[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 24 สิงหาคม 2557 11:07:32



หัวข้อ: มะเขือเจ้าคุณเทเวศร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 สิงหาคม 2557 11:07:32
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQTKSYdWqedzdolvhDfNdNO13COGSxrTvACrtI6vW9D3YDu5NgH)
มะเขือเจ้าคุณเทเวศร

คอลัมน์ บอกเล่าเก้าสิบ อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ เขียนติดต่อกันหลายสิบปี ใน นสพ.เพชรภูมิ รวบรวมตีพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ ในวาระ อาจารย์บุญมี อายุครบ ๗ รอบ เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ เรื่องหนึ่งที่อาจารย์เขียนติดต่อกันสองฉบับ ฉบับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม และฉบับวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙ ชื่อ มะเขือเจ้าคุณเทเวศร

บ้านท่านเจ้าคุณเทเวศรวงศวิวัฒน ที่เพชรบุรี เจ้าของเรียกเองว่า “คอกอู๊ด” มีต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งท่านเจ้าคุณตั้งใจปลูกไว้โชว์ใครผ่านไปเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นต้นมะเขือเปราะต้นสูง ทรงพุ่มเหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่

สูงขนาดมือคนเอื้อมไปไม่ถึง

พระที่มาบิณฑบาต ท่านชี้มือ “ดูมะเขือของผมซี เป็นมะเขือทันศาสนาพระศรีอาริย์ ต้องเก็บลูกโดยวิธีเอาไม้สอย”

ปลูกต้นมะเขือเปราะ ให้เป็นต้นไม้ใหญ่ ไม่มีใครเหมือน ไม่เหมือนใครได้ ท่านเจ้าคุณยังได้ชื่อว่า ปลูกต้นไม้แปลกๆ ไม่ธรรมดาเอาไว้มากมาย

สมัยที่มะละกอพันธุ์ฮาวาย ได้ชื่อว่ามะละกอขึ้นโต๊ะ เพราะรสชาติดีกว่า ท่านเจ้าคุณเทเวศรก็เอามาเผยแพร่ที่เมืองเพชร ต้นตัวอย่างท่านปลูกในกระถางเล็กๆ ขนาดกระถางต้นกุหลาบ พอโตแล้วก็ออกลูก ขนาดของผลมะละกอ โตเกือบเท่าขนาดกระถาง ท่านถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เอาไว้ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ

แนวระเบียงหน้าบ้านหลังใหญ่ ใหญ่ขนาดศาลาการเปรียญ เด่นสะดุดตาเพราะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดง ปลูกลำไยเถา ไต่ขึ้นคลุมเป็นเชิงเต็มร้านไม้ ก็เล่ากันอีกว่า ท่านเป็นคนเอาลำไยเถามาปลูกที่เพชรบุรีเป็นคนแรก

ยังมีพันธุ์ไม้แปลกๆ อีกหลายชนิด ตั้งแต่หน้าวัว หรือพรรณไม้ฝรั่ง อย่างเยอบีร่า คุณพ่อพงษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดแรก เคยเล่าให้ลูกหลานฟัง ตอนท่านยังบวชเป็นพระ ท่านเจ้าคุณเทเวศร เคยนำพุทราลูกใหญ่ขนาดผลมะนาว มาถวาย สมัยนั้น นับว่าแปลก ยังไม่มีใครปลูกมาก่อน

ต่อมา ท่านเจ้าคุณก็ถวายชมพู่ผลใหญ่ ผิวสวย เนื้อแน่น หวานกรอบ อร่อยมาก ถามว่าเป็นชมพู่พันธุ์อะไร ได้คำตอบว่า เป็นชมพู่เขียวธรรมดา พันธุ์ดั้งเดิมของเมืองเพชรบุรี คือชมพู่กะหลาป๋า นั่นเอง

คนเมืองเพชร จึงรู้กันทั่ว ท่านเจ้าคุณเทเวศร เป็นผู้หนึ่งที่มีความสามารถพิเศษ เกี่ยวกับงานพืชไร่พืชสวน ยากที่จะหาผู้ใดในยุคสมัยนั้นมาเทียมทาน

อาจารย์บุญมี ค้นประวัติท่านเจ้าคุณเทเวศร มาเขียนไว้ว่า นามเดิม ม.ล.วราห์ กุญชร ชื่อสายมารดา สกุล ณ บางช้าง ชื่อเผื่อน กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน เกิดเมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๑ ที่วังบ้านหม้อ เลขที่ ๑๒๘ ถนนอัษฎางค์

วังบ้านหม้อ เป็นของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร ครั้งรัชกาลที่ ๓ ได้ว่ากรมอัศวราช รัชกาลที่ ๔ ได้ว่ากรมพระคชบาล เมื่อสิ้นพระชนม์ ม.จ.สิงหนาทราชดรงคฤทธิ พระโอรส ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประทับอยู่ในวังบ้านหม้อต่อไป

จนถึงสมัยเจ้าพระยาเทเวศวงศวิวัฒน (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ผู้เป็นนัดดาเจ้าคุณเทเวศร การศึกษาขั้นต้นในโรงเรียนฝรั่ง ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ตั้งแต่อายุยังน้อย เก่งและเชี่ยวชาญเรื่องม้า เพราะสืบสกุลมาทางเรื่องม้าโดยตรงถึง ๔ ชั่วอายุคน

เคยตามเสด็จ รัชกาลที่ ๕ ประพาสชวาและยุโรป ทรงเรียกใช้สอยใกล้ชิดไว้วางพระราชหฤทัย รับสั่งเรียก “ไอ้อู๊ด”

รับราชการครั้งแรก เป็นนายกวดหุ้มแพร ตำแหน่งสุดท้ายเป็นสมุหราชมณเฑียร บังคับบัญชากรมวัง

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ พระราชทานวังบ้านหม้อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน ผู้เป็นปนัดดาท่านเจ้าคุณเทเวศร กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ไปอยู่บ้านพักที่เพชรบุรี ที่ท่าเกวียน บ้านหลังที่มีต้นมะเขือเปราะสูงใหญ่ ขนาดคนต้องใช้ไม้สอย

คนไทยทั่วไป มีความเชื่อว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าจะมีอายุเพียง ๕,๐๐๐ ปี ถึงยุคพระศรีอาริย์ คนทุกคนในบ้านเมืองจะสวยเหมือนๆ กันหมด ลูกเมียออกจากบ้าน พ่อหรือผัวเจอตามถนนจำหน้ากันไม่ได้

แต่คนที่สวยงามนั้น ร่างกายจะเล็กลงมาก ยืนอยู่ใต้ต้นมะเขือ ต้องไปหาไม้มาสอยผลมะเขือ

ความเชื่อนี้ คนรุ่นก่อน เวลาทำบุญทำทานกรวดน้ำคว่ำขัน แล้วก็อธิษฐานชาติหน้าถ้าได้เกิด ขอให้เกิดทันยุคพระศรีอาริย์

เพราะเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณเทเวศร จึงพยายามปลูกมะเขือให้ต้นใหญ่ ให้คนเอาไม้สอยเท่ากับเร่งให้ถึงยุคพระศรีอาริย์เร็วขึ้น

มีคนไปกระซิบถาม ท่านมีเคล็ดลับอะไร ปลูกต้นมะเขือเปราะให้สูงใหญ่ขนาดนั้น ท่านเจ้าคุณก็บอกว่า ตอนปลูกใหม่ ท่านเอากระสอบปิดลำต้น ปล่อยให้เจริญเติบโตตอนยอดก่อน

พระยาเทเวศรวงศวิวัฒน ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๐

ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วังบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมเป็นเกียรติยศ เสด็จพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๐


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ