[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2557 13:22:20



หัวข้อ: คนตาย ขวัญไม่ตาย งานศพสนุกๆ หลายวัน เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2557 13:22:20
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrAbQ5AACrNuLgM8uClSytcdo6Tk_mgh-I-NUULL4cGkx_-vfKVQ)

ผี เป็นคำในตระกูลไทย-ลาว หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติ มี ๒ ส่วน ได้แก่
๑. ส่วนที่เป็นตัวตน คือ ซาก (หรือ ร่างกาย)
๒. ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน คือ ขวัญ (ต่างจากวิญญาณ)


•  คนตาย ขวัญไม่ตาย
คนตายในความเข้าใจของคนเมื่อหลายพันหลายหมื่นปีมาแล้วไม่น่าจะมีและเป็นอย่างเดียวกับปัจจุบัน

คนแต่ก่อนเชื่อว่าแม้ร่างกายเจ้าของขวัญจะตายไปแล้ว แต่ขวัญยังไม่ตาย เพราะขวัญของผู้ตายจะไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนคนก่อนๆ (ที่ฝังอยู่ลานกลางบ้านหรือใต้ถุนเรือนบริเวณเดียวกัน) เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนและเผ่าพันธุ์ พร้อมทั้งบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ชุมชนตลอดปี

 
•  งานศพสนุกๆ หลายวัน
บ้างก็เชื่อว่าคนที่นอนนิ่งอยู่นั้น ขวัญหายไปชั่วคราว และขณะนั้นขวัญกำลังหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมและร่างเดิมของตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ญาติมิตรในชุมชนต้องร่วมกันร้องรำทำเพลงสนุกสนานนานจนกว่าจะพอใจ เพื่อให้ขวัญได้ยิน แล้วกลับคืนถูกทาง

ด้วยความเชื่ออย่างนี้เอง งานศพในไทยสมัยก่อนๆ จึงสนุกสนานรื่นเริงต่อเนื่องหลายวัน (ไม่มีเศร้าโศก) ดูได้จากวรรณกรรมเก่าๆ เช่น อิเหนา พรรณนาการละเล่นงานศพ มีละครโขนหนังและดอกไม้ไฟสนุกตื่นเต้นมาก ไม่มีทุกข์โศกคร่ำครวญ (ครั้นได้รับคติพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อก็ปรับเปลี่ยนไปว่าเมื่อคนตายแล้วก็ไม่มีขวัญ แต่จะมีวิญญาณล่องลอยไปใช้กรรม เมื่อหมดกรรมก็เกิดใหม่)



(http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/06/kwan6-06-57-3-450x551.jpg)

•  ขวัญ
ขวัญ คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคนและสัตว์ ซึ่งมีในความเชื่อตรงกันของคนทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์

(คำว่า ขวัญ ในตระกูลไทย-ลาว ที่ใช้สืบเนื่องมานานมาก น่าจะเป็นคำร่วมสุวรรณภูมิที่มีมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว มีใช้ในหลายตระกูลภาษา แต่นานเข้าก็ออกเสียงแล้วสะกดต่างไปมากบ้างน้อยบ้าง)

ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง หรือทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่เกิดมามากกว่า ๓๐ แห่ง เช่น ขวัญหัว, ขวัญตา, ขวัญมือ, ขวัญแขน, ขวัญขา ฯลฯ และมีความสำคัญมากเท่าๆ กับส่วนที่เป็นตัวตนหรือร่างกาย

ทั้งยังมีความเชื่อร่วมกันอีกว่า ถ้าขวัญอยู่คู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุขสบาย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป เจ้าของขวัญจะไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตาย

เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของขวัญเจ็บป่วยมาก แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว ดังนั้นผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ตัว เพื่อให้เจ้าของขวัญอยู่ดีมีสุข

สัตว์และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการทำมาหากินของคนล้วนมีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญวัว, ขวัญควาย, ขวัญเรือน, ขวัญข้าว, ขวัญเกวียน, ขวัญยุ้ง ฯลฯ


 
•  รูปขวัญ
ขวัญมีรูปร่างเป็นเส้นวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้นตามต้องการ ดังลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียงเป็นลายวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้น (คล้ายลายก้นหอย) เสมือนมีขวัญของคนตายอยู่ในหม้อใบนั้น

โดยช่างเขียนเคยเห็นลักษณะที่เชื่อว่านั่นคือขวัญ จากบริเวณโคนเส้นผมบนกลางกระหม่อมของทุกคน แล้วยังเห็นตามโคนเส้นขนที่เป็นขวัญบนตัวสัตว์ เช่น วัว, ควาย

ภาชนะเขียนสี ที่บ้านเชียง (อ.หนองหาน จ.อุดรธานี) อายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีลวดลายต่างๆ กัน แต่ที่พบมากจนเป็นลักษณะเฉพาะ แล้วเป็นที่รู้จักทั่วไปเรียกลายก้นหอย(แบบลายนิ้วมือ)

นั่นคือ ลายขวัญ ที่คนยุคนั้นทำขึ้นเพื่อทำขวัญ เลี้ยงขวัญ เรียกขวัญ สู่ขวัญ คนตาย (นับเป็นต้นแบบประเพณีเรียกขวัญใส่หม้อเพื่อเซ่นวักหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ขวัญอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ร่อนเร่พเนจร เช่น เอาหม้อไปไว้หอผี หรือที่สาธารณะปากทางเข้าชุมชน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเรียกวิญญาณดุร้ายใส่หม้อ แล้วอธิบายไม่ได้ว่าทำไมใส่หม้อ?)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าลายสลักรูปแฉกดาวบนหน้ากลองทองมโมโหระทึกคือรูปขวัญ ที่คนยุคนั้นเข้าใจและสร้างภาพขึ้น


•  ทำขวัญ
พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญ เรียกว่าทำขวัญ (หรือสู่ขวัญ เรียกขวัญ เลี้ยงขวัญ) ในทุกช่วงสำคัญของชีวิตทั้งเหตุดีและไม่ดี ตั้งแต่เกิดจนตาย

เพื่อให้ผู้รับทำขวัญพ้นจากความวิตกกังวลหวาดกลัวหรือตกใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งเท่ากับสร้างความมั่นใจและความมั่นคงแก่ผู้รับขวัญ

ทำขวัญ, สู่ขวัญ, เรียกขวัญ, เลี้ยงขวัญ เป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันและความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชนในสังคมเกษตรกรรม ฉะนั้นพิธีจึงเริ่มจัดให้มีขึ้นอย่างง่ายๆ โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเท่านั้น

เมื่อรับศาสนาจากอินเดียแล้วพิธีทำขวัญอย่างง่ายๆ ในท้องถิ่นก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ซับซ้อนขึ้นโดยรับคติพราหมณ์กับพุทธเข้ามาประสมประสาน

ดังจะเห็นว่าพิธีทำขวัญสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้มักจะมีบายสีและแว่นเวียนเทียนเป็นเครื่องประกอบ และมีหมอขวัญเป็นผู้ชำนาญขับคำร้องขวัญ คือกล่าวเชิญทั้งผีฟ้าพญาแถนและทวยเทพยดามาปลอบขวัญ

(ทำขวัญปัจจุบัน คนอีสานถูกทำให้เชื่อว่าเป็นพิธีพราหมณ์ ไม่มีเป่าแคนคลอคำ    สู่ขวัญ แต่ลำผีฟ้ารักษาโรค เมื่อถึงช่วงสุดท้ายต้องมีพาขวัญ สู่ขวัญ เรียกขวัญ และต้องมีเป่าแคนคลอหมอร้องขวัญ)

บายสี เป็นคำเขมร หมายถึงเจ้าแม่ข้าว หรือข้าวขวัญที่จัดวางในกระทงใบตอง ต่อมารวมกระทงใส่เครื่องสังเวย จัดบายสีเป็นพิธีพราหมณ์ที่รับมาประสมกับพิธีพุทธใช้เคลือบพิธีผี เช่น พิธีทำขวัญนาค (ที่ไม่มีในพุทธบัญญัติ)


------------------------------
หมวดหมู่ : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)


(http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2015/02/samrid-27-02-58-4-450x241.jpg)
ภาชนะสัมฤทธิ์ใส่กระดูกคนตาย ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีลายสลักเป็นรูปเรือศักดิ์สิทธิ์ พบที่เวียดนาม
พิธีศพ นานหลายวัน

พิธีศพของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์ อาจนับเป็นพิธีศพยาวนานหลายวันที่สุดในโลกก็ได้ ที่สนุกสนานรื่นเริงด้วยการร้องรำทำเพลงเพื่อเรียกขวัญที่หายไปให้กลับคืนร่างเดิม
 
เพราะเชื่อว่าคนที่นอนนิ่งอยู่นั้นขวัญหายหรือขวัญหนีไปชั่วคราว อีกไม่นานจะกลับมาคืนร่างเดิมเป็นปกติ
 
จึงมีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหรือบนเพิงผา มีอายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เป็นขบวนแห่ตีฆ้องกลองและกระบอกไม้ไผ่เนื่องในงานศพ ซึ่งต้องเริ่มด้วยทำขวัญ มีเลี้ยงผีบรรพชน
 
เครื่องดนตรีงานศพอย่างนี้จะมีพัฒนาการต่อไปข้างหน้าเป็นเครื่องประโคมเป่าปี่ตีฆ้องกลองงานศพ เรียกวงปี่พาทย์ เป็นลักษณะเฉพาะของอุษาคเนย์ที่ใช้งานพิธีกรรมสำคัญอื่นๆ ด้วย เช่น โขนละคร, ทำบุญทั่วไป


คนตาย ขวัญไม่ตาย
คนตายในความเข้าใจของคนเมื่อหลายพันหลายหมื่นปีมาแล้วไม่น่าจะมีและเป็นอย่างเดียวกับปัจจุบัน
 
คนแต่ก่อนเชื่อว่าแม้เจ้าของขวัญจะตายไปแล้ว แต่ขวัญยังไม่ตาย เพราะขวัญของผู้ตายจะไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนคนก่อนๆ (ที่ฝังอยู่ลานกลางบ้านหรือใต้ถุนเรือนบริเวณเดียวกัน) เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนและเผ่าพันธุ์ พร้อมทั้งบันดาลความอุดมสมบูรณ์
 
แต่บ้างก็เชื่อว่าคนที่นอนนิ่งอยู่นั้น ขวัญหายไปชั่วคราว และขณะนั้นขวัญกำลังหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมและร่างเดิมของตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง
 
ด้วยความเชื่ออย่างนี้เอง งานศพในไทยสมัยก่อนๆ จึงสนุกสนานรื่นเริงต่อเนื่องหลายวัน (ไม่มีเศร้าโศก) ดูได้จากวรรณกรรม เช่น อิเหนา พรรณนาการละเล่นงานศพ มีละครโขนหนังและดอกไม้ไฟสนุกตื่นเต้นมาก ไม่มีทุกข์โศกคร่ำครวญ
 
(ครั้นได้รับคติพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อก็ปรับเปลี่ยนไปว่าเมื่อคนตายแล้วก็ไม่มีขวัญ แต่จะมีวิญญาณล่องลอยไปใช้กรรม เมื่อหมดกรรมก็เกิดใหม่)

 
พิธีศพ
พิธีศพ ก็คือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างน้อยตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สืบถึงปัจจุบัน
 
แต่เดิมเคยเชื่อว่าคนเรามาจากบาดาลทางน้ำที่อยู่ใต้พื้นดิน เมื่อคนตาย (ที่ยุคนั้นเข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) ก็คือการกลับไปสู่ถิ่นเดิมในบาดาลที่มีนาคพิทักษ์อยู่
 
คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไป คนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากิน

 
เก็บศพหลายวัน
พิธีศพไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืน โดยกินเลี้ยงกินเหล้าแล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์
 
เมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันก็แห่ศพที่อาจหุ้ม หรือห่อด้วยเครื่องจักสานอย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนดรู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะ ซึ่งมักเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ
 
ต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้คนปัจจุบันเรียกหินตั้ง (ต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่าเสมาหิน หรือใบเสมาในปัจจุบัน)

 
ฝังศพ
ขบวนแห่ศพมีเครื่องประโคม เช่น ฆ้อง กลอง หรือมโหระทึก และอื่นๆ (มีรูปวาดที่ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี)
 
เมื่อเอาศพลงหลุมต้องเอาเครื่องมือเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้ในบาดาล ฉะนั้นในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ เช่น
 
ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่ได้ทำไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทำไว้ฝังไปกับศพเท่านั้น
 
คนบางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือใกล้ทะเล เคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ มีภาพลายเส้นที่ผิวมโหระทึก
 
แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือหรือรางเลี้ยงหมูปัจจุบัน เอาศพวางในรางแล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ้ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พบที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ฯลฯ (รางระนาดปัจจุบันก็ได้มาจากโลงไม้ยุคนี้)

 
ต้นเค้าโกศใส่ศพนั่ง
คนบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไปฝัง ฯลฯ อย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ
 
[คำว่า โกศ ยืมจากภาษาบาลี-สันสกฤต แต่ประเพณีศพนั่งในโกศ ไม่พบหลักฐานว่าเคยมีในอินเดีย]
 
แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ พิธีศพครั้งที่ ๒
 
เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก
 
แล้วทำศพครั้งที่ ๒ ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินในลาว, หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไป แต่ที่มีขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้ นักโบราณคดีบางคนกำหนดเรียกแบบ “แค็ปซูล”
 
ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดี พบภาชนะใส่กระดูกทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือโกศ
 
แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัด ก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์ อย่างนี้เอง

 
สร้างเจดีย์ทับที่ฝังศพ
แหล่งฝังศพยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจสะพรึงกลัวอย่างทุกวันนี้เรียก ป่าช้า ป่าเลว (เห้ว, เปลว) ฯลฯ
 
แต่คนเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยกย่องพื้นที่ฝังศพเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพชน
 
เมื่อรับพุทธศาสนาในภายหลังจึงยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานก็มี เช่น ปราสาทพิมาย (อ.พิมาย จ.นครราชสีมา) และวัดชมชื่น ที่เมืองเชลียง (อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ฯลฯ


(http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2015/02/116-1.jpg)
ภาชนะดินเผาบรรจุศพแบบ “แค็ปซูล” เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน
นับเป็นต้นเค้าโกศ และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้อ หรือสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ
ขุดพบที่ทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

(http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2015/02/104.jpg)
ไหหิน ใส่กระดูกศพ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว