[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 24 มกราคม 2564 14:32:27



หัวข้อ: ทำไมเรียก'พระสันตะปาปา' ว่า 'โป๊ป' ?
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 24 มกราคม 2564 14:32:27


ทำไมเรียก'พระสันตะปาปา' ว่า 'โป๊ป' ?

(https://readthecloud.co/wp-content/uploads/2019/12/pope-8-750x500.jpg)


     เหตุที่ทำให้พระสันตะปาปาได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในพระประมุขแห่งศรัทธาที่ทรงอำนาจเช่นนี้ จำต้องสืบย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคการสถาปนาคริสต์ศาสนาเลยทีเดียว  หลังจากที่พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) ได้เสด็จสู่สรวงสวรรค์แล้ว เหล่าอัครสาวกหรืออัครทูต (The Apostles) ทั้งสิบสองคนของพระเยซูได้รวมตัวกันและประกาศสถาปนาคริสตจักร (Church) แห่งแรกขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เมืองหลวงแห่งแคว้นจูเดีย (Judea) หรือประเทศอิสราเอลในปัจจุบันเมื่อปี ค.ศ. 33 เพื่อทำการเผยแพร่พระวจนะและหลักคำสอนของพระองค์ไปยังชนทุกชาติ   บรรดาคริสตจักรในยุคเริ่มแรกที่เหล่าอัครสาวกได้ไปก่อตั้งนั้นคือกรุงเยรูซาเล็ม , อันติโอค (Antioch) ในซีเรีย , อเล็กซานเดรีย (Alexandria) ในอียิปต์ และกรุงโรม (Rome) โดยผู้ที่ก่อตั้งคริสตจักรแห่งโรมนั้นก็คือคือ ซีโมน เปโตร (Simon Pedro) หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'อัครสาวกนักบุญปีเตอร์' (St.Peter the Apostle) ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าอัครสาวกทั้งสิบสองของพระเยซูนั่นเอง เหล่าผู้นำคริสตจักรและชาวคริสตชนในยุคต้นๆ ต่างถือว่าท่านเปโตรเป็น 'มุขนายก' หรือ 'บิชอป' (Bishop) แห่งโรมคนแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมกับการให้เกียรติท่านเปโตรและเหล่ามุขนายกผู้ปกครองคริสตจักรแห่งโรมสืบมานั้นเป็นผู้ปกครองที่มีเกียรติสูงสุดในบรรดาผู้ปกครองคริสตจักรทั้งปวงด้วยเช่นกัน  และด้วยเหตุที่มุขนายกแห่งโรมได้รับการยกย่องอย่างสูงเช่นนี้ จึงทำให้ตำแหน่งมุขนายกแห่งโรมกลายมาเป็นที่มาของตำแหน่งพระสันตะปาปาในภายหลัง

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราชสำนักโรมันจะหันมายอมรับคริสต์ศาสนาในศตวรรษที่ 4 แต่ราชสำนักโรมันก็ยังคงยึดถือจารีตดั้งเดิมว่าจักรพรรดิทรงเป็นพระประมุขในทางโลกและทางธรรม จึงทำให้เหล่ามุขนายกไม่มีอำนาจมากไปกว่าผู้นำทางศาสนาเท่านั้น แต่เมื่อครั้นจักรวรรดิโรมันเริ่มอ่อนแอลงจากการแบ่งจักรวรรดิออกเป็นจักรวรรดิตะวันตก (Western Empire) และจักรวรรดิตะวันออก (Eastern Empire) ประกอบกับการรุกรานของเหล่าอนารยชน จึงทำให้ราชสำนักโรมันตะวันตกจำต้องย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงราเวนนา (Ravenna) ทางตอนเหนือของอิตาลี เพื่อรับมือพวกอนารยชน  ฝ่ายมุขนายกแห่งโรมจึงได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจในทางโลกในฐานะเจ้าผู้ครองกรุงโรมไปโดยปริยาย และเมื่อจักรวรรดิตะวันตกถึงกาลล่มสลายลงแล้ว คริสตจักรแห่งโรมยังสามารถโน้มน้าวและเกลี้ยกล่อมให้เหล่ากษัตริย์อนารยชนเผ่าต่างๆ ในยุโรปหันมาเข้ารีตได้ด้วยเช่นกัน จึงยิ่งทำให้มุขนายกแห่งโรมกลายมาเป็นมุขนายกในคริสต์ศาสนาเพียงหนึ่งเดียวที่มีอำนาจในทางโลกและทางธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

     กระทั่งในศตวรรษที่ 7 คริสตจักรแห่งโรมจึงได้ประกาศเปลี่ยนพระยศจากมุขนายกหรือบิชอปไปเป็นตำแหน่ง “ปาปา” (Papa) หรือตำแหน่งพระสันตะปาปาอย่างเต็มตัวในที่สุด โดยที่มาของคำว่าปาปานี้เป็นภาษาละตินที่แปลงมาจากคำว่า 'ปาปาส' (πάππας) ในภาษากรีกที่แปลว่า “บิดา” (Father) โดยชาวคริสต์ในยุคแรกก็มักจะเรียกเหล่าพระราชาคณะและมุขนายกในคริสตจักรด้วยความเคารพว่าปาปาสหรือปาปากันอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมุขนายกแห่งโรมก็มีความต้องการที่จะขยายอิทธิพลไปเหนือเหล่าคริสตจักรตะวันออก (Eastern church) ที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine empire) ด้วย จึงทำให้คริสตจักรแห่งโรมจึงได้ประกาศให้การขานนามว่าปาปาสหรือปาปานี้เป็นสิทธิ์ขาดของผู้นำคริสตจักรแห่งโรมแต่เพียงผู้เดียว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรแห่งโรมมีอำนาจเหนือเหล่าคริสตจักรและมุขนายกทั้งปวงนั่นเอง

    นอกจากการขยายอิทธิพลทางการเมืองในทางธรรม พระสันตะปาปาก็ยังคงขยายอิทธิพลทางการเมืองในทางโลกด้วย เพราะนอกจากการได้ครอบครองดินแดนในเขตภาคกลางของอิตาลีที่เรียกว่า 'รัฐพระสันตะปาปา' (Papal state) แล้ว พระสันตะปาปายังพยายามแสดงอำนาจทางการเมืองเหนือเหล่ากษัตริย์และจักรพรรดิในยุโรปตะวันตกอย่างเปิดเผย จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคริสตจักรและราชอาณาจักรอยู่หลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 11 – 13 นั้น พระสันตะปาปาก็บรรลุอำนาจในทางโลกขั้นสูงสุดจนสามารถบัญชาให้เหล่ากษัตริย์ ขุนนางและปวงชนทั้งยุโรปเข้าร่วมรบในสงครามครูเสด (Crusade) เพื่อแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ในแถบซีเรียและปาเลสไตน์กับพวกมุสลิม

    แต่ด้วยผลจากการกำเนิดของแนวคิดรัฐชาติ (Nation state) ในช่วงศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาที่ทำให้เหล่าเจ้าผู้ปกครองทั่วทั้งยุโรปเริ่มมีอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการกำเนิดของนิกายโปรเเตสแตนท์ (Protestant) ทำให้พระสันตะปาปาไม่อาจจะใช้อำนาจทางการเมืองเข้าชี้นำรัฐต่างๆ ได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป และยังส่งผลให้อำนาจของพระสันตะปาปาเริ่มเสื่อมถอยลง กลายเป็นเพียงพระประมุขแห่งศรัทธาในนิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น  ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรคาทอลิกกับประเทศไทยนั้น ปรากฎหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเคยมีการเรียกพระสันตะปาปาว่า "สังตอปาพา" ในจดหมายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ โกษาปาน ส่งไปถึงบาทหลวง เดอ ลาแชส ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยสันนิษฐานได้ว่า คำว่าสังตอปาพานี้คงจะมาจากคำว่า "ซังโต ปาปา" (Santo papa) ซึ่งเป็นคำเรียกพระยศของพระสันตะปาปาในภาษาโปรตุเกสที่มีความหมายว่า "บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" (holy father) นั่นเอง"

   จนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏหลักฐานการขานพระยศของพระสันตะปาปาใหม่ว่า 'โป๊ป' หรือ 'พระโป๊ป' ดังที่มีปรากฏในจดหมายส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยเสด็จต่างประเทศมาก่อน ซึ่งการเรียกพระสันตะปาปาว่าโป๊ปเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการเรียกในแบบภาษาอังกฤษมาก่อนทั้งสิ้น   เมื่อล่วงมาถึงยุคสมัยปัจจุบันแล้ว สำนักราชบัณฑิตยสภาจึงนำคำว่า 'ซังโต ปาปา' ในภาษาโปรตุเกสมาแปลงใหม่แล้วบัญญัติเป็นคำว่า 'พระสันตะปาปา' ในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ

    ดูเหมือนว่าปัจจุบันพระสันตะปาปาจะทรงเหลือสถานภาพเพียงผู้นำในทางธรรมของนิกายคาทอลิกเท่านั้น แต่หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ได้สิ้นสุดลงแล้ว ศาสนจักรโรมันคาทอลิกก็ได้เลือกที่จะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเพียงผู้ธำรงรักษาและสืบทอดหลักแห่งศรัทธาที่ประทับอยู่แต่ในนครวาติกัน ด้วยการก้าวออกมาจากกรุงโรม เพื่อเป็นผู้สร้างความเป็นเอกภาพและสันติภาพให้กับโลกสมัยใหม่ มิเป็นเพียงการเชื่อมสัมพันธ์กับบรรดานานาประเทศที่มิใช่ชาติคริสต์ศาสนาในนิกายโรมันคาทอลิก ผ่านการเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีและเยี่ยมเยียนบรรดาคริสตชนคาทอลิกในประเทศต่างๆเท่านั้น แต่พระสันตะปาปายังเป็นผู้นำด้านสันติภาพด้วยการเรียกร้องเรื่องสันติภาพและหลักมนุษยธรรมตามหลักจริยธรรมของคริสต์ศาสนาต่อสังคมโลกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพระดำรัสเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยสงคราม การจุนเจือผู้ยากไร้อันเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไร้ขอบเขต การต่อต้านการทำแท้งที่ถูกกฎหมายซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่ในทุกวันนี้ ฯลฯ

    ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็เห็นได้แล้วว่าพระสุรเสียงของพระสันตะปาปาที่ทรงมีต่อชนชาวโลกนั้นก็ยังคงแสดงถึงสถานภาพของผู้นำที่ยิ่งใหญ่เสมอมาอย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ และด้วยความสำเร็จของพระสันตะปาปาและคริสตจักรโรมันคาทอลิกในการปรับตัวไปตามแต่กาลยุคสมัยนี้เอง ทำให้บรรดานานาประเทศหรือแม้แต่ศาสนิกชนอื่นๆ ล้วนให้ความเคารพพระองค์ในฐานะพระประมุขทางศาสนาที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก.


เรื่อง:ภาสพันธ์ ปานสีดา
ภาพประกอบ:เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข