[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 พฤษภาคม 2567 20:03:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เล่าประสบการณ์ ร่วมพิธี ‘ไหว้ครู’ ไสยเวทจีน  (อ่าน 24 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2342


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2567 16:57:24 »



เล่าประสบการณ์ ร่วมพิธี ‘ไหว้ครู’ ไสยเวทจีน (1)

ที่มา - คอลัมน์ผี-พราหมณ์-พุทธ  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2567
ผู้เขียน   - คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2567


ตั้งแต่เล็กจนโตผมเข้าใจไปเองว่า มีแต่แขกอินเดียเท่านั้นที่มีพิธี “ไหว้ครู” อย่างเป็นระบบระเบียบและมีคติสูงส่งซับซ้อนโดยเฉพาะในทางศิลปศาสตร์และไสยศาสตร์ ชนชาติอื่นล้วนแต่ไม่มีหรือถ้ามีก็มิได้ลึกซึ้งสูงส่งอย่างของแขกเขา เป็นต้นว่า คงแค่เอาข้าวของไปกราบไหว้หรือแสดงความเคารพต่อคนสอนเท่านั้น เพราะมิได้ถือเรื่องเทพเจ้าเป็นเทวาจารย์

อันนี้ก็เป็นไปตามความคับแคบของตัว เพราะตอนเป็นเด็กก็ไม่เคยเห็นนักดนตรีคลาสสิคหรือนักแสดงงิ้วไหว้ครูเลย ทั้งๆ ที่ผมนั่งคิดเอาเองอยู่ในบ้านนี่แหละ ไม่เคยออกไปดูเขาสักหน่อย

กล่าวเฉพาะเรื่องจีน พอโตขึ้นและได้มาศึกษาไสยศาสตร์ของทางจีนบ้างแล้ว จึงได้ทราบว่าทางจีนเขาก็มีไหว้ครูศิลปศาสตร์อย่างแขกเช่นกัน

เพราะเขาเชื่อเหมือนกันว่าบรรดาศิลปศาสตร์ล้วนมีเทพเจ้าอุปถัมภ์หรือเป็นต้นวิชาทั้งสิ้น

เช่น พวกเล่นงิ้วในจีนตอนใต้เขาก็นับถือเทพเจ้า “เตี่ยนฮู้หง่วนโส่ย” หรือที่ชาวบ้านมักเรียกลำลองว่า “เหล่าเอี๋ย” เป็นเทวาจารย์ของศิลปะการแสดง พวกช่างฝีมือก็ต่างมีเทพเจ้าประจำอาชีพของตน เช่น เทพช่างทอง เทพช่างไม้ ฯลฯ ซึ่งต้องมีการเซ่นไหว้แทบทุกครั้งที่ทำงาน และจะมีพิธีเซ่นไหว้ใหญ่อย่างน้อยก็ปีละหนึ่งครั้งเช่นเดียวกันกับของแขกและของไทยเรา

ส่วนทางไสยศาสตร์นั้น เขาถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวที่จะต้องผ่านพิธีไหว้ครูเสียก่อนจึงจะเล่าเรียนได้ และพิธีไหว้ครูประจำปีก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตกว่าวิชาอื่นๆ

ในเบื้องต้น ใครจะร่ำเรียนสิ่งใดก็ต้องไปฝากตัวเช่นเดียวกับธรรมเนียมเก่าของเราที่เรียกกันว่า “คำนับครู” เสียก่อน แต่เป็นเพียงพิธีเบื้องต้นไม่มีอะไรซับซ้อน คือครูจะดูปฏิทินแล้วเลือกวันที่เป็นมงคล ศิษย์ก็จะเตรียมของไปไหว้ เช่น ส้ม น้ำชา และเงินอั่งเปาพอสมควร

เมื่อถึงสำนักหรือบ้านครู ครูและศิษย์ก็จุดธูปกราบไหว้เทวาจารย์ ศิษย์คุกเข่าลงเบื้องหน้าครู ยกน้ำชา (เค่งเต๋) รวมถึงของคำนับให้ครู เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพและฝากตัว จากนั้น ครูก็จะกล่าวคำรับศิษย์ ท่องพระคาถาต่างๆ และอาจให้มีการตั้งสัจจะสาบานต่างๆ เช่น ให้เคารพฟ้าดิน ครูอาจารย์ และบิดามารดา รวมทั้งให้โอวาท และอาจมีการมอบฉายานามหรือชื่อใหม่ให้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

อันนี้ผมเล่ามาจากที่เคยผ่านพิธีนะครับ คิดว่าแต่ละสำนักคงมีรายละเอียดต่างกันออกไป

แม้จะเป็นพิธีที่เรียบง่าย แต่ก็นับว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะในทางไสยเวท ถือกันว่าเมื่อผ่านพิธี “ป้ายซือ” หรือ “ไหว้ครู” แล้วเท่านั้นจึงจะร่ำเรียนได้อย่างถูกต้องตามขนบ นับเป็นคนในสำนัก ใครไม่ผ่านการไหว้ครูก็ไม่มีใครกล้าสอน

จะครูพักลักจำก็อาจจะต้อง “ธรณีสาร” หรือโดนเสนียดจัญไร ไม่มีธรรมบาลหรือครูคุ้มตัวยามต้องเผชิญภูตผีปีศาจ

ทั้งนี้ ก่อนเข้ากระบวนการรับเป็นศิษย์หรือไหว้ครูได้นั้น หากสำนักใดเคร่งครัดในขนบโบราณ ก็จะมีการคัดเลือกศิษย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเสียก่อน

เช่น เมื่อศิษย์มาเอ่ยปากขอเรียนวิชาแล้วนั้น ครูอาจยังไม่ตอบรับเพื่อดูใจกันสักระยะ บางครั้งการดูใจก็กินเวลาเป็นปีๆ เพื่อให้ได้เห็นอุปนิสัยใจคอกันทั้งสองฝ่าย 

กรณีของผมนั้น เมื่อได้ทราบว่าบรรพชนของตนมีความเกี่ยวข้องกับไสยเวทและศาลเจ้า จึงได้ตัดสินใจเอ่ยปากขอเรียนวิชากับอาจารย์ณัฐนนท์ หรือเทียนเต็กซือหู ท่านก็รับคำแล้วก็แกล้งทำลืมหายไปพักใหญ่ๆ ผมก็นึกว่าท่านคงไม่ว่างและด้วยความเกรงใจจึงไม่ได้เอ่ยปากซ้ำ

ผ่านไปหลายเดือนจึงได้โทรศัพท์ไปถามไถ่ถึงเรื่องเรียน อาจารย์ก็หัวเราะและนึกว่าผมถอดใจไปแล้ว

จากนั้นก็เริ่มขั้นตอนที่สอง คือการนำเอาดวงชะตาของศิษย์ไปดู เพื่อให้ทราบว่ามีความสามารถที่จะเรียนวิชาเหล่านี้หรือไม่ และจะมีดวงชะตาขัดแย้งกับครูอาจารย์หรือเปล่า

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็จะไปสู่ขั้นตอนที่ยากที่สุดแล้วครับ

ต้องบอกก่อนว่า ในขนบสำนักเซียงกองต๋อง (ผมขอแปลว่า สำนักธยานประภา – ฌานสว่าง) ของอาจารย์นนท์นั้น ท่านแบ่งวิชาหลักออกเป็นสองสาย

สายแรกคือพวกที่เรียนมนตร์พิธีแบบจีนในฝ่ายมหายาน เพื่อจะเป็นไซก๊องหรือเก็งจูในการประกอบพุทธพิธีต่างๆ อย่างที่เราเห็นในพิธีกงเต๊กหรือตามโรงเจนั่นแหละครับ

กับสายที่สองคือเรียนไสยเวทลื่อซานเพื่อจะประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ พวกแรกนั้นมีข้อจำกัดน้อยกว่า และมีเฉพาะพวกหลังที่ต้องผ่านขั้นตอนที่สาม

ขั้นตอนที่สามคือการเสี่ยงทายต่อเทวาจารย์ โดยการโยนไม้โป้ย (ไม้ซีกสองอัน) ให้ออกคว่ำหงาย หรือเซ้งโปยติดกันสามครั้ง ถือว่าเทวาจารย์ได้อนุญาตให้คนคนนั้นร่ำเรียนไสยเวทได้ จากนั้นจึงค่อยกำหนดวันพิธีเพื่อป้ายซือหรือไหว้ครูต่อไป

ที่จริงโดยมากคนเรียนทางไสยเวทก็มักเรียนมนตร์พิธีไปด้วย เพราะสองสิ่งนี้ในทางพิธีกรรมแยกออกจากกันได้ยาก บางพิธี เช่น อัญเชิญพระหยกเทวราชก็ต้องมีการเจริญพุทธมนต์ คนเรียนไสยเวทจึงควรรู้พิธีกรรม แต่จะเรียนมากน้อยเพียงใดก็สุดแต่จะตกลงกันหรือครูจะเห็นควร จำเพาะคนเรียนทางสวดมนต์จะมาเรียนฝ่ายไสยเวทไม่ได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตแต่แรก

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนของการไหว้ครูเพื่อรับเป็นศิษย์ จากนั้นก็เริ่มต้นกระบวนการเรียนการสอน เช่น ให้ท่องจำบทสวดมนต์ ท่องจำเทพมนตร์ (สีนจิ่ว) เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ และต้องมีการ “สอบ” เช่นเดียวกับระบบการศึกษาในจีนทั่วๆ ไป ทั้งเพื่อวัดระดับความรู้และเพื่อขอให้บทที่จะนำไปใช้มีธรรมบาลคุ้มครอง

ส่วนการรับรองวิทยฐานะก็ขึ้นอยู่กับสายที่สืบทอดกันลงมา

ที่ว่ามีวิทยฐานะ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว วิชาเหล่านี้มีต้นกำเนิดที่เมืองจีน ยังมีอารามหรือ “สำนักใหญ่” อยู่ แม้ลื่อซานจะไม่ใช่สายพรตจ๋าแบบนักพรตเต๋าโดยตรง เพราะมีการผสมผสานทั้งขนบชาวบ้านแบบถือผี พุทธ และเต๋าปนเปกันไป แต่ก็ถือว่ามีระบบทางความรู้ที่ชัดเจนจึงต้องมีการสอบวัดระดับเช่นเดียวกับความรู้อื่นๆ

อันที่จริงผมเคยเล่าไปแล้วว่าผู้ประกอบพิธี “ฮวดกั๊ว” มีนัยแสดงถึงตำแหน่งขุนนาง “ธรรมตุลาการ” เพราะในอดีตนักบวชนี่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาๆ นะครับ แต่มีฐานะคล้ายขุนนางจำพวกหนึ่ง ต้องรับใช้ราชสำนัก และหากอยู่ในชนบทก็เอาธรรมเนียมราชสำนักมาใช้ในศาลเจ้าเพื่อสอนชาวบ้าน อีกทั้งหากไม่ได้รับการแต่งตั้งให้มีศักดิ์และสิทธิ์แล้วผี-เทพก็ยากที่จะเชื่อฟัง

ของใช้ในพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ฮ่องจี้ หรือไม้เคาะบัลลังก์ ก็เป็นของแบบเดียวกับที่ผู้พิพากษาหรือขุนนางใช้ เหมือนที่เราดูหนังจีนแล้วท่านเปาเอาไม้เคาะโต๊ะดังๆ นั่นแหละครับ หรือธงอาญาสิทธิ์และพวกตราประทับต่างๆ ของเหล่านี้ล้วนเป็นของใช้ในทางราชการทั้งสิ้น

ถ้าจะถืออย่างเคร่งครัด เรียนไสยเวทจึงต้องสอบแบบเดียวกับที่ต้องสอบรับราชการนั่นแหละครับ ทุกวันนี้นักพรตเต๋าก็ยังต้องไปสอบรับวิทยฐานะกันอยู่ อันนี้เป็นมโนคติอย่างเก่าของจีนที่หลงเหลือมาจนทุกวันนี้ แม้จะคลายความเคร่งครัดในโพ้นทะเลไปมากแล้วก็ตาม

อาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า นอกเหนือจากความรู้ทางหนังสือหรือแบบพรตเต๋า หากถือแบบชาวบ้านหรือถือทางไสยศาสตร์ พิธีกรรมวัดระดับสุดท้ายของผู้ประกอบพิธี (ฮวดกั๊วหรือฮวดซู้) คือการให้ผู้นั้นตระเตรียมและประกอบพิธีลุยไฟให้สำเร็จด้วยตนเอง เพราะถือว่าเป็นวิชาที่ต้องมีอาคมเข้มขลัง ทำให้ทั้งตนเองและผู้อื่นผ่านพิธีอย่างปลอดภัยได้

อีกทั้งต้องมีความกล้าและพลังใจที่เข้มแข็งมากอีกด้วย 

ผมเคยดูสารคดีหนึ่งของไต้หวัน การสอบวิชาไสยเวทเพื่อให้เป็นฮวดซู้หรืออาจารย์ในสายลื่อซาน นอกจากจะต้องประกอบพิธีลุยไฟได้แล้ว ยังต้องประกอบพิธีอีกอย่างคือเอาลูกเหล็กกลมไปเผาไฟจนร้อนแดง แล้วใช้มือเปล่าๆ หยิบลูกเหล็กนั้นวางใส่ลงในกระถางไม้หอมเพื่อให้ไหม้แล้วเกิดควันหอมขึ้นมา

ท่านว่าผู้ผ่านพิธีนี้แล้วแม้เพียงยกมือข้างที่หยิบลูกไฟชูขึ้นมาเฉยๆ โดยยังมิต้องบ่นท่องมนตร์คาถา บรรดาภูตผีที่อยู่ในรัศมีหลายสิบลี้ก็จะเกรงกลัวจนหนีไปหมด

แหม่ ก็ใครจะไม่กลัวล่ะครับ ฝ่ามือเหล็กขนาดนั้น ที่น่ากลัวกว่าคือใจของผู้ที่กล้าทำแบบนั้นได้ด้วยนี่แหละ

นอกจากพิธีกรรมเชิงทดสอบแบบนี้ จะเป็นอาจารย์ในสายไสยเวทลื่อซานจะต้องสามารถเบิกปะรำ ตั้งมณฑลพิธีไหว้ครูพิธีใหญ่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

พิธีไหว้ครูพิธีใหญ่จะจัดเพียงปีละหนึ่งครั้ง แตกต่างจากพิธีรับศิษย์หรือไหว้ครูที่ผมเล่าข้างต้น นึกไปก็คล้ายกับพิธีไหว้ครูโขนละครหรือทางนาฏดุริยางค์ของเรา อลังการเต็มไปด้วยขั้นตอนมากมายกินเวลาเป็นวันหรือหลายวัน

แต่เนื้อที่วันนี้หมดเสียแล้ว

จึงขอยกไปเล่าในคราวหน้า •


 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_768674

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.349 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 23 พฤษภาคม 2567 06:31:42