[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 22 กรกฎาคม 2558 18:58:38



หัวข้อ: ซ่อมลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัด
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 22 กรกฎาคม 2558 18:58:38

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/826/13826/images/heart1.jpg)
ซ่อมลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัด เพิ่มความปลอดภัยผู้สูงอายุ

หัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องดูแลให้ดี เพราะความผิดปกติอาจซ่อนอยู่และแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จึงพัฒนาเทคนิคการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก (TAVI/TAVR) เพิ่มความแม่นยำและปลอดภัย เพื่อผู้ป่วยสูงวัยที่มีอัตราความเสี่ยงในการรักษาสูง

นพ.ระพินทร์ กุกเรยา หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ ร.พ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดและลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ กรอบ แข็ง หมดความยืดหยุ่น และมีไขมัน หินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดและหรือปิดไม่สนิท ส่งผลให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ซึ่งพบได้บ่อยในลิ้นหัวใจเอออร์ติก คือลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้พอเพียง มีผลให้เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อยๆ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือด ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว นำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด

จากการติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่ากว่า 80% ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว จะเสียชีวิตภายใน 3 ปี ส่วนผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการเปิดหน้าอกสูงมาก

ด้าน นพ.โกสินทร์ ทัพวงศ์ ผอ.อาวุโสศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ร.พ.หัวใจกรุงเทพ เผยว่า TAVI เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงกับการผ่าตัดสูง ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจตีบมากๆ ผู้ป่วยที่ปอดไม่ดี ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัดหัวใจมาก่อนแล้ว ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดใหญ่แข็งมากๆ ผู้ป่วยประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจช่องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือที่เรียกว่า ลิ้นหัวใจเอออร์ติก

ร.พ.หัวใจกรุงเทพจึงพัฒนาวิธีการรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ TAVI ขึ้น โดยเป็นการใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษ ซึ่งสามารถม้วนให้เล็กเพื่อเข้าไปอยู่ในท่อเล็ก 8-10 มิลลิเมตร ของระบบนำส่ง จากนั้นก็สอดระบบนำส่งไปตามหลอดเลือดแดง บริเวณขาหนีบไปยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย ไปจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จากนั้นปล่อยตัวลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาจากระบบนำส่ง ซึ่งจะทำให้ลิ้นหัวใจกางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ โดยที่ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบ ทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หรือด้านบนของหน้าอก ข้างขวา ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ร่างกายฟื้นตัวเร็ว มีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง