[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 พฤษภาคม 2567 01:08:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โขน : มหรสพสมโภช  (อ่าน 43 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5489


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0 Chrome 124.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 เมษายน 2567 12:46:44 »



โขน : มหรสพสมโภช

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑. มหกรรมบูชา ได้แก่การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒. เนื่องในพระราชพิธี ในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือคเชนทรัศวสนานและมีมหรสพต่างๆ สมโภชและกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานละครอิเหนา ว่า...การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนือง  จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอ ได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวง ปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์” นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓. งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพ และบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง...โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวน อีกโรงหนึ่งเล่นชุดศึกอินทรชิต งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขน งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน

๔. งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ “ในวัน ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ ค่ำ มีโขน...” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค้ำวันนี้มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษกสมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละคร “การแสดงโขนและมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุทศกัณฐ์” เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในมหรสพสมโภชดังนี้


              พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง       สื่อเมืององคตพดหาง
              ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง   ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี


ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕. งานบันเทิงและบำรุงศิลปะ การแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่น โขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า ...จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอยณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นมาดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๒ ชุดพรหมาศ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

หน่วยงานของรัฐคือกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนชมเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่น ในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น

การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากรโดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธี ที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา

๖. งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพต รับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้วโขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา มีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น

[...] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมา ธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้นไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขา ตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทิวเช่นที่นิยมปฏิบัติ

ในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่าการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์...” ดังนั้นการแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช” เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น


บทความ โขน : มหรสพสมโภช จากนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 เมษายน 2567 12:51:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.403 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 30 เมษายน 2567 15:04:36