[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 15 มีนาคม 2564 13:14:39



หัวข้อ: เครื่องเพชรของเจ้าจอมสดับในรัชกาลที่ 5 กับการตั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 15 มีนาคม 2564 13:14:39
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27220577125747__1_640x480_.jpg)
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ไม่ปรากฏแหล่งที่มา)

เครื่องเพชรของเจ้าจอมสดับในรัชกาลที่ 5 กับการตั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2563

เพชรคืออัญมณีล้ำค่าซึ่งต่างเป็นที่หมายปองของหญิงสาวมาทุกยุคทุกสมัย ในหนังสือ “หอมติดกระดาน” ได้กล่าวถึงเครื่องประดับอัญมณีของเจ้านายฝ่ายในว่ามีการสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีมีค่าต่าง ๆ ทั้ง เพชร ทับทิม บุษราคัม มรกต โกเมน นิล เพทาย มุกดาหาร และไพฑูรย์ สำหรับเพชรดูจะเป็นอัญมณีที่โดดเด่นเหนืออัญมณีชิ้นอื่น ๆ

ราชสำนักสยามโดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายในต่างก็นิยมประดับอัญมณีมีค่า เพราะเชื่อว่าอัญมณีจะเสริมสวัสดิมงคลให้แก่ผู้สวมใส่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงมีเครื่องเพชรหลายชุด เช่น ชุดเพชรรูปกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ และชุดเพชรรูปน้ำหยด แต่เชื่อว่าทรงมีเครื่องเพชรมากกว่านี้แต่ไม่ได้บันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบรรยายเรื่องเครื่องเพชรของพระอัยยิกา ครั้งประทับที่วังพญาไท ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์

ความตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริง ๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องเพชรย่อย ๆ ของท่านก็ดูคล้าย ๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป”

อย่างไรก็ตาม เจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องประดับเพชรไว้สวมใส่เช่นกัน อาทิ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ และเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ

หม่อมราชวงศ์สดับเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 ขณะมีอายุเพียง 16 ปี เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ได้พระราชทานเครื่องเพชรจำนวนมากให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ว่ากันว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดบรรยากาศ “วงซุบซิบ” ถึงตัวเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับผู้เป็นที่โปรดปรานตั้งแต่เป็นวัยรุ่น

เหตุผลที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องเพชรให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นทรงเห็นว่าพระองค์ท่านเจริญพระชนมพรรษมากแล้วขณะที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับชันษายังน้อย ทรงเป็นกังวลพระราชหฤทัยจึงฝากฝังให้พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ให้ช่วยดูแลอีกทอดหนึ่ง โดยมีพระราชดำริให้นำเครื่องเพชรไปฝากธนาคารเพื่อปล่อยให้คนเช่า ซึ่งจะเป็นช่องทางหารายได้เลี้ยงชีพให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในอนาคต

ภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเกิดปัญหาลำบากใจ ท่านตกเป็นที่เพ่งเล็ง เนื่องจากทรัพย์สมบัติของท่านคือเพชรนิลจินดาเครื่องประดับที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ผู้คนหมายปองใช้เล่ห์กลต่าง ๆ เข้าหา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริจะสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับจึงถวายเครื่องเพชรชุดนี้ให้กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ เพื่อไปขายให้ชาวต่างชาติแล้วนำเงินมาสมทบทุนก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/b/bb/%E0%B8%A1.%E0%B8%A3.%E0%B8%A7._%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A2.jpg)
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ไม่ปรากฏแหล่งที่มา)


หัวข้อ: Re: เครื่องเพชรของเจ้าจอมสดับในรัชกาลที่ 5 กับการตั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 15 มีนาคม 2564 13:25:34
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/4/43/%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A_%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%92%E0%B9%88%E0%B8%B2.jpg)
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในวัยชรา

6 มีนาคม 2433 วันเกิดเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เจ้าจอมในร.5 ผู้ยึดมั่นรัก
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2564

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เดิมนามว่า หม่อมราชวงศ์สั้น เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์

เมื่อคราวถึงเวลาหม่อมเจ้าเพิ่มได้ย้ายที่อยู่ไปตั้งรกรากที่จังหวัดราชบุรี จึงนำหม่อมราชวงศ์สั้นไปถวายตัวให้แด่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระชายาในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ศึกษาศิลปวิทยาการในราชสำนักซึ่งเวลานั้นพระตำหนักของพระอัครชายาเธอฯ เป็นสถานที่ปรุงเครื่องเสวย งานดอกไม้ งานปักผ้าเลื่องลือว่าเด่นที่สุดยิ่งกว่าสำนัก

หม่อมราชวงศ์สั้นได้ฝึกหัดร้องเพลงไทยกับวงมโหรีของวังหลวงจนครูผู้ฝึกร้องเห็นว่าเป็นผู้มีแก้วเสียงดีร้องเพลงได้ไพเราะ เมื่อเข้าสู่เจริญวัยจึงให้ร้องเพลงประจำขับกล่อมในราชสำนัก ทั้งเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จลงเสวยพระกระยาหารหรือในงานหลวงต่างๆ

ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนนามให้ใหม่ว่า “สดับ” มีความหมายว่าผู้มีเสียงไพเราะเหมาะแก่การรับฟัง

เมื่อหม่อมราชวงศ์สดับอายุได้ 16 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยในความน่าเอ็นดูของหม่อมราชวงศ์สดับ จึงได้ทรงขอต่อพระอัครชายาเธอฯ เพื่อชุบเลี้ยงเป็นพระสนมในตำแหน่งเจ้าจอม และได้ทรงแต่งตั้งไว้ในลำดับที่ 62

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนชื่นชมน้ำเสียงอันไพเราะของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับไว้ดังนี้

แม่เสียงเพราะเอย
น้ำเสียงเจ้าเสนาะ    เหมือนหนึ่งใจพี่จะขาด
เจ้าร้องลำนำ        ยิ่งซ้ำพิศวาส
พี่ไม่วายหมายมาด  รักแม่เสียงเพราะเอย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาต่อเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีรับสั่งให้ช่างฝรั่งประดิษฐ์กำไลทองคำเนื้อเก้าบริสุทธิ์ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแบนราบ หัวและท้ายเป็นรูปตาปูสองดอกไขว้เกี่ยวกันไว้ มีความหมายให้มองเป็นสัญลักษณ์ทั้งสองด้านคือ ถ้ามองด้านซ้ายจะคล้ายอักษรโรมันตัว C อันเป็นอักษรย่อของพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์” ถ้ามองด้านขวาจะคล้ายตัว S ซึ่งเป็นอักษรย่อของนามว่า “สดับ” มีจารึกพระปรมาภิไธยลงบนกำไลไว้เป็นหลักฐาน และทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนจิ๋วสลักไว้รอบกำไลตาปูทองมีความตามอักขระภาษาไทยสมัยนั้นดังนี้

กำไลมาศชาติ์นพคุณแท้
ไม่ปรวนแปรเปนอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจปลงตรงคงคำร่ำพาที
จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก
ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย
แม้นรักร่วมสรวมไว้ให้ติดกาย
เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึ่งถอดเอย

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ขณะนั้นเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุ 20 ปี ยังคงยึดมั่นสัญญาที่สลักอยู่บนกำไลตาปูที่มีความหมายว่า ถ้ายังมีใจรักอยู่ให้สวมกำไลนี้ไว้ติดตัวตลอดไป แต่ถ้าเมื่อใดหมดรักกันแล้วก็ขอให้ถอดกำไลนี้ออกเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับจึงตัดสินใจใช้ชีวิตในเขตพระราชฐานฝ่ายในที่ยากต่อการพบปะบุคคลภายนอกได้ โดยใช้ชีวิตอย่างสันโดษและถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีวันเสื่อมคลาย

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนับว่าเป็นเจ้าจอมท่านสุดท้าย เพราะหลังจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใดอีกจนตลอดรัชกาล เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับใช้ชีวิตในเขตพระราชฐานจนอายุยืนยาว 5 แผ่นดิน ถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2526