[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 เมษายน 2558 13:06:35



หัวข้อ: ธรรมอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 เมษายน 2558 13:06:35
.

(http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/wp-content/uploads/2011/04/รูปภาพ141.jpg)
ตุงตัวเปิ้ง หรือ ตุงสิบสองนักษัตร
ที่ชาวเชียงใหม่ ปักถวายบนกองเจดีย์ทรายในวัด เนื่องในวันสงกรานต์
เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เป็นประเพณีที่ผนวกเอา ตุง ที่เชื่อว่ารับมาจากมอญ
ปีนักษัตรของจีน แต่ใช้ช้างแทนหมูในปีกุน และสงกรานต์จากพราหมณ์อินเดีย
มาผสมเข้าด้วยกัน

อานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39397694915532__3648_3592_3604_3637_3618_3660.gif)  
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ตานเจ๋ดีซาย
คำว่า ตาน แปลว่า ทาน
เจ๋ดีย์ คือ เจดีย์
ซาย คือ ทราย
รวมความแล้ว ตานเจ๋ดีซาย หมายถึงการถวายทานกองทรายรูปเจดีย์

เทศกาลสงกรานต์ มีประเพณีขนทรายเข้าวัดซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ อิงตามแนวคิดของ “ข่วงแก้วทั้งสาม” โดยสมมติเอาบริเวณรอบๆ พระวิหารเป็นสีทันดรสมุทรที่ควรขาวสะอาดปูลาดด้วยทรายขาว มีสิเนโรบรรพต ได้แก่พระวิหารหลวงอันเป็นที่ประทับขององค์พระศาสดาคือพระประธาน

การขนทรายเข้าวัดมีคติความเชื่อว่า เป็นการสร้างกุศล จึงมีกุศโลบายให้สร้างโดยก่อเป็นพระเจดีย์ซึ่งบางวัดให้สร้างเป็นเจดีย์ขนาดเล็กของใครของมันทั่วบริเวณวัด

บางแห่งให้รวมกันสร้างเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่โดยให้ขนทรายมารวมกัน แล้วก่อเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ มีการทำกระบะไม้หรือสานไม้ไผ่เป็นสังเวียนซ้อนกันหลายชั้นลดหลั่นกันไป จากฐานขนาดกว้างสุดจนถึงเล็กที่สุดในส่วนยอด

เมื่อก่อตามแบบแล้ว จะได้กองทรายที่อยู่ในรูปแบบของ “วาลุกเจดีย์” ที่เรียกว่า “เจดีย์ทราย” เพื่อถวายทานร่วมกัน

สำหรับอานิสงส์ของการก่อเจดีย์ทราย มีการผูกเรื่องราวไว้ในคัมภีร์ชื่อ “ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย”

มีใจความโดยสังเขปว่า...ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชายเข็ญใจชื่อว่า “ติสสะ” มีอาชีพตัดฟืนขาย

วันหนึ่งติสสะได้พบลำธารที่มีหาดทรายสะอาดงดงามนัก จึงได้ทำการก่อทรายเป็นรูปเจดีย์และเพื่อให้เจดีย์นั้นสวยงาม จึงฉีกเสื้อผูกกับเรียวไม้แล้วปักไว้บนยอดกองทรายเป็นรูปธงสัญลักษณ์ แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

เมื่อเวียนว่ายในวัฏสงสารบำเพ็ญบารมีเต็มที่ ก็ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าชื่อสมณะโคดมองค์ปัจจุบัน

ภาพของธงที่ทำจากเสื้อของติสสะ ทำให้คนล้านนานิยมนำตุงไปปักเจดีย์ทราย ซึ่งตุงที่พบเห็นมักเป็นตุงที่มีลักษณะเป็นพู่ระย้าที่เรียก “ตุงไส้หมู” หรือตุงที่มีรูปนักษัตรที่เรียกว่า “ตุงตั๋วเปิ้ง”

ในเช้าของวันพระญาวัน ซึ่งคือวันเถลิงศก คนล้านนาจะนำตุงไปปักที่เจดีย์ทราย ตกสายจะมีการถวายเจดีย์ทรายแด่พระสงฆ์

คนล้านนาจะมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง

ยังมีคัมภีร์แสดงอานิสงส์โดยตรงที่ชื่อ “ธรรมอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย” อีกฉบับหนึ่ง

โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงผลบุญมากมาย เช่น จะได้เกิดในตระกูลอันประเสริฐ เลอเลิศด้วยรูปสมบัติ เรืองจรัสในชีวิต ไม่ตกติดในนรก ยกระดับไปเกิดบนสวรรค์ จนถึงขึ้นได้เกิดเป็นพระอินทร์

อีกเหตุผลหนึ่งกล่าวว่าการเข้าไปสู่วัดแล้วออกมา อาจมีเศษทรายติดเท้ามาด้วย คนล้านนาเกรงจะเป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเป็นการทดแทน ซึ่งก็ถือเป็นกุศโลบายอีกประการหนึ่ง ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป การขนทรายไม่ค่อยมีให้พบเห็น เพราะบางวัดไม่นิยมให้ลานวัดปูด้วยเม็ดทราย แต่ปูอิฐบล็อกตัวหนอนแทน

บางวัดเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านไปจ้างรถกระบะขนทรายไปกองที่วัด

และบางวัดจัดบริเวณให้ก่อเจดีย์ทรายเพียงเพื่อธำรงไว้ซึ่งอนุสรณ์แห่งประเพณีเท่านั้น


ข้อมูล-ภาพ : คอลัมน์ "ล้านนา-คำเมือง" ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๘ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ๒๕๕๘