[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 02 กันยายน 2560 12:35:14



หัวข้อ: สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต) วัดนรนาถ สุนทริการาม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 02 กันยายน 2560 12:35:14
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28475994740923_1_201_696x392_1_.jpg)

“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” (สนั่น จันทปัชโชโต)
อดีตเจ้าอาวาสวัดนรนาถ สุนทริการาม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” (สนั่น จันทปัชโชโต) อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าอาวาสวัดนรนาถ สุนทริการาม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

มีนามเดิม “สนั่น สรรพสาร” เกิดเมื่อวันอังคารที่ 8 ก.ย. 2451 ที่บ้านหนองบ่อ ต.หนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

อายุ 9 ขวบ บรรพชาที่วัดบูรพาภิสัย มีพระเคน วัดบ้านจานตะโนน เป็นพระอุปัชฌาย์

เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดสุปัฏนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปี พ.ศ.2467 ถัดมาอีกปีจึงเข้ามาศึกษายังกรุงเทพฯ ณ สำนักเรียนวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

พ.ศ.2469-2484 สอบไล่ได้เป็นลำดับในสำนักเรียนวัดบรมนิวาส จากนักธรรมชั้นตรีถึงเปรียญธรรม 8 ประโยค

ต่อมา พ.ศ.2486 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุฯ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พระอุโบสถวัดบรมนิวาส มีพระเทพวรคุณ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูศีลวรคุณ (อ่ำ ภทฺทาวุโธ) วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “จันทปัชโชโต”

ช่วงชีวิตระหว่างอยู่วัดบรมนิวาส เป็นทั้งนักเรียนและครู เริ่มเป็นครูตั้งแต่ พ.ศ.2472 เป็นต้นมา จากนั้นระหว่างปี พ.ศ.2474-2476 ย้ายไปอยู่สัตตนาถปริวัตร อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2477 กลับสู่วัดบรมนิวาส เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมจนถึง พ.ศ.2484 จากนั้นย้ายไปวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2485 อันเป็นระยะที่สร้างวัดเสร็จใหม่

ครั้นถึงวันที่ 2 ม.ค.2490 ย้ายมาที่วัดนรนาถสุนทริการาม ยังปฏิบัติหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรมสม่ำเสมอตลอดมา จนเลิกสอนเมื่อปี พ.ศ.2524 ขณะอายุ 73 ปี

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2501 เป็นเจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม พ.ศ.2510 เป็นเจ้าคณะภาค 8 และภาค 10 (ธ) พ.ศ.2512 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2501 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวราภรณ์

พ.ศ.2506 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมวราภรณ์”

พ.ศ.2519 เป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ “พระพรหมมุนี”

วันที่ 5 ธ.ค.2532 โปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาเป็น “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์”

อุปนิสัย เป็นคนมักน้อย สันโดษ ชอบชีวิตธรรมดาสามัญแบบเรียบง่าย แม้จะเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียง แต่ท่านไม่เคยลืมภาษาถิ่น ชอบพูดภาษาไทยอีสานในชีวิตประจำวัน และพูดภาษาอีสานเป็นธรรมดาด้วยสำเนียงท้องถิ่นเมืองอุบลชัดเจน

เอกลักษณ์เด่นอีกส่วนหนึ่ง คือ น้ำเสียง ในการแสดงพระธรรมเทศนาที่แฝงด้วยอำนาจ ดังกังวาน ทุ้ม นุ่มนวล มีจังหวะจะโคน ทอดน้ำเสียงลงวรรคตอนอย่างสละสลวย ฟังไพเราะรื่นหู

นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ พุทธภาษิตและหัวข้อธรรมต่างๆ ที่เล่าเรียนมาสามารถบอกกล่าวแก่ศิษย์ได้อย่างไม่ผิดพลาด แม้กระทั่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ เรื่องเก่าเรื่องหลังแต่ครั้งเป็นพระหนุ่ม จะจดจำได้แม่นยำด้วยลีลาและศิลปะเฉพาะตัวในการเล่า

ด้านการครองตนและวัตรปฏิบัตินั้นเป็นที่เลื่องลือในความเคร่งครัด เช้ามืดของทุกวัน ตั้งแต่ตี 4 ถึง 6 โมงเช้า ท่านจะเจริญสมณธรรม บำเพ็ญความเพียรภายในกุฏิ โดยปฏิบัติติดต่อกันมากว่า 20 ปี ไม่มีว่างเว้น

ความสามารถอันเอกอุนั้น มีทั้งสถานะของนักศึกษา, นักวิชาการ, นักการศาสนา, นักอนุรักษ์, นักปราชญ์ และผู้มองการณ์ไกล

ในบรรดางานต่างๆ ที่ดำเนินไปภายใต้นโยบายเผยแผ่นั้น มุ่งเน้นเป็นพิเศษอยู่ 3 งานคือ งานปาฐกถาและอบรม, งานฝึกฝนอบรมนักเผยแผ่ธรรม, งานปฏิบัติธรรมทางสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

ปณิธานอันแรงกล้า เน้นให้การศึกษาพระปริยัติธรรมเจริญงอกงาม โดยเฉพาะการศึกษาแผนกบาลี ด้วยการลงมือสอนด้วยตนเองอย่างมิเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะเจ้าคณะภาค 8-9-10-11 (ธ) ยังสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทางภาคอีสานเป็นกรณีพิเศษ ปรากฏผลเด่นชัดใน 4 จังหวัดคือ อุดรธานี, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด และหนองคาย

ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดล้มอาพาธเป็นประจำ

จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต มรณภาพจากไปด้วยอาการอันสงบ ในวันที่ 2 พ.ย.2541


จากคอลัมน์อริยะโลกที่ 6