[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 11 ตุลาคม 2565 16:20:13



หัวข้อ: ทวาราวดี อาณาจักรที่สาบสูญ! ความรุ่งเรืองที่มาพร้อมพระพุทธศาสนา วันนี้ยังมีชีวิต
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 11 ตุลาคม 2565 16:20:13
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36430689237183_1_Copy_.jpg)
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63161650217241_2_Copy_.jpg)
นักดนตรีสาวของทวารวดี พบที่คูบัว

ทวาราวดี อาณาจักรที่สาบสูญ! ความรุ่งเรืองที่มาพร้อมพระพุทธศาสนา วันนี้ยังมีชีวิตให้ท่องเที่ยวชม!!


โดย: โรม บุนนาค
เผยแพร่ : ผู้จัดการออนไลน์ 10 ต.ค.2565


แผ่นดินประเทศไทยในวันนี้ ก่อนที่จะมีกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้มีแค่กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ทวารวดีก็เป็นอาณาจักรหนึ่งที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่ราว ๑,๕๐๐ ปีก่อน เป็นอาณาจักรแรกของย่านนี้ก็ว่าได้ และเป็นแหล่งแรกที่รับพระพุทธศาสนาจนยั่งยืนมาถึงวันนี้

การพบว่ามีอาณาจักรทวารวดีนั้น เกิดขึ้นเมื่อพบเหรียญเงิน ๒ เหรียญที่จังหวัดนครปฐม มีอักษรจารึกเป็นภาษาสันสกฤตไว้ว่า “ศรีทวาราวดีศวรปุณยะ” แปลความไว้ว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี” จึงมีการค้นคว้ากันต่อ และจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณที่มีอารยธรรมเดียวกันถึง ๓๖ เมืองจึงมีการสำรวจขุดค้น นอกจากจะพบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในยุคทวารวดีแล้ว ยังพบเทคโนโลยีการจัดระบบชลประทาน มีการขุดคลองบังคับน้ำ ทำนบ สระกักเก็บน้ำ ตลอดจนคันดินที่สันนิษฐานว่าเป็นถนน มีอยู่ในรูปแบบเดียวกันกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย

ภาคเหนือพบที่อำเภอสวรรคโลก อำเภอทุ่งเสลี่ยง จังหวัดสุโขทัย อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และในจังหวัดลำพูนกับเชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบทุกจังหวัด แต่ละจังหวัดพบมากกว่า ๑ แห่ง บางจังหวัดพบถึง ๗ แห่ง และยังขุดค้นพบอยู่เรื่อยๆ

ภาคตะวันออก พบที่ดงละคร จังหวัดนครนายก และที่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี

ภาคใต้ พบที่จังหวัดปัตตานี

ภาคกลาง กระจายอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ทั้งแม่น้ำเพชรบุรี แม่กลอง ท่าจีน ลพบุรี ป่าสัก และเจ้าพระยา

หลวงจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางตามรอยพุทธธรรมไปอินเดียหลังพระถังซำจั๋งไม่นาน และแวะพักที่อาณาจักรศรีวิชัยถึง ๖ เดือน ได้บันทึกไว้ว่า มีอาณาจักรใหญ่อาณาจักรหนึ่ง อยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร (พม่า) กับอิสานปุระ (เขมร) มีชื่อว่า โดโลปอตี้ (ทวารวดี) เป็นอาณาจักรที่พบโบราณสถานและพระพุทธรูปที่สร้างตามแบบฝีมือช่างในสมัยราชวงศ์คุปตะของอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งราชวงศ์คุปตะอยู่ใน พ.ศ.๘๖๐-๑๑๕

นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่า ทวาราวดีไม่น่าจะเป็นชื่อเมือง เพราะครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางมาก น่าจะเป็นชื่ออารยธรรมที่รับมาจากอินเดีย และมีหลายเมืองซึ่งต่างก็มีกษัตริย์ปกครองของตน รับอารยธรรมนี้ต่อๆกันไป โดยคำว่าทวารวดี ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก และถือว่าเป็นนามมงคล เพราะเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ เทพเจ้าองค์หนึ่งในความเชื่อของชาวอินเดีย

เมืองโบราณสมัยทวาราวดีมีลักษณะคล้ายๆกัน คือตั้งอยู่บนที่ดอนใกล้ทางน้ำ มีคูคันดินล้อมรอบหนึ่งหรือสองชั้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม และมีเทวสถานหรือศาสนสถานตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเมือง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองเมือง เช่นที่นครปฐมมีพระประโทน เมืองคูบัวราชบุรีมีอยู่ที่บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรีในปัจจุบัน หรือเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีโบราณสถานที่เขาคลัง

แต่แล้วทวาราวดีมีอายุอยู่ราว ๔๐๐ ปีก็หายไป การกลายเป็นอาณาจักรที่สาบสูญไปของทวารวดีสันนิษฐานกันว่า เป็นเพราะในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งกัมพูชา ได้แพร่อิทธิพลเข้ามาทำลายเมืองลวปุระ หรือลพบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทวาราวดีจนย่อยยับ และแพร่วัฒนธรรมของกัมพูชาซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมที่แตกต่างกัน จนวัฒนธรรมแบบทวารวดีอ่อนลง ในราว พ.ศ.๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทร มหาราชแห่งพุกาม ก็แผ่อำนาจเข้ามถึงล้านนา ล้านช้าง ละโว้ และทวาราวดี ทำให้ทวาราวดีอ่อนแอลงไปอีก ซึ่งอาจเกิดจากการกวาดต้อนผู้คนไปจำนวนมาก ต่อมาก็ตกอยู่ในความครอบครองของกษัตริย์กัมพูชา จนถึง พ.ศ.๑๗๓๒ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้เรืองอำนาจที่สุดสวรรคต บรรดาเมืองประเทศราชที่อยู่ในอิทธิพลของขอมต่างพากันตั้งตัวเป็นอิสระ พ่อขุนบางกลางหาวกับพ่อขุนผาเมืองซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้เข้ายึดอำนาจเมืองสุโขทัยจากขอม สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรทวาราวดีได้สาบสูญไปประมาณ ๑,๕๐๐ ปีแล้ว แต่วันนี้คนไทยได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งได้พระราชทานในวันเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ไว้ว่า

“โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น เป็นของมีค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล”

จึงมีการสะสมจัดสถานที่เก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุไว้จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งบางแห่งยังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อธิบายโบราณวัตถุและวิถีชีวิตของคนโบราณอันเป็นต้นกำเนิดของคนในวันนี้ ให้ดูเหมือนมีชีวิตกลับมาเล่าให้คนรุ่นใหม่ได้ฟัง อย่างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี จัดแสดงตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงยุคทวาราวดี เริ่มตั้งแต่เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน จัดแสดงสังคมเกษตรกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนราว ๒,๐๐๐ ปีก่อนจึงเจริญขึ้นเป็นเมืองท่าศูนย์กลางของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะยังอยู่ติดทะเล มีการค้าขายกับจีนและอินเดีย มีหลักฐานจัดแสดงคือลูกปัดต่างๆที่มาจากต่างประเทศ รวมทั้งลูกปัดทองคำทำที่อู่ทอง ทั้งยังมีเหรียณกษาปณ์โรมันที่ใช้ในการค้าขายยุคนั้น และพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย กงจักรศิลา สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด รวมทั้งพระพุทธรูปศิลาที่ยังสลักไม่เสร็จ แสดงให้เห็นว่าคนทวารวดีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาถึงกับสลักพระพระพุทธรูปขึ้นเองด้วยศิลา ไม่ได้มาจากต่างประเทศ

จังหวัดกาญจนบุรีก็มีร่องรอยของทวารวดีอยู่หลายแห่ง แต่เป็นของยุคที่ขอมเข้ามาครอบครอง จึงปรากฏเป็นปราสาทหิน อย่างที่ปราสาทเมืองสิงห์ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นสถานที่หนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวไปชมกันมาก ส่วนที่โบราณสถานพงตึก อำเภอท่ามะกา เป็นซากปราสาทหินที่สลักหักพัง ขุดพบตะเกียงโรมันสำริดที่นี่ มีความเชื่อมโยงไปถึงอาณาจักรโรมัน

สันนิษฐานว่าเป็นจุดพักของนักเดินทางจากฝั่งอันดามันไปลงเรือที่ปากแม่น้ำแม่กลอง

ส่วนเมืองคูบัว ราชบุรี ก็เป็นแหล่งอารยธรรมทวารวดีในภาคกลางอีกแห่ง คูบัวเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองราชบุรี อยู่ใต้ตัวเมืองลงไปตามถนนเพชรเกษมประมาณ ๑๒ กม. ในสมัยทวารวดียังอยู่ติดทะเล เป็นเมืองท่าสำคัญอีกแห่งของย่านนี้ และเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ขุดพบโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตประจำวันของคนยุคนั้นมาก เช่น ประติมากรรมประดับศาสนสถาน พระพุทธรูปทั้งดินเผาและปูนปั้น พระพิมพ์ที่ทำจากดินเผาและหินชนวน ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา ประติมากรรมรูปบุคคลที่ทำจากดินเผาและปูนปั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ชายในยุคนั้นไว้เครา มีผ้าโผกศีรษะแหลม สวมรองเท้าบู๊ท สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนอาหรับที่เข้ามาค้าขายมากกว่าจะเป็นคนท้องถิ่น โบราณวัตถุที่ค้นพบส่วนใหญ่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรีที่คูบัว

เมื่อขอมเข้ามามีอำนาจในย่านนี้ได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่ราชบุรีในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา ชาวไทยวนจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายได้อพยพมาอยู่คูบัว ชาวไทเหล่านี้มีฝีมือในเรื่องทอผ้าซึ่งทอใช้กันเอง ชาวราชบุรีเห็นผ้าตีนจกที่ชาวไทยวนใส่ก็ทึ่งในความงาม ปัจจุบันผ้าตีนจกจึงเป็นจุดเด่นของคูบัว มีการสอนให้ผลิตกันอย่างจริงจัง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีชื่อว่า “จิปาถะภัณฑสถานบ้านคูบัว” อยู่ในวัดโขลงสุวรรณคีรี รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและผ้าซิ่นตีนจกโบราณ เปิดให้ชมทุกวัน

ร่องรอยอารยธรรมทวารวดียังปรากฏอยู่ที่ราชบุรี นอกจากวัดมหาธาตุในตัวเมือง ซึ่งดัดแปลงจากเทวสถานของขอมที่สร้างในสมัยทวาราวดีมาเป็นวัดพุทธ โดยรักษาพระปรางค์ของขอมที่สวยงามไว้ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุจากคูบัวมาเก็บรักษาไว้แล้ว อารยธรรมทวาราวดีที่ปรากฏอยู่ที่ราชบุรี ก็คือ ถ้ำฤาษีเขางู ซึ่งมีพระพุทธรูปสมัยทวารวดีจำหลักอยู่ในผนังถ้ำ เป็นปางปฐมเทศนาที่แปลกตา คือประทับห้อยพระบาท มีอักษรจารึกระหว่างพระบาทไว้ว่า “ปุญกรมชุระ ศรีสมาธิคุปต” แปลว่า “พระศรีสมาธิคุปตะผู้มีบุญอันประเสริฐ” ซึ่งเป็นปางที่นิยมสร้างในสมัยทวารวดี และมีปรากฏอยู่หลายแห่ง

นอกจากนี้ยังมีถ้ำจีน ถ้ำจาม ถ้ำฝาโถ ซึ่งมีร่องรอยของอารยธรรมทวารวดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปและภาพสลักบนผนังถ้ำใกล้เคียงกับภาพสลักผนังถ้ำอชันตาในอินเดีย

ส่วนที่นครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี นอกจากเจดีย์จุลประโทน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี มีรูปปูนปั้นยุคทวารวดีเป็นรูปเรือสำเภาและคนอินเดีย แสดงว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ซึ่งภาพนี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

สิ่งที่โดดเด่นของเมืองนี้ก็คือพระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบพระเจดีย์นี้ถูกทิ้งรกร้างอยู่ในป่าขณะที่พระองค์จาริกธุดงค์ ทรงเชื่อว่าเป็นเจดีย์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี เมื่อขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะสร้างเจดีย์ใหม่ให้ใหญ่ขึ้นอีก ครอบเจดีย์เก่าไว้ พระราชทานนามว่า “พระปฐมเจดีย์” เป็นที่ดึงดูดศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไปนมัสการบูชา จนทำให้ป่ารกตรงนั้นกลายเป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

มีคำถามว่า ทำไมเราไม่นับทวารวดีเป็นอาณาจักรแรกของประเทศไทย ไปนับเริ่มต้นที่สุโขทัย ทั้งนี้ก็เพราะแผ่นดินและคนนั้นมีความหมายกับการเป็นประเทศต่างกัน แผ่นดินนี้อาจจะมีคนอยู่มาก่อนทวารวดีก็เป็นได้ มาพบเป็นบ้านเป็นเมืองในยุคทวารวดี แต่คนทวาวารวดีเป็นคนมอญ ใช้ภาษามอญ ส่วนคนสุโขทัยเป็นคนเผ่าไทย พูดภาษาไทย และเกิดอักษรไทยขึ้นที่นั่น จึงถือว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกที่คนไทยลงหลักปักฐาน