บันทึกพระธรรมเทศนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙ -----------------------------------------
บันทึกพระธรรมเทศนา* ปมาทํ อปฺปมาเทน | | ยทา นุทติ ปณฺฑิโต |
ปญฺญาปาสารทมารุยฺห | | อโสโก โสกินึ ปชํ |
ปพฺพตฏฺโฐว ภุมฺมฏฺเฐ | | ธีโร พาเล อเวกฺขติ |
ท่านชี้ว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แสดงของจริงที่มีในตนให้สำเร็จเป็นนาถะ คือที่พึงของผู้ปฏิบัติตามได้ ต่อแต่นี้ ท่านแสดงไปโดยลำดับว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมว้าเหว่ใจ เปรียบเหมือนแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทร ส่วนผู้มีที่พึ่งย่อมไม่ว้าเหว่ใจ เปรียบเหมือนมีเกาะเป็นที่อาศัย พระพุทธศาสนาแสดงที่พึ่งไว้ว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า ตนเองทำที่พึ่งให้แก่ตน แสดงว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ตามนัยธชัคคสูตร ทั้ง ๒ นัยนี้ดูเหมือนค้านกัน แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ไม่ค้านกัน ตนจะเป็นที่พึ่งของตนได้ ก็ด้วยพยายามถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เปรียบเหมือนผู้ตกอยู่ในมหาสมุทรต้องพึ่งตน คือต้องพยายามช่วยตนให้ถึงเกาะ ตนจึงเป็นที่พึ่งส่วน ๑ พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งส่วน ๑
พระพุทธเจ้า ชั้นเดิม เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงมีความไม่ประมาทในวัย ในความไม่มีโรค ในชีวิต ในทรัพย์สมบัติ ในพระรูปโฉม จึงเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมะที่ทำให้ไม่ประมาทอย่างหนึ่ง เมื่อทรงบรรลุธรรมะอันสูงสุดแล้ว ทรงเล็งเห็นสามัญชนเป็นผู้ประมาทในวัยเป็นต้น เหมือนไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติและรูปกาย จึงมีพระกรุณาแสดงธรรมะสั่งสอนให้ไม่ประมาท ดังพระพุทธภาษิตข้างต้นแปลว่า เมื่อใด บัณฑิตคือผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญาพิจารณาเห็นจริง บรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นก็ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญาหรือปัญญาดังปราสาท เป็นผู้ไม่มีโศก เห็นหมู่สัตว์ผู้มีโศก ปราชญ์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรง ย่อมเห็นหมู่คนเลวเหมือนผู้อยู่บนภูเขา เป็นผู้อยู่บนพื้นดิน
พระพุทธภาษิตนี้ แสดงธรรมะเป็น ๓ คู่ แต่ตรงกันข้ามคู่ที่ ๑ คือความประมาทและความไม่ประมาท ความประมาท คือความวางใจ เพลิดเพลินไปในวัย เป็นต้น ความไม่ประมาท คือความไม่วางใจ เพลิดเพลินไปอย่างนั้น บรรเทา คือทำให้น้อยลงจนหมดไป เมื่อบรรเทาอยู่ ย่อมอาจรู้ได้ด้วยปัญญาที่พิจารณาว่าตนเองเป็นผู้ประมาท หรือไม่ประมาทอย่างไร ถ้ายังประมาทอยู่เต็มที่ ก็ไม่อาจรู้ตนเองได้ว่าเป็นผู้ประมาท ต่อเมื่อมีความไม่ประมาท จึงอาจรู้ตนเองได้ตามเป็นจริง ปัญญานี้ รู้ตนเองก่อนว่า เป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาทอย่างไร แล้วจึงรู้ยิ่งขึ้นไปถึงการทำความไม่ประมาทให้ยิ่งขึ้น ละความประมาทให้น้อย และการที่จะอาศัยความไม่ประมาท ปฏิบัติอธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป ปัญญาจึงมีเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เปรียบเหมือนปราสาท เมื่อบุคคลขึ้นสู่ปราสาท ย่อมอาจเห็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าได้ ฉันใด ผู้ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อพิจารณาเห็นจริงจนเป็นผู้ไม่มีโศกได้แล้ว ก็อาจเห็นผู้ที่ยังมีโศกอยู่ได้ (เป็นคู่ที่ ๒)
ต่อแต่นี้ ท่านย้ำอีกว่า ธรรมะมีในตน บุคคลเป็นคนดี ก็เพราะมีกุศลธรรมอยู่ในตน เป็นคนชั่ว ก็เพราะมีอกุศลธรรมอยู่ในตน ที่ชื่อว่าคนดีหรือคนชั่ว เมื่อสาวเข้าไปก็จะพบกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม พึงพิจารณาดูในตนให้รู้ว่ามีกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมตามเป็นจริง และพึงอาศัยความไม่ประมาท และอกุศล อบรมกุศลให้ยิ่งขึ้น ในข้อนี้ต้องอาศัยการรวบรวมจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ดีที่ชอบ ไม่ให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านในอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ชื่อว่าอารมณ์คือ เรื่องที่คิดยึดหน่วง ดังพระบาลีว่า ยญฺจ เจเตติ ยญฺจ ปกฺปปติ ยญฺจ อนุเสติ อารมฺมณเมตํ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา แปลว่า คิดเรื่องใด ดำริเรื่องใด นอนตามคือหมกมุ่นเรื่องใด เรื่องนั้นเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งอยู่ของวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ในเทวธาวิตกฺกสูตร ท่านสอนให้ทำวิตกเป็น ๒ ส่วน คือ กุศลวิตกส่วน ๑ อกุศลวิตกส่วน ๑ เมื่อตรึกอยู่ในวิตกส่วนไหน ก็ให้รู้ตามเป็นจริง เมื่อคอยรู้อยู่เช่นนี้ อกุศลวิตก ก็จักสงบ คงอยู่แต่กุศลวิตก จะตรึกกุศลวิตกอยู่ตลอดวันตลอดคืน ก็เป็นการดี แต่ถ้านานนัก จิตก็ล้า กายก็ล้า ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะมีอารมณ์มาก จึงให้สงบกุศลวิตกเสียอีก รวบรวมจิตให้ตั้งอยู่แต่ในอารมณ์เดียว เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ ก็อาจรู้ตามเป็นจริง ข้อที่รู้นั้นเป็นสัจธรรม เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาด้วยจิตตั้งมั่น ก็อาจรู้ได้ ต่อไปนี้ ท่านเข้าอริยสัจจว่ากายที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ส่วน ๑ ธาตุรู้ที่ยื่นออกไปยึดกาย จึงเกิดโสกปริเทว โทมนัส อุปายาส เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากสิ่งเป็นที่รัก ประมวลเข้าว่าปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นสมประสงค์ เป็นทุกข์อีกส่วน ๑ ปัญญาที่รู้ผิดเป็นเหตุให้ดิ้นรนกระวนกระวายเพื่อให้ได้ ให้เป็น ให้เสื่อมเสีย ความดิ้นรนกระวนกระวายนี้เป็นทุกขสมุทัย สงบความดิ้นรนกระวนกระวายเสียได้ เป็นทุกขนิโรธ ปัญญาที่พิจารณาให้รู้ตามเป็นจริง เป็นเหตุให้สงบความดิ้นรนกระวนกระวายเสียได้เป็นมรรค
ครั้นเข้าอริยสัจแล้ว ท่านหันกลับไปหาความประมาทและไม่ประมาทว่า ความประมาทเปรียบเหมือนมารที่เคยกดตนให้ต่ำทรามลงไป ความไม่ประมาทเหมือนเป็นบารมี คุณความดีที่ได้อบรมไว้ เป็นเครื่องยกตน พยุงตน อุปถัมภ์ตนให้สูงขึ้น และให้เห็นผู้ที่ยังเขลาซึ่งวิ่งวนอยู่เพราะความประมาท เปรียบเหมือนผู้อยู่บนภูเขา เห็นผู้อยู่บนพื้นดินเบื้องล่างฉะนั้น (เป็นคู่ที่ ๓) ผู้อยู่บนพื้นดินซึ่งเป็นข้อเปรียบของดินนั้นย่อมวิ่งแข่งกันไปรอบเขา คนอยู่หลัง ก็พยายามวิ่งให้ทันคนอยู่หน้า คนอยู่หน้าก็วนไปตาม คนอยู่หลังอีกเพราะเป็นวงกลม ความประมาท เป็นเหมือนมารที่คอยหมุนให้วนอยู่อย่างนี้ ส่วนความไม่ประมาทเป็นเหมือนบารมีที่ยกตนให้สูงขึ้นจนถึงยอด เป็นผู้ไม่ต้องวน ทั้งเห็นผู้ที่วิ่งวนอยู่ได้
ในที่สุด ท่านเตือนให้ทำที่พึ่งให้แก่ตน ด้วยทำความไม่ประมาทในวันเป็นต้นโดยสามารถ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๗
*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระเพ็ญ ชุณหปักษ์ กัตติกมาส (ดูด้วยตาเห็นจันทร์เสวย มิคสิรฤกษ์เป็นเดือนมิคสิรมาสแล้ว) วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงแสดงพระธรรมเทศนาศราทธพรตในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓ |
ขอขอบคุณที่มาภาพ : f.โบราณนานมา
บันทึกพระธรรมเทศนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙ -----------------------------------------
บันทึกพระธรรมเทศนา* นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส | | ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต |
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ | | น เว นิพฺพานสนฺติเก |
ท่านดำเนินอารัมภกถาว่า บัดนี้ จักได้แสดงธรรมะคือคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เพื่อประดับปัญญาความรู้ เพิ่มพูนปัญญาบารมี ความฉลาดเป็นไปในทางธรรมะ เพื่อทำบุคคลให้เป็นคนดี และทำบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ให้ถูกเบียดเบียนจากกันและกัน ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น แสดงสัจธรรมอันมีที่บุคคลไม่ใช่ที่อื่น โดยนัยหนึ่ง แสดงความดี ความสุข และความชั่ว ความทุกข์ว่ามีที่ตนหรือที่บุคคล เมื่อบุคคลทำดี ก็ได้สุข เมื่อบุคคลทำชั่ว ก็ได้ทุกข์ ด้วยตนเองทั้ง๒ อย่าง ไม่มีผู้อื่นยกย่องหรือทับถมได้
พระบรมศาสดา (ชั้นแรก เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้) ก่อนแต่ตรัสรู้ ก็ทรงแสวงความดีและความสุขเพื่อพระองค์เอง ชั้นแรก ทรงแสวงหาที่สำนักของผู้อื่น เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง ทรงทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ดีเป็นอันเดียว ทรงทำจิตที่ตั้งมั่นให้เป็นภพที่ไม่หวั่นไหว อันเรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ทรงน้อมไปพิจารณาสัจธรรม ก็ทรงเห็นตามเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นชอบจะมีได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจมั่นโดยชอบคือสัมมาสมาธิอุดหนุน เมื่อพิจารณาสัจธรรมด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะสามารถเห็นตามเป็นจริงเป็นสัมมาทิฏฐิได้ และเมื่อความเห็นความตั้งใจมั่นเป็นสัมมาทิฏฐิสัมมาสมาธิขึ้นแล้ว มรรคข้ออื่น มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น ในระหว่างก็เกิดพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี เมื่อเกิดมรรคสมังคีขึ้นแล้ว ความรู้แจ่มแจ้งตามเป็นจริงก็เกิดปรากฏเป็นวิชชา เมื่อมีความรู้แจ่มแจ้งตามเป็นจริงก็พ้นจากความรู้ชั่วรู้ผิด เป็นวิมุตติ พระบรมศาสดาจึงทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาพร้อมทั้งเหตุเครื่องดำเนินถึงวิชชาคือจรณะเป็นวิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ด้วยประการฉะนี้
พระบรมศาสดา เมื่อทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะแล้ว ก็ทรงแสดงคำสั่งสอนแสดงเหตุผลฝ่ายดีส่วน ๑ ฝ่ายชั่วส่วน ๑ เพื่อว่าบุคคลปรารถนาผลอย่างใดก็จักได้ปฏิบัติในเหตุอันเป็นไปเพื่อผลอย่างนั้น รวมเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะแปลว่าสภาพที่ทรงไว้ คือธรรมะส่วนกุศล ก็ทรงตนเองเป็นกุศล เมื่อบุคคลปฏิบัติ ก็ทรงผู้ปฏิบัติให้เป็นคนดี ธรรมะส่วนอกุศลก็ทรงตนเองเป็นอกุศล เมื่อบุคคลปฏิบัติ ก็ทรงผู้ปฏิบัติให้เป็นคนชั่ว ยังมีธรรมอีกส่วน ๑ เป็นเครื่องอุดหนุนให้บุคคลทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ อันเรียกว่าอุปการธรรมะ ธรรมส่วนนี้ เรียกว่า อัพยากตธรรม ธรรมเหล่านี้มีที่บุคคล เมื่อกุศลธรรมมีอยู่ บุคคลเป็นดีและมีสุข เมื่ออกุศลธรรมะมีอยู่ บุคคลก็เป็นคนชั่ว และมีทุกข์ บุคคลต่างปรารถนาผลดีหรือสุขอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าประพฤติเหตุอย่างอื่น ก็จักได้รับผลอย่างอื่น และเมื่อได้รับผลอย่างใดแล้ว ถ้าคิดเห็นว่าเกิดจากผู้อื่นยกย่องหรือทับถม หรือเกิดจากเหตุอื่นที่ไม่ตรงกับผลนั้น และประพฤติไป ก็จักได้ผลอย่างอื่นต่อไปอีก บุคคลอยู่ด้วยความคิด ความประพฤติและผลอย่างนี้ ต่อเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม จึงจักได้รับผลตามปรารถนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แสดงให้ประพฤติทางกาย วาจาด้วยความตั้งใจ เป็นปฏิปักษ์ต่อความประพฤติชั่วทางกายวาจาด้วยความตั้งใจ เมื่อประพฤติดีทางกายวาจาด้วยความตั้งใจแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความประพฤติชั่วทางกายวาจาด้วยความตั้งใจ เป็นชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ แสดงให้ทำใจให้ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ดีให้เป็นอันเดียว เป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เมื่อมีใจตั้งมั่นเป็นอันเดียวแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความฟุ้งซ่านเสียได้ ชั้นที่ ๓ แสดงให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้ชั่วรู้ผิด เมื่อพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความรู้ชั่วรู้ผิด ปัญญาคือความรู้ถูกต้องตามเป็นจริง ย่อมมีแก่ผู้เพิ่ง ไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง ความเพ่งย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง ความเพ่งและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นอยู่ในที่ใกล้นิพพาน ดังนี้ นิพพาน แปลว่า ความดับ ดังพระพุทธภาษิตว่า
ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพานํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ
ในที่นี้ หมายถึงดับความรู้ผิด และความชั่ว นิพพานนี้ มักเข้าใจกันว่าสูงเกินจะปฏิบัติให้ถึงได้ แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อบุคคลดับความรู้ผิดและความชั่วได้เพียงใด ก็เป็นนิพพานเพียงนั้น แต่ยังอาจเป็นนิพพานชั้นต้นชั้นต่ำ เมื่อบุคคลดับความรู้ผิดได้หมด ดับความชั่วได้หมด เพราะมีความดีเต็มที่ จึงเป็นนิพพานชั้นสูงสุด และนิพพานนี้ย่อมเกิดแต่เหตุคือ ฌาน ความเพ่งและปัญญาความรู้ บุคคลย่อมมีความเพ่งและปัญญาอยู่โดยปรกติ เช่นเพ่งด้วยตา ทำให้เป็นรูปถูกต้อง เงี่ยหูฟัง ชื่อว่าเพ่งด้วยหู ทำให้ได้ยินเรื่องถูก ดมกลิ่นด้วยจมูกบ่อยๆ ลิ้มรสด้วยลิ้น เช่นชิมแกง ถูกต้องด้วยกาย เช่นจับชีพจร หรือเอานิ้วจิ้มน้ำให้รู้ว่าร้อนหรือเย็น คิดทบทวนให้รู้เรื่อง ด้วยมนะ ชื่อว่าเพ่งด้วยจมูก ลิ้น กาย และมนะ ให้รู้กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องความเพ่งย่อมให้เกิดความรู้อย่างนี้ ผู้ที่ไม่มีปัญญา คือไม่รู้ว่าความเพ่งทำให้เกิดปัญญา ย่อมไม่มีความเพ่ง (เพราะเมื่อเพ่งเข้าก็กลายเป็นผู้มีปัญญาไป) จึงทรงแสดงว่า “ความเพ่งย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา” และเมื่อไม่เพ่ง ก็ไม่รู้ ดังที่ทรงแสดงต่อไปว่า “ปัญญาคือความรู้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง” ต่อเมื่อมีฌานคือความเพ่ง จึงจักเกิดปัญญาคือความรู้ เมื่อมีความรู้ถูก ก็เป็นเครื่องดับความรู้ผิด และความชั่วให้เสื่อมสิ้นไปโดยลำดับ ผู้มีความเพ่งและความรู้ จึงชื่อว่าอยู่ในสำนักหรือในที่ใกล้ของพระนิพพานคือความดับความรู้ผิดและความชั่ว ดังพระพุทธภาษิตต่อไปว่า “ความเพ่งและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นอยู่ในที่ใกล้นิพพาน” ดังนี้
ในที่สุด ท่านเจ้าคุณเตือนพุทธศาสนิกให้ทำลายมาร คือความที่คิด โลภ โกรธ และหลงงมงายติดอยู่ อันเกิดจากกิเลสเสวยที่มีอยู่ของบุคคลทุกคนด้วยความหมั่นเพ่งให้รู้ตามเป็นจริง เพื่อดับความรู้ผิดและความชั่ว แม้ผู้ปรารถนาจะแต่งตัวให้สวยงาม ก็ยังต้องเพ่งดูตัวที่กระจกเงา จึงจะสามารถแต่งตัวให้สวยงามได้ ในทางธรรมะก็จำต้องเพ่งให้รู้ตามเป็นจริงเช่นเดียวกัน บุคคลทำชั่วก็เพราะรู้ชั่ว ทำดี ก็เพราะรู้ดี เมื่อเพ่งพิจารณาก็ทำให้รู้ดี เป็นเหตุให้ทำดี ทุกคนจึงสมควรเพ่งให้รู้ดีคือรู้ตามเป็นจริงดับความรู้ชั่วรู้ผิดตามสามารถ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๗
*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระกึ่งกาฬปักษ์ มิคสิรมาส วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗