[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 14:34:51 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ราชรถน้อย : มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติ  (อ่าน 4068 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 13:28:12 »


มีคำถามแสดงความสงสัยว่าราชรถเก่าที่จอดเรียงยาวข้างระเบียงหมู่พระวิมาน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นราชรถแห่พระศพเจ้านายหรือใช้แสดงโขน เนื่องจากมีขนาดเล็ก

ตอบ : บรรดาราชรถที่จอดอยู่ข้างระเบียงหมู่พระวิมาน มีทั้งสิ้น ๖ รายการ เดิมเคยจัดแสดงไว้ภายในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้กำกับดูแลพิพิธภัณฑสถานฯ ให้สร้างโรงราชรถขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ เพื่อเก็บรักษาราชรถ และจัดแสดงตามแบบอย่างโรงราชรถโบราณของประเทศโปรตุเกส ให้ประชาชนได้ชม

ราชรถน้อย-ใหญ่ โดยมากใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ ส่วนหนึ่งภายในโรงราชรถจึงเก็บรักษาวัตถุเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพด้วย เช่น พระยานมาศสามลำคาน พระโกศ พระโกศจันทน์ พระจิตกาธาน พระแท่นแว่นฟ้า ชิ้นส่วนองค์ประกอบพระเมรุต่างๆ มีฉากบังเพลิง ฉัตร เทวดาอัญเชิญฉัตร บังแทรก เสาหงส์ และตุง เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไป มีสิ่งของจัดแสดงเพิ่มเติมขึ้นจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันภายในโรงราชรถเก็บรักษาเฉพาะราชรถสำคัญขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายราชรถขนาดเล็กเก็บรักษาไว้ ณ ระเบียงหมู่พระวิมาน พระราชมณเฑียรสถานของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นการชั่วคราว

ราชรถขนาดเล็กเหล่านี้ใช้ในการเชิญพระศพเจ้านายและผู้มียศ ไปในขบวนแห่อัญเชิญพระศพและศพไปยังพระเมรุและเมรุ เป็นเกียรติยศตามฐานานุศักดิ์ สืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์กว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งจะทำการซ่อมแซมและจัดเตรียมการใช้งาน ก็ต่อเมื่อมีการพระศพและการศพตามโบราณราชประเพณี ส่วนใหญ่เมื่อมิได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว จึงมีสภาพเก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา

ราชรถขนาดเล็ก มีชื่อเรียก รูปทรงสัณฐานและการใช้สอย ต่างกันไปตามลำดับแห่งเกียรติยศ มีลำดับการใช้ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระวงศ์เธอ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมหม่อมห้าม ท้าวนางราชสกุล ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา พระยา พระ พระสงฆ์ผู้ทรงสมณะศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือใช้ตามแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
   ๑.รถโถง
   ๒.ราชรถน้อย
   ๓.รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
   ๔.รถพระวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
   ๕.รถวอพระประเทียบ
   ๖.รถวอประเทียบ
   ๗.รถวอ
   ๘.รถแปลง
   ๙.รถปืน

ราชรถโถง คือรถไม่มีหลังคาและเสาสำหรับเทียมม้า มี ๔ ล้อ กึ่งกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสำหรับทรงพระโกศ ทำเป็นชั้นเกรินซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นบนตกแต่งกระหนกเศียรนาคและกระหนกหางนาคเรียงกัน ๓ แถว ชั้นล่างมีกระหนก ๕ แถว มีเทพนมประดับโดยรอบ ส่วนบนสุดซ้อนฐานบัวกลุ่มรองรับพระโกศ ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ จำหลักกระหนกเศียรนาคและหางนาค ๗ แถว สำหรับชาวภูษามาลาแต่งตัวเป็นเทวดาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ด้านหลังมีที่นั่งสำหรับเทวดาถือเครื่องสูง ที่มุมทั้งสี่ของราชรถและฐานเกรินชั้นบนล้อมราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง เว้นช่องไว้ทางด้านข้าง สองข้างราชรถตกแต่งเป็นรูปลำตัวนาค ใต้ลำตัวนาคที่กึ่งกลางมีบันได้รูปนาค สำหรับเหยียบขึ้นราชรถ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ๒ รถ หมายเลขทะเบียน ๙๗๘๕ และ นช.๕๓๘ จากลักษณะทางศิลปกรรมเทียบเคียงได้กับพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ จึงอาจสร้างขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๑ โดยใช้เป็นรถโกศจันทน์ (ประดิษฐานพระโกศจันทน์) และรถเครื่องหอม (ตั้งพานแว่นฟ้าใส่ไม้จันทน์เทศ จันทน์คันนา (จันทนา หรือ จันทน์ขาว) สน กรักขี กฤษณา สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ) ในกระบวนแห่พระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยใช้ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากถนนระหว่างพระอุโบสถและกุฎีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังพระเมรุวัดราชบพิธ ในวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ (พุทธศักราช ๒๔๒๙) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ไปยังหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงพระมหาพิไชยราชรถ เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙ พุทธศักราช ๒๔๓๐ และใช้แห่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี  พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการไปยังพระเมรุสวนมิสกะวัน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

ราชรถโถง จึงใช้สำหรับเจ้านายซึ่งมีพระเกียรติยศตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (เจ้าฟ้าลูกเธอ) ถึงพระองค์เจ้า (พระองค์เจ้าลูกเธอ) ตลอดจนถึงใช้กับศพสามัญชนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ



ราชรถโถง
เลขทะเบียน ๙๗๘๕
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๘๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๖ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมม้า เชิญโกศกุดั่นใหญ่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
เคลื่อนจากถนนราชดำเนินนอกไปสู่เมรุสวนมิสกะวัน
วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ เครื่องสูงสำหรับยศ
มีบังแทรก กลดกำมะลอ บังสูรย์ พักโบก และภูษามาลา
ขึ้นประคองพระโกศ


ราชรถโถง
เลขทะเบียน นช.๕๓๘
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๔๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๘ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมด้วยม้าเทศ ๖ ม้า เชิญพระโกศมณฑปทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ
พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ไปสู่พระเมรุวัดราชบพิธ วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙
มีอินทรพรหมถือจามรคู่เคียงราชรถ เครื่องสูงกลดกำมะลอ บังสูรย์
พัดโบก ๑ สำรับ บนรถมีสารถีขับม้า ภูษามาลาประคองพระโกศ
ปักฉัตรประกอบเกียรติยศที่มุมทั้งสี่ของราชรถ
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๒๔๕-๒๔๖


ราชรถน้อย ลักษณะอย่างราชรถโถง คือไม่มีหลังคาและเสา มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หรือใช้กำลังคนฉุดชัก (คนฉุดชัก ๔๐ คน) แท่นรองรับพระโกศทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าจำหลักไม้เป็นกระหนกเศียรนาค และด้านหลังจำหลักเป็นกระหนกหางนาค สองข้างราชรถจำหลักเป็นลำตัวนาค ใช้สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้า (ชั้นลุง ป้า อา น้า ของพระเจ้าแผ่นดิน และชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับพระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าชั้นพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) สำหรับพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ ใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราช และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับสมเด็จพระราชาคณะ

ราชรถน้อยมีหลายองค์ รูปลักษณ์การสร้างปรับเปลี่ยนไปตามสุนทรียภาพแห่งยุคสมัย ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษาราชรถน้อย จำนวน ๒ องค์ องค์แรกเลขทะเบียน นช.๕๓๙ อาจสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และองค์ที่สอง (ไม่มีเลขทะเบียน) สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖




ราชรถน้อย
สมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ราชรถน้อย
เลขทะเบียน นช.๕๓๙
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๒๐ เซนติเมตร สูง ๒๑๓ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่ง พระนคร

ราชรถน้อย มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ
จำหลักกระหนก ๕ แถว ตรงกลางเป็นแท่นรองรับพระโกศ ตัวแท่นทำเป็นฐานสิงห์
ด้านหน้าและด้านหลังแท่นมีเกยลา สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ
เหนือแท่นมีพนักลูกกรงล้อมโดยรอบ เว้นช่องพนักตรงเกยลาทั้งสองด้าน
คานสองข้างราชรถจำหลักรูปนาค สภาพชำรุด ลวดลายไม้จำหลักหักหายไปบางส่วน



ราชรถน้อย
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้แกะสลักลงรักปิดทองทาชาดประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๓๐ เซนติเมตร ยาว ๗๘๐ เซนติเมตร สูง ๒๓๐ เซนติเมตร

ประวัติ สร้างสำหรับทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ และใช้ในการรัฐพิธีหลายครั้ง เช่น ใช้ในการแห่พระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุในพระธาตุพนม แห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานยังโลหะปราสาท แห่พระพุทธสิหิงค์ออกสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ แห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ และแห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ ๗

ราชรถน้อย ตรงกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทรงโกศ ทำด้วยไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก เป็นแท่นเท้าสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ท้องสิงห์ยกสูง ทำลวดลายแผลงราชวัตรประดับดอกสี่กลีบทรงกลมฉลุลายโปร่ง กึ่งกลางแท่นประดับลายหน้ากาล ๓ ด้าน เว้นด้านหน้า เหนือแท่นเท้าสิงห์ประดับลายกระจัง รองรับด้วยฐานบัวกลุ่มทรงสี่เหลี่ยม สำหรับรองรับโกศ ส่วนด้านหน้าและด้านหลังแท่นเท้าสิงห์ประกอบด้วยเกริน ตกแต่งกระหนกท้ายเกริน ๑ ชั้น ใช้สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าราชรถมีแท่นขาสิงห์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก สองข้างประดับลายหน้ากาล สำหรับพลขับนั่งหรือตั้งเครื่องสูง สี่มุมราชรถมีที่สำหรับปักฉัตร คานสองข้างจำหลักรูปลำตัวนาค งอนราชรถทาชาดปลายงอนทำเป็นรูปเหราคายนาค ๑ เศียร มีธงพร้อมพู่ประดับอยู่บนงอนราชรถ




ราชรถน้อย
เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
ท้องสนามหลวง วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๗


ราชรถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป หลังคาทรงจัตุรมุขพิมานประกอบยอด หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อผ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนยอดมีชั้นเชิงกลอนซ้อน ๓ ชั้น องค์ระฆัง เหม บัวกลุ่ม ปลีต้น เม็ดน้ำค้าง ปลีปลาย และพุ่ม ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า มีลำดับศักดิ์การใช้ต่ำกว่าราชรถน้อย โดยเป็นราชรถอัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้นลุง ป้า อา น้าของพระเจ้าแผ่นดิน) ทรงกรมไปขึ้นราชรถใหญ่หรือราชรถน้อย นอกจากนี้ใช้กับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ไม่ทรงกรม) และพระองค์เจ้าชั้นพี่เธอ น้องเธอ เป็นต้น

รถพระวอวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



(บน) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จากวังเทวะเวสม์ไปทรงเวชยันตราชรถ
ที่หน้าพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๓๒

(ล่าง) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สิรินิภาพรรณวดี
กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา จากพระที่นั่งอภิเษกดุสิตไปประดิษฐาน
บนราชรถน้อย หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๓ กรกฎาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๖


รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข  คือรถหลังคาทรงจัตุรมุข มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มียอด ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ และพระราชวงศ์เธอ (พระโอรส พระธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) เจ้าจอม ท้าวนางราชสกุล และสมเด็จพระราชาคณะ เป็นต้น

รถวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา



รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ หรือ รถประเทียบบราลี
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ รถประเทียบ และรถวอ คือ รถมีหลังคาทรงคฤห (ทรงจั่ว) อย่างวอ สำหรับเทียมม้า มีลักษณะการตกแต่งและลำดับศักดิ์การใช้ต่างกันเป็นลำดับ คือ

รถพระประเทียบ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารถประเทียบบราลี ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ (พระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ (พระโอรสธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นพิเศษ) ไปจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า และเจ้าจอม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ลักษณะรถพระประเทียบ หลังคาหุ้มผ้าทองซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และบราลี มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านทอง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถประเทียบ ใช้สำหรับเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ท้าวนาง เจ้าจอม หม่อมห้าม ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา พระ และพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ลักษณะรถพระประเทียบหลังคาหุ้มผ้าทอง ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านดาดสี เดิมเคยเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




(บน) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เทียมม้า เชิญโกศลองในศพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม
ในรัชกาลที่ ๔ เวียนพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๙๔

(ล่าง) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เลขทะเบียน ๙๗๘๖
อายุสมัยฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาดกว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถพระประเทียบ มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาเป็นวอช่อฟ้า ทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ดาดด้วยผ้าทอง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รูปเศียรนาค สันหลังคาประดับบราลี อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “รถประเทียบบราลี” หน้าบันจำหลักลายพุ่มหน้าขบอยู่กึ่งกลางลายก้านขดฉลุโปร่ง ปิดทองทึบ มีเสารองรับข้างละ ๔ เสา รวม ๘ เสา ปลายเสามีคันทวยรูปนาครองรับชายคา ส่วนหน้ารถมีแท่นที่นั่งสำหรับพลขับนั่ง ตรงกลางรถเป็นแท่นกว้าง สำหรับวางโกศผู้มีศักดิ์ ลวดลายประดับทำด้วยดีบุกหล่อปิดทอง สองข้างราชรถจำหลักลายรูปนาค



(บน : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๐๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบหลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มีเสา ๔ เสา ผูกม่านดาดสี สองข้างรถตกแต่งไม้จำหลักรูปนาค
ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า

(ล่าง : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๔๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๒๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบ หลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ มีเสา ๔ คู่ ผูกม่านทอง สองข้างรถตกแต่งไม้
จำหลักรูปนาค  ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า


รถวอ ใช้สำหรับเจ้าจอม ท้าวนาง และขุนนาง ชั้นพระยา ไม่ทราบลักษณะรถ เข้าใจว่าเป็นรถหลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดาดผ้าสีและผูกม่านดาดสี

รถแปลง ไม่ทราบลักษณะ เข้าใจว่าเป็นรถไม่มีหลังคา อาจดัดแปลงจากรถวอ จึงเรียกรถแปลง ใช้กับท้าวนางราชนิกุล เจ้าจอมมารดา ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา และผู้มียศอื่นๆ

รถปืน คือรถดัดแปลงจากรถบรรทุกปืนใหญ่ มีฐานรองรับโกศ ใช้โดยเฉพาะกับผู้มียศทางทหาร นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ และผู้มียศอื่นๆ รถปืนซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เดิมใช้เชิญศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

นอกจากนี้ รถขนาดเล็กซึ่งใช้ในการศพยังมีอีกมาก โดยใช้เป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำหน้าศพรถโยงผ้าสดับปกรณ์ รถโปรยข้าวตอกดอกไม้ รถตามขบวน รถสังเค็ต ตามธรรมเนียมแห่ศพไปสู่เมรุที่เผา เป็นขบวนใหญ่โตครึกครื้นมาแต่ในอดีต รถดังกล่าวนี้ได้เสื่อมหายและชำรุดหักพังไปตามเวลาอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการศพ ตัดการโยง การโปรย กระบวนรถนำ รถตามต่างๆ ให้มีความเรียบง่ายสมสมัยมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ รถขนาดเล็กซึ่งห่างหายจากการใช้สอยตามธรรมเนียมดั้งเดิมจึงเป็นแต่เพียงหลักฐานของอดีตให้รำลึกถึงวันวารที่ร่วงโรยพ้นผ่านกาลเวลาล่วงสมัยไปแล้วในปัจจุบัน





(บน) รถปืนใหญ่รางเกวียน ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวียนพระเมรุมาศ วันที่ ๒๔ มีนาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ โดยอนุโลมตามพระราชพินัยกรรม ซึ่งทรงระบุให้ใช้
รถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
มีความตอหนึ่งว่า “เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางระยะสุดนี้เป็นอย่างทหาร”
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๘๒

(ล่าง) รถปืน
เลขทะเบียน ไม่มีหมายเลข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค โครงสร้างเหล็กและไม้
ขนาด กว้าง ๑๘๙ เซนติเมตร ยาว ๖๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๗๙ เซนติเมตร
ประวัติ กรมสรรพาวุธทหารบกมอบให้ เคยใช้รองโกศของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถปืนใหญ่ มีล้อหลัง ๒ ล้อ และล้อบังคับเลี้ยว ๑ ล้อ ท้ายมีแท่นรองโกศ
ทำด้วยไม้ทาสีปิดทอง ทำเป็นฐานบัวกลุ่มย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้าและด้านหลัง
มีมุขประดับรูปนาคเหรา สำหรับผู้ขึ้นประคองโกศสองข้างรถประดับรูปนาคเหรา


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : ถามมา - ตอบไป "ราชรถน้อย" โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
                         นิตยสารศิลปากร กรมศิลปาการ จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2559 13:31:38 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.896 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 08 เมษายน 2567 23:42:31