[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 22 สิงหาคม 2555 23:26:29



หัวข้อ: มหาชาติเวสสันดรชาดก (ประวัติมหาชาติ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 สิงหาคม 2555 23:26:29


(http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart/mahachart4.jpg)
มหาชาติเวสสันดรชาดก
จากหนังสือ - เพชรในคัมภีร์ : พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส/ประธานองค์การสาธารณสงเคราะห์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ตอนที่ ๑ ประวัติมหาชาติ
ประวัติความสำคัญแห่งการเทศน์มหาชาตินี้มีความโดยย่อว่า การเทศน์มหาชาติ คือการแสดงเรื่องเวสสันดรชาดกอันเป็นพระพุทธวจนะ เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า หรือเป็นเรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงเล่าถึงอัตตประวัติหรือชีวประวัติที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมยิ่งด้วยทานบารมี

คำว่า "มหาชาติ" แปลความว่า "พระชาติที่ยิ่งใหญ่ หรือ พระชาติที่สำคัญ" อันหมายถึงการที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ด้วยทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่สำคัญยิ่งด้วยทานบารมี และเป็นการเสวยพระชาติสุดท้ายที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลาช้านานถึง ๔ อสงไชย ๑ แสนกัป จนพระสมติงสบารมีธรรม ๓๐ ประการ คือ พระบารมี ๑๐ พระอุปบารมี ๑๐ และพระปรมัตถบารมี ๑๐ ครบบริบูรณ์ในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนี้

เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดก ของเดิมแต่งไว้ในภาษาบาลี แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีล้วนมีจำนวน ๑,๐๐๐ คาถา แต่ก่อนคงนิยมเทศน์กันเฉพาะที่เป็นคาถาภาษาบาลีล้วน ๆ อย่างที่เรียกกันว่า "เทศน์คาถาพัน" และคงจะไม่เทศน์เป็นทำนอง ภายหลังมีพระอรรถกถาจารย์แต่งอรรถกถาภาษาบาลี อธิบายความเป็นคำร้อยแก้วเพิ่มเติมไว้ในตอนต้นและในตอนสุดท้ายของชาดกก็ได้แต่งคำอธิบายในเรื่องกลับชาติของเวสสันดรชาดกออกเป็นภาษาไทย และร้อยกรองให้ไพเราะตามหลักกวีนิพนธ์ จึงมีมหาชาติในพากย์ภาษาไทยเป็นสำนวนต่าง ๆ หลายสำนวน และแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกกันว่ากัณฑ์ มีทั้งหมดรวม ๑๓ กัณฑ์ และกล่าวกันสืบมาว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดมีการประชุมฟังเทศน์มหาชาติกันทุกปีเป็นธรรมเนียมสืบมา

(http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart/mahachart8.jpg)
ประเพณีนิยมเทศน์คาถาพันนี้สันนิษฐานกันว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กรุงสุโขทัย ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๐๒๕ วิธีแต่งนำเอาภาษาบาลีเดิมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลเป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ใกล้กับภาษาบาลีเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

หนังสือมหาชาติคำหลวงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าให้แต่งขึ้นนั้น ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับใช้สวด และต่อมาได้โปรดเกล้าให้นิมนต์พระสงฆ์ผู้สามารถอ่านวรรณคดีได้ถูกต้องตามทำนองกวีนิยมสมัยนั้น เข้าไปอ่านวรรณคดีมหาชาติคำหลวงถวายในพระที่นั่งเป็นประจำ จนเกิดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อ ๆ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากเวลามีงานนักขัตฤกษ์เช่นเข้าพรรษา ครั้งโบราณก่อนนั้นเป็นหน้าที่ของขุนทินบรรณาการและขุนธานกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน นั่งบนเตียงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วสวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่า ถวายพระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา ต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปสวดมหาชาติคำหลวงเป็นทำนอง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในพระราชพิธีทรงถวายพุ่มเทียนพรรษา เป็นประจำทุกปีตลอดมา

ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๕๘ หนังสือมหาชาติคำหลวงจึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้
นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา กาพย์มหาชาติมีศัพท์บาลีน้อย มีภาษาไทยมาก เข้าใจว่าคงจะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษทั้งหลายเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง แต่เรื่องก็คงยาวเช่นเดิม คงจะเทศน์ไม่จบในวันเดียว จึงได้เกิดการแต่งมหาชาติกลอนเทศน์ในเวลาต่อมา

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์หรือร่ายยาวมหาชาตินั้น วิธีแต่งนำเอาคำบาลีที่เป็นคาถาและอรรถกถามาลงไว้ แล้วแต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาว ต่อเข้าเป็นตอน ๆ สำหรับพระเทศน์ เพื่อผู้ฟังจะได้ฟังทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้แต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นมากมายหลายสำนวน ผู้แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลายท่านด้วยกัน ประเพณีการเทศน์มหาชาตินี้ มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยกับมอญเท่านั้น ในลังกาและพม่าหามีอย่างประเทศไทยไม่ และประเพณีการมีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดทำทั้งเป็นพระราชพิธีของหลวงและพิธีของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ส่วนประเพณีเทศน์มหาชาติของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วไปนั้น เป็นที่นิยมกันทั่วไปว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้เป็นทานมัยกุศลอันสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้เป็นที่นิยมกันในเมืองไทยยิ่งนัก และมีทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนกำหนดการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินั้น แต่ก่อนนิยมจัดกันตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เลื่อนมามีในเดือนอ้าย ส่วนในปัจจุบันนี้ ประเพณีการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดกันหลังออกพรรษาแล้วจนถึงเดือน ๔ หรือไม่ก็ตามสะดวก ไม่กำหนดไว้ตายตัว

(http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart/mahachart10.jpg)
การที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นิยมบำเพ็ญกุศลบริจาคทานในพิธีเทศน์มหาชาตินี้มาก แปลกกว่าการสร้างกุศลโดยนัยอย่างอื่น ๆ ก็เพราะมีมูลเหตุอันสำคัญเป็นเครื่องชักจูงใจให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อและความเลื่อมใส ๓ ประการ คือ

๑.เพราะมีความเชื่อกันด้วยความแน่ใจว่า เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้เป็นพระพุทธวจนะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเรื่องจริงที่ออกจากพระโอษฐ์โดยตรง เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า เพราะความจริงมีอยู่ว่าบรรดาพระพุทธวจนะทั้งหลาย เมื่อผู้ใดได้สดับด้วยความเชื่อความเลื่อมใสก็ย่อมจะเกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ชีวิตของผู้นั้น และเป็นการสร้างสมอบรมปัญญาบารมีธรรม อันจะเป็นปุพเพกตปุญญตาสำหรับตนสืบต่อไปในภายหน้า พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้ที่ยินดีแสวงหาบุญกุศลก็ย่อมมุ่งหมายที่จะพึงบำเพ็ญตามความสามารถ ในเมื่อมีเทศน์มหาชาติขึ้นแต่ละครั้งเสมอมา

๒.เพราะมีความเชื่อกันสืบมาว่า พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระศรีศากยมุนีสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ไปซึ่งอุบัติอยู่ในเทวโลกสวรรค์นั้น ได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยเถระผู้มีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งได้ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นนั้นให้มาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ว่า ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาจะใคร่ประสบพบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งนิยมกันว่า บุคคลผู้จะเกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยนั้นล้วนเป็นผู้ได้สร้างสมอบรมบุญบารมีธรรมไว้สมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเป็นมนุษย์ที่มีความเจริญทุกประการ เป็นที่เกษมศานติ์อย่างยิ่งยวด เป็นต้นว่ารูปก็งาม เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญศีลบารมีอย่างสมบูรณ์ จึงมีรูปสวยงามเหมือนกันหมด จนลงจากบันไดเรือนแล้วก็จำหน้ากันไม่ได้ เพราะมีหน้าสวยงามเหมือนกัน จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมประสงค์ ด้วยมีต้นกัลปพฤกษ์สำหรับจะให้ผู้ที่นึกไหนได้

นั่น เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญทานมาอย่างสมบูรณ์ เป็นคนมีสติปัญญาดี เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญภาวนามาอย่างสมบูรณ์ย่อมไม่มีคนพิกลพิการต่าง ๆ เช่นคนตาบอด หูหนวก บ้าใบ้ วิกลจริต เป็นต้น แผ่นดินก็ราบเรียนเสมือนหน้ากลอง ที่สุดจนน้ำในแม่น้ำก็เต็มเปี่ยมฝั่งจนกระทั่งกาก้มดื่มได้ น้ำก็ไหลขึ้นข้างหนึ่งไหลลงอีกข้างหนึ่งอยู่เป็นนิตย์ และทุกคนที่เกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยแล้วย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็จงให้ผู้นั้นสดับฟังเวสสันดรชาดกอันประดับด้วยพระคาถา ๑,๐๐๐ พระคาถา ในวันและราตรีเดียวให้จบ และให้บูชาด้วยประทีปธูปเทียน ธงฉัตร สารพันดอกไม้ ดอกบัว ดอกจงกลนี ราชพฤกษ์ ดอกผักตบ ให้ครบจำนวนถ้วนสิ่งละหนึ่งพัน ผลานิสงส์นั้นจะชักนำให้สมมโนรถจำนงฉะนี้ เพราะเหตุนี้ ผู้ซึ่งมุ่งหมายจะใคร่พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย จึงตั้งใจบำเพ็ญบารมีธรรมในการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้เป็นประจำสืบ ๆ กันมา

๓.เพราะการเทศน์มหาชาตินี้ ท่านผู้เทศน์ก็แสดงด้วยกระแสเสียงเป็นทำนองไพเราะต่าง ๆ กัน สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้สดับฟังให้เกิดปีติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจ ทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสแห่งพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุนี้ ผู้ที่หวังความปราโมทย์ก็ย่อมมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญบุญกุศลด้วยการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้
เพราะอาศัยประโยชน์ที่จะเกิดจากการสดับฟังเทศน์มหาชาติประกอบด้วยมูลเหตุที่สำคัญ ๓ ประการดังกล่าวแล้ว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มุ่งถึงประโยชน์จะเกิดมีแก่ตน จึงมีความเห็นว่าการที่ตนได้สดับฟังพระพุทธวจนะเรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ ถือกันว่าเป็นบุญกุศลเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ไม่ผิดกับการได้สดับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหรือพระอนัตตลักขณะสูตรอันเป็นความดีส่วนหนึ่งแล้ว ยังสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจดีกว่าการบำเพ็ญทานมัยกุสลอย่างอื่น ๆ เพราะเหตุนี้ การมีเทศน์มหาชาติจึงเฟื่องฟูเป็นที่นิยมกันสืบ ๆ มาจนเป็นสิ่งที่ควรมี ควรทำประจำใจในบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนา

(http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart/mahachart13.jpg)
ตอนที่ ๒ วิวัฒนาการมหาชาติ
มหาชาติในยุคปัจจุบันวิวัฒนาการไปตามยุคตามสมัย บางอย่างก็ยังเป็นวัฒนธรรม แต่บางสิ่งก็น่าวิตกเกรงจะเป็นหายนธรรม ปัจจุบันมหาชาติแบ่งเป็น ๔ ลักษณะ คือ
๑.มหาชาติเรียงกัณฑ์ คือเทศน์ไปตามลำดับเนื้อความแต่ละกัณฑ์ พระที่แสดงขึ้นธรรมาสน์แสดงคราวละ ๑ รูป เนื้อความจะไม่ถูกตัดลัดจนเกินไป ส่วนใหญ่จะเป็นการเทศน์ตามพระอารามหลวง และเทศน์ "ทำนองหลวง"

๒.มหาชาติประยุกต์ คำว่า "มหาชาติประยุกต์" คำนี้ อาจารย์ของข้าพเจ้าคือท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล (หลวงตา-แพรเยื่อไม้)วัดประยุรวงศาวาส เป็นผู้คิดและใช้คำๆ นี้เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือฟังรู้เรื่อง เข้าใจ ทันเหตุการณ์ ทันสมัย และได้สาระ อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาในการแสดง ซึ่งชาวบ้านผู้ฟังนับวันจะหาโอกาสยากยิ่งขึ้น ด้วยภารกิจและการดำรงชีพ

๓.มหาชาติทรงเครื่อง คำว่า "มหาชาติทรงเครื่อง" มี ๓ ลักษณะ คือ มี การปุจฉา-วิสัชนา ถาม-ตอบในเรื่องที่เทศน์ มีการสมมติหน้าที่ เช่น องค์โน้นเป็นพระเวสสันดร องค์นี้เป็นพระนางมัทรี เป็นต้น และในการเทศน์มีแหล่ทั้งแหล่นอกแหล่ในมิใช่ว่าแต่ทำนองประจำกัณฑ์เท่านั้น

๔.มหาชาติหางเครื่อง คำนี้เป็นศัพท์ที่ข้าพเจ้าบัญญัติขึ้น เดิมทีการแสดงประกอบที่เรียกว่าเป็น "บุคคลาธิษฐาน" มีแต่ฆราวาสล้วนๆ เช่น เอาชูชกมาออกฉาก แต่ปัจจุบันชาวบ้านนิยมหาคณะลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ พอเป็นกริยา (ซึ่งบางครั้งก็น่าเป็นห่วง เพราะมุ่งเอาสนุกจนลืมสาระ) ควรช่วยกันรักษาลักษณะการเทศน์มหาชาติในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ทางธรรมไว้ และช่วยกันขจัดไม่สนับสนุนการเทศน์ที่เป็นอธรรม โดยเฉพาะที่มุ่งแสวงหาปัจจัยจนไร้สติ จนลืมสมณะภาวะกลายเป็นทำลายศรัทธาปสาทะและคุณค่าทางธรรม และจริยธรรมที่ควรคำนึง.!

http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart.html