[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤศจิกายน 2567 02:26:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "เขื่อนอู่ทอง" เขื่อนโบราณสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย  (อ่าน 1658 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 ธันวาคม 2559 19:27:08 »


.  เขื่อนอู่ทอง  .

• เขื่อนโบราณสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

เขื่อนอู่ทองหรือเขื่อนโบราณที่เขาโกปิดทอง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร มีความยาว ๑,๖๖๐ เมตร กว้างประมาณ ๓๕ เมตร (สันเขื่อนกว้างประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร) สูงประมาณ ๔-๕ เมตร ตัวเขื่อนวางตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่างเขา ๒ ลูก คือ เขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว (เขาตาเก้า) ในช่วงบ้านปากเขว้าหรือเขาปากเขว้า (ปัจจุบันอยู่ริมถนนสายอู่ทอง-ตลุงเหนือ) โดยกั้นขวางแอ่งที่ราบในหุบเขาระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว (เขาตาเก้า) มีลักษณะเป็นแอกวัว (Oxbow) โดยที่ราบลุ่มทางตะวันตกของเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า น่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำใต้เขื่อน กำหนดอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ (สมัยทวารดีในระยะนี้มีที่เมืองอู่ทอง เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการค้า)

เขื่อนดินแห่งนี้ นับเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่มีปริมาณน้ำมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเขื่อนที่มีกำลังน้ำไหลรุนแรงมาก เนื่องจากการตรวจสอบเส้นทางไหลของน้ำโดยการเดินสำรวจของคณะผู้ศึกษาพบว่า ท่อระบายน้ำขนาดต่างๆ และประตูน้ำหลายแห่งซึ่งการชลประทานในสมัยปัจจุบันไปสร้างเสริมไว้ตามเส้นทางน้ำไหลของเขื่อนนี้ เมื่อถึงฤดูฝน ความรุนแรงของกระแสน้ำจะทำลายสิ่งกีดขวาง เช่น ท่อระบายน้ำเสียหายอย่างหนัก มีความเป็นไปได้ว่า ปริมาณน้ำจำนวนมากและมีกำลังไหลรุนแรงของเขื่อนกั้นน้ำโบราณที่เมืองอู่ทองนี้มีการนำไปใช้ในการทำนา ทางที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอู่ทอง ซึ่งการสร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำและกักกระแสน้ำเอาไว้ พื้นที่ภูเขาในบริเวณนั้นๆ จะมีสภาพเป็นหลังคาขนาดใหญ่สำหรับรับน้ำฝน เมื่อสายน้ำรวมตัวกันมากเข้าก็จะกัดเซาะพื้นดินทำให้เกิดทางน้ำธรรมชาติขึ้น ทางน้ำธรรมชาติที่ไหลจากเขื่อนเมืองอู่ทอง เป็นธารน้ำยาวคดเคี้ยวกว่า ๕-๖ กิโลเมตร



แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง
(แผนที่สำเนาจากแแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๘ ระวาง ๔๙๓๗ l)

สภาพปัจจุบัน เขื่อนแห่งนี้ปัจจุบันยังใช้ประโยชน์ได้ โดยมีลำคลองชลประทานที่ขุดลอกเพิ่มเติมตามแนวคลองโบราณไปยังทิศตะวันออกของเมืองโบราณอู่ทองซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร สันเขื่อนมีการใช้เป็นถนนทางเข้าบ้านเขาตาแก้ว ตลอดแนวเขื่อนดินโบราณมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ประปราย สภาพเขื่อนดินยังค่อนข้างสมบูรณ์ ทางปลายเขื่อนด้านทิศใต้ซึ่งต่อจากเชิงเขาโกปิดทองมีการไถปรับทำถนนทำให้แนวสันเขื่อนต่ำกว่าจุดอื่นๆ ปลายเขื่อนทางด้านทิศเหนือติดกับเชิงเขาตาแก้วมีแนวฝายน้ำล้นไหลลงสู่คลองชลประทานเพื่อการเกษตร ที่ราบลุ่มทางตะวันตกของเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าน่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ส่วนทางตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำใต้เขื่อน ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝั่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่หลายชนิด ส่วนบริเวณเขาตาแก้วถูกทำลายไปมากจากการทำเหมืองแร่อุตสาหกรรม

เขื่อนอู่ทอง เป็นเขื่อนโบราณ สำรวจพบเป็นลำดับที่ ๖ มีรายละเอียดว่า เป็นเขื่อนสมัยทวารวดี อยู่ที่ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สำรวจพบเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕ โดยว่าที่ร้อยตรีพิทยา ดำเด่นงาม  ต่อมามีการสำรวจโดยสังเขปในพุทธศักราช ๒๕๔๐ และได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดและวิเคราะห์ว่าเป็นเขื่อนกั้นน้ำโบราณ พร้อมทั้งจัดทำแผนผังรายละเอียดในพุทธศักราช ๒๕๔๑ โดยว่าที่ร้อยตรี พิทยา ดำเด่นงาม นักโบราณคดีและช่างสำรวจจากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ สุโขทัย ต่อมาคันดินโบราณหรือเขื่อนโบราณ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๙ ง ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๖๕ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่เชิงเขาโกปิดทองด้านทิศเหนือ ตลอดแนวคันดินเรื่อยไปจนถึงเจดีย์บนยอดเขาตาแก้ว


ภูเขา องค์ประกอบสำคัญของเขื่อน
ผลการสำรวจและศึกษาเขื่อนกั้นน้ำโบราณของพิทยา ดำเด่นงาม ในเรื่องการเลือกภูมิประเทศที่จะก่อสร้างเขื่อนได้นั้นจะต้องเป็นเมืองหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่แล้ว แต่บางครั้งเมืองก็อยู่ห่างจากเขื่อนหลายๆ กิโลเมตร โดยมีทางน้ำธรรมชาติไหลลงมาเสมือนท่อ ดังเช่นเขื่อนเมืองอู่ทองนี้ ดังที่กล่าวแล้วว่า ภูเขานั้นย่อมเป็นแหล่งกำเนิดน้ำตามธรรมชาติ โดยปกติน้ำฝนที่ตกลงมาบนภูเขาโดยเฉพาะภูเขาที่มีพื้นที่ลาดเทและมีลักษณะสันเขาเป็นรูปแอกวัว (Oxbow) ภูเขาลักษณะนี้จะรองรับน้ำได้มาก ดังเช่น เขื่อนโบราณเมืองอู่ทองนี้ ที่เลือกพื้นที่ระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว ภูเขาทั้งสองเทือกนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง

ภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำของเมืองโบราณอู่ทอง
พื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ถือได้ว่ามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวเมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำน้ำจระเข้สามพันซึ่งไหลมาจากทางทิศใต้ ก่อนไหลออกไปทางตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำที่สำคัญยังตั้งอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกราว ๑ กิโลเมตร เป็นแนวทิวเขายาวจากทิศเหนือจรดใต้ ประกอบด้วยเขาทุ่งดินดำ เขาพุทอง เขาตาเก้า เขาดอกฝ้าย เขาตะแบง เขาโกปิดทอง เขาพระ เขารางกะปิด และเขาคอก แนวทิวเขานี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสายที่ไหลมาสู่คูเมือง เช่น ลำห้วยรวก ลำห้วยหางนาค ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองไหลเข้ามาสู่คูเมือง และไหลตามคูเมืองไหลลงไปทางทางด้านทิศตะวันออกของเมืองที่มีแม่น้ำจระเข้สามพันซึ่งเคยเป็นแม่น้ำสายหลักของเมือง ไหลผ่านขนานคูเมืองไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางในการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ไกลออกไปได้อีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากแผนผังเมืองโบราณอู่ทองจะเห็นได้ว่าเมืองโบราณอู่ทองมีระบบสาธารณูปโภคและการจัดการน้ำที่มีระบบนอกจากคูเมืองแล้วจะเห็นได้จากคันดินที่เป็นแนวยาว ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ถนนท้าวอู่ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคันดินกั้นน้ำหรือใช้บังคับน้ำให้ไหลออกสู่ลำน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือกั้นน้ำให้ไหลเข้าสู่เมืองเมื่อยามหน้าแล้ง โดยเฉพาะแนวคันดินที่เรียกว่า คอกช้างดิน ที่ตั้งอยู่นอกเมืองอู่ทองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างออกมาประมาณ ๓ กิโลเมตร กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยดิน กระจายตัวอยู่บริเวณเชิงเขาคอก สำรวจพบจำนวน ๔ แห่ง (คือ คอกช้างดิน หมายเลข ๑-๔) มีลักษณะคล้ายอ่างเก็บน้ำหรือบ่อน้ำ มีคันดินล้อมรอบรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ตั้งกระจายอยู่ใกล้กับลำห้วยและน้ำตกพุม่วง ตั้งแต่บนเชิงเขาคอกในระดับความสูงประมาณ ๘๕ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นระยะๆ ลงมาถึงบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ราบด้านทิศใต้ที่ระดับความสูงประมาณ ๒๕ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จากการศึกษาคอกช้างดินแต่ละแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างระดับกัน และตั้งอยู่ใกล้กับทางน้ำที่ไหลลงมาจากเขาคอกทางทิศเหนือ ในลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ บางแห่งคงเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ด้วย



ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
แสดงให้เห็นสภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกที่เป็นภูเขาต้นกำเนิดของลำน้ำ
และตำแหน่งระบบการจัดการน้ำของเมืองโบราณอู่ทอง
(สำเนาจากภาพถ่ายทางอากาศ google earth)


เขาโกปิดทอง องค์ประกอบสำคัญของเมืองโบราณอู่ทอง
เป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่สำคัญให้กับเขื่อน

จากข้อมูลข้างต้นถือได้ว่า เขื่อนอู่ทอง (เขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง) เป็นหนึ่งในระบบการจัดการน้ำของเมืองอู่ทอง นอกจากคอกช้างดินและแนวคันดินที่เรียกกันว่าถนนท้าวอู่ทอง โดยเขื่อนโบราณอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโบราณอู่ทอง ส่วนคอกช้างดินและถนนท้าวอู่ทองอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ซึ่งระบบการจัดการน้ำทั้งสองระบบนี้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ของแนวเขาทางทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง เหตุที่มีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่เมืองอู่ทองนั้น สันนิษฐานว่า เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำจระเข้สามพัน โดยมีการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า แม่น้ำจระเข้สามพันแต่เดิมไหลผ่านมาทางเส้นทางที่ผ่านเมืองอู่ทอง แต่ต่อมาเส้นทางน้ำได้เปลี่ยนทางเดินลงมาทางใต้ตามแนวคลองหางตลาด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าการคิดระบบการจัดการน้ำขึ้น เป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับที่แม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดิน หากพิจารณาพื้นที่ตั้งของเมืองอู่ทองที่อยู่ใกล้แนวเขา และเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา จึงเป็นพื้นที่รับน้ำจากแนวเขาทางด้านทิศตะวันตกของเมือง ในฤดูฝนย่อมได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว การสร้างระบบการจัดการน้ำแบบคอกช้างดินและเขื่อนอู่ทองนี้จะเป็นการชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่เมืองในฤดูน้ำหลาก ในทางกลับกันในฤดูแล้งก็จะเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ยามขาดแคลนน้ำได้ จากขนาดและพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอู่ทอง จัดเป็นการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ของคนอู่ทองในอดีต และเขื่อนอู่ทองนี้ยังถือเป็นเขื่อนโบราณที่มีความยาวที่สุดในบรรดาเขื่อนโบราณที่ค้นพบในประเทศไทย เมื่อแรกสำรวจพบนั้นสภาพเขื่อนดินยังคงมีความสูงและความกว้างค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงสภาพให้เห็นเป็นแนวเขื่อนชัดเจน เขื่อนดินโบราณแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนเมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว ที่มีการคัดเลือกพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นปริมาณมาก ที่บริเวณพื้นที่ระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว เขาทั้งสองเทือกนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างเขื่อนโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันเขาตาแก้วนั้นถูกระเบิดจากการให้ประทานบัตรไปจนเหลือเฉพาะหัวเขา เหลือเพียงเขาโกปิดทองที่มีการยื่นขอประทานบัตรแล้ว หากมีการอนุญาต สภาพโดยรอบเขื่อนดินโบราณแห่งนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง  ดังนั้น การอนุรักษ์เขาโกปิดทองไว้ จะเป็นการสร้างสภาพภูมิประเทศที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการเลือกภูมิประเทศบริเวณก่อสร้างเขื่อนโบราณในสมัยทวารวดี เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว

ที่มา (ภาพ-ข้อมูล) : เขื่อนอู่ทอง : เขื่อนสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดในบรรดาเขื่อนโบราณที่พบในประเทศไทย
                        โดย พยุง วงษ์น้อย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี
                        นิตยสารศิลปากร กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.464 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 16 ตุลาคม 2567 10:30:42