[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2565 16:38:51



หัวข้อ: แรกนาครั้งกรุงศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2565 16:38:51

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92615772162874_280967547_5299613023416904_339.jpg)
จิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แรกนาครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น กฎมนเทียรบาลระบุชื่อพระราชพิธีนี้ว่า “ไพศาขจรดพระอังคัล” ในพระราชพิธีนั้นพระเจ้าแผ่นดินงดเสด็ดออกขุนนาง และพระราชทานอาญาสิทธิให้แก่เจ้าพญาจันทรกุมารเป็นผู้แทนพระองค์มีพระราชอำนาจเต็มในช่วงพระราชพิธีสามวัน ในกฎมนเทียรบาลบุรายละเอียดไว้ว่า
“...เดือนไพศาขจรดพระอังคัล เจ้าพญาจันทกุมาร ถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกุรณายื่นพระขรรค แลพระพลเทพถวายบังคมสั่งอาชญาสิทธิ ธรงพระกรุณาลดพระบรมเดช มิได้ไขหน้าล่องมิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบีกลูกขุนมิได้เสดจ์ออก ส่วนเจ้าพญาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาสขัดแห่ขึ้นช้างแต่นั้นให้สมโพธ ๓ วัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา ๑๐๐ นา ๑๐๐๐๐๐ นา กรมการในกรมนาเฝ้า แลขุนหมื่นชาวสานทั้งปวงเฝ้าตามกระบวน...”

สำหรับ "พระยาพลเทพ" ที่ระบุว่าเป็นผู้สั่งอาชญาสิทธิ์นั้น เป็นเสนาบดีจตุสดมภ์กรมนา นาพระไอยการพลเรือนระบุว่า "ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิรีบรากรมภาหุ ได้ใช้ตรา ๔ ดวง ถือศักดินา ๑๐๐๐๐"

การพระราชทานอาญาสิทธิ์แก่พระยาแรกนา ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ยังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุวันวลิต ซึ่งเก็บข้อมูลจากคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นว่า ครั้งแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมทรงแต่งตั้ง "ออกญาข้าว" เป็นพระยาแรกนา พร้อมพระราชทานเครื่องประกอบต่างๆ เป็นเกียรติยศสำหรับผู้ที่ "ถูกสมมติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน" ความว่า

“...พระองค์ได้พระราชทานพระภูษาใหม่อันเป็นฉลองพระองค์ของกษัตริย์ และให้ใส่มงกุฎรูปกรวยแหลมลงบนศีรษะ ออกญาข้าวต้องนั่งในบุษบกเล็กๆ ทรงปิรามิด มีคน ๘ คนหามออกเดินจากพระราชวังไปตามถนน มีบริวารล้นหลาม พร้อมด้วยเครื่องดีดสีตีเป่าติดตามไปยังชนบท ทุกๆ คนแม้แต่เสวกามาตย์และชาววังคนอื่นๆ ถวายเกียรติยศทำนองเดียวกับที่ถวายพระเกียรติแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพราะเขาได้ถูกสมมุติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญาข้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากเงินที่เก็บจากค่าปรับไหมจากคนที่พบกลางทาง...พระยาแรกนาเมื่อมาถึงโรงพิธี ก็อนุญาต​ให้ทุกๆ คนเข้าโจมตีต่อสู้กับพรรคพวกและบริวารผู้ติดตาม มีกฎอยู่ว่าผู้ที่เข้าโจมตีจะแตะต้องตัวหรือองครักษ์ของพระยาแรกนาไม่ได้ และถ้าหากพระยาแรกนาได้ชัยชนะในการต่อสู้กับฝูงชนแล้ว จะเป็นสัญลักษณ์ว่าปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์ และถ้าการณ์กลับตรงกันข้าม พระยาแรกนาต้องหนีกระเจิงก็ทำนายว่าเป็นลางร้ายและเกรงว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน..."

ในจดหมายเหตุวันวลิต ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนั้นพระเจ้าปราสาททองเมื่อครั้งยังเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ ได้พาพรรคพวกเข้าโจมตีขบวนพระยาแรกนา ดังนี้

"...ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นจมื่นศรีสรรักษ์และมีอายุประมาณ ๑๘ ปี วันหนึ่งเมื่อมีการทำพิธีนี้ เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดยมากับน้องชาย ...ทั้ง ๒ คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคนและได้เข้าโจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย ...จมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือด จนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี...”

ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นพระเจ้าทรงธรรม ให้จับตัวจมื่นศรีสรรักษ์มารับพระราชอาญา โปรดให้สั่งจำขังคุกใต้ดินเป็นเวลา ๕ เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ ชายาในสมเด็จพระนเรศวร มาทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้

เหตุการณ์ในจดหมายเหตุวันวลิต จึงสะท้อนให้เห็นว่า การกระทำของจมื่นศรีสรรักษ์ เป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เพราะพระยาแรกนา คือผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินอย่างแท้จริง

ส่วนตำราทวาทศพิธี กล่าวถึงรายละเอียดการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ดังนี้

“...ครั้นถึงเดือน ๖ มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ให้ปลูกโรงพระราชพิธีใหญ่น้อยตามควร ตกแต่งประดับดังกาลก่อนนั้นทุกประการ ให้ชีพ่อพราหมณ์เชิญพระอิศวรพระนารายณ์ไปตั้งในโรงพระราชพิธี ให้กรมนาแต่งไถเอก ไถโท เทียมด้วยโคกระวิน (โคสีน้ำตาล) ให้พระยาพลเทพแต่งตัวโอ่โถง ใส่เสนากุฎมีกระชิงสัปทนกางกั้น ขี่คานหามบโทนแห่หน้าไปยังโรงพระราชพิธี ให้กรมนาสานกระเช้าใหญ่รอบ ๓ กำ มีสาแหรกคานหามครบ ลงรักปิดทองทาชาด สำหรับนางเทพีทั้ง ๔ คน เป็นกระเช้า ๘ ใบ หาบข้าวปลูกไปส่งพระยาพลเทพ แลนางเทพีทั้ง ๔ คน นุ่งห่มโอ่โถงผ้าสีต่างๆ ติดตีนยก นุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ใส่โสร่งขโดง (ทรงผมสตรีแบบโองโขดง หรือโซงโขดง มีลักษณะเป็นการเกล้าผมบนขม่อมเป็นห่วงยาวๆ และมีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวม) ขึ้นคานหาม มีกระชิงหุ้มผ้าแดงกั้นแห่มายังโรงพระราชพิธี ครั้นได้ฤกษ์ดี พระยาพลเทพจึงจับไถเอกออกจรดพระนังคัล ๓ รอบ แล้วนางเทพี ๔ คนหาบข้าวปลูกไปส่ง พระยาพลเทพรับเอาข้าวปลูกไปหว่าน แล้วจึงเอาไถโทกลบ รอบสามแล้วกลับมายังโรงพระราชพิธี ให้กรมนายกเอาน้ำ เหล้า ข้าว ถั่ว งา หญ้า เข้ามาตั้งให้เสี่ยงทาย จึ่งให้พระโคทั้ง ๔ ตัวกิน ถ้าพระโคกระวินกินสิ่งใด ให้โหราพฤฒาจารย์พราหม์ทั้งหลาย ทายทุกข์สุขตามลักษณะโคกินนั้นเถิด แต่นางเทพทั้ง ๔ คน ได้รับพระราชทานคนละ ๓ ตำลึง ตามอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน..."

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งพระราชพิธีพืชมงคลขึ้นอีกพิธีหนึ่งเป็นพิธีสงฆ์ กระทำขึ้นก่อนพิธีแรกนา ๑ วัน มีการนำเมล็ดพันธุ์พืชเข้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนพระยาแรกนาและเทพีเข้ารับศีลและฟังพระสวดมนต์ แล้วพระยาแรกนากับเทพีเข้าไปรับพระราชทานน้ำสังข์และทรงเจิมเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นกัน แล้วพระราชทานปฏัก พระธำมรงค์ แก่พระยาแรกนา สำหรับใช้ในพระราชพิธีวันรุ่งขึ้น

เดิมนั้นพระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีแรกนา จนกระทั่งหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงยกเลิกพระราชพิธีนี้ไป ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีการฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ใหม่ ด้วยทรงพระราชดำริว่า “...การพระราชพิธีนี้กระทำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารและบำรุงขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนของพระองค์ซึ่งส่วนมากเป็นกสิกร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่...”


ขอขอบคุณที่มา เพจ ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง