[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 15:34:43



หัวข้อ: ไปฟังเทศนามหาเวสสันดรชาดก (เทศน์มหาชาติ)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 15:34:43
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17824588922990_DSC02674.JPG)

การเทศนามหาเวสสันดรชาดก
(เทศน์มหาชาติ)

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ประเพณีอันนี้เห็นจะมีมาในเมืองไทย ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองพระนครสุโขทัยเป็นปฐม แล้วมีต่อติดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  จัดเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและมีความหมายมากที่สุดในสังคมไทย เพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรงและหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์  ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

มหาชาติชาดก กล่าวถึงการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทาน การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร  อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ ๑๐ ประการ ก่อนจะทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่ง โดยปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมายทั้งต่างสำนวนและต่างยุคสมัย  ทั้งที่เป็นฉบับหลวงซึ่งมีลักษณะเป็นคำประพันธ์ต่างๆ และฉบับท้องถิ่น เช่น ทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพ เขียนเป็นภาษาล้านนาหลายฉบับและหลายสำนวน  ทางภาคอีสานมีมหาชาติคำเฉียง   ส่วนทางภาคใต้มีมหาชาติชาดกฉบับวัดมัชฌิมาวาส สงขลา  เป็นต้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84062718144721_1.png)
บำเพ็ญทานบารมีขั้นปรมัตถ์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82345293338100_1.png)
พิธีแห่พระเวสเข้าเมือง  ในงานบุญพระเวส

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ในราชสำนัก ปรากฏเป็นพระราชพิธีในวังหลวงมาแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑-๓) การเทศนามหาชาติมีถึง ๓๓ กัณฑ์  เครื่องกัณฑ์คล้ายกับบริขารกฐิน คือ ผ้าไตร แพร เงิน ๑๐ ตำลึง ขนมต่างๆ  และกำหนดให้เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว  ยกเว้นแต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงได้ยกขึ้นไปเทศน์บนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยยกไปจัดที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ข้างในฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปจัดที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน
 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง  แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก   ปีนั้นก็มีเทศน์มหาชาติ  ปีใดไม่ใคร่มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าทรงผนวช ก็เปลี่ยนเป็นเทศนาปฐมสมโภชโพธิ

ในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปี จะจัดขึ้นในราวเดือน ๔ เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังนิยมให้มีประเพณีเกี่ยวเนื่องกันด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมือง พิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน  

ทางภาคเหนือก็ให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก โดยจัดให้มีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติ แผ่นเงินเหล่านี้จะจำหลักเป็นรูปลวดลายต่างๆ  

ส่วนทางภาคใต้นั้น ประเพณีเทศน์มหาชาติได้คลี่คลายไปเป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  กรุงเทพฯ
  
การเทศน์มหาชาติในส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์ นอกจากจะรักษาแบบแผนราชสำนักที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์แล้วยังแฝงด้วยความสนุกสนาน การละเล่น และแหล่ต่างๆ แทรกอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ฟังได้รสยิ่งขึ้น ชาวบ้านในบางท้องที่แถบภาคกลางจะมีการเล่นมหาชาติทรงเครื่อง  เวลามีพิธีเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะรับมาจากวัดและไปเล่นกันเอง ต่อมาชาวบ้านกลับไปชวนพระมาเล่นด้วยกัน จึงเป็นการเล่นระหว่างแม่เพลงที่มีเสียงดีที่มักรับบทเป็นพระนางผุสดีหรือพระนางมัทรี กับพระที่มักจะรับบทพระเวสสันดรและชูชก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/13503554256425_DSC02696.JPG)
วงปี่พาทย์ ประโคมประกอบการเทศน์มหาชาติ
ด้วยเชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ

จะเห็นได้ว่าประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีความแตกต่างกันไป เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภาค  แต่ในภาคกลางยังคงลักษณะสำคัญตามประเพณีหลวงไว้ได้มากที่สุด  เช่น ในการเทศน์มักจะมีปี่พาทย์ประโคมขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวง  ด้วยเชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ  กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ได้ทราบว่ากำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่   ผู้ใดรับกัณฑ์เทศน์ใดไว้จะได้ตระเตรียมตัวได้ทัน  ปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติจะเริ่มด้วยเพลงโหมโรง  และกำหนดเพลงปี่พาทย์ประจำกัณฑ์ไว้  ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ตามแบบหลวงที่มีความศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นเพลงชั้นสูงทั้งสิ้น  เช่น กัณฑ์ทศพร  ใช้เพลงสาธุการ (อัญเชิญเทวดา) กัณฑ์หิมพานต์ ใช้เพลงตวงพระธาตุ กัณฑ์วนประเวศน์ ใช้เพลงพญาเดิน เพราะเนื้อเรื่องในกัณฑ์นี้ พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ต้องทรงพระดำเนิน อุ้มพระกุมารชาลีและกัณหา เข้าสู่ป่าอันทุรกันดาร   จึงใช้เพลง “พญาเดิน”  สำหรับประกอบการไปมาด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่นพระมหากษัตริย์ เป็นต้น  

ข้อมูล :
     ๑. หนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน   พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์ เพชรกะรัต โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน
         จาก สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
     ๒. หนังสือ สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๘  โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทย อาคารสนามเสือป่า จัดพิมพ์เผยแพร่      
     ๓. หนังสือ วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๑ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๔๐
     ๔. คอลัมน์ องค์ความรู้ภาษาไทย   โดยราชบัณฑิตยสถาน  หน้า ๒๒ นสพ.เดลินิวส์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๕




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71773758903145_DSC02665.JPG)
การเตรียมพิธีเทศน์มหาชาติ
จัดเตรียมธรรมาสน์  ผูกต้นกล้วย ต้นอ้อย  มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ (จำลองป่าหิมพานต์)
ตั้งพาน โอ่งน้ำมนต์ ที่จุดธูปเทียนบูชากัณฑ์ ราชวัตรฉัตรธงตามธรรมเนียมนิยม

วงสายสิญจน์รอบปากโอ่งน้ำมนต์ นำไปผูกติดกับสายสิญจน์ที่โยงรอบมณฑลพิธี (อธิบายยากจัง)
น้ำที่ตั้งไว้ในมณฑลเป็นน้ำมนต์ เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าเสนียดจัญไรได้

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92965378819240_DSC02672.JPG)
เจ้าของกัณฑ์ (เจ้าภาพ) จุดธูปเทียนบูชากัณฑ์  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22737453629573_DSC02673.JPG)

 


หัวข้อ: Re: ไปฟังเทศนามหาเวสสันดรชาดก (เทศน์มหาชาติ)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 16:55:24
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63869209215044_1.png)
โบราณาจารย์ ได้กำหนดเพลงสำหรับบรรเลงเวลาพระเทศน์จบลงแต่ละกัณฑ์ไว้เป็นแบบฉบับ
โดยถือเนื้อเรื่องของกัณฑ์นั้นๆ เป็นหลัก และได้ใช้เป็นแบบแผนการบรรเลงมาจนถึงปัจจุบัน
การบรรเลงปี่พาทย์ ประกอบการเทศนามหาเวสสันดรชาดก
ของคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ประจำจังหวัด (เอกดนตรีไทย)
ซึ่งให้ความอนุเคราะห์บรรเลงให้กับทางวัดแห่งนี้ทุกปี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40780292120244__3585_3633_3603_3601_3660_3607.gif)
• กัณฑ์ ๑  กัณฑ์ทศพร พระอินทร์ประทานพร ๑๐ ประการ แก่พระนางผุสดี
๑. ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์  ที่ประทับของท้าวสักกเทวราชอยู่ภายใต้ต้นปาริฉัตรในดาวดึงสเทวโลก
๒. ท้าวสักกเทวราช  ทรงทราบความที่นางผุสดีเทพกัญญา จะจุติจากดาวดึงสพิภพลงไปเกิดในมนุษย์โลก  จึงให้พระนางทรงเลือกพระพรสิบประการได้ตามความปรารถนา
๓. พระนางผุสดีเทพกัญญาทูลขอพรสิบประการ ดังนี้
       ๑. ขอให้พระนางได้ประทับในปราสาทอันงดงามยิ่งของพระเจ้าสีพิราช  และขอให้เป็นนางนารถแห่งพระบาทพระเจ้ากรุงสีพีราชาธิราช
       ๒. ขอให้ดวงเนตรทั้งสองมีสีดำสวยงาม  ประดุจดดวงตาเนื้อทราย
       ๓. ขอให้พระขนงเรียวงาม และมีสีอัญชัน สร้อยคอนกยูง
       ๔.ขอให้ทรงนามว่าผุสดี
       ๕. ขอให้มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งปวง และมีพระราชศรัทธาในการให้ทาน
       ๖. ขออย่าให้พระครรภ์ปรากฏนูนเด่นชัด ดังสตรีทั่วไป
       ๗. ขออย่าให้พระถันทั้งคู่ดำในเวลาทรงครรภ์ และเมื่อประสูติแล้วขออย่าให้คล้อยตก หย่อนยาน
       ๘. ขอให้พระเกศาดำเป็นมันดุจปีกแมลงค่อมทอง
       ๙. ขอให้มีพระฉวีละเอียดลออดั่งทองคำธรรมชาติ
      ๑๐. ขอให้ทรงมีอำนาจปลดปล่อยนักโทษต้องประหารชีวิตให้พ้นโทษ
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงสาธุการ   ประกอบกิริยาที่พระนางผุสดีแสดงกริยานอบน้อมรับพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15208391224344__3585_3633_3603_3601_3660_3627.gif)
• กัณฑ์ ๒ กัณฑ์หิมพานต์ พระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่ชาวเมืองกลิงคราษฐ์   
๑. พระนางผุสดีเทพกัญญารับพรสิบประการ  แล้วจุติไปบังเกิดในตระกูลกษัตริย์มัทราช  ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย  ผู้ครองสีวิรัฐ  ประสูติพระโอรส
    ทรงพระนามว่าพระเวสสันดร
๒. พระเวสสันดร  ทรงช้างปัจจัยนาคเสด็จออกบำเพ็ญทานประจำวัน  
๓. ระหว่างทางเสด็จ  พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฐ์ทูลขอช้างปัจจัยนาค  ก็ทรงบริจาคพระราชทานให้
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงตวงพระธาตุ   ประกอบพระเวสสันดรทรงประทานช้าง ซึ่งเปรียบเสมอด้วย การตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแจกจ่ายทั่วไป



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58734547346830__3585_3633_3603_3601_3660_3607.gif)
• กัณฑ์ ๓  กัณฑ์ทานกัณฑ์ ทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน   
๑. เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างต้นมงคลให้แก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฐ์  ชาวสีวิรัฐได้ทราบก็พากันขึ้งโกรธ  กล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้ากรุงสญชัย  
    ให้ขับพระเวสสันดรออกจากพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสผัดผ่อนไว้วันรุ่งขึ้น
๒. พระนางผุสดี พระราชชนนีทรงทราบเหตุ ไปเฝ้าทูลขอโทษต่อพระเจ้ากรุงสญชัย  ก็ไม่ทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษ
๓. พระนางผุสดีทรงกันแสง รำพันว่าที่แม่ไปทูลขอโทษ ไม่ทรงโปรดพระราชทานยกโทษให้
๔. พระเวสสันดร  เสด็จออกทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน
๕. พระเวสสันดร เสด็จทรงราชรถออกจากพระนครพร้อมด้วยพระนางมัทรี และพระกัณหาชาลีราชปิโยรส  ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขออัสดรและราชรถ
    ก็ทรงบริจาคให้เป็นทาน
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงพญาโศก ประกอบอาการเศร้าโศก เมื่อพระเวสสันทรกราบบังคมทูลลาออกจากพระนครสีพี



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85688069421384__3585_3633_3603_3601_3660_3623.gif)
• กัณฑ์ ๔ กัณฑ์วนประเวศน์ บำเพ็ญพรต ณ อาศรมเขาวงกฏ   
๑.  เมื่อพระเวสสันดร  พระราชทานม้ารถหมดทุกสิ่งแล้ว  จึงตรัสแก่พระนางมัทรีว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี เจ้าจงอุ้มแก้วกัณหา  พากันเสด็จดำเนินโดยสถลมรรคา
    บรรลุถึงเมืองเจตราช
๒. พวกเจ้าเจตราชทราบข่าวเสด็จพระเวสสันดร  พากันเสด็จมาเฝ้า ทูลถวายพระนครให้ครอบครอง พระองค์มิได้ทรงรับ
๓. เจ้าเจตราช ส่งเสด็จพระเวสสันดรไปเขาวงกฎ แล้วทรงตั้งนายเจตบุตรพรานไพรให้เป็นนายด่านรักษาประตูป่า
๔. พระเวสสันดรเสด็จถึงอาศรมในบริเวณเขาวงกฎ ซึ่งท้าวสักกเทวราชให้วิสสุกรรมนิรมิตไว้ แล้วทรงเพศเป็นดาบส  พระนางมัทรีก็ทรงเพศเป็นดาบสินี
    บำเพ็ญพรตอยู่ในอาศรมนั้น
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงพญาเดิน ประกอบอาการการไปมาด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่นพระมหากษัตริย์  



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73557748769720__3585_3633_3603_3601_3660_3594.gif)
• กัณฑ์ ๕  กัณฑ์ชูชก ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา
๑. ชูชกได้นางอมิตตดาพาไปอยู่บ้านทุนวิฐ  พราหมณ์หนุ่ม ๆ เห็นนางปฏิบัติผัวดีกว่าเมียของตัว ก็เดือดดาลใจพาลพาโลตีเมียของตน ๆ
๒. พวกนางพราหมณีเจ็บใจ พอเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่าน้ำ ก็รุมกันตีด่าว่าขานจนนางอมิตตดาต้องกระเดียดกระออมน้ำกลับบ้าน
๓. ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาถึงถามเหตุ  นางก็แจ้งคดีให้ฟัง  แล้วว่า แต่นี้ไปงานการจะไม่ทำ จงไปขอชาลีกัณหามาให้ใช้
๔. ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา  ออกเดินทางเที่ยวถามไปทุกหนแห่งแล้วก็เข้าสู่ดงแดนเจตบุตร
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยาการเดินของชูชก ที่เดินกะย่องกะแหย่งเหมือนคนแก่ หรือคนพิการไม่สมประกอบ  



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68220752932959__3585_3633_3603_3601_3660_3592.gif)
• กัณฑ์ ๖  กัณฑ์จุลพน พรานเจตบุตรชี้ทางสู่เขาวงกฏ
๑. สุนัขของพรานเจตบุตรเห็นชูชกก็รุมไล่กัด  ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้
๒. พรานเจตบุตรเห็นก็ขู่ว่าจะยิงด้วยหน้าไม้  ชูชกไหวดีกว่าแก้ว่า เป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย  พรานเจตบุตรหลงเชื่อ ผูกสุนัขเข้ากับโคนไม้  ต้อนรับชูชก
    ถามว่าอะไรอยู่ในย่าม ชูชกชี้ไปที่กลัก พลิกกลักงาว่า นี่คือกลักพระราชสาร
๓. พรานเจตบุตรเชิญชูชกขึ้นไปบนเรือน ให้กินเนื้อย่างจิ้มน้ำผึ้ง แล้วก็พาออกไปชี้มรรคา
๔. พรานเจตบุตรพรรณนาพรรณไม้  อันมีในป่าหิมพานต์แล้วบอกทางที่จะไปสู่เขาวงกฎ และว่าจะไปพบกับอจุตฤษี
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยาของพรานเจตบุตร ข่มขู่ชูชกให้เกรงกลัวตน และความน่าสะพรึงกลัวของป่าหิมพานต์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96794318863087__3585_3633_3603_3601_3660_3617.gif)
• กัณฑ์ ๗ กัณฑ์มหาพน พระอจุตฤษีพรรณนาป่าหิมพานต์
๑. ชูชกเดินไต้เต้าตามอรัญญวิถี  ก็บรรลุถึงอาศรมอจุตฤษี จึงเข้าไปถามไถ่ถึงทุกข์สุข  แล้วแจ้งว่าเป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย
๒. พระสิทธาจารย์รู้ว่าเฒ่าชูชกโกหก  บอกให้เชื่อก็เชื่อ แล้วให้เฒ่ายับยั้งอยู่หนึ่งราตรี  รุ่งขึ้นจึงพาไปชี้ทางให้ทชีไปสู่เขาวงกฏ
๓. พระอจุตฤษีพรรณนาหมู่สัตว์ ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาวงกฎ มี ช้าง เนื้อ เสือ สิงห์ กวาง กระต่าย และพรรณนาไม้นานาชนิด และสัตว์น้ำในโบกขรณี ใกล้พระอาศรมแห่งพระเวสสันดรราชฤษี
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงเชิดกลอง ประกอบกิริยาตอนเดินทางระยะไกล อย่างรีบเร่ง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42816672556930__3585_3633_3603_3601_3660_3585.gif)
สองพระกุมารเมื่อรู้ว่าภัยมาถึงตัว ก็พากันหนีลงไปในสระ  
เอาวารีบังองค์ เอาบุษบงบังเกศ


• กัณฑ์ ๘  กัณฑ์กุมาร พระราชทานสองพระกุมาร
๑. ชูชกนอนพักแรมที่เนินผาใกล้บริเวณพระอาศรม  เมื่อตื่นขึ้นคะเนว่าเวลานี้พระนางมัทรีคงจะเสด็จเข้าป่าหามูลผลาผล  จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อจะทูลขอ
    สองพระกุมาร  ชักเอาแม่น้ำทั้งหามาเปรียบเทียบ
๒. สองพระกุมารเมื่อรู้ว่าภัยมาถึงตัว ก็พากันหนีลงไปในสระ  เอาวารีบังองค์เอาบุษบงบังเกศ
๓. พระเวสสันดรทรงทราบว่าสองพระกุมารหนี จึงเสด็จไปตรัสเรียกหาที่สระโบกขรณี ตรัสเปรียบเรื่องสำเภา  ชาลีกัณหาก็ขึ้นมากราบพระบาท
๔. พระราชทานสองพระกุมารให้แก่พราหมณ์ชูชก
๕. เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองพระกุมาร  พาไปถึงทางกะกุกตะกัก เฒ่าเดินทะลุดทะลาดพลาดล้มลง  สองพระกุมารก็วิ่งมาสู่สำนักพระบิดา
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงโอด, เชิดฉิ่ง ประกอบกิริยาการฉุดกระชากสองพระกุมารของชูชก สลับกับเสียงกรรแสงร่ำไห้ ของกัณหา ชาลี



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/45500940746731__3585_3633_3603_3601_3660_3617.gif)
• กัณฑ์ ๙  กัณฑ์มัทรี ถึงแก่วิสัญญีสลบลงตรงหน้าพระพักตร์พระเวสสันดร
๑. พระนางมัทรีทรงสาแหรกคานกระเช้าสาน ขอ   สอยผลาผลแล้วเสด็จกลับโดยด่วน  มาประจวบพบพระยาพาลมฤคราช ซึ่งเทพยดาแสร้งจำแลงแปลงมานอนขวางทาง  
    พระนางสะดุ้ง พระทัยไหวหวาด  ปลงหาบคอนลงแล้วอภิวาทขอทาง  เทพยเจ้าสังเวชก็พากันคลาไคลให้หนทาง
๒. พระนางเสด็จถึงอาศรมบท  มิได้ทอดพระเนตรเห็นสองพระโอรส จึงวอนทูลถามพระสวามี  ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง  แต่แล้วก็ตรัสพ้อด้วยโวหารหึง เพื่อให้พระนางสร่างโศก
๓. พระนางเที่ยวแสวงหาสองพระกุมาร ตามละเมาะเขาเขินจนทั่วบริเวณพระอาศรมก็มิได้พบพระลูกรักทั้งสอง  จึงเสด็จไปที่หน้าพระอาศรม ทรงพระกำสรดสิ้นแรงถึงวิสัญญี
    สลบลงตรงหน้าพระพักตร์พระเวสสันดร
๔. พระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นพระมัทรีถึงวิสัญญีสลบลง สะดุ้งพระทัยทรงพระกันแสง
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงทยอย โอด ประกอบกิริยาพระนางมทรีคร่ำครวญกรรแสงเมื่อทรงทราบว่าพระเวสสันดรทรงบริจาคสองพระกุมากให้แก่พราหมณ์ชูชก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26866422717769__3585_3633_3603_3601_3660_3626.gif)
• กัณฑ์ ๑๐ กัณฑ์สักรบรรพ พระอินทร์ประทานพร ๘ ประการแด่พระเวสสันดร
๑. ท้าวสักกเทวราช  ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี  พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคให้แก่พราหมณ์
๒. เมื่อท้าวเธอได้รับพระราชทานพระนางมัทรีแล้วก็ถวายคืน  แล้วทูลว่าพระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช  มาเพื่อประทานพรแด่พระองค์  ขอพระองค์จงเลือกอัฐวราพร
๓. พระเวสสันดร ขอพรแปดประการแด่ท้าวสักกเทวราช ดังนี้
     ๑.ขอให้พระบิดร  คลายโกรธ ออกมารับข้าพระบาทกลับสู่พระนคร
     ๒. ขอให้ได้ปล่อยนักโทษผู้เพียรทุจริต
     ๓. ขอให้ได้อนุเคราะห์คนยากไร้  เข็ญใจ
     ๔. ขออย่าให้ลุแก่อำนาจสตรี ที่มิใช่พระนางมัทรี  อันเป็นอรรคมหิษรี
     ๕.ให้พระกุมารชาลีจงเป็นผู้มีอายุยืนนาน
     ๖. ขอให้ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงในเมืองสีพี
     ๗. ขอให้สมบัติในท้องพระคลังซึ่งข้าพระบาทจะจ่ายแจกแก่ยาจกอย่ารู้หมดสิ้น
     ๘. เมื่อจุติจากโลกามนุษย์ ขอให้ครรไลไปสู่เมืองฟ้า
 เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกลม ประกอบการเสด็จของเทวดาผู้เป็นใหญ่



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86752998787495__3585_3633_3603_3601_3660_3617.gif)
• กัณฑ์ ๑๑ กัณฑ์มหาราช ไถ่สองพระกุมาร
๑. ชูชกพาสองกุมารเดินทาง เวลาค่ำตาแกก็ผูกเปลนอนเหนือค่าคบไม้  เทพยเจ้าก็ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองพระกุมาร
๒. ล่วงมรรคาได้หกสิบโยชน์  ก็ลุถึงกรุงพิชัยเชตดรนครหลวงแห่งสีวิรัฐ  ชูชกพาสองกุมารผ่านมาตรงหน้าพระที่นั่ง
๓. พระเจ้ากรุงสญชัย ให้พาพราหมณ์ชูชกมาเฝ้า  ทราบความแล้ว ทรงไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองด้วยพระราชทรัพย์
๔. พระเจ้ากรุงสญชัย ยกพยุหแสนยากรไปรับพระเวสสันดร  พระชาลีเป็นมัคคุเทศก์ นำพลไปยังเขาวงกฏ
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกราวนอก ประกอบการยกพลของพระเจ้ากรุงสญชัย  ไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี



• กัณฑ์ ๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์  เชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับสู่กรุงสีพี
๑. พระเวสสันดร  ได้ยินเสียงไหยรถคชแสนยากร  ทรงตกพระทัยไหวหวาดว่า ปัจจามิตรจะมาจับพระองค์  จึงชวนพระมัทรีเสด็จขึ้นเนินเขา  พระนางกราบทูลว่า
    เป็นทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จมารับ สมตามที่ท้าวสักกาเทวราชประทานพร
๒. เมื่อหกกษัตริย์พร้อมกันที่พระอาศรม  ต่างก็ทรงโศกสลดที่พลัดพรากจากกันจนถึงวิสัญญีภาพฝนโบกขรพรรษตกจึงทรงฟื้นพระองค์
๓. สหชาติโยธาเฝ้าพระเวสสันดร ทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร
เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงตระนอน ประกอบตอนที่กษัตริย์ทั้งหก ใด้มาพบกันและบรรทมค้างแรมที่บริเวณอาศรมในป่า



• กัณฑ์ ๑๓ กัณฑ์นครกัณฑ์  พระเวสสันดรครองกรุงสีพี
๑. พระเวสสันดร ทรงรับชิญของสหชาติโยธา แล้วทรงลาผนวช
๒. พระเจ้ากรุงสัญชัย ทรงอภิเษกสองกษัตริย์ครองกรุงสีพี
๓. ทรงยกทัพกลับกรุงสีพี เสด็จวันละโยชน์ สิ้นมรรคาหกสิบโยชน์, ถ้าจะนับแต่วันบรรพชา ถึงเจ็ดเดือนจึงพระราชทานสองกุมาร, ชูชกรีบรัดมาสิบห้าวิน ถึงเชตุดร, เตรียมพลรับเจ็ดวัน ยกไปถึงพระอาศรม หนึ่งเดือนยี่สิบสามราตรี อยู่ในพนาลีเดือนเศษ ยกพลกลับสองเดือนสิริเป็นปีหนึ่งกับสิบห้าราตรีจึงคืนเข้าราชธานีแล้วแล.
 เพลงประจำกัณฑ์ : เพลงกลองโยน ประกอบกิริยาการยกขบวนพยุหยาตรา ของพระเวสสันดร พรั่งพร้อมด้วยขบวนอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ


(http://www.buddhistelibrary.org/th/albums/central/Thai_files/Chaichana_Songkhram/normal_a012.jpg)
ปางไตรเทพท้าว          จรลี
หลีกจากมรรควิถี          เร่งเร้า
โฉมนาฏราชมัทรี          ปราโมทย์
เก็บผลรีบไต่เต้า           จู่เข้าอาศรม ฯ