[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: ไอย ที่ 16 ธันวาคม 2552 14:13:44



หัวข้อ: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 16 ธันวาคม 2552 14:13:44
หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ   

คำถาม :    มิจฉาสมาธิ ถ้าทำแล้วจะเสื่อมบ้างไหม เช่น  พวกคุณ พวกไสย เป็นต้น

หลวงพ่อพุธตอบ :  พวกคุณ  พวกไสย ฯลฯ  ผู้ฝึกยึดถือครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เป็นสำคัญ  ตราบใดที่เขายังเคารพนับถือครูบาอาจารย์  ผู้สอนวิชาให้แก่เขาไม่หมิ่นประมาท และไม่ประมาทวิชาความรู้ของตัวเอง  แม้จะเป็นเรื่องมิจฉาสมาธิผิดศีลธรรม   แต่ก็ยังใช้การได้    และวิชาอันนี้ก็ย่อมมีความเสื่อมความเจริญเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าจะเทียบกับสมาบัติทางศาสนาพราหมณ์ เขาถือการบำเพ็ญสมาบัติ  ๘  เป็นหลักสำคัญในศาสนาของพราหมณ์  ผู้ที่บำเพ็ญเพียรบรรลุถึงสมาบัติ  ๘  แล้ว ยังมีเสื่อมมีเจริญ ถ้าไปทำผิดอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ฌานก็เสื่อม  ทางไสยศาสตร์ก็เหมือนกัน ถ้าไปละเมิดครูหรือหมิ่นประมาทครู หรือไปละเมิดสิ่งที่ครูเขาห้าม     วิชาก็เสื่อมลงเป็นครั้งเป็นคราวในเมื่อเขาขอขมาและยกเครื่องสักการะบูชาขึ้นมาใหม่  วิชาก็กลับมามีประสิทธิภาพได้อีก ทีนี้เรื่องสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ  เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น  เราถือเอากิเลสของเราเป็นเกณฑ์  ทีนี้เรามีขอบเขตที่จะใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์  อิทธิฤทธิ์ซึ่งเกิดจากสมาธิถ้าเราจะใช้อะไรให้เกิดประโยชน์  เราเอาศีล  ๕  ข้อเป็นเครื่องวัด  ถ้าการใช้พลังจิตในทางที่ไม่ชอบธรรม เช่น อย่างพระทำสมาธิเก่งแล้ว  ใช้พลังจิตไปบังคับจิตของพวกเศรษฐีให้เอาเงินมาให้สร้างวัด อันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ    สิ่งใดที่เราใช้อำนาจทางใดทางหนึ่งไปกดขี่ข่มเหงน้ำใจคนซึ่งเขาไม่เกิดศรัทธาโดยเหตุผล  เป็นเรื่องการใช้สมาธิในทางที่ผิดเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น 

สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามีแต่มุ่งตรงต่อการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดความรู้ตามสายแห่งวิชาการในแง่ความรู้ยิ่งเห็นจริง เพื่อมุ่งตรงต่อความปฏิบัติชอบ เพื่อกำจัดกิเลส เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้นส่วนอื่น ๆ นั้นเป็นผลพลอยได้ วันหนึ่งอยู่ที่วัดมีเรื่องขำขัน มีโยมคนหนึ่งไปถามว่า อ่านประวัติหลวงพ่อแล้วว่าหลวงพ่อหัดภาวนามาตั้งแต่อายุ ๑๕ - ๑๖  ปี ภาวนามานานแล้วหลวงพ่อแสดงฤทธิ์ได้ไหม หลวงพ่อก็บอกว่าแสดงได้ เอ้าถ้าแสดงได้ลองแสดงฤทธิ์ให้ดูซิ ก็แสดงแล้วไง  ไหน……ไม่เห็นได้แสดง อาคารหลังนี้เกิดขึ้นมาด้วยบุญฤทธิ์ หลวงพ่อแสดงบุญฤทธิ์ เพราะหลวงพ่อมีคุณงามความดีเป็นที่เลื่อมใสของปวงชน เขาจึงมาสร้างกุฎิให้อยู่ อันนี้เรียกว่าบุญฤทธิ์ ฤทธิ์ตามความหมายของคุณเช่น ดำดินบินบนเหาะเหินเดินอากาศ มันจะเกิดประโยชน์อะไรสำหรับคุณ พระเทวทัตเก่งแสนเก่ง เข้าฌานแล้วอธิษฐานฤทธิ์  เอาเขาพระสุเมรุติดใต้ฝ่าพระบาท  เหาะไปขู่พระเจ้าอชาตศัตรูให้ยอมจำนน จนกระทั่งปลงพระชนม์พระราชบิดาจนสิ้นพระชนม์ ผลลัพธ์ก็คือว่าลงนรก เทวทัตผู้เป็นอาจารย์ก็ถูกธรณีสูบที่ซึ่งธรณีสูบพระเทวทัต หลวงพ่อยังได้ไปดูเลย ทีนี้สิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดนี้ทั้งหมดก็เกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์  อย่างคุณถ้าสามารถที่จะสร้างบ้านสร้างช่องอยู่ได้เอง โดยลำพังตัวเองนั่นแหละฤทธิ์ของคุณ  คุณแสดงฤทธิ์ได้แล้ว ไม่เฉพาะแต่หลวงพ่อ คุณก็แสดงฤทธิ์ได้ บางสิ่งบางอย่างคุณแสดงได้เก่งกว่าอาตมาเสียอีก คุณแสดงฤทธิ์สร้างคนก็ได้ อาตมาสร้างคนไม่เป็น…….

 
 


หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 17 ธันวาคม 2552 10:51:19

คำถาม :   ขณะที่เราพิจารณากายคตาสติ เราพิจารณาถึงตัวเองก่อน พอพิจารณาเพ่ง ๆ ไป
เราจะเป็นตัวของเรานั้นไม่มี เป็นของว่างเปล่า  เมื่อพิจารณาตัวเราเองเสร็จแล้วเราพิจารณาคนอื่น 
เราก็จะเห็นในลักษณะเดียวกัน หรือเห็นแต่เพียงฆนะ  ความเป็นก้อนที่รวมกันอยู่เท่านั้น
แท้จริงแล้วเขาไม่มีอะไรเลย เป็นของว่างเปล่าเมื่อเราพิจารณาเห็นอย่างนี้เป็นประจำต่อไป
ควรปฏิบัติอย่างไรครับ


หลวงพ่อพุธตอบ :   ต่อไปก็ควรปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำ
ใครคล่องตัวต่อการพิจารณาในเรื่องอันใด ให้ยึดเอาอันนั้นแหละพิจารณาซ้ำ ๆ อยู่นั่นแหละ
แม้จะเป็นเรื่องเดียวตลอดชีวิตก็ตาม วันนี้เราอาจจะพิจารณารู้เพียงแค่ว่าร่างกายของเราก็ดี
ร่างกายของคนอื่นก็ดี เป็นเพียงฆนะ เป็นเพียงก้อนอันหนึ่ง  แท้ที่จริงก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น
เราพิจารณาในเรื่องนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เข้า ความรู้ของเราจะเกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ ลักษณะอย่างหนึ่ง
กำหนดรู้เพียงแค่ว่า ร่างกายเป็นแต่เพียงฆนะ  เป็นแค่ก้อน  รู้ชัดแจ้งเห็นจริง เป็นความรู้ขั้นสมถกรรมฐาน
และอาศัยการพิจารณาอย่างเดียวนั้นแหละ เมื่อจิตปฏิวัติไปสู่ความรู้ เกิดอนิจจสัญญา ความสำคัญ
มั่นหมายว่าไม่เที่ยง  แต่อาศัยอารมณ์อันเดียวนั้นแหละเป็นพื้นฐานให้เกิดความรู้เช่นนั้น จิตของเรา
ก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาอย่าไปเข้าใจว่าเราพิจารณาอันนี้จนคล่องตัว ชำนิชำนาญจนรู้จริงเห็นจริงแล้ว
เราทิ้งเอาไว้ไม่ต้องนึกถึงมันอีกล่ะ เราหมดธุระหน้าที่ที่จะค้นคว้าพิจารณาเพราะเรารู้จริงเห็นจริงอย่าไป
เข้าใจผิดอย่างนั้น ถ้ายิ่งรู้จริงเห็นจริงเท่าไรยิ่งเอามายกเป็นเรื่องพิจารณาให้มันคล่องตัว ความเปลี่ยนแปลง
ของจิตนั้นอยู่ตรงที่ว่าเรามีสติสัมปชัญญะดีขึ้น  แล้วมีการปล่อยวางกิเลสอารมณ์ได้ดีขึ้น  ส่วนความเป็น
ของจิตนั้นใครจะภาวนาถึงระดับใดก็ตาม จิตก็ย่อมเดินอยู่ในระดับของวิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  เอกัคคตา 
แม้แต่ภูมิของสามัญชนที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใดก็ตาม ก็เดินอยู่ในขั้นของวิตก  วิจาร  ปีติ  สุข 
เอกัคคตา เหมือนกัน แล้วเราจะเอาวิตกถึงเรื่องอะไรมาเป็นคู่ของใจก็ได้ ถ้าพิจารณาเรื่องนั้นทำให้เรา
รู้จริงเป็นจริงตามที่เราต้องการรู้ แล้วจิตของเราสามารถปล่อยวางกิเลสและอารมณ์ได้มาก เราถือว่า
เป็นผลงานของเรา แล้วก็ยึดเอาอันนั้นแหละพิจารณาเรื่อยไป เราอาจจะอาศัยอารมณ์อย่างเดียวนี้
ทำให้จิตของเราบรรลุโสดา  สกิทา  อนาคา  อรหันต์ได้.


หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: PETER ที่ 18 ธันวาคม 2552 14:18:51
รู้ธรรม      ดี
มีธรรม     ดีมาก
วางธรรม   ดีที่สุด


หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 21 ธันวาคม 2552 02:52:21
Monday, 21 September 2009 02:51 
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม (1)
โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

คำถาม :  วิปัสสนูปกิเลสคืออะไร? มีอะไรบ้าง?

หลวงพ่อพุธตอบ :  วิปัสสนูปกิเลสคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไปหลงยึดถือ
เช่น อย่างพวกที่ภาวนาแล้วเห็นนิมิต รูปภาพต่างๆ แล้วก็ไปยึดว่าสิ่งนั้น
เป็นของวิเศษ เกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็ไปยึดสิ่งที่รู้ที่เห็น
นั้นเป็นเรื่องสำคัญไปกำหนดหมายเอาว่าจิตต้องอยู่ในณานขั้นนั้น
ต้องได้ณานขั้นนี้อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่าเราทำไม่ได้มันก็จะทำให้
เกิดท้อถอย สิ่งใดที่เกิดเป็นผลงานขึ้นมาแล้วเราไปยึดสิ่งนั้น
จนเหนียวแน่นแล้วก็ติดกับสิ่งนั้นด้วย สิ่งนั้นคือวิปัสสนูปกิเลส

แต่ในแบบฉบับท่านว่าอุปกิเลส ๑๖ ประการ ขอให้คำจำกัด
ความหมายสั้นๆ ว่า จิตของเรารู้เห็นสิ่งใดขึ้นมาแล้วยึดสิ่งนั้น
อย่างเหนียวแน่น ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีวิเศษถ้าไม่รู้อย่างนั้น
เป็นอันว่าเป็นความรู้ที่ไม่ถูกทางอะไรทำนองนี้ แล้วก็ยึดสิ่งที่
มันเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น ถ้าไปยึดว่าเราต้องนั่งสมาธิ
ให้ได้ ๔-๕ ชั่วโมง. ให้ได้มากๆ ถ้าไม่ได้อย่างนั้นเป็นอันว่า
ปฏิบัติไม่ได้ผล หรือเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้ว
ยึดติดสิ่งนั้นๆ เป็นวิปัสสนูปกิเลสรักษาศีลติดศีลก็เป็นวิปัสนูปกิเลส
ทำสมาธิเกิดติดสมาธิก็เป็นวิปัสนูปกิเลส เกิดปัญญาความรู้อะไรต่างๆ
ขึ้นมาแล้วไปหลงปัญญาความรู้ของตนเอง ขาดวิชชาสติปัญญา
ความรู้เท่าเอาทันเป็นวิปัสนูปกิเลสทั้งนั้น

 
 


หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 21 ธันวาคม 2552 05:04:46
สาธุ

ขอให้พระพุทธศาสนา จีรังยั่งยืนสืบไป



หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 25 ธันวาคม 2552 20:30:58

ถาม   นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา?


ตอบ   นิพพานเป็นธรรมใช่มั๊ย นิพพานเป็นธรรม “สัพเพ ธัมมา อะนัตตา”  
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา พระนิพพานก็ต้องเป็นอนัตตา
เพราะผู้ที่บรรลุพระนิพพานแล้ว ไม่มีอัตตาตัวตน ไม่มีสมมติบัญญัติ
เป็นสภาวจิตที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ เหนือกิเลส
เพราะฉะนั้น พระนิพพาน จึงเป็นอนัตตา


หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 25 ธันวาคม 2552 20:35:12

ถาม   พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะดูได้จากอะไร?


ตอบ   อันนี้ธุระไม่ใช่ ไม่ควรไปดูคนอื่น ควรจะดูเราเองว่า
เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ทุกคนก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปหมด เพราะว่าอันนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัว
เราจะดูแต่ภายนอกไม่ได้ มันดูยากว่าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
สมัยทุกวันนี้เขาเล่นลิเกเก่ง เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ดูยาก ถ้าหากเรา
จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบจริงๆ เราก็ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตัวของเราให้ดี
เราไม่ควรไปกลัวคนอื่นจะลงนรก เราควรกลัวเราลงนรกมากกว่า
สำหรับสหธรรมิกที่อยู่ด้วยกัน เราก็รู้ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ
ถ้ามองเห็นว่าข้อปฏิบัติข้างนอกนี่มันดีงามสมกับสมณสารูป
เราก็รู้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

“สังวาเสนะ สีลัง เวทิตัพพัง”
ศีลเราจะรู้ได้ว่าใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพราะการอยู่ร่วมกัน
เราอยากจะรู้ได้เราก็อยู่ร่วมกันนานๆ ดูความประพฤติปฏิบัติของกันและกันไป

ดังนั้นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ในเมื่อไปสู่สำนักของพระเถระท่านใดท่านหนึ่ง
ซึ่งท่านเป็นหัวหน้า ท่านให้ดูอยู่ ๓ วัน ถ้าแน่ใจว่าจะเป็นครูบาอาจารย์
ของเราได้ ให้ขอนิสัยถ้าหากเราไม่แน่ใจสมัครใจจะอยู่ที่นั่น ก็ดูต่อไปอีก
ถ้าไม่เห็นความดีความชอบของท่าน เราไม่สมัครใจก็ลาท่านหนีไปเสีย
ถ้าขืนอยู่ต่อไปเป็นอาบัติทุกกฎ



หัวข้อ: Re: หลวงพ่อพุธตอบปัญหาธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 25 ธันวาคม 2552 20:40:30

ถาม     ที่ว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง”
พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น ถามว่า นิพพานยังมีสุขอีกหรือ?



ตอบ   คำว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
คือมันยิ่งกว่าสุขธรรมดา ยิ่งกว่าสุขจนไม่รู้สึก ว่ามีสุข มีทุกข์
แต่โวหารสมมติว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าใครมาเทศน์ว่า

“พระนิพพานมันไม่มีความสุขหรอกมีแต่ความเฉยๆ”
คนมันก็จะขี้เกียจปฏิบัติเฉยๆนี่จะเอาไปทำไม? นั่งมันอยู่ซื่อๆ มันก็ได้ซิ !
ที่ว่านิพพานสุขนั่นเป็นการจูงใจ สุขอันเป็นบรมสุข สุขอันเป็นปรมัตถสุข
เป็นสุขที่เหนือสมมติบัญญัติ เป็นสุขที่อยู่เหนือสุขอย่างสามัญธรรมดา
ที่ว่าสุขก็เพราะว่าไม่มาเกิดอีกนั่นเป็นข้อสำคัญ