[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 กันยายน 2564 20:13:12



หัวข้อ: ผักกวางตุ้ง หรือ ผักกาดดอย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 กันยายน 2564 20:13:12
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57323716663651_1_Copy_.jpg)
ผักกวางตุ้ง ประชากรบนที่สูง (หรือชาวเขา) เรียกว่าผักชนิดนี้ว่า ผักกาดดอย
(ภาพจากจังหวัดเชียงใหม่)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49686014569467_2_Copy_.jpg)
ผักกวางตุ้งดอย จะมีลักษณะก้านดอกเรียว ยาว
(ภาพจากจังหวัดเชียงใหม่)

ผักกวางตุ้ง

ผักกวางตุ้ง หรือ ผักกาดกวางตุ้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน และญี่ปุ่น โดยสาเหตุที่คนไทยนิยมเรียกว่า ผักกวางตุ้ง ในช่วงที่มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกจะเป็นพันธุ์ที่นำมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เป็นผักที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะผัดหรือต้มเป็นแกงจืด ให้รสชาติหวานกรอบ โดยเฉพาะเมนูบะหมี่หมูแดงหรือเกี๊ยวก็จะมีผักชนิดนี้แซมอยู่เสมอ โดยสามารถรับประทานได้ทั้งลำต้น ใบ และดอก ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค แต่จะนิยมนำมาปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน

ผักกวางตุ้งที่นิยมปลูก และรับประทานมากในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักกาดเขียวกวางตุ้ง, ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ และผักกวางตุ้งดอก ทั้งนี้ ชนิดที่นิยมปลูก และรับประทานมากที่สุด คือ ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ซึ่งเป็นผักที่ปลูกมากเป็นอันดับต้นๆในบรรดาผักทุกชนิดในประเทศ

ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
       วงศ์ : Brassicaceae
       ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica Chinensis Linn.
       ชื่อสามัญ : Choi sum


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
       รากผักกวางตุ้ง เป็นระบบรากแก้ว และมีรากแขนงตกออกด้านข้าง โคนรากแก้วจะมีขนาดใหญ่ ระบบรากอยู่ในระดับดินตื้น 10-20 ซม.

       ลำต้นผักกวางตุ้งมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นเป็นทรงกลม ขนาด 1.4-2 ซม. สูงประมาณ 30-50 ซม. โดยลำต้นในระยะก่อนออกดอกจะสั้น และอวบ แต่เมื่อแทงดอก ลำต้นจะชะลูดสูงอย่างรวดเร็ว โดยระยะดอกแก่อาจสูงได้ถึง 1 เมตร ส่วนเปลือกลำต้นบาง และมีสีเขียว สามารถลอกออกได้ง่าย โดยเปลือกลำต้นส่วนโคนจะเหนียว และเป็นเส้นใย ไม่นิยมรับประทาน ส่วนเปลือกลำต้นส่วนกลาง และยอดจะอ่อน ซึ่งใช้รับประทานพร้อมกับส่วนแก่น ส่วนแก่นลำต้นส่วนเหนือโคน เมื่อลอกเปลือกออกจะยังอ่อน สามารถนำมารับประทานได้

       ใบ ผักกวางตุ้งจะออกเป็นใบเดี่ยว โดยมีใบเลี้ยงหลังการงอกจำนวน 2 ใบ ปลายใบตรงกลางเว้าลึกเข้า ส่วนใบจริงจะออกเยื้อง และสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบสีเขียวอมขาว มีลักษณะกลม มีร่องด้านบน ยาว 3-8 ซม. ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีรูปไข่ กว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 15-20 ซม. ขอบใบมีรอยหยักขนาดเล็ก ปลายใบโค้งมน ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และแก่ก่อนเหี่ยวร่วงจะมีสีเหลือง

       ดอก ดอกผักกวางตุ้งจะออกหลังการปลูกประมาณ 55-75 วัน โดยเป็นดอกชนิดสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในตัวเอง และมีระบบดอกออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านช่อดอกทรงกลมยาว 50-90 ซม. มีดอกออกเป็นกระจุกจำนวนมากตรงส่วนปลายช่อดอก แต่ละดอกเมื่อบานจะมีขนาด 1-1.5 ซม. ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอก จำนวน 4 อัน ที่มีสีเขียวอ่อน ถัดมาเป็นกลีบดอกชั้นในที่มีสีเหลือง จำนวน 4 อัน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 4 อัน และตรงกลางเป็นรังไข่ที่มีเกสรตัวเมียสีเหลืองอ่อนอยู่ด้านบน ทั้งนี้ ดอกผักกวางตุ้งจะทยอยบานจากด้านล่างขึ้นด้านบน

       ผล และเมล็ด  ผลผักกวางตุ้งจะมีลักษณะเป็นฝัก มีก้านฝักยาว 1.2-2.5 ซม. ตัวฝักมีความยาวประมาณ 4-6 ซม. ขนาด 0.3-0.5 ซม. ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนโคนฝักที่มีเมล็ด ยาวประมาณ 3-4 ซม. และส่วนที่เหลือเป็นส่วนปลายฝักที่ไม่มีเมล็ด ฝักอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล พร้อมกับปริแตกจากโคนฝักสู่ปลายฝักเพื่อให้เมล็ดร่วงลงสู่ดิน ภายในฝักจะมีเมล็ดจำนวนมาก โดยเมล็ดจะมีลักษณะทรงกลม ขนาดเมล็ด 1.5-2.5 มม. เมล็ดอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมดำ น้ำหนักเมล็ด 2.5 กรัม จะมีเมล็ดประมาณ 1,000 เมล็ด แต่ละฝักจะมีเมล็ด 5-25 เมล็ด

ผักกาดกวางตุ้ง จะมีสารบางชนิดเมื่อถูกความร้อนแล้วจะกลายเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งได้แก่สารไทโอไซยาเนต (thiocyanate) เมื่อได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ความดันเลือดต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย แต่สารชนิดนี้จะสลายไปกับไอน้ำเมื่อเราเปิดฝาทิ้งไว้ แต่ถ้านำมารับประทานสดๆ ก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่จะมีกลิ่นเขียวบ้างเล็กน้อย

จุดเด่นของผักชนิดนี้จะอยู่ที่คุณค่าทางทางโภชนาการ โดยอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งก็มีประโยชน์มากเลยทีเดียว โดยการถนอมวิตามินในผักชนิดนี้ก็ทำได้ง่าย ด้วยการใส่ไว้ในถุงพลาสติก ปิดให้แน่นแล้วนำไปแช่ไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็น และการนำผักกวางตุ้งไปประกอบอาหารก็ไม่ควรตั้งไฟนานจนเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินที่อยู่ในผักกวางตุ้งอย่างวิตามินซีและเบตาแคโรทีน (แต่สำหรับเบตาแคโรทีนนั้นจะทนความร้อนได้ดีกว่าวิตามินซี)

กวางตุ้ง เป็นหนึ่งในผักที่มักตรวจพบสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงอยู่บ่อยๆ การเลือกซื้อผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผู้บริโภคควรระมัดระวังในเรื่องของการเลือกซื้อให้มาก และทำความสะอาดผักก่อนการนำมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแช่น้ำส้มสายชู แช่ในน้ำเกลือ หรือจะล้างด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำนานอย่างน้อย 2 นาที ก็จะช่วยลดปริมาณสารพิษที่ตกค้างในผักชนิดนี้ได้เช่นกัน

ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง
       1.ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
       2.ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
       3.ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
       4.ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ผักกวางตุ้งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
       5.ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
       6.ช่วยป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อม ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง
       7.ช่วยในการขับถ่าย ถ่ายสะดวก ป้องกันโรคท้องผูก
       8.เชื่อว่ามีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดตามข้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเสื่อม
       9.ช่วยแก้อาการเป็นตะคริว สำหรับใครที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ ผักกวางตุ้งช่วยคุณได้ เพราะเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง
       10.การรับประทานผักกวางตุ้งเป็นประจำจะไปทำให้ฟีโรโมน (Pheromone) หลั่งออกมา ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวหอม
       11.เป็นผักที่มีเส้นใยมากและมีไขมันน้อย ทำให้อิ่มท้อง รับประทานมากแค่ไหนก็ไม่ทำให้อ้วน
       12.นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มจับฉ่าย แกงจืด ผัดผักกวางตุ้ง ฯลฯ


(https://farmkaset.org/html5/upload/25630625085138-1R.jpg)
ผักกวางตุ้งที่เราคุ้นเคยในการซื้อมารับประทาน ลักษณะก้านดอกจะสั้น
ขอขอบคุณ farmkaset.org (ที่มาภาพประกอบ)

ขอขอบคุณเว็บไซท์ พืชเกษตร ดอท คอม / medthai.com (ที่มาข้อมูล)