[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤศจิกายน 2567 02:24:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาพเก่า...เล่าอดีต  (อ่าน 4458 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2563 18:47:51 »


พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ในงานฌาปนกิจศพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

การจัดงานศพท่านพระอาจารย์

การจัดงานศพท่านพระอาจารย์

พอรุ่งเช้าทั้งพระผู้ใหญ่ทั้งข้าราชการทุกแผนกในตัวจังหวัด ทราบข่าวมรณภาพของท่านอาจารย์ ต่างก็รีบออกมากราบเยี่ยมศพท่าน และปรึกษาหารือกิจการเกี่ยวกับศพท่านว่าจะควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อความเหมาะสมและเป็นการถวายเกียรติโดยควรแก่ฐานะ ที่ท่านเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสมากแทบทั่วประเทศไทย พร้อมกับนำเรื่องท่านไปออกข่าวทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ เพื่อประชาชนที่เป็นลูกศิษย์และท่านที่เคารพเลื่อมใสในท่าน ซึ่งอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลได้ทราบโดยทั่วกัน พอข่าวท่านมรณภาพกระจายไปถึงไหน ทั้งประชาชนและพระเณรทั้งใกล้และไกล ต่างพากันหลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพท่านถึงที่นั้นมิได้ขาด นับแต่วันมรณภาพจนถึงวันถวายฌาปนกิจศพท่าน ทั้งที่มากลับและมาค้างคืน โดยมากที่มาจากทางไกลก็จำต้องค้างคืน เพราะการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกเหมือนทุกวันนี้

วัตถุไทยทานที่ต่างท่านต่างนำมาถวายบูชาท่านมีมากต่อมาก จนเหลือหูเหลือตาไม่อาจพรรณนานับได้ นับแต่วันท่านเริ่มออกมาพักที่วัดบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เครื่องไทยทานที่มีผู้ศรัทธาในท่านนำมาถวายบูชามิได้ขาดเลย เหมือนน้ำเหมือนท่าที่ไหลรินในฤดูฝนฉะนั้น ตามปกติเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีอติเรกลาภมากอยู่แล้ว ไม่ว่าท่านจะพักในป่าในเขาหรือในที่เช่นไร ย่อมมีเทวบุตรเทวธิดาผู้ใจบุญ พยายามขวนขวายและด้นดั้นซอกซอนเข้าไปถวายท่านจนได้

ปกตินิสัยท่านเป็นนักเสียสละอยู่แล้ว มีมาได้มาเท่าไร ท่านบำเพ็ญทานสงเคราะห์ไปเรื่อยๆ ไม่มีคำว่าตระหนี่ถี่เหนียวหรือเสียดาย ไม่ว่าวัตถุชนิดไร มีราคาต่ำหรือสูง ท่านให้ทานได้เสมอกันหมด พูดถึงความจนของพระก็น่าจะไม่มีท่านผู้ใดจนไปกว่าท่าน การได้มาก็รู้สึกเด่นอยู่มาก แต่ทางเข้าคือได้มากับทางออกคือการบริจาคทาน รู้สึกกว้างเท่ากัน หรือทางออกอาจกว้างกว่าเสียอีก เราพอทราบได้ เวลาได้มาแล้วไม่กี่วันท่านให้ทานไปหมด เวลาไม่มีมาแต่บางโอกาสท่านอาจคิดอยากสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่บ้างตามนิสัย เป็นเพียงท่านไม่ออกปากพูดเท่านั้น ท่านไปพักที่ใดวัดแถวใกล้เคียงจะได้รับการสงเคราะห์โดยทั่วถึง ฉะนั้น แม้ท่านมรณภาพแล้ว ข่าวไปถึงไหนศรัทธาญาติโยมก็มักจะมาถึงนั้น พร้อมทั้งเครื่องบริจาคติดตัวมาด้วย เวลาตั้งศพท่านไว้ศาลาวัดสุทธาวาส จึงมีท่านผู้ศรัทธามาบริจาคทำบุญมิได้ขาด

ศพท่านทั้งฝ่ายพระผู้ใหญ่และข้าราชการเห็นต้องกันว่า ควรเก็บไว้จนถึงเดือนสามข้างขึ้น คือต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ ค่อยถวายฌาปนกิจศพท่าน ด้วยเหตุนี้จึงได้พร้อมกันจัดหีบถาวรเพื่อบรรจุศพท่าน

ในวันต่อมาเวลาบ่าย ๔ โมง ประชาชน พระ เณรจำนวนมากมายพร้อมกันสรงน้ำศพท่าน เสร็จแล้วใช้ผ้าขาวพับห่อพันองค์ท่านหลายชั้น ภายนอกจีวรที่ครองถวายเรียบร้อยแล้วอาราธนาเข้าในหีบศพถาวร หลังจากนั้นคณะศรัทธามากท่าน มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นประธาน ปรึกษากันตกลงจัดให้มีการสวดมนต์ถวายท่านทุกคืน และมีการแสดงธรรมด้วยในวาระเดียวกัน ส่วนหีบศพท่านด้านหน้าปิดด้วยกระจก เพื่อท่านผู้มาแต่ไกลยังไม่เห็นองค์ท่าน ประสงค์อยากดูย่อมเป็นความสะดวก ไม่เสียใจว่ามาถึงแล้วไม่ได้เห็นท่าน

การสวดมนต์ถวายท่าน มีประชาชนและพระเณรมาร่วมพิธีวันละมากๆ งานคราวนี้ได้เห็นน้ำใจพี่น้องชาวสกลนครเรา ทั้งท่านข้าราชการทุกแผนก ตลอดพ่อค้าประชาชนทั่วหน้ากันที่มีศรัทธาแข็งแรงและห้าวหาญในการบริจาค และเอาการเอางานในธุระหน้าที่ไม่มีความย่อท้ออ่อนแอเลย นับแต่วันท่านอาจารย์ไปถึงและมรณภาพจนถึงวันงานถวายฌาปนกิจศพท่าน พี่น้องชาวสกลนครเรา ต่างวิ่งเต้นขวนขวายที่จะให้พระเณรได้รับความสะดวกในปัจจัยสี่ และกิจการใหญ่โตที่ขวางหน้าอยู่ให้สำเร็จไปด้วยดีและมีเกียรติ โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและสิ้นเปลืองใดๆ ทั้งสิ้น

พระมากมายที่มากราบนมัสการเยี่ยมศพท่านอาจารย์ในระหว่างก่อนจะถึงวันงานเป็นเวลาสามเดือน และพระเณรอยู่ประจำเพื่อดูแลกิจการจำนวนเป็นร้อยขึ้นไป พี่น้องทั้งหลายมิได้ย่อท้อ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยต่างพร้อมใจกันมีศรัทธาใส่บาตร จนกว่าพระเณรจำนวนมากจะผ่านไปหมดทุกองค์แทบเป็นลม แม้เช่นนั้นก็ไม่ยอมลดละความเพียร คงพร้อมกันพยายามโดยสม่ำเสมอ อาหารบิณฑบาตไม่เคยบกพร่องเลย มีแต่เหลือเฟือตลอดสาย ไม่ว่าพระเณรจะมาเพิ่มมากเพียงไร ไม่มีวิตกวิจารณ์ว่าอาหารจะบกพร่องขาดเกิน ผู้เขียนเห็นด้วยตาตัวเองตลอดงาน จึงอดที่จะจารึกความดีงามและความพร้อมเพรียงสามัคคีของพี่น้องลงสู่จิตใจอย่างลึกไม่มีวันหลงลืมมิได้

ผู้เขียนไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็นความอดทน ความทนทาน ความเสียสละทุกด้านของพี่น้องดังกล่าวขนาดนี้ พอเห็นแล้วถึงใจจำติดตาติดใจไม่ลืมเลย จึงขอชมเชยสรรเสริญพี่น้องชาวสกลนครเราไว้ในที่นี้ด้วยว่า เป็นศรัทธาแม่เหล็กไม่มีย่อหย่อนอ่อนกำลังต่อภาระหน้าที่ทุกด้านในการนี้ ผู้เขียนมีความอบอุ่นไว้วางใจอย่างฝังลึกตลอดมา นับแต่ได้เห็นเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นมาแล้วด้วยตาตัวเอง จึงขอจารึกไว้ในใจตลอดจนอวสาน ไม่มีวันหลงลืมเลย

พระเณรที่มาช่วยดูแลงานที่ควรทำเพื่อเตรียมรับท่านที่มาในงาน โดยมีฆราวาสญาติโยมเป็นแรงงาน ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเพียงระหว่างที่ยังไม่ถึงวันงานก็มีพระเณรมากอยู่แล้ว ยิ่งถึงวันงานเข้าจริงๆ ได้กะการกันไว้ว่า ทั้งพระเณรและฆราวาสที่จะมาในงานนี้ต้องเป็นจำนวนหมื่นขึ้นไป ฉะนั้นจำต้องพากันเตรียมจัดทำปะรำต่างๆ ทั้งที่พัก ทั้งโรงครัวไว้มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อความสะดวกในงาน ซึ่งเป็นงานใหญ่และมีประชาชนจะมาร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มงานตั้งแต่ท่านเริ่มมรณภาพไปจนถึงวันงานก็พอดี

พอจวนวันงานจะมาถึง พระเณรและประชาชนนับวันหลั่งไหลมาทุกทิศทุกทางทั้งใกล้ทั้งไกล จนเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับแทบเป็นลม รับไม่หวาดไม่ไหว จวนวันเข้าเท่าไรยิ่งล้นไหลกันมา จนหาที่พักให้ไม่ได้พอกับจำนวนคนและพระเณรที่มา พอถึงวันงานเข้าจริงๆ บริเวณวัดทั้งกุฎี ทั้งป่ากว้างๆ ในวัดเต็มไปด้วยพระเณรที่มาจากที่ต่างๆ มองดูกลดขาวเปรี๊ยะไปทั้งป่า เฉพาะภายในวัดสุทธาวาสมีพระเณรทั้งหมดในวันงานกว่า ๘๐๐ ที่พักอยู่ตามวัดต่างๆ พอไปมาหาสู่งานได้สะดวกมีจำนวนมากพอดู

เมื่อรวมพระเณรที่มาในงานทั้งพักในวัดและนอกวัดมีจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป ส่วนฆราวาสญาติโยมที่พักอยู่ในวัดก็นับไม่ไหว เพราะเหลือหูเหลือตาที่จะนับอ่านได้ ที่พักอยู่ตามร่มไม้ทุ่งนาก็มีแยะ ที่พักอยู่ในตัวเมืองก็มาก ตามโรงแรมต่างๆ เต็มไปหมด จนไม่มีโรงแรมให้พักพอกับจำนวนคน เวลามารวมในงานแล้วนับไม่ได้ เพียงคาดคะเนเอาประมาณหลายหมื่น แต่แปลกและน่าอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง ที่ไม่มีเสียงดังสมคนมากมายเหมือนงานทั้งหลายที่เคยมีกัน ได้ยินเฉพาะเครื่องกระจายเสียงที่ทำการโฆษณาประจำงานในเรื่องต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับงานของวัดเท่านั้น

งานนี้ไม่มีมหรสพคบงันใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นงานกรรมฐานล้วนๆ เครื่องไทยทานที่ประชาชนต่างมีศรัทธานำมาสมโภชโมทนาช่วยเหลือในงานนี้ อยากจะพูดว่า กองเท่าภูเขาลูกย่อยๆ เรานี่เอง ข้าวกี่ร้อยกระสอบ อาหารกี่สิบกี่ร้อยรถยนต์ที่ต่างท่านต่างขนมา มาด้วยกำลังศรัทธาอย่างไม่อัดไม่อั้น ผ้าที่นำมาเพื่อถวายบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลถวายท่านอาจารย์ก็อยากจะพูดว่า กองใหญ่ยิ่งกว่าโรงงานทอผ้าเสียอีก ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เคยไปเห็นโรงงานทอผ้าเลย ไม่ทราบว่าใหญ่โตขนาดไหน แต่กองผ้าของคณะศรัทธาทั้งแผ่นดินที่ต่างท่านต่างนำมานี้รู้สึกมากกว่านั้น จึงกล้าเดาด้วยความกล้าหาญไม่กลัวผิด

ตอนนี้ขออภัยท่านผู้อ่านมากๆ ด้วยผู้เขียนชักเพ้อไป เพราะความภูมิใจในไทยทานของท่านนักใจบุญทั้งหลาย ไม่นึกว่าคนไทยเราจะเป็นนักใจบุญถึงขนาดนั้น เห็นเครื่องแสดงน้ำใจออกมาแล้วจึงอัศจรรย์ท่านศรัทธาทั้งหลายมาจนบัดนี้ ว่าคนไทยเราเป็นนักเสียสละ นักสังคหวัตถุคือนักให้ทานอย่างไม่อั้นไม่เสียดาย ฉะนั้น เมืองไทยเราแม้จะเป็นเมืองเล็กในสายตาของเมืองใหญ่ทั้งหลาย แต่การเสียสละให้ทานด้วยศรัทธาและด้วยความเมตตานี้ แม้แต่เมืองใหญ่ๆ ก็สู้ไม่ได้ สมกับเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาที่สั่งสอนคนให้มีความเมตตาต่อกัน เมืองไทยเราจึงเป็นเมืองของคนมีอัธยาศัยกว้างขวาง ไม่คับแคบตีบตันตลอดมาแต่ดึกดำบรรพ์

งานนี้ก็เช่นกัน เป็นงานที่สมบูรณ์พูนผลเสียทุกอย่าง จากบรรดาศรัทธาผู้เสียสละทั้งหลาย ต่างมาบริจาคให้ทานอย่างไม่อั้น หม้อข้าวหม้อแกง อาหารคาวหวานต่างๆ เห็นแล้วเลยน่ากลัวมากกว่าจะน่าฉัน เพราะใหญ่โตมาก หิ้วคนเดียวไม่ไหว ต้องช่วยกันหิ้วหรือหามเข้ามาสู่ปะรำที่พระท่านฉัน

ทำเลที่ฉันต้องจัดหลายแห่ง แห่งละประมาณ ๓๐–๔๐ องค์บ้าง ๕๐–๖๐ องค์บ้าง ทั่วไปหมด ตามกุฎีพระเถระบ้าง แห่งละ ๙–๑๐ องค์ แต่สะดวกในการจัดแจกอาหารที่ไม่ต้องจัดสำรับให้วุ่นวายและสิ้นเปลืองสำรับและถ้วยชาม เพราะมีแต่พระกรรมฐานเสียมากราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องจัดสำรับถวายก็มีพระผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองและพระผู้ติดตามไม่มากนัก เมื่อยกหม้อข้าวหม้อแกงถวายพระท่านแล้วก็จัดใส่บาตรกันเอง คาวหวานรวมลงในบาตรใบเดียวเท่านั้น เพราะปกติท่านเคยฉันสำรวมอยู่แล้ว

อาหารมีมากจนเหลือเฟือ ตลอดงานไม่มีอดอยากขาดแคลนเลย ด้วยอำนาจศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และอำนาจบารมีท่านอาจารย์มั่นท่านคุ้มครองรักษา ไม่เคยปรากฏว่ามีการดื่มเหล้าเมาสุราและทะเลาะวิวาทฆ่าตี และฉกลักขโมยปล้นจี้สิ่งของของกันและกันเลย

เมื่อเก็บสิ่งของที่มีผู้ทำตกหายได้ ก็นำไปมอบกองโฆษณาให้ประกาศหาเจ้าของ ถ้าเป็นสิ่งของมีค่า ผู้โฆษณาไม่บอกรูปลักษณะ เป็นเพียงประกาศให้ทราบว่าของมีค่าของท่านผู้ใดตกหายเชิญมาติดต่อแสดงหลักฐานที่กองโฆษณา ถ้ารูปลักษณะตรงกันแล้วก็มอบให้เจ้าของไป ถ้าเป็นสิ่งของธรรมดาก็บอกชื่อสิ่งของหรือรูปลักษณะให้เจ้าของมารับเอาไป ถ้าเป็นเงินก็บอกเพียงว่าเงินตกหาย ไม่บอกจำนวนหรือสิ่งบรรจุเงิน เช่น กระเป๋า เป็นต้น ให้เจ้าของมาบอกจำนวนและสิ่งบรรจุเอาเอง เมื่อบอกได้ถูกต้องก็มอบให้เจ้าของไปตามธรรมเนียม

งานนี้มี ๓ คืนกับ ๔ วัน และงานนี้เป็นงานที่แปลกและอัศจรรย์เป็นพิเศษ คือคนมามากต่อมากแต่ไม่มีการส่งเสียงหนึ่ง ไม่ทะเลาะวิวาทฆ่าตีกันหนึ่ง ไม่มีการขโมยของกันล้วงกระเป๋ากันหนึ่ง เก็บสิ่งของมีค่าได้ยังอุตส่าห์นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่กองโฆษณาหนึ่ง ไม่มีคนดื่มเหล้าเมาสุรามาอาละวาดเกะกะในบริเวณงานหนึ่ง พระเณรก็สงบเสงี่ยมงามตาน่าเคารพเลื่อมใสหนึ่ง แต่ละข้อยากจะมีในงานหนึ่งๆ จึงอดจะเรียกว่าเป็นงานแปลกมิได้

ตอนกลางคืนราว ๒ ทุ่มมีการสวดมนต์และมาติกาบังสุกุลถวายท่านทุกคืน และมีการแสดงธรรมทุกคืน ตอนเช้าหลังจากเสร็จแล้วมีการมาติกาบังสุกุลไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีกำหนดเวลาตายตัวนัก เพราะศรัทธาและพระเณรมีมาก ถ้าจะรอทำตามเวลาคงไม่ทันกับเหตุการณ์ ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ตามแต่ท่านผู้ใดจะมีศรัทธานิมนต์พระมากน้อยได้ตามกำลังและเวลาที่ต้องการ การนิมนต์พระต้องผ่านทางกองโฆษณาทำหน้าที่แทน ถ้าจะเที่ยวตามนิมนต์เป็นไม่เจอพระองค์ที่ต้องการ เพราะพระมากต่อมาก ที่จำต้องนิมนต์ทางเครื่องกระจายเสียงโดยเห็นว่าเป็นความสะดวกกว่า เพราะรายชื่อของพระเณรที่มาในงาน ทางกองบัญชีพระได้จดชื่อและฉายาท่านไว้พร้อมแล้วแต่ขณะท่านมาถึงวัดทีแรก ทั้งนี้เนื่องจากกองโฆษณาได้ประกาศอยู่เสมอว่า พระเณรอาคันตุกะที่เข้ามาในงานขอนิมนต์ไปแจ้งรายชื่อและฉายาที่กองโฆษณาทุกรูปไป มีเจ้าหน้าที่เตรียมรอคอยอยู่พร้อมแล้ว เพื่อทราบจำนวนพระเณรที่มาในงานนี้ เวลานิมนต์ในกิจธุระจะได้ถูกกับชื่อและฉายาของพระเณรองค์นั้นๆ

การบิณฑบาตของพระในงานนี้ นอกจากวันงานท่านไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ แถวนั้นและไปในเมือง วันงานคณะศรัทธาทั้งหลายอาราธนานิมนต์ท่านรับบิณฑบาตตามบริเวณงาน นอกวัดบ้าง ในวัดบ้าง หลายแห่งที่ศรัทธาเตรียมใส่บาตรท่าน งานนี้ท่านทำพิธีเปิดมีกำหนด ๓ คืนกับ ๔ วัน ซึ่งเริ่มแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถวายฌาปนกิจศพท่านคืนของวันขึ้น ๑๓ ค่ำราว ๖ ทุ่ม พอรุ่งเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำก็เป็นวันเก็บอัฐิท่าน ส่วนวันที่และเดือนอะไรนั้นจำไม่ค่อยได้ กรุณานำไปเทียบกับปฏิทินร้อยปีอาจพอทราบได้

การดำเนินงานเกี่ยวกับมาติกาบังสุกุลอุทิศถวายท่านนั้น เริ่มมาแต่วันเริ่มงานเรื่อยมาทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีกำหนดตายตัว ดังที่เรียนมาบ้างแล้ว เพราะท่านที่ศรัทธาจะถวายบังสุกุลมีมากต่อมาก จะรอให้ทำตามกำหนดเวลารู้สึกไม่สะดวก เพราะท่านที่มาในงานโดยมากมาจากที่ไกลๆ กันทั้งนั้น เมื่อมาถึงควรจะทำได้เมื่อไร ควรเปิดโอกาสให้บำเพ็ญตามความสะดวก ท่านผู้ใดต้องการพระหรือเณรจำนวนเท่าไร ก็ติดต่อกับหน่วยโฆษณาให้อาราธนานิมนต์ให้ รู้สึกเป็นความสะดวกและได้ถือปฏิบัติทำนองนี้ตลอดงาน

ส่วนเมรุเป็นที่บรรจุศพท่าน ได้จัดขึ้นในบริเวณที่พระอุโบสถอยู่เวลานี้ รู้สึกสวยงามมาก สมเกียรติ ทำเป็นจตุรมุข มีลวดลายแปลกประหลาดมาก ผู้เขียนไม่ชำนาญในรูปลักษณะตลอดชื่อของลวดลายต่างๆ ที่นายช่างผู้ชำนาญงานทำถวายท่าน ถ้าจำไม่ผิดวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เป็นวันอาราธนาท่านไปสู่เมรุ ก่อนหน้าเล็กน้อยบรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและประชาชนได้พร้อมกันทำวัตรขอขมาโทษท่านเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นก็อาราธนาไปสู่เมรุ ตอนนี้คงอดทนไม่ไหว ได้เกิดโกลาหลวุ่นวายกันขึ้นอีกจนได้ คราวนี้เป็นคณะลูกศิษย์ฝ่ายฆราวาสหญิงชาย พอเริ่มอาราธนาท่านเคลื่อนที่ไปสู่เมรุ ต่างมีอากัปกิริยาที่ไม่ค่อยแจ่มใสขึ้นมาในขณะนั้น น้ำหูน้ำตากิริยาเศร้าโศกและเสียงร้องไห้เริ่มแสดงออกเป็นลำดับ

นับแต่ขณะท่านเคลื่อนจากที่ไปสู่เมรุรู้สึกวุ่นวายสับสนพอดู ในสังคมแห่งความวิโยคพลัดพรากจากไปแห่งท่านผู้มีบุญหนาเมตตาราวมหาสมุทรสุดขอบเขตไม่มีประมาณ บรรดาลูกศิษย์บริวารต่างร้องไห้ด้วยความอาลัยเสียดาย เพราะครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในการพลัดพรากจากร่างกายหายสูญความสมมุติที่เคยก่อภพก่อชาติ พาให้ได้นามว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อกันเป็นสายยาวเหยียดไม่มีเบื้องต้น เบื้องปลาย ท่านอาจารย์ได้ทำลายกงกรรมของวัฏจักรเสียสิ้นแล้ว บัดนี้ก้าวเข้าสู่เมืองแก้วอันประเสริฐคือพระนิพพาน ไม่มีวันกลับมาวุ่นวายกับกองสังขารอันเป็นสถานที่หลั่งน้ำตาอีกต่อไป

บรรดาลูกศิษย์ที่ร้องไห้ถึงท่านครั้งนี้ เพราะความเคารพรักเสียดายที่ได้เคยประสิทธิ์ประสาทธรรมโสรจสรงประพรมดวงใจให้หายง่วงเหงาเมามัว พอมีสติระลึกบาปบุญได้ก็ระลึกถึงพระคุณท่าน อยากได้ไว้เป็นแก้วบูชาเป็นขวัญตาขวัญใจต่อไปอีก ต่อเมื่อสุดวิสัยจะห้ามได้ จึงขอถวายน้ำใจเป็นความอาลัยรักด้วยน้ำตาเป็นเครื่องสักการบูชาว่า คณะลูกศิษย์เหล่านี้บุญน้อย แต่ยังมีวาสนาบารมีได้มาพบเห็น ในคราวพลัดพรากจากไปของท่านผู้ทรงมหาคุณบุญหนักศักดิ์ยิ่ง เป็นผู้สิ้นกิเลสถึงความวิเศษศักดิ์สิทธิ์สมัยปัจจุบันที่แสนหาได้ยาก นานๆ ถึงจะได้พบเห็นเป็นขวัญตาขวัญใจที่ใฝ่ฝันมานานสักองค์หนึ่ง

แม้ท่านได้ผ่านพ้นกองทุกข์ในสงสารถึงพระนิพพานอันเป็นบรมสุขแล้ว ก็ขออาราธนาเมตตาโปรดโสรจสรงมวลสัตว์ผู้ยากจน ซึ่งกำลังตกอยู่ในความสุดวิสัย ได้แต่พากันร้องไห้พิไรรำพันถึงอยู่เวลานี้บ้างเถิดเจ้าพระคุณบุญล้นฝั่ง ซึ่งฝังเพชรไว้ในหัวใจ เมื่อใดพวกข้าพเจ้าทั้งหลายจะพอมีทางรอดตาข่ายแห่งมาร ได้มีวาสนาถึงพระนิพพานตามพระคุณท่านก็ไม่มีทางทราบได้ เพราะกรรมหนักกรรมหนาเกิดมาอาภัพวาสนา จึงเพียงได้มาชมบารมีพระคุณท่านเป็นขวัญใจบูชาไว้ด้วยน้ำตาดังที่เป็นอยู่ขณะนี้แล

เหล่านี้เป็นคำร้องไห้วิงวอนปรารถนาของพุทธบริษัททั้งหลาย ที่แสนอาลัยเสียดายในความพลัดพรากจากไปของท่าน จนศพท่านที่อาราธนาเข้าสู่เมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาการที่น่าเวทนาสงสารเหล่านั้นจึงค่อยๆ สงบลง

พอได้เวลาที่กำหนดไว้ ๖ ทุ่มคือเที่ยงคืน ก็พร้อมกันเริ่มถวายเพลิงจริง แต่ผู้คนในขณะนั้นประหนึ่งจะล้นแผ่นดินแออัดยัดเยียดเบียดเสียดกันจนจะหาทางเดินไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมุ่งอยากดูอยากเห็นในวาระสุดท้ายเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ใจไปนาน ฉะนั้นจึงพากันเฝ้ารออยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ พอถึงเวลาถวายเพลิงท่านจริง ขณะนั้นปรากฏมีเมฆก้อนหนึ่งขนาดย่อมๆ ไหลผ่านเข้ามาและโปรยละอองฝนมาเพียงเบาๆ พร้อมกับขณะที่ไฟเริ่มแสดงเปลวและโปรยอยู่ประมาณ ๑๕ นาที เมฆก็ค่อยๆ จางหายไปในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงพระจันทร์ข้างขึ้น

จึงเป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์อย่างสุดจะคาดจะเดาได้ถูก ว่าทำไมจึงดลบันดาลให้เห็นเป็นความแปลกหูแปลกตาขึ้นมาในท่ามกลางความสว่างแห่งแสงเดือนเช่นนั้น เพราะปกติฟ้าก็แจ้งขาวดาวสว่างในฤดูแล้งธรรมดาเราดีๆ นี่เอง แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีเมฆลอยมาและมีละอองฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แปลกตาสะดุดใจระลึกไว้ไม่ลืมจนบัดนี้ เหตุการณ์ทั้งนี้บรรดาท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่จริง เรื่องมิได้เป็นไปในทำนองนั้น เป็นแต่ผู้เขียนอุตริขึ้นมาเอง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนประสบมาเองอย่างประจักษ์ตาและสะดุดใจตลอดมา พอท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้นได้อ่านตอนนี้ อย่างไรต้องเพิ่มความจำและความสะดุดใจขึ้นมาในทันทีว่า เหตุการณ์ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ

การถวายเพลิงท่านมิได้ถวายด้วยฟืนหรือถ่านดังที่เคยทำกันมา แต่ถวายด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งบรรดาศิษย์ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่าน สั่งมาจากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวเป็นพิเศษจนเพียงพอกับความต้องการและผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิงตลอดสาย ผลเป็นความเรียบร้อยเช่นเดียวกับที่เผาด้วยฟืนหรือถ่าน นับแต่ขณะเริ่มถวายเพลิงท่านได้มีกรรมการทั้งพระและฆราวาสคอยดูแลกิจการอยู่เป็นประจำตลอดงานนั้น และมีการรักษาอยู่ตลอดไป จนถึงเวลาเก็บอัฐิท่าน

เวลา ๙ น.ของวันรุ่งขึ้นก็เริ่มเก็บอัฐิท่านและแจกไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้มาในงานนี้ เพื่อนำไปเป็นสมบัติกลางๆ โดยมอบกับพระในนามของจังหวัดนั้น ๆ เชิญไปบรรจุไว้ในสถานที่ต่างๆ ตามแต่จะเห็นควร ส่วนประชาชนก็มีการแจกเหมือนกัน แต่คนมากต่อมากไม่อาจปฏิบัติได้โดยทั่วถึง เท่าที่จำได้ผู้มาในนามของจังหวัดนั้นๆ และได้รับแจกอัฐิท่านไปมี ๒๐ กว่าจังหวัด

ตอนเก็บอัฐิท่านพึ่งผ่านไปนั้น ก็น่าสงสารประชาชนอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูกอีกวาระหนึ่ง ซึ่งทำให้ประทับตาประทับใจอย่างมาก คือพอคณะกรรมการเก็บอัฐิท่านเสร็จเรียบร้อยลงเท่านั้น ผู้คนชายหญิงต่างชุลมุนวุ่นวายกันเข้าเก็บกวาดเอาเถ้าและถ่านที่เศษเหลือจากที่เก็บแล้วไปสักการบูชา ได้คนละเล็กละน้อย จนสถานที่นั้นเตียนเกลี้ยงยิ่งกว่าล้างด้วยน้ำและเช็ดถูให้เกลี้ยงเสียอีก พอได้ออกมาต่างคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสดีใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนตัวจะเหาะลอยในขณะนั้น มองดูในมือต่างคนต่างกำแน่นราวกับจะมีใครๆ มาแย่งชิงเอาดวงใจในกำมือไปเสียฉะนั้น นี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสงสารสังเวชอีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ด้อยกว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่ผ่านมาในงานท่านอาจารย์มั่นครั้งนี้

แล้วยังครั้งสุดท้ายแถมเข้าไปอีก คือก่อนจะพากันกลับไปถิ่นฐานบ้านเรือนของตนๆ โดยมากพากันไปกราบลาท่านอาจารย์ที่เมรุ ซึ่งเป็นความมั่นว่า ท่านย้ายจากศาลาไปอยู่เมรุแล้ว ขณะก้มกราบท่านถึงวาระที่สามจบลงต่างพากันนั่งนิ่งไปครู่หนึ่ง เป็นลักษณะรำพังรำพันด้วยความอาลัยเสียดายอย่างสุดซึ้ง แล้วแสดงอาการไว้อาลัยด้วยน้ำตาสะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร คิดถึงใจเราใจท่านที่มีความรู้สึกคิดนึกและกตัญญูกตเวทีในท่านผู้ทรงพระคุณอย่างล้นพ้น ก็อดที่จะกลั้นความอาลัยเสียดายไว้ไม่ได้เช่นเดียวกัน พอคณะนั้นผ่านออกมาด้วยความเศร้าโศกหน้าชุ่มด้วยน้ำตา คณะนี้ก็ก้าวเข้าไปกราบลาท่าน ด้วยกิริยาท่าทางของคนที่มีความจงรักภักดีและเศร้าโศก เพราะความวิโยคพลัดพรากแห่งสิ่งที่เทิดทูนบนหัวใจ ได้จากไปไม่มีวันกลับคืน เป็นความสับเปลี่ยนเวียนกันไปมาอยู่ที่บริเวณเมรุท่านเป็นชั่วโมงๆ กว่าเรื่องที่น่าสงสารสังเวชจะสงบลง จึงทำให้ปลงธรรมสังเวชอย่างติดตาติดใจตลอดมา

รวมความแล้วใจเป็นธรรมชาติที่ใหญ่โตกว่าอะไรในโลก เรื่องและอาการทั้งหลายที่เป็นมาเหล่านี้ เป็นสาเหตุมาจากใจอันเป็นรากฐานสำคัญ ประชาชนพระเณรจำนวนหมื่นๆ ที่มาในงานนี้ก็เรื่องหัวใจพาให้มา ท่านอาจารย์ที่เป็นจุดดึงดูดจิตใจของประชาชน ก็ขึ้นอยู่กับท่านเป็นใจที่บริสุทธิ์หรือธรรมทั้งดวง ซึ่งใครๆ ปรารถนากันทั่วโลก จึงเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจของคนผู้รู้จักบุญบาปให้คิดอยากมากราบไหว้บูชาท่าน แม้ไม่ได้ส่วนกุศลชนิดตักตวงเอาตามใจหวัง ก็ยังพอเป็นอุปนิสัยปัจจัยสืบต่อภพแห่งความเป็นมนุษย์อย่าให้ขาดสูญสิ้นซากไปเสียทีเดียว ยังดีกว่าเป็นคนหน้าด้านไปแย่งเกิดในกำเนิดสัตว์นรกและสัตว์เดียรัจฉานเป็นร้อยเป็นพันชนิดไม่มีประมาณ เสวยความทุกข์ทรมานในภพนั้นๆ ตลอดอนันตกาล ไม่มีวันหลุดพ้นไปได้ ซึ่งเป็นการเกิดมาเหยียบย่ำซ้ำเติมตัวเองไม่มีชิ้นดี พอเป็นที่ยึดที่อาศัยได้ในภพหนึ่งๆ บ้างเลย ที่เรียกว่าเป็นคนหมดหวัง

ด้วยเหตุนี้เรื่องในสากลโลกจึงรวมลงที่ใจ เป็นผู้ควบคุมเครื่องจักรน้อยใหญ่ให้สิ่งทั้งหลายหมุนไปตามวิถีทางเดินของใจ ที่หนักไปในทางใด ถ้าใจหนักไปในทางดีทุกสิ่งที่ทำลงไปย่อมให้ผลเป็นสุขโดยสม่ำเสมอทั้งปัจจุบันและอนาคต ปรากฏแต่ความมีหวังและสมหวังเรื่อยไปไม่ขัดสนจนตรอก จะออกซอกไหนซอยใดก็เป็นซอกเป็นซอยที่คอยอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้ผู้เป็นเจ้าของได้รับความสุขความเจริญเสมอไป จนถึงแดนแห่งความสมหวัง คือเกิดทุกภพทุกชาติมีแต่ความสมหวังตลอดไป ดังครูบาอาจารย์ที่มีคนเคารพเลื่อมใสและระลึกถึงท่านเป็นขวัญใจอยู่เวลานี้

เพราะใจท่านเป็นใจกุศลแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด ที่คนทั้งหลายสรรเสริญท่านอย่างสมเกียรติว่าท่านปรินิพพานก็มีอยู่มาก คำว่าปรินิพพานนี้จะมีได้เฉพาะท่านผู้สิ้นกิเลสอาสวะโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น ท่านสิ้นความสืบต่อแห่งสังขารไม่มีลมปราณเหมือนเวลายังมีชีวิตอยู่ โลกทั้งหลายเรียกว่า “ตาย”แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านตาย โลกเรียกว่า “ปรินิพพาน” ท่านอาจารย์มั่นก็มีคนถวายเกียรติท่านว่าปรินิพพานมากเหมือนกัน ผู้เขียนไม่มีเหตุผลที่ควรจะนำมาคัดค้าน จำต้องยอมจำนนและอนุโมทนาตามคำที่โลกถวายเป็นเกียรติท่านในวาระสุดท้าย เพราะเท่าที่เคยได้อยู่และรับโอวาทท่านตลอดมาเป็นเวลานานปีพอสมควร ก็ไม่มีที่ค้านธรรมท่านได้เลย นอกจากทำให้ซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก ว่าเป็นอมตธรรมอย่างสมบูรณ์ที่ออกมาจากใจที่บริสุทธิ์จริง ๆ เท่านั้น ฉะนั้นใจประเภทนี้จึงหาไม่มีในโลกมนุษย์ปุถุชนเรา ร้อยทั้งร้อยไม่มีเจอเลย ถ้าต้องการเจอก็จำต้องพยายามชำระแก้ไขใจของปุถุชนให้กลายเป็นใจอริยชนขั้นสุดยอดขึ้นมา ใจดวงนั้นอยู่ที่ไหนก็อยู่อย่างอริยจิตอริยธรรมตลอดเวลาอกาลิโก

ที่ว่าใจเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนั้น คือใจเป็นผู้ปกครองสมบัติทั้งมวล แต่สิ่งทั้งหลายดังกล่าวดีหรือชั่วต้องขึ้นอยู่กับใจผู้เป็นใหญ่และรับผิดชอบ ถ้าใจพาชั่ว โลกแม้จะใหญ่โตเพียงไรก็มีทางบรรลัยได้อย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นใจจึงควรได้รับการอบรมหรือศึกษา พอจะปกครองตัวปกครองโลกให้เป็นไปโดยความสะดวกปลอดภัยเท่าที่ควร ตัวก็เป็นบุคคลน่าอยู่ ไม่เดือดร้อนรำคาญ โลกก็เป็นโลกน่าอยู่ ไม่เป็นโลกที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายจนเกินไป


คัดลอกจากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
...ขอขอบคุณ :  f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กรกฎาคม 2563 19:01:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2563 18:57:14 »



สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เรื่องราวชีวประวัติของพระองค์ท่านนี้สำนวนหนึ่งนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง คือ พระนิพนธ์เรื่อง “พระประวัติตรัสเล่า” ได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันอุปสมบทไว้ว่า

“ธรรมเนียมเก่า ชายผู้เกิดต้นปีไปหากลางปี มีอายุนับโดยปีได้ ๒๑ อุปสมบทได้ ผู้เกิดพ้นกลางปีไปแล้ว ให้อุปสมบทต่อเมื่ออายุได้ ๒๒ โดยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ธรรมเนียมในราชการพออายุ ๒๑ ก็อุปสมบทได้ ต่อมาพระมหาเถระในธรรมยุติกนิกายเห็นว่า คนเกิดต้นปีอาจอุปสมบทได้ในปีที่ ๒๐ ที่ทอนเข้ารอบแล้ว ได้ ๑๙ ปี มีเศษเดือน พอจะประจบเข้ากับเดือนที่อยู่ในครรภ์เป็น ๑ ปี แลได้อุปสมบทแก่คนมีอายุเพียงเท่านี้มาเป็นบางครั้ง เฉพาะบุรุษพิเศษ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ก็ได้ทรงอุปสมบท เมื่อพระชนม์มายุเท่านี้ ฯ

เมื่อมีตัวอย่างมาแล้ว เราจึงกราบทูลเสด็จพระอุปัชฌายะ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์) ขอประทานพระมติในการบวช ท่านทรงอำนวยให้อุปสมบทในปีที่ ๒๐ จึงนำความนี้กราบทูลล้นเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระอนุมัติ เป็นอันตกลงว่าจักอุปสมบทในปีที่ ๒๐ นี้ ฯ

เดิมกรมพระเทววงศ์วโรปการ จักทรงผนวชในปีนี้ แต่มีราชการต้องงดไป คงบวชแต่เราผู้เดียว ฯ

สมโภชที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย วันหนึ่ง รุ่งขึ้นอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๒ เสร็จอุปสมบทกรรรมเวลาบ่าย ๑ โมง ๔๑ ลิบดา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระจันทรโคจรคุณ (จันทรังสี) วัดมกุฎกษัตริย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สวดองค์เดียว ตามแบบพระวินัย ธรรมเนียมที่ใช้กันมา สวดคู่ท่านผู้อยู่ข้างขวา เรียกกรรมวาจาจารย์ ท่านผู้อยู่ข้างซ้าย เรียกอนุสาวนาจารย์ เรียกอย่างเขินๆ เพราะอนุสาวนาเป็นเอกเทศของกรรมวาจา จะหมายกรรมวาจาเป็นญัตติ ก็แยกกันสวดไม่ได้ อย่างไรจึงสวดคู่ เราเห็นว่า คงเกิดขึ้นในหมู่ที่ใม่เข้าใจบาฬี สวดเข้าคู่กัน เป็นอันทานกันเอง รูปหนึ่งสวดผิด การสวดย่อมล่ม รู้ได้ง่าย เป็นวิธีชอบกลอยู่ แต่ท่านผู้รู้มักรังเกียจว่าสวดไม่สะดวก ว่าอักษรไม่ตระหนัก แต่บวชออกแขก ยังคงใช้กันมา เว้นแต่ในคราวทำทัฬหิกรรมคือบวชซ้ำ สวดแต่รูปเดียว

ครั้งล้นเกล้าฯ ทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าน้องยาเธอทรงอุปสมบทมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียวตามอย่าง แต่หม่อมเจ้าคงสวดคู่ คราวนี้กลายเป็นจัด ชั้นเอก สวดรูปเดียว ชั้นโทสวดคู่ แต่ตามวัดก็ใช้สวดรูปเดียวตามขึ้นบ้าง นึกดูก็ขัน อย่างไรจึงกลายเป็นยศ คนสามัญที่สุดคนของหม่อมเจ้าเอง พอใจจะมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ก็มีได้ ส่วนหม่อมเจ้าเองมีไม่ได้ ฯ

ในคราวที่เราบวชนั้น เห็นได้ว่าล้นเกล้าฯ ทรงกังวลอยู่ พอเที่ยงแล้วก็เสด็จออก ไม่ต้องคอยนานฯ

บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ ล้นเกล้าฯ หาได้เสด็จส่งไม่ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสด็จมาส่งโดยรถหลวง เสด็จพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่คณะกุฏิ์ ที่เป็นคณะร้าง ไม่มีพระอยู่ในเวลานั้น นี้เป็นเหตุให้เราเสียใจ เพราะได้เคยอยู่ที่โรงพิมพ์ที่เคยประทับของทูลกระหม่อมมาแล้ว ทั้งอยู่ห่างจากท่านออกไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงตั้งตนเป็นคนห่างบ้าง แต่พระประสงค์ของท่านว่า เราอยู่ที่นั่นคณะกุฏิ์จะได้ไม่เปลี่ยว แต่เราก็อยู่สองคนกับตาจุ้ยอายุ ๗๐ แล้ว ที่ยาย (ท้าวทรงกันดาร (สี)) จัดให้มาอยู่เพื่อนเท่านั้น แต่อยู่ก็สบาย เงียบเชียบ มีคนหลายคนก็แต่เวลาในเพลที่เขาเชิญเครื่องมาส่ง ฯ”

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ความตอนหนึ่งว่า “เวลาเช้า ๕ โมง แล้วเสดจวัดพระศรีรัตนสาศดารามประทับเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องด้านหลังวัด โปรดให้พระองค์เจ้ามนุศยนาคมานพ ทรงทิ้งทานแล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถ พระองค์มนุศยทรงขอบรรพชาอุปสมบทเปนภิกขุ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณเปนอุปัชฌา พระจันทโคจรคุณเปนกรรมวาจา แล้วทรงประเคนบริขาร แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง”
...ขอขอบคุณ :  f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



ทรงเลือกพระกรรมวาจาจารย์เอง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “พระประวัติตรัสเล่า” ความตอนหนึ่งว่า ธรรมเนียมในการอุปสมบทของเจ้านายสมัยก่อนนั้น พระอุปัชฌาย์นั้นทางราชการจักเป็นผู้กำหนดไว้ให้ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์นั้นอุปสัมปทาเปกขะสามารถเลือกได้เอง
ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ที่แม้องค์ท่านจะเป็นพระราชคณะชั้นสามัญยก แต่ด้วยสีลาจารวัตรอันงดงามเป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเลือกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของพระองค์

ดังความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์ว่า
“เหตุไฉน เจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ผู้เป็นเพียงพระราชาคณะยก จึงเป็นพระกรรมวาจาของเราฯ
มีเป็นธรรมเนียมในราชการ พระอุปัชฌายะ หลวงเลือก พระกรรมวาจาจารย์ เจ้าตัวผู้บวชเลือก เราเลื่อมใสอยู่มากในเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ เห็นอาการของท่านเคร่งครัดแลเป็นสมถะดี มีฉายาอันเย็น เช่นพระราหุลครั้งยังเป็นพระทารก กล่าวชมสมเด็จพระบรมศาสดาฉะนั้น ทำทางรู้จักกับท่านไว้ก่อนแล้ว ครั้นถึงเวลาบวช จึงเลือกท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ไม่ต้องการท่านผู้มียศสูงกว่า เราพอใจว่าได้ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนทุกวันนี้ ฯ
...ขอขอบคุณ :  f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงแสดงพระธรรมเทศนาศราทธพรตในพระราชพิธีถวายพระเพลิง
พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศท้องสนามหลวง
วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓
...ขอขอบคุณ :  f.โบราณนานมา (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



พระฤกษ์ลาสิกขา

พระฤกษ์ลาสิกขา สามเณรสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี
พระฤกษ์ลาสิกขา สามเณรสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี

...ขอขอบคุณ :  f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



สมเด็จพระยอดแก้ว พุทธชิโนรส สกลมหาสังฆปาโมกข์ (บุญทัน ธมฺมญาโณ บุปผรัตน์)
สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาว ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทย
อย่างเป็นทางการ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐
...ขอขอบคุณ :  f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



พระสงฆ์กับโรคระบาด

นับแต่ตรวจค้นหลักฐานในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทพระภิกษุสงฆ์กับโรคระบาดในสังคมไทยนั้น นอกจากพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับอาราธนานิมนต์ไปในการประกอบพระราชพิธีอาพาธพินาศแล้ว ยังปรากฏนามพระภิกษุพระองค์หนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาอหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยทรงเป็นผู้บัญชาการในการจัดการกับศพผู้เสียชีวิตเหล่านั้น คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ (วชิรญาณภิกขุ) หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวช

ดังปรากฏในบันทึกของหมอมัลคอล์ม สมิธ ที่ว่า "ปี พ.ศ.๒๓๙๒ อหิวาตกโรคได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง กล่าวกันว่าในช่วงระยะเวลา ๑ เดือน มีผู้คนเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้รับเป็นจำนวนถึง ๑๕,๐๐๐ – ๒๐,๐๐๐ คน และในปีนั้นเองเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ในสยาม (คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย) ได้ทรงมีบัญชาให้ใช้วัดสำคัญ ๓ วัดในกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดบพิตรพิมุข เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ สถิติผู้เสียชีวิตที่ถูกนำมาเผาที่วัดทั้ง ๓ แห่ง นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม รวม ๓๘ วัน มีจำนวนทั้งสิ้น ๕,๔๕๗ ศพ จำนวนศำที่ถูกนำมาเผาสูงสุดใน ๑ วัน คือ วันที่ ๒๓ มิถุนายน มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๙๖ ศพ เมืองทั้งเมืองประสบกับความโกลาหลวุ่นวาย ธุรกิจต่าง ๆ มีอันต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มีภาระที่จะต้องดูแลผู้ป่วยและจัดการกับศพผู้เสียชีวิต"

...ขอขอบคุณ : คุณศรัณย์ มะกรูดอินทร์ f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)



พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัตติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา (ພຣະບາດສົມເດັດພຣະເຈົ້າເຊດຖາຂັດຕິຍະວົງສາ ພຣະມະຫາສີສວ່າງວັດທະນາ) เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศที่เจ้าฟ้าชายองค์มงกุฎราชกุมารศรีสว่างวัฒนา (ເຈົ້າຟ້າຊາຍອົງຄ໌ມົງກຸດາຣາຊກຸມານສີສວ່າງວັດທະນາ) และเจ้าหญิงคำผุย (ເຈົ້າຍິງຄຳຜູຍ) พระชายา เสด็จพร้อมด้วยเจ้าหญิงฉวีวรรณ (ເຈົ້າຍິງສວີວັນ) พระธิดา แห่งราชอาณาจักรลาว มาทรงนมัสการสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสเสด็จมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๘ เวลา ๑๘.๐๐ น.

องค์มงกุฎราชกุมารศรีสว่างวัฒนา แห่งลาว เสด็จมาทรงนมัสการสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสเสด็จมาเยือนประเทศไทย ระหว่าง ๒๐-๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๘ โดยมีพระชายาคำผุย และเจ้าหญิงฉวีวรรณ พระธิดา โดยเสด็จมาด้วย

จากบันทึกพิเศษของราชองค์รักษ์พระราชอาค้นตุกะ ของพลโทบุศรินทร์ ภักดีกุล กล่าวถึงไว้ว่า พระองค์มีพระประสงค์เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นทรงนุ่งผ้าขาวใส่ฉลองพระองค์คอปิดขาวไปเฝ้า

ขอขอบคุณ : f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กรกฎาคม 2563 19:16:58 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2563 16:03:14 »


ภาพ ลายเซ็นพระนามในท้ายหนังสือต้นปฏิสังขาโย
ที่มา : จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเจ้าฟ้าภาณุรังษีทรงผนวช

วันที่ ๔๐๙๘ วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ เอกศก ๑๒๔๑ (วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๒๒)

เสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับพลับพลาทอดพระเนตรสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี(สว่างวงศ์) กับพระองค์เจ้าเทวัญ(อุไทยวงศ์)โปรยทาน แล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถทรงผนวช

สมเด็จพระองค์น้อยนั้น พระอุปัชฌาย์ (กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์) กับพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) ช่วยครองผ้าให้ เป็นการวิเศษผิดกับตามธรรมเนียมขึ้นทรงผนวช จนเสร็จสวดญัตติแล้ว พระองค์เจ้าเทวัญ(อุไทยวงศ์)จึ่งได้ทรงผนวชต่อไป กรมพระปวเรศเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณเป็นกรรมวาจา ครั้งนี้จะทรงผนวชน้อยวัน ทรงถือผ้า ๓ ผืน ทั้ง ๒ พระองค์ ไม่รับผ้าผู้อื่น เจ้านายข้าราชการถวายดอกไม้ธูปเทียน

ทรงผนวชแล้วเสด็จขึ้นทางพระที่นั่งอมรินทร เสด็จพุทธรัตนสถาน

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอซึ่งทรงผนวชใหม่กับพระราชาคณะ ๑๐ รูป เข้าไปในพุทธรัตน(สถาน)สวดอีกครั้ง ๑ แต่พระองค์เจ้าเทวัญนั้นให้พักอยู่นอกเสมาก่อน สวดญัติสมเด็จพระองค์น้อยในพระอุโบสถเสร็จแล้วพระองค์เจ้าเทวัญจึ่งได้เข้าไป แล้วพระสงฆ์พร้อมกันอยู่ที่พระตำหนัก เสด็จประทับที่พระที่นั่ง(ทรงผนวช) สมเด็จพระองค์น้อยประทับที่ตำหนักเสด็จที่วัด พระองค์เจ้าเทวัญอยู่กุฎีด้านเหนือ พระสาสนโสภณกับหม่อมเจ้า(พระ)อรุณ(นิภาคุณากร)อยู่กุฎีด้านใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับส่งขึ้นกุฏิแล้วเสด็จขึ้น

เวลา ๔ ทุ่มเสด็จพุทธรัตนสถาน มีสวดมนต์ฉลองพระที่นั่งหัตถบาส ๓๐๐ รูป สวดจบแล้วเสด็จไปตรัสกับเสด็จที่วัด ที่พระตำหนักจน ๒ ยาม เสด็จขึ้น

ขอขอบคุณ : f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาข้อมูล-ภาพ)




รื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา สุดท้ายได้กรมศิลปากรดำเนินการฟื้นฟู เยียวยาให้ชาวแพร่
ขอขอบคุณ : f.สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ (ที่มาภาพ)










จากอดีตสู่ปัจจุบัน งานอนุรักษ์โบราณสถานวัดม่อนจำศีล อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ที่สำนักฯ ร่วมกับมูลนิธิ วทัญญู ณ ถลาง
ได้ร่วมกันดำเนินการบูรณะ อนุรักษ์ฯ ฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณสถานแห่งนี้กันอีกครั้ง...วัดม่อนจำศีล บ้านป่าขาม หมู่ ๑
ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง เป็นปริมณฑลพื้นที่สถานแห่งหนึ่งซึ่ง เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งบนแผ่นดินล้านนา
เนื่องจากเป็นโบราณสถานและพุทธสถานที่เก่าแก่อายุกกว่าพันปี
ขอขอบคุณ : f.สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ (ที่มาภาพ)
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2563 20:14:09 »



การบำเพ็ญพระราชกุศลเข้าพรรษา เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๔

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจักเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มเทียน ณ วัดบวรนิเวศวิหารอยู่เป็นประจำทุกปี โดยจักเสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการและถวายพุ่มเทียนพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ และถวายพุ่มพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาภายในพระอาราม แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการและถวายพุ่มเทียนปูชนียวัตถุสถานสำคัญประจำพระอาราม ประกอบด้วย พระเจดีย์ และพระศรีศาสดา แล้วจึงเสด็จไปถวายพุ่มเทียนแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ (ภายหลังได้รับสถาปนาขึ้นที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มเทียนแด่สามเณรพระโอรสที่ทรงผนวช ๓ คราวด้วยกัน

คราวแรก ในปีจุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ.๒๔๐๙) คือ สามเณรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ กรมขุนพินิตประชานารถ (ภายหลังเสด็จเถลิงถวัราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕)

คราวที่ ๒ ในปีจุลศักราช ๑๒๒๙ (พ.ศ.๒๔๑๐) คือ สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์)

คราวที่ ๓ ในปีจุลศักราช ๑๒๓๐ (พ.ศ.๒๔๑๑) มีพระราชโอรสทรงผนวชเป็นสามเณร ๓ พระองค์ด้วยกันคือ 
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหลวงพิชิตปรีชากร) เสด็จประทับอยู่พระปั้นหย่า   
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์) เสด็จประทับอยู่พระตำหนักโรงพิมพ์
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช)
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์)
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) และ
- สามเณรพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร) ซึ่งทั้ง ๔ พระองค์นี้เสด็จประทับอยู่ที่คณะกุฏิ์

ดังปรากฏความใน “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๑๑” ความตอนหนึ่งว่า  “ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐...ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๑) เวลา ๔ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยาน เสด็จทางสถลมารค ประทับวัดบวรนิเวศน์ ทรงนมัสการถวายพุ่มพระชินศรี เสด็จทรงพระราชดำเนินขึ้นบนพระเจดีย์ ทรงถวายพุ่ม เสด็จขึ้นไปนมัสการพระศาสดา ถวายพุ่ม ทรงพระดำเนินขึ้นบนตำหนักกรมหมื่นบวรรังษี ทรงถวายพุ่ม ทรงพระราชดำเนินไปตำหนักพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๖ พระองค์ ถวายพุ่ม

เวลา ๒ ยาม เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

เวลาตี ๓ ยามเสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานประทับท่าราชวรดิษฐ์ ทรงเรือพระที่นั่งกลไฟ ชื่ออรรคเรศรัตนาสน์ ล่องน้ำขึ้นไปประทับวังจันทรเกษม”




เสด็จเยี่ยมพระอนุชา

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจักเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพระสงฆ์ หรือพุ่มเทียน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์ในพระองค์ ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงผนวชจำพรรษานั้น หม่อมเจ้าพระราชาคณะ จักเสด็จถวายที่ตำหนัก ส่วนพระสงฆ์อื่นๆ ในพระอารามนั้นถวายที่พระอุโบสถ ตามธรรมเนียมที่สืบมาแต่รัชกาลที่ ๔

จนในพรรษกาลปีพุทธศักราช ๒๔๒๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๖ ค่ำ เดือน ๘๘ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ (วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๓) ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพระสงฆ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์มิได้เสด็จอยู่ ด้วยเสด็จไปเยี่ยมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระอนุชาร่วมพระมารดา ซึ่งประชวรอยู่ ณ วังพระนิเวศน์เดิม (กรมอู่ทหารเรือในปัจจุบัน)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จไปนมัสการปูชนียวัตถุสถานภายในพระอารามก่อน แล้วประทับรอที่ตำหนักพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธารที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ จนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เสด็จกลับ จึงเสด็จฯ ไปถวายพุ่มพระสงฆ์ที่ตำหนักเดิม จนค่ำแล้วจึงเสด็จกลับ

ดังความที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ที่ว่า  “...วันอังคาร แรม ๖ ค่ำ เดือน ๘๘ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลาบ่ายเสด็จออกทรงรถพระที่นั่ง เสด็จวัดบวรนิเวศ เสด็จเข้าในพระอุโบสถพระราชทานพุ่มพระสงฆ์ทั้งพระอาราม แต่กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ไม่ได้เสด็จอยู่ เสด็จไปเยี่ยมกรมหมื่นอนันต์ด้วยประชวรมาก แล้วเสด็จนมัสการพระเจดีย์สถูปและพระวิหาร แล้วเสด็จทรงนมัสการต้นศรีมหาโพธิ์ พระวุฒิการกราบทูลว่าเสด็จกรมพระปวเรศเสด็จกลับแล้ว จึงเสด็จจากฐานโพธิ์ประทับตำหนักพระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร พระราชทานพุ่มแล้วเสด็จตำหนักกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถวายพุ่มแล้วตรัสอยู่จนเวลาย่ำค่ำเสด็จกลับ...”


ขอขอบคุณที่มา f.เล่าเรื่อง วัดบวรฯ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2563 18:40:18 »




ฝนตก
ในวันอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มายังพระเมรุมาศ

ฝนตก ในวันอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มายังพระเมรุมาศ

ดังปรากฏความในลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ร.ศ.๑๑๙ ด้วยทรงยืมสมุดพระอภิธรรมสำหรับทรงอ่านนำหน้าพระบรมศพ แต่ด้วยฝนตกสมุดจึงเปรอะเปื้อน จึงต้องทรงลายพระหัตถ์มาขอประทานโทษ ดังความที่ว่า

“ที่ ๓๓๕ วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๒๔ มกราคม ร.ศ.๑๑๙

กราบทูล พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

หม่อมเจ้าฉันขอทูลขอบพระเดชพระคุณ ในการที่ประทานยืมหนังสือสำหรับอ่านนำศพ บัดนี้เสร็จธุระแล้ว ขอถวายคืน เมื่อวันชักพระบรมศพเผอิญฝนตก น้ำฝนหล่นจากกลดกำมะลอ ตกลงที่สมุดเปรอะเปื้อนบ้าง เวลาบันดาลเป็น หวังว่า ท่านจะไม่ทรงถือโทษ

                                                            ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                            กรมหมื่นวชิรญาณ”




พัดยศพระพุทธชินสีห์ ตาลิปัตรหักทองขวางประดับพลอย

เดิมชื่อกันว่า พัดยศเล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพัดนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน  แต่ในหนังสือราชการของกระทรวงธรรมการ ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส นั้นสันนิษฐานว่าเป็นของยศบูชาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระพุทธรูปสำคัญประจำพระอารามหลวง ทั้งยังได้จำแนก พัดยศที่พระราชทานพระพุทธรูปสำคัญออกเป็น ๒ ลำดับชั้นคือ

๑) ตาลิปัตรหักทองขวางประดับพลอย
๒) หักทองขวางเปล่า

ซึ่งในส่วนของพัดยศที่ถวายพระพุทธรูปสำคัญนี้ จึงมีลักษณะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นงานปักดิ้นทองแล่งที่สั่งทำมาจากเมืองจีน ยอดและด้ามทำด้วยไม้ปิดทอง  ดังความในหนังสือกระทรวงธรรมการที่ว่า

“ที่ ๑๑/๑๐๒๑

วันที่ ๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

กราบทูลใน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทราบฝ่าพระบาท

ด้วยได้รับลายพระหัตถ์ที่ ๒๐/๙๐ ประทานตาลิปัตรหักทองขวางประดับพลอย  เปนของทรงถวายพระชินสีห์เป็นยศบูชานานมาแล้ว ไม่ทรงทราบว่าครั้งรัชกาลไหน บัดนี้เก่าคร่ำคร่าเต็มทีแล้ว จะตั้งรับเสด็จฤๅเก็บไว้เปนมิวเซียมด้ามก็ค่อนฃ้างปติกูล ครั้นจะทรงร้องขอเปลี่ยนก็ทรงพรรณาประโยชน์ในการทำเปลี่ยนไม่ได้นอกจากจะตั้งรับเสด็จฤๅประกาศยศบูชา ซึ่งเทียบกับราคาที่จะต้องลงทุนทำใหม่ จะคุ้มกันฤๅไม่คุ้มก็ไม่ทรงทราบ จึงประทานคืนมา ถ้าเกล้ากระหม่อมเห็นควรจะเปลี่ยนก็ทำเปลี่ยนแลถวายเพื่อทรงจบพระหัตถ์ในวันเสด็จพระราชทานพระกฐิน ถ้าเห็นป่วยการเปล่าก็ให้เก็บเอาไว้นั้น ได้ทราบเกล้าฯ แล้ว

แฉกนี้ เกล้ากระหม่อมเข้าใจว่าเปนของรัชกาลที่ ๓ พระราชทานตามพระอารามหลวงที่สำคัญเปน ๒ ชั้นคือประดับพลอยชั้น ๑ หักทองขวางเปล่าชั้น ๑ ครั้งฉลองวัดอรุณคราวหลังนี้ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ปักถวายใหม่อย่างประดับพลอย ต้องรีบทำทั้งกลางวันกลางคืนให้ทันพระราชประสงค์ แลพัดที่ได้ทรงถวายพระชินสีห์นี้ประดับพลอย ก็นับเปนชั้นที่ ๑ จะไม่กี่พระอารามนัก  เปนของยศบูชาในพระพุทธปฏิมากรที่สำคัญอยู่ในบ้านในเมือง ส่วนความเห็นของเกล้ากระหม่อมแล้ว ควรทำเปลี่ยนให้คงดีไว้ จะปักด้วยดิ้งแหล้งก็อยู่ในร้อยบาทเศษ ถ้าจะปักอย่างเดิมสั่งไปเมืองจีนก็คงไม่ถึง  ส่วนด้ามแลยอดนั้นเปนไม้ปิดทองทึบทุกแห่ง เข้าใจว่ามีราวด้วย ถ้าจะเปลี่ยนแล้วจะได้ขอพระบรมราชานุญาตเปนพิเศษ ฤๅจะประทานทุกวันก็ได้ จำเพาะแต่ค่าวัตถุส่วนแรงทำจะช่วยทำถวายได้ การยศบูชาหรือเครื่องนมัสการที่บูชาอยู่ทุกวัน เกล้ากระหม่อมก็เห็นว่าคล้ายกัน เพราะเปนสิ่งบูชาประโยชน์ที่จะได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น ก็แล้วแต่ผู้ที่จะดำริห์เห็น ถ้าฝ่าพระบาททรงเห็นตามกราบทูลนี้จะได้ทำใหม่ ถ้าไม่เห็นด้วย เกล้ากระหม่อมจะซ่อมปิดทองด้ามเสียใหม่ ทำยอดใหม่ ส่วนแฉกที่ปักจะซ่อมตามแต่ที่จะดีได้ส่งไปถวายควรจะคงไว้ เพราะเปนของพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาพระพุทธปฏิมากรจำเพาะพระองค์นั้นอยู่

จะประทานมาเฃ้ามิวเซียมในกระทรวงนี้ดูหาสู้ชอบกลไม่ เว้นไว้แต่ทำใหม่ เปลี่ยนให้มีตัวอยู่ ของเก่ามาเฃ้ามิวเซียมเช่นนี้ก็ชอบอยู่

                                                            ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
                                                            (ลงนาม) ภาสกรวงศ์”

ในปัจจุบันจากการเชิญพัดยศพระพุทธชินสีห์นี้ออกประดิษฐานเบื้องหน้าในคราวพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเป็นสำคัญ


ขอขอบคุณที่มาข้อมูล/ภาพ : fb.เรื่องเล่า...วัดบวรฯ
(เรื่อง ศรัณย์ มะกรูดอินทร์)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กรกฎาคม 2563 15:31:50 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 22 กรกฎาคม 2563 15:44:15 »




 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
(สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย)


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
(สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย)


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ ๕) ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๒๑ ชาววังเรียกว่า “ทูลกระหม่อมใหญ่”

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบอกพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ว่า "มหาอุณหิศ" แต่ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วอาจจะอ่านได้ว่า 'อุณหิศ' หรือ 'อันหิศ' ก็ได้ จึงมีพระราชหัตถ์ถึงพระยาอัษฎางค์เปลี่ยนพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เสียใหม่ว่า "มหาวชิรุณหิศ" ซึ่งแปลว่า มงกุฎเพชรใหญ่

พระองค์มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จเจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)

ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แทนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิม แต่หลังจากดำรงตำแหน่งสยามกุฎราชกุมารได้เพียง ๘ ปี ก็เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา

พระองค์ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๓๗ ขณะมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ๖ เดือน กับ ๗ วัน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์จักรี เพราะทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ทรงเป็นที่รักใคร่ของชาววัง พระองค์ทรงเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

จากเหตุการณ์นี้เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสา ทรงล้มทั้งยืนในทันที พระองค์ทรงพระกันแสงอย่างรุนแรง ไม่ทรงฟังคำปลอบประโลมใดๆ ทรงโศกเศร้าจนไม่เสด็จกลับตำหนัก กั้นพระฉากบรรทมในที่ประดิษฐานพระบรมศพพระราชโอรส ไม่เสวยพระกระยาหาร จนทรงพระประชวรในที่สุด และการสวรรคตของทูลกระหม่อมใหญ่ในครั้งนี้ก็ส่งผลให้สายการขึ้นครองราชสมบัติเปลี่ยนสายไปสู่พระราชโอรสในสมเด็จพระพันปี

ภายหลังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคต พระราชโอรสองค์ถัดมาของพระมเหสีเอกก็น่าจะได้รับตำแหน่งนี้ต่อ ซึ่งขณะนั้นสายสมเด็จพระพันวัสสา มีพระราชโอรสอยู่ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ ๘ และ ๙)

แต่การสืบต่อตำแหน่งไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่ได้มีการสลับสายจาก สมเด็จพระพันวัสสาไปสู่สายสมเด็จพระพันปี ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด มีเพียงพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า
“...ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์...”

(แม่กลาง คือ สมเด็จพระพันวัสสา และแม่เล็ก คือ สมเด็จพระพันปี) เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๓๗ จึงมีการสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ใหม่ คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ ๒ แห่งรัตนโกสินทร์
และสายสมเด็จพระพันปี มีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าขึ้นสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องกัน ๒ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

แต่เมื่อรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ ในปี ๒๔๗๗ รัชกาลที่ ๗ เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระพันปี การสืบราชสันตติวงศ์ได้กลับมาที่สายสมเด็จพระพันวัสสาอีกครั้ง เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ผู้เป็นพระนัดดาได้สืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๗ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี

หมายเหตุ
“สมเด็จพระพันปี” หมายถึง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“สมเด็จพระพันวัสสา” หมายถึง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า





หม่อมราโชทัย ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๘
 ถ่ายภาพโดย จอห์น ทอมสัน (John Thomson)

หม่อมราโชทัย
(หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)
ล่ามหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ผู้เดินทางไปเจริญพระไมตรีกับประเทศอังกฤษ

หม่อมราโชทัย มีนามเดิม หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร  กวีและล่ามหลวงคนสำคัญของคณะทูตไทย นำโดยพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐

หม่อมราโชทัย เป็นบุตรหม่อมเจ้าชอุ่ม (ต่อมาคือพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวานุรักษ์ โอรสสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (ต้นราชสกุลอิศรางกูร)) กับหม่อมนก เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒  ท่านเป็นนัดดาของสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ เป็นปนัดดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อเจริญวัย บิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎผนวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปรับใช้  ท่านได้เรียนภาษาอังกฤษกับหมอบรัดเลย์ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงได้เข้ารับราชการเป็นราชเลขานุการ ช่วยราชกิจได้ดี จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นหม่อมราโชทัย ราว พ.ศ.๒๓๙๘

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยเป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทยที่เชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ เดินทางไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาได้รับพระราชทานพานทองเล็กเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยขึ้นเป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรกของไทย  การเดินทางไปเจริญทางพระไมตรีกับประเทศอังกฤษในครั้งนั้นเป็นที่มาของหนังสือนิราศเมืองลอนดอน ซึ่งแต่งหลังจากเดินทางกลับได้ ๒ ปี

งานประพันธ์เล่มสำคัญของหม่อมราโชทัย ได้แก่เรื่อง จดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ และเรื่อง นิราศลอนดอน ซึ่งมีประวัติการแต่งนิราศลอนดอน ปรากฏในหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า เมื่อแรกนั้น หอพระสมุดวชิรญาณคิดว่าจะพิมพ์แต่เรื่อง จดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ของหม่อมราโชทัย แต่เมื่อพิมพ์แล้วส่งสมุดตัวอย่างไปถวาย สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี ทอดพระเนตรแล้ว มีรับสั่งมาว่าหม่อมราโชทัยได้แต่งเรื่องนิราศลอนดอน ต่อเนื่องจากจดหมายเหตุนี้มีอยู่อีกเรื่องหนึ่ง เหมือนเป็นหนังสือชุดเดียวกัน ทรงพระดำริเห็นว่าควรจะรวมพิมพ์เรื่องนิราศลอนดอนด้วย ผู้อ่านจะได้อ่านหนังสือซึ่งหม่อมราโชทัยแต่งในครั้งนั้นให้บริบูรณ์

หนังสือนิราศลอนดอนนี้ หม่อมราโชทัยแต่งขึ้นหลังจากจดหมายเหตุระยะทางราชทูตไทยไปลอนดอน ๒ ปี โดยนำเนื้อความจดหมายเหตุมาแต่งขยายเป็นกลอนนิราศ ตั้งชื่อว่า นิราศลอนดอน และได้ขายกรรมสิทธิ์การพิมพ์ครั้งแรกให้หมอบรัดเลย์เป็นเงิน ๔๐๐ บาท เมื่อ ปีระกา พ.ศ.๒๔๐๔ โดยหมอบรัดเลย์ลงบันทึกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ซื้อขายกรรมสิทธิ์หนังสือกันในเมืองไทย

เรื่องนิราศลอนดอน ได้รับการยกย่องกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่า “แต่งดีถึงชั้นเอกในหนังสือกลอนไทย ถึงนิราศของสุนทรภู่ เรื่องที่นับว่าเปนอย่างดีก็ไม่ดีกว่านิราศลอนดอน” จนถึงกับมีผู้ไม่เชื่อว่าหม่อมราโชทัยซึ่งเป็นนักเรียนด้านภาษาฝรั่งจะแต่งขึ้นเอง มีการคาดการณ์และเล่าลือกันไปต่างๆ เช่น พระสารสาสน์พลขันธ์ สมบุญ (ขุนมหาสิทธิโวหาร อาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๔) ได้กราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า หม่อมราโชทัยได้วานขุนสารประเสริฐ นุช แต่งให้ บ้างก็ว่าหม่อมราโชทัยวานให้สุนทรภู่แต่ง โดยอ้างว่าเมื่อสุนทรภู่ตาย เขาพบบางส่วนของนิราศลอนดอนฉบับร่างที่บ้านสุนทรภู่ แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอ่านโดยถ้วนถี่แล้ว ทรงมั่นพระทัยว่า หนังสือเรื่องนี้หม่อมราโชทัยแต่งเอง แต่อาจวานขุนสารประเสริฐ นุช ช่วยตรวจทานการสะกดและ แก้ถ้อยคำบ้างเล็กน้อย เพราะในนิราศลอนดอนนั้น มีรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษ ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือร่วมเดินทางไปกับคณะทูตเท่านั้นที่จะทราบได้ เพราะแต่งอย่างเป็นผู้ที่ “รู้เอง เห็นเอง ไม่ได้แต่งอย่างกลอนพาไป” และได้ทรงยกย่อง หม่อมราโชทัย ว่า  “เปนแต่ผู้แต่งหนังสือดีในทางความเรียง ซึ่งจะเห็นได้ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ตอนต้นสมุดเล่มนี้อย่างเดียว ยังเปนกวีที่สมควรจะยกย่องว่าเปนชั้นสูงด้วยอิกอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายได้อ่านหนังสือนิราศลอนดอนตอนต่อไปในสมุดเล่มนี้แล้ว จะเห็นเปนอย่างเดียวกันทุกคน.”

หม่อมราโชทัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๐ สิริอายุ ๔๘ ปี  พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้นที่เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๐

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กรกฎาคม 2563 16:10:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2563 11:05:26 »



เจดีย์เสียดายอักษร
เตาเผาอักษร ของคนจีนสมัยโบราณ

การทิ้งขยะของคนจีนสมัยโบราณ จะไม่ทิ้งกระดาษที่มีตัวอักษรจีนบนกระดาษ กระดาษที่ขีดเขียนตัวหนังสือจะไม่ทิ้งรวมกับขยะอื่น แต่จะทิ้งลงถังขยะที่แยกต่างหาก เป็นถังขยะสำหรับทิ้งกระดาษที่เขียนแล้วเพื่อนำไปเผาทำลายอีกทีหนึ่ง เพราะคนจีนสมัยก่อนเคารพเทพเจ้าเหวินชาง (文昌帝君)คือเทพแห่งการศึกษา และชางเจี๋ย(倉頡) คือเทพแห่งอักษรจีน คนจีนสมัยก่อนถือว่าอักษรจีนคือสิ่งที่ควรเคารพ ดังนั้นจะไม่ทิ้งกระดาษที่ขีดเขียนตัวอักษรรวมกับขยะสกปรกอื่นๆ

บางแห่งสร้างเตาเผาอักษร เรียกว่า เจดีย์เสียดายอักษร (惜字塔)

สมัยก่อนใช้ของคุ้มค่า พวกโลหะที่เสียก็รวบรวมเอาไปผลิตเหรียญกษาปณ์ เอาไปทำอาวุธ ทำเครื่องมือเกษตรกรรม ในบางยุคโลหะไม่พอผลิตเหรียญก็เอาพระพุทธรูปโลหะที่มีค่ามาหลอมผลิตเหรียญ




โครงสร้างบ้านโบราณสมัยราชวงศ์หมิง เมืองฮุยโจว มณฑลอานฮุย
ตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง ที่ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน



















ขอขอบคุณที่มา (เรื่อง/ภาพ) : fb. จีนโบราณ - 古時中華
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2564 18:39:47 »




พระอินทโมลี (ช้าง) วัดบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท (พ.ศ.๒๓๘๕-๒๔๖๕)
ภาพถ่าย ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร ภ ๐๐๑ หวญ ๖๗/๓๕


วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ขณะกำลังก่อสร้างพระอุโบสถ ถ่ายจากด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
เห็นสะพานพระรูปซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองที่กั้นแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอยู่ด้านล่างของภาพ
ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร หวญ ๕๘/๑๔



วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน
ไปในการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม

รหัสเอกสาร 44M00049 เอกสารที่เกี่ยวข้อง เอกสารกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่ ๖ กระทรวงวัง
รหัสเอกสาร ร.๖ ว ๑๗/๓๒ เรื่อง เฉลิมพระที่นั่งอนันตสมาคม (๒๖ ธันวาคม - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙)



เจ้าอุบลวรรณาหรืออุบลวัณณา เป็นธิดาองค์ที่ ๒ ของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
และแม่เจ้าอุสาห์ เป็นพระขนิษฐาของแม่เจ้าทิพเกสร

ข้อมูลจาก หนังสือ เจ้าหลวงเชียงใหม่ พิมพ์เนื่องในโอกาสสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี
รหัสเอกสาร 36M00012



สมุดจดรายชื่อพระที่นั่ง ถ้ำ น้ำตก สระ น้ำพุ ลำธาร ลาด บันได ลาดผลึก ผา ประตู บ่อ ป่า ชั้น
เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ เบ็ดเตล็ด  รหัสเอกสาร ร.๕ บ ๑๐/๔๗



เครื่องจักรสร้างรางรถไฟบนสะพานพระราม ๖
ภาพถ่าย ชุด การรถไฟแห่งประเทศไทย  รหัสเอกสาร ภ รฟท ๔๙/๗



หมู่พระมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แลเห็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ชักมุขต่อเนื่อง
กับพระที่นั่งพิมานรัตยา (ซ้าย) พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท และซุ้มประตูกำแพงแก้ว
ส่วนด้านซ้ายเห็นเขื่อนเพ็ชร ภาพถ่ายก่อนการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพุทธศักราช ๒๔๑๙
ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ  รหัสเอกสาร หวญ ๒๒/๑



พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ออกแบบโดยหลวงสถิตนิมานการ (ชวน สุปิยพันธ์) ตามแนวดำริของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺสโส)
เริ่มก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ แล้วเสร็จพุทธศักราช ๒๔๗๓ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป
ภาพถ่ายคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒
ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร หวญ ๑๕/๑ หนังสือฟิล์มกระจกหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์ เล่ม ๒



สำเภาวัดยานนาวา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์
มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริงไว้ที่ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระราชดำรัสว่า
"คนภายนอกอยากจะเห็นว่าเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู" มีพระเจดีย์อยู่ในลำสำเภาสององค์
ใหญ่องค์หนึ่ง เล็กองค์หนึ่ง ที่ห้องท้ายบาลีประดิษฐานรูปหล่อพระเวสสันดรกับกัณหาชาลี
และศิลาจารึกภาษาไทยแผ่นหนึ่ง ภาษาจีนแผ่นหนึ่ง
ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร หวญ ๘/๓๖ หนังสือฟิล์มกระจกหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์ เล่ม ๒



ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
จำลองแบบก่อสร้างของปราสาทเมืองพระนครหลวงของอาณาจักรขอม แต่สร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส
เป็นแม่กองบูรณะ จึงได้มีการสร้างมณฑปไว้บนยอด ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย
ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร หวญ ๕๐/๒๕ #หนังสือฟิล์มกระจกหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์ เล่ม๒


ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2564 17:25:02 »




การกู้เงินหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติเมื่อฝ่ายอักษะประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี ๒๔๘๘ โดยระหว่างสงครามและหลังจากนั้น ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นสมัยข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนปัจจัยสี่ทุกหัวระแหง สหกรณ์จำกัดสินใช้ เข้าใจสภาวะดังกล่าว จึงพิมพ์เอกสารตัวอย่างการขอกู้เงินให้สมาชิกหรือบุคคลทั่วไปได้พิจารณา ซึ่งสรุปเนื้อความง่ายๆ ว่า

     ๑. หากกู้เงินจำนวน ๔๕๐ บาท จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
     ๒. ถ้าผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยปีละ ๕๐ บาท ๙๘ สตางค์ สามารถผ่อนได้นาน ๑๕ ปี
     ๓. เมื่อผ่อนครบ ๑๕ ปี ดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง ๓๑๔ บาท ๗๐ สตางค์

จากตัวอย่างนี้ การกู้เงินต้นจำนวน ๔๕๐ บาท ในสมัยนั้น เป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่ต้องใช้ด้วยย่อมเป็นภาระเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากอย่างไรก็ตาม เอกสารตัวอย่างการกู้เงินเป็นเพียงแนวทางสำหรับผู้สนใจเท่านั้น การขอกู้อาจเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของบุคคล แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่ายุคสมัยใดโปรดคำนึงเสมอว่า
"การไม่เป็นหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง"




ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนนามสกุล
นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.๒๔๕๕ และบังคับใช้ พ.ศ.๒๔๕๖ คนไทยจึงมีนามสกุลต่อท้ายชื่อเพื่อระบุตัวตนได้ชัดเจน ครั้น พ.ศ.๒๔๘๑ รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุลฉบับที่ ๒ ขึ้น เนื้อหาส่วนหนึ่งกำหนดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนนามสกุลใหม่ ดังเห็นได้จากเอกสารจดหมายเหตุของสำนักงานปกครองจังหวัดสุโขทัย "เรื่องระเบียบเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล และร่วมชื่อสกุล" แผ่นที่ ๒๕ สรุปความว่า การเปลี่ยนนามสกุลใหม่ เพราะนามสกุลเดิมเหมือนกับนามสกุลตระกูลอื่น มีคำหยาบคายปะปน หรือสำเนียงเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หากเปลี่ยนด้วยเหตุผลอื่นๆ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายละ ๑๐ บาท

ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนนามสกุลรายละ ๑๐ บาท สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ราคาสูงไม่น้อย ดังนั้น การมีนามสกุลที่ไม่ขัดกับกฎหมายจึงเป็นการรักษาชื่อเสียง รักษาความภูมิใจที่บรรพบุรุษตั้งไว้ และไม่เสียสตางค์โดยใช่เหตุ


     ขอขอบคุณที่มา : คลังวิชาการ กรมศิลปากร
     ผู้เขียน  : นายธานินทร์  ทิพยางค์ 
     (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 06 เมษายน 2565 15:24:35 »




พระบาทสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัทนา และพระมเหสีคำผุย
ทอดพระเนตรการส่วงเฮือแข่งเฮือที่ลำน้ำคาน




วิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มองเห็นโบสถ์กาลหว่าร์ (วัดแม่พระลูกประคำ) ได้เด่นชัด

โบสถ์กาลหว่าร์ หรือ วัดแม่พระลูกประคำ (Holy Rosary Church) เป็นโบสถ์คริสต์
นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิก ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช ๒ แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์
กรุงเทพ  โบสถ์แห่งนี้ไม่ใช่โบสถ์หลังแรก  หากแต่เป็นโบสถ์หลังที่สามแล้ว ซึ่งสร้างขึ้น
เพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ถูกทิ้งร้างภายหลังเพลิงไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ โบสถ์ใน
ปัจจุบันได้สร้างขึ้นโดยคุณพ่อแดซาลส์ ชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๔๓๔  ถือเป็นโบสถ์ที่
เก่าแก่แห่งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์



วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา (Saint Joseph Catholic Church, Ayutthaya)

โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในสมัย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  โดยอาคารหลังแรกเป็นอาคารไม้และได้ปรับปรุง
บูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นหลังปัจจุบัน (สร้างสมัย ร.๕)



ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์แห่งสยามในทัศนะของชาวฝรั่งเศส

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทรงพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส
มากเป็นพิเศษ  เพื่อถ่วงดุลอำนาจของชาวโปรตุเกสและชาวฮอลันดาที่มีต่อราชอาณาจักรของ
พระองค์ โดยทรงมีเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้ถวายคำแนะนำ





ยามะซะตอ ละครโขนพม่า

ในสมัยราชวงศ์คองบอง กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเชลย ชนเหล่านี้มีทั้งเจ้านาย ช่างฝีมือ นักแสดง และนักดนตรีรวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมารามายณะฉบับพม่าจึงรับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ของอาณาจักรอยุธยาค่อนข้างสูงผ่านเชลยเหล่านี้ เหล่าเชลยจึงก่อตั้งคณะละครที่ยังแต่งกายตามประเพณีและการร่ายรำแบบอยุธยาดั้งเดิม เกิดโขนรามเกียรติ์ภาษาพม่าในราชสำนักอังวะจนได้รับความนิยม

รามายณะฉบับพม่าพัฒนาผ่านงานศิลปะแขนงต่างๆ จนกลายเป็นยุคทองของยามะซะตอ เช่น รามายณะฉบับอู ออง พโย (U Aung Phyo) เริ่มแต่พลกัณฑ์จนถึงยุทธกัณฑ์ ปี พ.ศ.2318, บทกวีรามายณะของอูโท (U Toe) มีสองบทคือ บทร้องพระราม (Yama yakan) และบทร้องนางสีดา (Thida yakan) ปี พ.ศ.๒๓๒๗, การแสดงพระราม (Yama pyazat) ปี พ.ศ.๒๓๓๒ และเรื่องราวของพระรามขณะทรงพระเยาว์ (Kalay Yama wuthtu) ปี พ.ศ.๒๓๔๓ นอกจากนี้พระนางตะเคง (Thakin) พระมเหสีในพระเจ้าจิงกูจา ทรงริเริ่มนำทำนองดนตรีและเพลงพม่าเข้าแทนที่เพลงอยุธยาดั้งเดิม ทั้งทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนักแสดงใหม่ เพราะมองว่าผ้านุ่งของไทยดูไม่เป็นผู้หญิงเท่าที่ควร

ในยุคพระเจ้ามินดง ถือเป็นยุคเสื่อมของยามะซะตอ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเคร่งครัดในพุทธศาสนา ทรงมองว่าละครเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่ก็มีการแสดงยามะซะตอนี้ในรัชกาลอยู่บ้าง ในเวลาต่อมามีครูละครคนหนึ่งตัดสินใจไปตั้งคณะละครในพม่าส่วนที่ตกเป็นของสหราชอาณาจักรเพราะมิอาจทนสภาวะการเมืองที่ไม่ปรกติในราชสำนัก และแสดงกันเองกลางพื้นดินเพราะไม่มีเวทีและฉากสวยงามดังก่อน







จารึกคำปู่สบถ สายสัมพันธ์เมืองน่านและสุโขทัย
(บทความจาก https://bit.ly/381uSgc)

จารึกคำปู่สบถ (จารึกหลักที่ ๖๔) ลักษณะเป็นจารึกหินทรายทรงสี่เหลี่ยม อักษรไทยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๒๐) ภาษาไทย จารึกหลักนี้มี ๒ ด้าน จำนวน ๓๖ บรรทัด ด้านที่ ๑ มี ๒๖ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๑๐ บรรทัด สันนิษฐานว่าจารึก พ.ศ.๑๙๓๕ พร้อมกับจารึกหลักที่ ๔๕ (จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด) ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย มีขนาดกว้าง ๕๖.๕ เซนติเมตร ยาว ๓๙ เซนติเมตร จารึกอยู่ในสภาพชำรุดแตกหักไม่สมบูรณ์ สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นแผ่นหินรูปใบเสมา พระโสภณธรรมวาที รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน ให้ยืมจัดแสดง

จารึกหลักนี้พบที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๐ โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อครั้งเดินทางขึ้นไปตรวจงานโบราณวัตถุสถานภาคเหนือพร้อมคณะ พบแผ่นศิลาจารึก จำนวน ๓ แผ่น วางอยู่ข้างวิหารวัดช้างค้ำ จึงกราบเรียนเจ้าอาวาสวัดช้างค้ำทราบ และขอให้ท่านช่วยเก็บรักษาไว้ ทราบความว่าแผ่นศิลาจารึกทั้งหมด ๓ แผ่น นำมาจากบ่อว้า (อำเภอแม่จริม) จังหวัดน่าน
 
ต่อมาในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๒ นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปตรวจงานโบราณวัตถุอีกครั้งหนึ่ง เดินทางถึงจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการถ่ายภาพและทำสำเนาศิลาจารึกคำปู่สบถ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ จึงได้มอบสำเนาจารึกให้ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ เจ้าหน้าที่อ่านคำจารึกดำเนินการอ่าน-ถ่ายทอด

เนื้อความในจารึก กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานระหว่างกษัตริย์สุโขทัยกับเจ้าเมืองน่าน และได้กล่าวถึงความสามัคคีระหว่างเมืองแพร่ เมืองงาว เมืองน่าน และเมืองพลั่ว ว่าถ้าเมืองหนึ่งเมืองใด มีอันตรายเกิดขึ้น เมืองนอกนั้นจะต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด (จารึกหลักที่ ๔๕) พบจากการขุดแต่งวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยหน่วยขุดแต่งและบูรณะเมืองสุโขทัย กองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้เก็บรักษาไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์สุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

ลักษณะเป็นแผ่นหินรูปใบเสมา ขนาดกว้าง ๓๗ เซนติเมตร ยาว ๘๓ เซนติเมตร หนา ๑๘ เซนติเมตร อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มีอักษรจารึก ๓ ด้าน ด้านที่ ๑ จำนวน ๓๗ บรรทัด กล่าวถึงการทำสัตย์สาบานระหว่างผู้เป็นใหญ่ในกรุงสุโขทัย  ด้านที่ ๒ จำนวน ๔๐ บรรทัด กล่าวถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ  และด้านที่ ๓ จำนวน ๑๙ บรรทัด เป็นคำสาปแช่งผู้กระทำผิดคิดคด

จากเนื้อความที่ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด และจารึกคำปู่สบถ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าจารึกทั้งสองหลักนี้คงเป็นจารึกที่ทำขึ้นคู่กัน ระหว่างกษัตริย์สุโขทัยและเจ้าเมืองน่าน อันได้แก่ พระมหาธรรมราชาแห่งเมืองสุโขทัย ซึ่งในจารึกกล่าวถึงว่า “...กูผู้ชื่อพญาฤาไทยกระทำใจรักภักดิ์ไมตรีด้วยปู่พระยาเป็นเจ้า”  แสดงให้เห็นว่าทางฝ่ายสุโขทัยนั้นมีศักดิ์เป็นหลาน และทางฝ่ายเจ้าเมืองน่านมีศักดิ์เป็นปู่พระยา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาที่จารึกกับชื่อของเจ้าเมืองน่านตามพงศาวดารเมืองน่าน คือ เจ้าคำตัน  โดยจารึกได้อ้างถึงสายวงศ์เพื่อลำดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย และยกเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งสองฝ่ายเคารพนับถือเป็นพยาน ให้รักกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน และรวมไปถึงข้าราชบริพารหากคิดคดผิดคำสาบานให้ตกอเวจี และจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าเมืองใดเมืองหนึ่งมีอันตรายเกิดขึ้น เมืองนั้นต้องให้ความช่วยเหลือ หากผิดคำสาบานเกิดชาติหน้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ซึ่งจารึกทั้งสองหลักนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมืองน่านและสุโขทัย ที่มีต่อกันนอกเหนือไปจากอำนาจทางด้านการเมืองการปกครอง



ภาพข้างล่าง จำนวน ๓๑ ภาพ เป็นโปสการ์ด ภาพประเทศลาว (เมื่อร้่อยกว่าปีที่ผ่านมา)
สำนักพิมพ์ Claude et Cie (พิมพ์ราวปี ๑๘๘๑-๑๙๑๐
)[/size]































































ขอขอบคุณ เพจบรรณาลัย (ที่มาเรื่อง/ภาพ)
600
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 เมษายน 2565 15:49:53 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 07 เมษายน 2565 12:40:41 »


“...ถ้าเห็นพระบัญชรเปิด ต่างคนก็จะวิ่งไปทูลเจ้านายของตน แล้วเจ้านายจะเสด็จขึ้นเฝ้าโดยทรงแต่งองค์ ทรงผ้าลาย ทรงแพรสะพักสีตามวัน แต่ต้องทรงนัดกันเพื่อทรงเหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนหีบหมากเสวยก็เหมือนกัน เพราะได้รับพระราชทานเหมือนกัน เช่น หีบทอง หีบหูหิ้วนาค ก็เหมือนกันหมดทุกพระองค์...พระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ ทรงผ้าพื้น และฉลองพระองค์ชั้นใน (สำหรับ) เจ้านายที่ทรงพระเยาว์มาก เวลาขึ้นเฝ้า มีข้าหลวงรับเสด็จและข้าหลวงจะต้องถวายพระกลดคันยาวใหญ่ ส่วนเจ้าจอมนั้น สำหรับวันพระต้องนุ่งสีตามวัน ห่มผ้าสีชมพู เจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมเวลาหน้าหนาวไม่เคยเห็นสวม (เสื้อนอก) ฉลองพระองค์หรือเสื้อกันหนาว ถ้าหนาวมากห่มผ้าไหมพรมผ้าครุยไหมแพรสก๊อตแล้วแต่ของจะมาจากต่างประเทศใหม่ๆ ตามสมัยนิยม...”

บันทึกความทรงจำ บทนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 10 เมษายน 2565 20:21:57 »





สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร จุดพระราชทานเพลิงศพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ เมรุชั่วคราววัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี
(ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗

ที่มา : เล่าเรื่องวัดบวรฯ



หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง  
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ที่มา : เล่าเรื่องวัดบวรฯ


พระโพธิรังษี มารชีศาสนาธิการ สังฆปาโมกข์ (จันแก้ว คนฺธาโร)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ รูปที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๕๗ - พ.ศ.๒๔๖๕)
อดีต ปัญจมสังฆราชา(สังฆราชา ที่ ๕)แห่งเมืองเชียงใหม่ที่ได้รับการ
เถราภิเษกจาก พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ องค์ที่ ๗
อดีต เจ้าอาวาสวัดเชตุพน ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ที่มา : เพจพระพุทธศาสนาไทยลาวกัมพูชา



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 เมษายน 2565 20:24:55 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.127 Chrome 100.0.4896.127


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 28 เมษายน 2565 10:07:17 »



วัดพระพุทธโฆสาจารย์ (វត្តព្រះពុទ្ធឃោសាចារ្យ)


วัดพระพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญนี้ เป็นวัดโบราณ ตามประวัติว่า เจ้าพญายาต (พระบรมราชา) ผู้สถาปนาพนมเปญเป็นราชธานีครั้งเเรก โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อครั้งย้ายมาจากบาสาณ (ศรีสันธร) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของคลองเจินด็อมแฎม(จีนตีเหล็ก) ทางทิศเหนือของพนมโฎนปึญ (วัดพนม)

เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพเอกของสยามสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงหนึ่งได้นำทัพไปขับไล่กองทัพญวนที่เข้ามาก่อความวุ่นวายในกรุงพนมเปญ ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ในขอบขัณฑสีมาของสยาม ครั้นสำเร็จแล้ว ท่านก็บูรณะวัดวาอาราม พร้อมจารึกเรื่องราวไว้ ณ วัดพุทธโฆสาจาร
...ที่มา เพจบรรณาลัย




สี่แจ่ง กำแพงเมือง และประตูเมืองเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่ยังคงมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “กำแพงและประตูเมือง” หลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการบูรณะซ่อมแซมมาบ้างแล้วก็ตาม

แนวกำแพงและประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันยังคงมีเค้าโครงของแนวกำแพงสมัยโบราณอยู่ โดยเฉพาะก้อนอิฐซึ่งมีลักษณะใหญ่กว่าปกติ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยของพระเจ้ากาวิละที่เข้ามาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่ร้างมานานกว่า ๒๐๐ ปี

กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พิเศษ ในอดีตเมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองจะต้องเข้าเมืองที่ประตูทางทิศเหนือซึ่งถือเป็นเดชเมือง ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขึ้นแต่เดิมนั้น พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า “เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ได้ทรงขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านนำเอาดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง คือประตูหัวเวียง(ช้างเผือก) ,ประตูท้ายเวียง(เชียงใหม่) ,ประตูท่าแพและประตูสวนดอก

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีสองชั้น คือ กำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยมและกำแพงชั้นนอกหรือกำแพงดิน กำแพงทั้งสองชั้นสร้างขึ้นไม่พร้อมกันและมีความสำคัญไม่เท่ากัน กำแพงชั้นในสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยามังราย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ ส่วนกำแพงชั้นนอกสันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒

ในรายงานการวิจัยเรื่อง “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน” โดยสรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวถึงความสำคัญของกำแพงเมืองทั้งสองว่า กำแพงเมืองชั้นในมีความสำคัญกว่ากำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งพิจารณาจากการใช้สอยพื้นที่พบว่า ภายในกำแพงเมืองชั้นในถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครอง เพราะเป็นที่อยู่ของกษัตริย์และเจ้านาย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น เป็นต้น ด้านถนนภายในกำแพงเมืองมีลักษณะตัดตรงเป็นเรขาคณิต เมื่อเปรียบเทียบกันกำแพงเมืองชั้นนอกแล้ว พบว่า กำแพงชั้นนอกเป็นที่อยู่ของช่างและพ่อค้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชาวเขิน มอญ พม่า ไทใหญ่และไทยวน ส่วนบริเวณกำแพงเมืองชั้นในจะกำหนดให้เฉพาะชาวไทยวน หรือ คนเมืองอยู่เท่านั้น

บริเวณกำแพงเมืองชั้นใน ประกอบด้วยประตูเมือง ๕ ประตู ได้แก่ “ประตูหัวเวียง” หรือ ประตูช้างเผือก อยู่ทางทิศเหนือของเมืองถือว่าเป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก ๒ เชือกเป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก ๒ คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง ๒ เชือกอยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก สำหรับรูปปั้นช้างเผือกที่ตั้งในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ

“ประตูเชียงเรือก” ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นใน มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือกมีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๑๖ – ๒๔๔๐) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็น “ประตูท่าแพชั้นใน” เพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ชื่อประตูท่าแพ หมายถึงประตูชั้นนอกตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดแสนฝาง ต่อมาบ้านเรือนขยายตัวประตูท่าแพชั้นนอกได้สลายไปเหลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสั้นๆ ว่า ประตูท่าแพ สำหรับประตูท่าแพในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๒๙ โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าประตูเมืองเชียงใหม่ประตูหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕

“ประตูเชียงใหม่” ตั้งอยู่ทางด้านใต้ ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปเวียงกุมกามและลำพูน ในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๑๘๐๔ – ๒๑๐๑) ทั้งเชียงใหม่ กุมกามและลำพูนตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง

“ประตูแสนปุง” ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับประตูเชียงใหม่ คือเฉพาะกำแพงเมืองด้านใต้เท่านั้นที่มีสองประตู ประตูนี้สันนิษฐานอาจเจาะภายหลังคือไม่ได้สร้างพร้อมกับสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงการเจาะประตูนี้ หลักฐานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูแสนปุงครั้งแรกสมัยมหาเทวีจิรประภา พ.ศ.๒๐๘๘ “…ชาวใต้มาปล่นเอาปะตูแสนปุง บ่ได้…” สันนิษฐานที่ชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน

“ประตูสวนดอก” ตั้งอยู่ทิศตะวันตกประตูด้านนี้เป็นทางออกไปสู่อุทยานของกษัตริย์ สมัยพญากือนา พ.ศ.๑๙๑๔ ได้สร้างวัดบนพื้นที่อุทยานจึงเรียก วัดสวนดอก และในช่วงนั้นพญากือนาคงสร้างเวียงสวนดอกด้วย

นอกจากกำแพงเมืองชั้นในแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีกำแพงเมืองชั้นนอกรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักชื่อ กำแพงดิน โอบล้อมไว้ เริ่มตั้งแต่แจ่งศรีภูมิด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเลียบตามลำน้ำแม่ข่าลงมาด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ มาบรรจบกับกำแพงเมืองชั้นในที่แจ่งกูเฮือง บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านนอกมีประตูเมืองสำคัญอยู่ ๕ ประตู คือ ประตูช้างม่อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ในอดีตถนนช้างม่อยเก่าเป็นเส้นทางโบราณผ่านหมู่บ้านเชียงเรือกไปวัดหนองหล่มแล้วไปสิ้นสุดที่ประตูช้างม่อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูช้างม่อยว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๘ เมื่อบ้านเมืองขยายตัวทางราชการได้ตัดถนนช้างม่อยใหม่ขึ้น โดยเจาะกำแพงชั้นในให้ถนนราชวิถีจากในเวียงตัดตรงสู่ถนนช้างม่อยใหม่แล้วไปออกแม่น้ำปิง ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกประตูชั้นในที่เจาะใหม่ว่า ประตูช้างม่อย เพื่อแทนที่ประตูเดิมซึ่งถูกรื้อทิ้งไปในปี พ.ศ.๒๕๑๑

“ประตูท่าแพ” อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อยๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว

“ประตูหล่ายแคง” หรือประตูระแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง

“ประตูขัวก่อม” อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ.๒๑๕๘

“ประตูไหยา” หรือ หายยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า “พ.ศ.๒๒๗๐ เมื่อเทพสิงห์ยึดเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้บุกเข้ามาทางประตูไหยา แต่ด้วยที่ตั้งของประตูไหยาอยู่ในทิศเดียวกับประตูแสนปุง เป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง จึงใช้เป็นทางเคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่สุสานหายยามาตั้งแต่โบราณ

สำหรับสาเหตุที่ต้องสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกชึ้นเพื่อป้องกันกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา ที่มักจะยกทัพมาคุกคามเมืองเชียงใหม่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ปลายรัชสมัยของราชวงศ์มังรายมาแล้ว ปัจจุบันแนวกำแพงและประตูเมืองทั้งด้านในและด้านนอกยังปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่ในบางช่วง ส่วนบริเวณแนวกำแพงเมืองด้านนอกนั้นถูกบุกรุกจากชาวบ้านเข้าไปสร้างบ้านเรือน จนทำให้แนวกำแพงดินพังทลายลง
เอกสารประกอบ
...ที่มา เพจเจ้าคุณเมืองเชียงใหม่



เจ้าเทพไกรสร

ในวันงานแห่ครัวทาน คัวตาน เจ้าหลวงกาวิโลรสสุริยวงษ์ ผู้บิดา ได้รับสั่ง เจ้าเทพไกรสร ว่า "เจ้าเห็นชายคนไหนดีพอจะเป็นคู่กับเจ้า ก็จงเลือกเอาตามแต่จะเห็นว่าเหมาะควร" และเมื่อเจ้าเทพไกรสรทอดพระเนตร เจ้าราชวงค์อินทนนท์ก็ทรงชื่นชม ในท่าฟ้อนนำแห่ครัวทานกับแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงาม จึงทูลตอบพระบิดา ว่า "ลูกดูแล้ว เห็นแต่เจ้าอินทนนท์คนเดียวเท่านั้นเจ้า ที่น่าจะเป็นผู้ใหญ่ ครอบครองบ้านเมืองต่อไปได้"

เมื่อเจ้ากาวิโลรส สดับความเช่นนั้นจึงส่งท้าวพญาผู้ใหญ่ไปติดต่อ แต่ขณะนั้นเจ้าอินทนนท์เองก็มีหม่อมและพระบุตรอยู่หลายคน จึงได้ปฏิเสธไป แต่พระเจ้ากาวิโลรสมีรับสั่งให้ท้าวพญา นิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ไปเจรจาบิณฑบาตให้เจ้าอินทนนท์ยอมตกลงปลงใจ คราวนี้เจ้าอินทนนท์ปฏิเสธไม่ได้ จึงยอมรับแต่โดยดี

เจ้าเทพไกรสรเองก็จัดขันคำส่งให้ข้าหลวงอัญเชิญมาขอสามีจากหม่อมบัวเขียว เชิงบังคับให้ตัดขาดจากความเป็นสามีภรรยากับเจ้าอินทนนท์นับแต่นี้เป็นต้นไป

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ประทานคุ้มท่าที่บ้านเจดีย์กิ่วเป็นเรือนหอของทั้งสอง เมื่อสิ้นเจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์ เจ้าอินทนนท์ ถูกเลื่อนฐานะเป็นพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เสด็จขึ้นครองนครเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ (จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๐ ด้วยโรคชรา สิริพระชันษา ๘๐ ปี รวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ๒๔ ปี)

เจ้าเทพไกรสร เป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ในด้านราชการ เป็นที่ทราบกันว่า "สรรพราชการงานเมืองอยู่กับเจ้าเทพไกรสรนี้ผู้เดียวเด็ดขาดตลอด เหมือนเปนพระเจ้าเชียงใหม่" และมีพระอำนาจเหนือพระสวามี มีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึง พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณา แต่อ่อนแอ" และ "...เจ้าหลวง ถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..." ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว" บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และ พ.ศ.๒๔๒๗ ตามลำดับ

ดร.แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียว
ของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวง และท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลมและตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้พระสวามีของท่านคือ เจ้าหลวงองค์ใหม่หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก…

ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้น เรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวม และด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่าน ทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง" และ "...อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่างๆ จงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน [พระเจ้ากาวิโลรส] ยังทรงครองราชย์อยู่ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจและยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่างๆ ของรัฐด้วย

โดยกำเนิดแล้ว พระนางมียศสูงกว่าพระสวามี ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์] " เมื่อรัฐบาลสยามส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรขึ้นเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๒๖ เพื่อวางแผนจัดราชการและระเบียบการปกครองนครเชียงใหม่ร่วมกับเจ้าเทพไกรสร แต่เจ้าเทพไกรสรกลับล้มป่วย และถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน

เจ้าเทพไกรสร เป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม ทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้ตามจับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนี  พระยาปราบหนีไปเชียงตุง และอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย "ณ ลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง และยังเคยติดตามพระเจ้าอินทวิชยานนท์เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง

ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือ เจ้าจันทรโสภา และเจ้าดารารัศมี ที่ต่อมาได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าเทพไกรสรถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ ขณะที่เจ้าดารารัศมี พระธิดา มีชันษาเพียง ๑๑ ปี

เจ้าดารารัศมีจึงตกอยู่ในพระอุปการะของเจ้าอุบลวรรณา และสองปีหลังจากนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่บางกอก
...ตัดตอนจาก วิกิพีเดีย เจ้าเทพไกรสร โดยเพจสืบสานตำนานล้านนา



วัดพระสิงห์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 เมษายน 2565 10:37:07 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาพเก่า ๆ ของพระผู้ปฏิบัติดี - ปฏิบัติชอบ
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
sometime 11 9506 กระทู้ล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2553 02:09:03
โดย หมีงงในพงหญ้า
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.923 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้