[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 ธันวาคม 2557 10:40:29



หัวข้อ: เครื่องถ้วยจากทะเล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 ธันวาคม 2557 10:40:29
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34094285302691_1.jpg)

เครื่องถ้วยจากทะเล

ในคำนำ หนังสือโบราณคดีสีคราม (๒) เครื่องถ้วยจากทะเล โครงการโบราณคดีใต้น้ำ ฝ่ายวิชาการโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร (๑ ม.ค.๒๕๓๓) นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร เขียนไว้ว่า

เครื่องถ้วย หรือเครื่องปั้นดินเผา เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่คงทนกว่าหลักฐานอื่น อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ชื้นแฉะ เป็นกรดเป็นด่าง ในแม่น้ำลำคลองหรือในทะเล

เครื่องถ้วยที่พบบนบก มักเป็นชิ้นแตกหัก ที่ทิ้งเป็นขยะไว้ข้างๆ ที่อยู่อาศัย ที่อยู่ในสภาพดีในหลุมฝังศพ หรือที่บรรจุไว้ในศาสนสถาน มีอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก

เมื่อเทียบกับที่พบในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแหล่งเรือจมในทะเล เพราะส่วนมากเป็นตัวสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง แล้วเรือมาอับปางเสียก่อน

เครื่องถ้วยที่พบตามแหล่งเรือจมในทะเล เป็นของสภาพดี มีหลายประเภท และมีเป็นจำนวนมาก นักสะสมจึงแย่งกันซื้อหา จนธุรกิจล่าสมบัติเติบโตขึ้น ถึงขนาดร่วมกันดำเนินการข้ามประเทศ

แหล่งเรือจมเกือบทุกแห่งในอ่าวไทย ที่โครงการโบราณคดีใต้น้ำดำเนินการสำรวจและขุดค้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ ถูกลักลอบขุดหาของขึ้นไปขาย แหล่งเรือถูกระเบิดทำลายจนเสียหาย ไม่สามารถป้องกันได้เลย

แม้หลักฐานเหลืออยู่ไม่เท่าที่เคยมีในเรือแต่ละลำ โครงการโบราณคดีใต้น้ำ ในฝ่ายวิชาการก็ได้กู้เอาโบราณวัตถุต่างๆ ขึ้นมาศึกษา

ต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาเครื่องถ้วยทะเล...ในเล่ม...บางตอน

ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลรวมราว ๒,๗๐๐ กิโลเมตร เปิดออกสู่ทะเลกว้าง ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่งจึงเป็นเมืองท่า แหล่งค้าขายของพ่อค้าวาณิชย์ เป็นที่หมายปลายทางของนักเดินเรือ ที่มุ่งเข้ามาแวะพัก ซื้อน้ำจืด ซื้อเสบียงอาหารเพิ่มเติม

ที่สำคัญที่สุด คือการแวะขายและซื้อสินค้าตามเมืองท่าต่างๆ

การเดินทางติดต่อค้าขายทางเรือ เป็นปัจจัยก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เทคโนโลยี ศาสนา และในที่สุดก็มีการเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของคนต่างถิ่น และคนพื้นถิ่น

น่านน้ำไทยเป็นแหล่งสัญจร เป็นเส้นทางเดินเรือของคนหลายหมู่ หลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และหลากวัฒนธรรม

ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔ เป็นระยะที่การเดินเรือเพื่อการค้าในน่านน้ำทะเลไทย เป็นไปอย่างคึกคักและคับคั่ง มีเรือจากภูมิภาคต่างๆ แวะเวียนเข้ามา และมีเรือออกไปจากน่านน้ำไทยจำนวนมาก

เรือประเภทสำคัญที่มีบทบาทมากในการนำเอาสินค้าจากแดนไกล เข้ามาสู่ผืนแผ่นดินประเทศไทย และนำเอาสินค้าจากประเทศไทยออกไปสู่ดินแดนอื่นๆ ทั้งไกลและใกล้ คือเรือเดินทางในตระกูลสำเภา ซึ่งเป็นเรือของโลกตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเอเชียอาคเนย์

กับเรือในตระกูล “กำปั่น” ซึ่งมีกำเนิดจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป

ยังอาจจะมีเรือในกลุ่มเปราฮู จากหมู่เกาะอินโดนีเซีย และเรือแบบโธว์ จากแถบเปอร์เซีย อาหรับ และอินเดีย เข้ามามีบทบาทบ้าง

สินค้าสำคัญที่ส่งไปจากแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะจากสยาม หรือกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ได้แก่ของป่า เช่น ไม้หอม ครั่ง เครื่องเทศบางชนิด หนังสัตว์ ข้าว ตะกั่ว น้ำตาล

และเครื่องถ้วยชาม

สินค้าขาเข้า ที่เรือบรรทุกผ่านน่านน้ำไทยไปยังถิ่นอื่น ได้แก่ เครื่องถ้วยจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ผ้าแพรพรรณ ผ้าไหม เครื่องภาชนะโลหะ และอาวุธปืนจากยุโรป

การเดินทางทางเรือส่วนมากประสบความสำเร็จ แต่มีเรือจำนวนไม่น้อย ที่การเดินทางล้มเหลว ประสบภัยพิบัติอับปาง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทำให้สินค้า ข้าวของต่างๆ จมสูญไปกับเรือ

น่านน้ำไทยเป็นย่านหนึ่งที่มีเรือจำนวนมากล่มจม เหลือร่องรอยและซากเรือ และโบราณวัตถุไว้ให้ศึกษาจำนวนมาก

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๑๗ มีการสำรวจและขุดค้นแหล่งเรือจม กู้เอาโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยขึ้นมาศึกษาและเก็บรักษาใน ๒๕ แห่ง มีแหล่งที่พบเครื่องถ้วย ๑๙ แห่ง

มีเครื่องถ้วยเป็นตัวอย่างในการศึกษาราว ๑ หมื่นชิ้น ประกอบด้วย เครื่องถ้วยไทย เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียดนาม หรืออันนัม อายุสมัยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔

เครื่องถ้วยบางชนิดเป็นสินค้า บางกลุ่มเป็นภาชนะที่ใช้ในการหุงต้ม บรรจุอาหารแห้ง น้ำ ข้าวสาร ข้าวเปลือก

เครื่องถ้วยที่นำมาเป็นภาพประกอบชิ้นนี้...ชุดความรู้จากนักวิชาการ เรียกว่า ขวดสองหูทรงมะละกอ ขนาดใหญ่ รูปทรงคล้ายลูกมะละกอ คอสั้นแคบมาก ปากบานออก ขอบปากแบออก ไหล่ลาดลงสู่ส่วนกว้างของตัวช่วงล่าง ก้นแบนเรียบ ไม่มีขอบฐานตรงรอยต่อของคอกับไหล่

มีหูปั้นแปะเป็นห่วงตามแนวตั้ง ปล่อยชายหูด้านล่างแปะยาวแนบตัวขวดลงไปถึงเกือบกึ่งกลางของความสูง เนื้อดินหยาบแกร่งมาก สีเทา สีเทาแกมชมพู ไม่เคลือบผิว

พบในแหล่งเรือสีชัง ๑ เรือสีชัง ๓

แต่เครื่องถ้วยชิ้นนี้ มีส่วนล่างผายออกมา สัณฐานไม่กลมเหมือนมะละกอแต่ออกไปทางแป้น...นักเล่นเครื่องถ้วยรุ่นใหม่ เรียกกันอีกชื่อว่า ทรงลูกแพร์ เครื่องถ้วยรูปทรงนี้มีน้อยมาก

ผู้รู้ชี้ว่า เป็นเครื่องถ้วยจากแหล่งเตา แม่น้ำน้อย ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี



ที่มา-ภาพและข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ