จงฝึกมหาสติ เพื่อช่วยโลก ( หลวงปู่พุทธะอิสระ )

(1/3) > >>

หมีงงในพงหญ้า:
Tweet


*ภาพจิตรกรรม ณ โบสถ์กลางน้ำ ชื่อ ถ้ำโพธิสัตว์

 
พุทธธรรม ของ หลวงปู่พุทธะอิสระ
ที่มาของสติและสมาธิ

 
ในคำสอนเรื่องนี้ หลวงปู่พยายามชี้ให้เห็นว่า การบำเพ็ญตบะแบบพุทธแตกต่างจากการบำเพ็ญ ตบะแบบอื่นที่มีมาก่อนพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางและ วิธีการในการบำเพ็ญตบะ มีความสำคัญมากเป็นประการแรก เพื่อบรรลุความเป็นพุทธะ ตัวผม จึงคัดเลือกคำสอนในเรื่องนี้ของหลวงปู่มาเป็นหัวข้อแรกของบทนี้.....( ต่อไปเป็นคำสอนของหลวง ปู่ล้วน )
 
 
ก่อนที่จะพูดถึงการฝึกสติเพื่อให้เกิดสมาธิ พวกเราควรมีความเข้าใจที่ตรงกันก่อนว่า เดิมที ยุคก่อน เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ก็มีคนรู้จักคำว่า " สมาธิ " แล้ว แต่เขาไม่เรียกว่าสมาธิ เขาเรียกว่า การ บำเพ็ญตบะช่วงยุคที่ตบะรุ่งเรืองอย่างยุคก่อน คือ ช่วงที่ผู้คนสนใจแสวงหา " ตบะ " โดยคิดว่า เมื่อมีตบะแล้วจะมีอำนาจเท่าฟ้า มีปัญญาเท่าขุนเขา มีชีวิตยิ่งใหญ่เท่าแผ่นดิน ผู้มีตบะอาจสามารถ เอามือลูบพระจันทร์พระอาทิตย์ได้ อาจสามารถที่จะมีอำนาจเทียบเท่าพระอิศวร พระศิวะ พระ นารายณ์ พระพรหม หรือเทพยาดาทั้งหลายได้
 
และด้วยความคิดว่า ตบะเป็นเครื่องยังให้มนุษย์สามัญธรรมดากลายเป็นผู้วิเศษเทียมเท่าฟ้า ดัง นั้น คนทั้งหลายจึงพากันออกแสวงหาตบะ สาเหตุที่คนสมัยนั้นพยายามทำตัวเองให้มีอำนาจเท่า ฟ้า มีปัญญาเท่าขุนเขา มีชีวิตยิ่งใหญ่เท่าแผ่นดิน ก็เพราะผู้คนทั้งหลายในสมัยนั้นคิดว่า ดิน ฟ้า เทวดา มาร พรหม มีอำนาจครอบงำชีวิตเขา กลั่นแกล้งเขา ทำให้เขาต้องได้รับทุกขเวทนา เรือก สวนไร่นาเสียหายเพราะน้ำท่วม บ้านช่องพังทลายเพราะไฟใหม้ ญาติทั้งหลายต้องตายจากไป ก็เชื่อว่า เพราะพญามัจจุราชและมารซาตานที่กัดกิน เกิดภัยพิบัติที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความร้อนรุนแรงก็เพราะพระอาทิตย์เผาผลาญ ตัวเองเป็นโรคร้ายที่เกิดจากโรคติดต่อ หรือโรค ที่เกิดจากการดำรงชีวิตก็เชื่อว่า เพราะพระหรหมบันดาล
 
 
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกหวาดกลัว เมื่อกลัวแล้วก็ต้องหาวิธีแก้ไขความ กลัว แล้วพวกเขาก็คิดว่า วิธีที่จะแก้ไขความกลัวก็คือ ต้องทำตัวเองให้เท่าพรหม เท่ามาร เท่า เทวดา เท่าพระนารายณ์ พระอิศวร เท่าผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายที่พวกเขาคิดว่ามีอยู่ในโลก ในจักรวาลนี้ และพวกเขาก็เรียนก็ศึกษากันต่าง ๆ มาว่า ผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น มีอำนาจ มีพลัง มีอานิสงค์ มีอาณุภาพยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะการบำเพ็ญตบะ เมื่อพวกเขาคิดได้อย่างนั้นแล้ว พวกเขาก็แสวงหา หนทาง วิถีของการบำเพ็ญตบะ เมื่อถึงเวลาก็ออกสู่ป่า สู่ถ้ำ สู่ภูเขา สู่ที่เงียบสงัด เพื่อสะดวกในการ บำเพ็ญตบะ และวิถีทางในการบำเพ็ญตบะของพวกเขาเมื่อไปถึงที่ที่พวกเขาต้องการอยู่แล้วก็เริ่ม จากการภาวนา คำท่องบ่นที่ทำให้ตั้งมั่นในใจที่ได้มาจากพราหมณ์ นักบวช ครูอาจารย์ที่สร้างลัทธิ เพื่อบำเพ็ญตบะที่มีอำนาจเท่าฟ้า มีความยิ่งใหญ่เท่าดิน มีปัญญาเท่าขุนเขา
 
แต่ละลัทธิก็อวดอ้างสรรพคุณ บทสวด บทท่อง หรือยัญพิธีของตนว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถ ทำตนให้เทียมทันฟ้าดินได้ ใครเป็นลูกศิษย์ของใครก็นำเอาลัทธิ เอาคำสอนของอาจารย์ผู้นั้น มาบำเพ็ญตบะ เช่น ลัทธิที่บูชาไฟก็จะสอนให้ทำการบูชาไฟ บูชาเพลิง นั่งบำเพ็ญตบะต่อหน้ากอง เพลิง โดยการจุดคบเพลิงหรือกองไฟขึ้นตรงหน้า แล้วก็เอา น้ำมัน น้ำนม เนยข้น เนยใส ถั่ว งา ดอกไม้ เครื่องบูชา ใส่ลงไป ในกองเพลิงแล้วก็สาธยายมนต์ของตนจนจิตรวบรวมเป็นหนึ่ง สามารถ ที่จะบังคับกองไฟนั้นให้ใหญ่ได้เล็กได้ ลอยขึ้นได้ ดับลงได้ ติดใหม่ได้ โดยไม่ต้องไปแตะต้องด้วย มือ เขาก็ถือว่าสำเร็จตบะ มีอำนาจเหนือไฟ
 
ลัทธิที่บูชาพระอาทิตย์ ก็นั่งเพ่ง ยืนเพ่ง นอนเพ่งพระอาทิตย์ ทั้งยามเช้า ยามเย็น คนที่บูชาพระ จันทร์ ก็นั่งเพ่งพระจันทร์ยามค่ำคืน เพ่งจนเขาสามารถบังคับพระจันทร์หรือทำให้พระจันทร์ หรือ พระอาทิตย์ ปรากฏในนิมิต สูงใหญ่ ยาวกว้าง มีแสงเรือง แสงดับได้ดังใจปรารถนา ก็จะถือว่า เขา สามารถสำเร็จเป็นตบะได้แล้ว
 
รวม ๆ สรุปก็คือ การบำเพ็ญตบะของแต่ละลัทธิสมัยก่อนพระพุทธศาสนา เป็นการบำเพ็ญตบะที่ ตนคิดว่าจะได้ จะมี จะดี ก็ด้วยการ เคร่งครัด เคร่งเครียด แล้วก็ทำให้จริงจัง จนบางทีบางครั้งก็ ลืมการคิดพิจารณาหาเหตุหาผล ไม่มีเหตุผลใด ๆ มาหักล้างกันได้ ทำเพราะความเชื่อเท่านั้น การบำเพ็ญตบะของคนเมื่อยุคก่อนสองพันห้าร้อยปี ก็เลยทำตามความเชื่อและความกลัว
 
หลังจากพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงอุบัติขึ้นเป็น พระมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แล้วทรง ออกผนวชจนกระทั่งค้นพบวิถีทาง มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ค้นพบมรรคาปฏิปทา คือ มรรค ๘ ประการ เริ่มต้นด้วยการทำความเห็นของตนให้ตรงและถูกต้อง ในมรรค ๘ อย่าง ข้อ แรกสำคัญที่สุด เมื่อทำความเห็นของตนให้ตรงและถูกต้องแล้ว ทำให้พระองค์รู้ว่า การปฏิบัติตน ในอัตตกลิมาถา นุโยค หรือการทำตนให้ลำบากด้วยการบูชาไฟ เพ่งพระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น มันไม่ได้เกิดประโยชน์ แล้วพระองค์ก็ทรงรู้ต่อไปว่า การทำตนให้เป็นบุคคลที่มัวเมาอยู่ในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อีก การบำเพ็ญตบะจะมีประโยชน์ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงนิสัยและแก้ไขพฤติกรรม โดยการเริ่มตนจากการทำดี ละชั่วและทำใจให้ผ่องใส นั่นคือที่มาของความหมายแห่งหนทาง หรือวิถีทางที่พระองค์ทรงเรียกว่า มรรคาปฏิปทา คือ ทาง สายเอก เป็นทางของบุคคลผู้เป็นเอกบุรุษ เอกสตรีเดิน เป็นหนทางของบุคคลผู้มีปัญญาเดิน ที่ ไม่ได้ทำด้วยความกลัวและความเชื่องมงาย
 
เพราะฉะนั้น ในมรรคมีองค์ ๘ ประการ ข้อที่ว่า จงทำความเห็นของตนให้ตรงและถูกต้อง จึงเป็น ที่มาของการบำเพ็ญตบะแบบชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ผิดชนิดผิดประเภทผิดคำสอนที่มาแต่เก่า ก่อนอย่างสิ้นเชิง พระองค์ก็ทรงสอนให้ภิกษุในศาสนาของพระองค์บำเพ็ญตบะเหมือนกัน แต่การ บำเพ็ญตบะของภิกษุในพุทธศาสนาเป็นการบำเพ็ญตบะด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา เริ่มต้นตั้งแต่ การปฏิบัติรักษาศีลการบำเพ็ญตบะข้อแรก การรักษาศีล คือ การทำให้กายวาจาของตนเป็นปกติ ไม่ผิดปกติ เมื่อบำเพ็ญศีลแล้วพระองค์ก็ทรงสอน ให้ทำบุญ ให้ทำดี มีความเอื้ออาทร มีความการุณย์ มีความเมตตา มีความอนุเคราะห์ มีน้ำใจ ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุข นี่เป็นการบำเพ็ญตบะ ข้อสอง ต่อมาพระองคืก็สอนว่า ให้ทำใจให้ผ่องใสซึ่งเป็นการบำเพ็ญตบะข้อที่สาม และเป็นข้อสุด ท้ายอันเป็นการบำเพ็ญตบะข้อยิ่งใหญ่ เพราะทำให้เราสามารถมีอำนาจเหนือพรหม มีอำนาจเหนือ เทพ เหนือมาร เหนือยักษ์ร้าย ผีห่าซาตานทั้งปวงได้ เพราะเทพ พรหม มาร ก็ยังต้องกราบไหว้เรา ถ้าหากเราบำเพ็ญตบะข้อนี้ได้สำเร็จ นั่นก็คือ รักษาใจไม่ให้พร่อง ไม่ให้กระเพื่อม รักษาอารมณ์ไม่ ให้ปรุงแต่งต่อ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส หรือกายถูกต้องสัมผัส แล้วเราไม่ตกเป็นทาสมัน หรือแม้แต่รักษาจิตของตน อารมณ์ของตน กาย วาจา ใจของตน ไม่ให้เกิดความคิดแตกแยก คืิอไม่ให้ยุ่งฟุ้งซ่าน ไม่ให้หงุดหงิดรำคาญ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน รักษาจิตของตนไม่ให้โดนนิวรณ์ครอบงำ
 
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป้นการบำเพ็ญตบะในพุทธศาสนา ผู้ใดที่บำเพ็ญได้แล้วก็จะมีอำนาจเหนือพรหม มาร เทพ ผีห่า ซาตาน ทั้งปวงได้อย่างชนิดที่แม้แต่มัจจุราชก็ยังไม่กล้าเข้าไกล้ ผลประโยชน์สูงสุด ในการบำเพ็ญตบะตามคำสอนของพุทธศาสนา คือ ทำให้ชีวิตเป็นอมตะ ก็คือ นิพพานอันแปลว่า ดับแล้วเย็น พระองค์ทรงเรียกวิถีทางนี้ว่า อมฤตธรรม หรือธรรมยังสัตว์ให้ไม่ตาย ซึ่งดีกว่าคำสอน โบราณดั้งเดิมเก่าแก่ที่สอนก่อนพระองค์ ซึ่งสอนว่า บำเพ็ญตบะแล้วจะมี อำนาจเท่าพรหม เท่าฟ้า เท่าดิน เท่าภูมิเขา เท่าผีห่าซาตาน แต่การบำเพ็ญตบะของพุทธศาสนานั้น มีอำนาจเหนือกว่าฟ้า พรหม มาร ผีห่า ซาตาน ดินและภูเขา เหตุผลก็เพราะว่า พรหม มาร ผีห่า ซาตาน ดิน ฟ้า ภูเขา นั้น ยังต้องผุกร่อน ทำลายและตายหมดอายุขัยในที่สุด แต่ผู้
บำเพ็ญอมฤตธรรมไม่รู้จักคำวว่าตาย นั่น คือ สู่คำว่า นิพพาน ซึ่งแปลว่า ดับแล้วเย็น เป็นชีวิตอมตะที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันตาย



คัดลอกจาก : จารย์มดเอ็กซ์ จากเวบเก่า

หมีงงในพงหญ้า:



การฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูกตัวเอง
 
 
วิธีการฝึกมหาสติโดยการพิจารณาดครงกระดูกตัวเองนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นวิธีการฝึกที่สำคัญที่สุดในวิชาลม ๗ ฐาน ของหลวงปู่พุทธะอิสระก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันแล้ว ยังมีอานิสงส์ มหาศาลมาก ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบเอง สำหรับตัวผมแล้ว การฝึกพิจารณา โครงกระดูก คลำกระดูกตัวเองและบริกรรมถึงแต่กระดูก ตามแนวทางของ หลวงปู่คือ การเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของแนวทางสติปัฏฐานในพระไตรปิฎก ที่เป็นปริยัติ ให้สมบูรณ์ยิงขึ้นในทางปฏิบัติ ..... ( ต่อไปเป็นคำสอนของหลวงปู่ล้วนๆ )
 
ทั้งหมดนั่งขัดสมาธิ กายตั้งตรง หลับตา ถ้าอารมณ์ยังฟุ้งอยู่ ก็จงสูดลมหายใจเข้าไปลึก ๆ หายใจเพื่อเตือนสติตัวเองว่า หลังจากนี้ฉันจะใช้แกแล้วนะ แล้วก็พ่นลมออกยาว ๆ เมื่อหายใจเรียบร้อยแล้วให้สติรู้อยู่ที่รูปนั่งขัดสมาธิของตัวเอง จิตรับรู้อยู่ในท่านั่ง หลับตา แล้วก็เลื่อนจิตเอาความรู้สึกจับไปที่กลางกระหม่อมให้เห็นเป็นกระดูกปรากฏ จับไปที่ กระดูกใหม่ ๆ อาจจะยังไม่ชัดแต่ให้เริ่มต้นทำไปก่อน
 
 
กลางกระหม่อม .... เลื่อนจิตไปจับกระดูกหน้าผา .... เลื่อนมาเรื่อย ๆ ที่กระดูกโหนกคิ้ว ทั้งสองข้าง ..... เธอจะรู้สึกร้อนวูบวาบตามจุดต่าง ๆ ที่บอกไป..... กระดูกเบ้าตาสองข้าง ...... กระดูกสันจมูกซึ่งมีรูสองข้าง ..... กระดูกโหนกแก้มสองข้างซ้ายขวา ..... กระดูกริม ฝีปากด้านบนพร้อมฟัน ..... สำรวจให้ทั่ว ..... กระดูกริมฝีปากล่างพร้อมฟัน ..... เอาจิตจับ ตามไปนะ ..... สติรับรู้ตามไป ..... กระดูกปลายคาง ..... กระดูกกรามข้างขวา..... เอาจิตจับ ไปที่กรามข้างขวา ..... กกหูข้างขวา ..... เสร็จแล้วอ้อมไปด้านหลังกะโหลกศีรษะด้านขวา .....เลื่อนไปที่กะโหลกศีรษะด้านหลังตรงกลาง ..... กะโหลกศีรษะด้านซ้าย .....กระดูกกก หูตรงศีรษะด้านซ้าย ..... กรามข้างซ้าย ..... มาถึงปลายคาง .....ขยับขึ้นที่ริมฝีปากด้านล่าง พร้อมกระดูกฟัน ..... ขยับขึ้นที่ริมฝีปากด้านบนพร้อมกระดูกฟัน.....เลื่อนไปที่กระดูก โหนกแก้มสองข้าง .....เลื่อนไปที่สันจมูกซึ่งมีรูสองข้าง ...... เบ้าตาสองข้าง .....กระดูกคิ้ว สองข้าง ..... กระดูกหน้าผากอันเป็นภาพกว้าง ๆ กระดูกหน้าผากขาวโพลนขึ้นไปจนถึง จอมประสาทกลางกระหม่อม
 
 
จากกลางกระหม่อมก็ไหลเรื่อยลงไปด้านหลังที่กะโหลกศีรษะด้านหลังด้านหลัง ไปถึง ข้อกระดูกต้นคอที่ติดกับกะโหลกศีรษะข้อหนึ่ง ... ข้อที่สอง ...กระดูกคอข้อที่สาม .... ข้อที่สี่ ... ข้อที่ห้า ... ข้อที่หก ...ข้อที่เจ็ด
ต่อไปก็เป็นกระดูกบ่าหรือกระดูกไหปลาร้าติดต่อกัน เราจะสำรวจดูกระดูกบ่าด้านหลัง ทั้งซ้ายและขวาก่อน ซึ่งมีสะบักสองข้าง มีแผ่กระดูกบาง ๆ อยู่สองข้างเป็นรูปใบโพธิ์ ... สำรวจทั้งสองข้างเสร็จแล้วอ้อมไปด้านขวาด้านหน้าไปสำรวจดูไหปลาร้าด้านหน้า ด้านขวา ..... ตั้งแต่หัวไหล่ขวาไปถึงลำคอด้านขวา .....จากด้านขวาก็ไปไหปลาร้าด้าน ซ้ายตั้งแต่ลำคอไปถึงหัวไหล่ซ้าย ..... มาที่กระดูกหัวไหล่ข้างซ้าย ... มาที่กระดูกสะบักอีก ครั้ง ...มาถึงต้นคอด้านซ้ายด้านหลัง ... กระดูกบ่าต้นคอด้านขวาด้านหลัง ... มันจะร้อน วูบวาบไปตามจุดที่บอกถ้าเธอเอาสติจับรับรู้มัน

เสร็จแล้วเลื่อนไปที่กระดูกหัวไหล่ด้านขวา ... ลงไปที่กระดูกต้นแขนท่อนบนด้านขวา ... ไล่ลงไปจนถึงข้อศอกขวา ... ท่อนแขนด้านล่างด้านขวา ... ซึ่งมีกระดูกลักษณะคล้าย ตะเกียบสองท่านอยู่ติดกันกับกระดูกท่อนบนด้านขวา ... ไหลเลยเรื่อยไปจนถึงกระดูก ข้อมือขวา ...จากข้อมือก็ไปถึงกระดูกฝ่ามือด้านขวา ... เลาะไปถึงนิ้วโป้งด้านขวา ... นิ้วโป้งข้อที่หนึ่ง ... ข้อที่สอง ... ย้อนกลับขึ้นมา ข้อที่สอง ....ข้อที่สาม ... จากกระดูก นิ้วชี้ด้านขวาข้อที่สามกลับขึ้นมาเป็นข้อที่สอง ... แล้วก็เป็นข้อหนึ่ง ... เลื่อนไปกระดูกนิ้ว กลาง ... นิ้วกลางข้อที่หนึ่ง ... ข้อที่สอง ...ข้อที่สาม ... ย้อนกลับขึ้นมา ... สาม ... สอง ...หนึ่ง ...เลื่อนไปที่นิ้วนาง ...ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม ...แล้วก็ ...สาม ...สอง ...หนึ่ง...เลื่อนไป ที่นิ้วก้อย ... ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง ... ข้อที่สาม ... แล้วก็ ...สาม...สอง...หนึ่ง... ไหลขึ้นย้อนขึ้น มาที่กระดูกฝ่ามือ ...กระดูกข้อมือซึ่งประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ปะติดปะต่อกัน ... มาถึงกระดูกแขนด้านล่างด้านขวา ซึ่งเป็นกระดูกสองชิ้นต่อจากกระดูกข้อมือ ... และขึ้น มาจนถึงกระดูกข้อศอก ... กระดูกต้นแขนบนด้านขวา ... ขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ขวา ... ทีนี้ ก็ไต่เลยมาจนถึงกระดูกบ่าด้านขวาด้านหลัง

มาถึงต้นคอด้านหลัง ... ไหลไปทางกระดูกบ่าด้านหลังด้านซ้าย... ไปถึงหัวไหล่ด้านซ้าย ...มันจะไหลมีไออุ่นตามไป ( แล้วก็กำหนดสติตามไป แบบเดียวกับการพิจารณากระดูก แขน ข้อมือ และนิ้วด้านขวาข้างต้นแต่คราวนี้เป็นด้านซ้าย ) ... ต่อมาก็กระดูกท่อนแขน ซ้ายด้านบน ... ขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ซ้าย
 
จากหัวไหล่ซ้ายก็มาที่บ่าด้านซ้าย ... เลาะมาจนถึงต้นคอด้านซ้าย ... ทีนี้ก็จะไล่จากกระดูก สันหลังต้นคอที่ติดต่อกันระหว่างกระดูกคอข้อที่เจ็ด ... เราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่จากหัวไหล่ เริ่มนับข้อที่หนึ่งลงไปจนถึงกระดูกก้นกบ ... พิจารณาทีละข้ออย่าลงไปเลย ... ข้อที่หนึ่ง ... ข้อที่สอง ... ข้อที่สาม ...ข้อที่สี่ ...ข้อที่ห้า ... ความรู้สึกมันจะเหมือนสภาพที่เราดูดน้ำออกมา แล้วมันค่อย ๆ ยุบลง ... ข้อที่หก ... ข้อที่เจ็ด ...ข้อที่แปด ...ข้อที่เก้า... ข้อที่สิบ... ข้อที่สิบเอ็ด ข้อที่สิบสอง ... ข้อที่สิบสาม ... ข้อที่สิบสี่ ... ข้อที่สิบห้า ... ข้อที่สิบหก ... ขอที่สิบเจ็ด
 
ต่อไปก็เป็นกระดูกก้นกบลักษณะคล้าย ๆ กับหางเต่า ... จับจนไปถึงปลายหาง ... แล้วก็ย้อน ไล่ขึ้นมาจนถึงกระดูกก้นกบด้านบน ... กระจายความรู้สึกไปรับรู้ถึงกระดูกเชิงกรานทั้งสอง ข้างที่มีลักษณะเหมือนใบตาล ... จากนั้นก็มาไล่พิจารณากระดูกขาข้างขวา ... จับกระดูกเชิง กรานข้างขวาให้ชัด ... กระดูกขาท่อนบนด้านขวาที่เป็นเหมือนลูกหมากที่ติดกับเชิงกราน ... ค่อย ๆ เลาะไปเรื่อยจนถึงหัวเข่า... ถึงสะบ้า ... ถึงกระดูกหน้าแข้งอันเป็นกระดูกขาด้านล่าง สองท่อนซึ่งมีลักษณะคล้ายตะเกียบเช่นกัน ... เลาะลงไปจนกระทั่งถึงกระดูกข้อเท้า ... กระดูกส้นเท้าและกระดูกฝ่าเท้า ... นิ้วโป้งข้อที่หนึ่ง ... สอง ... สาม ... พิจารณาย้อนกลับ ... สอง ... หนึ่ง ... นิ้วชี้มีสามท่อน ... หนึ่ง ... สอง ... สาม... แล้วก็ สาม ...สอง ... หนึ่ง ( ให้พิจารณานิ้วกลางข้างขวา นิ้วนางขวา และนิ้วก้อยขวาในทำนองเดียวกัน )
 
 
ทีนี้จับภาพกระดูกฝ่าเท้าขวาทั้งแผ่นให้ชัด ... สติเราจะเหมือนกับโฟกัสของกล้องถ่ายรูป เราขยายมันให้เห็นภาพกว้างก็ได้ หรือจะให้เห็นเฉพาะจุดก็ได้ ... ย้อนขึ้นมาจนถึงข้อเท้า ... ท่อนขาด้านล่าง ... หัวเข่า ... สะบ้า ... ท่อนขาด้านบนด้านขวา ... ถึงเชิงกรานด้านขวา ( จากนั้นก็ย้ายมาพิจารณากระดูกขาด้านซ้ายในทำนองเดียวกับการพิจารณากระดูกขาด้าน ขวาดังข้างต้น ) ... ให้พิจารณาไปเรื่อย ๆ เหมือนกับน้ำไหลทีละน้อยมองเห็นถนัดเป็นสี ขาวขุ่น
 
พิจารณาย้อนขึ้นมาจนถึงกระดูกเชิงกรานด้านซ้าย ... เข้ามาหยุดตรงกระดูกก้นกบข้อที่สิบเจ็ด ... ขยับขึ้นไปที่กระดูกสันหลังข้อที่สิบหก ... สิบห้า ... สิบสี่ .. ( พิจารณาย้อนกลับขึ้นไปทีละข้อ จนถึงกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่งตามลำดับ ) ... คราวนี้จะเห็นภาพกระดูกหัวไหล่ทั้งสองข้าง ปรับภาพให้ชัด ให้กว้างขึ้น ... ทีนี้จับไปที่กระดูกต้นคอข้อที่เจ็ดที่ต่อกับกระดูกหัวไหล่ ... เจ็ด ... หก ... ห้า ... สี่ ...สาม...สอง ... กระดูกต้นคอข้อที่หนึ่งที่ติดกับกะโหลกศีรษะ ... จับภาพ กะโหลกศีรษะด้านด้านหลังให้ชัด ... ไล่ขึ้นไปช้า ๆ เธอจะรู้สึกอุ่น ... เธอจะเห็นภาพกะโหลก ศีรษะด้านบนแล้วหยุดอยู่ที่กึ่งกลางกระหม่อมที่เรียกว่า จอมประสาท ... สูดลมหายใจเข้า ไปลึก ๆ ให้เต็มปอด ... แล้วพ่นลมออกมายาว ๆ ช้า ๆ นิ่มนวล สุภาพ หมดจด ... แล้วก็ลืมตา ... ยกมือไหว้พระกรรมฐาน

สงบมั๊ย ... ถ้าเธอทำตามที่หลวงปู่สอนมาข้างต้นนี้ โดยสามารถจับภาพได้ชัด รับรองว่า สงบแน่ ... ทำแบบนี้แหละ วิธีพิจารณากระดูกแล้ว มันจะหยุดราคะ โทสะ โมหะได้อย่าง ฉับพลัน จิตเราจะสงบนิ่ง " สติ " อุปมาเหมือนแสงไฟฉายที่ส่องไปในความมืด แสง สว่างนั้นแหละที่เป็นสติของเรา ฉายไปทางใหนก็จะทำให้เราเห็นภาพที่ฉาย
 
เพราะฉะนั้น เวลาเราหลับตา ก็จงส่งความรู้สึกทั้งตัวให้อยู่ในกายนี้ เช่น พอเอาจิตไปจับ ที่กระหม่อม หรือที่หน้าผาก ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ตรงที่ที่เราเอาจิตเข้าไปจับนั้นมันจะ รู้สึกหนักเหมือนกับมีไออุ่นออกมา ถ้าถึงคำว่าหนักแสดงว่าสติเธอชัดแล้ว ถ้ายิ่งกว่าชัด คือแจ๋วเลย คือเห็นภาพกระดูกใสเลย หลวงปู่ทวดท่านสำเร็จวิชานี้ถึงขนาดกระดูกข้อ ของท่านกลายเป็นทองแดงทีเดียวแหละ เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐาน จึงมีอานิสงส์ มหาศาล ทำให้กระดูกกลายเป็นแก้วได้เมื่อดับขันธ์แล้ว และทำให้ธาตุในกายสามารถ รักษาและควบคุมมันได้

หลวงปู่ขอย้ำว่า การพิจารณาโครงกระดูกนี้ ให้ดูกระดูกภายใน กายเรามิใช่กายอื่น ที่ให้ดูโครงกระดูกข้างหน้าประกอบก่อนหลับตา พิจารณาก็เพื่อที่จะให้น้อมเข้าหาตัว เองว่า กระดูกเราก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ให้ไปดูและทุบกระดูกคนอื่น แต่ให้ดู กระดูกตัวเองทุบกระดูกตัวเอง ย่อยกระดูกตัวเองจนป่นละเอียดเป็นความว่าง

หมีงงในพงหญ้า:
การฝึกมหาสติปัฏฐานในป่าเขาท่ามกลางธรรมชาติ

ต่อไปเป็นคำสอนเรื่องมหาสติปัฏฐานของหลวงปู่ล้วน ๆ ขณะที่ท่านพาคณะลูกศิษย์ ที่มาบวชกับท่าน ไปฝึกจิตใจในป่าเขาท่ามกลางธรรมชาติ จึงเป็นคำสอนที่มีชีวิตชีวามาก .....
 
การได้มาซึมซับบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติรอบ ๆ ข้าง ความสงบของป่า ความเปลี่ยนแปลง ของอากาศรอบ ๆ ตัวเรา และความเย็นของลำธาร จะทำให้จิตใจมันปล่อยวางจาก รัก โลภ โกรธ หลง ลงไปได้บ้าง ถ้าหากเรารู้จักที่จะซึมซับดูดดื่มกับสิ่งที่อยู่รอบ ๆ กายเราที่เป็น ธรรมชาติ มันเป็นยารักษาโรคได้ชนิดหนึ่ง โรคโลภ โรคโกรธ โรคหลง ที่มันอุบัติขึ้นมา ในกายมนุษย์ มันแก้ไขได้โดยธรรมชาติบำบัด ...
 
หลวงปู่อยากให้พวกเธอลองสำรวจดูอารมณ์จิตตัวเอง ใน " มหาสติปัฏฐานสูตร " มีข้อ ว่าด้วย กาย เวทนา จิต และธรรม การสำรวจดูอารมณ์จิตตัวเองอยู่ในข้อคำว่า " จิต " ว่า สภาพสภาวะอะไรที่อุบัติขึ้นในจิตตัวเองในเวลานี้ ในขณะที่เรากำลังมาอยู่ในอ้อมกอด ของธรรมชาติ และกลิ่นอายของน้ำตก ภูเขา ป่าไม้ รับรู้ถึงสภาพสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตว่า มีอารมณ์ใดปรากฏบ้าง สงบตั้งมั่นหรือไม่ หรือว่าโยกโคลง ทะยานอยาก สั่นคลอน กายมันนั่งอยู่ในป่าตรงนี้ แต่ใจอยากกลับวัด กลับบ้าน กลับที่อยู่อาศัย นั่นแสดงว่าเรา ไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่สมณะ วิญญาณของเรากำลังจะโดนกักขังจองจำ ซากอยู่นี่แต่วิญญาณ โดนจองจำอยู่ที่ใหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เมื่อกายอยู่ตรงนี้ ก็จงให้ใจมันอยู่ตรงนี้ด้วย
 
อยู่เพื่อจะรับรู้สภาพสภาวะรอบ ๆ ตัวเราแล้วก็ดูดดื่ม ดื่มด่ำมันเข้าไปด้วยความรู้สึก ซึมซาบ เราจะสัมผัสได้ถึง วิญญาณแห่งธรรมชาติหลวงปู่อยากจะบอกถึงความหอม หวานและความสวยงามของวิญญาณ พูดอย่างนี้พวกเธอคงไม่รู้ว่าหน้าตามันเป็นยังไง แต่เมื่อใดที่พวกเธอมีจิตสงบเท่ากับป่าที่มีแล้ว พวกเธอจะรู้จักวิญญาณของธรรมชาติ วิญญาณของผีโป่ง วิญญาณของผีป่า วิญญาณของเจ้าภูเขา วิญญาณของเจ้าที่เจ้าทาง แล้วก็วิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่อยู่รอบ ๆ กายเรา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นวิญญาณ ของธรรมชาติ ถ้าจิตของพวกเธอสงบพร้อมและนิ่งพอ พวกเธอจะรับรู้ถึงความเป็นไป และความโยกโคลงเคลื่อนไหวของวิญญาณเหล่านั้นได้ มันจะเป็นเพื่อนเราเป็นเพื่อนคุย เป็นเครื่องบอก เครื่องเตือนภัย และก็เป็นมหามิตรอันยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจกลับกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดต่อเรา เมื่อใดที่เราทรยศและเป็นกบฏต่ออุดม การณ์ และทำชีวิตให้ไม่ชอบมาพากล
 
เพราฉะนั้น ความหมายของการรับรู้ถึงวิญญาณของธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในวิชามหา สติปัฏฐานสูตร ข้อที่ว่าด้วยการพิจารณาจิตในจิต การอยู่ป่าเราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะธรรมชาติรอบกายมันไม่ได้ปรุงแต่งให้เรามีอารมณ์ใด ๆ จิตจึงสงบได้เอง มันไม่ได้ มีแสงเสียงสีอะไรมากมาย ถึงมันมี ก็เป็นกลิ่นอายของธรรมชาติ ดอกไม้ ใบหญ้า เสียงสายลม น้ำไหล สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรุงให้จิตกำเริบ มันไม่ได้ทำให้เกิดกิเลส ตัณหา และอุปาทานใด ๆ ถ้าหากเราอยู่อย่างนี้ ถ้ากระแสของธรรมชาติและไออุ่นของธรรมชาติ มันสามารถซึมซับเข้ามาในจิตวิญญาณเราได้ตลอดเวลาแล้วละก้อ เราจะเป็นคนที่มีสุขภาพ จิตดีที่สุด สามารถจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง สง่างามได้ทุกกาลสมัย
 

ในเวลาสองวันที่หลวงปู่สังเกตดูพวกเธอกราบพระ พวกเธอยังไม่มีความสำรวม สังวร ระวังดีพอ พวกเธอกราบแบบแค่ให้มันจบ ๆไป อาจจะคิดว่า พื้นไม่สะอาด หรืออะไร ก็ตามทีเถอะ พวกเธอยังไม่ได้กราบพระด้วยความดื่มด่ำ ซึมซาบด้วยความสำรวมสังวร ระวัง พวกเธอยังไม่ได้กราบพระด้วยกายพร้อมจิตวิญญาณ ยังกราบแค่ซากอย่างนี้จะ เรียกว่า เรากราบด้วยการเจริญสติได้อย่างไร มันก็จะไม่มีสติในการควบคุมอิริยาบถในการ กราบ พวกเธอเข้าใจความหมายของ " มหาสติปัฏฐาน " แค่ใหน ?

มหา แปลว่า ใหญ่ มหาสติปัฏฐาน คือ สติปัฏฐานที่มีความเป็นใหญ่ ต่อการกระทำ พูด คิด คือมันซึมสิงไปทุกอณูลมหายใจเข้าออก มันไม่ใช่มีเฉพาะบางเวลา บางขณะ บาง โอกาส เพราะถ้าหากมหาสติปัฏฐานมันมีแค่เฉพาะบางเวลา บางขณะ บางโอกาส มันจะเป็นมหาสติปัฏฐานไปไม่ได้เลย มันก็จะเป็นผู้มีสติแค่บางเวลา บางโอกาสเท่านั้น
 
หลวงปู่อยากจะเตือนว่า ทางป่า ทางถนน ทางน้ำ และทางเมือง มันคนละทางกัน การ อยู่ในป่าจะต้องใช้มหาสติปัฏฐานอย่างยิ่ง หลวงปู่จะบอกวิธีการสังเกตหนทางในป่าให้ พวกเธอได้รู้

อันดับแรก พวกเธอต้องสังเกตกลิ่น ต้นไม้แต่ละต้นจะมีกลิ่นเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน พวกเธออยู่ไกล้ต้นไม้ไหนก็จะรู้จักที่สูดดมกลิ่นต้นไม้รอบ ๆ กายพวกเธอ
 
อันดับสอง พวกเธอต้องสังเกตุทิศ พวกเธอปักกลดอยู่ในทิศไหนแล้วเดินออกมาจาก ทิศใหน เดินตรงไปสู่ทิศไหน ต้องรู้จักสังเกตทิศ

อันดับสาม พวกเธอต้องสังเกตก้อนหินและแผ่นดิน ก้อนหินมีรูปร่างไม่เหมือนกัน ลักษณะสีสันไม่เหมือน เพราะฉะนั้น กลางคืนเวลาจะเดินหรือเวลาจะกลับไปสู่กลด พวกเธอต้องมองดูรอบ ๆ ตัวเธอว่า กำลังอยู่ในทำเล ตำแหน่ง และสภาพแวดล้อม เช่นใด ถ้าพวกเธอมีมหาสติ ก็จะรู้ว่า พวกเธอเดินผิด หรือเดินถูก นอกจากนี้ กลิ่น ของแผ่นดินก็ไม่เหมือนกัน ดินที่โดนแดดกับดินไม่โดนแดด ดินที่อยู่ไกล้ความชื้น กับดินที่อยู่ไกลความชื้น กลิ่นของดอกไม้ ทิศทางลม อากาศรอบ ๆ กายเหล่านี้ก็เป็น เครื่องเตือน บอกเราให้รู้ว่า เราเดินถูกทางหรือผิดทาง สรุปก็คือ พวกเธอจะรู้สิ่งเหล่านี้ อย่างละเอียดอ่อนได้ดีมากน้อยแค่ใหนก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเธอมีสติหรือไม่ ?
 
 
พวกเธอต้องฝึกมหาสติ จนกระทั่ง " บรรลุในทวารทั้ง ๖ " นั่นคือ การใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัส รับทราบถึงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเราได้อย่างละเอียดหมดจด ถ้า พวกเธอทำได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้น พวกเธอจะธุดงค์ในป่าได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฉาย พวกเธอ จะธุดงค์ในป่าได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฉาย พวกเธอจะคุ้นเคยกับป่า เหมือนกับบ้านของพวกเธอเอง
 
เวลาอาบน้ำในลำธารก็เหมือนกัน พวกเธออย่าไปกลัวหนาวเพราะถ้าพวกเธอกลัวหนาว พวกเธอจะเป็นไข้ มันอยู่ที่กำลังใจ ถ้ากำลังใจพวกเธอดี ปราณของพวกเธอจะสร้างพลัง ต่อต้านและธาตุไฟในกายของพวกเธอจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความหนาวเหน็บ หากพวกเธอ มีสติระลึกรู้เห็นโครงกระดูกภายในกายตัวเองโดยไม่มีเนื้อหนังติดพวกเธอจะไม่รู้สึกหนาว และก่อนพวกเธอเข้านอนจงอย่างลืมภาวนาในใจก่อนนอนว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข เถิด สำหรับคนที่ฝึกเจริญสติอย่างอื่นไม่เป็นเลยสักอย่างเดียว ก็ขอให้นึกถึงแต่โครงกระดูก ภายในกายตัวเองอย่างเดียวพอ ไม่ต้องฝึกลมหายใจอะไรทั้งนั้น
 
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในขณะเจริญสติ ขอให้พวกเธอจงรู้เถิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมารที่จะ ทำร้ายสติ หรือทำลายเราให้พ้นจากสติที่กำลังเจริญอยู่ แม้จะเกิดฟ้าผ่า น้ำท่วม ฝนตก หรือไฟใหม้ สำหรับผู้เจริญสติแล้ว ต้องตั้งมั่น ไม่สั่นคลอน ไม่โยกคลอน ไม่หวั่นไหว และไม่สะดุ้งผวา ถึงจะเรียกว่ามีมหาสติ
 
คนที่มีสติจริง ๆ เขาจะรู้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันก็เป็นแค่สภาวธรรมหนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป เพราะฉะนั้น จงเข้าใจว่า สิ่งที่เราต้องทำจริง ๆ ก็คือ การเจริญสติให้ตั้งมั่น ทำสติให้ปรากฏชัดเฉพาะหน้า รู้ทุกอณูของอากาศ สิ่งแวดล้อม กายนี้ เลือดเนื้อ และชีวิตอินทรีย์ เมื่อสติปรากฎชัดมันจะทำหน้าที่รู้ทุกอย่างในกายตน สติเกิด สมาธิปรากฏ ปัญญาก็จะตามมา สำคัญก็คือหน้าที่ของเราทำอย่างไร จะให้สติ มันเกิดและเกิดได้ทุกขณะจิต ทุกเวลาลมหายใจเข้าออก นี่คืองานที่เราต้องทำ เพราะ ฉะนั้น ในขณะที่เรากำลังทำงานที่สำคัญอยู่นี้ ไม่ว่าฝนจะตก น้ำท่วม ไฟใหม้ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นตรงหน้าในขณะที่กำลังเจริญสติ เราต้องไม่ให้ความ สำคัญต่อมัน ต้องไม่ใส่ใจมัน ต้องไม่วอกแวก ไม่เสียสติ ไม่ขาดจากการรับรู้สภาวธรรม รักษาความเป็นเอกัคตา คือ ความเป็นหนึ่งในการรู้เฉพาะหน้าในกรรมฐานกองใดกองนั้น ไม่ให้มีอารมณ์อื่นเข้ามาวุ่นวาย ไม่ให้มีเวทนา นิมิต หรืออุปทานใด ๆ เข้ามาปรากฏ ไม่ให้มีแม้กระทั่งปีติใด ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วมันจะฉุดกระชากลากถูเราให้เนิ่นช้า ไม่ก้าวหน้า ไป มีแต่การรับรู้ยิ่งขึ้น ๆ รู้จนถึงขนาดรอบข้างเรา มันมีสภาพสภาวะใด ๆ ปรากฏ รู้ถึงขนาดการเกิดของเซลล์แต่ละชนิด แต่ละตัวที่เกิดขึ้นแล้วใช้เวลาอุบัติขึ้น อยู่ เจริญ เปลี่ยนแปลง เสื่อมทรามแล้วตายลง ว่าใช้เวลากี่นาที กี่วินาที รู้อย่างนี้จึงเรียกว่า รู้อย่างคนเจริญสติ ไม่ใช่รู้เพียงแค่มีกระดูก มีโครงสร้าง มีเลือด มีเนื้อ มีลมหายใจ หรือรู้แค่มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็บอกว่ารู้ อย่างนั้นยังไม่ใช่ ผู้รู้ แบบมีมหาสติ
 
หลวงปู่เคยเจริญมหาสติจนกระทั่งต้องอุทานออกมาว่า " มันมีแค่นี้เองหรือ ! " ตอนนั้น หลวงปู่รู้ละเอียด รู้ลึกไปถึงกระบวนการแห่งการเกิดเซลล์ของกระดูกทั้งปวง หลวงปู่ป่น กระดูกจนละเอียดเป็นผุยผง กระดูกเหล่านั้นเกิดจากเซลล์ชนิดใด แล้วมันก็ดับลงไปด้วย กระบวนการใด เหตุปัจจัยไม่ปรุงใด เซลล์เหล่านั้นจึงตายลง อย่างนี้ถึงเรียกว่า รู้แบบ มหาสติ อย่าเพียงแค่รู้แค่ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แค่ลมหายใจเฉย ๆ นั่นยังไม่ถือว่าเป็นผู้รู้ใน ระดับมหาสติ เพราะนักบวชอื่นเขาก็ทำได้ศาสนาอื่นเขาก็สอนกัน นิกายลัทธิต่าง ๆ ที่มีมา ก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็มีการสอนเจริญสติ สมาธิ เหมือนกัน แค่ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าท่านรู้มาก่อนที่จะมาบวชและอุบัติขึ้นเป็นพระศาสดาด้วยซ้ำ นี้ย่อมแสดงว่า การระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในกาย เขามีการสอนกันมาก่อนพระพุทธเจ้า เกิด แต่สิ่งที่ไม่ได้สอนก่อนพระพุทธเจ้าเกิดมันคืออะไร ? เพราะฉะนั้น จงอย่าไปคิดว่า ทุกวันนี้เรารู้มหาสติปัฏฐานแล้ว คนรู้จริงนั้นไม่ต้องจำ ทำได้ มีประโยชน์ แต่คนรู้ไม่จริง นั้นจำให้ตาย ทำไม่ได้ก็มีแต่โทษ
 
แต่ก่อนที่พวกเธอจะรู้ละเอียด รู้ลึกในมหาสติปัฏฐานได้ พวกเธอจำเป็นจะต้องรู้ในหลักการ เบื้องต้นของมหาสติปัฏฐานเสียก่อน นี่แค่วิชามหาสติปัฏฐานเท่านั้นนะ ยังไม่ต้องพูดถึง วิชาลม ๗ ฐานเลย เพราะยิ่งฝึกลำบากใหญ่ เนื่องจากวิชาลม ๗ ฐานต้องประกอบไปด้วย อำนาจของสติ สมาธิ ปราณ ทั้งสามอย่างนี้ต้องรวมเป็นหนึ่งต้องผสมผสาน สอดคล้อง กลมกลืน ให้ทำงานร่วมกัน ยิ่งยากใหญ่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เอาแค่เจริญสติให้ได้ก่อน จงระลึกรู้รูปกายของตน รู้อิริยาบถของตน รู้โครงกระดูกของตนให้มาก จงหมั่นฝึกให้สติ และจิตรวมอยู่กับกายที่หลวงปู่เรียกว่า " กายรวมใจ " อันเป็นพื้นฐานของการเจริญลม ๗ ฐาน


หมีงงในพงหญ้า:

 
การฝึกแบบกายรวมใจ คือการฝึกการรับรู้สภาพของการนั่ง ที่เรียกว่า อิริยาบถบรพ หรือ การฝึกการรู้โครงสร้างของกายแต่ละชิ้นแต่ละส่วน หรือการฝึกระลึกรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต เช่น เวทนา สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ยอมรับหรือปฏิเสธ สรุปก็คือ ฝึกยังไงก็ได้ให้ใจมันอยู่ ในกายนี้ อย่าให้มันหลุดออกไปจากกายเด็ดขาด
 
พวกเธอมาปฏิบัติธรรมในป่าในเขาได้สามวันแล้ว หลวงปู่อยากถามพวกเธอว่า จิตของ พวกเธอได้โลดแล่นออกไปจากป่าจากเขานี้บ้างหรือเปล่า ? สำหรับผู้ที่เพิ่งบวชมาไม่นาน และบารมีภูมิธรรมยังไม่แก่กล้า ป่าเขาลูกนี้และธรรมชาติรอบกายย่อมไม่มีย่อมไม่มีความ ศักดิ์สิทธิ์ พอที่จะไปกักขังสำนึกและจิตวิญญาณของพวกเธอไม่ให้ปรุงแต่งได้
 
ธรรมชาติของจิตนั้นมันไวยิ่งกว่าแสงและไปได้รอบทิศ แม้กายจะอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานจึงมีเรื่อง ๒ เรื่องที่ต้องให้ทำคือกายกับจิต ถ้าพ้นกายกับจิตไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน เรื่องที่เราจะต้องฝึก ต้องดู ต้องรู้ ต้องเห็น ต้องเข้าใจและทำให้เป็น คือ การรู้ แค่กายกับจิตเท่านั้น ถ้ารู้เกินกว่ากายกับจิตนี้ไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน
 
ความหมายของมหาสติปัฏฐาน คือ การฝึกดูกายและการฝึกดูจิต ในขณะที่กำลังฝึกอยู่ นั้นมันย่อมเกิดอาการเบื่อ เหนื่อย หน่าย เมื่อย เซ็้ง เพราะเราไม่รู้ว่า การดูนั้นคืออะไร แต่หลวงปู่อยากจะบอกว่า สิ่งที่เราต้องตั้งอกตั้งใจที่เฝ้าดูคือ ดูความเป็นไปของกายนี้ ความเป็นไปของอารมณ์ภายในตัวเรานี้ นี่แหละคือการดูกายกับการดูจิต แล้วจะดูกาย ดูจิตอย่างไร ? หลวงปู่อยากบอกว่าให้เอา " สติ " ดูมัน ใช้สติดูกาย ใช้สติดูจิต สตินี้ ต้องฝึก การจะทำให้เกิดสติก็คือ การฝึก และสติที่ฝึกด้วยวิธีการฝึกสติก็คือ การระลึก รู้ลมหายใจก็ได้ การดูโครงกระดูกของตัวเองก็ได้ คือทำยังไงก็ได้ให้อารมณ์ทั้งปวงมัน รวมเป็นหนึ่ง ให้สติมันจับอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ขณะที่นั่ง ยืน เดิน นอน เคลื่อนไหว ทำ พูด หรือคิด
 
เราอาจจะไม่รู้ชัด ไม่เข้าใจกระจ่างว่ามันกำลังจะเป็นอย่างไร มีคำตอบแบบใหน แต่ตราบใด ที่ยังไม่ปรากฏอารมณ์ใด ๆ เกิดขึ้น แสดงว่าเรากำลังจะมีสติ ในขณะที่เรากำลังรับรู้ลมหาย ใจเข้าออกก็ตาม หรือรู้โครงกระดูกก็ตาม หรือรู้ความเคลื่อนไหวของกายนี้ก็ตาม ตอนแรก ๆ มันอาจไม่รู้สึกอะไรเลย มันโหวงเหวงเบา ๆ อึมครึม คลุมเครือ ก็อย่าเพิ่งหยุดฝึกสติมัน เพราะเรายังไม่รู้จักหน้าตาแท้ ๆ ของสติ ต้องทำมันต่อไปจนกว่ามันจะเกิดความรู้สึกว่า รู้ชัดว่า รู้แจ้งว่า เมื่อใดที่ไม่ปรากฏอารมณ์ใด ๆ ความคิดไม่แตกแยก กระบวนการทางความ คิดไม่เกิด มีแต่ความรู้เฉพาะหน้าปรากฏขึ้นเท่านั้น นี่แหละคือ การที่เราสามารถจับกระ บวนการของสติให้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ หลวงปู่ได้แต่หวังว่า เมื่อไหร่ภูมิธรรม และบารมีธรรมของพวกเธอจะแก่กล้าสามารถที่จะต่อสู้และยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ฝึกสอน ตัวเองได้ อบรมตัวเองได้ และบอกตัวเองได้ว่า " ขณะนี้เรากำลังจะทำอะไรอยู่ "
 
เมื่อคืนตอนตีสาม หลวงปู่ลุกขึ้นมาเจริญสติ ขณะที่เจริญสติ หลวงปู่ได้บทโศลก ๒ บท เอามาฝากพวกเธอดังนี้
 
( ๑ ) ... ลูกรัก ขณะที่พ่อเจริญสติอยู่นั้น ได้เกิดคำถามขึ้นในจิตพ่อว่า เมื่อจิตเกิดดับมี ธรรมชาติรู้อยู่ในตัวแล้วเช่นนี้ ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ และอุปาทานเกิดขึ้นมาจาก ใหน ? แล้วก็เกิดคำตอบขึ้นมาในฉับพลันว่า เพราะความไม่รู้ชัด ไม่รู้แจ้ง จึงเกิดความ ปรุงในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จนทำให้เป็นเหตุแห่งกรรม และชาติภพ เพราะฉะนั้น ถ้าจะดับก็ต้องดับที่ความไม่รู้ชัด ไม่รู้แแจ้งแล้วสรรพสิ่ง ก็จะไม่เกิดไม่ปรากฏ ....
 
( ๒ ) ... ลูกรัก ธรรมชาติของจิตนี้มหัศจรรย์ยิ่งนัก เหตุเพราะมีลักษณะรู้ที่หยาบ ปานกลาง ละเอียด สุขุม และปราณีต ในที่นี้คงจะเทียบวัดกันได้ว่า ใครมีจิตอันหยาบ ใครมีจิตอัน ปานกลาง ใครมีจิตละเอียด ใครมีจิตสุขุม และใครมีจิตประณีต แต่ละลักษณะก็มีเครื่อง ห่อหุ้มจนทำให้การรับรู้ต่างกัน เพราะฉะนั้น กรรมฐานแต่ละกองจึงเป็นเครื่องฟอกจิต ขัดจิตได้ ต่างกันอยู่ที่ว่า จิตในขณะนั้น หยาบ ปานกลาง ละเอียด สุขุม หรือ ประณีต ปานใด เพราะจิตแต่ละลักษณะจะซึมซับหรือเกิดวิชชาและอวิชชาได้แตกต่างกัน การเจริญสติเพื่อให้เกิดวิชชาปัญญาสุดยอดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จิตทั้ง ๕ ลักษณะมีอุปมา ดังสาวน้อยที่งดงามสะคราญตา แต่งตัวนุ่งห่มอาภรณ์เต็มสูตร แล้วเดินนวยนาดยืนอยู่ เฉพาะหน้า บุรุษผู้มีความฉลาดอันเป็นอุปมาของวิชชาปัญญารู้แจ้ง บุรุษนั้นค่อย ๆ เปลื้อง อาภรณ์ชั้นนอกของสาวน้อยนั้นออกด้วยความพินิจพิเคราะห์เพื่อจะหาความงดงามอันแท้จริง ของสาวน้อยนั้นให้พบ เปรียบได้ดังจิตหยาบที่มีตัวรู้หยาบ
 
บุรุษผู้ฉลาดนั้น หลังจากเปลื้องอาภรณ์ชั้นนอกของสาวน้อยออกแล้ว ก็เปลื้องอาภรณ์ ชั้นในของสาวน้อยนั้นออกด้วยความพิจารณาในปัญญารู้แจ้ง เปรียบได้ดังจิตที่ปานกลาง บุรุษผู้ฉลาดนั้น หลังจากเปลื้องชั้นในของสาวน้อยนั้นแล้วก็ใช้กำลังที่มีถลกหนังและเนื้อ ของสาวน้อยนั้นออก เพื่อจะค้นหาความงามอันแท้จริงของสาวน้อยนั้น เปรียบได้ดังจิต ที่มีตัวรู้ละเอียดขึ้น
 
บุรุษที่ฉลาดและมีปัญญา เมื่อถลกหนังและเนื้อของสาวน้อยนั้นออกแล้วจนเหลือแต่กระดูก ก็ทุบกระดูกจนป่นเพื่อค้นหาความงามที่แท้จริงของสาวน้อยนั้น เปรียบได้ดังจิตสุขุม เมื่อ กระดูกนั้นป่นจนละเอียดยิบแล้ว บุรุษผู้ฉลาดก็ทำการค้นหาความงามอันบริสุทธิ์แท้จริงของ สาวน้อยในกองกระดูกที่ป่นนั้น จนกระทั่งพบว่า ความงามที่สูงสุดยอดของสาวน้อย ไม่มีจริง ๆ เปรียบได้ดังจิตที่ประณีต ...
 
ความหมายของจิตแต่ละดวงที่เกิดดับ และอวิชชาที่ครอบงำสภาวธรรมที่ปรากฏ เราไม่ สามารถรู้ชัด การที่มนุษย์ดูรูปสวยเพียงแค่รูปและเสื้อผ้า ถือว่า มนุษย์ผู้นั้นมีจิตระดับ หยาบ ผู้มีปัญญาจึงต้องมองทะลุเนื้อหนังมังสา มองทะลุผ้าผ่อนท่อนสไบจนกระทั่งเข้าไปถึงไขของกระดูก หลวงปู่เป็นห่วงพวกเธอ ก็เลยเขียนบทโศลกชิ้นที่ ๒ นี้ขึ้นมาตอน ตีสามกว่า ๆ ขอให้พวกเธอจงนำบทโศลกชิ้นนี้ไปไตร่ตรองให้ดี เพราะมันตรงกับขณะ ปัจจุบันธรรมของพวกเธออยู่พอดี
 
ต่อไปนี้ ตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป พวกเธอทุกคนต้องไปทำรายงานโดยจดมาให้หลวงปู่ว่า แต่ละชั่วโมง ทุกคนคิดเรื่องอะไรบ้าง แล้วออกมาอ่านข้างหน้าในเวลาประชุม จงฝึกเมื่อรู้ตัวว่าเราผิด เพราะความรู้ตัวนั้นเป็นสติชนิดหนึ่ง ให้พวกเธอจดบันทึกมาว่า คิด เรื่องอะไรบ้าง อย่าเข้าใจผิดว่า หลวงปู่บอกให้พวกเธอห้ามคิดนะ เพราะการเจริญสติ ไม่ใช่การไม่คิดอะไร แต่จะต้องเป็นการคิดเรื่องอะไรที่ตัวเราควบคุมมันได้ เป็นนายมัน ถูก และคอนโทรลมันสนิท แต่ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เตลิดเปิดเปิงฟุ้งซ่านไปที่ไหนก็ไม่รู้ หลวงปู่เชื่อว่าไม่มีครูคนใหนในแผ่นดินนี้มาสอนพวกเธออย่างนี้หรอก เพราะคงไม่มีครู คนใหนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเธออย่างนี้หรอก เขาคงได้แต่บอก ทำไม่ได้ก็เป็นเรื่อง ของเธอเอง ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน โปรดอย่าให้ความหวังดีของหลวงปู่ กลายเป็นหมัน เพราะการไม่รู้จักเตือนตัวเองของพวกเธอเลย
 
วิธีฝึกสตินั้น มีสารพัดวิธีเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นพัน ถ้าหากรู้ตัวว่า จิตยังหยาบอยู่ ก็จงหาสรรพวิทยาทั้งหลายเอามาฝึกให้จิตมันละเอียดลง โดยเราต้องรู้ตัวว่าจิตเราอยู่ ขั้นใหนแล้วใน ๕ ขั้น คือ หยาบ ปานกลาง ละเอียด สุขุม และประณีต ทั้ง ๕ ขั้นนี้ เป็นคุณสมบัติของผู้ฝึกจิต พวกเธอต้องรู้สภาวะของตัวเองแล้วก็เทียบเอา ถ้าเรายังเห็น ของสวยเป็นของสวยอยู่ ยังมองไม่ทะลุเนื้อหนัง แสดงว่า เรายังหยาบ ถ้ายังมองเห็น เสื้อผ้าอาภรณ์และสีต่าง ๆ เป็นของสง่างามอยู่ ก็แสดงว่าจิตเรายังปานกลาง ถ้าเรายัง มองเห็นความจริงที่ปรากฏไม่เป็นตามความเป็นจริง ยังปรุงแต่งไปด้วยอารมณ์ความรัก ความใคร่ความชอบใจ แสดงว่าเรายังเห็นเพียงแค่ปานกลางแก่ ๆ กำลังขยับเข้าสู่ความละเอียด
 
 
จนกว่าจะเห็นความจริงอย่างแท้จริง ก็ต้องถลกหนังถลกเนื้อออก แล้วเราก็จะรู้ตัวเรา เองว่า วิถีทางของจิตนั้น มันจะต้องสุขุมลง ประณีตลง แล้วอย่าหยุดอยู่แค่นั้น ต้องมอง เลยไป มองให้ลึกลงไปจนกระทั่งถึงไขกระดูกของมัน แล้วเมื่อพ้นไขกระดูกนั้นไปแล้ว เราก็จะรู้ได้เองว่า มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ก็ดับไป สุดท้าย มันก็จบ ชาติก็สิ้น ชราก็ไม่พบ ตัณหาอุปาทาน ทั้งปวงเราก็ชนะมี อำนาจครอบงำเหนือมันได้ ชีวิตเราก็มีเสรีภาพ มีอิสระ และเป็นไท กลางคืน หลวงปู่ อยากเดินตะโกนไปทั่วขุนเขาแล้วร้องประกาศว่า " อะโห พุทโธ อะโห ธัมโม อะโห สังโฆ พระพุทธเจ้าช่างประเสริฐดีเลิศพร้อม พระธรรมช่างประเสริฐดีเลิศพร้อม พระสงฆ์ช่างประเสริฐดีเลิศพร้อม " ด้วยความรู้สึกปีติสุขในพระธรรมที่หลวงปู่ได้พบพา

หมีงงในพงหญ้า:



การฝึกมหาสติต้องเป็นสัมมาสติ
 
จิตนี้ศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์ยิ่งนัก ในกระบวนของจิตที่ฝึกนี้ หลวงปู่อยากจะบอกว่า บางครั้ง การที่เราไปเคร่งเครียด คร่ำเคร่งกับมัน ก็จะไม่ได้อะไรหรือไม่รู้อะไร ทั้ง ๆ ที่ทำทั้งวัน แต่ถ้าผ่อนคลายเบาสบายเสียบ้าง มันจะมี " สติ "ขึ้นมาในฉับพลันทันที จริง ๆ แล้วตอนที่คร่ำเคร่ง คร่ำเครียดมันก็มีสติเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่สัมมาสติ มันเป็น มิจฉาสติ คือ เป็นสติที่โดนกดทับ เป็นสติที่โดนบังคับให้อยู่ ขณะตัวสัมมาสติเป็นสติ ที่ไม่ได้กดทับ ไม่ได้บังคับให้อยู่ คือไม่มีกระบวนการปรุงจิต ไม่มีความอยากที่จะมี อยากดี อยากเป็น อยากได้ อยากทำอยู่ในจิตนั้น อยู่ในสตินั้น แต่สติที่โดนกดทับ สติที่พยายามบังคับให้คร่ำเคร่ง คร่ำเครียดกับมันนี่ มันประกอบไปด้วยความอยากมี อยากดี อยากได้ ซึ่งทำให้ตายก็ไม่ได้อะไร เพราะฉะนั้น การฝึกจิตนี่ต้องฉลาด ต้องรู้ เท่าทันสภาวธรรมและอารมณ์ของมัน อย่าฝึกแบบคนโง่ คือ เขาทำก็ทำตามเขาไป
 
เราจึงต้องทำให้จิตมันมีงานทำ และเป็นสัมมาสติ อันเป็นจิตที่เป็นกุศล วิธีฝึกสติมันมี สารพัดวิธี มีทุกรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องออยู่กับที่ ไม่จำเป็นต้องนั่งตัวตรงหลับตาแข็งทื่อ มหาสติมันมีในทุกอิริยาบถ ครูและอาจารย์ที่ดีเขาจะไม่สอนศิษย์ให้อยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถ เดียว คนที่สอนให้ศิษย์อยู่แค่อิริยาบถใดอิริยาบถเดียวนั่นไม่ใช่ครูที่ดี ไม่ใช่อาจารย์ที่ประเสริฐ เพราะดันไปคิดว่า อิริยาบถจะกำกับสติ แต่ไม่ใช่หรอก สติต้องกำกับอิริยาบถต่างหาก เมื่อเกิดมหาสติแล้วมันจะมีอยู่ในทุก ๆ อิริยาบถ เมื่อจะทำให้สติเกิด ก็ต้องทำให้มันปรากฏ ในทุก ๆ อิริยาบถไม่ใช่เฉพาะในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง
 
การที่พระศาสดาทรงแสดง บอก ชี้แจงให้เราว่า จงตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น เฉพาะหน้า นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะตอนที่ฝึกนั่งสมาธิเท่านั้น เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะในข้อ กายานุปัสนาสติปัฏฐาน ยังกล่าวถึง อิริยาบถบรรพ ซึ่งประกอบไปด้วย กิน ยืน นั่ง เดิน นอน ไม่ใช่แค่นั่งอย่างเดียว และในสัมปชัญญบรรพก็ยังกล่าวถึงอิริยาบถย่อย ๆ อีกมากมาย เช่น คู้ เหยียด พูด หันซ้าย หันขวา ลุกขึ้น นั่งลงเรียกว่าอิริยาบถย่อย มีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นมหาสติ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป