[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มิถุนายน 2566 16:34:30



หัวข้อ: ครกตำข้าวโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มิถุนายน 2566 16:34:30

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84819871683915_DSC_0407_Copy_.JPG)
การตำข้าวเปลือกของคนในสมัยโบราณ
เมื่อตำข้าวจนเปลือกหลุดออกจากเมล็ดแล้ว นำไปใส่กระด้ง ฝัดเอาเปลือกออกให้เกลี้ยง เหลือแต่เมล็ดข้าวสารไว้หุงกิน

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

ครกตำข้าวโบราณ

ครกตำข้าวโบราณเป็นเครื่องมือสำคัญในการแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารโดยวิธีการตำข้าววิธีการตำข้าวแบบเดิมของชาวบ้านนั้นเป็นการกะเทาะแยกเอาเปลือกหุ้มออกจากเมล็ดข้าว

ครกตำข้าวโบราณ หรือครกไม้ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ครกซ้อมมือ ครกตำข้าว เป็นต้น ครกตำข้าวโบราณ ชาวบ้านจะใช้สำหรับตำข้าวเปลือก ตำงา ตำถั่ว ตำข้าวเม่า ตำขนมจีน แต่ส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมุ่งใช้เพื่อตำข้าวเปลือกเป็นหลักเพราะในสมัยโบราณไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีตำข้าวเปลือกให้เป็นเม็ดข้าวสารไว้สำหรับหุงกิน จึงคิดประดิษฐ์ครกที่ทำจากไม้ขึ้นมา


การทำครกตำข้าวโบราณ/ครกไม้
ชาวบ้านจะใช้ท่อนไม้ใหญ่ทั้งลำต้น ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้พะยอม ฯลฯ โดยจะตัดท่อนไม้ให้มีความยาวประมาณ ๑ เมตรหรือประมาณ ๘๐-๙๐ เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ตัดหัวตัดท้ายให้ผิวเรียบเสมอกันเพราะเมื่อเวลานำครกไปตั้งไว้ ครกจะได้ตั้งได้ตรงไม่กระดกเอียงไปมาได้ จากนั้นชาวบ้านจะเจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ โดยไม่ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหิน การเจาะลึกจะใช้ขวานโยนและค่อยตกแต่งไปเรื่อยๆ ให้ปากครกกว้างส่วนก้นครกจะลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร บางพื้นที่จะใช้วิธีการเจาะตรงกลางเป็นร่องลึกโดยใช้ขวานฟันเอาแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผาส่วนกลางของท่อนไม้เผาเป็นโพรงให้มีขนาดลึกตามต้องการ เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจะทำการขัดภายในให้เกลี้ยงเกลาตัวครกมีสองขนาดคือครกขนาดใหญ่ และครกขนาดเล็ก

เมื่อทำครกเสร็จแล้ว จะต้องทำสากเพื่อใช้ในการตำ ซึ่งการทำสากจะทำได้ ๒ วิธี คือ
๑. สากมือ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งมีความยาวประมาณ ๒ เมตร ลักษณะปลายทั้งสองข้างโค้งมน หัวสากจะมนใหญ่ปลายสากจะมนเรียวเล็ก ตรงกลางลำตัวสากคอดกลมกลึงพอดีกับมือกำอย่างหลวม ปลายสากมีไว้ตำข้าวตำ หัวสากมีไว้ตำข้าวซ้อม ชาวภาคกลางเรียกสากของครกไม้นี้ว่า ตะลุมพุก
๒. สากชนิดใช้ไม้ ๒ ท่อนคือ ท่อนหนึ่งสำหรับตำ อีกท่อนหนึ่งเป็นมือจับ เรียกว่า สากโยนหรือสากมือ

การตำสิ่งของต่างๆ เช่น ตำข้าว ตำงา ตำพริก ตำแป้งขนมจีนและอื่นๆ อาจตำคนเดียว หรือ ๒ - ๓ คนก็ได้ ผู้ตำข้าวส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ถ้าตำหลายคนต้องตำสลับกัน เมื่อตำสิ่งของละเอียดจะมีคนคอยใช้มือกลับไปกลับมาให้ตำทั่วถึงกัน


วิธีตำข้าวมีลำดับดังนี้
๑. นำข้าวที่จะตำไปผึ่งแดดหนึ่งวันเพื่อให้ข้าวแห้งจะบุบเปลือกง่ายขึ้น

๒. นำข้าวมาเทลงในครกจำนวนพอเหมาะ ใช้คนตำสองสามคน มีจังหวะการตำที่ไม่พร้อมกัน

๓. ใช้เวลาในการตำข้าวนานจนกว่าจะเหลือข้าวเปลือกจำนวนน้อยที่ปนอยู่ในข้าวสาร แล้วเก็บกากออก


ข้อดีของการตำข้าวด้วยครกไม้/ครกมือ คือ เลือกสถานที่และเคลื่อนย้ายที่ตำได้ตามต้องการ เพราะครกไม้/ครกมือไม่ได้ฝังลงในดิน นอกจากนี้ครกไม้/ครกมือใช้คนตำจำนวนน้อยประมาณ ๒-๓ คน

ข้อเสียของครกไม้/ครกมือ คือใช้เวลาการตำนาน ออกแรงมาก ทำให้เหนื่อยเร็วและได้ข้าวจำนวนน้อย ในสมัยก่อนครกตำข้าวโบราณหรือครกไม้เป็นเครื่องใช้ที่มีแทบทุกครัวเรือน โดยชาวบ้านนิยมทำไว้ข้างยุ้งข้าวเพื่อความสะดวกโดยมุงหลังคายื่นออกมากันแดดกันฝนเรียกว่าเพิงมอง ถ้าบ้านใต้ถุนสูงจะตั้งครกไว้ใต้ถุนบ้าน

ปัจจุบัน ครกดังกล่าวนี้นับวันจะหมดไป เพราะความไม่สะดวกในการใช้และเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถอำนวยความสะดวกสบายเข้ามาใช้ในพื้นที่ แต่ก็ยังมีใช้อยู่บ้างตามแถวชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ


ที่มา :
       - "ครกตำข้าวโบราณ" ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
       - "เครื่องมือของใช้ล้านนา - ครกไม้" เว็บไซต์ openbase.in.th/