[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
07 พฤษภาคม 2567 01:20:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไข้ทรพิษ ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา  (อ่าน 6484 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5472


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2557 12:56:15 »

.

มัมมี่ของฟาโรห์รามเสสที่ ๕ แห่งอียิปต์
อายุประมาณ ๓,๐๐ ปี บนศีรษะมีร่องรอยแผลจากตุ่มหนองไข้ทรพิษ


ไข้ทรพิษ
ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา

ไข้ทรพิษ (smallpox) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสหรือการหายใจเป็นโรคที่มีการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำให้ผู้ติดโรคมีตุ่มหนองพุพองขึ้นทั่วทั้งตัว เป็นที่น่าสะพรึงกลัวของผู้พบเห็น จึงมักมีการนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ เช่น ภูตผีปีศาจ ห่า เทพเจ้า คำสาป ฯลฯ เป็นโรคที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการระบาดอยู่ในแหล่งอารยธรรมหลายแห่งของโชก เช่น ในอียิปต์มีการขุดค้นพบมัมมี่ของฟาโรห์ อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษและปรากฏร่องรอยแผลตุ่มหนองอยู่ตามผิวหนัง ในอินเดียมีการกล่าวถึงโรคไข้ทรพิษในตำราการแพทย์ภาษาสันสกฤตอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี ส่วนในจีนมีคำอธิบายเกี่ยวกับโรคไข้ทรพิษในตำราการแพทย์อายุกว่า ๑,๗๐๐ ปี

นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าไข้ทรพิษมีกำเนิดจากแหล่งอารยธรรมที่ผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น จึงมีโอกาสเกิดโรคติดต่อได้ง่าย เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ จากนั้นจึงแพร่ระบาดไปยังดินแดนอื่นผ่านการติดต่อค้าขายหรือการทำสงคราม เนื่องจากการติดต่อค้าขายทำให้ผู้คนต่างถิ่นที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากน้อยต่างกันมาพบปะกัน ส่วนในสงครามการเดินทัพหรือการถูกปิดล้อมอยู่ในเมืองทำให้ผู้คนมารวมตัวกันอย่างหนาแน่น สุขอนามัยไม่ดี ขาดแคลนน้ำและอาหาร จึงมีโอกาสทำให้โรคระบาดได้ง่าย เช่น จากอียิปต์ระบาดไปยังอินเดีย แล้วระบาดต่อไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจากอียิปต์ระบาดไปยังตะวันออกกลาง แล้วระบาดต่อไปยังยุโรป และดินแดนอาณานิคมในสมัยต่อมา




แผนภาพแสดงการแพร่ระบาดของไข้ทรพิษไปยังแหล่งอารยธรรมต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ

การระบาดของไข้ทรพิษในยุโรปช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๓ เป็นสาเหตุการตายหลักที่คร่าชีวิตประชากรยุโรปถึงปีละประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน หรือเกือบหนึ่งในสามของบางพื้นที่ แม้แต่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปก็ต้องสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ ในจำนวนนี้รวมไปถึงพระราชินีแมรีที่ ๒ แห่งอังกฤษ จักรพรรดิโจเซฟที่ ๑ แห่งออสเตรีย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑ แห่งสเปน พระเจ้าซาร์ ปีเตอร์ที่ ๒ แห่งรัสเซีย และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ แห่งฝรั่งเศส เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยปรากฏหลักฐานการระบาดของไข้ทรพิษตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกในชื่อต่างๆ กัน เช่น ทรพิษ ไข้ทรพิษ ออกหัดทรพิษ ออกฝี เป็นต้น และอาจเป็นโรคระบาดที่ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องอพยพผู้คนหนีลงมาตั้งเมืองใหม่ที่อยุธยา โดยพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมระบุว่า...ครั้งนั้นบังเกิดไข้ทรพิษนัก ราษฎรทั้งปวงล้มตายเป็นอันมาก พระองค์จึ่งยังเสนาแลอพยพราษฎรออกจากเมืองแต่เพลาราตรีภาค ไปโดยทักขิณทิศเพื่อจะหนีห่า...

อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าโรคระบาดในครั้งนั้นน่าจะเป็นอหิวาตกโรคโดยเชื่อมโยงกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าสาเหตุของโรคเกิดจากลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขิน ทำให้เมืองอู่ทองขาดแคลนน้ำจนเกิดความเจ็บไข้ขึ้น และในรัชกาลเดียวกันก็มีบันทึกกล่าวถึงเจ้าแก้ว เจ้าไท ที่เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคต้องขุดศพขึ้นมาเผา   ปัจจุบัน สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอแนวคิดใหม่ว่าโรคระบาดในครั้งนั้นน่าจะเป็นกาฬโรคที่ระบาดไปทั่วโลกระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๐ – ๑๘๙๕ ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และแพร่ระบาดจากจีนเข้ามาทางเรือสินค้า

ในสมัยอยุธยายังปรากฏหลักฐานการระบาดของไข้ทรพิษอีกหลายครั้ง เช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า...ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ. ๑๙๙๗) ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก...(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ ระบุว่าเป็นศักราช ๘๐๒ ปีวอกโทศก หรือพุทธศักราช ๑๙๘๓)

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อครั้งที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาโดยมีชนวนเหตุจากการขอช้างเผือกแล้วไม่ได้ตามประสงค์ พระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า...ศักราช ๙๒๕ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๐๖) เมืองพีศนูโลกข้าวแพง ๓ สัดต่อบาท อนึ่งคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมาก แล้วพระเจ้าหงษาจึงได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง...เนื้อความตอนนี้ตรงกับที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหร

ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีหลักฐานว่าเกิดการระบาดของไข้ทรพิษ ๒ ปีติดต่อกัน ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรว่า...ปีระกา จ.ศ.๙๘๓ (พ.ศ. ๒๑๖๔) เศษ ๓ ออกฝีตายมาก ปีจอ จ.ศ. ๙๘๔ (พ.ศ. ๒๑๖๕) เศษ ๘ ช้างเผือกล้ม คนออกฝีตายมาก...คำว่าออกฝีแสดงถึงโรคที่มีอาการคือฝีหนองขึ้นเต็มตัว ซึ่งก็หมายถึงโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษนั่นเอง



นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ (Dan Brdley : คริสต์ศักราช ๑๘๐๔ – ๑๘๗๓)
หรือหมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกัน ผู้ทำการทดลองปลูกฝีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โรคไข้ทรพิษไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับสามัญชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์หรือแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินด้วย เช่น สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิสวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษหลังจากครองราชย์สมบัติอยู่ ๕ ปี ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ...ศักราช ๘๗๕ ปีระกา เบญจศก (พ.ศ. ๒๐๕๖) สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงประชวรทรพิษเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี...

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อครั้งที่พระเจ้าหงสาวดีจะยกทัพไปตีล้านช้าง และได้รับสั่งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาพร้อมทั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วย แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรไข้ทรพิษกลางทางจนต้องยกทัพกลับ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมว่า...ลุศักราช ๙๒๑ ปีมะแมเอกศก (พ.ศ. ๒๑๐๒) ขณะนั้นสมเด็จพระนะเรศวรเป็นเจ้าทรงพระประชวรทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีตรัสให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนะเรศวรเป็นเจ้าเสด็จคืนมายังพระนครศรีอยุธยา (พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐกล่าวโดยย่อถึงเหตุการณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิษ ในจุลศักราช ๙๓๖ จอศก หรือพุทธศักราช ๒๑๑๗ ซึ่งเมื่อพิจารณาบริบทแล้วน่าจะหมายถึงเหตุการณ์เดียวกัน)

ไข้ทรพิษยังอาจส่งผลให้เกิดความพิการ ดังเช่นเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถและต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในพุทธศักราช ๒๑๕๓ ทรงเสียพระเนตรข้างหนึ่งจากโรคไข้ทรพิษ ดังที่ปรากฏในเทศนาจุลยุทธการวงศ์ว่า...เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์นั้นประชวรทรพิษเสียพระเนตรข้างหนึ่ง จึ่งตั้งพระราชบุตรผู้พี่เป็นพระมหาอุปราช...

จากหลักฐานจะเห็นได้ว่าแม้แต่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็มีโอกาสเป็นโรคไข้ทรพิษ ทั้งที่ประทับอยู่ในพระราชวังและไม่ค่อยมีโอกาสติดต่อกับราษฎรสามัญ แสดงให้เห็นว่าโรคไข้ทรพิษคงจะมีอยู่ทั่วไปในราษฎรแม้จะไม่ได้เกิดการระบาดใหญ่ เมื่อขุนนางหรือข้าราชบริพารมีการติดต่อกับราษฎรจึงอาจติดโรคมาได้ และนำโรคไข้ทรพิษมาติดต่อในราชสำนัก

ทางด้านชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยสมัยอยุธยาก็มีการกล่าวถึงโรคไข้ทรพิษไว้เช่นกัน เช่น ลาลูแบร์ (Simon de La Loubere) ระบุว่าโรคห่า (plague) ที่แท้จริงของสยามก็คือโรคไข้ทรพิษซึ่งทำลายชีวิตชาวสยามเป็นจำนวนมากอยู่เนืองๆ ผู้ที่เสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษจะถูกฝังมิใช่เผาตามปกติ จนผ่านไปสามปีหรือนานกว่านั้นจึงจะขุดศพขึ้นมาเผาตามธรรมเนียม เนื่องจากกลัวว่าถ้าขุดขึ้นมาเผาเร็วกว่านั้น ไข้ทรพิษจะกลับมาระบาดอีก

ส่วนตุรแปง (Francois Henri Turpin) ระบุว่าไข้ทรพิษเป็นโรคที่ทำให้คนตายมากที่สุด และเป็นมหาภัยที่น่ากลัวที่สุด แต่ถึงแม้โรคนี้จะก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง ชาวสยามก็ยังละเลยคุณประโยชน์ของการฉีดเชื้อเข้าไปในร่างกาย ตุรแปงยังกล่าวไว้อีกว่าชาวสยามหลายคนมีแผลเป็นที่หน้าซึ่งเกิดจากโรคไข้ทรพิษ ทำให้เสียโฉม



ภาพวาดชาวพื้นเมืองอเมริกาติดเชื้อไข้ทรพิษ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
อันเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมและการติดต่อค้าขายกับดินแดนใหม่ๆ ทำให้โรคระบาดเดินทางไปถึง

ในพุทธศักราช ๒๒๐๒ ผู้จัดการสถานีการค้าของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียในกรุงศรีอยุธยาประมาณการณ์ไว้ว่าประชากรสยามอย่างน้อยหนึ่งในสามต้องเสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษ ในช่วงเวลา ๖ เดือนที่มีการระบาด

ในพุทธศักราช ๒๒๓๙ มีจดหมายของเมอสิเยอร์ปินโต ไปถึงเมอสิเยอร์บาร์เชต์ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๒๓๙ ระบุว่าในกรุงศรีอยุธยาเกิดไข้ร้ายขึ้น และมีไข้ทรพิษระบาดแทรกซ้อนอีกทั่วราชอาณาจักรทำให้...ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ ๗๐ ถึง ๘๐ ปี เป็นไข้ทรพิษล้มตายเป็นอันมาก ตั้งแต่เดือนมกราคมมาได้มีคนตายทั่วพระราชอาณาเขตรวมเกือบ ๘ หมื่นคนแล้ว ตามวัดต่างๆ ไม่มีที่จะฝังศพ และตามทุ่งนาก็เต็มไปด้วยศพทั้งสิ้น

ในจดหมายยังระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีด้วยการสวดมนต์เลี้ยงพระและทำพิธีต่างๆ หลายพันอย่างทั้งในเมืองและนอกเมือง อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้แพทย์ออกรักษาพยาบาลผู้ป่วย และพระราชทานยากและเงินแจกเป็นทานทั่วหน้ากัน พระสังฆราชชาวฝรั่งเศสได้ถวายคำแนะนำว่าควรจะถ่ายยาให้ผู้ป่วยและฉีดเอาเลือดออกเพื่อป้องกันมิให้ป่วยไข้อีก ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็ทรงเห็นชอบด้วยและทรงรับสั่งให้ราษฎรปฏิบัติตามคำแนะนำของพระสังฆราช และเจ้าพนักงานต้องนำความกราบทูลทุกคืนว่าคนที่ได้ฉีดเลือดออกเช่นนี้มีจำนวนมากน้อยเท่าใด

ในปีเดียวกันมีจดหมายจากเมอสิเยอร์โปเกไปถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๓๙ ระบุถึงการเกิดไข้ทรพิษระบาดในปีนี้ไว้คล้ายกันว่า...การที่ฝนแล้งและน้ำน้อยมาตั้งแต่ปีก่อนตลอดมาจนถึงปีนี้ ได้ทำให้เกิดไข้ทรพิษขึ้นหลายชนิด บางอย่างเป็นไข้ดำ บางอย่างก็แดง ความไข้นี้ได้ทำให้คนตายทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีจำนวนมากมายจนเหลือที่จะเชื่อ...ในจดหมายยังกล่าวถึงการที่ข้าวราคาแพง และบางครั้งก็หาซื้อไม่ได้ ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็ทรงพระกรุณาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๒๕๕ – ๒๒๕๖ มีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสที่กล่าวถึงการระบาดของไข้ทรพิษในกรุงศรีอยุธยาอีก โดยอยู่ในจดหมายจากมองสิเออร์เดอซีเซ มีไปถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๕๕ ระบุว่า...ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้นมาได้ ๕ – ๖ เดือนแล้ว และเวลานี้ก็กำลังเป็นกันอยู่ ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ล้มตายเป็นอันมาก...ในจดหมายยังกล่าวถึงการที่ข้าวราคาแพงอย่างที่สุดจนคนยากจนไม่สามารถซื้อข้าวรับประทาน

ในปีถัดมามีจดหมายจากมองเซนเยอร์เดอบูร์ ไปถึงเมอสิเยอร์เตเซีย เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๒๕๖ ระบุว่า...เมื่อต้นปีนี้ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้น ซึ่งกระทำให้พลเมืองล้มตายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งการที่ข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก... ในจดหมายยังเปรียบเทียบด้วยว่าเมืองไทยในเวลานั้นเหมือนกับ “เป็นป่าที่ไม่มีคนอยู่” เนื่องจากพลเมืองมีจำนวนน้อยลงกว่าครึ่ง

ช่วงปลายสมัยอยุธยามีหลักฐานการระบาดของไข้ทรพิษอีกหลายครั้ง ดังปรากฏในจดหมายเหตุโหรว่า...จ.ศ. ๑๑๑๑ (พ.ศ. ๒๒๙๒) ออกหัดทรพิษคนตายชุม... และเมื่อเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าช่วงก่อนเสียกรุง ก็มีปรากฏในจดหมายเหตุโหรอีกว่า...จ.ศ. ๑๑๒๗ (พ.ศ. ๒๓๐๘) พม่าล้อมกรุงชนออกฝีตายมากแล...

นับได้ว่าไข้ทรพิษเป็นโรคระบาดที่สำคัญในประวัติศาสตร์อยุธยา แม้แต่ในพงศาวดารฉบับสังเขปอย่างพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ หรือในจดหมายเหตุโหรที่จดบันทึกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญอย่างย่อๆ ก็มีการบันทึกเรื่องการระบาดของไข้ทรพิษ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการที่คนตายจากโรคระบาดเป็นจำนวนมากย่อมส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของอาณาจักร




ภาพการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นที่น่าสังเกตว่าการระบาดของไข้ทรพิษหลายครั้งเกี่ยวข้องกับสงคราม เช่น การระบาดของไข้ทรพิษเมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลก หรือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรไข้ทรพิษก็เกิดขึ้นระหว่างการเดินทัพไปช่วยพม่าตีล้านช้าง

ส่วนการระบาดของไข้ทรพิษในพุทธศักราช ๒๒๓๙ ตามที่ปรากฏในบันทึกของชาวฝรั่งเศสก็เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเป็นสมัยที่มีปัญหาความไม่สงบภายในราชอาณาจักรอย่างมาก ทั้งปัญหากับชาวฝรั่งเศสช่วงผลัดเปลี่ยนรัชกาล ปัญหาหัวเมืองไม่ยอมรับอำนาจพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงการเกิดกบฏอีก ๒ ครั้ง คือ กบฏธรรมเถียรและกบฏบุญกว้าง บ้านเมืองจึงอยู่ในภาวะที่มีการสู้รบกันเป็นเวลาหลายปี

การระบาดของไข้ทรพิษในช่วงปลายสมัยอยุธยายิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการศึกสงคราม ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรว่า เกิดไข้ทรพิษระบาดเมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาในพุทธศักราช ๒๓๐๘ และทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

การระบาดของไข้ทรพิษยังอาจเกี่ยวข้องกับการติดต่อกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะที่มาจากแหล่งที่มีไข้ทรพิษระบาด กล่าวคือในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับชาติตะวันตก ได้แก่ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ตรงกับช่วงเวลาที่ไข้ทรพิษแพร่ระบาดอยู่ในยุโรปและเป็นโรคหลักที่ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการระบาดทั่วยุโรปและดินแดนตะวันออกใกล้เมื่อพุทธศักราช ๒๑๕๗ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของการนำโรคไข้ทรพิษไประบาดยังดินแดนอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่การติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกรวมไปถึงดินแดนใกล้เคียง เช่น เปอร์เซียอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดไข้ทรพิษระบาดในสมัยอยุธยา อันเนื่องมาจากการพบปะกันของผู้คนที่มีโรคและภูมิคุ้มกันต่อโรคแตกต่างกัน

นอกจากความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกแล้ว การติดต่อค้าขายกับชาติตะวันออกก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้ทรพิษในกรุงศรีอยุธยาได้เช่นกัน ดังเช่นการระบาดในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพุทธศักราช ๒๑๖๔ และพุทธศักราช ๒๑๖๕ ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหร เป็นที่น่าสังเกตว่าเกิดขึ้นเพียงปีเดียวหลังการเข้ามาของชาวญี่ปุ่นดังมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุโหรฉบับเดียวกันว่า...ปีวอก จ.ศ. ๙๘๒ (พ.ศ. ๒๑๖๓) เศษ ๘ ยี่ปุ่นเข้าเมือง...ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ นี้ ก็เป็นเวลาที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาการระบาดของไข้ทรพิษอย่างมาก แม้แต่เชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่การติดต่อค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับญี่ปุ่นจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเกิดไข้ทรพิษระบาดในสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ การระบาดของไข้ทรพิษยังมักเกิดร่วมกับภาวะข้าวยากหมากแพง ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสช่วงปลายสมัยอยุธยา อาจกล่าวได้ว่าการเกิดโรคระบาดกับการขาดแคลนอาหารเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน กล่าวคือเมื่อเกิดโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมาก แรงงานปลูกข้าวก็ลดน้อยลง เมื่อข้าวหายากราคาก็แพงขึ้น เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราษฎรไม่สามารถซื้อหาข้าวกินได้จนเกิดความอดอยาก เมื่อขาดแคลนอาหารประกอบกับสุขอนามัยเสื่อมโทรมก็ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง จึงมีโอกาสติดโรคมากขึ้น และทำให้โรคระบาดขยายวงศ์ต่อไป



เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner : คริสต์ศักราช ๑๗๔๙ ๑๘๒๓)
แพทย์ชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบวิธีปลูกฝี เพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกของโลก

ผู้ที่เป็นโรคไข้ทรพิษแล้วครั้งหนึ่งหากไม่เสียชีวิตก็จะมีภูมิต้านทานโรคไปชั่วชีวิต การระบาดของโรคไข้ทรพิษจึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มักเกิดเป็นวัฏจักรหรือเป็นช่วงเวลาตามอายุของคนแต่ละรุ่น เมื่อเกิดการระบาดขึ้นครั้งหนึ่งก็จะสร้างกลุ่มคนที่รอดชีวิตและมีภูมิคุ้มกันขึ้นมารุ่นหนึ่ง เมื่อคนรุ่นนี้เสียชีวิตไปและเกิดคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้ามาแทนก็มีโอกาสเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้เรื่อยไป โรคไข้ทรพิษจึงมักเกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน ทำให้เด็กเสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนมาก และยังอาจเกิดขึ้นได้กับคนในราชสำนักและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ค่อยมีโอกาสติดต่อกับชาวบ้านสามัญ จึงไม่มีโอกาสได้พัฒนาภูมิคุ้มกันเช่นคนทั่วไปที่เผชิญกับโรคอยู่ตลอด เมื่อถึงคราวที่เชื่อโรคเข้ามาถึงในราชสำนักจึงไม่สามารถต้านทานโรคได้

ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการกล่าวถึงภัยจากโรคไข้ทรพิษไว้เช่นกัน ดังคำกลอนที่ว่า
...ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง      สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษม์มิคสัญญี           ฝูงฝีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี                  จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล           จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย...

แสดงให้เห็นว่าคนสมัยอยุธยามองไข้ทรพิษเป็นภัยร้ายแรงอย่างหนึ่ง เชื่อมโยงกับความเดือดร้อนต่างๆ เกิดภาวะมิคสัญญี ทุกสิ่งโกลาหลวุ่นวาย เป็นส่วนหนึ่งของคำพยากรณ์ถึงเภทภัยที่นำไปสู่การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อกับชาติตะวันตกทำให้มีโอกาสได้รับวิทยาการใหม่ๆ มากมาย วิทยาการหนึ่งที่สำคัญก็คือการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ตามแนวทางที่เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ค้นพบ และนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือหมอบรัดเลย์เป็นผู้นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นรัฐบาลทุกสมัยก็ให้ความสำคัญกับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแก่ราษฎร รวมไปถึงพัฒนาพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้เองเพื่อไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีผลทำให้การระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้ทรพิษลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หมดไปจากประเทศไทย เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๕๐๕




ที่มา : เกร็ดความรู้จากประว้ติศาสตร์ 'ไข้ทรพิษ ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา' โดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
          น.๖๗-๗๗ นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๗ ฉบับ ก.ค. - ส.ค. ๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.561 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 01 พฤษภาคม 2567 15:43:25