[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 กันยายน 2555 18:42:25



หัวข้อ: การสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 กันยายน 2555 18:42:25
.
(http://www.dhammajak.net/board/files/paragraphparagraphparagraph__286.jpg)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

การสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์

สมณศักดิ์ คือ ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน  มีราชทินนาม ซึ่งมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศประกอบ   พระสงฆ์ที่จะได้รับพระราชทานสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ได้นั้น  ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และมีศีลาจริยวัตรงดงาม  

ธรรมเนียมการสถาปนาสมณศักดิ์นี้  ไทยได้รับแบบอย่างมาจากลังกาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจวบจนปัจจุบัน     ดังมีหลักฐานปรากฏในหนังสือ จารึกกัลยาณี   ซึ่งหอพระสมุดจัดพิมพ์ทั้งอรรถและคำแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ความว่า

“พระเจ้าหงษาวดี รามาธิบดี (ธรรมเจดีย์ปิฎกธร)  ซึ่งเสวยราชย์ร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสงค์จะฟื้นพระศาสนาในรามัญประเทศ แต่งทูตพาพระเถระมอญ ๒๒ รูป  ไปยังสิงหฬทวีป  ให้ไปบวชแปลงเป็นนิกายลังกาวงศ์  เมื่อบวชแปลงเสร็จแล้ว พระเจ้าภูวเนกพาห  ซึ่งครองกรุงสิหฬ อยู่ ณ เมืองโคลัมโบเป็นราชธานี ทรงตั้งพระเถระมอญเหล่านั้นให้มีราชทินนามต่าง ๆ จะยกพอเป็นตัวอย่างเช่น ตั้งพระโมคคัลลานะเถระเป็นที่พระศิริสังฆโพธิสามิ  และพระราชทาน “ของควรแก่สมณ” หลายอย่าง อย่างหนึ่งในคำแปลว่า “ตาลปัตรมีด้ามอันแล้วด้วยงา  อันนายช่างกลึงผู้ฉลาดกลึงเป็นอันดีแล้วองค์ละอันหนึ่ง”  ตาลปัตรลังกาอย่างที่ว่านี้เป็นของโบราณมีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพ  เป็นพัดพื้นแพรรูปคล้ายพัดรองไทย  ด้ามงากลึงสั้นกว่าแต่ใหญ่เท่าด้ามพัดรองไทย....”


(http://www.sookjaipic.com/images/5034607942__3648_3608_158_3648_3608_3601_.gif)
พัดยศ และพัดรองงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระธรรมดิลก (อิ่น จนฺนสิริ)
เจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้รับพระราชทาน

ในสมัยสุโขทัย พระนัดดาองค์หนึ่งของพ่อขุนผาเมือง ได้เดินทางไปบวชแปลงพร้อมด้วยคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ประเทศศรีลังกา  และได้รับพระราชทานราชทินนามจากกษัตริย์ลังกา เป็น สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฑามณี  ศรีรัตนลังกาทวีป มหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งในราชทินนามจะมีคำว่า มหาเถระ  มหาสามี  มหาสวามี  พระมหาสวามี  สังฆราช    ตัวอย่างหลักฐาน ปรากฏในจารึกหลักที่ ๔๕  ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๑๙๔๒)  มีพระเถระผู้ใหญ่ที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ ๒ คณะ คือ สมเด็จพระมหาเถรสังฆราชรัตนวงศาจารย์  เป็นเจ้าคณะใหญ่ของพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี (คือ คณะสงฆ์ที่อยู่ในตัวเมืองและรอบ ๆ เมืองหลวง)  และพระมหาเถรสุเมธังกร  พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี  ส่วนจารึกหลักที่ ๙  ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พ.ศ. ๑๙๔๒ – ๑๙๖๒)  กล่าวถึงพระเถระผู้ใหญ่  ซึ่งมีราชทินนามว่า พระสังฆราชญาณรุจีมหาเถระ  หัวหน้าคณะฝ่ายคามวาสี และพระบรมครูติโลกดิลก  ติรัตนศีลคันธวนวาสี ธรรมทิตติสังฆราชมหาสวามีเจ้า

หนังสือ ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัยว่า “...เมื่อพระนครสุโขทัยเป็นราชธานี  เห็นจะมีพระสังฆราชกว่าองค์เดียว  ด้วยวิธีปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลราชธานีเป็นเมืองประเทศราชโดยมาก  แม้เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานีที่เป็นเมืองใหญ่ก็ตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ออกไปปกครอง  อย่างทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่เมืองหนึ่งน่าจะมีพระสังฆราชองค์หนึ่งไปเป็นสังฆปริณายกของสังฆบริษัทตลอดเขตเมืองนั้น.....”

ในสมัยสุโขทัย  ตำแหน่งพระสังฆราชจึงเป็นเพียงตำแหน่งปกครองสงฆ์เฉพาะเขตเมืองใหญ่ที่สำคัญ ๆ แต่ละเมืองที่ “พ่อขุน” จะสถาปนาพระเถระผู้ใหญ่ให้ไปปกครองดูแล

ในสมัยอยุธยา  มีการแบ่งคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ  และมีการเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่ว่า “พระวันรัตน์” หรือ “พระพนรัตน์”  (ปัจจุบันนี้ใช้ว่า สมเด็จพระวันรัต)  ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่มีราชทินนามว่า “พระพุทธโฆษาจารย์” และ พระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี  ให้มีราชทินนามว่า “พระพุทธาจารย์”  (ปัจจุบันใช้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์)  และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็น “สมเด็จพระสังฆราช”  โดยเป็นสมณศักดิ์ และประมุขสูงสุดดูแลปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ยังคงมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์ และมีพระสงฆ์ที่ทรงสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ชั้นรอง ๆ ลงไป  บางรูปให้มีตำแหน่งในการปกครองสงฆ์ด้วย  โดยพระราชอำนาจในการสถาปนาสมณศักดิ์นี้เป็นของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาแต่งตั้ง

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)  ทำให้มีองค์กรสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ขึ้นเป็นครั้งแรก  แต่การแต่งตั้งสมณศักดิ์ยังคงเป็นไปตามพระราชอำนาจ  ต่อมาในสมัยหลังประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐  วิธีปฏิบัติในเรื่องการพิจารณาพระสงฆ์รูปใด เพื่อทรงแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของฝ่ายคณะสงฆ์ที่จะพิจารณา แล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบและพระราชทานสมณศักดิ์  อย่างไรก็ดี สมณศักดิ์ที่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งได้รับก็ยังคงเป็นการรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์  โดยจะพระราชทานสมณศักดิ์และพัดยศในการพระราชพิธีสำคัญ ๆ ประจำปี   ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา  การพระราชทานพัดยศในการตั้งเปรียญธรรมก่อนวันวิสาขบูชาหนึ่งวัน  หรือในการพระราชพิธีในโอกาสพิเศษ เช่น ในการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก  แต่มีสมณศักดิ์บางลำดับชั้นที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งหรือพระราชาคณะแต่งตั้งด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images/4218281196_2.jpg)
พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น  มนฺตาสโย) วัดปทุมวนาราม  กรุงเทพมหานคร

ลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยปัจจุบัน

นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่ ๕) เป็นต้นมา  มีการจัดลำดับและชื่อตำแหน่งสมณศักดิ์ไว้ดังนี้

๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

๒. สมเด็จพระราชาคณะ  เจ้าคณะใหญ่  ชั้นสุพรรณบัฏ    มีจำนวนกำหนดไว้ ๘ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๔ รูป  และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๔ รูป  ราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  สมเด็จพระวันรัต  สมเด็จพระพุทธชินวงศ์  สมเด็จพระมหามุนี   สมเด็จพระมหาธีราจารย์

๓. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง  ชั้นหิรัญบัฏ   มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๒๐ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๑๓ รูป  และธรรมยุตินิกาย ๗ รูป  ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระศาสนโสภณ  พระญาณวโรดม  พระพรหมมุนี  พระสุธรรมาธิบดี

๔. พระราชาคณะชั้นธรรม   มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๔๕ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๓๐ รูป  และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๑๕ รูป  ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระธรรมโสภณ  พระธรรมโกศาจารย์  พระธรรมราชานุวัตร  พระธรรมคุณาภรณ์

๕. พระราชาคณะชั้นเทพ   มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๘๖ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๕๖ รูป  และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๓๐ รูป  ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระเทพมงคลเมธี  พระเทพวิสุทธิโมลี  พระเทพเทวี  พระเทพโสภณ

๖. พระราชาคณะชั้นราช   มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๑๘๙ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๑๓๕ รูป  ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๕๔ รูป  ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระราชปัญญาโมลี  พระราชวิสุทธาจารย์  พระราชวรเมธี  พระราชปัญญาภรณ์

๗. พระราชาคณะชั้นสามัญ   มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๔๗๗ รูป  เป็นฝ่ายมหานิกาย ๓๔๘ รูป  ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๑๒๙ รูป  ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระจริยเวที  พระอินทโมลี  พระวินัยการกวี  พระนิมมานโกวิท

พระราชาคณะชั้นสามัญนี้ ยังแบ่งเป็น ๔ ฝ่าย คือ ชั้นสามัญที่เป็นเปรียญ  ชั้นสามัญเทียบเปรียญ  ชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนา  และชั้นสามัญยก  ซึ่งชั้นสามัญยกนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ

๘. พระครู   ตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นพระครู  แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
    • พระครูชั้นสัญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งและพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ  มีราชทินนามต่อท้าย เช่น พระครูสุนทรธรรมวิฑูร พระครูศาสนภารพินิจ
    • พระครูฐานานุกรมคือ พระสงฆ์ที่พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไป แต่งตั้งจากพระรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรตามจำนวนที่มีระบุไว้ในสัญญาบัตร คือ ที่มีพระบรมราชานุญาตไว้ ไม่มีพัดยศและไม่มีสัญญาบัตร
    • พระครูชั้นประทวน เป็นพระสงฆ์ที่คณะสงฆ์แต่งตั้ง เนื่องจากได้ทำคุณประโยชน์แก่ศาสนา ประเทศชาติ ไม่มีราชทินนาม ไม่มีสัญญาบัตร  มีแต่ใบประกาศแต่งตั้ง และไม่มีพัดยศ



(http://www.sookjaipic.com/images/2191777531_3.gif)
เครื่องยศที่พระราชทานพระสงฆ์ ซึ่งมีสมณศักดิ์ฝ่ายอนัมนิกาย

การสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ญวนและพระสงฆ์จีน

นอกจากธรรมเนียมปฏิบัติที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะสงฆ์ไทยให้มีสมณศักดิ์ และพระราชทานพัดยศเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศตามลำดับชั้นสมณศักดิ์แล้ว  ยังมีการพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศแก่พระสงฆ์อนัมนิกายหรือพระญวน  และแก่พระสงฆ์จีนนิกาย หรือพระจีนอีกด้วย  โดยเริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในหนังสือ ตาลปัตร  พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าดวงจิตร  จิตรพงศ์  กล่าวถึงมูลเหตุการณ์ตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ญวนและพระสงฆ์จีนว่า  สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงคุ้นเคยกับพระสงฆ์ญวน คือ องฮึง  แต่ครั้งทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓  โดยทรงสอบถามองฮึงเกี่ยวกับเรื่องนิกายมหายาน ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาของพระญวน  จึงทรงคุ้นเคยและโปรดอัธยาศัย  ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงให้การสนับสนุนและทรงปฏิสังขรณ์วัดที่องฮึงเป็นเจ้าอาวาส  พระสงฆ์ญวนจึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแหน ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔  และยังได้เข้าไปทำพิธีกงเต๊กในการพระบรมศพและพระศพเจ้านายอยู่เนือง ๆ
 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระสงฆ์ญวนก็ได้เข้าไปทำพิธีกงเต๊กในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  จึงทรงพระราชปรารภถึงความภักดีของพระสงฆ์ญวน  รวมทั้งพระสงฆ์จีนที่เข้ามาทำพิธีถวายในครั้งนั้น  ทรงพระราชดำริว่า พวกญวนทั้งพระและคฤหัสถ์  ซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาเขตในเวลานั้น เป็นแต่มีเชื้อสายญวนเกิดในพระราชอาณาเขตเช่นเดียวกับพวกมอญ  และพระสงฆ์มอญก็ได้รับการถวายสมณศักดิ์อย่างพระสงฆ์ไทยจากพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนเช่นกัน  จึงสมควรจะทรงตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักด็ด้วย  แต่พระสงฆ์ญวนถือนิกายมหายานจะเข้าทำกิจพิธีสงฆ์ร่วมกับพระสงฆ์ไทยอย่างพระสงฆ์มอญไม่ได้

(http://www.sookjaipic.com/images/7266551458_4.gif)
องสรภาณมธุรส (บ๋าวเอิง)  อดีตเจ้าอาวาส วัดสมณานัมบริหาร
ในเครื่องยศพระสงฆ์อนัมนิกายที่ได้รับพระราชทาน

จึงทรงพระราชดำริให้มีทำเนียบสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์ญวนขึ้นต่างหาก  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์จีนในคราวเดียวกันด้วย  ทรงเลือกสรรพระสงฆ์ญวนที่เป็นคณาจารย์  ตั้งเป็นตำแหน่งพระครูเจ้าคณะใหญ่  และพระครูเจ้าคณะรอง  พระปลัดและรองปลัด  ส่วนพระสงฆ์จีนตำแหน่งหัวหน้า เป็นตำแหน่งพระอาจารย์  และมีตำแหน่งพระปลัดเช่นเดียวกับของพระสงฆ์ญวน  และพระราชทานสัญญาบัตรมีราชทินนามกับพัดยศ ซึ่งจำลองแบบพัดพระไทยแต่ทำให้มีขนาดย่อมลง

(http://www.sookjaipic.com/images/5735662111_5.gif)
เครื่องยศที่พระราชทานพระสงฆ์ ซึ่งมีสมณศักดิ์ฝ่ายอนัมนิกาย 
มีไม้เท้า (ไม้ขักขระ)  หมวกสักหลาดสีเหลือง มีรูปพระเจ้า ๕ พระองค์ และท้าวโลกบาล 
ระฆัง ไม้ญรืออี๊ทำด้วยงาล้วน ทำด้วยไม้มะริดสลับเงา ทำด้วยไม้มะริดล้วน และบาตร์

หมายเหตุ : คำว่า "บาตร์" เป็นการสะกดคำ ตามต้นฉบับ (พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒)



ข้อมูล : หนังสือสารานุกรมไทยฯ  เล่ม ๓๒ โดยคณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทย  จัดทำขึ้นตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว