[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 มิถุนายน 2553 20:38:06



หัวข้อ: ฝึกปฏิบัติเพื่อความรัก: Practice for Love
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 มิถุนายน 2553 20:38:06
(http://www.bbznet.com/images/upload3/greenbull/iMsL20070615003846.jpg)

 
หากว่าเธอรักใครสักคน และความรักนั้นเป็นรักที่แท้.....
 
นี่เป็นประโยคที่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวขึ้นต้นในงานปาฐกถาธรรมเมื่อ ปี 2550 ...รักที่แท้....เมื่อเขาทุกข์ เธอก็ทุกข์ด้วย เมื่อเขาสุข เธอก็สุข เธอและเขามิได้แสวงหาความสุขเฉพาะตนส่วนบุคคล แต่เป็นความสุขของกันและกัน
 
สำหรับฉันแล้วคำสอนแบบนี้ช่างเป็นคำสอนที่เรียบง่าย งดงาม ของความรักที่ไร้ตัวตน ไร้การครอบครอง ง่ายต่อความเข้าใจ แต่การจะนำไปใช้ฝึกปฏิบัติให้เกิดมรรคผลนั้น ใช่จะง่ายดายเช่นในความคิด ความรักอาจกำเนิดจากความรู้สึก แต่รักที่แท้นั้นจะเกิดได้ต่อเมื่อมีการฝึกปฏิบัติเท่านั้น เพราะในความรักของปุถุชนยามเมื่อรักใครสักคน ก็เป็นธรรมชาติที่อยากจะได้รักตอบ ครั้นเมื่อได้รักตอบก็อยากครอบครองเขาไว้ เกิดเป็นความยึดมั่น กลายเป็นความผูกมัด เป็นโซ่ตรวน เป็นพันธนาการ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่หนทางของ รักแท้
 
คำสอนของหมู่บ้านพลัมที่หลายคนค่อนข้างจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ คาถา 4 บท คาถาเพื่อการถนอมรักษาความรัก
 
1. ฉันอยู่ที่นี่ เพื่อเธอ
2. ฉันรู้ว่าเธออยู่ตรงนั้น และฉันมีความสุข
3. ฉันกำลังพยายามทำอย่างดีที่สุด
4. ฉันเป็นทุกข์ โปรดช่วยฉันด้วย
ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า ในความรักย่อมมีพันธะสัญญา ความงดงามก็คือมิให้พันธะสัญญานั้นกลายเป็นโซ่ตรวนที่มัดไว้ให้กลายเป็นพันธนาการ
 
คาถา 4 บทข้างต้นคือแนวทางในการฝึกปฏิบัติเพื่อความรักที่ไร้ตัวตน เป็นคำสอนที่ดูเรียบง่ายอย่างมาก แต่ความยากลำบากก็คือ เราคิดว่า "เราเข้าใจแล้ว" เราต้องตระหนักรู้ว่า รักที่แท้ ไม่ใช่ความเข้าใจอันเกิดจากสมอง ความรักไม่ได้ใช้สมอง แต่รักที่แท้เกิดจาการฝึกปฏิบัติอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ...เราไม่อาจลุไปถึงรักแท้ได้ด้วยการคิดจากสมองของเรา
 
จากประสบการณ์ของฉัน เบื้องต้นฉันคิดว่า คาถานี้เป็นเพียงคำสวยงามที่ตั้งขึ้นเพื่อท่องและเข้าใจ ต่อมา ฉัน คิดว่าเพียงคาถา 2 ข้อแรกก็เพียงพอแล้วต่อสิ่งนั้น
 
* คาถาข้อแรกก็คือ การฝึกตัวของเราให้อยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่กับลมหายใจ มีความรับผิดชอบต่อกายใจของเราอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อเป็นพลังให้กับผู้เป็นที่รักของเรา เพื่อมิให้เป็นภาระของเขา และเพื่อเกื้อกูลกันและกัน เป็นคำมั่นว่าเราจะดูแลกันและกันเป็นอย่างดีเสมอ
 
* คาถาข้อที่ 2 คือฝึกความเชื่อมั่นว่า เขา/เธอ ก็อยู่ตรงนั้น และกำลังดูแลตนเป็นอย่างดีเช่นกัน "...เพียงการรำลึกถึงการดำรงอยู่ของผู้เป็นที่รักก็เป็นพลังอย่างมากในการฝึกปฏิบัติของเรา..."
 
ฉันเคยคิดว่า คาถาข้อที่ 3 และ 4 นั้นไม่มีความจำเป็นเลย หากเราฝึกในข้อ 1 และ 2 ได้แล้วเป็นอย่างดี แต่แท้ที่จริงนั้น การฝึกปฏิบัติเพื่อให้ความรักมั่นคง คาถาข้อแที่ 3 และ 4 กลับทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะคาถาข้อที่ 3 และ 4 เป็นคาถาที่มีไว้เพื่อลดทอนความทุกข์ หากรักแท้คือคำมั่นคือพันธะสัญญา เราต้องหัดให้มีการสื่อสารเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ของอีกฝ่าย ในชีวิตประจำวันเราต่างก็มีปัญหามีข้อคับข้องใจมากมาย ง่ายต่อการกระทบกระทั่ง การสื่อสารจึงเป็นสิ่งจำเป็น
 
* คาถาข้อที่ 3 ก็คือการฝึกที่จะยอมรับว่าเราเองก็มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ เราอาจจะไม่พร้อมที่เล่าเรื่องราวทั้งหมด ยังไม่กล้าที่จะบอกเล่าได้ การพูดว่า "ฉันกำลังพยายามทำอย่างดีที่สุด" ก็อาจจะเพียงพอแล้วต่อการบอกกล่าว คนที่เรารักก็จะรับรู้ได้ และเป็นกำลังใจต่อกัน
 
* คาถาข้อที่ 4 คือความกล้าหาญที่จะขอความช่วยเหลือจากคนที่เรารัก เป็นเรื่องน่าแปลกที่เรามักจะอึดอัด ขัดเขิน ไม่กล้าบอกเล่าความทุกข์ต่อคนที่เรารัก และคาถาข้อนี้จะฝึกปฏิบัติยากขึ้นไปอีกหาก คนที่เรารัก กับ คนที่ทำให้เราทุกข์ คือคนคนเดียวกัน เราอาจจะคิดว่าไม่อยากให้คนที่เรารักต้องรับฟังเรื่องที่ไม่สบายใจ เรากลัวว่าหากเล่าออกไป เขาจะกังวล แต่ความเป็นจริงก็คือเมื่อเรามีทุกข์ คนรอบข้างจะรับรู้ได้เสมอถึงความทุกข์ของเรา เราปิดบังความทุกข์ไม่ได้ การยอมรับและขอความช่วยเหลือจึงเป็นความกล้าหาญและเป็นการถนอมความรักเช่นกัน คนรักจะภาคภูมิใจหากเขาได้ร่วมรับรู้ความทุกข์นั้น และในกรณีที่เขาเป็นสาเหตุ การใช้คาถาข้อนี้ก็คือวิธี คือประตู เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
 
 
รักแท้ต้องการการสื่อสาร ความรักที่ไม่มีการสื่อสารจะจบสิ้นในที่สุด คาถาข้อที่ 3 และ 4 จึงเป็นความกล้าหาญ เป็นการเกื้อกูล ลดความหยิ่งทะนง ลดตัวตนของเรา คาถาทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อความรัก ขอให้ทุกท่านเบิกบานในการฝึกปฏิบัติค่ะ
 
 
 

http://review.semsikkha.org/content/view/584/76/