[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
09 พฤษภาคม 2567 04:38:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตำรานกกระทาคำฉันท์ - โรคและการใช้สมุนไพรรักษานก  (อ่าน 240 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 สิงหาคม 2566 18:00:07 »



โรคและการใช้สมุนไพร
ในตำรานกกระทาคำฉันท์

สัตว์เลี้ยง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาแต่โบราณ สัตว์ปีกจำพวกนกก็เป็นที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามและหย่อนใจ  พบเอกสารโบราณหลายเล่มเกี่ยวกับตำราดูลักษณะนกชนิดต่างๆ ซึ่งให้บริการศึกษาค้นคว้าอยู่ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ นับเป็นองค์ความรู้ประเภทหนึ่งที่บันทึกสืบต่อกันมา  เรื่องราวและเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการบอกลักษณะทางกายภาพของนกสำหรับการคัดเลือกคุณลักษณะที่ดีในการเลี้ยง  นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงอาการเจ็บป่วยโรคและการใช้สมุนไพรในการรักษา ประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้ไม่เคยมีผู้ศึกษาเรื่องการรักษานกจากเอกสารโบราณมาก่อน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงกระบวนการบันทึกความรู้ วิธีการจำแนกโรค แนวทางการรักษา ทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์ด้านการศึกษาโรคในสัตว์ปีกที่เก่าที่สุดของไทยที่มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อีกด้วย

ในการศึกษาครั้งนี้ ได้เลือกใช้เอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทย หมวดสัตวศาสตร์ เฉพาะเล่มที่กล่าวถึงยารักษานก จำนวน ๖ เล่ม นำมาศึกษาข้อมูล โดยเบื้องต้นแบ่งกลุ่มตามลักษณะการบันทึกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ “ตำรานกกระทา” เลขที่ ๑๗๓  “ตำรานกเขาชะวาคำโคลง” เลขที่ ๑๘๐  และ ตำรานกเขาชวาคำกลอน” เลขที่ ๒๕๙  ประเภทร้อยกลอง (กลอนสุภาพ) ได้แก่ “ตำรานกกระทาคำฉันท์” เลขที่ ๑๗๐  “ตำรานกกระทาคำกลอน” เลขที่ ๑๗๑  และ “ตำรานกกระทาคำกลอน” เลขที่ ๑๗๒

การศึกษาตำรายานกประพเภทร้อยแก้วนั้น ได้ปริวรรตเนื้อหาจากอักษรไทยโบราณเป็นอักษรไทยปัจจุบัน  จากนั้นนำมาจัดรูปแบบตามอาการโรคและยาตามตำรับ เช่นเดียวกับรูปแบบที่ใช้ในการบันทึกตำราเวชศาสตร์ เพื่อสะดวกต่อการเปรียบเทียบวิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป ดังตัวอย่าง

           “◎ ถ้านกมิขัน ให้เอาใบตำลึง ๑  ใบกะเพรา ๑  ใบแมงลัก ๑  ใบมะขาม ๑  เห็ดไม้ไผ่ ๑  ยาดำ ๑  เปลือกประดู่ ๑  เถาตำลึง ๑  ตำให้กิน ขันแล ฯฯ”

                                                                           ตำรานกกระทา เลขที่ ๑๗๓

สำหรับการศึกษาตำรายานกประเภทร้อยกรอง เมื่อปริวรรตจากอักษรไทยโบราณเป็นอักษรไทยปัจจุบันแล้ว ก็มีขั้นตอนที่เพิ่มเติมจากการศึกษาเอกสารประเภทร้อยแก้ว คือ ต้องนำมาจัดเป็นวรรคตามลักษณะฉันทลักษณ์เสียก่อนเพื่อให้เห็นรูปแบบการเขียนชัดเจนมากขึ้น จากนั้นจึงจะจัดข้อมูลเช่นเดียวกันกับเอกสารประเภทร้อยแก้ว ดังตัวอย่าง



   ”◎ ฉันจดทำจำกรึกจารึกเขียน    
          สำหรับนักเลงนกทาได้หาเรียน       จงจำเนียรทางไซร้แต่ไรมา
          มีทั่วโลกาตรีบุรีภพ    ก็ปรารภอยู่ด้วยรักซึ่งปักษา
          เฝ้าเลี้ยงดูชูบำรุงสกุณนา    จึงค่อยผาสุขภาพเจริญพร
          อยู่วันหนึ่งสกุณีจะมีเหตุ   ให้อาเพศเพื่อชีวังจะสังขร    
          โรคทั้งสี่มีตัวเข้ารานรอญ       จะม้วยมรชีพสิ้นชีวาลัย
          ให้บิดเบื่อโภชนาอาหาร    ความสำราญสกุณีหามีไม่
          เป็นตานมูกตานแห้งทุกแห่งไป    จะเหยียบยืนก็มิได้เหมือนเดิมมา
          ต้องยืนเจ่าเท้าเดียวดูอนาถ   ด้วยโรครุมเข้าพิฆาตจะสังขา    
          เหลือดำรงที่จะทรงซึ่งกายา       สกุณนาเพียงพินาศจะขาดใจ”
             ตำรานกกระทาคำฉันท์ เลขที่ ๑๗๐

จากการศึกษาเนื้อหาที่บันทึกอาการป่วยของนกไว้นั้น ในเอกสารประเภทร้อยกรอง เลขที่ ๑๗๐ ๑๗๑ และ ๑๗๒ พบข้อมูลมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ ต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย เช่น การเขียนรูปคำ และมีคำที่ขาดหาย สันนิษฐานว่าเกิดจากการคัดลอกตกหล่นไป หรืออาจจดบันทึกจากความทรงจำมุขปาฐะเท่านั้น  ส่วนเนื้อหาในเอกสารประเภทร้อยแก้ว เลขที่ ๑๗๓ ชื่อโรคและยาสมุนไพรที่ใช้ ระบุใกล้เคียงกับข้อมูลของเอกสารเลขที่ ๑๗๐ ๑๗๑ และ ๑๗๒  สำหรับเนื้อหาในเอกสาร เลขที่ ๑๘๐ และเลขที่ ๒๕๙ พบข้อมูลการใช้ยาเหมือนกันทั้ง ๒ เล่ม คือ ยารุ หรือยาถ่าย สำหรับนกเท่านั้น

แม้ว่าเอกสารโบราณทั้ง ๖ เล่มที่ใช้ศึกษาจะไม่ได้ระบุผู้เป็นเจ้าของ แต่ปรากฏชื่อ “นายวงษา” เจ้าของนกผู้แสวงหายามารักษานกของตนเอง  ในตำรานกกระทาคำฉันท์ เลขที่ ๑๗๐ ความว่า


          "นายวงษาเศรษฐีผู้เจ้าของ    ก็มัวหมองด้วยปักษาน้ำตาไหล
          สู้เก็บยาหาเหยื่อเพื่อเจือใจ   อยู่วันหนึ่งจึงได้ตำรามา    
          นายวงษาไพรสณฑ์คนฉลาด       จึงพิฆาตทุเลาเบาโรคา
          แสวงหาสิ่งทรัพย์ยามา    ได้รักษาสกุณนัยก็หายพลัน"

“นายวงษา” เองก็มีความตั้งใจจะแบ่งปันให้คนเลี้ยงนกกระทาด้วยกันได้จดจำไว้ใช้ ดังตอนที่ว่า

    ”◎ ฉันจดทำจำกรึกจารึกเขียน
          สำหรับนักเลงนกทาได้หาเรียน       จงจำเนียรทางไซร้แต่ไรมา”
          "แม้นผู้ใดใคร่จะเลี้ยงนกทา   ให้จดจำจารึกยาอย่างขยัน    
          ตำรานี้มีมาช้านานครัน       สำหรับกันแก้โรคสกุณนา"

ข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า “นายวงษา” เป็นผู้ได้ตำรายามาและตั้งใจบันทึกไว้ให้เหล่านักเลงนกและผู้เลี้ยงนกทั้งหลายได้ใช้ตำรายานี้รักษาความเจ็บป่วยของนก สืบต่อกันมานั่นเอง

การแต่งตำรายานกด้วยกลอนสุภาพนั้น แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องของการบังคับจำนวนคำสัมผัส พยัญชนะและสระ ตามหลักเกณฑ์ของการแต่งคำประพันธ์ แต่ผู้แต่งก็สามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับยาไว้ได้อย่างครบถ้วน ประกอบไปด้วย อาการของโรค ตำรับยาที่ใช้รักษา วิธีการปรุงยา และข้อบ่งใช้ยาหรือวิธีใช้ยา ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในลำดับต่อไป

เมื่อนกไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยเองได้ คนเลี้ยงต้องช่างสังเกต ใส่ใจ อย่ามองข้ามความผิดปกติเหล่านั้น อาการเจ็บป่วยของนกที่พบในเอกสารคล้ายกันกับคน ได้แก่ เป็นไข้ เวียนศีรษะ มีน้ำมูก ง่วงซึม ไม่นอน ไม่ขัน เป็นต้น  การวินิจฉัยโรคจากอาการผิดปกติของนกที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลต้องคอยสังเกตความเป็นอยู่ พฤติกรรมการกิน นอน ขนาดตัว น้ำหนักตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย การขับถ่าย ตลอดจนนิสัยหรือพฤติกรรมอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การระบุโรคและการจัดยาเพื่อรักษาอาการป่วยนั้นให้หายขาด เช่น


          "...หนึ่งเป็นตานมูกจมูกกลัด   หายใจคัดครึครอคอปักษี"    

เพราะหากปล่อยให้อาการผิดปกติเกิดขึ้นต่อไปจนป่วยและอาการทรุดหนักเกินกว่าจะรักษาได้ อาจตายลงในที่สุด  จากเอกสารที่นำมาศึกษาทั้งหมดได้ระบุโรคและอาการป่วยไว้ทั้งสิ้น ๗ อาการ คือ ไข้ ไข้สะแกเวียน ตานมูก ตานแห้ง ไม่ขัน ไม่นอน และยืนเดือย

เมื่อทราบว่านกมีอาการเจ็บป่วยที่สังเกตได้ ขั้นต่อไปคือการรักษาอาการนั้นให้ทุเลาลงจนหายขาด ยาสมุนไพรตำรับต่างๆ ที่บันทึกไว้นั้น บางอาการบันทึกไว้เพียงตำรับเดียว บางอาการบันทึกไว้หลายตำรับ  ยาสมุนไพรที่ใช้ก็ประกอบไปด้วย พืชวัตถุ สัตววัตถุ และธาตุวัตถุ โดยมีน้ำกระสายยาเป็นส่วนผสมที่ช่วยเป็นตัวทำละลายสรรพคุณยาออกมาจากเครื่องยา

พืชวัตถุ คือ เครื่องยาที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ราก เปลือก ต้น ใบ ดอก และผล เป็นต้น  ในตำรายานกมีการใช้พืชวัตถุเป็นเครื่องยาทั้งหมด ๔๑ ชนิด คือ รากมะอึก รากผักชี รากมะเดื่อเทศ รากมะเดื่อดิน รากมะเขือขื่น รากฟักขาว รากฟักเขียว รากฟักทอง ใบมะระ ใบกระเพรา ใบกะเม็ง ใบพุทรา ใบมะเขือเทศ ใบผักคราด ใบครอบ ใบคนทีสอ ใบแมงลัก ใบมะขาม เถาตำลึง เปลือกประดู่ ผักเป็ด หญ้าใต้ใบ หญ้าขัดมอน ตานหม่อน คนทา ตลับ กระเทียม หัวหอม ขิง ขมิ้นอ้อย มะขามเปียก ยาดำ จันทน์ทั้งสอง (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) พริก มะแว้งทั้งสอง (มะแว้งต้น และมะแว้งเครือ) ข้าวเปลือก เห็ดไม้ไผ่ ถ่านกะลา และ(ขี้)เถ้าใจไฟ

สัตววัตถุ คือ เครื่องยาที่ได้จากส่วนต่างๆ ของสัตว์ เช่น ดี เปลือก ไข่ หนัง เขา น้ำมัน เป็นต้น  ในตำรายานกพบการใช้สัตววัตถุเป็นเครื่องยาทั้งหมด ๓ ชนิด คือ กะปิ ขี้วัวสด และน้ำผึ้ง

ธาตุวัตถุ คือ เครื่องยาที่ได้จากแร่ธาตุต่างๆ เช่น เกลือ กำมะถัน หิน ดิน ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการผสมขึ้นโดยคน  ในตำรายานกพบการใช้ธาตุวัตถุเป็นเครื่องยาทั้งหมด ๓ ชนิด คือ ดิน ดินปลวก และเกลือ

น้ำกระสายยา คือ น้ำที่ได้จากตัวยาสมุนไพร ทั้งพืช สัตว์และธาตุ นับเป็นส่วนสำคัญในการปรุงยาเพราะมีส่วนในการเสริมฤทธิ์ยาให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำข้าว เหล้า และน้ำผึ้ง เป็นต้น  ในตำรายานกใช้น้ำกระสายยาทั้งหมด ๔ ชนิด คือ น้ำปลาปากไห น้ำมูตร น้ำเชือกหนังหูเกวียน และน้ำตำลึง

วิธีปรุงยา พบว่ามีวิธีการปรุงยารักษานกอยู่ ๓ แบบ คือ การบดเป็นผง การขยี้ให้ได้กลิ่นตัวยา และการปั้นยาเป็นลูกกลอน

การใช้ยา พบว่ามีวิธีการใช้ยารักษานกอยู่ ๓ แบบ คือ ยากิน ยาพ่น และยาสำหรับวางในกรงให้เป็นไอระเหย



ยารักษานกทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้


การศึกษาเรื่องโรคและการใช้เสมุนไพรในตำรานกกระทาและนกเขาชวานี้ ทำให้ตระหนักว่าความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยนั้น นอกจากใช้ดูแลและรักษาสุขภาพของคน ยังบูรณาการมาสู่การดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเช่นนกด้วย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความใส่ใจในสุขภาวะเผื่อแผ่ไปถึงชีวิตสัตว์เลี้ยงของตนเอง และมีการสืบทอดองค์ความรู้นั้นส่งต่อไปให้อนุชนด้วยการบันทึกไว้เป็นตำราเฉพาะด้าน ได้ระบุโรคของนกไว้ ๗ อาการ คือ ไข้ ไข้สะเวียน ตานมูก ตานแห้ง ไม่ขัน ไม่นอน และยืนเดือย มีการใช้สมุนไพรประกอบยารักษาไว้ ๑๔ ตำรับ และยารุหรือยาถ่าย ๔ ตำรับ รวมทั้งสิ้น ๑๘ ตำรับ

การฟื้นฟูด้านการแพทย์แผนไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ หากมีการศึกษาค้นคว้า ทดลองและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านสมุนไพรเพื่อใช้กับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกแขนงหนึ่ง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติการรักษาโรคในสัตว์ปีกและสรรพคุณทางยาในเชิงเภสัชกรรมไทยต่อไป ทั้งยังเป็นการลดปริมาณการใช้ยาจากสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสตกค้างเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนและสัตว์ได้อีกทางหนึ่งด้วย




บน ตำรานกกระทาคำกลอน เลขที่ ๑๗๒  ล่าง ตำรานกกระทาคำกลอน เลขที่ ๑๗๒


บน ตำรานกเขาชวาคำกลอน เลขที่ ๒๕๙  ล่าง ตำรานกเขาชวาคำกลอน เลขที่ ๒๕๙


ตำรานกกระทาคำกลอน
   ”◎ ฉันจดทำจำกรึกจารึกเขียน    
สำหรับนักเลงนกทาได้หาเรียน       จงจำเนียรทางไซร้แต่ไรมา
มีทั่วโลกาตรีบุรีภพ    ก็ปรารภอยู่ด้วยรักซึ่งปักษา
เฝ้าเลี้ยงดูชูบำรุงสกุณนา    จึงค่อยผาสุขภาพเจริญพร
อยู่วันหนึ่งสกุณีจะมีเหตุ   ให้อาเพศเพื่อชีวังจะสังขร    
โรคทั้งสี่มีตัวเข้ารานรอญ       จะม้วยมรชีพสิ้นชีวาลัย
ให้บิดเบื่อโภชนาอาหาร    ความสำราญสกุณีหามีไม่
เป็นตานมูกตานแห้งทุกแห่งไป    จะเหยียบยืนก็มิได้เหมือนเดิมมา
ต้องยืนเจ่าเท้าเดียวดูอนาถ   ด้วยโรครุมเข้าพิฆาตจะสังขา    
เหลือดำรงที่จะทรงซึ่งกา(ยา)       สกุณนาเพียงพินาศจะขาดใจ
นายวงษาเศรษฐีผู้เจ้าของ    ก็มัวหมองด้วยปักษาน้ำตาไหล
สู้เก็บยาหาเหยื่อเพื่อเจือใจ   อยู่วันหนึ่งจึงได้ตำรามา    
นายวงษาไพรสณฑ์คนฉลาด       จึงพิฆาตทุเลาเบาโรคา
แสวงหาสิ่งทรัพย์ยามา    ได้รักษาสกุณนัยก็หายพลัน
แม้นผู้ใดใคร่จะเลี้ยงนกทา    ให้จดจำยายาขยัน
ตำรานี้มีมาช้านานครัน   สำหรับกันแก้โรคสกุณนา    
นกใดเป็นไข้ให้ขนพอง       สยองทั่วโลมาปักษี
เอากระเทียมมะขามเปียกกะปิดี    ทั้งยาดำบดขยี้เข้าด้วยกัน
เอาผักเป็ดเสร็จสรรพถ้วนห้าสิ่ง    เป็น(ยิ่ง)ยอดอย่างทางขยัน
เราได้บดป้อนหายมลายครัน    สำคัญมันจำไว้ให้จงดี
หนึ่งเป็นตานมูกจมูกกลัด   หายใจคัดครึครอคอปักษี    
เอาหัวหอมใบมะระกะปิดี       รากผักชีใบกระเพรามาเท่ากัน
บดละลายด้วยน้ำปลาปากไห    เผาถ่านกะลาใส่เป็นแม่นมั่น
แล้วอมพ่นสกุณีก็ดีครัน    จมูกกลัดอัดอั้นก็หายไป
ตำรับนี้มีมาแต่ครั้งก่อน   สำหรับผ่อนโรคร้ายให้หายได้    
จงมณสิการจำไว้       ท่านแต่งไว้เกิดกับสำหรับกัน
พาตานแห้งแต่งยาไว้เจ็ดสิ่ง    ให้เอาขิงกับกระเทียมเป็นแม่นมั่น
ขมิ้นอ้อยใบพุดทราทั้งสองจันทน์    เป็นสำคัญคือยาใต้ใบ
เป็นยาสดบดละลายกระสายมูตร   ปั้นเท่าเม็ดมะกรูดให้จงได้    
เจ็ดก้อนป้อนปั้นทันใจ       เป็นยาประจำภายในสกุณนี
ถ้าเป็นไข้เศร้าใจศีรษะสั่น    โลมาชันพองทั่วตัวปักษี
เอาพริกขิงกระเทียมกะปิดี    บดป้อนสกุณนีเร็วไว
นกใดเป็นไข้กระแตเวียน    ประจักษ์เจียนชีพม้วยตักษัย
เอารากมะอึกมาทันใด   เอาแช่น้ำลงไว้หนัง(หัว)เกวียน    
จึงเอายาแช่น้ำมาให้กิน       ปักษินก็จะหายเวียนเศียร
ถ้าทิ้งไว้จะพินาศขาดเตียน    ถ้าเป็นโรคกระแตเวียนสิบห้าวัน
นกใดเลี้ยงไว้ไม่ขันขึ้น    ใจทะมึนขุ่นข้องไม่อยากขัน
ถึงขวบหนึ่งสองขวบประจวบกัน      ไม่แขวกขวักปากขันสักเวลา    
ท่านให้เอามะแว้งทั้งสอง       ตำกรองเป็นผงอย่างว่า
รากมะเขือขื่นเล่าเอามา    คุลีการประสมเข้าด้วยกัน
จึงประสมข้าวเปลือกบริสุทธิ์    แช่มูตรสามวันให้จงได้
ให้นกกินขันขึ้นทันใด   กำหนดให้แน่ในตำรา    
ถ้านกใดใจดำไม่ขันขึ้น       ให้ยักเอาขนานอื่นจงเร่งหา
ใบกระเพราเถาตำลึงแมงลักมา    ยาดำมะเขียมเปียกเถ้าใจไฟ
บดละลายด้วยกระสายน้ำตำลึง    แล้วจึงป้อนปั้นให้จงได้
สิบห้าวันขันขึ้นทันใด   จึงจัดจำทำไว้ในตำรา    
นกใดยืนตื่นน่าสงสาร       อย่าเนิ่นนานเร่งรัดให้จัดหา
ใบกะเม็งตานมอนคันทา    ทั้งสามสิ่งสรรพยาเสมอกัน
จึงให้ตำตากแดดพอหมาดหมาด    หนึ่งอย่าขาดดินปลวกจงแม่นมั่น
เผาเสียให้สุกแล้วคลุกกัน   กับยานั้นใส่ให้สกุณนา    
ถ้าทิ้งไว้ไม่นานจะมรณา    โดยตำราว่าไว้เป็นใจความ

     หมายเหตุ    คัดและเรียบเรียงเฉพาะส่วนที่เป็นตำรายาจาก ตำรานกกระทาคำฉันท์ เลขที่ ๑๗๐
    และตำรานกกระทาคำกลอน เลขที่ ๑๗๑

ที่มาบทความและภาพประกอบ : โรคและการใช้สมุนไพรในตำรานกกระทาคำฉันท์ โดย ยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 สิงหาคม 2566 18:08:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.901 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ชั่วโมงที่แล้ว