[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 เมษายน 2567 13:44:16



หัวข้อ: สมณศักดิ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 เมษายน 2567 13:44:16
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42225860349006_437140920_407572858554433_4757.jpg)
พิธีเปิดสะพานพระราม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๙

สมณศักดิ์

สมณศักดิ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หมายความว่า ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด อาจกล่าวได้ว่า สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ภิกษุผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระภิกษุรูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย

ความเป็นมาของสมณศักดิ์
นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมา พระสงฆ์ถือลำดับอาสนะตามพรรษา ผู้บวชก่อนนั่งก่อน ผู้บวชภายหลังนั่งหลัง และทำความเคารพผู้บวชก่อน ไม่นับว่าเจ้า ว่าไพร่ เป็นการถือลำดับอาวุโส ใช้เช่นนี้มาช้านานจนพระพุทธศาสนาเข้ามาอาณาเขตประเทศไทย ในกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ถือธรรมเนียมนี้ แม้สมเด็จพระสังฆราช เมื่อมีพรรษาน้อยกว่า ก็ถวายโอกาสให้พระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า ดังเช่นสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสํวโร)  เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระญาณสังวร นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี)  ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง และปรากฏอีกหลายแห่ง มีประชุมพระราชปุจฉา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้นระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระองค์ได้โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกาเพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชาลิไททรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง ๒ ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น ๓ ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะหรือพระราชาคณะ และพระครู

ต่อมาในปลายรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์และมรณภาพหลายรูป คราวนั้นมีพระราชประสงค์จะสถาปนาพระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งมีพรรษาและสมณศักดิ์สูงสุดในขณะนั้น ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์เขียนคำประกาศและจารึกสุพรรณบัฏแล้ว แต่การไม่ได้เป็นตามนั้นด้วยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตหลังจากวันที่กำหนดจะสถาปนาเพียงหนึ่งวัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ สืบต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ไม่ได้มีพระราชประสงค์ดังนั้น ทรงหมายพระทัยให้กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  จึงทรงสถาปนาพระพิมลธรรม (อู่) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือเท่านั้น ไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ที่สมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้โปรดให้เปลี่ยนลำดับการนั่งในงานพระราชพิธี ให้นั่งตามลำดับสมณศักดิ์ เพื่อให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้เป็นประธานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ธรรมเนียมนการจัดลำดับการนั่งของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ในการพระราชพิธี หรืองานหลวง ตามลำดับสมณศักดิ์ จึงได้ถือเช่นนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / เพจพิกุลบรรณศาลา