[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 17 กันยายน 2560 19:14:00



หัวข้อ: หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ วัดศาลากุน ต.เกราะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 17 กันยายน 2560 19:14:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23764008614751_view_resizing_images_1_.jpg)

หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ
วัดศาลากุน ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

"หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ" วัดศาลากุน ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พระเกจิชื่อดังเจ้าตำรับเครื่องรางของขลังหนึ่งในชุดเบญจภาคี "หนุมานแกะ" อันโด่งดัง

นามเดิมว่า สุ่น ปานกล่ำ เป็นชาวปากเกร็ดโดยกำเนิด เกิดเมื่อพ.ศ.2435 ไม่ไกลจากวัดศาลากุน แต่ไม่ได้มีการบันทึกประวัติของท่านเก็บไว้

ทราบเพียงเมื่ออุปสมบทแล้วได้รับฉายาว่า จันทโชติ แปลว่า รุ่งเรืองดุจจันทร์เพ็ญ แต่ไม่ปรากฏนามพระอุปัชฌาย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดศาลากุน และด้วยศีลาจารวัตรของท่าน ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาตั้งแต่พรรษาต้น เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ ท่านก็ได้พัฒนาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดจนเจริญรุ่งเรืองสืบมา

เป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ผู้ลงอักขระ บนแผ่นทองแดงใช้เป็นมวลสารในการ จัดสร้างเหรียญที่ระลึกวัดราชบพิธฯ ครั้งที่ 4 (พ.ศ.2481)

ยังเป็นสหธรรมิกหลวงพ่อกลิ่น วัดสะพานสูง โดยมีอายุมากกว่าหลวงพ่อกลิ่นประมาณ 5 ปี

สำหรับเกาะเกร็ด พื้นที่ตั้งวัดศาลากุน เดิมทีไม่ได้เป็นเกาะ เป็นแผ่นดินที่ยื่นออกไปเหมือนแหลมจากพื้นแผ่นดินของอำเภอปากเกร็ด ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมผ่านไปชื่อเดิมคือบ้านแหลม ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าหากขุดคลองลัดตรงบ้านแหลมแล้วระยะทางจะสั้น เรือจะสัญจรไปมาได้สะดวก จึงโปรดให้ขุดคลองลัด เมื่อปี พ.ศ.2265 เรียกว่า คลองลัดเกร็ดน้อย โดยมีความกว้างเพียง 6 วา เท่านั้น

ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ เรียกชื่อแผ่นดินที่ถูกคลองขุดตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่นี้ว่า เกาะศาลากุน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุในโฉนดชื่อว่า เกาะศาลากุน ตามชื่อ วัดศาลากุน ที่สร้างโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ตั้งแต่สมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อตั้ง อ.ปากเกร็ด จึงเรียกเป็นเกาะเกร็ด

วัดศาลากุน ตั้งอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด ท้องที่หมู่ 3 บ้านเกาะศาลากุน การเดินทางไปยังวัดนี้ ถ้าหากข้ามเรือที่ท่าวัดกลางเกร็ด เมื่อขึ้นที่ท่าเกาะเกร็ดจะมีถนนไปถึงวัดนี้ได้ ระยะทางประมาณ 1,400 เมตร กล่าวกันว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าเช่นกัน เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากดินริมแม่น้ำงอกขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้จึงอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด โบราณสถานของวัดล้วนสร้างขึ้นใหม่ คือ อุโบสถลักษณะทรงโบราณ 2 ชั้น ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ เจดีย์และกุฏิสงฆ์ และยังมีโบราณวัตถุเก่า เช่น โต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ประดับมุก เครื่องแก้วเจียระไน และหีบศพประดับมุก ฯลฯ

หลวงพ่อสุ่นมีชื่อเสียงมาก ในฐานะเป็นต้นตำรับของการสร้างหนุมานแกะ

เมื่อครั้งหลวงพ่อสุ่นยังเป็นพระลูกวัด ท่านปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ 2 ชนิด คือ ต้นรักและต้นพุดซ้อน หมั่นดูแลรดน้ำโดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรดต้นไม้ ทั้งสองทุกครั้งจนเจริญเติบโต

กระทั่งท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ที่ท่านจึงดูฤกษ์ยามทำพิธีพลีและสังเวย ก่อนลงมือขุดด้วยตัวเอง จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วให้ช่างแกะเป็นรูปหนุมานจนหมด รวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตรเพื่อปลุกเสกในกุฏิ จนถึงวันเสาร์ซึ่งถือว่าเป็นวันแรง ท่านก็จะเข้าไปปลุกเสกด้วยพระคาถาในอุโบสถจนครบถ้วนกระบวนการ จึงเก็บไว้แจกจ่ายบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ถวายปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด

นอกเหนือจากหนุมานแกะที่ทำจากต้นรักและต้นพุดซ้อนแล้ว หลวงพ่อสุ่นยังได้แกะหนุมานจากงาช้างด้วย แต่สร้างในรุ่นหลัง

หนุมานหลวงพ่อสุ่นแบ่งแยกได้เป็น 2 พิมพ์ คือหนุมานพิมพ์หน้าโขน และหนุมานพิมพ์หน้ากระบี่

คอลัมน์ อริยะโลกที่6
ข่าวสดออนไลน์