[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
07 พฤษภาคม 2567 23:12:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 51
21  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / กายกับจิต แยกให้ออกจากกัน พอจ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:45:50



พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๕ กัณฑ์ที่ ๔๒๗  วันที่  ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔


กายกับจิต แยกให้ออกจากกัน

เรื่องของจิตจึงเป็นเรื่องที่ลึกลับ ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ เพราะหลงยึดติดกับร่างกาย ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เลยว่าจิตเป็นสิ่งที่วิเศษ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ถูกความหลงหลอกให้ไปยึดติดกับร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย มีนิทานในสมัยพุทธกาล มีคนเลี้ยงม้าคนหนึ่งขาไม่ดี ขาเป๋ เดินกะเผลกๆ ม้าที่เลี้ยงก็เดินกะเผลกตามคนเลี้ยง ทั้งๆที่ขาม้าไม่ได้เป็นอะไร จิตเราก็เหมือนกัน พอได้ร่างกายมาครอบครอง ก็หลงคิดว่าร่างกายเป็นจิต พอร่างกายเป็นอะไรก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายแก่ก็แก่ตาม ร่างกายเจ็บก็เจ็บตาม เพราะไม่มีปัญญาแยกแยะจิตออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เกิดแก่เจ็บตาย ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ จะลุกขึ้นได้ จิตต้องสั่งก่อน ว่าจะลุกถึงจะลุกได้ จะเดินจิตก็ต้องสั่ง จะมาที่นี่ได้จิตก็ต้องสั่งไว้ก่อน ว่าวันนี้จะมาที่นี่ พอถึงเวลาก็ออกเดินทางมากัน ร่างกายไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นผู้ทำตามคำสั่งของจิต

พวกเราต้องศึกษาร่างกายกับจิต แยกให้ออกจากกัน อย่าให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นคนละคนกัน ใจเป็นเจ้าของร่างกาย ที่เป็นสมบัติชั่วคราว ที่จะต้องหมดสภาพไป ถ้าใจต้องอาศัยร่างกายทำประโยชน์ ก็ต้องรีบทำอย่างเต็มที่ คือปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ เจริญสติให้เต็มที่ พอทำงานนี้เสร็จแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าปฏิบัติไม่เสร็จแล้วร่างกายตายไป ก็ต้องรอให้ได้ร่างกายอันใหม่ ถึงจะปฏิบัติต่อได้ ก็จะเสียเวลาไป จึงควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะตายวันนี้ก็ได้ ตายพรุ่งนี้ก็ได้ อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ ไม่มีใครรู้ ถ้าจะไม่ประมาท ก็ต้องคิดว่าอาจจะต้องตายในวันนี้ ถ้าคิดอย่างนี้เวลาไม่สบายไปหาหมอ พอหมอบอกว่าเหลืออีก ๓ เดือน ก็จะดีใจ เพราะคิดว่าจะตายวันนี้ แต่หมอให้ตั้ง ๓ เดือน ถ้าไม่คิดอย่างนี้ พอหมอบอกว่าเหลือ ๓ เดือน ก็จะหมดกำลังใจ วันก่อนก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่า หมอบอกว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่เดือน จะให้ทำอย่างไร เราก็บอกให้รีบปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด ตอนนี้ไม่ต้องไปคิดถึงความตายแล้ว เพราะรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไปคิดก็จะไม่มีกำลังใจปฏิบัติ ต้องลืมเรื่องความตาย ให้พุ่งไปที่การปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด เจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญาให้มากที่สุด

ถ้าไม่เห็นความตายก็จะไม่รีบขวนขวาย จึงต้องอยู่ใกล้เหตุการณ์จริง จะได้กระตือรือร้นปฏิบัติและบรรลุธรรมได้ อย่างพระราชบิดา ก็ทรงบรรลุ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต เพราะเห็นความจริง เห็นความตาย กิเลสที่อยากจะอยู่ก็จะหายไป เพราะรู้ว่าอยากอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง ไม่ให้ตั้งใจปฏิบัติ ความห่วงใยความกังวล กับเรื่องสมบัติข้าวของเงินทอง กับบุคคลต่างๆ ตอนนั้นไม่สนใจแล้ว สนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์กับความตาย ที่จะตามมาในระยะอันใกล้นี้ ถ้ามีคนสอนวิธีให้ทำจิตให้สงบ ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว พอจิตสงบแล้วร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เดือดร้อน ต้องไปดูศพไปงานศพอยู่เรื่อยๆ ไปอยู่ในสถานที่ที่ท้าทายกับความเป็นความตาย ก็จะทำให้ไม่ประมาท จะรีบขวนขวาย จะเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่มีความหมายเลย ช่วยไม่ได้เลยเวลาใกล้เป็นใกล้ตาย สมบัติเงินทองต่างๆช่วยไม่ได้เลย มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยได้ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็เหมือนมีอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู ที่จะสร้างความทุกข์ต่างๆให้เกิดขึ้นตอนใกล้ตาย จะไม่หวั่นไหวเดือดร้อน จะปล่อยวางร่างกาย ใจก็จะสงบ.
22  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:41:16



ตัวโกรธ
ถาม : วันหนึ่งลูกนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ได้ข่าวว่าคนที่รู้จักเสียชีวิต ก็เลยคิดไปว่า ถ้าเราโกรธเขาอยู่ พอเขาตายไป เรายังโกรธเขาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่โกรธ แสดงว่าเราโกรธกายเขาใช่หรือไม่ กายเขาตายไป เราถึงได้หยุดโกรธ แต่ถ้าเราโกรธใจเขา เราน่าจะโกรธข้ามชาติไป ชาติหน้าโกรธอีก โกรธไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดโกรธก็ไม่น่าจะโกรธใจ ก็เลยวนมาคิดว่า หรือว่าเราโกรธการกระทำ ถ้าเราโกรธการกระทำนั้นแปลว่าอะไร แปลว่าการกระทำนั้นมันน่าโกรธ ถ้าใจเราเป็นตัวโกรธ มันก็ไม่ใช่การกระทำ มันเป็นที่ใจ ก็หยุดคิดไปดื้อๆ ทั้งๆที่กำลังคิดเพลินดี ยังอยากคิดต่อ แต่ก็ไม่คิดต่อ หยุดไปเฉยๆ

พระอาจารย์ : เกือบจะได้คำตอบแล้ว เข้าไปถึงจุดแล้ว คือใจที่ไม่ชอบการกระทำของเขา พอเขาทำเราก็โกรธ ถ้าเราไม่มีความไม่ชอบ เขาจะทำอะไรเราก็จะไม่โกรธ ตรงประเด็นกับวันนี้ที่เทศน์ว่า อย่าไปแก้ที่เขา ต้องแก้ที่ใจเรา แก้ความโกรธที่เกิดจากความอยาก พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ อยากให้เขาดี พอเขาไม่ดีก็โกรธ เกือบจะได้คำตอบแล้ว แต่หยุดเสียก่อน.


ไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป
ถาม : มีญาติโยมคนหนึ่งต้องแอบซื้อของมาทำบุญ เพราะญาติไม่ให้มา

พระอาจารย์ : เพราะมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่ธรรม จะแอบทำก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นคิดไม่ดี แต่อย่าแอบเอาของของคนอื่นมาทำบุญ เพราะจะขาดทุนมากกว่ากำไร ถ้าไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป จะได้บุญมากกว่า  บุญที่ได้จากการให้ทานเป็นเหมือนแบงก์ ๒๐ แบงก์ ๕๐ บุญที่ได้จากการรักษาศีลเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐ บุญที่ได้จากการนั่งสมาธิเป็นเหมือนแบงก์ ๕๐๐ บุญที่ได้จากการเจริญปัญญาเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐๐   ถ้าทำบุญให้ทานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินหรือมีคนขัดขวาง ไม่ต้องทำก็ได้ รักษาศีลนั่งสมาธิเจริญปัญญาจะได้บุญมากกว่า.


ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป
 
พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ : ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ : ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


บริกรรมพุทโธไปดีกว่า
ถาม : เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่านใช่ไหมคะ บางคนแนะนำให้พิจารณาความคิด ก็เลยสงสัยว่าแบบไหนจะถูก

พระอาจารย์ : ให้พิจารณา ถ้าไม่สามารถบริกรรมได้ ให้ใช้ปัญญาข่มใจแทน เช่นกำลังฟุ้งซ่านกับการเรียน วิตกกังวลว่าปีนี้จะผ่านหรือไม่ จิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ ก็ต้องวิเคราะห์ด้วยปัญญาดูว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่เหตุ เหตุก็คือ การเรียนการศึกษา ถ้าขยันศึกษาเต็มที่แล้ว จะผ่านไม่ผ่านก็แล้วแต่ ถ้ายังศึกษาไม่เต็มที่ ก็ควรศึกษาให้เต็มที่
ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาศึกษา ก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน บริกรรมพุทโธไปดีกว่า ใจก็จะปล่อยวาง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน กลับมาบริกรรมพุทโธได้ อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ เป้าหมายของการนั่งสมาธิ ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้านั่งเฝ้าดูความคิดจะไม่มีวันหยุด  อย่างที่โยมพูดว่าปล่อยให้คิดให้พอ แล้วจะพอ ไม่มีวันพอหรอก จะทนนั่งไม่ได้ นั่งไปสักพักจะเจ็บ จะอึดอัด อยากจะลุกไปทำอย่างอื่น ถ้าไม่ได้คิดจะนั่งได้นาน ยิ่งสงบเท่าไหร่ยิ่งไม่อยากจะลุกไปไหน เพราะความสงบเป็นความสุขที่เลิศที่สุด เป็นความสุขที่แท้จริง ทดแทนความสุขต่างๆได้ เช่นอยากจะดื่มเป๊ปซี่ พอจิตสงบก็ไม่อยากจะดื่ม ไม่หิวกระหาย ถ้าไม่อยู่กับพุทโธ คิดแต่เป๊ปซี่เป๊ปซี่ ก็จะลุกขึ้นไปดื่มเป๊ปซี่จนได้.


เอาทีละอย่าง
ถาม : เวลาดูร่างกายว่าไม่เที่ยง แล้วต้องดูจิตด้วยหรือเปล่าคะ ว่าจิตเรานี้เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง

พระอาจารย์ : เอาทีละอย่าง เอาร่างกายก่อน เอาให้หมดเป็นเรื่องๆไป จิตมันละเอียดยิ่งกว่าร่างกาย ถ้ายังเอาร่างกายไม่ได้ ก็จะเอาจิตไม่ได้ มันคนละขั้นกัน ต้องเอาขั้นร่างกายก่อน ละสักกายทิฐิละกามราคะก่อน แล้วค่อยไปละจิต.


ความกลัว
ถาม : บ้านพี่สาวมีคนตาย ก็กลัวเหมือนกัน ตั้งใจจะเข้าไปดู พอเข้าไปจริงๆเริ่มหวั่นนิดๆ

พระอาจารย์ : ตอนที่ไม่ตายไม่รู้สึกอะไร พอตายก็กลัวขึ้นมาทันที เวลาเป็นกับเวลาตายต่างกันตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่หายใจกับไม่หายใจเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปกลัวคนที่ไม่หายใจแล้ว

ถาม : พอไปเจอของจริง ก็รู้สึกกลัว วันแรกๆรู้สึกไม่ดี พอวันต่อๆไปก็พยายามฝืนตัวเอง เพราะต้องอยู่ตรงนั้น ก็ค่อยๆดีขึ้นมาทีละนิด แต่ก็ยังไม่หายกลัว

พระอาจารย์ : ต้องใช้สมาธิช่วย บริกรรมพุทโธๆไป เวลาเกิดความกลัวก็ให้พุทโธๆไป ถ้าไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขากับเราก็เหมือนกัน เราก็เป็นผี เขาก็เป็นผี ทำไมไม่กลัวร่างกายของเรา ทำไมไปกลัวร่างกายของเขา ร่างกายของเขาก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีผมขนเล็บฟันฯลฯเหมือนกัน  เหมือนอย่างที่หลวงตาเขียนไว้ในหนังสือปฏิปทาฯ เรื่องกลัวเสือ เสือมันมีอะไรที่เราไม่มี ก็พิจารณาไป มันมีขนเราก็มีขน มันมีเขี้ยวเราก็มีฟัน พิจารณาไปพิจารณามา ก็มีอย่างเดียวที่เราไม่มี ก็คือหาง อ้อเรากลัวหางมันเหรอ ต้องพิจารณาซากศพว่า เขามีอะไรที่เราไม่มีบ้าง เราไปกลัวผมเขาเหรอ แล้วเราไม่กลัวผมเราเหรอ ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะดับความกลัวได้ เพราะความกลัวเป็นอารมณ์ เป็นความหลง ไม่มีเหตุไม่มีผล ก่อนที่จะพิจารณาด้วยปัญญาได้ ต้องมีสมาธิก่อน ถ้ายังไม่มีสมาธิเวลากลัว ก็ต้องใช้การบริกรรมไปก่อน ให้จิตสงบ ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งซ่าน จะเป็นบ้าได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผลได้ คิดเปรียบเทียบตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว.


การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น
ถาม : ถ้ารู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้จะเกิดวิปัสสนาญาณไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่เกิด เป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น คือสติสมาธิปัญญา เจริญสติแล้วก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอออกมาจากความสงบ ก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ พิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย  ร่างกายไม่สวยงามเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูลสกปรก อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา.


ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด
ถาม : กลางคืนหลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็นั่งภาวนาพุทโธๆ พอตื่นขึ้นมาตอนตีสองตีสาม จะพิจารณาได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พิจารณาทั้งตัวเราเองและคนอื่น ไม่ใช่ร่างกายของเราเท่านั้น คนที่เรารักที่เรารู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน คนที่เราไม่รักเราไม่รู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ควรเจริญสติและพิจารณาทางปัญญาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เจริญสติ ก็ควรพิจารณาทางปัญญา เห็นอะไรก็คิดว่าไม่เที่ยง อย่าไปอยากได้ ถ้าอยากได้ก็จะทุกข์ ก็จะตัดกิเลสได้.


แต่ทำไม่ได้
ถาม : ถ้าเอาปัญญามาคิดว่าเป็นดินน้ำลมไฟ

พระอาจารย์ : เป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้ายอมรับก็เป็นปัญญา ก็จะปล่อยวางได้ ก็จะไม่มีทุกข์ใจ เพราะไม่มีตัณหา ความอยากที่จะให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

ถาม : จะดับทุกข์อย่างถาวรไหมคะ

พระอาจารย์ : จะดับอย่างถาวร ทุกครั้งที่เจอความเจ็บจะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ

ถาม : ความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดี

พระอาจารย์ : เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยาก ถ้ายินดีก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ยินดีก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ ต้องตัดความยินดีและไม่ยินดี เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ถ้าเฉยๆ จะอยู่จะไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เฉยๆ อะไรก็ได้ เจ็บก็ได้ ไม่เจ็บก็ได้ ใจต้องเฉยๆ แต่ใจถูกกิเลสซุ่มสอนให้รัก ให้ชัง ให้กลัว ให้หลงอยู่ตลอดเวลา ใจมีอคติ ๔ อยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ปัญญาดับอคติ ๔ ให้รู้ว่าสิ่งที่ไปรักไปชัง ไปกลัว ไปหลง ไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใจเลย ใจไปหลงเอง  ถ้าคิดว่าจะเป็นคุณกับใจก็รัก ถ้าคิดว่าจะเป็นภัยก็ชังก็กลัว ความจริงไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถให้คุณให้โทษกับใจเลย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ใจเพียงรับรู้สิ่งต่างๆผ่านทางร่างกาย ร่างกายเป็นเครื่องมือรับข้อมูลต่างๆไปให้ใจ ใจไม่ได้อยู่ในมิตินี้ อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้โลกจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ใจจะไม่ถูกทำลายไปด้วย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้

ใจไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดจะดับ ใจไม่ได้ไม่เสียด้วย แต่ใจไม่รู้ความจริงนี้ เพราะใจไปหลงยึดติดกับร่างกาย ไปคิดว่าใจกับร่างกายเป็นอันเดียวกัน ได้เสียไปกับร่างกาย เวลาร่างกายเจ็บ ใจก็จะเจ็บตามไปด้วย เวลาร่างกายสุข ใจก็จะสุขตามไปด้วย ต้องแยกใจออกจากร่างกายให้ได้ ให้ร่างกายเป็นเหมือนกับเครื่องบินที่ใช้วิทยุบังคับ ผู้ที่บังคับเครื่องบินไม่ได้อยู่ในเครื่องบิน เครื่องบินตกก็ไม่ได้ทำให้ผู้บังคับเครื่องบินเดือดร้อนแต่อย่างใด ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นตัวหนึ่ง ที่ใจเป็นผู้บังคับ ด้วยการใช้กระแสจิต บังคับให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ใจไม่ได้ไม่เสียไปกับร่างกาย แต่ใจไปหลงคิดว่าได้เสียตามร่างกาย เวลาขึ้นเงินเดือนก็ดีใจ เวลาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็ดีใจ เวลาถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ


อยู่ที่ความสามารถของสติ
ถาม : เวลาร่างกายตายไป จิตยังไม่เห็นหรือคะว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

พระอาจารย์ : จิตไม่เห็น เพราะไม่มีสติปัญญา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจิตจะหลง จิตไม่นิ่ง

ถาม : แล้วหลังจากที่ตายไปแล้ว

พระอาจารย์ : เหมือนคนที่สลบไสล ตายไปแล้วก็เหมือนนอนหลับฝันไป ถ้าฝันดีก็ขึ้นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็ตกนรก จะมาตื่นก็ตอนที่มาเกิดใหม่ มาได้ร่างกายใหม่

ถาม : ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปตลอด จะทันไหมคะ

พระอาจารย์ : ขึ้นอยู่กับความสามารถของสติ ถ้าทำได้ก็จะเป็นฌาน เป็นสมาธิ ก็จะไปเกิดบนพรหมโลก อย่างพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ท่านชำนาญในการเข้าฌาน เวลาร่างกายท่านตายไป ท่านก็เข้าฌานไป ปล่อยวางร่างกายไปเข้าไปอยู่ในสมาธิ พอร่างกายตายไปจิตก็ไปสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าฝึกบ่อยๆก็จะทำได้ ถ้าฝึกไม่บ่อย พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ก็จะตกใจ ตื่น ลืมไปหมด ควรจะทำจิตให้สงบ กลับไม่ทำ กลับไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ยอมให้ร่างกายตาย ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา จึงต้องซ้อมไว้ก่อน การปฏิบัติก็เป็นการซ้อมไว้ก่อน ก่อนที่จะเข้าห้องสอบ พวกเราทุกคนต้องเข้าห้องสอบ คือความเจ็บและความตาย ถึงต้องนั่งให้เจ็บ จะได้ทำใจให้ปล่อยวางความเจ็บ อย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ให้อยู่กับความเจ็บให้ได้ รับรู้ความเจ็บให้ได้ ความเจ็บทำลายใจไม่ได้หรอก เราไปกลัวความเจ็บเอง

เหมือนดูหนังผี ผีอยู่ในจอ ออกมานอกจอไม่ได้ ทำร้ายคนดูไม่ได้ แต่คนดูต้องปิดตาไม่กล้าดู เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงหนัง ร่างกายเป็นเหมือนตัวละครในจอหนัง ส่วนใจเป็นคนดู แต่ใจไปติดอยู่กับตัวละคร พอตัวละครเป็นอะไรไปก็เป็นไปด้วย ไม่มีปัญญาแยกใจออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นตัวละคร ใจเป็นคนดูละคร ไม่ดูเฉยๆ ไปแสดงด้วย ไปดีใจ ไปเสียใจ ไม่ดูเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ถึงต้องทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงอุเบกขาก่อน พอเข้าถึงสักแต่ว่ารู้ ถึงอุเบกขาได้แล้ว เวลาออกจากสมาธิก็ใช้ปัญญาประคับประคองใจ ไม่ให้ออกจากอุเบกขาได้ เพราะเวลาออกมาเห็นอะไรก็จะชอบจะชัง จะหลุดจากอุเบกขา ก็ต้องใช้ปัญญาให้กลับเข้าไปในอุเบกขา ให้เฉยๆ ชอบก็เฉย ชังก็เฉย ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะอยาก จะว้าวุ่นขุ่นมัว

ต้องมีสมาธิก่อน เพื่อเราจะได้พบจุดยืนของจิต คือสักแต่ว่ารู้ หรืออุเบกขา ไม่รักไม่ชัง ไม่ยินดียินร้าย รู้เฉยๆ พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสจะลากจิตให้ออกจากจุดนี้ ให้ไปรักไปชัง ไปกลัวไปหลง ต้องใช้ปัญญาสกัด ด้วยการพิจารณาว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง อย่าไปอยากเลย บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ได้มาแล้วก็ต้องเสียไปอยู่ดี ถ้าอยากแล้วไม่ได้ ก็จะเสียใจ ไม่นิ่ง ไม่สงบ ต้องใช้ปัญญาหลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว การเจริญปัญญาก็เจริญได้ ๒ ลักษณะ ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงก็ซ้อมไปก่อน ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเราทำงาน พบคนพูดดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็ต้องรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปซ้อมก่อน ไปอยู่วัดสักพัก ไปพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน ซ้อมไว้ก่อน พิจารณาว่าห้ามเขาไม่ได้ เป็นเหมือนฝนตกแดดออก แต่ห้ามใจเราได้ ห้ามไม่ให้ไปยินดียินร้าย รักษาอุเบกขาไว้ เป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดของใจ.


ไม่เกิน ๗ ชาติ
ถาม : ถ้าบรรลุโสดาบันแล้ว ต้องกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า

พระอาจารย์ : ต้องกลับมาเกิดอีก แต่ไม่เกิน ๗ ชาติ ในพระคัมภีร์แสดงไว้อย่างนี้ ถ้าขยับขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี ก็จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียว ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านตัดกามตัณหาได้หมดแล้ว ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐานจนเบื่อหน่าย ในรูปร่างหน้าตาของคน ไม่เห็นว่าสวยงาม เหมือนตอนที่ยังไม่ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พอพิจารณาเห็นอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ที่ถูกขับออกมาทางทวารต่างๆ ก็เกิดความขยะแขยง แทนที่จะกำหนัดยินดี กลับขยะแขยง ไม่อยากจะเข้าใกล้ ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นซากศพ ก็จะไม่อยากร่วมหลับนอนด้วยเลย ความกำหนัดยินดีคือราคะตัณหา ได้หมดไปจากใจของพระอนาคามี ท่านก็เลยไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านมีความสุขที่เหนือกว่า คือความสุขสงบของใจที่เรียกว่า ฌาน ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหม

นี่คือเรื่องของภพชาติที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นผลจากการได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าปฏิบัติเพียงทานศีลและสมาธิ จะไม่ได้อริยมรรคอริยผล ตายไปก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเดิม เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ องค์ที่ได้ฌาน หลังจากที่ท่านตายไปแล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม แต่เป็นสวรรค์ชั้นพรหมที่ต้องเสื่อม เพราะขึ้นไปด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ได้ขึ้นไปด้วยกำลังของปัญญา เช่นของพระอนาคามี พระอนาคามีได้ชั้นพรหมด้วยการชำระกิเลส ที่ทำใจไม่ให้สงบ พอชำระกามราคะออกไปจากใจได้ ใจก็สงบเป็นธรรมชาติ เป็นฌานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธเพ่งกสิณให้จิตสงบ ฌานแบบนี้ไม่มีวันเสื่อม

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าน่าเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้สอนพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูป วิธีทำฌานไม่ให้เสื่อม ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะท่านตายไปก่อน ถ้าท่านยังไม่ตาย และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เรื่องอริยมรรคอริยผลให้ฟังรับรองได้ว่าจะสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะที่ฟังเลย เช่นพระปัญจวัคคีย์ผู้ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้า พอทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็มีพระรูปหนึ่งบรรลุโสดาบันทันที หลังจากนั้นทรงแสดงพระธรรมอีกครั้งสองครั้ง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งหมด ๕ รูปเลย เป็นอำนาจของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทำได้ ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะปัญญาระดับนี้ต้องเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำได้ ที่จะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นพระอริยสัจ ๔

พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าปล่อยให้พระอริยสัจ ๔ อย่าปล่อยให้อนิจจังทุกขังอนัตตา ห่างไกลไปจากใจ ต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง จะได้เสร็จงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ๗ วัน หรือ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ เจริญสติอย่างเต็มที่ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอริยสัจ ๔ อย่างเต็มที่ ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก ถ้าฉลาดมาก ๗ วันก็สามารถบรรลุได้ ไม่ทรงปฏิเสธว่าคนนั้นคนนี้บรรลุไม่ได้ มีแต่พวกเราที่ไปปฏิเสธกันเอง ว่าบรรลุไม่ได้ ไปพูดกันเองต่างหากว่าเราเป็นไปไม่ได้เอง ทำไมไปปฏิเสธตัวเราเอง ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเลย ทรงตรัสว่ามีสิทธิมีความสามารถเท่ากันหมด.
23  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ เมื่อ: 09 เมษายน 2567 15:47:15
.



ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ

         อะวิชชาปัจจะยา  สังขารา  สังขาระปัจจะยา  วิญญาณัง  วิญ-

ญาณะปัจจะยา  นามะรูปัง  นามะรูปะปัจจะยา  สะฬายะตะนัง  สะฬา-

ยะตะนะปัจจะยา  ผัสโส  ผัสสะปัจจะยา  เวทะนา  เวทะนาปัจจะยา

ตัณหา  ตัณหาปัจจะยา  อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว  ภะวะ-

ปัจจะยา  ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง  โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะ-

นัสสุปายาสา  สัมภะวันติ ฯ  เอวะเมตัสสะ  เกวะลัสสะ  ทุกขักขันธัสสะ

สะมุทะโย  โหติ  ฯ

         อะวิชชายะเตววะ  อะเสสะวิราคะนิโรธา  สังขาระนิโรโธ  สังขา-

ระนิโรธา    วิญญาณะนิโรโธ  วิญญาณะนิโรธา  นามะรูปะนิโรโธ  นามะรู-

ปะนิโรธา  สะฬายะตะนะนิโรโธ  สะฬายะตะนะนิโรธา  ผัสสะนิโรโธ

ผัสสะนิโรธา  เวทะนานิโรโธ  เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ  ตัณหานิโรธา

อุปาทานะนิโรโธ   อุปาทานะนิโรธา  ภะวะนิโรโธ  ภะวะนิโรธา  ชาตินิโรโธ

ชาตินิโรธา  ชะรามะระณัง  โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา

นิรุชฌันติ  ฯ  เอวะเมตัสสะ  เกวะลัสสะ  ทุกขักขันธัสสะ  นิโรโธ  โหติ ฯ

วัดโพรงจระเข้ ตรัง
24  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: สมาธิ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:20:10

ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เป็นบาทแห่งวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้ามีสมาธินั้น สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไวมาก ไวอย่างไร ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราเดินจงกรมไปเราก็สามารถที่จะเข้าสมาธิ ขณะที่เรา “ยืนหนอ” มันเข้าสมาธิเราก็พยายามจำว่ามันเข้าสมาธิไปตอนไหน เข้าสมาธิไปตอนเรายก ตอนเราย่าง ตอนเราเหยียบ หรือว่าตอนเรายืน

            หรือขณะที่เรายืนกำหนดจิตตอนไหนมันดับลงไป ร่างกายส่วนไหนมันดับลงไป นี้เราต้องพยายามจำให้ได้ บุคคลผู้ได้สมาธิเวลานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอๆ” ถ้าสมาธิมันรวมจริงๆ บางครั้งอาการพองหนอยุบหนอไม่ถึง ๓ ครั้ง มันดับลงไป ขณะที่มันดับพรึบลงไป สมาธิมันนิ่งลงไป ๕ นาที ๑๐ นาที รู้สึกตัวขึ้นมา ขณะที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาบางครั้งมันก็ปรากฏนิมิตขึ้นมา นิมิตเห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระธาตุพนม องค์พระปฐมเจดีย์ นิมิตมันดับลงไป

            เมื่อนิมิตมันดับลงไปแล้วปีติมันก็ปรากฏขึ้นมา ขณะปีติมันปรากฏขึ้นมานั้นแหละ ใจของเราความรู้สึกของเรามันก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมา เรากำลังจะกำหนดว่า “พอง” หรือกำลังจะกำหนดว่า “ยุบ” มันก็ดับพรึบลงไปอีก นี่ในลักษณะของการเข้าสมาธิ บางคนที่มาถามในวันนี้ว่ามันดับลงไป บางครั้งมันดับลงไปจนเราตั้งตัวไม่ทัน เรารู้สึกตัวเรากำลังจะหายใจออกมันดับพรึบลงไปอีก เรายังไม่หายใจออกเลย บางครั้งเรากำลังจะหายใจเข้าเรายังไม่หายใจเข้ามันดับพรึบลงไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ เวลาสมาธิมันรวมเราก็ปล่อยให้มันรวมไป แต่ให้เราจำให้ได้ว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนเราหายใจเข้าหรือหายใจออก เราบริกรรมว่า “พอง” หรือว่า “ยุบ” นี้เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไว

            ข้อที่ ๓ อานิสงส์ของสมาธิ ท่านกล่าวว่าทำให้บุคคลนั้นได้อภิญญา คือได้อภิญญา ๖ ได้ฤทธิ์ได้เดช อภิญญา ๖ มีอะไรบ้าง อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ มีทิพพจักขุ มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น ทิพพโสต มีหูทิพย์  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ อาสวักขยญาณ การรู้จักทำอาสวะให้สิ้น นี้เป็นลักษณะของอภิญญา ๖ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่าบุคคลนั้นได้จตุตถฌาน แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

            สิ่งสำคัญก็คือ บุคคลนั้นได้จตุตถฌาน จึงสามารถยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นมาได้ วิชชา ๓ ก็เหมือนกัน ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ก็ต้องได้อรูปฌาน ต้องได้อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน   เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ต้องได้ตัวนี้ด้วย จึงจะได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นความอัศจรรย์ใจในพระศาสนา สรุปประมวลลงที่สมาธิ ถ้าไม่ได้สมาธิแล้ว ความอัศจรรย์ใจน้อยมาก เหมือนกับโยมนี้แหละถามกัน ถามว่า “ทำไมผมไม่เห็นสักที อาจารย์ เขาว่าเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ทำไมผมไม่เห็น” อาตมาก็เลยว่า “เออ อันนั้นบารมีมันไม่เหมือนกันคุณโยม” โยมก็เลยเข้าใจ เพราะฉะนั้นบารมีไม่เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิ ความอัศจรรย์ใจนั้นก็น้อยลงไป แต่ก็สามารถที่จะหมดกิเลส ทำให้ราคะมันสิ้นไป โทสะมันสิ้นไป โมหะมันสิ้นไป เมื่อได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

            ประการที่ ๔ บุคคลใดเจริญสมาธิแล้วบุคคลนั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตายแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก เหมือนกับอาฬารดาบสและอุทกดาบสตายไปแล้วก็ไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม ตามบุญญาธิการของตนเองที่ได้สั่งสมอบรมมา

            ประการที่ ๕ คือประการสุดท้าย บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ดี เป็นพระอนาคามีก็ดี ถ้าบุคคลใดได้รูปฌาน อรูปฌานแล้วบรรลุเป็นพระอนาคามี ส่วนมากจะเข้านิโรธสมาบัติได้ ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้รูปฌาน อรูปฌานด้วยจะเข้านิโรธสมาบัติได้ แต่ถ้าบุคคลใดไม่ได้อรูปฌาน ถึงจะบรรลุเป็นพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ถึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้

            เพราะฉะนั้น ฌานหรือว่าสมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดทำ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ทั้งในปัจจุบัน ทั้งรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือเราจะอธิษฐานอย่างไรก็ได้ อย่างเช่นภิกษุที่ไปอยู่ป่า จะอธิษฐานว่า “สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขออย่าให้ไฟที่มันไหม้ ไม่สามารถที่จะไหม้กุฏิของข้าพเจ้าได้ ไม่สามารถที่จะไหม้บริขารของข้าพเจ้าได้ หรือว่าเสือก็ดี ช้างก็ดี ขณะที่ข้าพเจ้านั่งเข้าสมาธิอยู่นี้ ขออย่าได้มาทำอันตรายแก่ข้าพเจ้า อย่าให้เป็นอันตรายแก่บริขาร ร่างกายและชีวิตของข้าพเจ้าได้ นี่เราอธิษฐานอย่างนั้น บางครั้งพระธุดงค์ไปธุดงค์ ไฟป่ามันไหม้มา ไหม้ไปๆๆ แล้วไม่ไหม้กุฏิท่านก็มี ไม่ร้อนกุฏิท่าน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ โยมที่เขากำลังไปมอดไปดับไฟ ไปเห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ก็มี นี้ในลักษณะของคุณงามความดี ในลักษณะของสมาธิ อำนาจของคุณธรรมมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลถ้ามีสมาธิแล้วจะเป็นที่พึ่งของลูกของหลาน เป็นที่พึ่งของญาติของโยม เป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้

เท่าที่อาตมภาพได้กล่าวเรื่องสมาธิโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแล้ว ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของพระอาจารย์ที่มาสอนกัมมัฏฐาน ทั้งหมด ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันบำเพ็ญบารมี รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาทั้งหมดนี้ ขอให้บารมีทั้งหลายทั้งปวงที่เอ่ยนามมาแล้วนั้น จงได้มารวมกัน เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้มีอายุ มีวรรณะ มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เงินไหลนองขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระอริยสัจจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
25  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / สมาธิ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:18:56



ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่เพื่อนสหธรรมิกตลอดถึงญาติโยมผู้ใฝ่ในบุญในกุศลทุกท่านทุกคน

            วันนี้อาตมภาพก็มีโอกาสได้มาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอน้อมนำเอาเรื่องสมาธิมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็มาปฏิบัติเป็นวันที่ ๔ เมื่อผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงวันที่ ๔ ตามหลักการของวัดพิชโสภารามนั้น ท่านจะให้เราขึ้นระยะที่ ๒ เดินจงกรมว่า “ยกหนอ เหยียบหนอ” คือเราจะก้าวจากขั้นสมมุติบัญญัติ แต่ก่อนโน้นเราบริกรรมว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหน”อ คำว่า “ขวา” ก็ดี คำว่า “ซ้าย” ก็ดี ถือว่าเป็นสมมุติ เป็นคำสมมุติว่าขวาหรือว่าซ้าย แต่เมื่อขึ้นระยะที่ ๒ แล้วก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นปรมัตถ์สภาวะ ไม่มีขวาไม่มีซ้าย มีแต่รูปกับนาม เรียกว่า “ยกหนอ เหยียบหนอๆ” อันนี้เป็นปรมัตถ์สภาวะ

            เมื่อเราขึ้นระยะที่ ๒ แล้ว เราก็เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง คือเดินระยะที่ ๑  ๓๐ นาที ระยะที่ ๒  ก็ ๓๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น การนั่งนั้นต้องใช้ความอดทนมาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องใช้ขันติ ต้องใช้บารมีอย่างมาก ถ้าเราสามารถทำได้ก็แสดงว่าสมาธิของเราแก่กล้า บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้นั่งภาวนานั้นก็จะส่งให้เรานั้น เจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยทั้งหลายทั้งปวง คำว่าสมาธินั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้

            คำว่าสมาธินั้นแปลว่าตั้งใจมั่น คือมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมไม่หวั่นไหว ธรรมชาติใดย่อมตั้งมั่น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสมาธิ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่ท่านได้กล่าววิเคราะห์ไว้ในภาษาบาลี เมื่อเรามาพิจารณาว่าสมาธินี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เมื่อเรามาพิจารณามรรคมีองค์ ๘ นับตั้งแต่สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมาวายาโม สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็มีสัมมาสมาธิ มรรค ๘ จะขาดสมาธิเสียไม่ได้

            มรรค ๘ ก็คือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น เรามาฝึกสมาธินี้ก็ถือว่าเพื่อเป็นการที่จะพัฒนาหนทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่เมื่อเรามาพิจารณาพละ ๕ อย่างเช่นศรัทธา พละ ๕ ก็คือกำลัง กำลังคือศรัทธา กำลังคือความเพียร กำลังคือสติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา

            กำลังที่จะทำให้บุคคลได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  ก็อาศัยกำลังของสมาธิ หรือเรามาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านย่อไว้มี ๓ ประการ คือ ๑. ศีล ๒. สมาธิ ๓. ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แหละเป็นองค์แห่งตัวของพระศาสนา ถ้าบุคคลใดทำให้ดี ทำให้สมบูรณ์ ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ก็แสดงว่าบุคคลนั้นรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระศาสนา ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ได้เข้าถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

            เพราะฉะนั้น สมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดยังไม่ทำให้เกิดต้องทำให้เกิด บุคคลใดทำให้เกิดแล้ว ต้องรักษา ต้องพัฒนา รักษาไว้ให้ดี ไม่ให้มันเสื่อม ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าเราจะบรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ถึงฝั่งคือพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข นั่นแหละจึงจะถือว่าเรานั้นนิ่งนอนใจได้

            คำว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรารู้ว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้แล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะได้สมาธิ บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีความต่างกัน บางคนก็ได้สมาธิเร็ว บางคนก็ได้สมาธิช้า บางคนก็ได้สมาธิตื้น บางคนก็ได้สมาธิลึกๆ ก็มี อันนี้เป็นเพราะเหตุไร ? ถ้าเราจะสรุปใจความเหตุแห่งสมาธินั้นก็พอได้อยู่ ๒ ประการ คือ ๑ เหตุตั้งแต่อดีต เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา บุคคลนั้นสั่งสมอบรมในเรื่องสมาธินั้นมามาก

            ประการที่ ๒ เหตุปัจจุบัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สั่งสมอบรมบารมีมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน ไม่เคยบำเพ็ญสมถะบารมีมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เดินจงกรมนั่งภาวนา เดินอย่างไรจิตใจก็ไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะอะไร เพราะว่าบุญตนเองไม่ได้สั่งสมอบรมไว้ ครูบาอาจารย์แนะอย่างโน้นแนะอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ คิดว่าอาจารย์รูปโน้นสอนสมาธิดี อาจารย์รูปนี้ท่านมีคุณธรรม ท่านสอนสมาธิเก่ง เราก็ไปแสวงหาท่าน

            ขณะที่เราไปเราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ เพราะอะไร เพราะว่าบารมีแต่ภพก่อนชาติก่อนของเรามันน้อย อันนี้เป็นประเภทหนึ่งที่ทำสมาธิได้ยาก ประเภทที่ ๒ บุญแต่ชาติก่อนนั้นได้ทำไว้เยอะอยู่ แต่ในปัจจุบันนี้เป็นผู้ที่ขาดความเฉลียวฉลาด หรือไปอยู่ในสำนักที่ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ฝึกหรือว่าปฏิบัติผิดหลักผิดวิธี บางครั้งก็ไม่ได้ แต่บางครั้งฝึกถูกต้องเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นสัปปายะ มีการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง แต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่นห่วงการงานเกินไป ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงการค้าการขาย หรือก่อนที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมสามีก็ไม่อนุญาต หรือว่าผู้ที่เป็นสามีมาภรรยาก็ไม่อนุญาต หรือผู้เป็นลูกมาประพฤติปฏิบัติธรรมพ่อแม่ก็ไม่อนุญาต ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้แล้ว เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรมนั่งสมาธินั้น ก็ถือว่าเป็นการยาก

            บางคนบางท่านสามีมาประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะที่นั่งภาวนาไป พองหนอ ยุบหนอไป อารมณ์ดิ่งลงไปสู่สมาธิ มือมันแน่นเข้า ตัวมันรัดเข้า ดิ่งลงไป อารมณ์มันดิ่งลงไป ปรากฏเสียงดังขึ้นมาว่า พี่ๆๆ อย่าเพิ่งไปรอหนูด้วย อย่างนี้ก็มี อันนี้สามีมาประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้นก็มี พอได้ยินเสียงจิตมันยึดเสียง เมื่อจิตยึดเสียง จิตมันก็คลายออกจากสมาธิ เมื่อคลายออกจากสมาธิอารมณ์มันก็เข้ามาสู่ปกติ เวลามันจะดิ่งลงไปอีกๆๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นมันดังมาอีก อันนี้เรียกว่าจิตมันพ่วงกัน

            บางคนเคยทำให้พ่อแม่เสียอกเสียใจ เวลามันดิ่งลงไปๆๆ รูปภาพตัวนั้นมันก็ปรากฏขึ้นมา จิตมันก็ถอนออกจากสมาธิเหมือนกัน หรือบางคนบารมีไปทางวิปัสสนาญาณ ขณะที่สมาธิมันดิ่งลงไปๆๆ นั้นแหละ ขณะที่มันดิ่งลงไปมันจะเข้าไป มันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็คลายออกหายไปเหมือนกับเราเทน้ำลงทะเลทราย บางคนก็ไปนอน นอนแล้วก็เห็นเจดีย์ขาวสูงขึ้นเสียดฟ้า เจดีย์นั้นมันพังลงมา ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ในขณะนั้นเพราะว่าจิตใจมันไปสู่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณอย่างนี้ก็มี

            เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดเคยสั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน เดินจงกรมนั่งภาวนาก็สามารถที่จะทำได้ เหมือนกับสามเณรรูปหนึ่งในสมัยก่อนโน้น พรรษา ๓ พรรษา ๔ ได้ไปช่วยสอนกรรมฐาน ไปพาสามเณรเดินจงกรม ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ เป็นผู้กำหนดอยู่ที่บ้านอีเติ่ง สามเณรนั้นเดินจงกรมก็เข้าสมาธิท่าเดิน นั่งก็เข้าสมาธิท่านั่ง เวลาไปฉันภัตตาหารเช้าก็ดี ภัตตาหารเพลก็ดีต้องเดินคุมไป

            ถ้าปล่อยให้เขาเดินเขาก็เข้าสมาธิอยู่กลางทาง เวลาฉันภัตตาหารบอกว่าอย่ากำหนด สามเณร ให้ฉันภัตตาหาร มันจะเหนื่อย ขณะที่ฉันภัตตาหารกำหนดก็เข้าสมาธิในขณะฉัน นี่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เวลาอาบน้ำไปแปรงฟันก็เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟัน นี้เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นมา เวลานั้นก็ให้สามเณรหลายๆ รูปนั้นนั่งล้อม ล้อมสามเณรรูปนั้น เมื่อนั่งล้อมแล้วก็คนที่ไม่ได้สมาธิก็ได้สมาธิ เรียกว่าเป็นดาวล้อมเดือน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นบุคคลผู้มีบุญ

            ที่วัดพิชโสภารามในสมัยโน้น มาปฏิบัติที่วัดพิชฯ พรรษาแรกมีพระอาจารย์รูปหนึ่งเป็นคนดำแล้วก็เป็นคนผอม เขาจะเข้าสมาธิได้ดี เวลาเดินมาทำวัตรจะเข้าสมาธิกลางทาง เวลากราบแล้วก็จะไม่เงยอะไรทำนองนี้ เวลาฉันก็ถือช้อนค้างไว้ เขาก็เลยให้ฉายาว่าอาจารย์ดำ เพราะว่าท่านเข้าสมาธิเก่งมาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายทั้งปวงเห็นแล้วเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส อยากเข้าไปใกล้ อยากสนทนา อยากนั่งใกล้ อยากขอสมาธิด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

            แต่บางรูปบางท่านก็ไม่มีบารมี บำเพ็ญบารมีมาน้อย บางครั้งก็ไม่ยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราจะมีบารมีน้อย หรือมีบารมีมากเราก็เริ่มตั้งแต่วันนี้แหละ เป็นต้นไป ถ้าเราแยกสมาธิออกก็จะได้เป็นสมาธิ ๓ ประเภท คือ

            ๑. ขณิกสมาธิ

            ๒. อุปจารสมาธิ

            ๓. อัปปนาสมาธิ

            ประการที่ ๑ ขณิกสมาธิ ก็คือ สมาธิชั่วขณะ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายเดินจงกรมนี้แหละ ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” นี้ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว แต่ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” “พองหนอ ยุบหนอ” นี่ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว ขณิกสมาธินี้ก็ถือว่าเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เราเห็นรูปเห็นนามชัดเจน ทำให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็อาศัยขณิกสมาธิ

            ประการที่ ๒ คือ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินั้นมีอยู่ ๒ วิถี คือวิถีที่ ๑ เป็นอุปจารในวิถีของฌาน อุปจารประเภทที่ ๒ นั้นเป็นอุปจารที่อยู่ในวิถีของวิปัสสนา อุปจารในวิถีของฌานเป็นอย่างไร คือขณะที่เรานั่งไป ตัวของเรามันเย็นเข้า แข็งเข้า มือของเรามันบีบรัดเข้า ความรู้สึกของเรามันเล็กลงๆๆ อยู่ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นอุปจารในฌานแล้ว แต่ถ้าจิตใจของเรามันนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็เป็นปฐมฌานแล้ว เพราะว่าปฐมฌานนั้นก็ยังบริกรรมอยู่ เรียกว่ายังมีวิตกวิจารณ์ มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตาอยู่

            แต่ถ้าเราบริกรรมไปๆ พองหนอยุบหนอไปๆ เราบริกรรมไปดีๆ คำบริกรรมมันหมดไปเฉยๆ คำบริกรรมมันหยุดไปเฉยๆ แต่ความรู้ตัวทั่วพร้อมมันยังมีอยู่อันนั้นเรียกว่าเราเข้าถึงทุติยฌานแล้ว เราข้ามปฐมฌานไปแล้ว เรายังรู้สึกตัวอยู่แต่ว่าคำบริกรรมมันหมดไป ก็พยากรณ์ได้ว่าเรานั้นเข้าถึงทุติยฌานแล้ว แต่ในขณะนั้นเรายังไม่ทิ้งคำบริกรรม ยังไม่ทิ้งภาวะที่กำหนด เรามีสติจี้ลงไป ดูอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ ไม่ให้เผลอ

            เมื่อเราจี้สภาวะนั้น จี้สภาวะนั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรามันแข็ง ปลาที่ถูกเสียบที่เขาปิ้งแล้วความรู้สึกมันก็น้อยลงไปเบาลงไป ร่างกายของเราแข็งเหมือนกับตะคริวกิน บางคนก็แข็งถึงหัวเข่า บางคนก็แข็งถึงเอว บางคนก็แข็งถึงไหล่ บางคนก็แข็งหมดตัวเหมือนกับถูกสาปอะไรทำนองนี้ มันก็แข็งอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเราเข้าถึงตติยฌานแล้ว แต่ถ้าเราบริกรรมไปเราไม่ได้บริกรรมแต่เรานึกอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าจี้เข้าไม่ให้มันเผลอ ไม่ให้อารมณ์อื่นมันมารบกวน ไม่ให้เรายินดีในอารมณ์อื่น

            จี้ลงไปๆๆๆ บางครั้งก็ดับ เรียกว่ามันเป็นเอง มาถึงนี้มันเป็นเองของมันโดยอัตโนมัติมันก็ดับลงไป ถ้าดับลงไปได้เมื่อไหร่ก็เป็นจตุตถฌาน เรียกว่าเข้าถึงจตุตถฌานนี้เป็นลักษณะของสมาธิในวิถีของฌาน แต่อุปจารสมาธิ ในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นคือขณะที่เรา บริกรรมไปๆ อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นจะเกิดขึ้นแก่ติกขบุคคล มันทบุคคลนั้นจะเกิดไม่ค่อยชัดเจน ไม่เหมือนติกขบุคคล เพราะว่าติกขวิถีจิตของติกขบุคคลนั้นจะไม่มีบริกรรม จะมีอุปจารเลยทันที เมื่ออุปจาระแล้วก็อนุโลมญาณ โคตรภูญาณทันที เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นๆๆ มือมันจะแน่นเข้าๆ บีบเข้าๆ อันนี้เรียกว่า อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาน

            ทำไมจึงรู้ว่าเป็นอุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณ ก็เพราะว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดร่วม เร็วขึ้นๆๆ มือมันแน่นเข้าๆ บีบเข้าตัวมันรู้สึกรัดเข้าๆๆ ดับพึบลงไป นี่ลักษณะของอำนาจของวิปัสสนาญาณ บางคนบางท่านก็แน่นเข้าๆๆๆ มือมันก็บีบเข้ารัดเข้าแน่นเข้าบีบเข้าแล้วก็ความรู้สึกเล็กลงๆ ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของติกขบุคคลในทุกขาปฏิปทา เรียกว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญสมถะมามาก แต่วิถีจิตของบุคคลผู้เจริญอนัตตามาก่อน เวลาบริกรรมไปอาการพอง อาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ มือมันก็แน่นเข้าๆๆ ความรู้สึกมันก็ ละเอียดลงๆๆ แล้วก็ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของวิปัสสนาญาณผู้เคยบำเพ็ญทานมามาก อาการพองอาการยุบมันเป็นเร็วขึ้นๆๆ เรียกว่าอนิจจัง

            แต่ถ้าบุคคลใดเคยบำเพ็ญสมถะมามากเวลาบริกรรมไปท้องพองท้องยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็จะดับลงไป แต่ถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก่อน อาการพอง อาการยุบมันจะแผ่วเบาลงๆๆ แล้วก็จะดับไป อันนี้เป็นลักษณะของบุญที่คนเราต้องเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งก็เกิด ๒ อย่าง ๓ อย่างก็มีแล้วแต่บุญวาสนาบารมี อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ

            ต่อไปก็จะพูดเรื่องสมาธิ การฝึกสมาธินั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมความคิด การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมกระแสจิต การรวมกระแสจิตก็คือการรวมกระแสของความคิด การรวมกระแสของความคิดนั้นก็คือการรวมกระแสของอารมณ์ การรวมกระแสของอารมณ์ก็คือการตัดทอนอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆๆ นี่การทำสมาธิไม่มีอะไรมาก เราตัดอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆ น้อยลงไปๆ นี้มันก็เป็นสมาธิของมันเองโดยธรรมชาติของมัน

            เมื่อเราไม่คิดแล้วก็เป็นสมาธิของมันเอง ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับการที่เขาปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ถ้าเขาปล่อยให้น้ำนั้นไหลไปทางโน้นบ้างไหลไปทางนี้บ้าง น้ำนั้นก็ไม่มีพลัง แต่ปล่อยน้ำไหลไปทางเดียวกันน้ำนั้นก็มีพลังสามารถที่จะปั่นเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้ได้ ปั่นกระแสไฟฟ้าได้ เรียกว่าหาประโยชน์จากการปล่อยน้ำก็ได้ เหมือนกับกระแสจิตของเราถ้าปล่อยคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้คิดอย่างนั้น บางครั้งมันก็ไม่มีพลัง

            แต่ถ้าจิตของเรามีสมาธิแล้วมีพลัง สมัยหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภาราม ท่านลองฝึกกระแสจิตขณะที่ท่านฝึกสมาธินั้นว่าสมาธินั้นจะมีพลังหรือไม่ เวลาไปฉันเช้าก็ดี ฉันเพลก็ดี ก็ได้อธิษฐานว่า สาธุข้าพเจ้าฉันข้าวคำเดียวให้โยมที่นั่งอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๒ คำ ข้าพเจ้าฉันข้าว ๒ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๔ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๓ คำ ให้โยมอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๖ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๔ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๘ คำ ทวีคูนขึ้นไปเรื่อยๆ

            ขณะที่ท่านฉันไปด้วยกำหนดสมาธิไปด้วยๆ โยมที่อยู่ข้างหน้ากุมท้องร้องขึ้นมา มันแน่นท้องขึ้นมา แล้วก็ทดลองว่าสามเณรนี้ขี้เกียจ เวลามาทำวัตรไม่อยากมาทำ เวลาเพื่อนทำงานก็ไม่อยากช่วยทำงาน มีแต่หลบนอนหลบหลีกหลบลี้ ในสมัยก่อนโน้น เวลาเรียกทำงานก็มาพร้อมกันหมด ไม่มีใครหลบไม่มีใครซ่อน แต่สามเณรนั้นหลบ หลวงพ่อก็อธิษฐานจิตถ้าให้นอนก็นอนอยู่อย่างนั้น ก็นอนอยู่อย่างนั้นลุกไม่ได้ ลืมตา ขยับเขยื้อนไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะอำนาจของจิต

            วันหนึ่งท่านทดลองสมาธิครั้งสุดท้าย ท่านทดลองสมาธิว่าอำนาจจิตมันมีจริงมั้ย ท่านทดลองในสมัยหนึ่งนั้นท่านไม่มีเงินที่จะไปบวชพระ พอดีมีสามเณรโตอยากบวชไม่มีเงินที่จะบวชพระก็อธิษฐานจิตก็หยิบเอาวัตถุมงคลมา แล้วก็มาวางลงต่อหน้าโยม แล้วก็อธิษฐานว่าขอให้โยมคนนี้จงบูชาวัตถุมงคลนี้ ๕๐๐ บาท โยมเขาก็บูชา ๕๐๐ บาท แล้วก็อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงร้องไห้ โยมคนนั้นก็ร้องไห้ อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงหัวเราะ โยมคนนั้นก็หัวเราะ หลังจากนั้นท่านก็เอาปัจจัยไปบวช ซื้อกองบวชสมัยนั้นมันถูก หลังจากนั้น

            ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ท่านไม่เคยทำในลักษณะอย่างนั้นอีก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ทดลองสมาธิว่าสมาธินั้นจะมีผลจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น อำนาจของจิตถ้าบุคคลใดฝึกสมาธิดีแล้ว ทำให้จิตมีพลังแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้รับอานิสงส์ของการฝึกสมาธินั้นด้วย แล้วก็สมาธินั้นถ้าบุคคลใดฝึกดีแล้วสามารถที่จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมบางคนก็เป็นโรคมะเร็งอะไรทำนองนี้

            มีโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากที่วัดพิชฯในปัจจุบันนี้แหละ สมัยก่อนโน้นเขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นครูสอนปริญญาโท ขณะที่สอนหนังสือนั้นแหละ ก็มีความรู้มีความสามารถ เป็นหัวกะทิของโรงเรียน ขณะนั้นก็เป็นที่จับจ้องหมายปองว่าจะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายอะไรทำนองนี้ แต่สอนอยู่ดีๆ นั้นแหละเกิดไปตรวจว่าเป็นโรคมะเร็ง ว่าเป็นขั้นสุดท้ายจะต้องตายภายใน ๓ เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน จะอยู่ไม่เกินนี้ก็ลาออกจากครู ก็ไปบวชในฝ่ายของธรรมยุติ

            เมื่อบวชแล้วก็ถือว่าไปตายเอาดาบหน้ายังไงก็ต้องตายอยู่แล้วก็ให้ตายอยู่ในศีลในธรรม ก็เข้าป่าไปเจริญสมาธิ เมื่อเจริญสมาธิค่ำคืนเดินไม่ได้นอน นั่งภาวนาทำความเพียรเต็มที่ ในที่สุดโรคมะเร็งนั้นไม่รู้หายไปไหน ๓ เดือนแล้วก็ไม่ตาย ๔ เดือนก็ไม่ตาย ๕ เดือนก็ไม่ตาย ๖ เดือนก็ไม่ตายร่างกายก็แข็งแรงเหมือนเดิมก็มาตรวจหมอก็ว่าเป็นอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าเชื้อมันหายไปไหน อันนี้ก็ด้วยอำนาจของสมาธิ

            ในสมัยหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้อย่างเช่น อาจารย์จำลองที่อยู่ถ้ำเสือน้อยแต่ก่อนโน้น รุ่นฑิตปางแก้วที่มาฟังเทศน์ร่วมกัน ฑิตปางแก้วในสมัยนั้นก็บวช อาจารย์จำลองนี้ก็เข้าสมาธิเก่ง เวลาไปผ่าไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเขมราฐ ถามหมอว่าจะผ่าใช้เวลาผ่ากี่ชั่วโมง หมอก็ว่า ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ก็เข้าสมาธิไปประมาณนั้น เรียกว่าเข้าสมาธิเหนือไปกว่าหน่อยนึงบอกหมอไม่ใช้ยาสลบหรือยาชา ก็เข้าสมาธิ หมอเขาก็ทำการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วก็เกิดความโกลาหลกัน ผู้อำนวยการก็ดี พยาบาลก็ดี พากันมาทำบุญที่วัดพิชโสภารามเป็นจำนวนมาก นี่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวในสมัยนั้นว่า ทำให้ศรัทธาในโรงพยาบาลเขมราฐทั้งหมดนั้นศรัทธาด้วยอำนาจของสมาธิ

            หรือบางคนหรือบางรูปที่มีสมาธิดี เวลามาฝึกสมาธิรวมกระแสจิตได้ดี จิตใจเป็นสมาธิบางรูปบางท่านมาภาวนา พองหนอยุบหนอไป ขณะที่บริกรรมพองหนอยุบหนอไป อาการพองมันก็พองขึ้นเต็มที่แล้วก็ยุบลงเต็มที่ พอมันพองขึ้นมาท้องพองนั้นเปิดออกไปเลย เมื่อท้องพองนั้นเปิดออกไปเลยก็เห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นสวนดอกไม้อันเป็นทิพย์น่ารื่นรมย์น่าชมชื่น ก็เพลินไปกับสิ่งเหล่านั้นก็มี นี้เป็นลักษณะของสมาธิ บางรูปบางท่านนั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนอไป อาการพองยุบมันดิ่งลงๆๆๆ ปรากฏเป็นรูปเปรตเห็นเปรตร้องโหยหวนเสียงหวีดหวิวน่าพิลึกสะพรึงกลัวก็มี

            บางครั้งก็เห็นคล้ายๆ กับหมาใหญ่หมาดำมาร้องเหมือนกันกับพวกเปรตอันนี้เป็นในลักษณะอสุรกายร้องครวญครางขึ้นมา เกิดความกลัวแล้วก็มาส่งอารมณ์แล้วก็มาอย่างนี้ก็มี นี่ลักษณะของสมาธิมันปรากฏขึ้นมา จะเห็นของอะไรแปลกๆ เรียกว่าเป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไม่ได้ไม่เห็นนั้นไม่ควรคิด ว่ามันจริงหรือเปล่า มันเห็นจริงหรือเปล่า ถ้าบุคคลใดคิด ตนเองไม่ได้สมาธิ ตนเองคิดก็มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะคิดได้ ปกติสามัญธรรมดาถ้าจิตไม่ได้สมาธิ

            เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ความตั้งมั่นในพระศาสนามันยิ่งตื้น บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม ขณะที่เดินจงกรมไปนั่นแหละ ยืนหนอๆ เข้าสมาธิแพ๊บไป พอเข้าสมาธิแพ๊บไป ที่ไหนได้อยู่ข้างๆ นั้นมีแต่ผีหัวขาดเต็มไปหมดก็เกิดความกลัวขึ้นมา เมื่อเกิดความกลัวทำยังไงได้ ก็ตั้งสติ ดึงสติ ความกลัวนี้เราแก้ง่ายนิดเดียว เมื่อเกิดความกลัว เมื่อได้ยินเสียงผีก็ดีเห็นผีเห็นอะไรก็ดีในนิมิตก็ดี หรือเราเห็นปรากฏในขณะที่เราลืมตาก็ดี ถ้ามันกลัวขึ้นมา เราดึงจิตเข้ามาในร่างกายของเรา กำหนดที่จิตใจของเราก็ได้ “กลัวหนอ” เท่านั้นแหละความกลัวหายแว๊บไป หายไปแป๊บเดียว ถ้าเรามีสติมันจะเป็นอย่างนั้น

            ถ้าเราไม่เคยไปประสบกับความกลัวจริงๆ แล้วเราจะไม่รู้สภาวะเช่นนี้ แต่ถ้าเราเคยไปแล้วเราดึงจิตมากำหนด “กลัวหนอ” หรือเราดึงจิตเข้ามาในกายความกลัวก็หมดไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีสมาธิ บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมไปมีปีติสูงมาก มีสมาธิสูงมาก เวลานั่งภาวนาไปแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นมาก็กำหนดแสงสว่าง เมื่อกำหนดแสงสว่างแล้วก็ไปเห็นว่ากำลังนั่งอยู่ที่โน้นในห้องกรรมฐาน แต่มองมาที่ศาลาที่เขากำลังจัดฉัน เห็นพระเณรเห็นญาติเห็นโยมกำลังขวักไขว่กันไปมา ยกอาหารคนโน้นก็ยกคนนี้ก็ยก ไปมองดูที่พาข้าวที่ตนเองจะฉันว่ามันมีอะไรบ้าง ก็มองเห็นส้มตำ มะละกอ ปิ้งปลา ปิ้งกบอะไรสมัยเข้าพรรษานั้นมีอาหารประเภทปิ้งกบอะไรนี้ด้วย แล้วก็มาดูก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ อันนี้เป็นลักษณะอำนาจของสมาธิ

            เมื่อสมาธิมันสูงแล้วมันจะเป็นไปได้ บางรูปบางท่านก็นั่งไปตัวเบา ตัวเบาก็ไม่ใช่ตัวเบาเฉยๆ คล้ายๆ กับว่าลอย แต่ว่าลืมตาแล้วก็อยู่ที่เดิม ภิกษุรูปนั้นก็เกิดความสงสัยว่ามันลอยจริงหรือเปล่าหนอ ก็หลับตาไม่ลืมตาปล่อยให้มัน ลอยไปๆ ลอยไปดูสิ กุฏิอาจารย์มหาชอบนี้ทำอะไรอยู่ก็ไปดูอาจารย์กำลังดูอย่างนั้นทำอย่างนั้น ก็ลืมตาขึ้นก็นั่งอยู่ที่เดิม พอนั่งอยู่ที่เดิมก็รีบมาหาเลย ภิกษุรูปนั้นรีบมาหา มาแล้วก็มาทักขึ้นทันทีเลยว่า อาจารย์ทำอะไรอยู่ ทำอย่างโน้นใช่มั้ย ทำอย่างนี้ใช่มั้ยก็บอก ครับ ทำอย่างนั้นๆ ผมเห็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ในลักษณะที่มันเกิดโอภาส เกิดแสงสว่าง เกิดปีติ เกิดรวมกันขึ้นมามันจะเกิดความอัศจรรย์ใจ นี้แหละสมาธิมันเป็นในลักษณะอย่างนั้น

            บางคนบางท่านเป็นโรค เป็นโรคปอดก็ดี โรคอะไรก็ดี เวลานั้นเขาให้อธิษฐาน ใช้สมาธิอธิษฐานว่า สาธุๆ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้โรคมะเร็งของข้าพเจ้าจงเบาลงไป จงหายไป จงหมดไป จากขันธสันดานของข้าพเจ้า หรือว่าโรคตับก็ดี โรคดีซ่านก็ดี โรคหืดโรคหอบก็ดีอะไรทำนองนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานของข้าพเจ้า อันนี้เรียกว่า ธรรมโอสถใช้สมาธินั้นแหละเป็นตบะแผดเผารักษาโรคนี้ให้หายไปได้ อันนี้เป็นลักษณะอานิสงส์ของการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้น เราต้องควรทำสมาธิให้ได้ เป็นการรวมกระแสจิตเหมือนกับการรวมกระแสน้ำ

            เหมือนกับเราปักกรวยไฟฉาย เวลาเราทำสมาธินี่ ไฟฉายแต่ก่อนโน้นถ้าเราไม่ปรับกรวยมันก็จะแผ่กว้างไป แต่ถ้าเราปรับกรวยแล้วมันจะบีบเข้าๆ เราจะส่องไปให้ไกลๆ มีพลังที่จะส่องไปไกล หรือเหมือนกับการฝังเสาเข็มก็ดี ตึกสูงๆ ประมาณ ๗ ชั้น ๘ ชั้น ๙ ชั้น ๑๐ ชั้น ถ้าเราฝังเสาเข็มไม่ดีมันก็โค่นมันก็พัง แต่ถ้าเราฝังเสาเข็มลึกๆ เสาเข็มได้เต็มที่ตึกนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ลมพายุ ลมอะไรมามันก็สามารถที่จะต้านทานได้มั่นคงไม่หวั่นไหว ลักษณะของสมาธิก็เหมือนกัน

            การฝึกสมาธินั้นเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสรรเสริญ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด เพราะว่าบุคคลเจริญสมาธิแล้วจิตของบุคคลนั้นจะตั้งมั่น เมื่อจิตของบุคคลนั้นตั้งมั่นแล้วก็เหมือนกับบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่ฝั่งน้ำที่ใสสะอาด ย่อมมองเห็นก้อนหินบ้าง ก้อนกรวดบ้าง ย่อมมองเห็นหอยโข่งบ้าง หอยกาบบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่แหวกว่ายไปมาบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่หยุดอยู่บ้าง

            บุคคลผู้เจริญสมาธิจนจิตได้สมาธิดีแล้วย่อมเห็นอารมณ์นั้นชัดเจน คืออารมณ์วิปัสสนากรรมฐานที่เกิดขึ้นมากับเรามันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นมา อารมณ์ อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก อาการเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างสภาวะมันปรากฏชัดเจนขึ้นมา ถ้าเป็นปีติ ปีติก็ชัดเจนเหลือเกิน ตัวโยกตัวโคลง อย่างเช่น เมื่อเช้านี้โยมเข้ามาหา ตัวโยกตัวโคลงตัวไหวตัวโอนตัวเอนเหมือนกับเราไกวเปลก็มี นี้ในลักษณะของโอกกันติกาปีติปรากฏขึ้นมา บางครั้งมันเป็นแรง เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรง

            เราบริกรรมพองหนอยุบหนอนี่ตัวของเราหมุนเหมือนกับลูกข่าง แต่มันไม่หมุนเร็ว หมุนไปๆๆ อันนี้มันเป็นลักษณะของปีติ มันเป็นไปได้อย่างไร ขาของเราก็ขัดกันอยู่มือของเราก็เข้ากันอยู่ แต่มันหมุนเหมือนกับลูกข่างนี่ด้วยอำนาจของปีติ มันจะเหาะขึ้นไปข้างบนก็ไม่ได้ มันจะดำลงไปในดินก็ไม่ได้ มันจะไปข้างซ้ายข้างขวาก็ไม่ได้ก็หมุนเลยคราวนี้ นี่มันหมุน ลักษณะของปีติ แต่มันหมุน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบาย เกิดความแช่มชื่นไม่ใช่เหนื่อย บางครั้งมันก็สัปหงกไปข้างหน้า สัปหงกไปข้างหลัง

            บางครั้งหัวก็โขกกับพื้นกระดาน บางครั้งก็หงายมา บางครั้งก็คว่ำไปข้างหน้า ข้างซ้ายข้างขวา คว่ำอยู่อย่างนั้นทั้งชั่วโมง แทนที่มันจะเหน็ดมันจะเหนื่อย แต่ขณะที่ออกจากอาการปีตินั้นแหละเหมือนกับหมอนวดชั้นดี นวดจับถูกเส้นเอ็นถูกข้อ ทำให้เรานั้นกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ไม่มีอาการเมื่อยล้าแม้แต่นิดหนึ่ง มีจิตใจอิ่มเอิบดูหน้าดูตาก็เบิกบาน นี่ลักษณะของปีติมันเกิดขึ้นมาเป็นในลักษณะอย่างนี้

            สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปไม่นานมันก็หาย เรากำหนดรู้เฉยๆ มันหมดกำลังมันก็หายแล้ว ถ้าเราอยากให้มันหยุดเราก็กำหนดว่า “หยุดหนอๆ” ถ้ามันไม่หายเราก็ “หยุดหนอๆ หยุด!” อะไรทำนองนี้มันก็หายไป อันนี้เป็นลักษณะของการแก้สภาวะ สิ่งสำคัญเราอย่าไปตามมัน ถ้าเราตามมันแล้วมันจะไม่หยุด นั่งครั้งไหนมันก็เป็น แต่ถ้าเราไม่ตามมัน มันก็หาย

            สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะของสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสมาธิ แล้วก็สมาธินั้นมีอานิสงส์อยู่ ๕ ประการ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม คือบุคคลใดที่ประพฤติปฏิบัติได้สมาธิแล้วจะมีความสุขมาก ท่านกล่าวว่าความสุขอันสุดยอดของโลกิยะนั้นคือความสุขในตติยฌาน ถ้าใครสามารถเข้าตติยฌานได้ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ตติยฌานก็คือตัวที่มันแข็งเข้าๆๆ ความรู้สึกมันละเอียดเข้าๆๆ เกือบจะดับ แต่มันไม่ดับ

            ถ้าบุคคลใดเข้าได้อย่างนี้ พอออกจากตติยฌานแล้วจะมีความรู้สึกแช่มชื่นเบิกบาน เย็น ทั่วทุกเส้นขน เหมือนกับเย็นเข้าไปในกระดองใจหรือว่ากระดูกของเรา เรามีความสุขมีความเยือกเย็น มีความละเอียดอ่อนมาก ความสุขในตติยฌานท่านกล่าวว่าเป็นความสุขสุดยอดของโลกีย์  ถ้าบุคคลใดทำได้ บุคคลนั้นก็จะมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม เป็นความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันธรรมนี้ ไม่ต้องรอให้เราเข้าถึงพระนิพพาน ไม่ต้องรอให้ตาย พระพุทธศาสนาถ้าเราปฏิบัติได้เราก็จะได้รับความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ไม่ต้องรอไปถึงภพหน้าชาติหน้า ท่านกล่าวว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยเรือนแก้ว คือสมาธินั้นพักผ่อนเวลาพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย แม้แต่พระอรหันต์พระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง เวลาเหนื่อย ก็ต้องอธิษฐานเข้าสมาธิ เป็นอาหารใจ เป็นที่หลบภัย หลบแดด หลบฝน หลบอารมณ์ต่างๆ ออกมาแล้วก็มีกำลังมีความสดชื่นแล้วก็ทำงานพระศาสนาต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็น ทิฏฐสุขวิหารธรรม

26  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ติลักขะณาทิคาถา เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:14:19
.



        ติลักขะณาทิคาถา

        สัพเพ  สังขารา  อะนิจจาติ               ยะทา  ปัญญายะ  ปัสสะติ

        อะถะ  นิพพินทะติ  ทุกเข                 เอสะ  มัคโค  วิสุทธิยา

        สัพเพ  สังขารา  ทุกขาติ                  ยะทา  ปัญญายะ  ปัสสะติ

        อะถะ  นิพพินทะติ  ทุกเข                 เอสะ  มัคโค  วิสุทธิยา

        สัพเพ  ธัมมา  อะนัตตาติ                  ยะทา  ปัญญายะ  ปัสสะติ

        อะถะ  นิพพินทะติ  ทุกเข                 เอสะ  มัคโค  วิสุทธิยา

        อัปปะกา  เต  มะนุสเสสุ                   เย  ชะนา  ปาระคามิโน       

        อะถายัง  อิตะรา  ปะชา                    ตีระเมวานุธาวะติ

        เย  จะ โข  สัมมะทักขาเต                 ธัมเม  ธัมมานุวัตติโน

        เต  ชะนา  ปาระเมสสันติ                  มัจจุเธยยัง  สุทุตตะรัง

        กัณหัง  ธัมมัง  วิปปะหายะ                สุกกัง  ภาเวถะ  ปัณฑิโต

        โอกา  อะโนกะมาคัมมะ                    วิเวเก  ยัตถะ  ทูระมัง

        ตัตราภิระติมิจเฉยยะ                        หิตวา  กาเม   อะกิญจะโน

        ปะริโยทะเปยยะ  อัตตานัง                 จิตตักเลเสหิ  ปัณฑิโต

        เยสัง  สัมโพธิยังเคสุ                       สัมมา  จิตตัง สุภาวิตัง

        อาทานะปะฏินิสสัคเค                       อะนุปาทายะ  เย ระตา

        ขีณาสะวา ชุติมันโต                         เต  โลเก  ปะรินิพพุตาติ ฯ 
     
          
        
ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
27  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ธัมมะนิยามะสุตตัง เมื่อ: 04 เมษายน 2567 13:40:08
.



        ธัมมะนิยามะสุตตัง

        เอวัมเม  สุตัง ฯ เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา สาวัตถิยัง  วิหะระติ

เชตะวะเน  อะนาถะปิณฑิกัสสะ  อาราเม ฯ ตัตระ  โข  ภะคะวา ภิกขู

อามันเตสิ  ภิกขะโวติ  ฯ  ภะทันเตติ  เต ภิกขู  ภะคะวะโต  ปัจจัสโสสุง ฯ

ภะคะวา  เอตะทะโวจะ

        อุปปาทา  วา  ภิกขะเว  ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา  วา

ตะถาคะตานัง ฐิตา  วะ สา ธาตุ  ธัมมัฏฐิตะตา  ธัมมะนิยามะตา สัพเพ

สังขารา  อะนิจจาติ ฯ ตัง  ตะถาคะโต  อะภิสัมพุชฌะติ  อะภิสะเมติ  อะภิ-

สัมพุชฌิตวา  อะภิสะเมตวา  อาจิกขะติ  เทเสติ  ปัญญะเปติ  ปัฏฐะเปติ

วิวะระติ  วิภะชะติ  อุตตานีกะโรติ สัพเพ  สังขารา  อะนิจจาติ ฯ

        อุปปาทา  วา  ภิกขะเว ตะถาคะตานัง  อะนุปปาทา  วา  ตะถาคะ-

ตานัง  ฐิตา  วะ สา  ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา  ธัมมะนิยามะตา สัพเพ  สังขารา

ทุกขาติ ฯ  ตัง  ตะถาคะโต  อะภิสัมพุชฌะติ  อะภิสะเมติ  อะภิสัมพุช-

ฌิตวา  อะภิสะเมตวา  อาจิกขะติ  เทเสติ  ปัญญะเปติ  ปัฏฐะเปติ  วิวะระติ

วิภะชะติ  อุตตานีกะโรติ  สัพเพ  สังขารา  ทุกขาติ ฯ

        อุปปาทา  วา  ภิกขะเว  ตะถาคะตานัง   อะนุปปาทา  วา ตะถาคะ-

ตานัง  ฐิตา  วะ สา  ธาตุ  ธัมมัฏฐิตะตา  ธัมมะนิยามะตา สัพเพ  ธัมมา

อะนัตตาติ ฯ ตัง  ตะถาคะโต   อะภิสัมพุชฌะติ  อะภิสะเมติ  อะภิสัมพุช-

ฌิตวา  อะภิสะเมตวา  อาจิกขะติ  เทเสติ  ปัญญะเปติ  ปัฏฐะเปติ  วิวะระติ

วิภะชะติ อุตตานีกะโรติ  สัพเพ  ธัมเม  อะนัตตาติ ฯ  อิทะมะโว  จะ

          ภะคะวา ฯ  อัตตะมะนา  เต ภิกขู  ภะคะวะโต  ภาสิตัง  อะภินันทุนติ ฯ 
     
          
        
ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
28  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ขัดธรรมนิยามะสูตร เมื่อ: 04 เมษายน 2567 13:35:26
.



        ขัดธรรมนิยามะสูตร

        ยัง  เว  นิพพานะญาณัสสะ            ญาณัง   ปุพเพ ปะวัตตะเต

        ตัสเสวะ  วิสะยีภูตา                      ยายัง  ธัมมะนิยามะตา

        อะนิจจะตา  ทุกขะตา จะ                สัพเพสัง จะ อะนัตตะตา

        ตัสสา  ปะกาสะกัง  สุตตัง               ยัง สัมพุทเธนะ  ภาสิตัง

        สาธูนัง  ญาณะจาเรนะ                   ยะถา  พุทเธนะ  เทสิตัง

        โยนิโส  ปะฏิปัตยัตถัง                    ตัง สุตตันตัง  ภะณามะ เส  ฯ 
       
         
        
ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
29  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / บัว ๔ เหล่า โดย พอจ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี เมื่อ: 02 เมษายน 2567 14:21:43


บัว ๔ เหล่า

พระพุทธเจ้าของพวกเรา ตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ไม่มีความปรารถนาที่จะประกาศพระศาสนา แต่หลังจากที่ได้ทรงพินิจพิจารณา ก็ทรงเห็นว่า มีสัตว์โลกบางกลุ่มบางพวกที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับคำสอนได้ ทรงพิจารณาแยกสัตว์โลกไว้เป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน เหมือนบัว ๔ เหล่า

กลุ่มที่ ๑ คือกลุ่มบัวเหนือน้ำ ที่พอได้รับแสงสว่างของพระอาทิตย์ บัวก็จะบาน พวกนี้เป็นพวกนักบวช ที่ได้ศีลแล้ว ได้สมาธิแล้ว แต่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ พอทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มบัวปริ่มน้ำ ที่ต้องรออีกวันสองวันถึงจะโผล่เหนือน้ำ พวกนี้เป็นพวกนักบวชที่ยังไม่ได้สมาธิ กำลังเจริญสติ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ยังไม่ได้เต็มที่ แต่บำเพ็ญไปเรื่อยๆ พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่แล้ว พอได้พิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะก็จะตัดกิเลสได้ ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้

กลุ่มที่ ๓ คือพวกที่ยังไม่ได้บวช ชอบทำทานแต่ไม่ชอบรักษาศีล ๘ ไม่ชอบปลีกวิเวก ไม่ชอบไปอยู่ตามลำพังตามสถานที่สงบสงัด ยังติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญ ยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พวกนี้ก็ต้องใช้เวลาบำเพ็ญไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ ถ้าขยันก็อาจจะหลุดพ้นได้ในชาตินี้ ถ้าไม่ขยันก็ต้องสะสมบารมีไปก่อน

กลุ่มที่ ๔ คือพวกที่ไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย เวลาชวนมาวัดก็จะปฏิเสธ ถ้าชวนให้ไปเที่ยวไปทันที ถ้าชวนให้มาวัด มาปลีกวิเวก มานั่งสมาธิ จะไม่เอา พวกนี้จะไม่มีวันได้เห็นแสงสว่างแห่งธรรม เป็นดอกบัวที่อยู่กับโคลนตม ที่จะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป ไม่มีวันที่จะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาได้

หลังจากได้พิจารณาความแตกต่างของมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ก็ทรงมีกำลังใจที่จะประกาศพระศาสนา ตอนต้นทรงคิดว่าเหมือนกันหมด ชอบรูปเสียงกลิ่นรส ชอบลาภยศสรรเสริญ เหมือนกันหมด สอนอย่างไรก็จะไม่มีใครปฏิบัติตาม แต่หลังจากได้ทรงพิจารณา ก็ทรงเห็นว่ามีพวกนักบวชที่มีฌานมีสมาธิแล้ว หรือพวกที่กำลังเจริญสติเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ หรือพวกฆราวาสที่เข้าวัดทำบุญทำทานรักษาศีลเป็นประจำอยู่ ก็ทรงเห็นว่าเป็นพวกที่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนได้ จึงทรงมุ่งไปสอนสู่บัวทั้ง ๓ กลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่อยู่เหนือน้ำแล้ว คือพวกนักบวช ทรงไปสอนตามสำนักต่างๆ หลังจากทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามอุปถัมภ์อุปัฏฐาก จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ทรงไปสอนตามสำนักของนักบวชต่างๆ

ในแต่ละครั้งที่ทรงสอน ก็มีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาพร้อมๆกันหลายรูป เช่นครั้งหนึ่งมีนักบวชจำนวน ๕๐๐ รูป พอฟังธรรมเสร็จแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูปเลย ภายในเวลาเพียง ๗ เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงประกาศพระศาสนา คือในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา มาถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ก็ปรากฏมีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า จากทิศต่างๆโดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน มีปรากฏขึ้นมาหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และประกาศพระศาสนา ก่อนหน้านั้นไม่มีพระอรหันต์แม้แต่รูปเดียว

นี่คือความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าต่อสัตว์โลก เป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ ต่อผู้ปรารถนาความหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นทางลัดที่สุด ไม่มีทางไหนที่จะลัดเท่ากับทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงนำมาสั่งสอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๓๒ กัณฑ์ที่ ๔๕๓       
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
]
30  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 02 เมษายน 2567 14:15:19



ปัญญาไม่เต็มร้อย
ถาม : เวลาฝึกก็คิดว่าไม่เสียใจ พอเวลาเจอของจริง ลึกๆแล้วยังเสียใจอยู่

พระอาจารย์ : ดีกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ถึงกับร้องไห้

ถาม : ยังพอทำใจได้แต่ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

พระอาจารย์ :  เพราะปัญญาไม่เต็มร้อย

ถาม : เวลาทำบุญมากๆบ่อยๆนี่ เวลาของหายแล้วจะไม่ค่อยเสียดาย

พระอาจารย์ :  ถ้าจะไม่ให้เสียดายเลย ก็ต้องปล่อยร่างกายให้ได้ ถ้าปล่อยได้แล้ว เวลาของหายไปจะรู้สึกเฉยๆ เพราะพวกเรารักร่างกายมากที่สุด ถ้าปล่อยร่างกายได้แล้วของอย่างอื่นจะไม่เป็นปัญหาเลย อย่างพระภิกษุนี่ก็ปล่อยข้าวของหมดแล้ว ร่างกายก็ไปปล่อยไว้ในป่า ยอมตาย กลัวสิ่งใดก็ออกไปหาสิ่งนั้น กลัวความมืดก็ออกไปหาความมืด กลัวงูก็เดินเข้าในป่า ยอมให้งูกัด ตอนนั้นจิตจะรู้สึกกลัวมาก  ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะคิดว่าอย่างมากก็แค่ตาย อย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี   พอยอมรับความจริงนี้ ก็จะหายกลัว จิตจะดิ่งลงสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกาย จะไม่เสียดายร่างกาย ข้าวของยิ่งไม่เสียดาย เวทนาก็ต้องปล่อยให้เจ็บไป ปล่อยให้หายไปเอง ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร เพราะใจวางเฉยได้ นี่คือการปล่อยรูปขันธ์นามขันธ์ แล้วก็เข้าไปปล่อยในจิต ที่ยังมีกิเลสหลบซ่อนอยู่ ต้องปล่อยเป็นขั้นๆ  ปล่อยกาย ปล่อยเวทนา ปล่อยจิต ตามลำดับ.


สติคุมใจ
ถาม  : ลูกเกิดเวทนา เป็นโรคไขข้อ  นั่งได้ระยะหนึ่งจิตจะบอกให้หยุดนั่ง เป็นเพราะสติไม่แก่กล้า หรืออินทรีย์ ๕ ยังไม่พร้อม

พระอาจารย์  :  สติก็เป็นหนึ่งในอินทรีย์ ๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เวลานั่งถ้ามีสติอยู่กับคำบริกรรม  จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่  ความเจ็บที่เกิดจากร่างกายจะไม่รุนแรง เท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ  ถ้าใจไม่มีโอกาสปรุงแต่ง ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด สติจะคุมใจให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็จะนั่งได้นาน จะสงบ จะไม่ค่อยเจ็บ.


เห็นอยู่ตลอดเวลา
ถาม : ถ้าเห็นโครงกระดูก จิตผู้รู้จะบอกว่ามันเป็นธาตุดิน จะต้องทำอย่างไรต่อเจ้าคะ

พระอาจารย์ : พิจารณาต่อไปจนกว่าจะเห็นอยู่ตลอดเวลา ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ไม่ได้เป็นตัวเราของเรา  แล้วก็ปล่อยวางความยึดติดในร่างกายได้ ถ้าอยากจะรู้ว่าเราปล่อยวางจริงหรือไม่ ก็ต้องเอาร่างกายนี้ไปอยู่ในป่าช้า ในป่าเปลี่ยว ไปพิสูจน์ดูว่ายังมีความยึดติดในร่างกายหรือไม่ การเห็นโครงกระดูกนี้เป็นปริยัติ จะรู้จริงหรือไม่ อยู่ตอนที่มันจะตาย ถ้าเฉยก็แสดงว่าไม่ยึดติด ถ้าไม่เฉยยังกลัว ยังทุกข์ ก็ยังไม่รู้จริง ต้องไปทดสอบดู อย่างหลวงปู่ท่านหนึ่งเดินธุดงค์ตอนกลางคืน พอไปเจอเสือเข้า จิตก็รวมลงเข้าสู่สมาธิ ปล่อยวางร่างกาย เราจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้ามีปัญญาเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป ใจเป็นอุเบกขา แยกออกจากร่างกาย ต่อไปจะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าเวลามีภัยใจมีที่หลบมีที่พึ่ง มีอุเบกขาธรรมเป็นที่พึ่งของใจ ถ้าเห็นโครงกระดูก เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟนี้ยังไม่พอ ต้องไปเจอภัยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย แล้วดูใจว่าตื่นเต้นหรือสงบ ถ้ามีปัญญาก็จะคุมใจให้สงบ ให้ปล่อยวางร่างกายได้ ถ้าวิ่งหนีภัยแสดงว่ายังยึดติดอยู่กับร่างกาย.


ต้องทิ้งทุกอย่าง
ถาม : เวลานั่งสมาธิก็นึกถึงรูปภาพของคนตาย แต่ไม่สามารถเห็นว่าตัวเราก็จะเป็นแบบนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : เพราะมองไม่นานพอ แล้วก็มีงานอย่างอื่นให้ไปมอง ก็เลยมองไม่เห็น ต้องออกบวช ออกจากรูปเสียงกลิ่นรส ออกจากเรื่องของคนเป็น ไปอยู่ที่วิเวก จะได้คิดเรื่องตายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเรื่องอื่นมากลบ ถ้าอยากจะบรรลุเร็วๆ ก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเวลาพิจารณาความตายอย่างต่อเนื่อง.


มีธรรมะเป็นเพื่อน
ถาม : ท่านอาจารย์ใช้อะไรควบคุมจิตใจไม่ให้อยากไปเที่ยว

พระอาจารย์ : ใช้การภาวนา ใช้สติเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เฝ้าดูร่างกายว่ากำลังทำอะไร กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง ถ้านั่งเฉยๆก็ดูลมหายใจเข้าออก จนจิตรวมเข้าสู่ความสงบ เบื้องต้นต้องเจริญสติก่อนเพื่อให้ได้สมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ออกทางปัญญา พิจารณาร่างกาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอสุภะ พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พิจารณาทุกขเวทนา พิจารณาทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยาก อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าหยุดความอยากให้ความเจ็บหายไปก็จะไม่ทุกข์ใจ ใจก็จะเฉยกับความเจ็บของร่างกาย อยู่กับมันได้ มันเจ็บเราก็ดูมันเจ็บไป แต่ใจไม่ได้เจ็บกับร่างกาย เพราะรักษาใจด้วยปัญญา ไม่ให้เกิดความอยาก ไม่ให้เกิดสมุทัย คือวิภวตัณหา ความอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป

ถาม : ท่านอาจารย์มีเพื่อนเยอะไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่มี ตัดหมด มีธรรมะเท่านั้นที่เป็นเพื่อน

ถาม : ไม่คบเพื่อนเลย

พระอาจารย์ : คบไปทำไม คบแล้วได้อะไร ได้แต่ชวนไปเที่ยว ชวนไปกิน ชวนไปดื่ม


ดับกามารมณ์
ถาม : วันก่อนฟังเทศน์หลวงปู่สิม แล้วทำงานไปด้วย เห็นร่างกายกลายเป็นกระดูกไปหมด เห็นทั้งวันเลย จะต้องรักษาอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : เอามาใช้เจริญปัญญา มองใครก็มองให้เห็นกระดูก โดยเฉพาะเวลาเกิดกามารมณ์ อยากจะร่วมหลับนอนกับใคร ก็มองให้เห็นกระดูกของเขา ก็จะดับกามารมณ์ได้ ปัญญามีไว้เพื่อดับกามารมณ์ ดับความกลัวความตาย ถ้ากลัวความตาย ก็ให้พิจารณาว่าต่อไปร่างกายก็จะกลายเป็นเศษกระดูกไป จะหายกลัว ตอนที่เห็นกระดูกยังไม่เป็นประโยชน์ เป็นเหมือนได้เครื่องมือได้อาวุธมา ต้องเอาไปใช้ฆ่าศัตรู ศัตรูก็คือกิเลส เช่นความกลัวตาย กามารมณ์ ต้องเอาภาพที่เห็นมาเป็นอาวุธ มาทำลายกิเลส พยายามรักษาอาวุธนี้ไว้ ด้วยการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องใช้เมื่อไหร่ เวลาไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว ก็จะได้ปลงได้ เพราะในที่สุดร่างกายก็ต้องกลายเป็นเศษกระดูกไป ถ้าไปพบเห็นคนที่เราชอบเรารัก ก็ให้คิดว่าเป็นแค่โครงกระดูก ก็จะดับกามารมณ์ได้.


คำถาม
ถาม : จริงๆ แล้วควรเจริญทั้งสมาธิทั้งปัญญาควบคู่กันไปใช่ไหมค่ะ

พระอาจารย์ : ทำสลับกันไป ถ้าสมาธิยังไม่เต็มที่ ปัญญาจะทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ สมาธิจะเต็มที่ได้จิตต้องรวมลง เหลือเพียงแต่สักแต่ว่ารู้ ปล่อยวางร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ถึงแม้จะมาสัมผัสแต่จิตจะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย จะอยู่นิ่งๆตามลำพัง ถึงจะมีพลังเบรกกิเลส เพราะการทำสมาธิเป็นการหยุดจิต  เมื่อจิตหยุดกิเลสก็ทำงานไม่ได้ แต่เราไม่เคยหยุดจิตมาก่อน จึงไม่รู้จะหยุดอย่างไร เหมือนขับรถแต่ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน รู้แต่คันเร่ง พอถึงเวลาจะเบรกก็เบรกไม่ได้ ที่เรามานั่งสมาธิกัน ก็เพื่อหาคันเบรกของจิต ให้รู้จักวิธีหยุดจิต พอรู้แล้วเวลาเกิดกิเลสขึ้นมาก็จะหยุดกิเลสได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน พอเกิดกิเลสขึ้นมาก็หยุดไม่ได้ พอพิจารณาความตาย แทนที่จะสงบกลับฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะไปกระตุ้นความกลัวให้มีมากขึ้น แทนที่จะทำให้ปลงกลับไม่ปลง เพราะไม่มีสมาธิ จึงปลงไม่ได้.


ตาย
ถาม :  พระอาจารย์ค่ะ เผอิญมีน้องคนหนึ่ง เขาฝันว่าตัวเองตาย เขาคิดเป็นจริงเป็นจังแล้วไม่สบายใจ ยังรับความตายไม่ได้ ควรทำอย่างไร ทุกอย่างยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อย การงานก็ยังไม่เรียบร้อย เลยเป็นห่วงกังวล แต่เขาก็ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มากๆ ขอให้พระอาจารย์อธิบายให้เขาฟังนิดหนึ่งค่ะ เขาไม่สบายใจค่ะ

พระอาจารย์  : ถ้ารับความตายไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปพิจารณา พยายามเจริญสมาธิให้มาก ให้จิตสงบก่อน แล้วค่อยพิจารณา การปฏิบัติของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ให้จิตมีกำลังที่จะรับกับการพิจารณา ถ้าจิตรวมลงแล้วจะรับได้ จะรู้ว่าจิตไม่ใช่ร่างกาย แต่ถ้ายังไม่รวมลง ก็จะคิดว่าตัวเองจะตาย เพราะคิดว่าร่างกายเป็นตน ก็เลยกลัว

ถาม : เขาบอกว่าเขาใช้วิธีวิปัสสนา

พระอาจารย์ : ถ้าเจริญวิปัสสนาโดยไม่เจริญสมาธิเลยก็จะเป็นอย่างนี้ จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสมาธิเป็นฐานของวิปัสสนา นอกจากใช้วิปัสสนาเพื่อทำจิตให้สงบให้เป็นสมาธิ ที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วจึงค่อยพิจารณากาย พิจารณาอสุภะ ถึงจะก้าวไปได้ .


รักษาศีล ๘
ถาม : ท่านพระอาจารย์คะ ปัญหาว่าถือศีล ๘ อยู่ แต่พอดีไม่สบายต้องทานอาหารเย็น เพราะว่าหมอให้ทานยาหลังอาหาร ลูกก็ว่าถ้ายกเว้นตอนนี้แล้วจะไปอยู่เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น นี่จะเป็นการผิดไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : มันก็ไม่ได้รักษาศีล ๘ ครบบริบูรณ์ แทนที่จะได้รางวัลที่ ๑ ก็เอารางวัลที่ ๒ ไปก่อน  ถ้ารักษาศีล ๘ ก็ได้เหรียญทอง ถ้ารักษาศีล ๕ ก็ได้เหรียญเงิน เหมือนการแข่งขันกีฬา

ถาม : ต้องกินยาเย็นนี่คะ

พระอาจารย์ : เพราะว่าเราต้องการรักษาร่างกายเรามากกว่ารักษาศีล ๘.



31  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: ศาสนา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 17:07:35

ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


          แต่ถ้าทำจิตทำใจให้มีสมาธิได้ เข้าฌานได้ ความโกรธมันก็ระงับไปชั่วคราว ในอารมณ์ที่เราอยู่ในฌาน ความโกรธมันก็ไม่มี หรือว่าขณะที่เราเกิดถีนะ ถีนะก็คือความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าเราเข้าฌานได้ จิตใจของเราก็จะไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน บางครั้งมีญาติโยมบางคนมาถามว่า อาจารย์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว มันสว่าง จิตใจมันสว่าง อิ่มอยู่ตลอดเวลา สมองนี้มันใส จะง่วงก็ไม่ง่วง ไม่อยากนอน อยากจะเดินจงกรมนั่งภาวนาทั้งคืน มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร อันนี้ก็แสดงว่าจิตใจของบุคคลนั้นมันเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิขึ้นมามาก เกิดโอภาส แสงสว่างขึ้นมาทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมันตื่น

          หรือว่าบุคคลใดที่เกิดปีติ เวลาปีติมันเกิดขึ้นมามากๆ จิตใจมันจะอิ่ม อิ่มแล้วตามันจะสว่างใส เราหลับตาลงสมองนี้มันจะใส เรากำหนดอาการพองอาการยุบเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบดี แต่มันไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า เวลาเราเดินจงกรมนี่เราเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบดี แต่ว่ามันไม่สงบ เพราะว่าอะไร เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า บางครั้งปีติเกิดทั้งคืนก็มี เกิดตั้งแต่ ๕ โมงเย็น ๖ โมงเย็นโน้นกว่าที่ปีติมันจะคลายลงก็ตอน ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้าก็มีด้วยอำนาจของสมาธิมันมากมันน้อยต่างกัน

          เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดมีปีติแล้วความง่วงเหงาหาวนอนมันจะไม่มี หรือว่าบุคคลผู้ที่เข้าฌานได้ อุททัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งก็ดี ความซ่านก็ดี มันจะไม่เกิดมี ความฟุ้งก็คือในขณะที่เรานั่งไปนี้ จิตใจมันคิดไปถึงอารมณ์ข้างนอกอันนี้เรียกว่าฟุ้งแล้ว เราก็ดึงกลับมา ถ้ามันดึงกลับมาแล้วมันคิดไปอีกถ้ามันคิดไปอีกเราดึงกลับมาอีก อย่างนี้เรียกว่ามันฟุ้ง แต่ที่ว่าซ่าน อารมณ์ที่ว่าซ่านนั้นหมายความว่าเรานั่งไปแล้วเราคิด ปรุงแต่งไปเรื่อย คิดถึงบ้านแล้วก็คิดว่าบ้านนี้ใครจะกวาดแล้วเราจะเก็บของอย่างไร เราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะตกแต่งอย่างไร เราจะต่อเติมตรงนั้น ทำตรงนี้ คิดไปเป็นเรื่องเป็นราวนี้เรียกว่า ซ่าน ไปแล้ว เหมือนกับรถที่มันวิ่งผ่านฝุ่นในเวลาฤดูแล้ง เวลารถวิ่งไปแล้วฝุ่นมันก็ฟุ้งขึ้นมา ขณะฟุ้งขึ้นมาแล้วมันก็ซ่านออกไป แผ่ออกไป

          อารมณ์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าคิดแล้วดึงกลับมานี้ถือว่าฟุ้ง แต่ว่าถ้าคิดไปแล้วก็ปรุงแต่งไปด้วยนี้ถือว่า ซ่าน ถ้าเราเข้าอยู่ในปฐมฌานแล้วอารมณ์เหล่านี้มันจะไม่ปรากฏขึ้นมา เรียกว่าข่มได้ หรือว่าบุคคลผู้ที่อยู่ในฌานนั้นสามารถที่จะตัดวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยได้ แต่ก่อนเราลังเลสงสัยว่าพระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือเปล่า พระธรรมนี้สามารถที่จะนำบุคคลที่ประพฤติตามนั้นไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ได้ถึงสันติสุขคือการบรรลุมรรคผลนิพพานจริงมั้ย พระสงฆ์นี้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรงมั้ย เป็นเนื้อนาบุญของโลกจริงมั้ย บาปมีมั้ย บุญมีมั้ย นรกมีมั้ย สวรรค์มีมั้ย การประพฤติปฏิบัติธรรม คุณของศีล คุณของสมาธิ คุณของปัญญามีมั้ย เกิดความสงสัย

          แต่ถ้าเราได้ฌาน สิ่งเหล่านี้มันจะระงับไว้แต่ยังไม่สงสัย เพราะอำนาจของฌานมันจะระงับไว้แต่ยังไม่สงสัย เพราะอำนาจของฌาน เรียกว่า  วิกขัมภนปหาน เราสามารถข่มได้ด้วยการเข้าสมาธิ อันนี้เป็นลักษณะของการเบียดเบียนกิเลสอย่างกลาง

          แต่ถ้าเราจะเบียดเบียนกิเลสอย่างละเอียด เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนอย่างคณะครูบาอาจารย์ ที่กำลังเดินจงกรมนั่งภาวนานี้แหละ ถือว่าเรามาเบียดเบียนกิเลสอย่างละเอียด ถ้าเราสามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็จะเบียดเบียนกิเลส คือเบียดเบียนอนุสัยที่ดองเนื่องอยู่ในขันธสันดาน คือจะเบียดเบียนอนุสัย ๗ ประการ คือกามานุสัยคือ เครื่องหมักดองคือกามคุณ แล้วก็เบียดเบียนภวานุสัย คือเบียดเบียนอนุสัยคือภพ แล้วก็เบียดเบียนทิฏฐานุสัย คือเครื่องหมักดองคือความเห็นผิดอยู่ในขันธสันดานของเรา แล้วก็เบียดเบียนมานานุสัย คือความมีมานะ ความถือตัวว่าเราเกิดก่อน ว่าเรามีอายุมาก ว่าเรามีความรู้มาก หรือว่าเราเกิดในตระกูลที่ดี เกิดในตำบลอำเภอที่ดีอะไรทำนองนี้ เรียกว่ามีมานะทิฏฐิขึ้นมา เราเจริญวิปัสสนานี้ก็เบียดเบียนมานานุสัยนี้ให้หมดไป ให้สิ้นไปตามกำลังของมรรคของผลของเรา แล้วก็เบียดเบียนปฏิฆานุสัย คือปฏิฆะคือความโกรธนั้นให้หมดไปให้สิ้นไปจากจิตจากใจของเรา แล้วก็เบียดเบียนวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยให้หมดไปสิ้นไปจากจิตจากใจของเรา แล้วก็เบียดเบียนอวิชชา คือความไม่รู้ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรา

          คือขณะที่เราเดินจงกรมนั่งภาวนานี้แหละ ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงพระอนาคามี ก็สามารถที่จะละกามราคะได้ เรียกว่าสามารถที่จะกำจัดกามราคานุสัยให้หมดไปจากจิตจากใจได้ แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติถึงพระอรหันต์นั้นแหละ จึงจะสามารถที่จะตัดภวาราคานุสัยคืออนุสัยในภพนั้นให้สิ้นไปจากจิตจากใจได้ ถ้าบุคคลใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงสามารถที่จะละความเห็นผิดให้หมดไปจากจิตจากใจได้ แต่ถ้าบุคคลใดปฏิบัติถึงพระอรหันต์ จึงสามารถที่จะละมานานุสัยได้ ถ้าบุคคลใดปฏิบัติถึงพระอนาคามี จึงสามารถที่จะละความโกรธได้ ถ้าบุคคลใดปฏิบัติบรรลุเป็นพระโสดาบันก็สามารถที่จะละความสงสัยเรื่องพระพุทธ สงสัยเรื่องพระธรรม สงสัยเรื่องพระสงฆ์ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้ หรือว่าบุคคลใดที่ประพฤติถึงพระอรหันต์ จึงสามารถละความไม่รู้คืออวิชชานั้นออกไปจากจิตจากใจ

          อันนี้เป็นการละเครื่องอนุสัยเครื่องหมักดอง ด้วยอำนาจของมรรค ของผล ของบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมมา เป็นความหมายของศาสนาในข้อที่ ๔ ในคำว่าเบียดเบียน

          ศาสนาข้อที่ ๕ ท่านแปลว่า อาคมะ ซึ่งแปลว่าเป็นที่มาประชุมแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวง คือพระศาสนาของเรานี้เป็นที่เกิด เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นบ่อเกิดแห่งกุศล เป็นบ่อเกิดแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา หรือว่าใครอยากจะได้บุญอะไรๆ ก็มาทำเอาที่พระพุทธศาสนานี้แหละ

          ใครอยากจะมีอายุยืนก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นเศรษฐีก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นพระมหากษัตริย์ก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นเทวดาก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพรหมก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นอสีติมหาสาวก ก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพระอัครสาวก เหมือนพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา หรือ ใครอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรานี้แหละ

          คือมาบำเพ็ญศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญปัญญา บำเพ็ญบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เรียกว่ามาบำเพ็ญอยู่ที่นี่ อยู่ที่พระศาสนานี้แหละ

          เพราะฉะนั้นศาสนาของเรานั้นจึงถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นบ่อเกิดแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นพระศาสนานั้นจึงเปรียบเสมือนกับทะเล ทะเลนั้นเป็นที่น้ำทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเล็ก แม่น้ำน้อยทั้งหลายทั้งปวงก็ไหลลงไปรวมที่ทะเล พระศาสนาของเราก็เหมือนกัน เป็นที่รวมแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวงฉันนั้นเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้น พระศาสนานั้นท่านจึงถือว่า เป็นที่เกิดแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาบ้างตามสมควร ก็จะไม่ขอพูดพิสดารมากไปกว่านี้เพราะว่ากินเวลามามากแล้ว

          ก็จะขอสรุปว่า พระศาสนาของเรานั้น เมื่อสรุปโดยย่อแล้วก็มีอยู่ ๓ ประการ คือปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา แล้วก็ปฏิเวธศาสนา ปริยัติศาสนาก็คือการเล่าเรียน ศึกษาพระไตรปิฎก ตามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เรียนเปรียญธรรมประโยค ๑-๒ ประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ประโยค ๗ ประโยค ๘ ประโยค ๙ เรียนอภิธรรมบัณฑิตคือ จุลตรี จุลโท จุลเอก มัชฌิมตรี มัชฌิมโท มัชฌิมเอก แล้วก็เรียนจนจบมหาอภิธรรมบัณฑิตเรียกว่าจบ อภิธรรมบัณฑิต อันนี้เป็นหลักสูตรของการเรียนปริยัติในทุกวันนี้

          ส่วนปฏิบัตินั้นท่านหมายถึงว่า การยังกาย วาจา ใจ ของผู้ปฏิบัตินั้นให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งคุณงามความดี คือยังกาย วาจา ใจของบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นให้เข้าถึงศีล เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงปัญญา อันนี้หมายถึงปฏิบัติศาสนา

          ส่วนปฏิเวธศาสนานั้นท่านหมายถึงการแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กล่าวโดยย่อก็คือ การบรรลุ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เรียกว่า นวโลกุตรธรรม ๙ ประการ อันนี้หมายถึงปฏิเวธธรรมคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          เมื่อเราจะอุปมาอุปไมยปริยัติก็ดี ปฏิบัติก็ดี ปฏิเวธก็ดี เพื่อที่จะให้เข้าใจ

          ปริยัตินั้นเปรียบเสมือนกับการเรียนแผนที่ อย่างเราจะไปกรุงเทพ เราจะไปต่างจังหวัด ไปภาคเหนือ เราก็ดูแผนที่ว่าจะไปอำเภอไหนก่อน ไปทางหลวงหมายเลขที่เท่าไหร่ เราก็เรียนเป็นอย่างดี อันนี้หมายถึงปริยัติ   

          แต่เมื่อปฏิบัติก็คือ เราเดินทางตามแผนที่ ที่เราได้ศึกษามาดีแล้วนั้นแหละ ไปตามทางหลวงหมายเลขที่เราศึกษาดีแล้วแต่เรายังไปไม่ถึง อันนี้เป็นปฏิบัติ

          ส่วนปฏิเวธนั้นหมายถึงว่าเรานั้นไปถึงแล้ว ถ้าเราจะไปเชียงใหม่เราก็ไปเห็นเชียงใหม่ ว่าเชียงใหม่นั้นมีถนน ๔ เลนมีบ้านช่องตึกรามเป็นอย่างไร เรียกว่าเราไปเห็นกับหูดูกับตามาแล้ว

          แล้วก็ปริยัตินั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนตำราอาหาร คือปริยัตินั้นเปรียบเสมือนกับการเล่าเรียนตำราอาหารว่า แกงนี้เราจะใส่น้ำ ใส่ปลาเท่าไหร่ ใส่ไก่เท่าไหร่ ใส่เห็ดเท่าไหร่ ใส่น้ำพริกเท่าไหร่ ใส่น้ำปลา ใส่เกลือเท่าไหร่ เราต้องต้มไฟเดือดอย่างไร นานขนาดไหน เราเรียนเป็นอย่างดีแต่เรายังไม่เคยทำสักที ครั้งเดียวเราก็ไม่เคยทำ

          ส่วนปฏิบัตินั้นก็หมายเอาวิชา คือการเรียนต้มนั้นแหละมาใส่น้ำเท่าไหร่ ใส่ผักเท่าไหร่ ใส่ปลา ใส่เนื้อเท่าไหร่ ใส่พริก ใส่เกลือ ใส่น้ำตาล ต้มใช้ไฟแรงขนาดไหน เอามาทำ เราทำเสร็จเรียบร้อยแต่เรายังไม่ซด เรายังไม่ดื่ม เรายังไม่กิน เรายังไม่ฉัน

          ส่วนปฎิเวธนั้นหมายถึงว่า ตักเอาแกงมาใส่ถ้วยแล้วก็ชิมดูว่ามันมีรสชาติอย่างไร รู้เฉพาะตนเอง บุคคลใดชิมบุคคลนั้นก็รู้ว่ามันเอร็ดอร่อยอย่างไร มันมีรสเปรี้ยวหวานอย่างไร คนที่ไม่ชิมก็ไม่รู้ อันนี้เป็นปฏิเวธ

          แล้วก็ปริยัติธรรมนั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนลายแทงว่าที่วัดป่าน้ำท่วม มีขุมทรัพย์ ที่ฝังไว้อยู่ตรงโน้น อยู่ตรงนี้ แล้วก็เรียนลายแทงว่ามันมีต้นไม้ใหญ่อยู่ เป็นต้นบากหรือต้นอะไร มันฝังอยู่ตรงทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกเรียนอย่างดี เรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ลงมือขุด ยังไม่ลงมือไปตามลายแทง

          แต่ปฏิบัตินี้นี่ลงมือขุดลงไปๆ แต่ยังไม่ถึงสมบัติที่ตนเองศึกษาตามลายแทง

          ปฏิเวธธรรมนั้นหมายถึง ขุดถึงแล้ว แล้วก็ยกเอาสมบัติ มีเพชร นิล จินดา มีพระทองคำอะไรขึ้นมาเชยชม อันนี้เป็นความหมายของปฏิเวธ

          แล้วก็ปริยัตินั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนตำรายา ว่ายานี้แก้โรคปวดหัว แก้โรคท้อง แก้โรคตับ แก้โรคหอบเหลือง ต้องฝนยารากไม้ตรงนี้ เอาตัวนี้มาผสมกับตัวนี้เรียนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่เคยทำซักที ยังไม่เคยปรุงซักที

          ปฏิบัตินั้นหมายถึงเอาตำราเอารากไม้เอาส่วนประกอบของยามาผสมกัน แต่ยังไม่เอาไปใช้ทา ยังไม่เอาไปใช้กิน ยังไม่เอาไปใช้รักษา

          ความหมายของปฏิเวธนั้นก็คือ เอายาอันนั้นไปใช้ทา ไปใช้กิน ไปใช้รักษาคนป่วยแล้วคนป่วยก็หายจากโรค อาจจะเป็นโรคปวดหัว โรคตับก็ดี โรคหอบเหลืองก็หายจากโรคนั้น อันนี้เป็นความหมายของปฏิเวธ

          เพราะฉะนั้นพระศาสนาของเรานั้นจะเจริญรุ่งเรืองได้ก็ต้องอาศัยทั้งปริยัติ อาศัยทั้งปฏิบัติ อาศัยทั้งปฏิเวธ แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา พระศาสนาของเราก็จะเสื่อมไปๆๆ ในที่สุดพระศาสนาของเราก็จะหมดไป รุ่นลูกรุ่นหลานก็ไม่สามารถที่จะได้มาอยู่ใต้ร่มพุทธธรรมให้ได้รับความร่มเย็น ประชาชนคนทั้งหลายก็จะเดือดร้อนด้วยอำนาจของกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ มีแต่ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงกัน ได้รับความเดือดร้อนนานาประการ เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีศาสนาเป็นเครื่องร่มเย็น ให้ประชาชนทั้งหลายมีความสุข มีความสบาย ศาสนาของเราก็จะสิ้นไป เสื่อมไป สูญไป

          เหมือนกับสมัยก่อน ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เสื่อมสิ้นไป คือในสมัยนั้นมีชาวบ้าน ๒ คน มีชาวตระกูล ตระกูลหนึ่ง พี่กับน้องออกบวชด้วยกัน ผู้พี่ชื่อว่าโสธนะ ส่วนน้องชายชื่อว่า กปิละมารดาของชนทั้ง ๒ นั้นชื่อว่า สาธนี น้องสาวของชนทั้ง ๒ ชื่อว่า ตาปนา คนทั้ง ๔ นั้นได้ออกบวชด้วยกัน ทางโสธนะก็ดี กปิละก็ดี ก็บวชเป็นพระ ส่วนมารดาคือนางสาธนีและน้องสาวชื่อตาปนาก็บวชเป็นภิกษุณี

          ภิกษุทั้ง ๒ รูปบวชแล้วก็อุปถัมภ์อุปัฏฐากอุปัชฌาย์นั้นครบ ๕ ปี แล้วทั้ง ๒ ก็เข้าไปกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ในพุทธศาสนานี้นี่มีธุระที่จะต้องศึกษากี่อย่าง อุปัชฌาย์ก็ว่ามีอยู่ ๒ อย่างคือ วิปัสสนาธุระแล้วก็คันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียน

          ภิกษุผู้เป็นพี่ชายชื่อว่า โสธนะ คดว่าตนเองบวชเมื่อแก่เราคงจะไม่มีเรี่ยวแรงจะศึกษาปริยัติธรรม ก็เลยศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเรียนเอากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์แล้วก็ไปพากเพียรอยู่ในป่า เดินจงกรม นั่งภาวนา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตน

          ส่วนกปิละน้องชายคิดว่าเรายังหนุ่มยังแน่นเราจะเรียนพระไตรปิฎก เรียนคันถธุระเสียก่อน ต่อเมื่อเราแก่เราเฒ่าเราจึงจะเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ก็เริ่มตั้งความเพียร ศึกษาพระสูตร ศึกษาพระวินัย พระอภิธรรมจนเป็นผู้แตกฉานช่ำชองคล่องปาก สามารถที่จะอธิบายพระสูตรพระอภิธรรมนั้นได้ชำนิชำนาญมากมาย พิสดารมากก็เลยมีบริวารมาศรัทธามาอุ้มมาล้อมมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก คนก็ศรัทธา

          กปิละภิกษุนั้นก็เลยมัวเมาในลาภ ในความสรรเสริญ เมื่อมัวเมามากขึ้นๆ คนมีกิเลสอยู่ก็เลยหลงตัวเอง เมื่อหลงตัวเองก็ไม่ยอมที่จะเชื่อฟังใคร บุคคลอื่นว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง เพราะว่าตนเองนั้นเป็นอาจารย์สอนคนอื่นแล้ว คนอื่นจะมาเตือน คนอื่นเป็นลูกศิษย์จะมาเตือนเราได้อย่างไร เราเป็นอาจารย์ใครจะมาเตือนเราได้ เกิดมานะทิฏฐิความพองตัวเหมือนกับอึ่งอ่างมันพองตัว ก็คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้มาก แต่ที่ไหนได้ตนเองมีความรู้แค่ปริยัติธรรมเท่านั้น ส่วนปฏิบัติหารู้ไม่ ส่วนปฏิเวธไม่ได้แทงตลอด ก็เหมือนกับว่า กบมันมีดินติดหัวนิดเดียวก็คิดว่าเป็นหงอนพญานาค ก็คิดว่าเป็นเกล็ดของพญานาค พองตัวขึ้นมา บุคคลผู้มีแต่ปริยัติก็เหมือนกัน ศึกษาได้รู้นิดๆ หน่อยๆ ก็คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้รู้มาก พองตัวเหมือนกับกบที่มีดินติดหัวนึกว่าเกล็ดของพญานาค นึกว่าหงอนของพญานาคก็อวดลำพองตัวเอง ในที่สุดภิกษุผู้มีศีลก็ไม่ค่อยจะชอบ ไม่อนุโมทนา ก็กล่าวพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนไป กล่าวสิ่งที่เห็นสมควรว่าไม่สมควร

          ภิกษุทั้งหลายว่าสิ่งนี้มันสมควรนะท่าน กปิละก็ว่าไม่สมควร

          ภิกษุกล่าวว่าสิ่งนี้มันไม่สมควรนะท่าน กปิละก็กล่าวว่าสมควร

          ภิกษุทั้งหลายว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษท่านอย่าทำนะกปิละก็กล่าวว่าถูก เพราะว่าตนเองไม่ยอม มีแต่มานะทิฏฐิ ภิกษุทั้งหลายก็เลยไปฟ้องพี่ชายชื่อว่าโสธนะ

          พี่ชายก็มาตักเตือนน้องชายว่าท่านการประพฤติปฏิบัติดี ภิกษุอย่างท่านนี่ ถ้าประพฤติปฏิบัติดีแล้วจะชื่อว่าเป็นอายุของพระศาสนา จะเป็นการสืบทอดพระศาสนาเพราะท่านมีความรู้มาก ท่านจงปฏิบัติให้ตรงต่อพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด แต่ภิกษุชื่อว่า กปิละก็ไม่สนใจ พี่ชายก็มาเตือน ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง น้องชายก็ไม่สนใจ พี่ชายก็เลยคิดว่า ท่าน ถ้าท่านไม่เชื่อคำของกระผม ท่านจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง แล้วพี่ชายก็เลยทิ้งน้องชายไป น้องชายก็เสียคน เมื่อเสียคนเพราะพี่ชายทิ้งแล้วก็ประมาท เมื่อประมาทแล้วก็วันหนึ่งคิดว่าตนเองจะลงอุโบสถ ก็ขึ้นไปอุโบสถประชุมพระสงฆ์ สามเณร แล้วก็จับพัตรอันวิจิตร คิดว่าจะแสดงอุโบสถก็ถามว่าอุโบสถนั้นเป็นไปในท่านทั้งหลายแล้วหรือ คือพวกท่านทั้งหลายตั้งใจจะฟังอุโบสถไหม ภิกษุทั้งหลายก็ไม่ตอบ ก็เพราะว่าจะตอบไปทำไม ไม่รักษาพระธรรมวินัย ไม่รู้จะฟังไปเพื่ออะไร ตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามวินัย

          ในที่สุดพระกปิละก็เลยพูดขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า พระธรรมไม่มี วินัยไม่มี พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะก็เสื่อมสิ้นไปตั้งแต่บัดนั้นมา พี่ชายของพระกปิละคือ พระโสธนะก็ปรินิพพานในวันนั้นเอง เมื่อกปิละมรณภาพจากนั้นแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง

          ในสมัยนั้นก็มีโจรห้าร้อย โจรห้าร้อยนี้เป็นคนที่ไปปล้นไปฆ่าคนอื่นมาเป็นประจำ วันหนึ่งพระราชาประชุมให้ทหารตามล่า พอทหารตามล่าโจร ๕๐๐ คนก็หลบหนีไปอยู่ในป่า ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ก็ไปเห็นพระรูปหนึ่งกำลังนั่งบำเพ็ญธรรมอยู่ก็เลยว่า ท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผมทั้งหลายเถิด พระเถระรูปนั้นก็เลยบอกว่า ที่พึ่งอื่นยิ่งไปกว่าศีลไม่มี ถ้าท่านอยากจะได้ที่พึ่งพวกท่านจงสมาทานศีลเถิด หัวหน้าโจรพร้อมกับโจร ๕๐๐ ก็เลยสมาทานศีล เมื่อสมาทานศีลแล้ว พระเถระก็เลยบอกว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ต่อไปนี้อย่าทำศีลของตนให้ขาด ให้ทะลุ ให้เศร้าหมอง แม้ชีวิตก็อย่าให้มันเศร้าหมอง แม้คิดร้ายก็อย่าไปคิดร้ายกับบุคคลอื่น

          พอดีทหารของพระราชาตามมา เมื่อตามมามาเห็นโจรแล้วก็ฆ่าโจรทั้งหลายตาย โจรที่เป็นหัวหน้าก็ไปเกิดเป็นเทวดา โจรทั้งหลายที่เป็นลูกน้องก็ไปเกิดเป็นบริวารในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของการรักษาศีล ๕ ชั่วครู่ เทวดาทั้งหลายก็ท่องเที่ยวไปในมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง สิ้นพุทธันดรหนึ่ง ก็มาเกิดอยู่ที่หมู่บ้านชาวประมงทางเข้าประตูเมืองสาวัตถี

          ทางฝ่ายพระกปิละซึ่งตายไปเกิดในอเวจีมหานรกพุทธันดรหนึ่ง พ้นจากนรกนั้นก็มาเกิดในแม่น้ำ อจิรวดี อยู่หน้าทางเข้าเมืองสาวัตถีเหมือนกัน พอดีชาวประมงเหล่านั้นโตขึ้นมาแล้ว หัวหน้าโจรก็ไปเกิดเป็นลูกของหัวหน้าชาวประมง บริวารก็ไปเกิดเป็นลูกน้องของชาวประมง พอโตขึ้นมาแล้วก็ไปหว่านแหหาปลา ขณะที่หว่านแหลงครั้งแรกนั้นแหละ ไปถูกปลาตัวหนึ่งที่มีตัวใหญ่ มีสีเหมือนกับทองคำ ชาวประมงทั้งหลายก็มีเสียงเอ็ดอึงกันว่าปลานี้ มีสีแปลก มีสีเหมือนกับทองคำก็เลยยกปลานั้นขึ้นมาใส่เรือแล้วก็เรียกคนมาดู ผู้ที่เป็นชาวประมงก็คิดว่าปลานี้แปลก เราจะเอาไปถวายพระราชา พระราชาก็คงจะพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากก็เลยเอาไปถวายพระราชา พระราชาเห็นแปลกก็เลยคิดว่าจะเอาไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าปลานี้ทำไมจึงเป็นสีเหมือนทอง ก็เลยเอาปลานี้ไปสู่พระเชตวัน

          ขณะที่ไปสู่พระเชตวัน ปลาก็อ้าปาก ขณะที่ปลาอ้าปากนั้นกลิ่นเหม็นก็ฟุ้งออกไปจากปากของปลาตลบอบอวลทั้งพระเชตวันทั้งสิ้น พระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งครองเมืองสาวัตถีในครั้งนั้นก็ไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญทำไมหนอ ปลานี้จึงมีสีเหมือนทองคำ ทำไมหนอปลานี้จึงปากเหม็นเหลือเกิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า มหาบพิตรต้องการจะฟังไหม ถ้ามหาบพิตรต้องการจะฟังตถาคตจะเล่าให้ฟัง แล้วพระตถาคตก็เลยเล่าให้ฟังว่า

          ปลานี้ชื่อว่า กปิละในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ แล้วพุทธเจ้าก็เลยตรัสถามว่า เธอชื่อว่ากปิละใช่ไหม ปลาก็ตอบว่าพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าชื่อว่ากปิละแล้วเธอมาจากไหน ปลานั้นก็บอกว่า ข้าพเจ้ามาจากอเวจีมหานรก พี่ชายของเธอชื่อว่า โสธนะนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน ปลาก็ตอบว่าพี่ชายของข้าพเจ้าพระองค์นั้นปรินิพพานไปแล้ว มารดาของเธอชื่อว่าสาธนีล่ะไปไหน ปลาก้บอกว่า มารดาของข้าพเจ้าไปเกิดในอเวจีมหานรกเพราะไปด่าภิกษุถือทิฏฐานุคติตามข้าพระองค์ ไปด่าภิกษุด่าผู้มีศีลก็เลยไปเกิดในนรก แล้วก็ถามปลาว่าน้องสาวของเธอชื่อว่า ตาปนาล่ะไปเกิดในที่ไหน ปลาก็บอกว่าน้องสาวของข้าพระองค์ไปเกิดในนรกชื่อว่าอเวจีเพราะไปด่าภิกษุ ตามที่กระผมได้ด่าภิกษุทั้งหลายในคราวที่มีชีวิตอยู่

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ถามต่อไปว่า แล้วเธอล่ะจะไปที่ไหนต่ออีก ปลานั้นก็บอกว่าข้าพระองค์นั้นจะไปเกิดในอเวจีมหานรกอีก พูดจบแล้วก็เกิดความเดือดร้อน เมื่อเกิดความเดือดร้อนก็เอาหัวของตนเองฟาดลงที่เรือก็เลยตาย ตายแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก

          ชนเป็นอันมากกำลังยืนมุงดูอยู่ก็เกิดขนพองสยองเกล้า เกิดขนชูชันมีจิตใจสลดสังเวช และคิดว่าบาปกรรมนี้มันมีจริงหนอๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงพิจารณาจิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายว่า จิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายมีความสลดสังเวชแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงกปิลสูตรในสุตตนิบาต เป็นใจความว่านักปราชญ์ทั้งหลาย สรรเสริญว่าการประพฤติธรรมก็ดี การประพฤติพรหมจรรย์ก็ดีเป็นแก้วอันประเสริฐ

          เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชาวประมงทั้ง ๕๐๐ เบื่อหน่ายในเพศของฆราวาส ออกบวช เมื่อออกบวชแล้วก็เจริญสมณธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานทั้ง ๕๐๐

          อันนี้เป็นการเสื่อมเสียของพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายก็ขอให้ตั้งจิตตั้งใจ รักษาพระศาสนาของเราตราบเท่าที่เราจะรักษาได้ ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เท่าที่กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงเป็นผู้เพียบพูน สมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความมุ่งมาดปรารถนา ขอให้มีโอกาสได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมนำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
32  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / ศาสนา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 17:05:51



ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

          ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ผู้ใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในราตรีของวันที่ ๘ พรุ่งนี้ก็ถือว่าเป็นราตรีของวันที่ ๙ มะรืนนี้เราก็จะต้องลาจากกันไป เพราะฉะนั้นค่ำคืนนี้ถือว่าเป็นคืนสุดท้ายที่เราจะต้องเดินจงกรม นั่งภาวนารวมกัน ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติในค่ำคืนสุดท้าย เพราะฉะนั้นวันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง ศาสนา มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายตามสมควรแก่สติและปัญญา

          คำว่า ศาสนา นั้นก็มีอยู่ทั่วไป ตามที่เราได้เห็นปรากฏ ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ตามตำรับตำรา ตามปราชญ์อาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวไว้ว่า ศาสนาทั่วโลกนั้นมีมาก จะเป็นศาสนาพุทธก็ดี ศาสนาซิกข์ก็ดี ศาสนาคริสต์ก็ดี ศาสนาพราหมณ์ก็ดี ศาสนาฮินดูก็ดี หรือว่าศาสนาอิสลาม ที่เราได้ยินข่าวเกรียวกราวที่ภาคใต้นี้ก็ดี ศาสนาเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นทางเดินของศาสนิกชนทั้งหลาย ศาสนิกชนก็คือ ชนผู้นับถือศาสนา

          ถ้านับถือศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้ ศาสนาคริสต์สอนอย่างไร พระเยซูสอนให้เว้นจากบาปอย่างไร เวลาทำบาปแล้วไปล้างบาป สารภาพกับพระเยซูแล้วหายจากบาปอย่างไรนี้ท่านสอนไว้ ศาสนาอิสลามสอนอย่างไน ศาสนาพราหมณ์สอนอย่างไร เวลาทำบาปแล้วลงไปล้างน้ำล้างตา แต่ละศาสนานั้นก็ถือว่าเป็นทางเดินของศาสนิกชนคือ ชนผู้นับถือศาสนานั้นๆ

          แต่ถ้าศาสนาใดเป็นศาสนาที่เป็นประเภท เทวนิยม คือศาสนาในโลกนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือศาสนาเทวนิยม กับศาสนาที่เป็นกรรมนิยม ศาสนาที่เป็นเทวนิยมก็คือศาสนาที่ถือเทพเจ้า

          อย่างศาสนาคริสต์ก็ถือว่าเป็นเทวนิยม ทำไมจึงถือว่าเป็นเทวนิยม เพราะว่าบุคคลผู้ที่ทำตามที่พระเยซูสอนแล้ว ตายแล้วก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์อยู่ร่วมกับพระเจ้า คืออยู่ร่วมกับพระเยซูนั้นเอง

          หรือว่าศาสนาอิสลาม ถ้าทำร้ายศาสนาอื่นให้ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความตายไปข้างหนึ่ง บุคคลนั้นก็จะได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์อยู่กับพระเจ้า หรือว่าบุคคลใดพลีชีพเพื่อพระศาสนา จะเป็นการทำร้ายบุคคลอื่นให้ตายก็ตาม แต่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศาสนาของตนเองนั้นแพร่หลายก็จะไปเกิดกับพระเจ้า อันนี้ก็ถือว่าเป็นเทวนิยม

          หรือว่าศาสนาพราหมณ์ที่บูชาพระเจ้าอิศวร หรือพระเจ้าศิวะ ที่อยู่ต้นน้ำ แม่น้ำคงคาอยู่บนภูเขาหิมาลัยเพราะว่าแม่น้ำคงคานั้นต้นกำเนิดนั้นไหลมาจากภูเขาหิมาลัย ก็บูชาพระเจ้าอิศวรตอนนี้ถือว่าล้างบาปเวลาทำบาปทำกรรม ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ลักวัว ลักควาย หรือด่าพ่อ ด่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ปล้นสะดมต่างๆ ก็สามารถที่จะลงอาบน้ำแม่น้ำคงคาแล้วก็ล้างบาปได้ อันนี้ก็ถือตามเทวนิยม ศาสนาในโลกนี้ส่วนมากเป็นเทวนิยม

          แต่พระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นกรรมนิยม คือนิยมกรรมเรียกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

               ยาทิสํ วปเต พีชํ           ตาทิสํ ลภเต ผลํ

               กลฺยาณการี กลฺยาณํ      ปาปการี จ ปาปกํ

         แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี บุคคลทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว

          กรรมอันนี้ทางพุทธศาสนาของเราสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นศาสนาในโลกนี้มีพุทธศาสนาของเราเท่านั้นที่เป็นกรรมนิยม ถ้าใครทำดีก็ได้รับผลดี เหมือนกันกับเราปลูกถั่ว เราก็ได้ถั่ว ปลูกมะละกอเราก็ได้มะละกอ ปลูกมะม่วงเราก็ได้มะม่วง ปลูกอ้อยเราก็ได้อ้อย ปลูกมันสำปะหลังเราก็ได้มันสำปะหลัง ปลูกยางพาราเราก็ได้ยางพารา เพราะอะไร เพราะว่าทำเหตุอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น นี้เป็นเหตุที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้

          ถ้าบุคคลใดรักษาศีลบุคคลนั้นก็ย่อมไม่มีความเดือดร้อน บุคคลใดเจริญสมถะกรรมฐานก็ได้ฌาน เรียกว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

          เมื่อเรามาพิจารณาศาสนา ๒ ศาสนา คือศาสนาฝ่ายกรรมนิยม เทวนิยม เราจะเห็นว่าถ้าเอาเทวนิยมมาเปรียบเทียบกับกรรมนิยม เทวนิยมนั้นก็จะเป็นศาสนาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือสอนผิดจากครรลองคลองธรรม สอนผิดจากพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้ ตามที่เราศึกษาในพระไตรปิฎก เราจะเห็นพวกเทพ พวกพรหม พวกพญามารต่างๆ นั้นมาขอฟังธรรม กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมจึงมาขอฟังธรรม เพราะว่าเทพทั้งหลาย จะเป็นท้าวสักกะก็ดี ท้าวยามาก็ดี ท้าวสันดุสิตก็ดี ท้าวนิมมานรดีก็ดี ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีก็ดี ที่ครองสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น หรือว่าท้าวมหาพรหมนับไปจนถึงท้าวอกนิฏฐพรหมนั้นแหละ ก็มาขอฟังธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เพราะเทวดาเหล่านี้ยังไม่ได้บรรลุธรรม ยังไม่ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้มีปัญญาน้อย ปัญญาของเทวดาก็ดี ปัญญาของเทพ ของพรหมก็ดี เปรียบเสมือนกับแสงหิ่งห้อย ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเสมือนกับดวงเดือน ดวงอาทิตย์ เรียกว่ามีปัญญามากกว่ากัน เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายที่นับถือเทพนั้น ที่เราศึกษาดูมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นศาสนามิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐินี้มีบาปมาก มีโทษมาก มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม อนันตริยกรรมคือ การฆ่าพ่อก็ดี ฆ่าแม่ก็ดี ฆ่าพระอรหันต์ก็ดี ยังโลหิตตุปบาท โลหิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ห้อ หรือว่ายังสงฆ์ให้แตกจากกัน ถือว่าเป็นบาปหนักในทางพุทธศาสนา

          แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อนันตริยกรรมนั้นยังมีวันพ้น แต่ว่ามิจฉาทิฏฐินี้ไม่มีวันพ้น เป็นกรรมที่ดิ่งลงไปในฝ่ายเดียวคือ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในโลกันตมหานรก อนันตริยกรรมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในอเวจีมหานรก เหมือนกับพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นไปเกิดในอเวจีมหานรก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า พระเทวทัตพ้นจากอเวจีมหานรกแล้วจะได้มาตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอัฏฐิสสระ นี้เรียกว่ายังมีวันพ้น

          แต่บุคคลใดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าง มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล นิครนถ์ นาฏบุตร พวกนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลงไปฝ่ายเดียว พวกนี้จะไปเกิดในโลกันตมหานรกที่มีแต่ความมืด ไม่มีแสงสว่าง มีน้ำเย็นเหมือนกับน้ำกรดถ้าตกลงไปแล้วก็เหมือนกับน้ำกรดเทราด มันจะเกิดความทุกข์ทรมานแล้วก็เดือดร้อน ไต่หนีน้ำกรดขึ้นไปตามหน้าผา อยู่ในความมืด มีเล็บเหมือนกับมีด ถ้าคลำเจอกันแล้วก็คิดว่าเป็นอาหารก็กัดกินกันตายลงไปๆ ก็เกิดขึ้นมาใหม่ แล้วก็กัดกินกันแล้วก็ตกลงไปในน้ำได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นอยู่อย่างนี้ โลกันตมหานรกนั้นเลยลงจาก อเวจีมหานรกนั้นลงไปอีก ขุมนรกที่ลึกที่สุด อันนี้ท่านกล่าวไว้ในเรื่องนรก ในมาลัยสูตร

          เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธของเรานั้นจึงถือว่าเป็นศาสนาที่เป็นกรรมนิยม แล้วก็ถ้าเราแปล ศาสนานั้นแปลว่าอะไร ศาสนานั้นแปลได้หลายอย่าง อย่างเช่นที่ท่านกล่าวไว้ว่าแปลว่าวาจา เครื่องพร่ำสอน ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า สาสติ เอเตนาติ สาสนํ ชื่อว่าศาสนา เพราะเป็นวาจา เป็นเครื่องพร่ำสอน คือเราจะสอนบุคคลอื่น เราก็ต้องมีเครื่องสอน อะไรเป็นเครื่องสอน ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้ง ๔๕ พรรษา ถ้านับเป็นพระสูตร ก็ได้ ๓ พระสูตร คือ พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก แล้วก็พระอภิธรรมปิฎก ถ้านับตามธรรมขันธ์ ก็ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่าได้สอน ๔๕ พรรษา นับเป็นพระธรรมขันธ์ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          ถ้าย่อลงในหลักธรรมหมวดใหญ่ๆ ก็หมายถึงโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเราย่อจริงๆ ก็คือ โอวาทปาติโมกข์ คือ

          สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง

          กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม

          สจิตฺตปริโยทปนํ  การทำจิตของตนให้ขาวรอบ

          ถ้าย่อให้ง่ายๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นคำสั่งสอนรวมทั้งหมดเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเราย่อ ศีล ย่อสมาธิ ย่อปัญญา ก็คือ ขันธ์ ๕ นั้นเอง ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ศีลมันก็อยู่ที่รูป อยู่ที่เวทนา อยู่ที่สัญญา อยู่ที่สังขารนี้ เมื่อย่อขันธ์ ๕ ก็คือ รูปกับนาม คือกายกับใจนั้นแหละ เมื่อย่อลงไปอีก ก็คืออาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดอยู่นี้แหละ

          ขณะที่เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ นี้เรียกว่าเรากำหนดถูกทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย ทั้งอภิธรรม ขณะที่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ ครั้งหนึ่งนี้ เราถือว่าเรากำหนดถูกทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย ทั้งพระอภิธรรม ถูกทั้งศีล ถูกทั้งสมาธิ ถูกทั้งปัญญา ถูกทั้งมรรค ถูกทั้งผล เพราะอะไร เพราะว่า ขณะที่มรรคผลมันจะเกิดนั้น ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๓๗ ประการก็มารวมกัน มารวมกันแล้วก็เกิดอนุโลมญาณขึ้นมา เกิดโคตรภูญาณ แล้วก็เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นธรรมะทั้งหลายทั้งปวงก็รวมอยู่ที่อาการพอง อาการยุบ เราบรรลุธรรมด้วยการกำหนดอาการพอง อาการยุบก็ได้ หรือขณะที่เราเดินจงกรมนี้ก็ถูกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพราะอะไร เพราะเราสามารถที่จะได้สมาธิในขณะที่เดินจงกรมก็ได้ เราสามารถที่จะบรรลุมรรคผลในขณะที่เดินจงกรมก็ได้ เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมนั้นจึงถือว่าเราประพฤติปฏิบัติตามวินัยทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แล้ว

          เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัตินี้ถือว่าเราเรียนพระพุทธศาสนาโดยทางลัด ไม่มีทางอื่นที่ลัดไปกว่านี้แล้ว พุทธศาสนาถ้าเราเรียนทางลัดอย่างนี้เราได้สมาธิ แล้วเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบันเป็นต้น เขาจะมากล่าวว่าเรานั้นไม่รู้พระศาสนาไม่ได้ จะมากล่าวว่าเราไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาไม่ได้ เราเข้าถึงพุทธศาสนาแล้ว เพราะอะไร เพราะเรานั้นได้เข้าถึงแก่นโดยการประพฤติปฏิบัติธรรม ยังปฏิเวธธรรมให้เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นพระศาสนานั้นจึงมีวาจาเป็นเครื่องพร่ำสอน คืออาศัยพระสูตร อาศัยพระวินัย อาศัยพระอภิธรรม อาศัยพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้แหละ มาสั่งสอนญาติโยมออกตนทั้งหลายให้เข้าใจในเรื่องพระศาสนา เพราะฉะนั้นศาสนาจึงแปลว่า วาจาเป็นเครื่องพร่ำสอน

          ประการที่ ๒ ศาสนานั้นแปลว่าเครื่องหมายหรือป้ายบอกทาง เครื่องหมายหรือป้ายบอกทางนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ให้คนเดินทางไม่ผิด ให้คนเดินทางได้ถูกต้องแม่นยำ แล้วก็ใช้กาลเวลารวบรัด คือไม่ต้องเนิ่นช้า ไม่ต้องหลงทาง เสียเวลา หลงอารมณ์ก็เสียคนไป

          เพราะฉะนั้นเราจะไปอุบลก็ดี เราจะไปกรุงเทพก็ดี เราจะเห็นป้ายบอกทางว่าไปอุบลนะ ๔๐ กิโล หรือ ๕๐ กิโล ไปกรุงเทพกี่ร้อยโล เราจะมีบอกตามหลัก ตามถนนที่เป็นสายที่จะมุ่งไปสู่กรุงเทพ เขาจะบอกเป็นระยะๆ บอกเป็นจังหวัดไปว่าเหลืออีกกี่กิโลจะถึงจังหวัด เหลืออีกกี่กิโลจะถึงอำเภอ เหลืออีกกี่กิโลจะถึงหมู่บ้านนี้ก็จะบอกไปตามลำดับๆ

          บุคคลผู้เดินทางก็จะเดินไปตามทางที่เขาบอก หรือเขาบอกว่าไปอุบลเลี้ยวขวา ไปนครราชสีมาเลี้ยวซ้ายอะไรทำนองนี้เราก็ไปตามลูกศรของเขา อันนี้ป้ายบอกทางในทางโลก แต่ว่าป้ายบอกทางในพระธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน บอกว่าโทสะนี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรกนะ ถ้าบุคคลใดที่ประกอบไปด้วยโทสะชอบโกรธ เพื่อนว่านิดหน่อยก็ไม่ได้ ลูกว่านิดว่าหน่อยก็ไม่ได้ สามีว่านิดว่าหน่อยก็ไม่ได้ ชอบโมโห ชอบโทโสชอบใช้อารมณ์ต่างๆ ถ้าเราตายด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยโทสะ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดในนรก เพราะอะไร เพราะว่าโทสะนั้นมีชาติหยาบ เราก็ไปเกิดในนรกที่มีชาติหยาบ

          หรือพุทธศาสนาของเรามีป้ายเขียนบอกไว้ว่า บุคคลใดผู้มีความโลภมาก เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่อยากจะทำบุญทำทาน มีที่ไร่ที่นาก็ไม่แบ่งให้ลูกให้หลาน มีที่ไร่ที่นาก็ไม่แบ่งให้พี่ให้น้อง โลภเอาเป็นของตัวเอง บางครั้งที่ของวัดก็โลภเอา บางครั้งที่ของคนอื่นก็โลภเอา เรียกว่ากอบโกยโกงกินเอาของบุคคลอื่นมาโดยที่มิชอบธรรม ในลักษณะอย่างนี้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย มีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่าภูเขา มีมือเท่าใบตาล ที่ท่านกล่าวไว้ในมาลัยสูตร มีไฟลุกขึ้นอยู่ในท้องหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา กินเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เพราะอะไร เพราะว่าท้องมันเท่ากับภูเขาปากเท่ากับรูเข็ม กินทั้งวันทั้งปีก็ไม่เต็ม เพราะว่าท้องมันใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้แต่ท้องของเราเล็กนิดเดียว กินเท่าไหร่มันก็ไม่เต็มเหมือนกับเราทิ้งลงเหว เปรตมันมีท้องใหญ่เท่ากับภูเขาแล้วก็มีปากเท่ารูเข็ม คิดดูสิว่ามันจะทุกข์ทรมานขนาดไหน ท้องของเปรตนั้นมีไฟร้อน เผาอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะอำนาจของความโลภ ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นต้องไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย

          หรือว่าถ้าบุคคลใดที่ประกอบไปด้วยโมหะ ลุ่มหลงมากมาย ลุ่มหลงในกามคุณ หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ ลุ่มหลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ พอตายไปแล้วบุคคลประเภทนี้ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนี้มีมากกว่ามนุษย์ มีมากกว่าเทวดา มีมากกว่าพรหม สัตว์น้ำมีมากกว่าสัตว์บก สัตว์บกนั้นมีน้อยกว่าสัตว์น้ำ บุคคลผู้ลุ่มหลงมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์น้ำ เกิดเป็นสัตว์เล็กๆ ที่ห่างไกลจากผู้คน ห่างไกลจากเสียงของธรรมะ ห่างไกลจากศีล จากสมาธิ จากปัญญา ก็ห่างไกลจากการที่จะได้บำเพ็ญคุณงามความดี แม้แต่หมาก็ยังเกิดเป็นเทวดาได้ อย่างที่เราได้เห็นในเรื่อง โกตุหลิกะนั้นแหละ อนุโมทนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ยินดีในพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้เป็นเทวดา หรือว่าในอานิสงส์ของการฟังธรรม

          มัณฑูกเทพบุตร เป็นกบ อาศัยอยู่ที่สระโบกธรณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังเสียงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม ก็เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส เกิดความยินดีในเสียง ส่งจิตส่งใจไปในที่สุดก็ถูกไม้เท้าของคนเลี้ยงโคฆ่าตาย ตายไปแล้วก็เกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชื่อว่ามัณฑูกเทพบุตร อันนี้สัตว์ที่เกิดอยู่ใกล้คนจะได้อานิสงส์

          หรือว่าแม่ไก่อาศัยพระที่ท่านสอนธรรมะ แม่ไก่หากินอยู่ที่ข้างศาลา หากินไปคุ้ยเขี่ยกินไป หากินไปหูก็ฟังธรรมไปเรื่อยในที่สุดก็ถูกแม่เหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปแล้วก็ เอาไปเป็นอาหาร ขณะตายนั้นจิตยินดีในพระธรรมก็ได้เกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ในเมืองนั้น ตายจากธิดาของกษัตริย์แล้วก็เวียนว่ายตายเกิด จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้าย อันนี้ก็เพราะอาศัยของสิ่งที่อาศัยอยู่ใกล้มนุษย์

          แต่ถ้าบุคคลใดมีโมหะมากก็จะไปเกิดเป็นสัตว์น้ำที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้เห็นพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดเป็นสัตว์บกก็มีโอกาสที่จะได้เห็น ได้ฟัง หรือว่าได้อนุโมทนาในบุญในกุศล เหมือนกับนกเค้าที่มันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ขณะที่พระปัจเจกพุทธเจ้าจะไปบิณฑบาต นกฮูก หรือนกเค้านี้มันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าครองจีวรเป็นปริมณฑล มีใบหน้าผ่องใส เพราะออกจากสมาบัติใหม่ๆ เดินด้วยอาการสำรวม สัตว์มันก็เกิดความเคารพมันก็ผงกหัวให้ ผ่านมาก็ผงกหัวให้ๆ ด้วยความยินดี ตายไปแล้วก็ยังจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

          คิดดูซิว่าสัตว์ที่เขามีความเลื่อมใสเขาก็ยังได้อานิสงส์ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมานั้นถ้าตายเป็นสัตว์น้ำ เป็นกุ้ง เป็นหอย เป็นปู เป็นปลา โอกาสที่จะบำเพ็ญบารมีนั้นไม่มี เพราะฉะนั้นบุคคลที่ลุ่มหลงต่างๆ นั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้รับความทุกข์ทรมาน เราเกิดเป็นหมาชาติหนึ่งมันก็เกิดความทุกข์ทรมานมาก เกิดเป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นวัว เป็นควายชาติหนึ่งก็ได้รับความทุกข์ทรมานมาก หวาดเสียวต่อการที่เขาจะเอาไปปาดคอ หวาดเสียวต่อการที่เขาจะเอาไปต้มไปแกง เรียกว่าเป็นสัตว์ที่มีความสะดุ้งอยู่เป็นประจำ

          แต่ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทที่รักษากรรมบถ ๑๐ ประการ คือรักษาศีล ๕ ดีตายไปแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์แต่รักษาศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ตายไปแล้วก็มาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นคนขาเป๋มั่ง เป็นคนหูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ บ้า หรือว่าเสียจริตนิสัยต่างๆ ก็เพราะอานิสงส์ของศีล ๕ นั้นไม่บริสุทธิ์

          เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามรักษาศีล ๕ นั้นให้บริสุทธิ์เพื่อเราจะเกิดมาแล้วมีอวัยวะครบ ๓๒ ประการ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่เป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่เป็นใบ้บ้าหนวกบอด หรือว่าเป็นผู้ที่มีสมบัติ ๓๒ ประการนี้เหมือนกับบุคคลอื่น จะไม่อายขายหน้าบุคคลอื่น อันนี้เป็นอานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ เรียกว่าเป็นป้ายบอกทางว่าใครอยากจะมาเกิดเป็นมนุษย์ก็รักษาศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์

          พระศาสนาของเรานั้นถือว่าเป็นป้ายบอกทางว่า ถ้าใครอยากจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมก็ดี ชั้นดาวดึงส์ก็ดี ชั้นดุสิตก็ดี ชั้นยามาก็ดี นิมมานรดีก็ดี ปรนิมมิตวสวัตตีก็ดี เราก็ต้องไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ทำบุญทำทานเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เราก็สามารถที่จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นๆ ได้

          เหมือนกับท้าวสักกะ ท้าวสักกะที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นท้าวสหัสนัย เป็นท้าวสักกะ ที่มีชื่อหลายชื่อก็หมายถึงผู้เดียวกัน พระอินทร์หรือท้าวสักกะหรือท้าวสหัสนัยนี้ก็บำเพ็ญวัตตบถ มีการเลี้ยงบิดามารดา มีการอ่อนน้อมถ่อมตน มีการไม่โกรธ มีการพูดวาจาอ่อนหวาน มีการเสียสละทำถนนหนทาง ทำศาลาที่พักริมทางเป็นต้น ให้แก่บุคคลผู้เดินผ่านไปผ่านมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ

          คือในสมัยหนึ่ง กระผมได้มีโอกาสได้เดินไปธุดงค์ ขณะที่เดินไปๆ ก็ไปพบหลวงตารูปหนึ่งกำลังถากหญ้าอยู่ที่ทาง ก็สังเกตดูว่าทางที่หลวงตาถากอยู่นี้มันไม่ใช่เขตวัด หลวงตานี้มาทำอะไรที่นี่หนอก็เกิดความสงสัยว่าหลวงตาแก่ๆ ทำไมมาถากทางอยู่ที่นี่ก็เลยไปถามว่า หลวงตาจะทำอะไร ทำไมถึงมาทำทางให้มันเรียบให้มันเตียนอย่างนี้

          หลวงตารูปนั้นตอบว่าผมตายไปแล้วไม่อยากจะเป็นเทวดานะ แล้วหลวงตาอยากจะเป็นอะไรครับผม กระผมอยากเป็นราชาของเทวดาเป็นท้าวสักกะ พอท่านพูดเช่นนี้ก็เข้าใจทันทีว่า หลวงตารูปนี้ปรารถนาเป็นท้าวสักกะหรือว่าปรารถนาเป็นเทพ ตั้งแต่บวชมาก็เห็นหลวงตารูปนี้แหละปฏิบัติธรรมเพื่อที่ปรารถนาความเป็นเทพ ถือว่าเป็นเมถุนสังโยชน์ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร ท่านเรียกว่าเมถุนสังโยชน์

          อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความปรารถนา ถ้าเราปรารถนาจะเป็นเทวดาเป็นอะไรในพุทธศาสนานี้ก็มีให้เลือก หรือว่าเราจะปรารถนาเป็นพรหม ว่าเราตายแล้วเราจะเกิดเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหมก็ดี ไล่ไปจนถึงชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิษฐกาพรหม เราก็ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักคือต้องให้ได้ฌาน ถ้าเราได้ฌาน ปฐมฌาน ปฐมฌานนี้ก็จะแบ่งออกเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบก็ไปเกิดเป็นพรหมมีผิวพรรณมีแสงสว่างน้อย แต่ถ้าอย่างกลางก็มีผิวพรรณมีแสงสว่างมากขึ้นไปอีก ถ้าอย่างละเอียดก็จะมีอำนาจมีอะไรมากกว่านั้นอีก ถ้าเป็นทุติยฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีตก็มีแสงสว่างรุ่งเรืองไปอีก ไล่จนไปถึง เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ไล่ไปจนถึงพรหมลูกฟัก

          ถ้าเราอยากไปเกิดในพรหมลูกฟักก็เข้าฌานแล้วก็อธิษฐานเข้าไป ถ้าเรานั่งมรณภาพเราก็จะไปอยู่ท่านั่งอยู่อย่างนั้นไปเป็น ๘๐,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในพรหมโลก หรือว่าถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เมื่อเราได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วเราก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม สุทธาวาสพรหมนี้ก็มีชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสี ชั้นสุทัสสาแล้วก็ อกนิษฐพรหม

          ถ้าเป็นพระอนาคามีที่มากด้วยศรัทธาก็จะไปเกิดในชั้นอวิหา ถ้าเป็นผู้มากด้วยความเพียรก็ไปเกิดในชั้นอตัปปา แต่ถ้ามากไปด้วยสติคือ อาศัยสติมากจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็ไปเกิดในชั้นสุทัสสา แต่ถ้าบุคคลใดที่มากไปด้วยสมาธิ คืออาศัยสมาธิจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็ไปเกิดในชั้นสุทัสสี แต่ถ้าบุคคลใดที่มีปัญญามากตายไปแล้วก็จะไปเกิดในชั้นอกนิษฐ์พรหม เราแบ่งเขตของพระอนาคามี

          แต่ถ้าบุคคลผู้ที่ตายไปแล้วไปเกิดในชั้นอวิหาก็ดี อตัปปาก็ดี ถ้าไม่ปรินิพพานในชั้นนั้นก็จะเลื่อนขั้นขึ้นไปๆ จากชั้นอวิหาก็ไปชั้นอตัปปา ชั้นอตัปปาก็ไปชั้นสุทัสสา จากชั้นสุทัสสาก็ไปชั้นสุทัสสี จากชั้นสุทัสสีก็จะไปเกิดในชั้นอกนิษฐ์พรหมแล้วก็ปรินิพพานในชั้นอกนิษฐ์พรหม อันนี้เป็นหนทางที่จะไปสู่พรหมโลก

          หรือว่าบุคคลใดที่จะไปสู่พระนิพพานก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์กำลังทำอยู่นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปถึงพระนิพพานได้ อันนี้เป็นความหมายของคำว่า ป้ายบอกทาง

          ประการที่ ๓ ศาสนานั้นท่านถือว่าเป็นมรดก มรดกนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือมรดกภายนอก และมรดกภายใน มรดกภายนอกอย่างเช่น แก้วแหวนเงินทอง รัตนแก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ เรือกสวนไร่นาต่างๆ นี้ก็ถือว่าเป็นมรดกภายนอก

          มรดกภายนอกนี้ไม่สามารถที่จะนำเรามาสู่ความเป็นมนุษย์ได้ ไม่สามารถที่จะนำเราไปสู่ความเป็นเทพ เป็นเทวดา เป็นพรหม หรือว่าไม่สามารถที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นเพียงแต่อุปการะ ถ้าเราใช้เป็นมันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้ไม่เป็นมันก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นทรัพย์ภายนอกหรือมรดกภายนอกนี้ ถ้าบุคคลใดใช้เป็นก็จะได้คุณมาก ได้คุณอนันต์ ถ้าใครใช้ผิดก็ได้โทษมหันต์ เรียกว่ามีทั้งคุณทั้งโทษอยู่ในตัวของมันเอง

          แต่ว่ามรดกในที่นี้นี่หมายถึงมรดกภายใน ไม่ได้หมายถึงมรดกภายนอก พระธรรมคำสั่งสอนนี้เป็นมรดกภายใน มรดกภายในนี้สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้นไปเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ เกิดบนสวรรค์ก็ได้ ไปเกิดเป็นพรหมก็ได้ ทำให้บุคคลนั้นไม่เดือดร้อน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่คิดถึงลูกเมียผัวเขา ไม่คิดเป็นชู้กับภรรยาสามีของบุคคลอื่น เพราะว่าผัวใคร ใครก็รัก แฟนใคร ใครก็หวง ก็ไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยว เราไม่พูดเท็จพูดเพ้อเจ้อพูดเหลวไหลไร้สาระ ไม่ดื่มสุราเมรัย ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นคนไม่โหดร้าย ไม่มือไว ไม่ใจเร็ว ไม่พูดปด ไม่หมดสติ อันนี้เป็นคำของศีล ๕

          บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดับกาย ประดับวาจา ประดับใจแล้วจะเป็นผู้ห่างเหินจากความชั่ว เพราะฉะนั้นมรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินกว่าทอง เงินทอง เรายังหาได้จากการค้าการขาย เรามีเงินเราก็ไปซื้อทองได้ ไปซื้อเพชรได้

          แต่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ซื้อไม่ได้ ใครทำใครได้ ใครปฏิบัติใครถึง เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจึงเป็นมรดกที่มีค่า ที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันจรรโลงรักษา เราช่วยกันจรรโลงรักษาโดยอะไร โดยประการใด คือญาติโยมก็ช่วยกันมาสนับสนุน ข้าวปลาอาหารนี้ก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระศาสนา ปะขาว แม่ชี มาช่วยกันฟังเทศน์ฟังธรรม มาช่วยกันเดินจงกรม นั่งภาวนานี้ก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระศาสนา พระสงฆ์ สามเณร มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์มาสอนกรรมฐานก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา

          เพราะว่าการที่เรามารวมกันอยู่นี้นี่เป็นเหตุเป็นเป็นปัจจัยให้ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ เราก็เผยแผ่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ตนเองรู้ ตนเองได้ถึง ให้บุคคลอื่นได้รู้ ได้เข้าใจ ได้ถึง แล้วพระศาสนาก็จะเจริญแพร่หลาย

          แล้วก็ความหมายของพระศาสนาประการที่ ๔ ก็คือ ศาสนานั้นแปลว่าเบียดเบียน ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า หึสติ เอเตนาติ สาสนํ ชื่อว่าศาสนาก็เพราะว่าเป็นเครื่องเบียดเบียนกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ให้เบาไป ให้ลดไป ให้หมดไป จากขันธสันดาน เรียกว่าพระศาสนาที่มีอยู่ในจิตในใจของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นก็ย่อมเบียดเบียน ความโกรธ ความโลภ ความหลง เบียดเบียนมานะ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่าเบียดเบียนกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ตามอำนาจของความเพียรบารมีของตัวเอง

          คือถ้าเรามารักษาศีล อย่างญาติโยมมารักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อนี้ก็ถือว่าเรามาเบียดเบียนกิเลสแล้ว คือเบียดเบียนกิเลสอย่างหยาบที่จะร่วงออกมาทางกาย ที่จะร่วงออกมาทางวาจา แต่ถ้าเรามาน้อมกายวาจาของเรามาเจริญสมถะกรรมฐานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ก็ถือว่าเรามาเบียดเบียน นิวรณ์ ทั้ง ๕ ประการ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เรียกว่าเรามาเบียดเบียนกิเลส ๕ ประการนี้ ให้มันอ่อนลง ให้มันลดลง ให้มันหมดไป

          คือในขณะที่จิตใจของเราอยู่ในปฐมฌานเป็นต้น กามฉันทะคือความพอใจในกามคุณ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสนั้นจะไม่มี เรียกว่าจิตใจของเราจะมีฌานเป็นอารมณ์ เรียกว่าอยู่ในอารมณ์ของฌาน จะไม่มีความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถ้าจิตใจของเราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสเมื่อไหร่แสดงว่าจิตใจของเราออกจากฌานแล้ว เรียกว่าตกลงมาจากฌานแล้ว เคลื่อนออกมาจากฌานแล้ว

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่อยู่ในปฐมฌาน จึงไม่มีความใคร่ ไม่เกิดความรักในรูป ไม่เกิดความพอใจในเสียง หรือว่าบุคคลผู้อยู่ในฌานนั้นจะไม่เกิดความพยาบาท คือไม่เกิดความโกรธ แต่ก่อนเราโกรธ เห็นพระรูปนี้เราก็โกรธ เห็นหลวงปู่รูปนี้ก็โกรธ เห็นพระลูกพระหลานก็โกรธ ในลักษณะอย่างนี้ ก็ไม่พอใจ

          แต่ถ้าทำจิตทำใจให้มีสมาธิได้ เข้าฌานได้ ความโกรธมันก็ระงับไปชั่วคราว ในอารมณ์ที่เราอยู่ในฌาน ความโกรธมันก็ไม่มี หรือว่าขณะที่เราเกิดถีนะ ถีนะก็คือความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าเราเข้าฌานได้ จิตใจของเราก็จะไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน บางครั้งมีญาติโยมบางคนมาถามว่า อาจารย์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว มันสว่าง จิตใจมันสว่าง อิ่มอยู่ตลอดเวลา สมองนี้มันใส จะง่วงก็ไม่ง่วง ไม่อยากนอน อยากจะเดินจงกรมนั่งภาวนาทั้งคืน มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร อันนี้ก็แสดงว่าจิตใจของบุคคลนั้นมันเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิขึ้นมามาก เกิดโอภาส แสงสว่างขึ้นมาทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมันตื่น

          หรือว่าบุคคลใดที่เกิดปีติ เวลาปีติมันเกิดขึ้นมามากๆ จิตใจมันจะอิ่ม อิ่มแล้วตามันจะสว่างใส เราหลับตาลงสมองนี้มันจะใส เรากำหนดอาการพองอาการยุบเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบดี แต่มันไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า เวลาเราเดินจงกรมนี่เราเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบดี แต่ว่ามันไม่สงบ เพราะว่าอะไร เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า บางครั้งปีติเกิดทั้งคืนก็มี เกิดตั้งแต่ ๕ โมงเย็น ๖ โมงเย็นโน้นกว่าที่ปีติมันจะคลายลงก็ตอน ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้าก็มีด้วยอำนาจของสมาธิมันมากมันน้อยต่างกัน
33  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ 5 ประการ เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 16:55:01


อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ 5 ประการ

     คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ 5 ประการนี้

      อานิสงส์ 5 ประการ คือ

      1. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภคทรัพย์เป็นอันมาก ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 1 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

      2. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 2 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

      3. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม หรือสมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 3 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

      4. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 4 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

      5. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 5 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลมีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล” หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า “คหบดีทั้งหลาย ราตรีใกล้จะสว่าง ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามต่างชื่นชมอนุโมทนาพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามจากไปไม่นานพระผู้มีพระภาคก็เสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๖. ปาฏลิคามิยสูต
34  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด อะริยะธะนะคาถา เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 16:51:01
.



อะริยะธะนะคาถา

        ยัสสะ  สัทธา  ตะถาคะต                 อะจะลา  สุปะติฏฐิตา

        สีสัญจะ  ยัสสะ  กัลยาณัง              อะริยะกันตัง  ปะสังสิตัง

        สังเฆ  ปะสาโท  ยัสสัตถิ                อุชุภูตัญจะ  ทัสสะนัง

        อะทะสิทโทติ  ตัง  อาหุ                  อะโมฆันตัสสะ ชีวิตัง

        ตัสมา  สัทธัญจะ  สีลัญจะ              ปะสาทัง  ธัมมะทัสสะนัง

        อะนุยุญเชถะ  เมธาวี                     สะรัง  พุทธานะ  สาสะนันติ ฯ               
       
ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
35  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม / มนุษย์โทลลุนด์ เมื่อ: 21 มีนาคม 2567 16:18:03




มนุษย์โทลลุนด์


มนุษย์โทลลุนด์ (Tollund Man) เป็นมัมมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เรียกว่ามนุษย์พรุพีต

มนุษย์โทลลุนด์เป็นร่างของชายที่มีชีวิตอยู่ราวระหว่างศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศตวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในสแกนดิเนเวียจัดอยู่ในสมัยยุคเหล็กโรมัน

ร่างของมนุษย์โทลลุนด์พบที่พรุใกล้หมู่บ้านโทลลุนด์ในเดนมาร์ก เมื่อปี่ ค.ศ.1950  ศีรษะและใบหน้าอยู่ในสภาพที่ดีจนกระทั่งเมื่อแรกพบเข้าใจกันว่าเป็นร่างของเหยื่อฆาตกรรมที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ร่างของชายสองพันปี ผู้มิได้สวมอะไรเลยนอกจากเข็มขัดหนังกับหมวกหนังแกะผู้นี้ นอนขดคู้เข่าขึ้นในท่าที่ดูสบายๆ ใบหน้าไม่มีริ้วรอยความเจ็บปวดทรมานแต่อย่างใด และมีเชือกแขวนคอที่ฟั่นด้วยเส้นหนังสองเส้นที่รอบคอ เขาตายเมื่อประมาณปี 400 ก่อน ค.ศ. ศพของเขาถูกฝังลึกลงไปจากพื้นดินถึง 50 เมตร (Cr.ภาพ sciencehistory.org/)

36  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๑. อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ เมื่อ: 21 มีนาคม 2567 15:56:11
https://static.wixstatic.com/media/d91922_d52e12eb12ea418da95f64b3e68e36d7.png/v1/fill/w_343,h_506,al_c,lg_1,q_85,enc_auto/d91922_d52e12eb12ea418da95f64b3e68e36d7.png


ขุททกนิกายภาค ๑
เอกนิบาต
๑. อปัณณกวรรค

อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ



พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ในพระเชตวันมหาวิหาร ตรัสอปันณกธรรมเทศนานี้ก่อน ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร  ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์สหายของท่านเศรษฐี.

ความพิสดารมีว่า วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของตน ให้ถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นอันมาก และนํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย และผ้าเครื่องปกปิด ไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น สละเภสัชและผ้าถวายแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง

สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ถวายบังคมพระตถาคตแล้ว แลดูพระพักตร์ของพระศาสดาอันงามสง่า ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ แลดูพระวรกายดุจกายพรหมอันประดับด้วยพระลักษณะและพระอนุพยัญชนะ แวดวงด้วยพระรัศมีด้านละวา

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาอันไพเราะ วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหม น่าสดับฟัง แก่สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น  สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส ลุกขึ้นถวายบังคมพระทศพล ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น มีมือถือของ หอมและดอกไม้เป็นต้น ไปพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำ อุโบสถกรรม พร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถีกลับไปกรุงราชคฤห์อีกแล ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของตนนั่นเอง ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ๗ - ๘ เดือน ได้เสด็จกลับไปยังพระเชตวันเหมือนเดิมอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวกอัญญเดียรถีย์ เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาอีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้เป็น ต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไปแล้ว ได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถามว่า

"ได้ยินว่า พวกท่านผู้เป็นอุบาสก ทำลายสรณะ ๓ เสียแล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ จริงหรือ "

ลำดับนั้น เมื่อพวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้พากันกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า"

พระศาสดาจึงตรัสว่า "ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุ เบื้องล่างจดอเวจี มหานรก เบื้องบนจดภวัคคพรหม และตามขวางหาประมาณมิได้ ชื่อว่าบุคคล เช่นกับพระพุทธเจ้าโดยพระคุณทั้งหลาย ย่อมไม่มี บุคคลที่ยิ่งกว่าจักมีมาแต่ไหน"

แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัยที่ทรงประกาศไว้ด้วย พระสูตรทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่า

"บุคคลจะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ผู้ถึงพระรัตนตรัยอัน ประกอบด้วยอุดมคุณอย่างนี้ ชื่อว่าจะเป็นผู้บังเกิดในนรกย่อมไม่มี อนึ่งพ้นจากการบังเกิดในอบายแล้ว ยังจะเกิดขึ้นในเทวโลกได้เสวยมหาสมบัติ เพราะเหตุไร พวกท่านจึงพากันทำลายสรณะเห็นปานนี้ แล้วถึงอัญญเดียรถีย์ เป็นสรณะ กระทำกรรมอันไม่สมควรเลย"

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงโอวาทอุบาสกทั้งหลาย โดยประการต่าง ๆ อย่างนี้แล้ว ได้ตรัสว่า

"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลาย ถือเอา สิ่งที่ไม่ใช่สรณะ ว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือ เอาผิด ได้ตกเป็นภักษาหารของยักษ์ในทางกันดาร ซึ่งอมนุษย์หวงแหนแล้ว ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ส่วนเหล่ามนุษย์ผู้ถือการยึดถือชอบธรรม ยึด ถือความแน่นอน ยึดถือไม่ผิด ได้ถึงความสวัสดีในทางกันดารนั้นนั่นเอง"

ครั้นตรัสแล้วได้ทรงนิ่งเสีย

ลำดับนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีลุกขึ้น จากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวชมเชยแล้ว ประคองอัญชลี เหนือเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า

"บัดนี้ การที่พวกอุบาสกเหล่านี้ ทำลายสรณะอันอุดมแล้ว ถือสรณะยึดถือเอาด้วยการคาดคะเน ยึดถือเอาอย่างผิด ๆ ปรากฏแก่พระองค์ก่อน ส่วนในปางก่อนพวกมนุษย์ผู้ยึดถือด้วยการคาดคะเน มีความพินาศ และพวกมนุษย์ผู้ยึดถือโดยชอบธรรม มีความสวัสดีในทางกันดารที่อมนุษย์หวงแหนยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์เลย ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงกระทำเหตุนี้ ให้ปรากฏ เหมือนยังพระจันทร์เต็มดวงให้เด่นขึ้นในอากาศฉะนั้น."



ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"ดูก่อนคฤหบดี เราแลบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศในกาลหาปริมาณมิได้ ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ก็เพื่อจะตัดความสงสัยของชาวโลกนั่นแล" ท่านจงเงี่ยโสตฟังโดยเคารพ แล้วได้ทรงเล่าอดีตนิทานไว้ดังนี้

             ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัตอยู่ในพระนครพาราณสี แคว้นกาสิกรัฐ ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน ครั้นเติบใหญ่ได้เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ในการเดินทางไปค้าขายของพระโพธิสัตว์นั้น บางครั้งจากเดินทางจากต้นแดนไปยังปลายแดน บางครั้งจากปลายแดน ไปยังต้นแดน

ในเมืองพาราณสีนั่นเองมีบุตรพ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่ง บุตรพ่อค้าเกวียนคนนั้น เป็นคนเขลา เป็นคนไม่มีปัญญา ไม่ฉลาดในอุบาย ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์มาเอาสินค้ามีค่ามาจากเมืองพาราณสีบันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่ ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียน ผู้เขลานั้นก็บรรทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่เหมือนกัน พระโพธิสัตว์คิดว่า ถ้าบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้จักไปพร้อมกับเราทีเดียวไซร้ เมื่อเกวียนพันเล่มไปพร้อมกัน แม้ทางก็จักไม่พอเดิน ฟืน และน้ำเป็นต้น ของพวกมนุษย์ก็ดี หญ้าของพวกโคก็ดี จักหาได้ยาก บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้หรือเรา ควรจะไปข้างหน้าจึงจะสมควร

พระโพธิสัตว์นั้นจึงเรียกบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นมาบอกเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า

"เราทั้งสองไม่อาจไปรวมกัน ท่านจักไปก่อนหรือจะให้เราไปก่อน"

บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นคิดว่า เมื่อเราไปข้างหน้าจะมี อานิสงส์มาก เราจักไปโดยหนทางยังไม่แตกเลย พวกโคจักได้เคี้ยวกินหญ้าที่ยังไม่มีใครถูกต้อง พวกผู้คนจักมีผักอันเกื้อกูลแก่แกงซึ่งยังไม่ได้จับต้อง น้ำจักใส เราเมื่อไปตามชอบใจ จักตั้งราคาขายสินค้าได้ บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นจึงกล่าวว่า

"สหาย เราจักไปก่อน"

พระโพธิสัตว์ได้เห็นการไปทีหลังว่ามีอานิสงส์มาก โดยทรงคิดอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้เมื่อไปก่อน จักกระทำหนทางขรุขระที่ให้เรียบเตียน เราจักเดินทางไปตามทางที่คนเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อโคงานซึ่งเดินทางไปก่อนกินหญ้าแก่และแข็ง โคทั้งหลายของเราจักเคี้ยวกินหญ้าอร่อยซึ่งงอกขึ้นมาใหม่ ผักซึ่งใช้ทำแกงของพวกมนุษย์ ซึ่งงอกขึ้นจากที่ที่ถูกเด็ดเอาไปจักแตกยอดออกมาใหม่ จักเป็นของอร่อย ในที่ที่ไม่มีน้ำ คนเหล่านี้จักขุดบ่อทำให้น้ำเกิดขึ้น เราจักดื่มน้ำในบ่อที่คนเหล่านี้ขุดไว้ การตั้งราคาสินค้า เราไปข้างหลังจักขายสินค้า ตามราคาที่คนเหล่านี้ตั้งไว้ พระโพธิสัตว์นั้นเห็นอานิสงส์มีประมาณเท่านี้จึงกล่าวว่า

"ดูก่อนสหาย ท่านจงไปก่อนเถิด"

บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลารับคำแล้ว จึงเทียมเกวียนทั้งหลายเป็นการใหญ่ ออกไปล่วงพ้นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ถึงปากทางกันดาร โดยลำดับ.

ชื่อว่ากันดารมี ๕ อย่าง คือ กันดารเพราะโจร ๑ กันดารเพราะสัตว์ร้าย ๑ กันดารเพราะขาดน้ำ ๑ กันดารเพราะอมนุษย์ ๑ กันดารเพราะอาหารน้อย ๑ กันดารในที่นี้นั้นหมายเอากันดารเพราะการขาดน้ำและกันดารเพราะมีอมนุษย์สิงอยู่ เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้า เกวียนผู้เขลานั้นจึงตั้งตุ่มใหญ่ ๆ ไว้บนเกวียนทั้งหลาย บรรจุเต็มด้วยน้ำ เดินทางกันดาร ๖๐ โยชน์.

ครั้นในเวลาที่บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์ผู้อาศัยอยู่ในทางกันดารคิดว่า เราจักให้พวกมนุษย์เหล่านี้ ทิ้งน้ำที่บรรทุกมาเสีย ทำให้อ่อนเพลียกระปลกกระเปลี้ยแล้วกินมันทั้งหมด จึงนิรมิตยานน้อย น่ารื่นรมย์ เทียมด้วย โคหนุ่มขาวปลอด ห้อมล้อมด้วยอมนุษย์ ๑๒ คน ชุ่มด้วยน้ำและโคลน ถืออาวุธพร้อมทั้งโล่เป็นต้น ประดับดอกอุบลและโกมุท มีผมเปียกและผ้าเปียกนั่งมาบนยานน้อยนั้น มีล้อยานเปื้อนเปีอกตม เดินสวนทางมา

ธรรมดาว่าพ่อค้าเกวียนทั้งหลาย เมื่อใดที่ลมพัดมาข้างหน้า เมื่อนั้นก็จะนั่งบนยานน้อยคันหน้า ห้อมล้อมด้วยคนอุปัฏฐาก เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่เกิดขึ้น ในกาลใด ลมพัดมาข้างหลัง ในกาลนั้น ก็หลีกยานไปอยู่ทางข้างหลัง ก็ในกาลนั้น ลมพัดได้มาข้างหน้า เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น จึงได้ไปข้างหน้า ยักษ์นั้นเห็นบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นกำลังมาอยู่ จึงให้ยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง และได้ทำการปฏิสันถารกับบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นว่า

"ท่านทั้งหลายจะไปไหน"

ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนนำยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง  เพื่อให้ให้เกวียนสินค้าทั้งหลายที่ตามหลังอยู่ไปก่อน แล้วยืนกล่าวกะยักษ์ว่า

"ท่านผู้เจริญ พวกเรามาจากเมืองพาราณสี ส่วนท่านทั้งหลายประดับดอกอุบลและโกมุท ถือดอกปทุมและบุณฑริกเป็นต้น เคี้ยวกินเหง้าบัว เปื้อนด้วยเปือกตม มีหยดน้ำไหล พากันเดินมา ในหนทางที่ท่านทั้งหลายผ่านมา ฝนตกหรือหนอ มีสระน้ำอันดารดาษด้วยดอกอุบลเป็นต้นหรือ"

ยักษ์ได้ฟังถ้อยคำของบุตรพ่อค้าเกวียนนั้น แล้วจึงกล่าวว่า

"สหาย ท่านพูดอะไร ที่นั่น ราวป่าเขียวปรากฏอยู่ ตั้งแต่ที่นั้นไป ป่าทั้งสิ้นมีน้ำอยู่ทั่วไป ฝนตกเป็นประจำ แม้แต่ซอกเขาก็เต็มไปด้วยน้ำ ในที่นั้น ๆ มีสระน้ำดารดาษด้วยดอกปทุม"

แล้วยักษ์จึงถามว่า

"ท่านพาเกวียนเหล่านี้มา จะไปไหนกัน"

บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า "จะไปยังชนบทชื่อโน้น"

ยักษ์กล่าวว่า "ในเกวียนเหล่านี้บรรทุกสินค้าอะไรหรือ ?"

บุตรพ่อค้าจึงตอบชื่อสินค้าให้ทราบ

ยักษ์กล่าวว่า "เกวียนที่มากำลังข้างหลังดูเป็นเกวียนที่หนักมาก ในเกวียนนั้นมีสินค้าอะไร"

บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า "ในเกวียนนั้นมีน้ำ"

ยักษ์กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายนำน้ำมาข้างหลังด้วย ได้กระทำความเนิ่นช้าแล้ว ก็ตั้งแต่นี้ไป ความกังวลเรื่องน้ำย่อมไม่มี ข้างหน้ามีน้ำมาก ท่านทั้งหลายจงทุบตุ่ม เทน้ำทิ้งเสีย จงไปด้วยเกวียน เบาเถิด"

ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงพูดว่า "ท่านทั้งหลายจงไปเถอะ ความชักช้าจะมีแก่พวกเรา แล้วเดินไปหน่อยหนึ่ง ถึงที่ที่คนเหล่านั้นมองไม่เห็น ก็ได้ไปยังนครยักษ์ของตนนั่นแล."

ฝ่ายพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น เพราะความที่ตนเป็นคนเขลาจึงเชื่อคำของยักษ์นั้น จึงให้ทุบตุ่มทั้งหลายทิ้งทั้งหมดไม่เหลือน้ำแม้สักฟายมือเดียว แล้วขับเกวียนไป แต่ว่าในทางข้างหน้าน้ำแม้แต่นิดเดียวก็มิได้มี มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้น้ำดื่ม ก็พากันลำบากแล้ว คนเหล่านั้นพากันไปจนพระอาทิตย์อัสดง จึงปลดเกวียน พักเกวียนให้เป็นวงแล้วผูกโคที่ล้อเกวียน น้ำก็ไม่มีให้แก่พวกโค ข้าวปลาอาหารก็ไม่มีแก่พวกมนุษย์ พวกพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นก็มีกำลังเปลี้ยลง ไม่ใส่ใจในการงาน พากันนอนหลับไปในนั้น ๆ

ครั้นถึงเวลากลางคืน ยักษ์ทั้งหลายพากันมาจากที่อยู่ ฆ่าโคและมนุษย์ทั้งหมดนั้นให้ถึงแก่ความตาย แล้วกินเนื้อ ของโคและมนุษย์เหล่านั้น ไม่มีเหลือแม้แต่กระดูก แล้วจึงพากันไป ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะอาศัยบุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาคนเดียว ด้วยประการอย่างนี้ กระดูกทั้งหลายก็ได้กระจัดกระจายไปในทิศน้อยใหญ่ เกวียน ๕๐๐ เล่มได้ตั้งอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มอย่างเดิมแล.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์แล จำเดิมแต่วันที่บุตรพ่อค้าเกวียนโง่ออกไปแล้ว ก็ยับยั้งอยู่ประมาณกึ่งเดือน จึงพากันออกจากพระนครพร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถึงปากทางกันดารโดยลำดับ พระโพธิสัตว์นั้นจึงให้ใส่น้ำให้เต็มตุ่ม ณ ปากทางกันดารนั้น แล้วให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องภายในกองค่าย ประกาศให้พวกชนประชุมกันแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าพวกท่านยังไม่ได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า อย่าได้เทน้ำ แม้สักเท่าฟายมือหนึ่งทีเดียว ชื่อว่าต้นไม้มีพิษ ย่อมมีในทางกันดาร ใบไม้ดอกไม้หรือผลไม้ ท่านทั้งหลายไม่เคยกินมาก่อนมีอยู่ พวกท่านถ้ายังไม่ได้ไต่ถามข้าพเจ้า ก็จงอย่าได้เคี้ยวกิน"

ครั้นให้โอวาทแก่คนทั้งหลายอย่างนี้แล้วจึงเดินทางกันดารด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม.

เมื่อพระโพธิสัตว์ถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์นั้นได้แสดงตนใน หนทางสวนกันแก่พระโพธิสัตว์ โดยนัยก่อนนั่นแหละ พระโพธิสัตว์พอเห็นยักษ์นั้นเท่านั้นก็ได้รู้ว่า ในทางกันดารนี้แหละ ไม่มีน้ำ นี้ชื่อว่ากันดารเพราะ ไม่มีน้ำ อนึ่ง ผู้นี้ไม่มีท่าทีเกรงกลัว มีนัยน์ตาแดง แม้เงาของเขาก็ไม่ปรากฏ บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาพร้อมทั้งบริวารคงถูกยักษ์นี้กินเสียแล้วโดยไม่ต้องสงสัย แต่ยักษ์นี้เห็นจะไม่รู้ความที่เราเป็นบัณฑิต และความที่เราเป็นผู้ฉลาดในอุบาย.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นกล่าวกะยักษ์นั้นว่า

"พวกท่านจงไปเถิด พวกเราชื่อว่าเป็นพ่อค้า ยังไม่เห็นน้ำอื่นจะไม่ทิ้งน้ำที่บรรทุกเอามา แต่เราทั้งหลายจะทิ้งในที่ที่ได้เห็นแล้ว"

ทำเกวียนทั้งหลายให้เบาแล้วจึงไป ฝ่ายยักษ์ ไปได้หน่อยหนึ่ง เข้าถึงที่ที่มองไม่เห็น แล้วไปนครยักษ์ของตนทีเดียว

เมื่อยักษ์ไปแล้ว คนทั้งปวงจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า

"ข้าแต่เจ้านาย คนเหล่านี้กล่าวว่า นั่นแนวป่าเขียวปรากฏอยู่ จำเดิมแต่นั้นไป ฝนจักตกเป็นนิตย์ เป็นผู้สวมมาลัยดอกอุบลและโกมุท ถือกำดอกปทุมและบุณฑริก เคี้ยวกินเหง้าบัว มีผ้าเปียก และมีผมเปียก มีหยาดน้ำและโคลนไหลหยดมา พวกเราจักทิ้งน้ำ มีเกวียนเบาจะไปได้เร็ว"

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของคนเหล่านั้นแล้วจึงให้พักเกวียน ให้คนทั้งหมดประชุมกันแล้วถามว่า

"พวกท่านเคยฟังมาจากใคร ๆ หรือว่า ในที่กันดารนี้ มีสระน้ำหรือสระโบกขรณี"

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ข้าแต่เจ้าน้อย ไม่เคยได้ยิน"

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "นี้ชื่อว่ากันดารเพราะไม่มีน้ำ บัดนี้ คนพวกหนึ่งพูดว่า เบื้องหน้าแต่แนวป่า เขียวนั่น ฝนตก ธรรมดาว่าลมฝนจะพัดไปถึงที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "พัดไปได้ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ เจ้านาย"

พระโพธิสัตว์ ถามว่า "ลมกับฝนกระทบร่างกายของบุคคลแม้คนหนึ่ง บรรดาพวกท่าน มีอยู่หรือ "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ไม่มีขอรับ"

พระโพธิสัตว์ถามว่า "ธรรมดา ก้อนเมฆย่อมปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ในที่ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ "

พระโพธิสัตว์ถาม "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ เห็น ก้อนเมฆก้อนหนึ่ง มีอยู่หรือ ?"

คนทั้งหลายกล่าวว่า "ไม่มีขอรับ"

พระโพธิสัตว์  "ธรรมดาสายฟ้าปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลาย  "ในที่ประมาณ ๔ - ๕ โยชน์ ขอรับ."

พระโพธิสัตว์  "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่เห็นแสงสว่างของสายฟ้า มีอยู่หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่มีขอรับ."

พระโพธิสัตว์ "ธรรมดาเสียงฟ้าร้องจะได้ยินในที่ประมาณเท่าไร "

คนทั้งหลาย "ในที่ ๑ - ๒ โยชน์ ขอรับ. "

พระโพธิสัตว์ "ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง มีอยู่ หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่มีขอรับ."

พระโพธิสัตว์ "ท่านทั้งหลายรู้จักคนเหล่านี้หรือ "

คนทั้งหลาย "ไม่รู้จักขอรับ."

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "คนเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ คนเหล่านี้เป็นยักษ์ พวกมันจักมาเพื่อยุให้พวกเราทิ้งน้ำ กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจะเคี้ยวกิน บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาซึ่งไปข้างหน้า ไม่ฉลาดในอุบาย เขาคงถูกยักษ์เหล่านี้หลอกให้ทิ้งน้ำ ปล่อยให้ลำบากแล้วเคี้ยวกินเสียเป็นแน่ เกวียน ๕๐๐ เล่ม จักจอดอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่นแหละ วันนี้ พวกเราจักเห็นเกวียนเหล่านั้น ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทิ้งน้ำแม้แต่ฟายมือหนึ่ง จงรีบขับเกวียนไปเร็ว ๆ"

เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นมาถึง ก็เห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่น แหละ กระดูกของมนุษย์ทั้งหลายและของเหล่าโคกระจัดกระจาย อยู่ในทิศน้อยใหญ่ จึงให้ปลดเกวียน ให้ตั้งกองค่ายโดยเอาเกวียนวงรอบ ให้คนและโคกินอาหารเย็น ต่อเวลายังวันให้โคทั้งหลายนอนตรงกลางกลุ่มคนทั้งหลาย ตนเองพาเอาคนผู้มีกำลังแข็งแรง มือถือดาบ ตั้งการอารักขาตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม จนอรุณขึ้น วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ทำกิจทั้งปวงให้เสร็จแต่เช้าตรู่ ให้โคทั้งหลายกินแล้วให้ทิ้งเกวียนที่ไม่แข็งแรงเสีย ให้เอาแต่เกวียนที่แน่นหนา ให้ทิ้งสิ่งของที่มีราคาน้อยเสีย ให้ขนสิ่งของที่มีค่ามากขึ้น ไปยังที่ตนปรารถนา ขายสิ่งของด้วยมูลค่า ๒ เท่า ๓ เท่า ได้พาบริษัท ทั้งหมดไปยังนครของตน นั่นแลอีก.

พระศาสดาครั้นตรัสธรรมกถานี้แล้วตรัสว่า

"ดูก่อนคฤหบดี ในกาล ก่อน คนผู้มีปรกติยึดถือโดยการคาดคะเน ถึงความพินาศใหญ่หลวงด้วย ประการอย่างนี้ ส่วนคนผู้มีปรกติยึดถือตามความจริง พ้นจากเงื้อมือของ พวกอมนุษย์ ไปถึงที่ที่ปรารถนา ๆ โดยสวัสดี แล้วกลับมาเฉพาะยังที่อยู่ของตนได้"

พระศาสดา ครั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงประมวลชาดกมาแสดงทรงทำพระเทศนาให้จบ ลงว่า...

"บุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาในสมัยนั้น ได้เป็น พระเทวทัต ในบัดนี้ แม้บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนโง่นั้นก็ได้เป็นบริษัทของเทวทัต ในบัดนี้ บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิต ในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท ในบัดนี้ ส่วนบุตรของพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต."

 

คาถาประจำชาดก

อาปัณณะกะฐานะเมเก ทุติยัง อาหุ ตักกิกา

เอตะทัญญายะ เมธาวี ตัง คัณเห ยะทะปัณณะกัง

 การตัดสินใจโดยการถือวิธีการคาดคะเนเดาเอา จัดว่าถือผิด

ควรถือตามเหตุผลเป็นจริง จึงจัดว่าถูก


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
37  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ปัพพะโตปะมะคาถา เมื่อ: 21 มีนาคม 2567 15:50:23
.



ปัพพะโตปะมะคาถา

        ยะถาปิ  เสลา  วิปุลา                       นะภัง  อาหัจจะ  ปัพพะตา

        สะมันตา  อะนุปะริเยยยุง                 นิปโปเถนตา  จะตุททิสา

        เอวัง  ชะรา  จะ  มัจจุ  จะ                อะธิวัตตันติ  ปาณิโน

        ขัตติเย  พราหมะเณ  เวสเส            สุทเท  จัณฑาละปุกกุเส

        นะ  กิญจิ  ปะริวัชเชติ                     สัพพะเมวาภิมัททะติ

        นะ  ตัตถะ  หัตถีนัง  ภูมิ                  นะ  ระถานัง นะ  ปัตติยา

        นะ  จาปิ  มันตะยุทเธนะ                  สักกา  เชตุง  ธะเนนะ  วา

        ตัสมา  หิ ปัณฑิโต  โปโส                 สัมปัสสัง  อัตถะมัตตะโน

        พุทเธ  ธัมเม  จะ สังเฆ  จะ               ธีโร  สัทธัง  นิเวสะโย

        โย  ธัมมะจารี  กาเยนะ                    วาจายะ  อุทะ  เจตะสา

        อิเธวะ  นัง  ปะสังสันติ                      เปจจะ  สัคเค  ปะโมทะติ ฯ       
       
ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
38  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พิธีบวชชี - ชีพราหมณ์ เมื่อ: 17 มีนาคม 2567 14:01:38


พิธีบวชชี - ชีพราหมณ์


สิ่งที่ต้องเตรียมในพิธี
    1. ดอกบัว
    2. ดอกดาวเรือง
    3. ธูป เทียน
    4. ข้าวตอก

เบื้องต้น ให้ผู้บวชนุ่งขาวห่มขาว (ยังไม่ต้องพาดสไบ) และเตรียมพานดอกไม้ เครื่องสักการะให้เรียบร้อย แล้วมาพร้อมกันรอพระอุปัชฌาย์ตามเวลาและสถานที่กำหนด เมื่อถึงเวลาพึงปฏิบัติตามลำดับดังนี้


๑. จุดธูปเทียนบูชา พระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

    บูชาพระรัตนตรัย
        อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
        สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
        สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

    ขอขมาพระรัตนตรัย
        (ก้มกราบครั้งที่ 1)
        กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ,

        (ก้มกราบครั้งที่ 2)
        กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มายา ยัง,ธัมโม ปฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม

        (ก้มกราบครั้งที่ 3)
        กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,สังโฆ ปฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ

๒. จัดเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน ใส่พานเข้าไปถวาย

๓. กล่าวคำปฏิญาณตนขอบวช

    คำขอบวชชี (แบบ ๑ คน)
        เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ปัพพัชชัง มัง ภันเต , สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง, สะระณัง คะตัง

    คำแปล
        ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว  กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์ จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นผู้บวชในพระธรรมวินัยผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญฯ

    คำขอบวชชี (แบบ ๒ คน ขึ้นไป)
        เอตา มะยัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง
        สะระณัง คัจฉามะ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ปัพพัชชัง โน ภันเต,
        สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง, สะระณัง คะตา

    คำแปล
        ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์ จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่า เป็นผู้บวชในพระธรรมวินัย ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

๔. กล่าวคำอาราธนาศีล ๘
    มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
    ทุติยัมปิมะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
    ตะติยัมปิมะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
    (สมาทานคนเดียว เปลี่ยนคำว่า “มะยัง” เป็น “อะหัง” และ “ยาจามะ” เป็น “ยาจามิ”)

๕. กล่าวตามคำพระเถระผู้เป็นประธาน ตามลำดับดังนี้
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    บทไตรสรณคมน์
        พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
        ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
        สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
        ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
        ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
        ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
        ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
        ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
        ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

    เมื่อพระเถระว่า “ติสะระณะคะมะนัง นิฎฐิตัง”  ให้กล่าวคำว่า “อามะ ภันเต”

    คำสมาทานศีล 8 หมายถึง คำรับศีลจากพระภิกษุ

        1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เจตนา เว้นจากการฆ่าด้วยตนเอง และใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

        2. อทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว,ด้วยตัวเอง และใช้ให้ผู้อื่นฉ้อฉล

        3. อพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

        4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำล่อลวงผู้อื่น

        5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฺฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการ ดื่มน้ำเมา สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท

        6. วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ( ตั้งแต่เที่ยงจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ )

        7. นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนามาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฺฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่างๆและดูการละเล่นชนิดเป็นข้าศึกต่อกุศล และลูบทาทัดทรวงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี
 
        8. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
           ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการนั่งนอนบนเตียงตั่งมีเท้าสูงเกินประมาณและที่นอนสูงใหญ่ภายในมีนุ่นและสำลี และเครื่องปูลาดอันวิจิตรงดงามต่างๆ

        แล้วพระสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไป ดังนี้ 
        สีเลนะ สุคะติง ยันติ
        (บุคคลจะมีความสุขเพราะศีล)

        สีเลนะ โภคสัมปะทา
        (บุคคลจะมีโภคทรัพย์เพราะศีล)

        สีเลนะ นิพพุติงยันติ
        (บุคคลจะตรัสรู้เข้าสู่นิพพานได้เพราะศีล)

        ตัสมา สีลัง วิโสธะเยฯ
        (จงพากันทำศีลให้บริสุทธิ์ แล้วจะมีความสุขตลอดไป)

บทสวดกรวดน้ำ (อิมินา)
        อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
        อาจะริยูปะการา จะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา
        สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
        พ์รัห์มะมารา จะ อินทา จะตุ- โลกะปาลา จะ เทวะตา
        ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
        สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
        สุขัญจะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง

        อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
        ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง
        เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
        นัสสันตุ สัพพะทาเยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
        อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
        มารา ละภันตุ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
        พุทธาทิปะวะโร นาโถ ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
        นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
        เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา ฯ

        ปัญจะมาเรชิเน นาโถ ปัจจุสัม โพธิมุตตะมัง สุจจุสัตจัง ปกาเสติ มหาวิรัง สัพพะ พุทเทนะมิหัง มาราเสนัง มาราวิสุง


๘. คำแผ่เมตตา เมื่อจบแล้วกราบ ๓ ครั้ง  เป็นเสร็จพิธี
        สัพเพ สัตตา             สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์  เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
        อะเวรา โหนตุ            จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
        อัพยาปัชฌา โหนตุ      จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
        อะนีฆา โหนตุ            จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีความทุกข์กายทุกใจเลย
        สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ  จงมีความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

        ท่านทั้งหลายที่ท่านได้ทุกข์ ขอให้ท่านมีความสุข
        ท่านทั้งหลายที่ท่านได้สุข ขอให้สุขยิ่งๆ
        สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เกิดเป็นชราภุชะ
        ที่เกิดเป็นอัณทชะ ที่เกิดเป็นสัณเสนทะชะ
        ที่เกิดเป็นโอปาติกะ จงมารับกุศลผลบุญ
        ให้ถ้วนทั่วทุกตัวสัตว์เทอญ



ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
39  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ตายะนะคาถา เมื่อ: 17 มีนาคม 2567 13:42:30
.



ตายะนะคาถา

       
        ฉินทะ  โสตัง  ปะรักกัมมะ         กาเม  ปะนูทะ  พราหมะณะ

        นัปปะหายะ  มุนิ  กาเม            เนกัตตะมูปะปัชชะติ

        กะยิรา เจ  กะยิราเถนัง            ทัฬหะเมนัง  ปะรักกะเม

        สิถิโล  หิ ปะริพพาโช              ภิยโย  อากิระเต  ระชัง

        อะกะตัง  ทุกกะฏัง เสยโย          ปัจฉา ตัปปะติ  ทุกกะฏัง

        กะตัญจะ  สุกะตัง  เสยโย          ยัง  กัตวา  นานุตัปปะติ

        กุโส ยะถา  ทุคคะหิโต             หัตถะเมวานุกันตะติ

        สามัญญัง  ทุปปะรามัตถัง         นิระยายูปะกัฑฒะติ

        ยังกิญจิ  สิถิลัง  กัมมัง            สังกิลิฏฐัญจะ  ยัง  วะตัง

        สังกัสสะรัง  พรัมหะจะริยัง          นะ ตัง โหติ  มะหัปผะลันติ ฯ      


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
40  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด สีสุทเทสะปาฐะ เมื่อ: 10 มีนาคม 2567 10:25:49
.



สีสุทเทสะปาฐะ

       ภาสิตะมิทัง เตนะ ภะตะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา

       สัมมาสัมพุทเธนะ สัมปันนะสีลา ภิกขะเว วิหะระถะ สัมปันนะปาฏิ-

       โมกขา ปาฏิโมกขะสังวะระสังวุตา วิหะระถะ อาจาระโคจะระสัมปันนา

       อะณุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี สะมาทายะ   สิกขะถะ สิกขา-

       ปะเทสูติ ฯ ตัสมาติหัมเหหิ สิกขิตัพพัง สัมปันนะสีลา วิหะริสสามะ

       สัมปันนะปาฏิโมกขา ปาฏิโมกขะสังวะระสังวุตา วิหะริสสามะ อาจา-

       ระโคจะระสัมปันนา อะณุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี สะมาทายะ

       สิกขิสสามะ สิกขาปะเทสูติ ฯ เอวัญหิ โน สิกขิตัพพัง ฯ


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.514 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 26 เมษายน 2567 15:12:39