[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 มีนาคม 2567 11:36:19



หัวข้อ: มัทนะพาธา ที่มาตำนานดอกกุุหลาบ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 มีนาคม 2567 11:36:19

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12707916936940_433679454_1809110149604657_648.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17770425809754_432854795_1809110196271319_159.jpg)

ความรักเหมือนโรคา  บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล       อุปสรรคใดใด
ความรักเหมือนโคถึก    กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดจากคอกไป   บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะผูกไว้   ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง  บหวนคิดถึงเจ็บกาย

จากเรื่อง มัทนะพาธา
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
ที่ว่าด้วยตำนานของดอกกุหลาบและความเจ็บปวดจากความรัก



มัทนะพาธา
ที่มาตำนานดอกกุุหลาบ

เรื่อง “มัทนะพาธา” เป็นวรรณคดีประเภทบทละครพูดคำฉันท์ คือบทละครที่แต่งด้วยฉันท์และกาพย์ชนิดต่างๆ มีบทเจรจาบางตอนแต่งเป็นร้อยแก้วแทรกอยู่บ้าง

มัทนะพาธาได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า "...เป็นหนังสือแต่งดีเพราะทรงพระราชดำริใช้คำฉันท์เป็นบทละครพูด อันเป็นของแปลกในกระบวนวรรณคดี และแต่งได้โดยยาก ยังไม่เคยมีกวีคนใดได้พยายามแต่งมาก่อน อีกประการหนึ่ง ในทางภาษาซึ่งทรงปรุงชื่อตัวละครและภูมิประเทศถูกต้องตามยุคแห่งภารตวรรษอันจำนงให้เป็นตัวเรื่อง นับว่ารูปเรื่องปรุงดี จะแต่งได้แต่ด้วยพระปรีชาและสุตาญาณอันกว้างขวาง..."

เรื่องที่ผูกขึ้นเกี่ยวกับตำนานดอกกุหลาบ โดยมีนางมัทนา สาวสวรรค์ที่ถูกความรักจากผู้ชายสองคน คือ สุเทษณ์และชัยเสนทำร้าย จนสุดท้ายถูกสาปส่งให้นางลงไปเกิดเป็น ดอกกุพชกะ คือ ดอกกุหลาบ อยู่ในแดนมนุษย์  ต้องกลายมาเป็นดอกกุหลาบ ทิ้งไว้กลางโลกมนุษย์ให้เป็นเครื่องหมายแห่งความรักไปชั่วกัลปาวสาน

เรื่องนี้ให้ข้อคิดเตือนใจเกี่ยวกับโทษของความรักผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ เพื่อสื่อความหมายอันลึกซึ้งของความรักอันเร่าร้อนและรุนแรงของหนุ่มสาว และมีความผิดปกติจากการขาดสติสัมปชัญญะ ว่าเป็นเสมือนโรคร้ายซึ่งมีพิษอันแรงกล้า คือความลุ่มหลงมัวเมาในบุคคลที่ตนรัก  ซึ่งนอกจากจะทำให้บุคคลนั้นทำได้ทุกอย่างตามอารมณ์และความปรารถนาแล้ว ยังสามารถทำลายวิจารณญาณในการมองสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล หนุ่มสาวที่กำลังเป็น "โรครัก จึงไม่ยินและไม่ยลอุปะสัคคะใดๆ" ไม่ต่างกับคนตาบอดที่มองไม่เห็นภยันตรายที่จะเกิดขึ้น  



ขอขอบคุณที่มา (ข้อมูล) :
       - วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
       - เว็บไซต์ ไทยรัฐออนไลน์
       - สำนักงานราชบัณฑิตยสภา