[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 กันยายน 2556 19:04:38



หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน แห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กันยายน 2556 19:04:38
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92972610932257_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31492863595485_2.JPG)

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
Petrified Wood Museum
บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ภาคอีสานเป็นดินแดนที่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากมายบ่งบอกว่าบนพื้นที่ราบสูงแห่งนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์ สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ อายุนับร้อยล้านปี จนได้ขึ้นชื่อว่าถิ่นไดโนเสาร์

จังหวัดนครราชสีมาหรือที่เรียกกันติดปากว่า “เมืองโคราช หรือเมืองย่าโม” เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ขุดพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ นอกเหนือจากขุดพบได้มากที่จังหวัดหนองบัวลำภู  และไม่เพียงแต่ซากสัตว์เท่านั้น  ในพื้นที่เกือบ 20 อำเภอ  ยังขุดพบซากพืชที่ฝังตัวอยู่ใต้ดินจนกลายเป็นหิน ที่เรียกว่า ไม้กลายเป็นหิน จำนวนมาก เป็นที่มาของการเสนอโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยาน และพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จนทำให้มีการก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ชื่อเต็มว่า สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  มีพื้นที่ 80.5 ไร่ เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน ทำพิธีเปิด และด้วยตระหนักในคุณค่า ทรงสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งทรงติดตามการดำเนินงานโครงการนี้ตลอดมา  

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน แบ่งพื้นที่ให้ศึกษาอย่างเต็มรูปแบบออกเป็น 3 ส่วน  คือ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน  พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58870448337660_3.JPG)


• พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood Museum)
เป็นสถานที่จัดแสดงซากไม้ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นหินของภาคอีสาน อายุตั้งแต่ 800,000 - 330 ล้านปี  จำนวนมากกว่าร้อยชิ้น  ทั้งบริเวณรอบนอกและภายในอาคารพิพิธภัณฑ์  และจุดที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์ในส่วนนี้คือ  “ไม้กลายเป็นหินอัญมณี(Gem-quality petrified wood)  อายุประมาณ 800,000 ปีก่อน มีความยาวประมาณ 2 เมตร เป็นไม้สกุลมะค่าโมง (Afzelia) เนื้อโอพอล (Opal)  สวยงามมากตลอดทั่วทั้งลำต้น พบที่บ้านมากเอื้อง ตำบลสุรนารี  อำเภอเมืองนครราชสีมา  ไม้กลายเป็นหินนี้ประกอบด้วยเนื้อแร่หรือสารที่มีสีสันหรือความวาวที่สวยงาม เกือบทั้งหมดเป็นแร่ตระกูลควอร์ตซ์  

• ความเชื่อเรื่องไม้กลายเป็นหิน
ชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าต่างๆ มีความเชื่อเรื่องไม้กลายเป็นหิน ซึ่งพบในอุทยานแห่งชาติป่าไม้กลายเป็นหิน รัฐอริโซนาที่แตกต่างกันไป บางตำนานเล่าว่า “เทพธิดาองค์หนึ่งพยายามจุดไฟด้วยท่อนซุงเหล่านี้ แต่เนื้อไม้ชื้นเกินไป ด้วยความกริ้ว นางจึงสาปให้ท่อนซุงกลายเป็นหินเพื่อไม่ให้ติดไฟตลอดกาล ป่าไม้กลายเป็นหินจึงถือกำเนิดขึ้นบนโลก”

เผ่า Paiute เชื่อว่าไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่เหล่านี้ คือก้านลูกธนูและก้านหอกของ Shinauav เทพเจ้าแห่งสายฟ้า ที่ใช้ยิงหรือพุ่งระหว่างการต่อสู้กับศัตรู เมื่อทำศึกครั้งใหญ่ ขณะที่เผ่า นาวาโฮ เชื่อว่าไม้ที่กลายเป็นหินเป็นกระดูกของยักษ์ใหญ่ นาม Yeitso

ส่วนคนไทยเชื่อว่ามีเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ในไม้กลายเป็นหิน จึงมีการสร้างศาลขึ้นมากราบไหว้ เช่น ศาลเจ้าแม่ไม้กลายเป็นหินในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ และศาลเจ้าพ่อไม้กลายเป็นหิน บริเวณสวนมะม่วง ริมถนนสายนครราชสีมา–โชคชัย  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  ขณะที่คนบางคนเชื่อว่าใครได้จับแตะต้องไม้กลายเป็นหินจะเป็นผู้มีอายุยืนเพราะไม้กลายเป็นหินเป็นของเก่าแก่แต่โบราณ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53250915888282_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91933387186792_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75475768413808_4.JPG)
ไม้กลายเป็นหินอัญมณี


สาเหตุที่ไม้กลายเป็นหิน เกิดจากสารละลายแร่ธาตุตกผลึกหรือตกตะกอนในช่องว่างหรือแทนที่เนื้อไม้เดิมในระดับโมเลกุล  ดังนั้น ไม้กลายเป็นหินส่วนใหญ่จึงหนักเหมือนหินและยังคงมีรูปร่างและโครงสร้างของไม้เดิมปรากฏให้เห็น เช่นลักษณะเสี้ยนไม้ ตุ่ม และ ตาไม้ กิ่งไม้ วงปี รูปร่างท่อนไม้  ดยเฉพาะลักษณะที่เป็นรูพรุนหรือเซลล์ไม้ ที่มีขนาด รูปแบบ การจัดเรียงตัว และความหนาของเซลล์แตกต่างกัน  ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของชนิดไม้ เปรียบคล้ายลายมือที่ไม่เหมือนกันของคนแต่ละคน  ลักษณะเฉพาะเช่นนี้จึงทำให้เราสามารถจำแนกวงศ์ สกุล และชนิดของพรรณไม้กลายเป็นหินได้ เหมือนกับจำแนกพรรณไม้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไม้กลายเป็นหิน มีสมมติฐานที่แตกต่างกัน ๒ สมมุติฐาน ดังนี้

สมมติฐานแรก เกิดจากสารละลายซึ่งมาจากหินที่เป็นด่าง (Alkaline Solution)  เมื่อท่อนไม้รวมทั้งตะกอนกรวด ทราย ดินเหนียวถูกกระแสน้ำหลากพัดพามาทับถมในท้องแม่นํ้าโบราณขนาดใหญ่ หากน้ำใต้ดินบริเวณดังกล่าวไหลผ่านหรืออยู่ใกล้หินที่ให้สารละลายชนิดด่าง น้ำจะมีสภาพเป็นด่างทำให้ละลายซิลิกาหรือเนื้อกรวดทรายออกมาได้ดี  ต่อมาหากบริเวณนั้นหรือเนื้อไม้มีสภาพเป็นกรดจะทำให้สารละลายด่างเกิดสภาพเป็นกลางหรือกรดอ่อน มีผลทำให้ซิลิกาตกตะกอนเป็นของแข็งแทนที่เนื้อไม้ที่แช่อยู่ในสารละลายได้ทั้งหมด
 
สมมติฐานที่ ๒ เกิดจากสารละลายที่มาจากน้ำแร่ร้อน (Hydrothermal Solution) ท่อนไม้ที่ถูกทับถมใกล้บริเวณภูเขาไฟซึ่งมีอิทธิพลของน้ำแร่ร้อนใต้ผิวโลกที่มีปริมาณสารละลายซิลิกาอยู่มาก ไหลซึมผ่านแนวรอยแตกของหินหรือตะกอนกรวดทรายดินขึ้นมาปะปนกับน้ำใต้ดิน สามารถทำให้เกิดการตกตะกอนของซิลิกาจากน้ำใต้ดินแทนที่เนื้อไม้ที่ถูกฝังดังกล่าวได้  สมมติฐานนี้  มีปัจจัยสนับสนุนจากหลักฐานภูเขาไฟและชั้นหินซิลิกาในลุ่มน้ำมูล หรือบริเวณใกล้เคียงทางด้านตะวันตก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83460082320703_5.JPG)
ไม้กลายเป็นหิน ที่รักษาสภาพเนื้อไม้ไว้ได้ดี  จะสามารถมองเห็นวงปีที่ชัดเจน

วงปี คือ ชั้นของเนื้อเยื่อที่ต้นไม้สร้างขึ้นในรอบ ๑ ปี วงปีจึงเป็นสิ่งบอกได้ว่า ต้นไม้นั้นมีอายุกี่ปีก่อนจะตายลง

ในฤดูฝน เซลเนื้อไม้มีขนาดใหญ่ ทำให้เนื้อไม้มีสีจาง  ส่วนในฤดูแล้ง  เซลเนื้อไม้มีขนาดเล็กอยู่เบียดชิดติดกันแน่น ทำให้เนื้อไม้บริเวณนั้นมีสีเข้ม เห็นเป็นวงได้ชัดเจน  ฉะนั้น วงปี จึงเป็นหลักฐานแสดงถึงภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนในอดีตได้ด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/98411074197954_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31215479059351_2.JPG)

ไม้กลายเป็นหิน
ข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

ไม้กลายเป็นหินตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาไม่ได้บัญญัติมาจากคำศัพท์กลางๆ จาก Petrified Wood แต่มาจากคำศัพท์ค่อนข้างจำเพาะ คือ Silicified Wood อันหมายถึงไม้กลายเป็นหินที่เกิดจากสารละลายซิลิกาเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ คือแทนที่โมเลกุลต่อโมเลกุล จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง โดยปกติซิลิกาในเนื้อไม้นี้จะอยู่ในรูปของโอปอ หรือคาลซิโดนี

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการจัดทำพจนานุกรมธรณีวิทยามีความเห็นกำกับว่า ความหมายข้างต้นน่าจะเป็นความหมายของคำว่า ไม้กลายเป็นหินเนื้อซิลิกา ดังนั้น คำว่า ไม้กลายเป็นหิน จึงน่าจะมาจากศัพท์ Petrified Wood หรือ Wood Stone เนื่องจากเป็นคำกลางๆ ที่ไม่ระบุชนิดของสารละลายที่เข้าไปแทนที่ในเนื้อไม้ เพราะในสภาพที่เป็นจริงจะพบสารละลายได้หลายชนิด เช่น สารละลายของเหล็ก และ/หรือแมงกานีสไฮดรอกไซด์ สารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนต (ปูน) เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่ต้องการเน้นชนิดของสารประกอบหรือแร่ส่วนใหญ่ จึงอาจใช้คำว่า Silicified Wood, Agatized Wood, Opalized Wood, Calcified Wood เป็นต้น
 
ไม้กลายเป็นหินส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ

ประการแรกเกิดจากการทับถมพื้นที่ป่าไม้หรือต้นไม้ด้วยเถ้าถ่านหรือลาวาจากภูเขาไฟ วัสดุดังกล่าวมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่มาก เมื่อผุพังสลายตัวซิลิกาบางส่วนจะอยู่ในรูปสารละลายซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมด

ประการที่สอง เกิดจากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้มีการพัดพาตะกอนกรวดทรายดินจำนวนมาก รวมทั้งซุงหรือท่อนไม้ต่างๆ ที่หักโค่นหรือล้มตายจากน้ำไหลหลากหรือจากสาเหตุอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนนั้น ตะกอนกรวดทรายจะตกจมทับถมส่วนของต้นไม้ดังกล่าว โดยเฉพาะในบริเวณร่องแม่น้ำ ณ จุดที่กระแสน้ำมีความเร็วลดลงและไม่สามารถพัดพาต่อไปได้อีก ดิน ทราย กรวดที่ทับอยู่ข้างบนจะค่อยๆ ถูกชะล้างโดยน้ำหรือสารละลายที่มีสภาพเป็น กรดหรือด่าง ละลายเอาซิลิกาออกมา สภาพที่เหมาะสมในการที่จะละลายซิลิกาหรือเนื้อทรายได้ดีคือสภาพแวด ล้อมที่เป็นด่าง น้ำละลายซิลิกาซึมผ่านเข้าไปในเนื้อไม้ที่ฝังอยู่ใต้ดิน
 
ท่อนไม้หรือกิ่งไม้ก็จะอาบชุ่มไปด้วยสารละลายที่มีซิลิกาอยู่ตลอดทุกฤดูที่มีน้ำหรือสารละลายซึมมา จากนั้นหากในบริเวณนั้นมีสภาพเป็นกรด หรือเนื้อไม้มีปฏิกิริยาเป็นกรด เช่น มีกรดคาร์บอนิก ก็จะทำให้น้ำที่นำซิลิกามาในลักษณะของสารละลายที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง เกิดสภาพเป็นกลางขึ้น ทำให้ซิลิกาที่มีอยู่ในน้ำนั้นตกตะกอนเป็นซิลิกาออกมา เนื้อไม้เดิมจึงค่อยๆ มีการตกผลึกหรือถูกแทนที่ด้วยซิลิกาเหล่านั้น หากซิลิกาที่เข้าไปแทนที่ในเนื้อไม้ยังมีน้ำปะปนอยู่จะทำให้เกิดโอปอขึ้น ส่วนใดที่มีซิลิกาแทนที่และมีน้ำไม่เพียงพอหรือน้ำนั้นเหือดแห้งจางไป ส่วนนั้นของไม้ที่ถูกแทนที่จะกลายเป็นเนื้อแร่คาลซิโดนีหมด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแร่ทั้งสองชนิดนี้จะแทนที่ตรงส่วนไหนของเนื้อไม้นั้นก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพทางเคมีและฟิสิกส์ของสิ่งแวดล้อมและภายในเนื้อไม้โดยเฉพาะ

นอกจากนั้น น้ำที่นำเอาซิลิกาเข้าไปในเนื้อไม้อาจจะมีแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งถูกละลายหรือพัดพามาจากบริเวณใกล้เคียงอีกหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก นิกเกิล ทองแดง ยูเรเนียม ฯลฯ ละลายตัวรวมอยู่ในสารละลายเหล่านี้ด้วย และไหลซึมซาบเข้าไปในเนื้อไม้เหล่านั้นได้เช่นกัน ขณะเดียวกันแร่ธาตุเหล่านั้นอาจตกตะกอนฝังอยู่ในเนื้อไม้ เป็นผลให้เกิดสนิมปะปนอยู่ในเนื้อไม้ที่กลายเป็นหิน ไม้กลายเป็นหินจึงเกิดมีสีสันต่างๆ จากการผสมผสานของธาตุดังกล่าว



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89023990142676_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30934207679496_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51266833643118_3.JPG)

• พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ (Dinosaur Museum)  

ก่อตั้งขึ้นเพราะพบว่า พื้นที่ตำบลโคกกรวดที่อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งตำบลสุรนารีที่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ มีชิ้นส่วนกระดูก และฟันของไดโนเสาร์ กระจายอยู่ทั่วไปและพบต่อเนื่องบนพื้นที่กว้างขวางกว่า 28,000 ไร่ จำแนกเบื้องต้นได้ถึง 4 พวก คืออัลโลซอร์ พวกกินพืชขนาดใหญ่ที่คาดว่าอาจมีความยาวถึง 10 เมตร, โซโรพอด พวกกินพืชขนาดใหญ่คาดว่ามีความยาวไม่ต่ำกว่า 15 เมตร, อิกัวโนดอนต์ พวกกินพืชขนาดกลางมีฟันคล้ายกิ้งก่าอิกัวน่า, แฮดโดรซอร์หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด ไดโนเสาร์เหล่านี้มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 100 ล้านปีก่อน

พิพิธภัณฑ์ส่วนนี้ จัดแสดงฟอสซิลไดโนเสาร์  และหุ่นจำลองเหมือนจริงเคลื่อนไหวได้ของไดโนเสาร์ โคราช 6 สายพันธุ์ อายุประมาณ 100 ล้านปี  ของไดโนเสาร์กินพืชแม่ลูกอิกัวโนดอนต์   ไดโนเสาร์กินเนื้ออัลโลชอร์   และมีห้องฉายวีดิโอแอนนิเมชัน (VDO Animation Theatre) บนผนังโค้ง 360 องศา เรื่อง “แม่อิกัวโนดอนต์ใจเด็ด ปะทะอัลโลซอร์จอมโหด!”



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82334696170356_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64174182423286_5.JPG)
ช้างพลายยีราฟ อายุประมาณ 25-30 ปี ความสูง 3 เมตร พบที่จังหวัดสุรินทร์
งา และกระดูกช้างเชือกนี้เป็นของจริง

• พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์
(Ancient Elephant Museum) 

ก่อตั้งขึ้นเนื่องจาก ในจังหวัดนครราชสีมามีซากช้างดึกดำบรรพ์จำนวนมากและหลากหลายชนิดกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย โดยพบในระดับลึกช่วง 5-40 เมตร จากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและสาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โนนสูง จักราช พิมาย และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะตำบลท่าช้างเพียง 1 ตำบล พบช้างดึกดำบรรพ์ถึง 8 สกุล จาก 42 สกุลที่พบทั่วโลก มีอายุอยู่ในสมัยไมโอซีนตอนกลางถึงสมัยไพลสโตซีนตอนต้น(16-0.8 ล้านปีก่อน)  ส่วนนี้จัดแสดงฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ ได้แก่ ช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม  ที่มีอายุประมาณ 16 - 5 ล้านปี รวมถึงนิทรรศการบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของช้าง   จุดเด่นของห้องนี้คือ “หุ่นจำลองและโครงกระดูกของช้าง งาขนาดเท่าของจริง”  ซากฟัน  งาช้างที่กลายเป็นหิน มีความยาวเกือบ 3 เมตร  รวมไปถึงฟอสซิลกระดูกของยีราฟ แรด เต่ายักษ์ ตะโขง เอป (ลิงไม่มีหางที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์ที่ถูกจัดให้เป็นชนิดใหม่ของโลก)

ช้างเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชอบอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ ทึบ อากาศเย็นสบาย   มีระบบรับรู้ทางประสาทตาเพียง 10 %  แต่จะมีระบบรับรู้จากการจำเสียง และจำกลิ่นได้เป็นอย่างดี   ผิวหนังช้างหนา 1.9-2 เซนติเมตร  มีฟันกรามจำนวน 6 ชุดตลอดชีวิต  มีกระดูกซี่โครงจำนวน 19 คู่  มีข้อกระดูกหางประมาณ  26 - 33 ข้อ  เล็บเท้าหน้าของช้างมี 5 เล็บ  ส่วนเท้าหลังมี 4 เล็บ อายุเฉลี่ยประมาณ 80 ปี  เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ  3,000–5,000 กิโลกรัม  ความสูงเฉลี่ยประมาณ 2–2.5 เมตร  กินอาหารประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวต่อวัน  นอนหลับเพียงวันละ 3-4ชั่วโมง  ดื่มน้ำวันละประมาณ 60 แกลลอน หรือ 15 ปี๊บต่อวัน  เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 13–15  ปี จนถึงอายุ 60 ปี  ระยะเวลาตั้งท้องนาน 18-12 เดือน ตกลูกคราวละ 1 ตัว หรืออาจมีแฝดได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52322289678785_10.JPG)
หุ่นช้างสี่งา (งาของจริง)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52418910794787_6.JPG)
ห้องจัดแสดงฟอสซิลงาช้าง  งาหลายกิ่งมีความยาวประมาณ 3 เมตร  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15117419221334_8.JPG)
เส้นผ่าศูนย์กลางของฟอสซิลงาช้าง
ลองเทียบความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางงาช้างกับขนาดมือ

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จัดแสดง ไม้กลายเป็นหินและฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00- 16.00 น.
อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท , นักศึกษา ปวส. - ปริญญาตรี 20 บาท,
นักเรียนประถม - ปวช. 10 บาท, ชาวต่างชาติ 100 บาท
สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เข้าชมฟรี  
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 4437 0739-41