[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 04:46:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ท้าวสุรนารี วีรสตรีครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ และประวัติ "เพลงโคราช"  (อ่าน 5101 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 พฤษภาคม 2556 13:20:45 »

.



ท้าวสุรนารี (ย่าโม)
ศูนย์รวมแห่งศรัทธาชาวโคราช

ประวัติท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๑๔ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี  จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์  มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก (ภายหลังได้เป็น เจ้าเมืองพนมซร๊อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร๊อก มาอยู่ ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมือง พนมซร๊อก มาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จนทุกวันนี้)
 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๙  เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม

ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า แม่ มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลัง และอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญ ที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือ นางสาวบุญเหลือ
 
ท้าวสุรนารี เป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลาน ไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำ  ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๕ (เดือน ๕ ปีชวด จัตวาศก จศ. ๑๒๑๔) สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี



พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าไชเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์
พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชาติลาว

กบฏเจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ เกี่ยวพันอย่างไรกับท้าวสุรนารี?
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสพระองค์ใหญ่  ทรงสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทร์ อย่างเต็มที่    เมื่อมีข่าวว่า เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ อันเป็นเมืองลาวอยู่ในการปกครองของไทย ได้พ่ายแพ้แก่พวกโจรปล้น

เจ้าอนุวงศ์ทูลออกความเห็นให้ เจ้าราชบุตรโย้ บุตรของตนให้ไปปราบโจรผู้ร้ายเหล่านั้น  ซึ่งก็ได้รับคำสั่งให้ไปปราบพวกโจรปล้น แล้วปราบโจรผู้ร้ายเหล่านั้นได้สำเร็จจริงๆ  เจ้าอนุวงศ์จึงทูลขอรางวัลให้เจ้าราชบุตรโย้  คือให้ได้เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์

มีพระราชวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง กราบทูลคัดค้านอย่างรุนแรงว่า “แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ทางเหนือก็พออยู่แล้ว จึงจะเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจโอบลงมาทางข้างตะวันออกอีกคนหนึ่ง ต่อไปจะได้รับความร้อนใจด้วยเรื่องนี้”  แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นด้วยกับความคิดของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ผู้ทรงสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์  ดังนั้น เจ้าราชบุตรโย้ก็ได้ไปครองเมืองจำปาศักดิ์  ทำให้วงศ์ตระกูลของเจ้าอนุวงศ์มีอำนาจเหนือดินแดนทั้งสองฝั่ง

ใน พ.ศ. ๒๓๖๒ เจ้าอนุวงศ์ก็ได้ทำความลำบากแก่ประเทศไทย  ด้วยยุยงบุตร คือ เจ้าราชบุตรโย้ ให้สร้างป้อมกำแพงเมืองอุบลให้แข็งแรงขึ้น เพื่อจะได้เป็นฐานทัพสำหรับจะรบกับไทยต่อไป  แต่เวลานั้นแก้ตัวว่า ทำเพื่อจะช่วยป้องกันไทย หากญวนจะยกทัพมาตีไทย  และแอบส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ายาลองแห่งเวียดนามตลอดเวลา  ด้วยคาดการณ์ผิดคิดว่า ไทยกำลังอ่อนแอลง เพราะมัวแต่จะเตรียมกำลังต่อสู้ต้านทานพม่า

ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๘  เจ้าอนุวงศ์มากรุงเทพฯ เพื่อร่วมพระราชพิธีตามธรรมเนียม  แต่ในขณะอยู่กรุงเทพฯ นั่นเอง  เจ้าอนุวงศ์ก็บังเกิดความน้อยใจ เพราะทูลขอสิ่งอะไรต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสองครั้ง   พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิเสธทั้งสองครั้ง คือ  ครั้งแรกทูลขอคณะโขนและละคร เพื่อจะเอาไปแสดงที่เวียงจันทน์  แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการระบำฟ้อนรำเสียเลย  ครั้งที่สอง ทูลขอจำนวนพลเมืองซึ่งเป็นลูกหลานของผู้ที่ถูกกวาดต้อนมาไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ คืนกลับไปเมืองลาว แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยอมคืน

เมื่อมีข่าวว่า กองทัพเรืออังกฤษกำลังพร้อมที่จะเข้ามาโจมตีกรุงเทพฯ  เจ้าอนุวงศ์จึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะตั้งเวียงจันทร์เป็นอิสระจากการเป็นเมืองขึ้นไทย  จึงคิดการณ์ใหญ่ ยกทัพมาตีพระนครกรุงเทพฯ   สามทาง  ทัพใหญ่เจ้าอนุวงศ์คุมมาเอง มุ่งตรงมายังนครราชสีมา  ถึงโคราชเมื่อวันที่ ๑๗ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๐    ซึ่งก็ตีได้โดยชาวเมืองไม่ทันรู้ตัว  และเดินทัพเข้าถึงเมืองสระบุรี อันอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยระยะทางทัพเพียง ๓ วัน

เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทำการมาได้ถึงเพียงนี้  ไทยจึงจัดทัพใหญ่ขึ้นสองทัพ และกองย่อยอิสระอีกหนึ่งกอง กองทัพหลวง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพ   อีกทัพหนึ่ง พระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทร์เดชา) เป็นแม่ทัพ  เคลื่อนที่รุกขับไล่ข้าศึก

กองทัพเวียงจันทน์ ได้รับข่าวการเคลื่อนที่กองทัพไทย กองหน้าทัพเวียงจันทน์ก็เริ่มถอยจากเมืองสระบุรี และกองทัพไทยก็เคลื่อนที่ไปเกือบถึงเมืองนั้น   และแบ่งกำลัง โดยกองทัพหลวงซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพ  รีบเดินทางมุ่งไปยังเมืองเวียงจันทน์   อีกทัพหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทร์เดชาเป็นแม่ทัพ ทำหน้าที่จะเข้าตีทัพของเจ้าอนุวงศ์ในมณฑลตะวันออก และติดตามไปจนถึงเมืองจำปาศักดิ์   ส่วนกองย่อยอิสระจะให้ทำหน้าที่อยู่ทางตะวันออกของนครราชสีมา

กองทัพไทยทำการรบได้ชัยชนะทุกๆ ด้าน จึงเคลื่อนที่รุกขับไล่ข้าศึกได้อย่างง่ายดาย

เจ้าอนุวงศ์เมื่อทำลายเมืองนครราชสีมาได้แล้ว ก็กวาดต้นเอาพลเมืองทั้งหญิงชายไปด้วย  เมื่อถอยทัพกลับไป  ทุกๆ คืนที่หยุดพักแรม ตั้งค่าย เชลยไทยฝ่ายชายถูกจำคุมขังอย่างเคร่งครัด แต่ฝ่ายผู้หญิงนั้น ปล่อยไว้เพื่อจะได้รับใช้นายและไพร่พลฝ่ายลาว เอาอาหารและสุรามาเลี้ยงกัน

คืนวันหนึ่ง แม่หม้ายของเจ้าเมืองนครราชสีมา  ซึ่งเจ้าอนุวงศ์สั่งให้เอาไปฆ่าเสียแล้วนั้น เป็นหัวหน้าคบคิดกับสตรีไทยคนอื่นๆ  ล่อลวงทหารลาวให้สนุกสนานรื่นเริง แล้วมอมเหล้าเสียได้เป็นส่วนมาก  เมื่อฝ่ายลาวเมาซึมเซากันเกือบหมด  สตรีไทยก็จัดการปล่อยชายไทยออกจากการถูกจองจำ  มอบอาวุธให้ แล้วต่างก็เข้าทำการรบกันอย่างตัวต่อตัว  ฆ่าทหารชาวเวียงจันทน์เสียได้ราว ๒,๐๐๐ คน  แล้วก็พากันหลบหนีไปได้ และกลับมารวมกำลังกับกองทัพไทย

เมื่อการสงครามจบลงแล้ว พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งภรรยาหม้ายของเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นท้าวสุรนารี  

ต่อมาภายหลังได้มีรูปปั้นหล่อตั้งอยู่เป็นอนุสาวรีย์ที่ใจกลางเมืองนครราชสีมา ดังที่เราท่านได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

ส่วนเจ้าอนุวงศ์ ได้รับความช่วยเหลือจากญวน จึงรวบรวมกองทหารที่ยังมีเหลืออยู่บ้าง กลับเมืองเวียงจันทน์  ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๑  เจ้าพระยาบดินทร์ฯ ยกทัพกลับเข้ากรุงเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ก็ต้องหนีอีก  แต่พวกญวนซึ่งเจ้าอนุวงศ์หลงคิดว่าเป็นมิตร กลับช่วยไทยให้จับเจ้าอนุวงศ์ได้  เจ้าอนุวงศ์และครอบครัวถูกส่งตัวมากรุงเทพฯ  มาถึงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๒
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์เป็นที่สุด เพราะทรงถือเป็นมิตรและสนับสนุนอย่างดีมาแต่ไหนแต่ไร  ฉะนั้น จึงทรงสั่งให้เอาเจ้าอนุวงศ์เข้าขังในกรงเหล็กแล้วให้เอาออกตั้งประจานให้ประชาชนดูตลอดวัน

ภรรยาหลายคนของเจ้าอนุวงศ์ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปปรนนิบัติและนำอาหารเข้าไปให้ตามสมควร  ถึงเวลาค่ำ โปรดให้เอาออกจากกรงเหล็กและให้ไปนอนที่ทิมตำรวจ  วันรุ่งขึ้น ก็เอาเข้ากรงประจานใหม่ มีประชาชนพากันไปดูมากมายตลอดวัน แม่หม้ายและลูกหลานของทหารไทย ซึ่งถูกฆ่าตายในการสงคราม ก็มาร้องไห้ร้องห่มและกล่าวด่าว่า ปรักปรำเจ้าอนุวงศ์เป็นเวลาวันละหลายชั่วโมง ภายใน ๗ หรือ ๘ วัน เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเจ็บป่วยไม่สบายอยู่แล้ว ก็ถึงแก่ความตาย •






อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี (โม) อายุได้ ๘๑ ปี
เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์  
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

ข้อมูล : เรียบเรียงจาก
   ๑. หนังสือ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน  จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
   ๒. หนังสือ เจ้าชีวิต พงศาวดาร ๙ รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี  พระนิพนธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
   ๓. เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




การเล่น "เพลงโคราช" แก้บนข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

เพลงโคราช: Pleng Korat “Korat  Songs”
ข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  ในแต่ละวันมีประชาชนมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก  บ้างก็มากราบท่านเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่มีต่อบ้านเมือง  บ้างก็มามุ่งตรงกราบไหว้เพื่อบนบานด้วยเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  และเป็นการขอที่ไม่ใช่เป็นการขอเปล่า แต่เป็นการหยิบยื่นสิ่งตอบแทนให้กับผลสำเร็จของคำขอนั้น   โดยให้สิ่งตอบแทนแก่ท่าน หากสัมฤทธิ์ผลจากการขอ คือ การละเล่นเพลงโคราช  

เพลงโคราช เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวนครราชสีมา นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ในยุคที่ไทยรบกับเขมร  เมื่อไทยชนะครั้งใด ชาวบ้านก็จะฉลองชัยชนะกันอย่างเอกเกริก เพลงโคราชนี้  สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง (ร้องเพลง) อันเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์  ที่มีการเล่นแบบรำรุกรำถอย และใช้มือป้องหูผสมผสานกับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง นิยมเล่นกันแพร่หลายในสมัยท่านท้าวสุรนารี หรือย่าโม ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓-๒๓๙๕ และมีหลักฐานปรากฏชัดว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕  ได้เสด็จมาเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  โอกาสนั้นได้มีการเล่นเพลงโคราชถวาย  โดยนายหรี่ บ้านสวนข่า หมอเพลงโคราช  และก็ได้รับเชิญให้มาเล่นเป็นประจำในงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เพลงโคราชเล่นได้ทุกโอกาส หากเป็นหมอเพลงสมัครเล่น คือชาวบ้าน มักร้องกันเล่นในยามว่างงาน เพื่อความสนุกสนาน เช่น งานลงแขก ไถนา เกี่ยวข้าว หรือพบปะพูดคุยกันในวงสุรา  การเล่นแบบนี้ไม่มีพิธีรีตองอะไร ไม่ต้องสร้างเวทีหรือมีการแต่งกายพิเศษ  การเล่นเพลงโคราชในอดีตไม่จำกัดสถานที่ อาจจะเล่นบนบ้านหรือลานบ้านก็ได้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องมีเวทีแสดง มีเสา ๔ เสา ยกพื้นปูกระดาน สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร  หลังคามุงด้วยใบมะพร้าว หรือใบตาลกันน้ำค้าง กลางพื้นเวทีตั้งถังใส่น้ำไว้สำหรับให้หมอเพลงได้ดื่มเมื่อก่อนการแสดง  หมอเพลงไม่มีเครื่องขยายเสียง แต่ปัจจุบันต้องมีทั้งเครื่องขยายเสียงมีทั้งตะเกียงเจ้าพายุหรือไฟฟ้าให้แสงสว่าง




การแต่งกายของหมอเพลงโคราช
หมอเพลงผู้ชาย  ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าโจงกระเบน ซึ่งเป็นผ้าไหมหางกระรอก อันเป็นผ้าไหมพื้นเมืองโคราช หรือบางทีก็ใช้ผ้าม่วงแทน  ส่วนเสื้อนั้นเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้นไม่จำกัดสี มีผ้าขาวม้า “เคียนพุง” (คาดเอว) ส่วนหมอเพลงผู้หญิง  นุ่งผ้าโจงกระเบนเหมือนหมอเพลงผู้ชาย อาจใช้ผ้าไหมหางกระรอก หรือผ้าม่วง นิยมสวมเสื้อรัดรูปไม่มีปก แขนสั้น  ในสมัยก่อนผู้หญิงไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้ารัดอก ใช้ผ้าสไบเฉียงพาดไหล่ บางคนนิยมใช้พลูจีบทัดหู

ก่อนขึ้นเวที หมอเพลงจะไหว้ครูก่อน เครื่องไหว้ครู เจ้าภาพจะเป็นผู้จัดหามาให้  ซึ่งประกอบด้วย ผ้าขาว ๑ ผืน กรวยพระ ๖ กรวย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงินค่ายกครู ๖ บาท (สำหรับงานธรรมดา) และ ๑๒ บาท (สำหรับงานศพ)  ผ้าขาวนั้น หมอเพลงจะคืนให้เจ้าภาพเมื่อเสร็จงาน  การไหว้ครูหมอเพลงจะไหว้ทุกวัน โดยหัวหน้าคณะจะเป็นผู้นำไหว้ เมื่อแต่งตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนขึ้นเวทีหมอเพลงจะไหว้บุพพารีด้วย บางคนก็ไหว้พญามาร เพื่อให้พญามารไปทำลายฝ่ายตรงข้าม ให้ฝ่ายตรงข้ามจำกลอนไม่ได้





จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย
เมืองมีความเจริญมาก มีศูนย์ราชการระดับภาคหลายหน่วยงาน มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง
ผู้คนยานพาหนะขวักไขว่หนาแน่น ภายในตัวเมืองนครราชสีมา มีคูเมืองซึ่งเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาชาวโคราชจำนวนมาก
บริเวณรอบคูเมืองบางแห่งถูกจัดให้เป็นสวนสุขภาพสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกาย  น้ำในคูเมืองใสสะอาด
ไม่มีขยะมูลฝอยรกหูรกตา เพราะได้รับการดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดี


คูเมือง จังหวัดนครราชสีมา
คูเมืองเหล่านี้เป็นคูเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  
ปัจจุบันสภาพคูเมืองยังปรากฏอยู่อย่างชัดเจน คูเมืองบางส่วนถูกถมไปบ้าง เพื่อการตัดถนนเข้าเมือง
และทำเป็นอนุสรณ์สถาน ฉะนั้น ปัจจุบันนี้ประโยชน์ใช้สอยของคูเมืองที่สำคัญคือระบายน้ำเสียออกจากเมือง
ไปสู่ระบบการกำจัดน้ำเสียของเทศบาลเมือง ที่ทุ่งหัวทะเล  ดังนั้น แม้ว่าคูเมืองจะถูกถมไปบ้าง
เทศบาลเมืองก็พยายามที่จะบูรณะคูเมืองโดยการขุดลอกทำความสะอาด เพื่อคงสภาพ
การเป็นคูเมืองเก่าให้ลูกหลานได้เห็นร่องรอยต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 14:50:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.529 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 12 พฤษภาคม 2567 03:22:28