ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชรขอขอบคุณเว็บไซต์
lovethailand.org (ที่มาภาพประกอบ)
ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชรขอขอบคุณเว็บไซต์
lovethailand.org (ที่มาภาพประกอบ)
ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร ถนนกำแพงเพชร ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร บนถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย จะเห็นกำแพงศิลาแลง เรียกกันว่า "ป้อมทุ่งเศรษฐี" ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองนครชุม ใกล้วัดซุ้มกอ เป็นป้อมที่อยู่นอกเมืองกำแพงเพชร คนละฝั่งแม่น้ำปิงกับตัวเมือง ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คาดว่าเป็นชาวโปรตุเกสมาสร้างให้ โดยขนศิลาแลงจากฝั่งกำแพงเพชร มาทำป้อมปราการใช้ป้องกันข้าศึกที่ทันสมัยและแข็งแกร่งที่สุดในสมัยนั้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำจำกัดความว่า ป้อม คือ หอรบ หรือที่ซึ่งมีที่กำบังแข็งแรงสำหรับใช้ในการควบคุมการใช้อาวุธ
ป้อมทุ่งเศรษฐีมีลักษณะเป็นป้อมปราการรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีป้อมประจำมุมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือรูปหัวลูกศร ป้อมมีความหนา ๓.๕ เมตร ในแต่ละด้านมีขนาดกว้าง ๘๓ เมตร แนวกำแพงป้อมสูง ๕ เมตร ที่บริเวณกึ่งกลางของแนวกำแพงแต่ละด้านมีช่องประตูกว้าง ๓ เมตร กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ด้านในก่อเป็นแท่นเชิงเทิน ตอนบนสุดก่อเป็นใบเสมาสูง ๑ เมตร ช่องระหว่างใบเสมาสันนิษฐานว่าใช้สำหรับยิงอาวุธหรือสังเกตการณ์ ผนังกำแพงด้านในทุกด้านมีซุ้มคูหาลักษณะเป็นช่องเจาะลึกเข้าไปในกำแพงเป็นยอดแหลมแบบใบเสมาด้านละ ๖ ช่อง ขนาดกว้าง ๑.๖ เมตร สูง ๒ เมตร และลึก ๑.๘ เมตร ตรงมุมมีป้อมยื่นออก ๔ มุม ตรงกลางแต่ละด้านมีช่องประตูเข้า – ออก ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อต่อกันได้ มีรูมองอยู่ติดกับพื้น ใต้ใบเสมาเจาะช่องเพื่อใช้ในการตรวจดูข้าศึกและเป็นช่องปืนไปในตัว ด้านในกำแพงก่อเชิงเทินตลอดแนวเพื่อใช้เดินตรวจตรา ส่วนล่างของกำแพงด้านในก่อเป็นช่องกุด ส่วนบนของกุดก่อเป็นยอดแหลม ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน มีใบเสมาเหลืออยู่ แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง คงเหลือสภาพสมบูรณ์อยู่ ๓ ด้าน โดยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้ถูกรื้อถอนหลงเหลือเพียงแนวฐานกำแพง โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์
ป้อมทุ่งเศรษฐีก่อด้วยศิลาแลงสอปูน ศิลาแลงที่ใช้ก่อสร้างมีขนาดกว้าง ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๕๐ เซนติเมตร และหนา ๖-๑๕ เซนติเมตร ภายในซุ้มคูหาจะมีช่องขนาดเล็กลักษณะเป็นซุ้มยอดแหลมสูง ๐.๔ เมตร ก่อแบบสันเหลื่อม (Corbel Arch) ทะลุถึงด้านนอกกำแพง นอกจากนี้ยังมีการก่อศิลาแลงลักษณะพิเศษแบบสันโค้ง (True Arch) ที่แนวกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้
การก่อแบบสันเหลื่อม (Corbel Arch) เป็นลักษณะการก่ออิฐบริเวณช่องว่างของผนังแบบวางซ้อนแต่ละขั้นเหลื่อมกันในแต่ละด้านอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมาบรรจบกันที่จุดกึ่งกลางเกิดเป็นส่วนโค้ง เพื่อรองรับน้ำหนักด้านบน แต่ไม่ใช่โครงสร้างรูปโค้งที่แท้จริง
การก่อแบบสันโค้ง (True Arch) เป็นลักษณะการก่ออิฐบริเวณช่องว่างของผนังแบบเรียงอิฐหน้าวัววางเรียงต่อกันขึ้นไปจนมาบรรจบกับอิฐหน้าวัวที่เป็นจุดกึ่งกลาง เกิดเป็นโครงสร้างรูปโค้งที่แท้จริง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก
รูปแบบการก่อสร้างป้อมและแนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมานั้น เป็นรูปแบบจากอิทธิพลตะวันตก ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ดังข้อสันนิษฐานของ นายประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในบทความเรื่อง ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา ว่า “…เป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปมีบทบาทอยู่ในราชสำนักอยุธยามากที่สุดในขณะนั้น น่าจะมีส่วนในการออกแบบกำแพงเมืองและป้อมที่มีเชิงเทินและใบเสมา สำหรับเป็นที่กำบังกระสุนปืนให้สอดคล้องกับการสู้รบที่มีการใช้ปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก ดังนั้นเอกสารทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ ต่างรับรองในแนวเดียวกันว่ากำแพงก่ออิฐของอยุธยาน่าจะสร้างในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และสมเด็จพระมหาธรรมราชาหรือทั้งสองรัชกาล...”
จากการศึกษาพบว่าป้อมทุ่งเศรษฐีมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเทียบเคียงได้กับป้อมปราการที่ก่อสร้างโดยชาวตะวันตก ตัวอย่างเช่น
ป้อมที่สร้างโดยชาวดัตช์ เช่น ป้อมอัมสเตอร์ดาม (Fort Amsterdam) ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๒ รวมถึงป้อมที่สร้างโดยชาวโปรตุเกสและซ่อมแซมโดยชาวดัตช์ในเวลาต่อมา เช่น ป้อมนาสเซา (Fort Nassau) ประเทศอินโดนีเซีย กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ป้อมมานนาร์ (Fort Mannar) ประเทศศรีลังกา กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
นอกจากนี้ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๗ เรื่อง ไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกัน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ได้กล่าวถึงการสร้างป้อมโดยชาวฝรั่งเศสความว่า “...ด้วยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ เชอวาเลียเดอโชมองจึงให้เดอลามาร์ อยู่รับราชการในเมืองไทยต่อไป โดยให้มองซิเออร์เดอลามาร์ไปสร้างป้อมในที่ต่างๆ ตามชายทะเลในพระราชอาณาเขตร์ และจะได้สร้างป้อมใหม่ที่บางกอกเพื่อให้กองทหารฝรั่งเศสรักษา เพราะสมเด็จพระนารายณ์ได้มีรับสั่งให้ราชทูตสยามกับบาดหลวงตาซาด์ไปขอทหารฝรั่งเศสจากพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้ว...”
โดยป้อมวิไชยเยนทร์ กรุงเทพมหานคร ที่ปรากฏรูปแบบในแผนผังที่เขียนโดย เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๒๓๑ ก็มีลักษณะรูปแบบผังใกล้เคียงกับป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร
จากการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Dating) หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าว สันนิษฐานว่าป้อมทุ่งเศรษฐีน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ป้อมทุ่งเศรษฐีเป็นโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้พื้นที่เมืองนครชุมในช่วงสมัยที่อยุธยามีอำนาจปกครองเมืองกำแพงเพชร และแม้ว่าความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ จะเปลี่ยนย้ายไปอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชร แต่พื้นที่ในแถบเมืองนครชุมก็ยังคงความเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่หน้าด่านและฐานที่มั่น เพื่อใช้สนับสนุนในการรับศึกสงครามของอยุธยากับหัวเมืองฝ่ายเหนือและพม่า
บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐีนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น ที่สำคัญคือยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียงลือชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง เป็นต้น
ขอขอบคุณเว็บไซต์ที่มาข้อมูล
- คลังวิชาการ กรมศิลปากร
- สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
-
thailandtourismdirectory.go.th (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)