ เคารพเจดีย์ของชาววัชชี และ...
ข้อ ๗) ชาววัชชีจักจัดแจงให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารถนาให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มาได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

เมื่อวัสการพราหมณ์ได้ทราบหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ก็มากราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีลงเสีย

หลังจากที่วัสการพราหมณ์ได้ทราบถึงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ หรือธรรมะอันยังผู้ประพฤติปฏิบัติมิให้ถึงความเสื่อมที่กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายยึดถือและปฏิบัติตาม จนทำให้แคว้นวัชชีเป็นแคว้นมีความเจริญ และมีอำนาจมากแล้ว วัสการพราหมณ์จึงได้แนะอุบายทำลายความสามัคคีของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีลงเสีย

โดยวัสการพราหมณ์แกล้งโต้เถียงพระเจ้าอชาตศัตรูในที่ประชุม จนพระเจ้าอชาตศัตรูโกรธมาก สั่งให้ลงโทษวัสการพราหมณ์โดยการเฆี่ยนตีอย่างหนัก ให้โกนศีรษะ แล้วขับไล่เนรเทศวัสการพราหมณ์ออกจากเมืองไป

หลังจากนั้น วัสการพราหมณ์ได้เดินทางไปขอเข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี แล้วกราบทูลถึงเหตุที่ตนถูกพระเจ้าอชาตศัตรูลงโทษอย่างรุนแรง และเนรเทศออกจากแว่นแคว้นนั้น เป็นเพราะไปคัดค้านพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ให้ยกทัพมาตีแคว้นวัชชี ตนไม่มีที่พึ่งจึงเดินทางมาเมืองเวสาลี เพื่อขอลี้ภัยและขอรับใช้กษัตริย์ลิจฉวีอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถ

กษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าวัสการพราหมณ์มีความภักดีต่อตน หนีร้อนมาพึ่งเย็น ประกอบกับวัสการพราหมณ์เป็นผู้มีวิชาความรู้สูง อาจจะใช้เป็นประโยชน์แก่ราชการได้ จึงรับวัสการพราหมณ์ไว้

โดยวัสการพราหมณ์ก็ได้ใช้วิชาความรู้ช่วยบ้านเมืองจนทำให้กษัตริย์ลิจฉวีไว้ใจขึ้นเรื่อยๆ จนแต่งตั้งให้วัสการพราหมณ์เป็นครูสอนหนังสือแก่ราชกุมารลิจฉวีทั้งปวง

เมื่อได้โอกาสวัสการพราหมณ์ก็ค่อยๆ ดำเนินการตามอุบายให้แตกความสามัคคี โดยการยุแหย่ให้ราชกุมารที่ตนสอนหนังสือเหล่านั้นเกิดความระแวงสงสัยซึ่งกันและกัน และเมื่อเหล่ากุมารต่างนำเรื่องไปแจ้งแก่บิดา เรื่อย ๆ จึงทำให้กษัตริย์ลิจฉวีเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน จนไม่อาจจะคบหากันด้วยความสนิทใจเหมือนแต่ก่อนได้

วัสการพราหมณ์ดำเนินงานตามแผนอยู่ถึง ๓ ปี จนแน่ใจว่ากษัตริย์ลิจฉวีต่างแตกความสามัคคีกันหมดแล้ว จึงแจ้งให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพเข้าตีเมืองเวสาลี กษัตริย์ลิจฉวีต่างก็ไม่ต่อสู้ต้านทานแต่ประการใด เพราะมีความเห็นผิดว่ามิใช่หน้าที่ของตน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงเข้ายึดเมืองเวสาลีและแคว้นวัชชีได้โดยง่าย.


กนกวรรณ ทองตะโก/เรียบเรียง
#องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม - นสพ.เดลินิวส์